ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การรู้จัก “พระทัยของพระคริสต์”

การรู้จัก “พระทัยของพระคริสต์”

การ​รู้​จัก “พระทัย​ของ​พระ​คริสต์”

“ใคร​เล่า​ได้​รู้​จัก​พระทัย​ของ​พระเจ้า, เพื่อ​จะ​สอน​พระองค์​ได้? แต่​เรา​มี​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์.”—1 โกรินโธ 2:16.

1, 2. ใน​พระ​คำ​ของ​พระองค์ พระ​ยะโฮวา​ทรง​เห็น​สม​ควร​ที่​จะ​เปิด​เผย​อะไร​เกี่ยว​กับ​พระ​เยซู?

พระ​เยซู​ทรง​มี​รูป​ร่าง​หน้า​ตา​อย่าง​ไร? พระ​เกศา​ของ​พระองค์​สี​อะไร? พระ​ฉวี (ผิว​กาย) สี​อะไร? พระ​จักษุ​สี​อะไร? พระองค์​ทรง​สูง​ขนาด​ไหน? ทรง​หนัก​เท่า​ไร? ตลอด​หลาย​ศตวรรษ ภาพ​ลักษณ์​ของ​พระ​เยซู​ใน​ผล​งาน​ศิลปะ​ต่าง ๆ มี​หลาก​หลาย นับ​ตั้ง​แต่​แบบ​ที่​สม​เหตุ​สม​ผล​ไป​จน​ถึง​แบบ​ที่​ผิด​ความ​เป็น​จริง​ไป​ไกล. บาง​คน​สร้าง​ภาพ​ให้​พระองค์​มี​ลักษณะ​สม​ชาย​และ​มี​ชีวิต​ชีวา ใน​ขณะ​ที่​บาง​คน​สร้าง​ภาพ​ให้​พระองค์​มี​ลักษณะ​บอบบาง​และ​ซูบ​ซีด.

2 อย่าง​ไร​ก็​ตาม คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​เน้น​ถึง​รูป​ลักษณ์​ภาย​นอก​ของ​พระ​เยซู. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​เห็น​สม​ควร​ที่​จะ​เปิด​เผย​สิ่ง​ที่​สำคัญ​กว่า​มาก: บุคคล​แบบ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เป็น. บันทึก​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​ไม่​ได้​รายงาน​แต่​เพียง​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​และ​ทำ แต่​ยัง​เผย​ให้​เห็น​ถึง​ความ​รู้สึก​อัน​ลึกซึ้ง​และ​แบบ​แผนการ​คิด​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ของ​พระองค์​ด้วย. บันทึก​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​สี่​เล่ม​นี้​ช่วย​เรา​ให้​เพ่ง​พิจารณา​สิ่ง​ที่​อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ถึง​ว่า​เป็น “พระทัย​ของ​พระ​คริสต์.” (1 โกรินโธ 2:16) นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​คุ้น​เคย​กับ​แนว​คิด, ความ​รู้สึก, และ​บุคลิกภาพ​ของ​พระ​เยซู. เพราะ​เหตุ​ใด? มี​เหตุ​ผล​อย่าง​น้อย​สอง​ประการ.

3. การ​ที่​เรา​คุ้น​เคย​กับ​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​สามารถ​ให้​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​อะไร​แก่​เรา?

3 ประการ​แรก พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​ช่วย​ให้​เรา​เข้าใจ​พระทัย​ของ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ดี​ขึ้น. พระ​เยซู​ทรง​ใกล้​ชิด​สนิทสนม​กับ​พระ​บิดา​มาก​จน​พระองค์​ตรัส​ได้​ว่า “ไม่​มี​ใคร​รู้​ว่าพระ​บุตร​เป็น​ผู้​ใด​เว้น​แต่​พระ​บิดา. และ​ไม่​มี​ใคร​รู้​ว่า​พระ​บิดา​เป็น​ผู้​ใด​เว้น​แต่​พระ​บุตร และ​ผู้​ที่​พระ​บุตร​พอ​พระทัย​จะ​สำแดง​ให้​รู้.” (ลูกา 10:22) ด้วย​คำ​พูด​ดัง​กล่าว ก็​เหมือน​กับ​พระ​เยซู​กำลัง​ตรัส​ว่า ‘หาก​เจ้า​อยาก​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​อย่าง​ไร จง​มอง​ดู​เรา.’ (โยฮัน 14:9) ฉะนั้น เมื่อ​เรา​ศึกษา​สิ่ง​ที่​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​เปิด​เผย​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​พระ​เยซู​คิด​และ​รู้สึก จริง ๆ แล้ว​เรา​กำลัง​เรียน​รู้​ถึง​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​คิด​และ​รู้สึก. ความ​รู้​เช่น​นั้น​ช่วย​เรา​ให้​ใกล้​ชิด​พระเจ้า​ของ​เรา​มาก​ขึ้น.—ยาโกโบ 4:8.

4. เพื่อ​เรา​จะ​ทำ​อย่าง​พระ​คริสต์​ได้​จริง ๆ ก่อน​อื่น​เรา​ต้อง​เรียน​รู้​อะไร และ​ทำไม?

