ซื่อสัตย์และกล้าหาญเมื่อถูกกดขี่โดยพวกนาซี
ซื่อสัตย์และกล้าหาญเมื่อถูกกดขี่โดยพวกนาซี
ในวันที่ 17 มิถุนายน 1946 ราชินีวิลเฮลมีนาแห่งเนเธอร์แลนด์ส่งสาสน์แสดงความเสียพระทัยแก่ครอบครัวที่เป็นพยานพระยะโฮวาครอบครัวหนึ่งในกรุงอัมสเตอร์ดัม. สาสน์นี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความชื่นชมต่อบุตรชายของครอบครัวนั้น คือยาโกบ ฟอน เบนเนโกม ซึ่งถูกพวกนาซีสังหารระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2. ไม่กี่ปีมานี้ สภาเทศบาลเมืองดูติเคม เมืองเล็ก ๆ ทางภาคตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ตัดสินว่าจะตั้งชื่อถนนสายหนึ่งตามชื่อของแบร์นาร์ด โปลมัน ซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาที่ถูกสังหารระหว่างสงครามเช่นกัน.
ทำไมพวกนาซีเป็นศัตรูกับยาโกบ, แบร์นาร์ด, และพยานพระยะโฮวาคนอื่น ๆ ในเนเธอร์แลนด์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2? และอะไรทำให้พยานฯ เหล่านี้รักษาความซื่อสัตย์ภายใต้การข่มเหงอันทารุณเป็นเวลาหลายปีจนในที่สุดได้รับความนับถือและความชื่นชมจากเพื่อนร่วมชาติและพระราชินี? เพื่อจะรู้ได้ ขอให้เราทบทวนเหตุการณ์บางอย่างซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้ากันแบบดาวิดกับฆาละยัธคือระหว่างพยานพระยะโฮวากลุ่มเล็ก ๆ และกลไกทางการเมืองและทางทหารขนาดยักษ์ของพวกนาซี.
ถูกห้าม—แต่แข็งขันยิ่งกว่าเดิม
ในวันที่ 10 พฤษภาคม 1940 กองทัพนาซีบุกเข้ามาในประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างรวดเร็ว. เนื่องจากสรรพหนังสือที่พยานพระยะโฮวาจ่ายแจกได้เปิดโปงการกระทำอันชั่วร้ายของลัทธินาซีและสนับสนุนราชอาณาจักรของพระเจ้า พวกนาซีจึงพยายามหยุดกิจการงานของพวกพยานฯ ทันที. ไม่ถึงสามสัปดาห์หลังจากพวกนาซีบุกเนเธอร์แลนด์ พวกเขาออกคำสั่งแบบลับ ๆ ห้ามงานของพยานพระยะโฮวา. ในวันที่ 10 มีนาคม 1941 หนังสือพิมพ์ลงข่าวการสั่งห้ามนั้นต่อสาธารณชน โดยกล่าวหาพยานฯ ว่าทำการรณรงค์
“ต่อต้านสถาบันของรัฐและของคริสตจักรทุกสถาบัน.” ผลก็คือ การไล่ล่าพยานฯ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น.น่าสนใจ แม้พวกเกสตาโป หรือหน่วยตำรวจลับอันเลวทราม จับตาดูทุกคริสตจักรอย่างใกล้ชิด แต่พวกเขาข่มเหงองค์การคริสเตียนอย่างรุนแรงเพียงองค์การเดียวเท่านั้น. ดร. หลุยส์ เดอ ยง นักประวัติศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ชี้ให้เห็นว่า “การข่มเหงจนตาย มุ่งตรงไปที่ศาสนากลุ่มเดียวเท่านั้นคือพวกพยานพระยะโฮวา.”—ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (ภาษาดัตช์).
พวกเกสตาโปได้รับความร่วมมือจากตำรวจดัตช์ในการเสาะหาและจับกุมพยานฯ. นอกจากนั้น ผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งซึ่งขลาดกลัวและได้ออกหากไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับอดีตเพื่อนร่วมความเชื่อของเขาแก่พวกนาซี. พอถึงสิ้นเดือนเมษายน 1941 พยานฯ 113 คนถูกจับกุม. การโจมตีอันรุนแรงนี้ทำให้งานประกาศหยุดไปไหม?
