ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณมี “พระทัยของพระคริสต์” ไหม?

คุณมี “พระทัยของพระคริสต์” ไหม?

คุณ​มี “พระทัย​ของ​พระ​คริสต์” ไหม?

“ขอ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​มี​ความ​อด​ทน​และ​การ​ปลอบโยน โปรด​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​มี​ทัศนคติ​อย่าง​เดียว​กัน . . . เหมือน​พระ​คริสต์​เยซู​ทรง​มี.”—โรม 15:5, ล.ม.

1. มี​การ​พรรณนา​ถึง​พระ​เยซู​อย่าง​ไร​ใน​ภาพ​วาด​จำนวน​มาก​ของ​คริสต์​ศาสนจักร และ​เหตุ​ใด​นี่​ไม่​ใช่​การ​พรรณนา​ถึง​พระ​เยซู​อย่าง​ยุติธรรม?

“ไม่​เคย​มี​ใคร​เห็น​พระองค์​ทรง​พระ​สรวล​แม้​แต่​ครั้ง​เดียว.” นั่น​คือ​คำ​พรรณนา​ถึง​พระ​เยซู​ใน​เอกสาร​ฉบับ​หนึ่ง​ซึ่ง​อ้าง​อย่าง​ที่​ไม่​เป็น​ความ​จริง​ว่า​เขียน​โดย​เจ้าหน้าที่​ชาว​โรมัน​โบราณ​ผู้​หนึ่ง. กล่าว​กัน​ว่า​เอกสาร​นี้ ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​รูป​แบบ​ปัจจุบัน​ตั้ง​แต่​ประมาณ​ศตวรรษ​ที่ 11 มี​อิทธิพล​ต่อ​ศิลปิน​มาก​มาย. * พระ​เยซู​ทรง​ปรากฏ​ใน​ภาพ​วาด​จำนวน​มาก​ใน​ฐานะ​บุคคล​ที่​เคร่ง​ขรึม ซึ่ง​หาก​เคย​แย้ม​พระ​โอษฐ์​ก็​คง​น้อย​ครั้ง​เต็ม​ที. แต่​นั่น​ย่อม​เป็น​การ​พรรณนา​ถึง​พระ​เยซู​อย่าง​ไม่​ยุติธรรม เพราะ​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​พรรณนา​ถึง​พระองค์​ว่า​ทรง​เป็น​บุรุษ​ที่​อบอุ่น, มี​พระทัย​กรุณา, และ​มี​ความ​รู้สึก​อัน​ลึกซึ้ง.

2. เรา​อาจ​ปลูกฝัง “ทัศนคติ​อย่าง​เดียว​กัน . . . เหมือน​พระ​คริสต์​เยซู​ทรง​มี” ได้​อย่าง​ไร และ​การ​ปลูกฝัง​ดัง​กล่าว​จะ​ช่วย​เรา​ให้​พร้อม​จะ​ทำ​อะไร?

2 เห็น​ได้​ชัด เพื่อ​จะ​รู้​จัก​ตัว​จริง​ของ​พระ​เยซู เรา​ต้อง​บรรจุ​ความ​คิด​และ​หัวใจ​ของ​เรา​ด้วย​ความ​เข้าใจ​ที่​ถูก​ต้อง​เกี่ยว​กับ​บุคคล​แบบ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เป็น​จริง ๆ ขณะ​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก​นี้. ด้วย​เหตุ​นั้น ให้​เรา​ตรวจ​สอบ​เรื่อง​ราว​บาง​อย่าง​จาก​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​ที่​ให้​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​แก่​เรา​ใน​เรื่อง “พระทัย​ของ​พระ​คริสต์”—กล่าว​คือ​ความ​รู้สึก, การ​รับ​รู้, ความ​คิด, และ​การ​หา​เหตุ​ผล​ของ​พระองค์. (1 โกรินโธ 2:16) ขณะ​ที่​เรา​ทำ​อย่าง​นั้น ให้​เรา​พิจารณา​วิธี​ที่​เรา​อาจ​ปลูกฝัง “ทัศนคติ​อย่าง​เดียว​กัน . . . เหมือน​พระ​คริสต์​เยซู​ทรง​มี.” (โรม 15:5, ล.ม.) โดย​วิธี​นี้ เรา​อาจ​พร้อม​มาก​กว่า​ใน​การ​ดำเนิน​ชีวิต​และ​ใน​การ​ติด​ต่อ​สัมพันธ์​กับ​ผู้​อื่น​เพื่อ​ดำเนิน​ตาม​แบบ​อย่าง​ที่​พระองค์​ทรง​วาง​ไว้​สำหรับ​เรา.—โยฮัน 13:15.

เป็น​ผู้​ที่​เข้า​หา​ได้​ง่าย

3, 4. (ก) ฉาก​ของ​เหตุ​การณ์​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​ที่​มาระโก 10:13-16 เป็น​อย่าง​ไร? (ข) พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​เมื่อ​เหล่า​สาวก​พยายาม​ห้าม​เด็ก​เล็ก ๆ ไว้​ไม่​ให้​เข้า​มา​หา​พระองค์?

