เขาค้นพบอะไรที่เมืองยิศเรล?
เขาค้นพบอะไรที่เมืองยิศเรล?
เป็นเวลาหลายศตวรรษที่เมืองยิศเรลโบราณเป็นที่รกร้าง. ครั้งหนึ่ง เมืองนี้เคยเป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ของคัมภีร์ไบเบิล. ในปัจจุบัน โดยที่ไร้ซึ่งสง่าราศีในอดีตและปกคลุมด้วยดินเป็นชั้น ๆ เมืองนี้ถูกลดฐานะลงเป็นแค่เนินดิน. ไม่กี่ปีมานี้ นักโบราณคดีเริ่มตรวจสอบซากของเมืองยิศเรล. ซากปรักหักพังเหล่านี้เผยอะไรเกี่ยวกับบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล?
เมืองยิศเรลในคัมภีร์ไบเบิล
เนื่องจากตั้งอยู่ทางตะวันออกของหุบเขายิศเรล เมืองยิศเรลจึงอยู่ในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งในแผ่นดินยิศราเอลโบราณ. ตรงข้ามหุบเขาไปทางเหนือมีภูเขาโมเรตั้งอยู่ ที่ซึ่งชาวมิดยานตั้งค่ายขณะเตรียมตัวจะโจมตีผู้วินิจฉัยฆิดโอนและกองทหารของท่าน. ถัดไปทางตะวันออกเล็กน้อยก็เป็นบ่อน้ำพุฮะโรด อยู่ที่เชิงเขาฆีละโบอะ. ที่นี่เองที่พระยะโฮวาลดกองทหารของฆิดโอนซึ่งมีอยู่หลายพันคนลงเหลือเพียง 300 คนเพื่อสำแดงพระปรีชาสามารถที่จะช่วยไพร่พลของพระองค์ให้รอดโดยไม่ต้องมีทหารกองใหญ่. (วินิจฉัย 7:1-25; ซะคาระยา 4:6) บนภูเขาฆีละโบอะที่อยู่ใกล้ ๆ นั้น ซาอูล กษัตริย์องค์แรกของชาติยิศราเอล พ่ายแพ้แก่ชาวฟะลิศตีมในการรบที่สะเทือนใจ ซึ่งระหว่างนั้น โยนาธานกับราชบุตรของซาอูลอีกสองคนถูกฆ่าและซาอูลเองก็ฆ่าตัวตาย.—1 ซามูเอล 31:1-5.
บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเมืองยิศเรลโบราณมีความหลากหลายอย่างยิ่ง. เรื่องราวเหล่านั้นบอกถึงการใช้อำนาจอย่างผิด ๆ และการออกหากของผู้ปกครองยิศราเอลรวมทั้งเรื่องความซื่อสัตย์และความมีใจแรงกล้าในส่วนของผู้รับใช้ของพระยะโฮวาด้วย. ในเมืองยิศเรลนี้เองที่กษัตริย์อาฮาบ—ผู้ปกครองอาณาจักรยิศราเอลทางเหนือสิบตระกูลในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบก่อนสากลศักราช—ตั้งราชสำนักของท่านขึ้น แม้ว่าเมืองหลวงที่เป็นทางการคือกรุงซะมาเรีย. (1 กษัตริย์ 21:1) จากเมืองยิศเรลนี้ เอลียาผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาถูกอีซาเบล มเหสีชาวต่างชาติของอาฮาบ ขู่จะเอาชีวิต. นางโกรธเนื่องจากเอลียาประหารผู้พยากรณ์ของบาละอย่างไม่เกรงกลัวภายหลังการทดสอบว่าใครเป็นพระเจ้าที่แท้จริง ซึ่งเอลียาทำบนภูเขาคารเม็ล.—1 กษัตริย์ 18:36–19:2.
และที่เมืองยิศเรล ก็มีการก่ออาชญากรรม. นาโบธชาวยิศเรลถูกฆ่า. กษัตริย์อาฮาบอยากได้สวนองุ่นของนาโบธ. เมื่อกษัตริย์เรียกร้องที่ดินผืนนั้น นาโบธตอบด้วยความภักดีว่า “จากทัศนะของพระยะโฮวา เป็นเรื่องเหลือคิดสำหรับข้าพเจ้าที่ข้าพเจ้าจะยกทรัพย์มรดกของบรรพบุรุษให้พระองค์.” คำตอบที่มีหลักการนี้ทำให้อาฮาบไม่พอพระทัยมาก. เมื่อเห็นกษัตริย์กลัดกลุ้มพระทัย ราชินีอีซาเบลจัดให้มีการพิจารณาคดีหลอก ๆ โดยกล่าวหานาโบธว่าหมิ่นประมาท. นาโบธผู้บริสุทธิ์ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกหินขว้างถึงตาย และกษัตริย์ก็ริบสวนองุ่นของเขา.—1 กษัตริย์ 21:1-16, ล.ม.