คำตอบอยู่ในรายงานจากเนเธอร์แลนด์ (ภาษาเยอรมัน) เอกสารลับเฉพาะซึ่งเตรียมโดยพวกซิเคอร์ไฮต์สโพลีไซ (ตำรวจรักษาความปลอดภัย) ของเยอรมนีในเดือนเมษายนปี 1941. รายงานนั้นกล่าวถึงพยานพระยะโฮวาว่า “นิกายต้องห้ามนี้ดำเนินกิจการอย่างเอาจริงเอาจังตลอดทั่วประเทศ จัดการประชุมที่ผิดกฎหมายและติดใบปลิวซึ่งมีข้อความเช่น ‘การข่มเหงพยานของพระเจ้าเป็นอาชญากรรม’ และ ‘พระยะโฮวาจะทรงลงโทษผู้ข่มเหงด้วยการทำลายตลอดกาล.’ ” สองสัปดาห์ต่อมา แหล่งเดียวกันนั้นรายงานว่า “แม้ว่าตำรวจรักษาความปลอดภัยจะใช้มาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อยุติกิจการของนักศึกษาพระคัมภีร์ แต่งานของพวกเขาเพิ่มทวีต่อไป.” ใช่แล้ว ทั้ง ๆ ที่เสี่ยงต่อการถูกจับกุม พวกพยานฯ ยังคงทำงานต่อไป โดยจำหน่ายสรรพหนังสือให้กับประชาชนทั่วไปกว่า 350,000 ชิ้นในปี 1941 เพียงปีเดียว!
อะไรทำให้พยานฯ กลุ่มเล็ก ๆ จำนวนไม่กี่ร้อยคนนี้ซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นมีความกล้าที่จะต้านทานศัตรูอันน่าเกรงขาม? เหมือนกับผู้พยากรณ์ยะซายาที่ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณ พวกพยานฯ เกรงกลัวพระเจ้า ไม่ได้กลัวมนุษย์. ทำไม? เพราะว่าพวกเขามั่นใจในคำรับรองของพระยะโฮวาที่มีต่อยะซายาที่ว่า “เรา, เราเองนะ, เป็นผู้เล้าโลมของเจ้า; ทำไมเจ้าจะไปกลัวมนุษย์?”—ยะซายา 51:12.
ความกล้าหาญได้รับความนับถือ
เมื่อถึงช่วงสิ้นปี 1941 จำนวนพยานฯ ที่ถูกจับกุมเพิ่มขึ้นเป็น 241 คน. อย่างไรก็ตาม มีไม่กี่คนยอมแพ้เพราะความกลัวมนุษย์. วิลลี ลาเกส สมาชิก
ตำรวจลับผู้มีชื่อเสียงของเยอรมนีกล่าวว่า “90 เปอร์เซ็นต์ของพยานพระยะโฮวาไม่ยอมเปิดเผยอะไรเลย ขณะที่มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ในศาสนากลุ่มอื่น ๆ ที่เข้มแข็งพอที่จะไม่ปริปาก.” นักเทศน์ชาวดัตช์ชื่อ โยฮันเนส เจ. เบอสเกส ซึ่งถูกจำคุกกับพยานฯ บางคน ให้ข้อสังเกตที่ยืนยันคำกล่าวของลาเกส. ในปี 1951 เบอสเกสเขียนดังนี้:“ในสมัยนั้น ผมเกิดความนับถือต่อพวกเขามาก เนื่องจากความไว้วางใจที่พวกเขามีต่อพระเจ้าและพลังความเชื่อของพวกเขา. ผมจะไม่มีวันลืมเด็กหนุ่มคนหนึ่ง—เขาคงมีอายุไม่เกิน 19 ปี—ซึ่งแจกใบปลิวที่ทำนายการล่มจมของฮิตเลอร์และจักรวรรดิไรช์ที่สาม. . . . เขาอาจถูกปล่อยตัวภายในครึ่งปีถ้าเขาสัญญาว่าจะเลิกกิจกรรมนั้น. เรื่องนี้เขาไม่ยอมทำอย่างเด็ดขาด และเขาถูกตัดสินให้ใช้แรงงานในเยอรมนีโดยไม่มีกำหนด. เรารู้ดีว่านั่นหมายถึงอะไร. เช้าวันต่อมาเมื่อเขาถูกพาตัวไปและเราร่ำลาเขา ผมบอกเขาว่าเราจะคิดถึงเขาและอธิษฐานเพื่อเขา. เขาตอบแต่เพียงว่า ‘อย่ากังวลเรื่องผมเลยครับ. ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะมาแน่ ๆ.’ เรื่องแบบนี้คุณไม่มีวันลืม แม้ว่าคุณมีข้อคัดค้านมากขนาดไหนต่อคำสอนของพยานพระยะโฮวาเหล่านี้ก็ตาม.”