4 ประการ​ที่​สอง การ​ที่​เรา​รู้​จัก​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​ช่วย​เรา​ให้ “ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระองค์​อย่าง​ใกล้​ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) การ​ดำเนิน​ตาม​พระ​เยซู​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​เรื่อง​ของ​การ​กล่าว​ซ้ำ​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์​และ​เลียน​แบบ​การ​กระทำ​ของ​พระองค์. เนื่อง​จาก​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก การ​ดำเนิน​ตาม​พระ​คริสต์​จึง​เรียก​ร้อง​ให้​เรา​ปลูกฝัง “เจตคติ” อย่าง​เดียว​กับ​ที่​พระองค์​ทรง​มี. (ฟิลิปปอย 2:5, ล.ม.) กล่าว​อีก​อย่าง​คือ เพื่อ​ที่​เรา​จะ​ทำ​อย่าง​พระ​คริสต์​ได้​จริง ๆ ก่อน​อื่น​เรา​ต้อง​เรียน​ที่​จะ​คิด​และ​รู้สึก​อย่าง​พระองค์ ซึ่ง​ก็​หมาย​ถึง​ว่า​ทำ​ให้​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​ความ​สามารถ​ของ​เรา​ใน​ฐานะ​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​จะ​ทำ​ได้. ดัง​นั้น ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ ขอ​ให้​เรา​เพ่ง​พิจารณา​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์. ก่อน​อื่น เรา​จะ​พิจารณา​ปัจจัย​ต่าง ๆ ที่​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​วิธี​ที่​พระ​เยซู​ทรง​คิด​และ​รู้สึก.

ความ​เป็น​อยู่​ก่อน​เป็น​มนุษย์

5, 6. (ก) คน​ที่​เรา​คบหา​สมาคม​ด้วย​อาจ​ก่อ​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา​เช่น​ไร? (ข) พระ​บุตร​หัวปี​ของ​พระเจ้า​ทรง​มี​การ​คบหา​สมาคม​เช่น​ไร​ใน​สวรรค์​ก่อน​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก และ​การ​คบหา​สมาคม​ดัง​กล่าว​มี​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​พระองค์?

5 คน​ที่​เรา​คบหา​ใกล้​ชิด​อาจ​ก่อ​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา โน้ม​นำ​ความ​คิด, ความ​รู้สึก, และ​การ​กระทำ​ของ​เรา​ได้​ทั้ง​ใน​ทาง​ดี​และ​ทาง​เลว. * (สุภาษิต 13:20) ขอ​ให้​พิจารณา​การ​คบหา​สมาคม​ที่​พระ​เยซู​ทรง​มี​ใน​สวรรค์​ก่อน​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก. พระ​ธรรม​กิตติคุณ​โยฮัน​บอก​เกี่ยว​กับ​การ​ดำรง​อยู่​ของ​พระ​เยซู​ก่อน​เป็น​มนุษย์​ใน​ฐานะ “พระ​วาทะ” หรือ​โฆษก​ของ​พระเจ้า. โยฮัน​กล่าว​ว่า “เริ่ม​แรก​พระ​วาทะ​เป็น​อยู่​แล้ว และ​พระ​วาทะ​นั้น​ได้​อยู่​กับ​พระเจ้า และ​พระ​วาทะ​นั้น​เป็น​พระเจ้า​องค์​หนึ่ง. เมื่อ​เดิม​พระองค์​ผู้​นี้​ได้​อยู่​กับ​พระเจ้า.” (โยฮัน 1:1, 2, ล.ม.) เนื่อง​จาก​พระ​ยะโฮวา​ไม่​มี​จุด​เริ่ม​ต้น การ​ที่​พระ​วาทะ​อยู่​กับ​พระเจ้า​ตั้ง​แต่ “เริ่ม​แรก” คง​ต้อง​หมาย​ถึง​ตอน​เริ่ม​ต้น​แห่ง​งาน​สร้าง​สรรค์​ของ​พระเจ้า. (บทเพลง​สรรเสริญ 90:2) พระ​เยซู​ทรง​เป็น “ผู้​แรก​ที่​บังเกิด​ก่อน​สรรพสิ่ง​ทรง​สร้าง.” ด้วย​เหตุ​นั้น พระองค์​ทรง​ดำรง​อยู่​ก่อน​ที่​กาย​วิญญาณ​อื่น ๆ และ​เอกภพ​จะ​ถูก​สร้าง​ขึ้น.—โกโลซาย 1:15, ล.ม.; วิวรณ์ 3:14.

6 ตาม​การ​ประมาณ​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน เอกภพ​ดำรง​อยู่​เป็น​เวลา​อย่าง​น้อย​หนึ่ง​หมื่น​สอง​พัน​ล้าน​ปี. หาก​การ​ประมาณ​ดัง​กล่าว​ใกล้​เคียง​ความ​เป็น​จริง พระ​บุตร​หัวปี​ของ​พระเจ้า​ทรง​มี​สัมพันธภาพ​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​บิดา​เป็น​เวลา​นับ​หมื่น​ล้าน​ปี​ก่อน​การ​สร้าง​อาดาม. (เทียบ​กับ​มีคา 5:2.) สาย​สัมพันธ์​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​ลึกซึ้ง​จึง​พัฒนา​ขึ้น​ระหว่าง​พระองค์​ทั้ง​สอง. ใน​ฐานะ​พระ​ปัญญา​ซึ่ง​มี​การ​กล่าว​ถึง​ราว​กับ​เป็น​บุคคล มี​การ​พรรณนา​ถึง​พระ​บุตร​หัวปี​องค์​นี้​เมื่อ​ทรง​ดำรง​อยู่​ก่อน​เป็น​มนุษย์​ว่า​พระองค์​ตรัส​ดัง​นี้: “เรา​ได้​มา​เป็น​ผู้​ที่​พระองค์ [พระ​ยะโฮวา] ทรง​โปรดปราน​เป็น​พิเศษ​วัน​แล้ว​วัน​เล่า เรา​ชื่นชม​ยินดี​เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระองค์​ตลอด​เวลา.” (สุภาษิต 8:30, ล.ม.) แน่นอน การ​ใช้​เวลา​มาก​มาย​จน​ไม่​อาจ​นับ​ได้​ใน​การ​มี​สัมพันธ์​ใกล้​ชิด​กับ​แหล่ง​แห่ง​ความ​รัก​ย่อม​ก่อ​ผล​กระทบ​ที่​ลึก​ล้ำ​ต่อ​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า! (1 โยฮัน 4:8) พระ​บุตร​องค์​นี้​ได้​มา​รู้​จัก​และ​สะท้อน​ถึง​ความ​คิด, ความ​รู้สึก, และ​วิถี​ทาง​ของ​พระ​บิดา​อย่าง​ที่​ไม่​มี​ใคร​จะ​ทำ​ได้​เหมือน​พระองค์.—มัดธาย 11:27.