3 ผู้​คน​รู้สึก​ถูก​ดึงดูด​ให้​เข้า​ไป​หา​พระ​เยซู. ใน​หลาย​โอกาส คน​ใน​วัย​และ​ภูมิหลัง​ต่าง ๆ กัน​เข้า​หา​พระองค์​อย่าง​เป็น​อิสระ. ขอ​ให้​พิจารณา​เหตุ​การณ์​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​ที่​มาระโก 10:13-16. เหตุ​การณ์​นี้​เกิด​ขึ้น​ขณะ​จวน​จะ​ถึง​ตอน​สิ้น​สุด​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์ ขณะ​พระองค์​กำลัง​มุ่ง​ตรง​ไป​ยัง​กรุง​ยะรูซาเลม​เป็นครั้ง​สุด​ท้าย เพื่อ​เผชิญ​หน้า​กับ​ความ​ตาย​อัน​เจ็บ​ปวด​รวดร้าว.—มาระโก 10:32-34.

4 ขอ​ให้​นึก​ถึง​ฉาก​เหตุ​การณ์. ประชาชน​เริ่ม​พา​เด็ก ๆ รวม​ทั้ง​ทารก​มา​ให้​พระ​เยซู​อวย​พร. * อย่าง​ไร​ก็​ตาม เหล่า​สาวก​พยายาม​ห้าม​พวก​เด็ก ๆ ไม่​ให้​เข้า​มา​หา​พระ​เยซู. อาจ​เป็น​ได้ พวก​สาวก​คิด​ว่า​พระ​เยซู​คง​ไม่​ต้องการ​ถูก​รบกวน​จาก​พวก​เด็ก ๆ เป็น​แน่​ใน​ช่วง​สัปดาห์​สำคัญ​ที่​เหลือ​อยู่​นี้. แต่​พวก​เขา​คิด​ผิด. เมื่อ​พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​พวก​สาวก​กำลัง​ทำ​อะไร พระองค์​แสดง​ความ​ไม่​พอ​พระทัย. พระ​เยซู​ทรง​เรียก​เด็ก ๆ ให้​เข้า​ไป​หา​พระองค์ ตรัส​ว่า “จง​ยอม​ให้​เด็ก​เล็ก ๆ เข้า​มา​หา​เรา, อย่า​ห้าม​เขา​เลย.” (มาระโก 10:14) ตอน​นั้น​เอง พระองค์​ทรง​ทำ​สิ่ง​ซึ่ง​เผย​ให้​เห็น​ลักษณะ​ที่​อ่อนโยน​และ​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​แท้​จริง. บันทึก​กล่าว​ว่า “พระองค์​ทรง​อุ้ม​เด็ก​เล็ก ๆ เหล่า​นั้น . . . และ​ทรง​อวย​พร​ให้.” (มาระโก 10:16) เห็น​ได้​ชัด พวก​เด็ก ๆ รู้สึก​สบาย​ใจ​ขณะ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​อุ้ม​เขา​ไว้​ใน​วง​แขน​ที่​อาทร​ของ​พระองค์.

5. บันทึก​ที่​มาระโก 10:13-16 บอก​อะไร​แก่​เรา​เกี่ยว​กับ​บุคคล​แบบ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เป็น?

5 บันทึก​สั้น ๆ นั้น​บอก​เรา​มาก​ที​เดียว​เกี่ยว​กับ​บุคคล​แบบ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เป็น. สังเกต​ว่า​พระองค์​เป็น​ผู้​ที่​เข้า​หา​ได้​ง่าย. แม้​ว่า​พระองค์​ทรง​เคย​มี​ตำแหน่ง​สูง​ใน​สวรรค์ พระองค์​มิ​ได้​เหยียด​หยาม​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​หรือ​ทำ​ให้​เขา​กลัว. (โยฮัน 17:5) การ​ที่​แม้​แต่​เด็ก​ก็​รู้สึก​สบาย​ใจ​เมื่อ​อยู่​กับ​พระองค์​ย่อม​บ่ง​ถึง​อะไร​บาง​อย่าง​ด้วย​มิ​ใช่​หรือ? แน่นอน พวก​เด็ก ๆ คง​ไม่​รู้สึก​ถูก​ดึงดูด​ให้​เข้า​ไป​หา​คน​ที่​เย็นชา​ไร้​ความ​ยินดี​ผู้​ไม่​เคย​ยิ้ม​หรือ​หัวเราะ! ผู้​คน​ทุก​วัย​เข้า​หา​พระ​เยซู​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​รู้สึก​ได้​ว่า​พระองค์​ทรง​เป็น​คน​อบอุ่น​เอื้อ​อาทร และ​พวก​เขา​เชื่อ​มั่น​ว่า​พระองค์​จะ​ไม่​ผลัก​ไส​พวก​เขา.

6. ผู้​ปกครอง​จะ​ทำ​ให้​ตัว​เอง​เป็น​คน​ที่​เข้า​หา​ได้​ง่าย​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?