ทั้ง ๆ ที่ประสบการต่อต้านอย่างทารุณ จำนวนพยานฯ ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. ขณะที่มีประมาณ 300 คนไม่นานก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จำนวนนั้นก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,379 คน ในปี 1943. น่าเศร้า พอถึงตอนสิ้นปีนั้น พยานฯ 54 คนจากผู้ที่ถูกจับกุมกว่า 350 คนได้เสียชีวิตในค่ายกักกันต่าง ๆ. ส่วนในปี 1944 มีพยานพระยะโฮวา 141 คนจากเนเธอร์แลนด์ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในค่ายกักกันต่าง ๆ.
ปีสุดท้ายของการข่มเหงจากนาซี
หลังจากวัน ดี-เดย์ คือวันที่ 6 มิถุนายน 1944 การข่มเหงพยานฯ ก็เข้าสู่ปีสุดท้าย. ในทางทหาร พวกนาซีและพันธมิตรถูกต้อนจนมุมแล้ว. คนเราอาจคิดว่าในสถานการณ์เช่นนั้น พวกนาซีจะเลิกไล่ล่าคริสเตียนที่บริสุทธิ์เหล่านี้. แต่ในปีนั้น มีพยานฯ อีก 48 คนถูกจับกุม และพยานฯ ที่ถูกกักขังอีก 68 คนเสียชีวิตไป. คนหนึ่งคือยาโกบ ฟอน เบนเนโกม ซึ่งกล่าวถึงข้างต้น.
ยาโกบวัยสิบแปดปีเป็นหนึ่งใน 580 คนที่รับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวาในปี 1941. ไม่นานหลังจากนั้น เขาออกจากงานที่ได้เงินดีเนื่องจากงานนั้นเรียกร้องให้เขาอะลุ่มอล่วยความเป็นกลางแบบคริสเตียน. เขาได้งานเป็นคนเดินหนังสือและเริ่มรับใช้เป็นผู้ประกาศเต็มเวลา. ขณะที่ขนส่งสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล เขาถูกจับกุม. ในเดือนสิงหาคม 1944 ยาโกบวัย 21 ปีเขียนจดหมายถึงครอบครัวของเขาจากเรือนจำในเมืองรอตเทอร์ดัมดังนี้:
“ผมสบายดีและมีความยินดีมาก. . . . ถึงตอนนี้ผมถูกสอบสวนสี่ครั้งแล้ว. สองครั้งแรกค่อนข้างหนัก และผมถูกเฆี่ยนอย่างทารุณ แต่ด้วยกำลังและพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า จนถึงตอนนี้ผมยังสามารถเก็บความลับไว้ได้. . . . ผมสามารถให้คำบรรยายที่นี่ได้แล้ว รวมทั้งหมดหกครั้ง มีผู้ฟังทั้งหมด 102 คน. บางคนแสดงความสนใจและสัญญาว่าเมื่อเขาถูกปล่อยตัว เขายังจะสนใจต่อไป.”
วันที่ 14 กันยายน 1944 ยาโกบถูกนำตัวไปค่ายกักกันในเมืองอาเมอร์สโฟร์ตในเนเธอร์แลนด์. ที่นั่น เขาก็ยังประกาศต่อไป. โดยวิธีใด? เพื่อนนักโทษเล่าว่า “พวกนักโทษเก็บก้นบุหรี่ที่ผู้คุมทิ้งแล้วและใช้หน้ากระดาษจากคัมภีร์ไบเบิลม้วนเป็นบุหรี่. บางครั้งยาโกบอ่านสองสามคำจากหน้ากระดาษของคัมภีร์ไบเบิลที่กำลังจะถูกม้วนเป็นบุหรี่. ตอนนั้นเอง เขาจะใช้คำเหล่านั้นเป็นพื้นฐานที่จะประกาศให้เราฟัง. ไม่นาน เราก็ตั้งชื่อยาโกบว่า ‘มนุษย์คัมภีร์.’ ”
เดือนตุลาคม 1944 ยาโกบอยู่ในหมู่นักโทษกลุ่มใหญ่ที่ถูกสั่งให้ขุดหลุมพรางดักรถถัง. ยาโกบไม่ยอมทำงานนั้นเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบไม่ยอมให้เขาสนับสนุนการทำสงคราม. แม้ว่าถูกพวกผู้คุมขู่ซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาก็ไม่ยอมโอนอ่อน. วันที่ 13 ตุลาคม นายทหารคนหนึ่งพาเขาออกจากเรือนจำขังเดี่ยวกลับไปที่สถานที่ทำงาน. อีกครั้งหนึ่งยาโกบยืนหยัดมั่นคง. ในที่สุด เขาก็สั่งให้ยาโกบขุดหลุมฝังศพของตัวเองแล้วเขาก็ถูกยิงเสียชีวิต.