เนื่องจากการกระทำที่ชั่วช้านี้ เอลียาได้พยากรณ์ว่า 1 กษัตริย์ 21:23-29) บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลดำเนินเรื่องต่อไปว่าในสมัยของอะลีซา ผู้สืบทอดตำแหน่งของเอลียา เยฮูได้รับการเจิมเป็นกษัตริย์ของยิศราเอล. ขณะที่ท่านขับรถม้าเข้าเมืองยิศเรล เยฮูสั่งให้คนโยนอีซาเบลลงมาจากหน้าต่างวังของนาง แล้วนางก็ถูกม้าเหยียบ. ต่อมา พบว่าฝูงสุนัขข้างถนนกินอีซาเบลจนเหลือแต่กะโหลกศีรษะ, เท้า, และฝ่ามือของนางเท่านั้น. (2 กษัตริย์ 9:30-37) บันทึกเรื่องสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิลที่เกี่ยวกับเมืองยิศเรลคือการประหารราชบุตรของอาฮาบ 70 คน. เยฮูกองศีรษะของพวกเขาไว้เป็นสองกองที่ริมประตูเมืองยิศเรล หลังจากนั้น ท่านประหารเจ้านายคนอื่น ๆ และปุโรหิตที่เกี่ยวข้องกับการปกครองที่ออกหากของอาฮาบเสีย.—2 กษัตริย์ 10:6-11.
“สุนัขจะกินอีซาเบลที่เชิงเนินเมืองยิศเรล.” ผู้พยากรณ์ประกาศต่อไปว่า “ผู้ใดเกี่ยวข้องกับอาฮาบที่ตายในเมืองสุนัขจะกิน . . . ไม่มีใครเหมือนอย่างอาฮาบผู้ได้ขายตัวเอง, ทำการชั่วร้ายในคลองพระเนตรแห่งพระยะโฮวา, และประพฤติตามอีซาเบลมเหสีที่ได้ยุยงนั้น.” อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาฮาบถ่อมตัวลงเมื่อเอลียาประกาศคำพิพากษาของพระยะโฮวา พระยะโฮวาจึงทรงประกาศว่าการลงโทษนี้จะไม่เกิดขึ้นในชั่วชีวิตของอาฮาบ. (นักโบราณคดีพบอะไร?
ในปี 1990 โครงการที่ร่วมมือกันในการขุดค้นที่ตั้งเมืองยิศเรลก็เริ่มขึ้น. ผู้ที่มีส่วนร่วมคือสถาบันโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (เดวิด อุสซิชคินเป็นตัวแทน) และโรงเรียนโบราณคดีแห่งบริเตนในกรุงเยรูซาเลม (จอห์น วูดเฮดเป็นตัวแทน). ระหว่างปี 1990-1996 ผู้อาสาสมัครประมาณ 80 ถึง 100 คนทำงานในสถานที่แห่งนั้นเจ็ดระยะด้วยกัน (แต่ละระยะกินเวลาหกสัปดาห์).
วิธีการสมัยใหม่ในการขุดค้นทางโบราณคดีก็คือการตรวจสอบหลักฐานในสถานที่นั้นซึ่งให้การยืนยันตัวมันเอง โดยไม่อ้างถึงข้อสันนิษฐานและทฤษฎีต่าง ๆ ที่เคยมีกล่าวไว้. ด้วยเหตุนี้ สำหรับนักโบราณคดีที่ศึกษาดินแดนต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล บันทึกในพระคัมภีร์ไม่ได้ถือว่าเป็นหลักฐานยืนยันสำหรับเรื่องนั้น. ต้องมีการพิจารณาและประเมินแหล่งอื่น ๆ และหลักฐานที่เป็นวัตถุอย่างรอบคอบ. อย่างไรก็ตาม ดังที่จอห์น วูดเฮดกล่าว ไม่มีหลักฐานที่เป็นข้อเขียนโบราณเกี่ยวกับยิศเรลนอกจากไม่กี่บทในคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น บันทึกและการลำดับเวลาในคัมภีร์ไบเบิลจึงน่าจะมีส่วนในการสืบค้นใด ๆ ก็ตาม. ความพยายามของนักโบราณคดีเผยให้เห็นอะไร?