6 เมื่อ​ใคร่ครวญ​ใน​บันทึก​นี้ เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เรา​เอง​ว่า ‘ฉัน​มี​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​ไหม? ฉัน​เป็น​คน​ที่​เข้า​หา​ได้​ง่าย​ไหม?’ ใน​สมัย​วิกฤติ​นี้ แกะ​ของ​พระเจ้า​จำเป็น​ต้อง​มี​ผู้​บำรุง​เลี้ยง​ที่​เข้า​หา​ได้​ง่าย ชาย​ที่​เป็น​เหมือน “ที่​หลบ​ซ่อน​ให้​พ้น​ลม.” (ยะซายา 32:1, 2, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:1) ผู้​ปกครอง​ทั้ง​หลาย หาก​คุณ​ปลูกฝัง​ความ​สนใจ​ที่​ออก​มา​จาก​ใจ​อย่าง​แท้​จริง​ต่อ​พี่​น้อง​ของ​คุณ​และ​เต็ม​ใจ​จะ​สละ​ตัว​เอง​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​พวก​เขา พวก​เขา​ก็​จะ​รับ​รู้​ได้​ถึง​ความ​ห่วงใย​ของ​คุณ. พวก​เขา​จะ​เห็น​ได้​อย่าง​นั้น​จาก​การ​แสดง​ออก​ทาง​สี​หน้า​ของ​คุณ, ฟัง​ออก​จาก​น้ำ​เสียง​ของ​คุณ, และ​สังเกต​ได้​จาก​ท่าที​ที่​กรุณา​ของ​คุณ. ความ​อบอุ่น​และ​ความ​ห่วงใย​แท้​จริง​เช่น​นั้น​สามารถ​สร้าง​บรรยากาศ​แห่ง​ความ​ไว้​วางใจ ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​ง่าย​ขึ้น​ที่​ผู้​อื่น รวม​ทั้ง​เด็ก ๆ ด้วย จะ​เข้า​หา​คุณ. สตรี​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​อธิบาย​ถึง​เหตุ​ผล​ที่​เธอ​สามารถ​เปิด​ใจ​พูด​กับ​ผู้​ปกครอง​คน​หนึ่ง​ว่า “เขา​พูด​กับ​ดิฉัน​ด้วย​ท่าที​ที่​นุ่มนวล​และ​เมตตา​รักใคร่. ถ้า​ไม่​อย่าง​นั้น​แล้ว ดิฉัน​ก็​คง​พูด​ไม่​ออก. เขา​ทำ​ให้​ดิฉัน​รู้สึก​ปลอด​ภัย.”

คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น

7. (ก) พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ว่า​พระองค์​ทรง​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น? (ข) อาจ​เป็น​เพราะ​เหตุ​ใด​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ฟื้นฟู​ความ​สามารถ​ใน​การ​มอง​เห็น​ให้​ชาย​ตา​บอด​คน​หนึ่ง​อย่าง​ค่อย​เป็น​ค่อย​ไป?

7 พระ​เยซู​ทรง​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น. พระองค์​ทรง​มี​ความ​รู้สึก​ไว​ต่อ​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​อื่น. เพียง​ได้​เห็น​คน​ที่​ทน​ทุกข์​ก็​ทำ​ให้​สะเทือน​พระทัย​อย่าง​ยิ่ง​จน​กระตุ้น​พระองค์​ให้​บรรเทา​ทุกข์​ของ​พวก​เขา. (มัดธาย 14:14) พระองค์​ทรง​คำนึง​ถึง​ขีด​จำกัด​และ​ความ​จำเป็น​ของ​ผู้​อื่น​ด้วย. (โยฮัน 16:12) ครั้ง​หนึ่ง ผู้​คน​พา​ชาย​ตา​บอด​คน​หนึ่ง​มา​ขอ​ให้​พระ​เยซู​รักษา​เขา. พระ​เยซู​ทรง​ฟื้นฟู​ความ​สามารถ​ใน​การ​มอง​เห็น​ให้​แก่​ชาย​คน​นี้ แต่​ทรง​รักษา​อย่าง​ค่อย​เป็น​ค่อย​ไป. ที​แรก ชาย​คน​นี้​เริ่ม​มอง​เห็น​ผู้​คน​แต่​เพียง​ราง​เลือน—“เหมือน​ต้น​ไม้​เดิน​ไป​เดิน​มา.” ต่อ​จาก​นั้น พระ​เยซู​ทรง​ทำ​ให้​เขา​มอง​เห็น​ชัด​เป็น​ปกติ. เหตุ​ใด​พระองค์​ทรง​ค่อย ๆ รักษา​ชาย​คน​นี้​ที​ละ​น้อย? ที่​ทำ​อย่าง​นั้น​คง​จะ​เพื่อ​ให้​ชาย​คน​นี้​ซึ่ง​คุ้น​เคย​กับ​ความ​มืด​มา​นาน​สามารถ​ปรับ​สายตา​รับ​การ​มอง​เห็น​โลก​อัน​สลับ​ซับซ้อน​ซึ่ง​สว่าง​จ้า​ด้วย​แสง​อาทิตย์.—มาระโก 8:22-26.

8, 9. (ก)เกิด​อะไร​ขึ้น​หลัง​จาก​พระ​เยซู​กับ​เหล่า​สาวก​เข้า​ไป​ใน​แขวง​เดกาโปลี​ได้​ไม่​นาน? (ข) จง​พรรณนา​ถึง​การ​รักษา​ชาย​หู​หนวก​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ทำ.

8 ขอ​ให้​พิจารณา​อีก​เหตุ​การณ์​หนึ่ง​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​หลัง​วัน​ปัศคา​ปี ส.ศ. 32. พระ​เยซู​กับ​เหล่า​สาวก​ได้​เข้า​ไป​ใน​แขวง​เดกาโปลี ฟาก​ตะวัน​ออก​ของ​ทะเล​ฆาลิลาย. ไม่​นาน​นัก ก็​มี​คน​กลุ่ม​ใหญ่​พบ​พระ​เยซู​กับ​สาวก​ที่​นั่น​และ​นำ​คน​ป่วย​กับ​คน​พิการ​จำนวน​มาก​มา​หา​พระ​เยซู และ​พระองค์​ทรง​รักษา​เขา​สิ้น​ทุก​คน. (มัดธาย 15:29, 30) ที่​น่า​สนใจ​คือ พระ​เยซู​ทรง​แยก​ชาย​คน​หนึ่ง​ออก​มา​เพื่อ​ให้​เขา​ได้​รับ​การ​ดู​แล​เป็น​พิเศษ. ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​มาระโก ซึ่ง​เป็น​คน​เดียว​ที่​บันทึก​เหตุ​การณ์​นี้​ไว้ รายงาน​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น.—มาระโก 7:31-35.