ชีวิต​บน​แผ่นดิน​โลก​และ​ปัจจัย​ที่​ก่อ​ผล​กระทบ

7. เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​พระ​บุตร​หัวปี​ของ​พระเจ้า​จำเป็น​ต้อง​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก​คือ​อะไร?

7 พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ยัง​ต้อง​เรียน​รู้​มาก​กว่า​นี้ เพราะ​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา​คือ​การ​เตรียม​พระ​บุตร​ไว้​ให้​เป็น​มหา​ปุโรหิต​ที่​กรุณา สามารถ​จะ “ร่วม​รู้สึก​กับ​ความ​อ่อนแอ​ของ​เรา.” (เฮ็บราย 4:15, ล.ม.) การ​บรรลุ​ข้อ​เรียก​ร้อง​สำหรับ​บทบาท​นี้​เป็น​เหตุ​ผล​อย่าง​หนึ่ง​ที่​พระ​บุตร​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก​ใน​ฐานะ​มนุษย์. ที่​นี่ ใน​ฐานะ​มนุษย์​ที่​ประกอบ​ด้วย​เลือด​เนื้อ พระ​เยซู​ต้อง​พบ​กับ​สถานการณ์​แวด​ล้อม​และปัจจัย​ต่าง ๆ ที่​ก่อ​ผล​กระทบ​ซึ่ง​ก่อน​หน้า​นั้น​พระองค์​เพียง​แต่​สังเกต​เห็น​จาก​สวรรค์. บัด​นี้ พระองค์​ทรง​สามารถ​มี​อารมณ์​และ​ความ​รู้สึก​แบบ​มนุษย์​ด้วย​พระองค์​เอง. บาง​ครั้ง​พระองค์​รู้สึก​เหน็ด​เหนื่อย, กระหาย, และ​หิว. (มัดธาย 4:2; โยฮัน 4:6, 7) ยิ่ง​กว่า​นั้น พระองค์​ทรง​อด​ทน​ความ​ลำบาก​และ​ความ​ทุกข์​ทุก​รูป​แบบ. โดย​วิธี​นี้ พระองค์ “ทรง​เรียน​รู้​การ​เชื่อ​ฟัง” และ​มี​คุณสมบัติ​ครบ​ถ้วน​สำหรับ​บทบาท​ของ​พระองค์​ใน​ฐานะ​มหา​ปุโรหิต.—เฮ็บราย 5:8-10, ล.ม.

8. เรา​ทราบ​อะไร​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ใน​ช่วง​แรก ๆ ของ​พระ​เยซู​บน​แผ่นดิน​โลก?

8 จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​ประสบการณ์​ของ​พระ​เยซู​บน​แผ่นดิน​โลก​ใน​วัย​เด็ก? ประวัติ​บันทึก​เกี่ยว​กับ​ช่วง​วัย​เด็ก​ของ​พระองค์​มี​น้อย​มาก. ที่​จริง มี​เพียง​มัดธาย​และ​ลูกา​ที่​บอก​เล่า​เหตุ​การณ์​ใน​ช่วง​ที่​พระองค์​ประสูติ. ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​ทราบ​ว่า​พระ​เยซู​เคย​มี​พระ​ชนม์​ชีพ​ใน​สวรรค์​ก่อน​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก. การ​ดำรง​อยู่​ก่อน​เป็น​มนุษย์​นั่น​แหละ​ที่​ทำ​ให้​เข้าใจ​ได้​ดี​ยิ่ง​กว่า​ปัจจัย​อื่น​ใด​ว่า​พระองค์​จะ​กลาย​เป็น​บุคคล​แบบ​ไหน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​เยซู​ทรง​เป็น​มนุษย์​โดย​ครบ​ถ้วน​สมบูรณ์. แม้​ว่า​ทรง​สมบูรณ์ พระองค์​ยัง​คง​ต้อง​เติบโต​จาก​วัย​ทารก แล้ว​มา​เป็น​เด็ก​และ​เข้า​สู่​วัยรุ่น​จน​ใน​ที่​สุด​เข้า​สู่​วัย​ผู้​ใหญ่ ตลอด​เวลา​ดัง​กล่าว​พระองค์​ทรง​เรียน​รู้. (ลูกา 2:51, 52) คัมภีร์​ไบเบิล​เปิด​เผย​บาง​สิ่ง​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ใน​ช่วง​แรก ๆ ของ​พระ​เยซู​ซึ่ง​คง​มี​ผล​ต่อ​พระองค์​อย่าง​ไม่​มี​ข้อ​สงสัย.

9. (ก) มี​ข้อ​บ่ง​ชี้​อะไร​ว่า​พระ​เยซู​ประสูติ​ใน​ครอบครัว​ยาก​จน? (ข) พระ​เยซู​คง​เติบโต​ขึ้น​มา​ใน​สภาพ​เศรษฐกิจ​แบบ​ใด?