เมื่อป้อมปราการและเครื่องปั้นดินเผาถูกขุดขึ้นมา ก็เป็นที่ชัดแจ้งตั้งแต่แรกว่าซากปรักหักพังนี้ย้อนไปถึงสมัยที่เรียกกันว่ายุคเหล็ก และเป็นยุคเดียวกันพอดีกับช่วงเวลาของเมืองยิศเรลในคัมภีร์ไบเบิล. แต่ขณะที่การขุดค้นดำเนินไป ก็พบเรื่องคาดไม่ถึงหลายอย่าง. ประการแรกคือขนาดของเมืองและกำแพงเมืองอันแน่นหนา. นักโบราณคดีคาดว่าขนาดของสถานที่นั้นพร้อมด้วยกำแพงเมืองจะใกล้เคียง
กับขนาดของกรุงซะมาเรียโบราณ นครหลวงของอาณาจักรยิศราเอล. อย่างไรก็ตาม ขณะที่การขุดค้นดำเนินไป เป็นที่ชัดเจนว่าเมืองยิศเรลใหญ่กว่ามาก. โดยวัดได้ประมาณ 300 เมตรคูณ 150 เมตรตามความยาวของกำแพง พื้นที่โดยรวมภายในกำแพงเมืองมีมากกว่าเมืองอื่นใดที่ถูกค้นพบในยิศราเอลช่วงนั้นถึงสามเท่า. เมืองนี้ล้อมรอบด้วยคูเมืองแห้ง ทำให้กำแพงมีความสูง 11 เมตร. ตามคำกล่าวของศาสตราจารย์อุสซิชคิน คูเมืองนี้เป็นลักษณะที่ไม่เคยมีมาก่อนในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. เขากล่าวว่า “เราไม่พบอะไรเช่นนี้ที่อื่นในอิสราเอลจนกระทั่งช่วงเวลาของนักรบครูเสด.”ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่เหนือความคาดหมายคือการที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อยู่ใจกลางเมือง. มีการนำดินสีน้ำตาลอมแดงปริมาณมากเข้ามาในช่วงการสร้างเมืองเพื่อใช้สร้างยกพื้น—แท่นหรือยกพื้นขนาดใหญ่—ภายในกำแพง. รายงานชั้นต้นฉบับที่สอง (ภาษาอังกฤษ) เกี่ยวกับการขุดค้นที่เทลยิศเรลมีความเห็นว่า ยกพื้นที่เด่นนี้อาจเป็นหลักฐานว่าเมืองยิศเรลไม่ได้เป็นแค่ราชสำนัก. รายงานนั้นกล่าวว่า “เราอยากจะเสนอความเป็นไปได้ที่ว่าเมืองยิศเรลเป็นฐานทัพทหารกลางของกองทัพยิศราเอลในสมัยของกษัตริย์เชื้อสายอัมรี . . . ซึ่งเป็นที่ตั้งและที่ฝึกซ้อมของพลรถและพลม้าหลวง.” โดยพิจารณาจากขนาดของยกพื้นนี้ รวมทั้งขนาดของกำแพง วูดเฮดคำนวณว่านี่อาจเป็นพื้นเดินสวนสนามแบบหนึ่งสำหรับแสดงแสนยานุภาพของกองกำลังรถม้าที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ณ เวลานั้น.