9 ชาย​คน​นี้​หู​หนวก​และ​แทบ​จะ​พูด​ไม่​ได้. พระ​เยซู​อาจ​ทราบ​ว่า​ชาย​คน​นี้​รู้สึก​กังวล​หรือ​กระดาก​อาย​เป็น​พิเศษ. ตอน​นั้น​เอง พระ​เยซู​ทรง​ทำ​เรื่อง​ที่​ค่อนข้าง​แปลก. พระองค์​ทรง​พา​ชาย​คน​นี้​ออก​จาก​ฝูง​ชน​ไป​อยู่​ต่าง​หาก. จาก​นั้น พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ท่า​ทาง​บาง​อย่าง​เพื่อ​สื่อ​ให้​ชาย​คน​นี้​เข้าใจ​ถึง​สิ่ง​ที่​พระองค์​กำลัง​จะ​ทำ. พระองค์ “ทรง​เอา​นิ้ว​พระ​หัตถ์​ยอน​เข้า​ที่​หู​ของ​ชาย​ผู้​นั้น, และ​ทรง​บ้วน​น้ำลาย​เอา​นิ้ว​พระ​หัตถ์​จิ้ม​แตะ​ลิ้น​คน​นั้น.” (มาระโก 7:33) แล้ว​พระ​เยซู​ทรง​แหงน​พระ​พักตร์​ดู​ฟ้า​และ​ถอน​พระทัย​อธิษฐาน. การ​แสดง​ออก​เหล่า​นี้​ย่อม​เท่า​กับ​เป็น​การ​บอก​ชาย​ผู้​นี้​ว่า ‘สิ่ง​ที่​เรา​จะ​ทำ​แก่​เจ้า​นี้​เป็น​อำนาจ​จาก​พระเจ้า.’ ใน​ที่​สุด พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​เปิด​ออก.” (มาระโก 7:34) ทันใด​นั้น​เอง ชาย​คน​นี้​ก็​สามารถ​ได้​ยิน​และ​พูด​ได้​เป็น​ปกติ.

10, 11. โดย​วิธี​ใด​ที่​เรา​อาจ​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​อื่น​ใน​ประชาคม? ใน​ครอบครัว?

10 ช่าง​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​อะไร​เช่น​นี้! พระ​เยซู​ทรง​ไว​ต่อ​ความ​รู้สึก​ของ​พวก​เขา และ​การ​คำนึง​ถึง​อย่าง​ร่วม​รู้สึก​เช่น​นี้​เอง​ที่​กระตุ้น​พระองค์​ให้​ลง​มือ​ทำ​ด้วย​วิธี​ที่​ถนอม​ความ​รู้สึก​ของ​พวก​เขา. ใน​ฐานะ​คริสเตียน เรา​ควร​ปลูกฝัง​และ​แสดง​ออก​ซึ่ง​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​ใน​แง่​นี้. คัมภีร์​ไบเบิล​เตือน​สติ​เรา​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​ทุก​คน จง​มี​ความ​คิด​จิตใจ​อย่าง​เดียว​กัน, แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ, มี​ความ​รักใคร่​ฉัน​พี่​น้อง, ความ​เมตตา​รักใคร่​อัน​อ่อน​ละมุน, จิตใจ​ถ่อม.” (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) แน่นอน เพื่อ​จะ​ทำ​ได้​อย่าง​นี้​จำเป็น​ที่​เรา​จะ​ต้อง​พูด​และ​ทำ​ใน​วิธี​ที่​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​อื่น.

11 ใน​ประชาคม เรา​สามารถ​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​อื่น​ได้​โดย​คำนึง​ถึง​ศักดิ์ศรี​ของ​เขา ปฏิบัติ​ต่อ​เขา​อย่าง​ที่​เรา​อยาก​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ. (มัดธาย 7:12) นั่น​ย่อม​รวม​ถึง​การ​ระวัง​สิ่ง​ที่​เรา​พูด ตลอด​จน​วิธี​ที่​เรา​พูด. (โกโลซาย 4:6) จำ​ไว้​ว่า ‘คำ​พูด​พล่อย ๆ เหมือน​การ​แทง​ของ​กระบี่.’ (สุภาษิต 12:18) ใน​ครอบครัว​ล่ะ​จะ​ว่า​อย่าง​ไร? สามี​และ​ภรรยา​ที่​รัก​กัน​อย่าง​แท้​จริง​ย่อม​ไว​ต่อ​ความ​รู้สึก​ของ​กัน​และ​กัน. (เอเฟโซ 5:33) พวก​เขา​หลีก​เลี่ยง​คำ​พูด​เกรี้ยวกราด, การ​วิพากษ์วิจารณ์​ไม่​หยุดหย่อน, และ​การ​พูด​ค่อน​แคะ​เชือด​เฉือน—ซึ่ง​ทั้ง​หมด​นี้​อาจ​สร้าง​ความ​เจ็บใจ​ที่​ไม่​หาย​ไป​ได้​ง่าย ๆ. เด็ก ๆ ก็​มี​ความ​รู้สึก​เหมือน​กัน และ​บิดา​มารดา​ผู้​มี​ความ​รัก​ต้อง​คำนึง​ถึง​เรื่อง​นี้. เมื่อ​จำเป็น​ต้อง​ว่า​กล่าว​แก้ไข บิดา​มารดา​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ทำ​อย่าง​ที่​ให้​ความ​นับถือ​และ​คำนึง​ถึง​ศักดิ์ศรี​ของ​ลูก ๆ และ​ไม่​ทำ​ให้​เขา​ได้​อาย​โดย​ไม่​จำเป็น. * (โกโลซาย 3:21) เมื่อ​เรา​แสดง​ออก​ด้วย​การ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​อย่าง​นั้น ก็​แสดง​ว่า​เรา​มี​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์.