9 มี​หลักฐาน​แสดง​ว่า พระ​เยซู​ประสูติ​ใน​ครอบครัว​ยาก​จน. เรื่อง​นี้​เห็น​ได้​จาก​ของ​ถวาย​ที่​โยเซฟ​และ​มาเรีย​นำ​ไป​ถวาย​ที่​พระ​วิหาร​ประมาณ 40 วัน​หลัง​การ​ประสูติ. แทน​ที่​จะ​นำ​ลูก​แกะ​ไป​ถวาย​เป็น​เครื่อง​บูชา​เผา​และ​ลูก​นก​พิราบ​หรือ​นก​เขา​ถวาย​เป็น​เครื่อง​บูชา​ไถ่​บาป ทั้ง​สอง​ถวาย “นก​เขา​คู่​หนึ่ง หรือ ลูก​นก​พิราบ​สอง​ตัว” อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง. (ลูกา 2:24) ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ ของ​ถวาย​นี้​กำหนด​ไว้​สำหรับ​ให้​คน​จน​ถวาย. (เลวีติโก 12:6-8) ต่อ​มา ครอบครัว​ที่​ต่ำต้อย​นี้​ขยาย​ใหญ่​ขึ้น. โยเซฟ​และ​มาเรีย​มี​ลูก​ตาม​ปกติ​ธรรมดา​อย่าง​น้อย​อีก​หก​คน​ภาย​หลัง​การ​ประสูติ​โดย​วิธี​อัศจรรย์​ของ​พระ​เยซู. (มัดธาย 13:55, 56) ดัง​นั้น พระ​เยซู​ทรง​เติบโต​ขึ้น​มา​ใน​ครอบครัว​ใหญ่ และ​คง​จะ​ใน​สภาพ​เศรษฐกิจ​ที่​ต้อง​มัธยัสถ์​อด​ออม.

10. อะไร​แสดง​ว่า​มาเรีย​และ​โยเซฟ​เป็น​คน​ที่​เกรง​กลัว​พระเจ้า?

10 พระ​เยซู​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​โดย​บิดา​มารดา​ที่​ยำเกรง​พระเจ้า. มาเรีย มารดา​ของ​พระองค์​เป็น​สตรี​ที่​เด่น​คน​หนึ่ง. ขอ​ให้​นึก​ถึง​ตอน​ที่​ทูตสวรรค์​ฆับรีเอล​ทักทาย​เธอ โดย​กล่าว​ว่า “จง​จำเริญ​เถิด เธอ​เป็น​ที่​ทรง​โปรดปราน​มาก ขอ​พระเจ้า​ทรง​สถิต​อยู่​กับ​เธอ​เถิด.” (ลูกา 1:28) โยเซฟ​ก็​เช่น​กัน​เป็น​ชาย​ผู้​เลื่อมใส​พระเจ้า. ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์ ทุก ๆ ปี​เขา​เดิน​ทาง 150 กิโลเมตร​ไป​ยัง​กรุง​ยะรูซาเลม​เพื่อ​เข้า​ร่วม​เทศกาล​ปัศคา. มาเรีย​ก็​ไป​ด้วย แม้​ว่า​มี​ข้อ​เรียก​ร้อง​เฉพาะ​ผู้​ชาย​เท่า​นั้น​ให้​ทำ​เช่น​นี้. (เอ็กโซโด 23:17; ลูกา 2:41) ณ โอกาส​ดัง​กล่าว​คราว​หนึ่ง หลัง​จาก​เที่ยว​ตาม​หา​จน​ทั่ว โยเซฟ​และ​มาเรีย​ก็​พบ​พระ​เยซู​ผู้​ทรง​มี​พระ​ชนมายุ​ได้ 12 พรรษา​อยู่​ที่​พระ​วิหาร​ใน​หมู่​อาจารย์. พระ​เยซู​ตรัส​แก่​บิดา​มารดา​ผู้​เป็น​ห่วง​กังวล​ว่า “ท่าน​ยัง​ไม่​ทราบ​หรือ​ว่า ฉัน​คง​ต้อง​อยู่​ใน​ราชฐาน​แห่ง​พระ​บิดา​ของ​ฉัน?” (ลูกา 2:49) “พระ​บิดา”—คำ​นี้​คง​ต้อง​มี​นัย​ความหมาย​ที่​อบอุ่น​และ​เสริม​สร้าง​สำหรับ​พระ​เยซู​ผู้​ยัง​เยาว์. ประการ​หนึ่ง​นั้น คง​มี​คน​บอก​พระองค์​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​บิดา​ที่​แท้​จริง​ของ​พระองค์. นอก​จาก​นี้ โยเซฟ​คง​ต้อง​เป็น​บิดา​เลี้ยง​ที่​ดี. พระ​ยะโฮวา​คง​ไม่​เลือก​ชาย​ที่​เกรี้ยวกราด​หรือ​โหด​ร้าย​ให้​เลี้ยง​ดู​พระ​บุตร​ที่​รัก​ของ​พระองค์​แน่!

11. พระ​เยซู​ทรง​เรียน​รู้​งาน​อะไร และ​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล การ​ทำ​งาน​ใน​อาชีพ​นี้​หมาย​รวม​ถึง​อะไร?