ซากปรักหักพังของประตูเมืองซึ่งขุดพบเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีสนใจเป็นพิเศษ. ซากหักพังนั้นแสดงให้เห็นประตูทางเข้าซึ่งมีห้องอย่างน้อยสี่ห้อง. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากก้อนหินหลายก้อนในสถานที่นั้นถูกขโมยไปตลอดหลายศตวรรษ สิ่งที่ค้นพบจึงไม่อาจสรุปได้แน่ชัด. วูดเฮดคิดว่าซากนี้บ่งชี้ว่าเป็นประตูเมืองหกห้องคล้ายกับรูปร่างของประตูเมืองเมกิดโด, ฮาโซร, และเฆเซอร์. *
การค้นพบทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่าเมืองนี้มีช่วงการดำรงอยู่สั้นอย่างน่าประหลาดใจ เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีมากทั้งทางทหารและทางภูมิศาสตร์. วูดเฮดเน้นว่าในฐานะเมืองที่มีกำแพงแน่นหนา ยิศเรลเป็นเมืองที่มีผู้คนอยู่เพียงช่วงเดียว—โดยถูกใช้ไม่กี่สิบปี. เมืองนี้แตกต่างอย่างมากกับเมืองสำคัญอื่น ๆ หลายเมืองของยิศราเอลในคัมภีร์ไบเบิล เช่น เมกิดโด, ฮาโซร, และเมืองหลวงซะมาเรีย ซึ่งถูกสร้างใหม่, ขยาย, และมีคนอยู่อาศัยซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน. ทำไมทำเลที่เหมาะนี้จึงเลิกใช้เร็วนัก? วูดเฮดคาดว่าอาฮาบและราชวงศ์ของท่านเกือบจะก่อให้เกิดการล่มจมทางเศรษฐกิจเนื่องจากพวกเขาผลาญทรัพยากรของชาติ. เรื่องนี้เห็นได้จากความแข็งแกร่งใหญ่โตเกินไปของยิศเรล. การปกครองใหม่ภายใต้เยฮูคงจะต้องการถอนตัวออกจากความทรงจำเกี่ยวกับอาฮาบและจึงทิ้งเมืองนี้ไป.
หลักฐานทุกอย่างที่ถูกขุดขึ้นมาจึงยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเมืองยิศเรลเป็นศูนย์รวมที่สำคัญของชาวยิศราเอลในช่วงยุคเหล็ก. ขนาดและกำแพงของเมืองนี้สอดคล้องกับคำพรรณนาในคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นราชสำนักที่สำคัญของอาฮาบและอีซาเบล. สิ่งบ่งชี้ที่ว่าเมืองนี้เป็นที่อยู่อาศัยในช่วงเวลาที่จำกัดในยุคนั้นตรงกันกับบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเมืองนี้ที่ว่า เมืองนี้โดดเด่นขึ้นมาอย่างรวดเร็วระหว่างรัชกาลของอาฮาบ แล้วด้วยพระบัญชาของพระยะโฮวา ถูกทำลายลงอย่างน่าอับอายขายหน้าเมื่อเยฮู “ได้ฆ่าเชื้อวงศ์ของอาฮาบซึ่งเหลือทั้งหมดในเมืองยิศเรล, ทั้งผู้ใหญ่ทั้งปวง, และญาติพี่น้อง, และปุโรหิต, จนมิได้เหลือเลยสักคนเดียว.”—2 กษัตริย์ 10:11.
การระบุเวลาเกี่ยวกับเมืองยิศเรล
จอห์น วูดเฮดยอมรับว่า “มันยากมากในทางโบราณคดีที่จะได้พื้นฐานที่แม่นยำสำหรับการระบุวันเวลา.” ดังนั้น ขณะที่นักโบราณคดีตรวจดูผลของการขุดค้นเจ็ดปี พวกเขาเทียบผลที่ได้กับการค้นพบทางโบราณคดีในสถานที่อื่น. นี่ทำให้มีการประเมินกันใหม่และการถกเถียงกัน. ทำไม? เนื่องจากตั้งแต่การขุดค้นของนักโบราณคดีชาวอิสราเอลชื่อ ยิกาเอล ยาดินที่เมืองเมกิดโดระหว่างทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 หลายคนในโลกโบราณคดีเชื่อว่ามีการยืนยันแล้วว่าเขาได้ค้นพบกำแพงและประตูเมืองที่ย้อนไปถึงสมัยของกษัตริย์ซะโลโม. ตอนนี้ กำแพงเมือง, เครื่องปั้นดินเผา, และประตูเมืองซึ่งพบที่ยิศเรลทำให้บางคนสงสัยข้อสรุปเหล่านี้.