พร้อม​จะ​ไว้​วางใจ​ผู้​อื่น

12. พระ​เยซู​ทรง​มี​ทัศนะ​ที่​สมดุล​และ​ตรง​ตาม​ความ​เป็น​จริง​เช่น​ไร​ต่อ​เหล่า​สาวก?

12 พระ​เยซู​ทรง​มี​ทัศนะ​ต่อ​เหล่า​สาวก​อย่าง​สมดุล​และ​ตรง​ตาม​ความ​เป็น​จริง. พระองค์​ทรง​ทราบ​ดี​ว่า​พวก​เขา​ไม่​สมบูรณ์. ที่​จริง พระองค์​ทรง​สามารถ​อ่าน​ใจ​คน​เรา​ได้. (โยฮัน 2:24, 25) แม้​กระนั้น พระองค์​มิ​ได้​มอง​เห็น​เฉพาะ​ข้อ​บกพร่อง แต่​ทรง​มอง​เห็น​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ของ​พวก​เขา​ด้วย. นอก​จาก​นั้น พระองค์​ทรง​เห็น​ศักยภาพ​ที่​มี​อยู่​ใน​คน​เหล่า​นี้​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​ชัก​นำ​พวก​เขา. (โยฮัน 6:44) ทัศนะ​ใน​แง่​ดี​ที่​พระ​เยซู​ทรง​มี​ต่อ​เหล่า​สาวก​เห็น​ได้​จาก​วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​ดำเนิน​การ​และ​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​เขา. ประการ​หนึ่ง​นั้น พระองค์​ทรง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พร้อม​จะ​ไว้​วางใจ​พวก​เขา.

13. พระ​เยซู​ทรง​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​พระองค์​ไว้​วางใจ​เหล่า​สาวก?

13 พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​ไว้​วางใจ​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร? เมื่อ​พระองค์​ทรง​จาก​โลก​นี้​ไป พระองค์​ทรง​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​อัน​หนัก​แก่​เหล่า​สาวก​ผู้​ถูก​เจิม. พระองค์​ทรง​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ใน​การ​ดู​แล​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​ของ​พระองค์​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​โลก​ให้​พวก​เขา​จัด​การ. (มัดธาย 25:14, 15; ลูกา 12:42-44) ระหว่าง​การ​รับใช้​ของ​พระองค์ พระองค์​ทรง​แสดง​ให้​เห็น​แม้​แต่​ใน​เรื่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่ง​ส่อ​ว่า​พระองค์​ทรง​ไว้​วางใจ​พวก​เขา. เมื่อ​พระองค์​ทรง​เพิ่ม​ปริมาณ​อาหาร​ด้วย​การ​อัศจรรย์​เพื่อ​เลี้ยง​ฝูง​ชน พระองค์​ทรง​ตั้ง​ให้​เหล่า​สาวก​รับผิดชอบ​ใน​การ​แจก​จ่าย​อาหาร.—มัดธาย 14:15-21; 15:32-37.

14. คุณ​จะ​สรุป​เรื่อง​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​ที่​มาระโก 4:35-41 อย่าง​ไร?

14 ขอ​ให้​พิจารณา​เหตุ​การณ์​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​ที่​มาระโก 4:35-41 ด้วย. ใน​โอกาส​นี้ พระ​เยซู​กับ​เหล่า​สาวก​ลง​เรือ​และ​แล่น​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​ข้าม​ทะเล​ฆาลิลาย. หลัง​จาก​ออก​เรือ​มา​ได้​ไม่​นาน พระ​เยซู​ก็​เอน​พระ​กาย​ลง​ที่​ท้าย​เรือ​และ​บรรทม​สนิท. แต่​ใน​ไม่​ช้า “ลม​พายุ​ใหญ่​ได้​บังเกิด​ขึ้น.” พายุ​เช่น​นั้น​มัก​เกิด​ขึ้น​ใน​ทะเล​ฆาลิลาย. เนื่อง​จาก​พื้น​น้ำ​อยู่​ใน​ระดับ​ต่ำ (ประมาณ 200 เมตร​ต่ำ​กว่า​ระดับ​น้ำ​ทะเล) อากาศ​จึง​อุ่น​กว่า​พื้น​ที่​โดย​รอบ​มาก และ​ความ​แตกต่าง​นี้​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​ปั่นป่วน​ของ​บรรยากาศ. นอก​จาก​นี้​แล้ว ยัง​มี​ลม​แรง​พัด​ลง​มา​ตาม​หุบเขา​ยาระเดน​จาก​ภูเขา​เฮระโมน​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ทาง​ด้าน​เหนือ. อากาศ​ที่​สงบ​นิ่ง​อาจ​เปลี่ยน​โดย​ฉับพลัน​กลาย​เป็น​พายุ​กล้า​ใน​พริบ​ตา​ต่อ​มา. ขอ​ให้​คิด​ดู: ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ใน​เรื่อง​พายุ​ที่​เกิด​ขึ้น​เป็น​ปกติ​วิสัย เพราะ​พระองค์​ทรง​เติบโต​ใน​มณฑล​ฆาลิลาย. กระนั้น พระองค์​ทรง​บรรทม​อย่าง​เป็น​สุข ไว้​วางใจ​ใน​ความ​ชำนาญ​ของ​เหล่า​สาวก​ซึ่ง​บาง​คน​เป็น​ชาว​ประมง.—มัดธาย 4:18, 19.