11 ขณะ​เจริญ​วัย​ขึ้น​ใน​เมือง​นาซาเร็ธ พระ​เยซู​ทรง​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​งาน​ช่าง​ไม้ ซึ่ง​ก็​คง​เรียน​จาก​โยเซฟ​บิดา​เลี้ยง​ของ​พระองค์​นั่น​เอง. พระ​เยซู​ทรง​ชำนาญ​ใน​งาน​นี้​จน​มี​คน​เรียก​พระองค์​ว่า “ช่าง​ไม้.” (มาระโก 6:3) ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล ช่าง​ไม้​ได้​รับ​การ​ว่า​จ้าง​ให้​สร้าง​บ้าน, ทำ​เฟอร์นิเจอร์ (อาทิ​เช่น โต๊ะ, เก้าอี้, และ​ม้า​นั่ง), และ​ทำ​เครื่อง​มือ​การ​เกษตร. ใน​หนังสือ​บท​สนทนา​กับ​ไทรโฟ จัสติน มาร์เทอร์ แห่ง​ศตวรรษ​ที่​สอง​เขียน​เกี่ยว​กับ​พระ​เยซู​ว่า “เมื่อ​อยู่​ใน​หมู่​ผู้​ชาย งาน​ที่​พระองค์​ทรง​ทำ​เป็น​ประจำ​คือ​งาน​ช่าง​ไม้ ทำ​ผาล​และ​แอก.” งาน​ดัง​กล่าว​ไม่​ง่าย​เลย เพราะ​ช่าง​ไม้​ใน​สมัย​โบราณ​คง​ไม่​สามารถ​หา​ซื้อ​ไม้. เป็น​ไป​ได้​มาก​กว่า​ว่า เขา​ต้อง​ออก​ไป​หา​และ​เลือก​ต้น​ไม้ เหวี่ยง​ขวาน​ตัด​ต้น​ไม้ แล้ว​ลาก​ไม้​นั้น​มา​ที่​บ้าน. ดัง​นั้น พระ​เยซู​อาจ​ทราบ​ดี​ถึง​ข้อ​ท้าทาย​ของ​การ​หา​เลี้ยง​ชีพ, การ​ติด​ต่อ​กับ​ลูกค้า, และ​การ​ชัก​หน้า​ให้​ถึง​หลัง.

12. อะไร​แสดง​ว่า​โยเซฟ​คง​จะ​เสีย​ชีวิต​ก่อน​พระ​เยซู และ​เรื่อง​นี้​คง​จะ​หมาย​ถึง​อะไร​สำหรับ​พระ​เยซู?

12 ใน​ฐานะ​บุตร​ชาย​คน​โต พระ​เยซู​คง​ช่วย​ดู​แล​ครอบครัว โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เนื่อง​จาก​ดู​เหมือน​ว่า​โยเซฟ​เสีย​ชีวิต​ก่อน​พระ​เยซู. * หอสังเกตการณ์​แห่ง​ซีโอน ฉบับ 1 มกราคม 1900 (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ตาม​คำ​เล่า​สืบ​ปาก โยเซฟ​เสีย​ชีวิต​ขณะ​ที่​พระ​เยซู​ยัง​ทรง​เยาว์ พระองค์​จึง​ทรง​ทำ​งาน​เป็น​ช่าง​ไม้​และ​เป็น​ผู้​หา​เลี้ยง​ครอบครัว. เรื่อง​นี้​ปรากฏ​มี​ข้อ​สนับสนุน​บาง​อย่าง​ใน​พระ​คัมภีร์​ซึ่ง​มี​การ​เรียก​พระ​เยซู​ว่า​ช่าง​ไม้ และ​กล่าว​ถึง​มารดา​กับ​น้อง​ชาย​ของ​พระองค์​ด้วย แต่​กลับ​ไม่​ได้​กล่าว​ถึง​โยเซฟ​เลย. (มาระโก 6:3) . . . ดัง​นั้น จึง​เป็น​ไป​ได้​ที​เดียว​ว่า ช่วง​เวลา​ยาว​นาน​ถึง​สิบ​แปด​ปี​ของ​ชีวิต​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า คือ​นับ​ตั้ง​แต่​เหตุ​การณ์ [ดัง​บันทึก​ไว้​ที่​ลูกา 2:41-49] จน​ถึง​ตอน​ที่​พระองค์​รับ​บัพติสมา พระองค์​ทรง​ใช้​เวลา​ช่วง​นั้น​ใน​การ​ทำ​หน้า​ที่​การ​งาน​ตาม​ปกติ​ธรรมดา​ใน​ชีวิต.” มาเรีย​กับ​ลูก ๆ รวม​ทั้ง​พระ​เยซู​ด้วย คง​รู้​ซึ้ง​ดี​ถึง​ความ​เจ็บ​ปวด​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ที่​สามี​และ​บิดา​ผู้​เป็น​ที่​รัก​เสีย​ชีวิต.

13. เมื่อ​พระ​เยซู​ทรง​เริ่ม​ต้น​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์ เหตุ​ใด​พระองค์​จึง​ทรง​ทำ​ด้วย​ความ​รู้, ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ, และ​ความ​รู้สึก​อัน​ลึกซึ้ง​อย่าง​ที่​ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​สามารถ​ทำ​ได้​อย่าง​นั้น?