การไล่ล่าพยานฯ ดำเนินต่อไป.
การยืนหยัดอย่างกล้าหาญของยาโกบและคนอื่น ๆ ทำให้พวกนาซีโกรธแค้นและกระตุ้นให้เกิดการไล่ล่าพยานฯ อีกครั้ง. หนึ่งในเป้าหมายของพวกเขาคือเอแวร์ต เกตเตอลาไร วัย 18 ปี. ตอนแรก เอแวร์ตสามารถหนีไปและซ่อนตัวได้ แต่ต่อมาเขาถูกจับกุมและถูกตีอย่างหนักเพื่อจะบังคับให้เขาบอกข้อมูลเกี่ยวกับพยานฯ คนอื่น ๆ. เขาปฏิเสธและถูกส่งไปเยอรมนีเพื่อใช้แรงงานหนัก.
ในเดือนเดียวกันนั้น คือตุลาคมปี 1944 ตำรวจล่าตัวพี่เขยของเอแวร์ต ชื่อ แบร์นาร์ด เลาเมส. เมื่อตำรวจพบเขา เขาอยู่กับเพื่อนพยานฯ อีกสองคน คืออันโตนี เรไมเยอร์ และอัลแบร์ตุส บอส. อัลเบอร์ตุสเคยอยู่ในค่ายกัก
กันมาแล้ว 14 เดือน. กระนั้น เมื่อเขาถูกปล่อยตัว เขาเริ่มงานประกาศอีกครั้งอย่างกระตือรือร้น. ตอนแรก ชายสามคนนี้ถูกตีอย่างไร้ความปรานีโดยพวกนาซี แล้วพวกเขาก็ถูกยิงเสียชีวิต. ต่อเมื่อสงครามยุติลงแล้ว จึงพบศพของพวกเขาและนำมาฝังใหม่. ไม่นานหลังสงคราม หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับรายงานการสังหารครั้งนี้. หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเขียนว่าพยานฯ สามคนปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะทำงานใด ๆ ให้พวกนาซีซึ่งขัดกับกฎหมายของพระเจ้าและเสริมว่า “เนื่องจากเหตุนี้ พวกเขาต้องชดใช้ด้วยชีวิต.”ในช่วงนั้น วันที่ 10 พฤศจิกายน 1944 แบร์นาร์ด โปลมัน ซึ่งกล่าวถึงข้างต้น ถูกจับกุมและส่งตัวไปทำงานในโครงการของทหาร. เขาเป็นพยานฯ คนเดียวในหมู่นักโทษแรงงานและเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมทำงานนี้. พวกผู้คุมพยายามใช้วิธีต่าง ๆ กันเพื่อให้เขาอะลุ่มอล่วย. เขาไม่ได้รับอาหารเลย. เขาถูกตีอย่างทารุณด้วยไม้, พลั่ว, และพานท้ายปืน. นอกจากนั้น เขาถูกบังคับให้ลุยน้ำอันเยือกเย็นที่ลึกถึงหัวเข่า แล้วเขาก็ถูกขังในห้องใต้ดินชื้น ๆ ซึ่งเขาต้องอยู่ทั้งคืนในชุดที่เปียกน้ำ. กระนั้น แบร์นาร์ดก็ไม่ยอมแพ้.
ระหว่างนั้น พี่สาวสองคนของแบร์นาร์ดซึ่งไม่ได้เป็นพยานฯ ได้รับอนุญาตให้มาเยี่ยม. พวกพี่สาวเร่งเร้าเขาให้เปลี่ยนใจ แต่นั่นไม่ทำให้เขาหวั่นไหวเลย. เมื่อทั้งสองถามแบร์นาร์ดว่าพวกเธอจะช่วยอะไรได้บ้าง เขาแนะให้พวกเธอกลับบ้านและศึกษาพระคัมภีร์. จากนั้น ผู้ที่ข่มเหงเขาก็อนุญาตให้ภรรยาของเขาที่กำลังตั้งครรภ์มาเยี่ยม โดยหวังว่าเธอจะล้มเลิกความตั้งใจของเขาได้. แต่เมื่อเห็นเธอและได้ยินถ้อยคำที่หนุนใจจากเธอก็ยิ่งทำให้แบร์นาร์ดตั้งใจรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าต่อไป. ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1944 แบร์นาร์ดถูกยิงโดยผู้ทรมานเขาห้าคนขณะที่คนงานทุกคนมองดู. แม้ว่าแบร์นาร์ดจะเสียชีวิตแล้ว ร่างกายของเขาพรุนไปด้วยลูกกระสุน นายทหารผู้ควบคุมก็ยังเดือดดาลมากถึงขนาดที่เขาดึงปืนพกออกมาและยิงแบร์นาร์ดที่ลูกตาทั้งสองข้าง.