15. เรา​อาจ​เลียน​แบบ​ความ​เต็ม​พระทัย​ของ​พระ​เยซู​ที่​จะ​ไว้​วางใจ​เหล่า​สาวก​ได้​อย่าง​ไร?

15 เรา​จะ​เลียน​แบบ​ความ​เต็ม​พระทัย​ของ​พระ​เยซู​ที่​จะ​ไว้​วางใจ​เหล่า​สาวก​ได้​ไหม? บาง​คน​พบ​ว่า​ยาก​จะ​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​แก่​ผู้​อื่น. เขา​ต้อง​เป็น​เสมือน​คน​ถือ​ท้าย​เรือ​เสมอ. เขา​อาจ​คิด​ว่า ‘ถ้า​ฉัน​ต้องการ​ให้​อะไร ๆ ดำเนิน​ไป​ด้วย​ดี ฉันต้อง​ทำ​ด้วย​ตัว​เอง!’ แต่​หาก​เรา​ต้อง​ทำ​ทุก​อย่าง​เสีย​เอง เรา​คง​หมด​เรี่ยว​แรง และ​อาจ​ไม่​มี​เวลา​เหลือ​มาก​พอ​สำหรับ​ครอบครัว​โดย​ที่​ไม่​จำเป็น​เลย. นอก​จาก​นั้น หาก​เรา​ไม่​มอบ​งาน​และ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ที่​เหมาะ​สม​แก่​ผู้​อื่น นั่น​อาจ​เป็น​เหมือน​กับ​การ​กีด​กัน​พวก​เขา​ไว้​ไม่​ให้​ได้​รับ​ประสบการณ์​และ​การ​ฝึกฝน​ที่​จำเป็น. นับ​ว่า​เป็น​ความ​สุขุม​ที่​จะ​เรียน​รู้​ใน​เรื่อง​การ​ไว้​วางใจ​ผู้​อื่น มอบ​งาน​บาง​อย่าง​แก่​พวก​เขา. เรา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ว่า ‘ฉัน​มี​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​ใน​แง่​นี้​ไหม? ฉัน​เต็ม​ใจ​จะ​มอบ​งาน​บาง​อย่าง​แก่​ผู้​อื่น​ไหม โดย​ไว้​ใจ​ว่า​เขา​จะ​ทำ​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​เขา​ทำ​ได้?’

พระองค์​ทรง​แสดง​ความ​เชื่อใจ​ต่อ​เหล่า​สาวก

16, 17. ใน​คืน​สุด​ท้าย​แห่ง​ชีวิต​ของ​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก พระ​เยซู​ทรง​ให้​คำ​รับรอง​อะไร​แก่​เหล่า​อัครสาวก แม้​ทรง​ทราบ​ว่า​พวก​เขา​จะ​ละ​ทิ้ง​พระองค์?

16 พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ทัศนะ​ใน​แง่​ดี​ต่อ​เหล่า​สาวก​ใน​อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​สำคัญ. พระองค์​ทรง​แสดง​ให้​พวก​เขา​ทราบ​ว่า​พระองค์​เชื่อ​มั่น​ใน​พวก​เขา. เรื่อง​นี้​เห็น​ได้​ชัด​ใน​คำ​รับรอง​ที่​พระองค์​ตรัส​แก่​เหล่า​อัครสาวก​ใน​คืน​สุด​ท้าย​แห่ง​ชีวิต​ของ​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก. โปรด​สังเกต​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น.