13 เห็น​ได้​ชัด พระ​เยซู​ไม่​ได้​ประสูติ​มา​มี​ชีวิต​ที่​สมบูรณ์​พูน​สุข. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พระองค์​ทรง​มี​ประสบการณ์​ชีวิต​อย่าง​คน​ธรรมดา​ทั่ว​ไป. ต่อ​มา ใน​ปี ส.ศ. 29 พระ​เยซู​ทรง​ปฏิบัติ​งาน​มอบหมาย​ของ​พระเจ้า​ที่​คอย​พระองค์​อยู่. ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​ของ​ปี​นั้น พระองค์​ทรง​รับ​บัพติสมา​ใน​น้ำ​และ​ได้​รับ​การ​บังเกิด​เป็น​บุตร​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า. ‘ฟ้า​สวรรค์​แหวก​ออก​แก่​พระองค์’ ซึ่ง​ก็​คง​เป็น​การ​ระบุ​ว่า​บัด​นี้​พระองค์​ทรง​ระลึก​ได้​ถึง​ชีวิต​ของ​พระองค์​ใน​สวรรค์​ก่อน​เป็น​มนุษย์ รวม​ถึง​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก​ที่​พระองค์​ทรง​เคย​มี. (ลูกา 3:21, 22) ดัง​นั้น เมื่อ​พระ​เยซู​ทรง​เริ่ม​ต้น​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์ พระองค์​จึง​ทรง​ทำ​งาน​นั้น​ด้วย​ความ​รู้, ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ, และ​ความ​รู้สึก​อัน​ลึกซึ้ง​อย่าง​ที่​ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​จะ​ทำ​ได้​อย่าง​นั้น. ด้วย​เหตุ​ผล​ที่​ดี ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​จึง​ได้​อุทิศ​การ​เขียน​ส่วน​ใหญ่​ของ​ตน​ให้​แก่​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​งาน​รับใช้​ของ​พระ​เยซู. แม้​กระนั้น พวก​เขา​ไม่​สามารถ​บันทึก​ทุก​สิ่ง​ที่​พระองค์​ตรัส​และ​ทำ. (โยฮัน 21:25) แต่​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​ให้​บันทึก​ช่วย​เรา​ให้​เพ่ง​พิจารณา​พระทัย​ของ​บุรุษ​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​มา.

บุคคล​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เป็น

14. พระ​ธรรม​กิตติคุณ​พรรณนา​พระ​เยซู​ไว้​อย่าง​ไร​ใน​ฐานะ​บุรุษ​ที่​อบอุ่น​นุ่มนวล​และ​มี​ความ​รู้สึก​อัน​ลึกซึ้ง?

14 บุคลิกภาพ​ของ​พระ​เยซู​ที่​เห็น​เด่น​ชัด​จาก​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​คือ​บุรุษ​ที่​อบอุ่น​นุ่มนวล​และ​มี​ความ​รู้สึก​อัน​ลึกซึ้ง. พระองค์​ทรง​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​การ​ตอบ​สนอง​ทาง​อารมณ์​ใน​ขอบ​เขต​ที่​กว้างขวาง: ทรง​สงสาร​คน​โรค​เรื้อน (มาระโก 1:40, 41); ทรง​โศก​เศร้า​เนื่อง​ด้วย​ประชาชน​ที่​ไม่​ตอบรับ (ลูกา 19:41, 42); ทรง​แสดง​ความ​ขุ่นเคือง​อย่าง​ชอบธรรม​ต่อ​คน​แลก​เงิน​ที่​ละโมบ (โยฮัน 2:13-17). เนื่อง​จาก​ทรง​เป็น​คน​ที่​ร่วม​รู้สึก พระ​เยซู​ตื้นตัน​พระทัย​จน​ถึง​กับ​กันแสง และ​พระองค์​ไม่​ทรง​ปิด​ซ่อน​ความ​รู้สึก​ของ​พระองค์. เมื่อ​ลาซะโร​สหาย​ที่​พระองค์​ทรง​รัก​เสีย​ชีวิต ภาพ​ของ​มาเรีย​พี่​สาว​ลาซะโร​ร้องไห้​ทำ​ให้​พระ​เยซู​สะเทือน​พระทัย​มาก​จน​ถึง​กับ​กันแสง​ออก​มา​ต่อ​หน้า​คน​อื่น ๆ.—โยฮัน 11:32-36.

15. ความ​รู้สึก​อัน​อ่อน​ละมุน​ของ​พระ​เยซู​เห็น​ได้​อย่าง​ไร​จาก​วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​มอง​ดู​และ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น?

15 ความ​รู้สึก​อัน​อ่อน​ละมุน​ของ​พระ​เยซู​เห็น​ได้​ชัด​เป็น​พิเศษ​ใน​วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​มอง​ดู​และ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น. พระองค์​ทรง​เข้า​ถึง​คน​จน​และ​คน​ที่​ถูก​กดขี่ ช่วย​พวก​เขา ‘ได้​ความ​สดชื่น​สำหรับ​จิตวิญญาณ​ของ​เขา.’ (มัดธาย 11:4, 5, 28-30, ล.ม.) พระองค์​ไม่​ทรง​มี​ธุระ​ยุ่ง​เกิน​ไป​ที่​จะ​ตอบ​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​คน​ที่​ทน​ทุกข์ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​หญิง​ตก​เลือด​ที่​แอบ​สัมผัส​ฉลองพระองค์​หรือ​ชาย​ขอ​ทาน​ตา​บอด​ที่​ไม่​ยอม​เงียบ​เสียง. (มัดธาย 9:20-22; มาระโก 10:46-52) พระ​เยซู​ทรง​มอง​หา​ข้อ​ดี​ใน​ผู้​อื่น​และ​ชมเชย​เขา; กระนั้น พระองค์​ทรง​พร้อม​ด้วย​ที่​จะ​ว่า​กล่าว​เมื่อ​จำเป็น. (มัดธาย 16:23; โยฮัน 1:47; 8:44) ใน​สมัย​ซึ่ง​ผู้​หญิง​ถูก​จำกัด​สิทธิ พระ​เยซู​ทรง​ปฏิบัติ​อย่าง​สมดุล​ต่อ​ผู้​หญิง​โดย​คำนึง​ถึง​ศักดิ์ศรี​และ​ให้​ความ​นับถือ. (โยฮัน 4:9, 27) จึง​ไม่​แปลก​ที่​สตรี​กลุ่ม​หนึ่ง​เต็ม​ใจ​สนับสนุน​พระองค์​ด้วย​ทรัพย์​สิ่ง​ของ​ส่วน​ตัว.—ลูกา 8:3.