ตัวอย่างเช่น เครื่องปั้นดินเผาที่ยิศเรลเหมือนกันกับที่พบในชั้นดินของเมกิดโดที่ยาดินเชื่อมโยงกับรัชกาลของซะโลโม. โครงสร้างและขนาดของประตูเมืองในสถานที่สองแห่งนี้คล้ายกัน ถ้าไม่เหมือนกันเลยทีเดียว. วูดเฮดกล่าวว่า “หลักฐานทั้งหมด ถ้าไม่ทำให้ยิศเรลย้อนไปถึงสมัยของซะโลโม ก็ทำให้การระบุเวลาในสถานที่แห่งอื่น [เมกิดโดและฮาโซร] ลดลงมาถึงช่วงเวลาของอาฮาบ.” เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลเชื่อมโยงเมืองยิศเรลกับสมัยของอาฮาบอย่างชัดเจน เขาคิดว่ามีเหตุผลมากกว่าที่จะยอมรับว่าสิ่งที่ค้นพบในชั้นดินชี้ไปยังสมัยการปกครองของอาฮาบ. เดวิด อุสซิชคินเห็นด้วยว่า “คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าซะโลโมสร้างเมืองเมกิดโด—แต่ไม่ได้บอกว่าท่านสร้างประตูเมืองเหล่านั้นจริง ๆ.”
จะมีทางรู้ประวัติศาสตร์ของยิศเรลไหม?
การค้นพบทางโบราณคดีเหล่านี้และการถกเถียงที่ตามมาทำให้มีข้อสงสัยในบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องยิศเรลหรือซะโลโมไหม? จริง ๆ แล้ว ความขัดแย้งทางโบราณคดีมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเพียงเล็กน้อย. โบราณคดีตรวจสอบประวัติศาสตร์โดยอาศัยพื้นฐานต่างกันจากการเล่าเหตุการณ์ของคัมภีร์ไบเบิล. โบราณคดีก่อให้เกิดคำถามที่ต่างกันและมีการเน้นในจุดที่ต่างกัน. เราอาจเทียบนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและนักโบราณคดีกับนักเดินทางที่อยู่ในเส้นทางที่ค่อนข้างเป็นเส้นขนาน. นักเดินทางคนหนึ่งขับรถไปตามถนน ส่วนอีกคนหนึ่งเดินข้างทาง. ความสนใจและความห่วงใยของทั้งสองต่างกัน. กระนั้น มุมมองมักจะตรงกันมากกว่าขัดกัน. การเทียบความประทับใจของนักเดินทางทั้งสองสามารถทำให้มีความหยั่งเห็นที่น่าสนใจ.
คัมภีร์ไบเบิลเป็นบันทึกที่เขียนไว้เกี่ยวกับเหตุการณ์และผู้คนสมัยโบราณ; โบราณคดีพยายามจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์และผู้คนเหล่านี้ โดยการตรวจสอบร่องรอยใด ๆ ที่ยังเหลืออยู่ในดิน. อย่างไรก็ตาม ซากเหล่านี้มักจะไม่ครบถ้วนและเปิดช่องให้มีการตีความได้หลายแบบ. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในหนังสือของเขาชื่อโบราณคดีของแผ่นดินแห่งคัมภีร์ไบเบิล—ปี 10,000-586 ก.ส.ศ. อะมีไฮ มาซาร์ ให้ความเห็นว่า “งานภาคสนามทางโบราณคดี . . . โดยมากแล้วเป็นศิลปะเช่นเดียวกับการผสมผสานกันระหว่างการฝึกฝนและทักษะแบบมืออาชีพ. ไม่มีวิธีการที่ตายตัวแบบใดจะรับประกันความสำเร็จได้ และความยืดหยุ่นและความคิดริเริ่มจากผู้ควบคุมภาคสนามเป็นสิ่งจำเป็น. บุคลิก, ทักษะ, และสามัญสำนึกของนักโบราณคดีสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฝึกฝนและทรัพยากรที่เขามี.”
โบราณคดียืนยันการมีอยู่จริงของศูนย์กลางของกษัตริย์และทางทหารที่สำคัญในยิศเรล ซึ่งมีอยู่ช่วงเวลาสั้น ๆ อย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งตรงกันกับสมัยทางประวัติศาสตร์ของการปกครองของอาฮาบ—เป็นอย่างที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวพอดี. มีการตั้งคำถามที่น่าฉงนอื่นอีกหลายข้อซึ่งนักโบราณคดีอาจจะต้องศึกษาอีกหลายปีข้างหน้า. กระนั้น ในหน้าต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า ก็ยังคงพูดอย่างชัดเจน ทำให้เรามีเรื่องราวที่ครบถ้วนในแบบที่นักโบราณคดีทำไม่ได้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 13 ดูบทความ “ความลึกลับของประตูเมือง” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 สิงหาคม 1988.
[ภาพหน้า 26]
การขุดค้นทางโบราณคดีที่ยิศเรล
[ภาพหน้า 28]
รูปเคารพของชาวคะนาอันซึ่งพบที่ยิศเรล