17 คืน​นี้​พระ​เยซู​ทรง​มี​หลาย​สิ่ง​หลาย​อย่าง​ที่​ต้อง​ทำ. พระองค์​ทรง​สอน​บทเรียน​อัน​เป็น​แบบ​อย่าง​ใน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​แก่​เหล่า​อัครสาวก​โดย​ทรง​ล้าง​เท้า​พวก​เขา. หลัง​จาก​นั้น พระองค์​ทรง​ตั้ง​อาหาร​มื้อ​เย็น​วัน​นั้น​ไว้​ให้​เป็น​อนุสรณ์​ถึง​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์. ถัด​จาก​นั้น เหล่า​อัครสาวก​เริ่ม​ถกเถียง​กัน​อย่าง​เผ็ด​ร้อน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ว่า​ใคร​น่า​จะ​เป็น​ใหญ่​ที่​สุด. พระ​เยซู​ยัง​คง​อด​ทน​อยู่​ต่อ​ไป โดย​ไม่​ทรง​ดุ​ด่า​หาก​แต่​หา​เหตุ​ผล​กับ​พวก​เขา. พระองค์​ทรง​บอก​พวก​เขา​ถึง​สิ่ง​ที่​รอ​อยู่​ข้าง​หน้า: “ใน​คืน​วัน​นี้​ท่าน​ทุก​คน​จะ​กะดาก​ใจ​เพราะ​เรา ด้วย​มี​คำ​กล่าว​ไว้​ใน​พระ​คัมภีร์​ว่า, เรา​จะ​ตี​ผู้​เลี้ยง​แกะ, และ​แกะ​ฝูง​นั้น​จะ​กระจัด​กระจาย​ไป.” (มัดธาย 26:31; ซะคาระยา 13:7) พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​มิตร​สหาย​ใกล้​ชิด​ที่​สุด​ของ​พระองค์​จะ​ละ​ทิ้ง​พระองค์​ใน​ยาม​คับขัน. กระนั้น พระองค์​ไม่​ทรง​ตำหนิ​พวก​เขา. ตรง​กัน​ข้าม​ที​เดียว พระองค์​ตรัส​แก่​พวก​เขา​ว่า “แต่​เมื่อ​เรา​เป็น​ขึ้น​มา​แล้ว, เรา​จะ​นำ​หน้า​ท่าน​ไป​ยัง​แขวง​ฆาลิลาย.” (มัดธาย 26:32) ถูก​แล้ว พระองค์​ทรง​รับรอง​กับ​พวก​เขา​ว่า แม้​พวก​เขา​จะ​ละ​ทิ้ง​พระองค์ พระองค์​จะ​ไม่​ทรง​ละ​ทิ้ง​พวก​เขา. เมื่อ​การ​ทดสอบ​อัน​แสน​สาหัส​นี้​ผ่าน​พ้น​ไป​แล้ว พระองค์​จะ​พบ​พวก​เขา​อีก​ครั้ง​หนึ่ง.

18. ที่​มณฑล​ฆาลิลาย พระ​เยซู​ทรง​มอบหมาย​เหล่า​สาวก​ให้​ทำ​หน้า​ที่​มอบหมาย​สำคัญ​อะไร และ​เหล่า​อัครสาวก​ปฏิบัติ​ตาม​หน้า​ที่​มอบหมาย​นี้​อย่าง​ไร?

18 พระ​เยซู​ทรง​รักษา​คำ​ตรัส​ของ​พระองค์. ต่อ​มา ใน​มณฑล​ฆาลิลาย พระ​เยซู​ผู้​ถูก​ปลุก​ให้​คืน​พระ​ชนม์​ทรง​ปรากฏ​ต่อ​หน้า​อัครสาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์​ทั้ง 11 คน ซึ่ง​ดู​เหมือน​ว่า​ได้​ชุมนุม​อยู่​กับ​อีก​หลาย​คน. (มัดธาย 28:16, 17; 1 โกรินโธ 15:6) ที่​นั่น พระ​เยซู​ทรง​มอบหมาย​งาน​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ให้​พวก​เขา​ทำ: “เหตุ​ฉะนั้น จง​ไป​และ​ทำ​ให้​ชน​จาก​ทุก​ชาติ​เป็น​สาวก ให้​เขา​รับ​บัพติสมา​ใน​นาม​แห่ง​พระ​บิดา​และ​พระ​บุตร​และ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ สอน​เขา​ให้​ถือ​รักษา​สิ่ง​สารพัด​ซึ่ง​เรา​ได้​สั่ง​พวก​เจ้า​ไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) พระ​ธรรม​กิจการ​ให้​หลักฐาน​ชัดเจน​แก่​เรา​ว่า เหล่า​อัครสาวก​ปฏิบัติ​ตาม​หน้า​ที่​มอบหมาย​นั้น. พวก​เขา​นำ​หน้า​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ใน​งาน​ประกาศ​ข่าว​ดี​ใน​ศตวรรษ​แรก.—กิจการ 2:41, 42; 4:33; 5:27-32.

19. การ​กระทำ​ของ​พระ​เยซู​หลัง​จาก​การ​ฟื้น​คืน​พระ​ชนม์​สอน​อะไร​แก่​เรา​เกี่ยว​กับ​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์?

19 บันทึก​ที่​เปิด​เผย​เรื่อง​นี้​สอน​อะไร​แก่​เรา​เกี่ยว​กับ​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์? พระ​เยซู​ทรง​เคย​เห็น​เหล่า​อัครสาวก​ใน​สภาพ​ตก​ต่ำ​ที่​สุด กระนั้น พระองค์ “ทรง​รัก​เขา​จน​ถึง​ที่​สุด.” (โยฮัน 13:1) แม้​พวก​เขา​มี​ข้อ​บกพร่อง​หลาย​อย่าง พระองค์​ทรง​แสดง​ให้​พวก​เขา​ทราบ​ว่า​พระองค์​ทรง​เชื่อใจ​พวก​เขา. พึง​สังเกต​ว่า​ความ​เชื่อ​มั่น​ของ​พระ​เยซู​ไม่​สูญ​เปล่า. ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​ความ​เชื่อ​มั่น​และ​ความ​เชื่อใจ​ที่​พระองค์​ได้​ทรง​แสดง​ต่อ​พวก​เขา​ให้​พลัง​เข้มแข็ง​แก่​พวก​เขา​ที่​จะ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ใน​การ​ทำ​งาน​ที่​พระองค์​ทรง​บัญชา​ให้​พวก​เขา​ทำ.

20, 21. เรา​อาจ​แสดง​ทัศนะ​ใน​แง่​ดี​ต่อ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​โดย​วิธี​ใด?