16. อะไร​แสดง​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​มี​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ต่อ​ชีวิต​และ​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ?

16 พระ​เยซู​ทรง​มี​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ต่อ​ชีวิต. สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ​ไม่​ใช่​เรื่อง​สำคัญ​เป็น​อันดับ​แรก​สำหรับ​พระองค์. ดู​เหมือน​ว่า พระองค์​ทรง​มี​น้อย​มาก​ใน​ด้าน​วัตถุ. พระองค์​ตรัส​ว่า​พระองค์ “ไม่​มี​ที่ ๆ จะ​วาง​ศีรษะ.” (มัดธาย 8:20) ใน​ขณะ​เดียว​กัน พระ​เยซู​ทรง​เพิ่ม​เติม​ความ​ยินดี​ให้​แก่​ผู้​อื่น. เมื่อ​พระองค์​ทรง​เข้า​ร่วม​งาน​เลี้ยง​สมรส—งาน​ซึ่ง​ตาม​ปกติ​จะ​มี​ดนตรี การ​ร้อง​เพลง และ​การ​ละ​เล่น​รื่นเริง​กัน—เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พระองค์​ไม่​ได้​ไป​อยู่​ที่​นั่น​แล้ว​ทำ​ให้​งาน​นั้น​หมด​สนุก. ที่​จริง พระ​เยซู​ทรง​ทำ​การ​อัศจรรย์​ครั้ง​แรก​ที่​นั่น. เมื่อ​เหล้า​องุ่น​หมด พระองค์​ทรง​เปลี่ยน​น้ำ​ให้​กลาย​เป็น​เหล้า​องุ่น​ชั้น​เยี่ยม เครื่อง​ดื่ม​ซึ่ง “ทำ​ให้​ใจ​มนุษย์​ชื่น​บาน.” (บทเพลง​สรรเสริญ 104:15; โยฮัน 2:1-11) ด้วย​เหตุ​นั้น งาน​เลี้ยง​รื่นเริง​จึง​ดำเนิน​ต่อ​ไป​ได้ และ​ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​ช่วย​ให้​เจ้าบ่าว​เจ้าสาว​ไม่​ต้อง​เสีย​หน้า. นอก​จาก​นั้น ความ​สมดุล​ของ​พระองค์​ยัง​สะท้อน​ให้​เห็น​จาก​ที่​มี​การ​กล่าว​ถึง​บ่อย​ยิ่ง​กว่า​นั้น​มาก​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​ทำ​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์​อย่าง​หนัก​และ​ต่อ​เนื่อง​ยาว​นาน.—โยฮัน 4:34.

17. เหตุ​ใด​จึง​ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เป็น​ครู​ชั้น​ยอด และ​คำ​สอน​ของ​พระองค์​สะท้อน​ถึง​อะไร?

17 พระ​เยซู​ทรง​เป็น​ครู​ชั้น​ยอด. การ​สอน​ส่วน​ใหญ่​ของ​พระองค์​สะท้อน​ถึง​ความ​เป็น​จริง​ของ​ชีวิต​ประจำ​วัน ซึ่ง​เป็น​เรื่อง​ที่​พระองค์​ทรง​คุ้น​เคย​ดี. (มัดธาย 13:33; ลูกา 15:8) ลักษณะ​การ​สอน​ของ​พระองค์​นั้น​ไม่​มี​ใคร​เทียบ—ชัดเจน, เรียบ​ง่าย, และ​ใช้​ได้​ผล​เสมอ. ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น​คือ​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​สอน. คำ​สอน​ของ​พระองค์​สะท้อน​ถึง​ความ​ปรารถนา​จาก​หัวใจ​ที่​จะ​ช่วย​ผู้​ฟัง​ให้​คุ้น​เคย​กับ​ความ​คิด, ความ​รู้สึก, และ​วิถี​ทาง​ของ​พระ​ยะโฮวา.—โยฮัน 17:6-8.

18, 19. (ก) พระ​เยซู​ทรง​พรรณนา​เกี่ยว​กับ​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ด้วย​ภาพพจน์​ที่​ชัดเจน​เช่น​ไร? (ข) จะ​มี​การ​พิจารณา​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