แม้ว่าการกระทำที่ทารุณโหดเหี้ยมทำให้เหล่าพยานฯ ที่รู้เรื่องการสังหารนี้ตกตะลึง แต่พวกเขาก็รักษาความซื่อสัตย์และความกล้าหาญไว้ และดำเนินกิจกรรมคริสเตียนของพวกเขาต่อไป. ประชาคมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับพื้นที่ที่แบร์นาร์ดถูกสังหาร รายงานไม่นานหลังจากนั้นว่า “เดือนนี้ แม้ว่าฝนจะตกมากและมีความยากลำบากที่ซาตานวางไว้ต่อหน้าเรา แต่เราก็ยังสามารถเพิ่มทวีกิจกรรมของเราได้มากทีเดียว. จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการประกาศเพิ่มขึ้นจาก 429 ชั่วโมงเป็น 765 ชั่วโมง. . . . ขณะกำลังทำงานประกาศ พี่น้องชายคนหนึ่งพบกับชายคนหนึ่งที่เขาสามารถให้คำพยานอย่างดี. ชายคนนั้นถามว่านี่เป็นความเชื่อแบบเดียวกับชายคนนั้นที่ถูกยิงหรือไม่. เมื่อได้ยินว่าใช่ ชายคนนั้นอุทานว่า ‘เขากล้าอะไรอย่างนี้ เขามีความเชื่อที่เข้มแข็งอะไรขนาดนั้น! นี่แหละที่ผมเรียกว่าวีรบุรุษแห่งความเชื่อ!’ ”
อยู่ในความทรงจำของพระยะโฮวา
ในเดือนพฤษภาคมปี 1945 พวกนาซีพ่ายแพ้และถูกขับออกจากเนเธอร์แลนด์. ทั้ง ๆ ที่ถูกข่มเหงอย่างไม่หยุดหย่อนระหว่างสงคราม จำนวนพยานพระยะโฮวาได้เพิ่มขึ้นจากไม่กี่ร้อยคนเป็นกว่า 2,000 คน. เมื่อพูดเกี่ยวกับพยานฯ ยุคสงครามเหล่านี้ นักประวัติศาสตร์ ดร. เดอ ยง ยอมรับว่า “พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ยอมปฏิเสธความเชื่อแม้จะถูกข่มขู่และถูกทรมาน.”
ด้วยเหตุผลที่ดี เจ้าหน้าที่บางคนจึงระลึกถึงพยานพระยะโฮวาเนื่องจากจุดยืนอันกล้าหาญที่พวกเขายึดมั่นไว้ภายใต้การปกครองของนาซี. อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ บันทึกอันยอดเยี่ยมเรื่องพยานฯ สมัยสงครามเหล่านี้จะอยู่ในความทรงจำของพระยะโฮวาและพระเยซู. (เฮ็บราย 6:10) ระหว่างรัชสมัยพันปีที่คืบใกล้เข้ามาของพระเยซูคริสต์ พยานฯ ที่ซื่อสัตย์และกล้าหาญเหล่านี้ ผู้ซึ่งให้ชีวิตของตนในงานรับใช้พระเจ้าจะถูกปลุกขึ้นจากอุโมงค์รำลึก ด้วยความหวังที่จะมีชีวิตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก!—โยฮัน 5:28, 29.
[ภาพหน้า 24]
ยาโกบ ฟอน เบนเนโกม
[ภาพหน้า 26]
ส่วนที่ตัดจากหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการสั่งห้ามพยานพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 27]
ขวา: แบร์นาร์ด เลาเมส; ล่าง: อัลแบร์ตุส บอส (ซ้าย) และอันโตนี เรไมเยอร์; ล่าง: สำนักงานของสมาคมฯ ในฮีมสตัด