20 เรา​จะ​แสดง​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​ใน​แง่​นี้​ได้​อย่าง​ไร? อย่า​ได้​มอง​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​แง่​ร้าย. หาก​คุณ​คิด​ใน​แง่​ร้าย​เสีย​แล้ว คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ของ​คุณ​ก็​คง​จะ​เผย​ให้​เห็น​อย่าง​นั้น. (ลูกา 6:45) อย่าง​ไร​ก็​ตาม คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า ความ​รัก “เชื่อ​ทุก​สิ่ง.” (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) ความ​รัก​เป็น​คุณลักษณะ​ด้าน​บวก ไม่​ใช่​ด้าน​ลบ. ความ​รัก​ก่อ​ร่าง​สร้าง​ขึ้น​แทน​ที่​จะ​รื้อ​ทำลาย. ผู้​คน​พร้อม​จะ​ตอบ​สนอง​ต่อ​ความ​รัก​และ​การ​ให้​กำลังใจ​มาก​กว่า​การ​ข่มขู่. เรา​สามารถ​เสริม​สร้าง​และ​ให้​กำลังใจ​ผู้​อื่น​โดย​แสดง​ความ​เชื่อ​มั่น​ใน​พวก​เขา. (1 เธซะโลนิเก 5:11) เช่น​เดียว​กับ​พระ​คริสต์ หาก​เรา​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​ดี​ต่อ​พี่​น้อง​ของ​เรา เรา​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​เขา​ใน​วิธี​ที่​เสริม​สร้าง​พวก​เขา​ขึ้น​และ​ดึง​ส่วน​ดี​ที่​สุด​ใน​ตัว​เขา​ให้​ปรากฏ​ออก​มา.

21 การ​ปลูกฝัง​และ​การ​แสดง​พระทัย​ของ​พระ​คริสต์​นั้น​ลึกซึ้ง​กว่า​เพียง​แค่​เลียน​แบบ​การ​กระทำ​บาง​อย่าง​ของ​พระ​เยซู. ดัง​กล่าว​ไป​แล้ว​ใน​บทความ​ก่อน เพื่อ​ที่​เรา​จะ​สามารถ​ทำ​ได้​เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู​อย่าง​แท้​จริง ก่อน​อื่น​เรา​ต้อง​เรียน​รู้​ที่​จะ​มอง​เรื่อง​ต่าง ๆ อย่าง​พระองค์. พระ​ธรรม​กิตติคุณ​ช่วย​เรา​ให้​เห็น​แง่​มุม​อื่น​แห่ง​บุคลิกภาพ​ของ​พระองค์ คือ​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก​เกี่ยว​กับ​งาน​ที่​ทรง​ได้​รับ​มอบหมาย ดัง​ที่​จะ​พิจารณา​เรื่อง​นี้​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 1 ใน​เอกสาร​นี้ ผู้​ปลอม​แปลง​พรรณนา​ลักษณะ​ทาง​กาย​ของ​พระ​เยซู​ว่า​น่า​จะ​เป็น​อย่าง​ไร รวม​ถึง​สี​ของ​พระ​เกศา, พระ​ทาฐิกะ (เครา), และ​พระ​จักษุ. เอดการ์ เจ. กูดสปีด ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​อธิบาย​ว่า การ​ปลอม​แปลง​นี้ “มุ่ง​หมาย​จะ​ทำ​ให้​คำ​พรรณนา​เกี่ยว​กับ​ลักษณะ​เฉพาะ​พระองค์​ของ​พระ​เยซู​ใน​หนังสือ​คู่มือ​จิตรกร​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​โดย​ทั่ว​ไป.”

^ วรรค 4 ดู​เหมือน​ว่า พวก​เด็ก​อยู่​ใน​วัย​ต่าง ๆ กัน. คำ​ที่​ใช้​ใน​ที่​นี้​ว่า “เด็ก​เล็ก ๆ” นั้น​ใช้​กับ​ลูก​สาว​อายุ 12 ขวบ​ของ​ญายโร​ด้วย. (มาระโก 5:39, 42; 10:13) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​บันทึก​เรื่อง​ราว​คล้าย ๆ กัน​นี้ ลูกา​ใช้​คำ​ซึ่ง​หมาย​ถึง​ทารก​ด้วย.—ลูกา 1:41; 2:12; 18:15.

^ วรรค 11 โปรด​ดู​บทความ​เรื่อง “คุณ​เคารพ​ศักดิ์ศรี​ของ​เขา​ไหม?” ใน​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 เมษายน 1998.

คุณ​อธิบาย​ได้​ไหม?

• พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​เมื่อ​เหล่า​สาวก​พยายาม​ห้าม​เด็ก ๆ ไว้​ไม่​ให้​เข้า​มา​หา​พระองค์?

• พระ​เยซู​ทรง​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​ใน​ทาง​ใด​บ้าง?

• เรา​อาจ​เลียน​แบบ​ความ​เต็ม​พระทัย​ของ​พระ​เยซู​ที่​จะ​ไว้​วางใจ​เหล่า​สาวก​ได้​อย่าง​ไร?

• เรา​อาจ​เลียน​แบบ​ความ​เชื่อ​มั่น​ที่​พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ต่อ​เหล่า​อัครสาวก​ได้​อย่าง​ไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 16]

เด็ก ๆ รู้สึก​สบาย​ใจ​เมื่อ​อยู่​กับ​พระ​เยซู

[ภาพ​หน้า 17]

พระ​เยซู​ทรง​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​เมตตา​รักใคร่

[ภาพ​หน้า 18]

ผู้​ปกครอง​ที่​เข้า​หา​ได้​ง่าย​นับ​เป็น​พระ​พร