18 ด้วย​การ​ใช้​อุทาหรณ์​บ่อย ๆ พระ​เยซู​ทรง​เปิด​เผย​เกี่ยว​กับ​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ด้วย​ภาพพจน์​อัน​แจ่ม​ชัด​ที่​ไม่​อาจ​ลืม​ได้​ง่าย ๆ. การ​กล่าว​ถึง​ความ​เมตตา​ของ​พระเจ้า​อย่าง​กว้าง ๆ เป็น​วิธี​หนึ่ง​ที่​อาจ​ทำ​ได้. แต่​นับ​เป็น​คน​ละ​เรื่อง​เลย​ที​เดียว​ที่​จะ​เปรียบ​พระ​ยะโฮวา​กับ​บิดา​ที่​ให้​อภัย​ซึ่ง​รู้สึก​ตื้นตัน​ใจ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​เห็น​บุตร​ชาย​กลับ​มา จน​ได้ ‘วิ่ง​มา​ซบ​ที่​คอ​บุตร​แล้ว​จูบ​เขา​ด้วย​ความ​อ่อนโยน.’ (ลูกา 15:11-24, ล.ม.) พระ​เยซู​ทรงปฏิเสธ​วัฒนธรรม​อัน​เข้มงวด​ที่​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ดูถูก​สามัญ​ชน โดย​อธิบาย​ว่า​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​เป็น​พระเจ้า​ที่​เข้า​หา​ได้​ง่าย ผู้​พอ​พระทัย​คำ​อ้อน​วอน​ของ​คน​เก็บ​ภาษี​ที่​ถ่อม​ตน​มาก​กว่า​คำ​อธิษฐาน​อย่าง​วาง​ท่า​ของ​ฟาริซาย​ที่​อวด​ตัว. (ลูกา 18:9-14) พระ​เยซู​ทรง​พรรณนา​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฐานะ​พระเจ้า​ที่​ใฝ่​พระทัย​ผู้​ทรง​ทราบ​เมื่อ​นก​กระจอก​ตัว​เล็ก ๆ ตก​ถึง​ดิน. พระ​เยซู​ทรง​รับรอง​กับ​เหล่า​สาวก​ว่า “อย่า​กลัว​เลย ท่าน​ทั้ง​หลาย​ก็​ประเสริฐ​กว่า​นก​กระจาบ​หลาย​ตัว.” (มัดธาย 10:29, 31) จึง​ไม่​แปลก​ที่​ประชาชน​รู้สึก​ทึ่ง​ใน “คำ​สั่ง​สอน” ของ​พระ​เยซู และ​ถูก​ดึงดูด​ให้​เข้า​มา​หา​พระองค์. (มัดธาย 7:28, 29) คิด​ดู​ซิ ใน​ครั้ง​หนึ่ง “ประชาชน​พา​กัน​มา​มาก​มาย” และ​ค้าง​อยู่​กับ​พระองค์​สาม​วัน แม้​ไม่​มี​อาหาร​รับประทาน!—มาระโก 8:1, 2, ฉบับ​แปล​ใหม่.

19 เรา​สามารถ​แสดง​ความ​ขอบพระคุณ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ได้​เปิด​เผย​ถึง​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​ไว้​ใน​พระ​คำ​ของ​พระองค์! อย่าง​ไร​ก็​ตาม เรา​จะ​ปลูกฝัง​และ​แสดง​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​ได้​อย่าง​ไร​ใน​การ​ติด​ต่อ​สัมพันธ์​กับ​ผู้​อื่น? จะ​มี​การ​พิจารณา​เรื่อง​นี้​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​เหล่า​กาย​วิญญาณ​อาจ​ถูก​โน้ม​นำ​จาก​การ​คบหา​สมาคม​จะ​เห็น​ได้​ที่​วิวรณ์ 12:3, 4. ที่​นั่น มี​การ​ให้​ภาพ​ซาตาน​ว่า​เป็น “พญา​นาค” ซึ่ง​สามารถ​ใช้​อิทธิพล​ของ​มัน​เพื่อ​จะ​ได้ “ดาว” อื่น ๆ ซึ่ง​ก็​คือ​เหล่า​บุตร​ที่​เป็น​กาย​วิญญาณ มา​ร่วม​สมทบ​กับ​มัน​ใน​แนว​ทาง​กบฏ.—เทียบ​กับ​โยบ 38:7.

^ วรรค 12 มี​การ​กล่าว​ถึง​โยเซฟ​โดย​ตรง​ครั้ง​สุด​ท้าย​ตอน​ที่​พบ​พระ​เยซู​ผู้​มี​พระ​ชนมายุ​ได้ 12 พรรษา​อยู่​ที่​พระ​วิหาร. ไม่​มี​การ​กล่าว​ถึง​โยเซฟ​ที่​งาน​เลี้ยง​สมรส ณ บ้าน​คานา ใน​คราว​การ​เริ่ม​ต้น​งาน​รับใช้​ของ​พระ​เยซู. (โยฮัน 2:1-3) ใน​ปี ส.ศ. 33 พระ​เยซู​ผู้​ถูก​ตรึง​ทรง​ฝาก​ฝัง​มาเรีย​ไว้​ใน​ความ​ดู​แล​ของ​อัครสาวก​โยฮัน​ที่​ทรง​รัก. พระ​เยซู​คง​ไม่​ทำ​อย่าง​นั้น​หาก​โยเซฟ​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่.—โยฮัน 19:26, 27.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​คุ้น​เคย​กับ “พระทัย​ของ​พระ​คริสต์”?

• พระ​เยซู​ทรง​มี​การ​คบหา​สมาคม​เช่น​ไร​ก่อน​เป็น​มนุษย์?

• ขณะ​มี​ชีวิต​บน​แผ่นดิน​โลก พระ​เยซู​ทรง​อยู่​ภาย​ใต้​ปัจจัย​ที่​ก่อ​ผล​กระทบ​และ​สถานการณ์​แวด​ล้อม​เช่น​ไร​ด้วย​พระองค์​เอง?

• พระ​ธรรม​กิตติคุณ​เปิด​เผย​อะไร​เกี่ยว​กับ​บุคลิกภาพ​ของ​พระ​เยซู?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 10]

พระ​เยซู​ทรง​เติบโต​ขึ้น​มา​ใน​ครอบครัว​ใหญ่ และ​คง​จะ​ใน​สภาพ​เศรษฐกิจ​ที่​ต้อง​มัธยัสถ์​อด​ออม

[ภาพ​หน้า 12]

พวก​อาจารย์​ต่าง​พิศวง​ใน​ความ​เข้าใจ​และ​คำ​ตอบ​ของ​พระ​เยซู​ผู้​ทรง​มี​พระ​ชนมายุ​ได้ 12 พรรษา