การทำทุกสิ่งให้ใหม่—ตามที่บอกไว้ล่วงหน้า
การทำทุกสิ่งให้ใหม่—ตามที่บอกไว้ล่วงหน้า
“พระองค์ผู้ประทับบนราชบัลลังก์นั้นตรัสว่า ‘นี่แน่ะ! เรากำลังทำสิ่งทั้งปวงให้ใหม่.’ พระองค์ตรัสด้วยว่า . . . ‘ถ้อยคำเหล่านี้สัตย์ซื่อและสัตย์จริง.’ ”—วิวรณ์ 21:5, ล.ม.
1, 2. เหตุใดหลายคนจึงมีเหตุผลที่จะลังเลเมื่อพิจารณาว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร?
คุณเคยพูดหรือคิดไหมว่า ‘ใครเล่าที่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร?’ คุณสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมผู้คนลังเลที่จะคาดเดาว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หรือที่จะไว้ใจคนที่อวดอ้างว่าเขาสามารถบอกได้ว่าจะเกิดอะไรในวันข้างหน้า. มนุษย์ไม่มีความสามารถจะบอกล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายเดือนหรือหลายปีที่จะมาถึง.
2 วารสารฟอบส์ เอเอสเอพี ฉบับหนึ่งยกเนื้อที่ทั้งฉบับให้แก่เรื่องเวลา. ในฉบับดังกล่าว โรเบิร์ต คริงลี พิธีกรรายการสารคดีทางโทรทัศน์เขียนไว้ว่า “ในที่สุด เวลาก็ทำให้เราทุกคนเสียหน้า แต่ไม่มีใครที่เจ็บช้ำเพราะน้ำมือของเวลามากไปกว่านักทำนายอนาคต. การพยายามคาดเดาอนาคตเป็นเกมอย่างหนึ่งที่เราแพ้เกือบทุกครั้งไป. . . . แต่ถึงกระนั้น คนที่เรียกกันว่าผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงทำนายกันต่อไป.”
3, 4. (ก) บางคนมองสหัสวรรษใหม่ในแง่ดีอย่างไร? (ข) คนอื่น ๆ คาดหมายตามความเป็นจริงเช่นไรเกี่ยวกับอนาคต?
3 คุณอาจสังเกตว่า เนื่องจากมีความสนใจกันมากในเรื่องสหัสวรรษใหม่ ดูเหมือนว่าผู้คนมากขึ้นกำลังคิดถึงเรื่องอนาคต. เมื่อต้นปีที่แล้ว วารสารแมกเลนส์ กล่าวว่า “ปี 2000 อาจเป็นเพียงอีกปีหนึ่งบนปฏิทินสำหรับชาวแคนาดาส่วนใหญ่ แต่ก็อาจเป็นได้ที่ปีนี้จะตรงพอดีกับการเริ่มต้นใหม่
อย่างแท้จริง.” ศาสตราจารย์คริส ดูดนีย์ แห่งมหาวิทยาลัยยอร์ก ให้เหตุผลดังต่อไปนี้สำหรับการมองในแง่ดี: “สหัสวรรษที่จะถึงนี้หมายถึงการที่เราสามารถล้างมือของเราจากศตวรรษที่เลวร้ายอย่างแท้จริง.”4 นั่นฟังเหมือนเป็นเพียงการตั้งความปรารถนาเท่านั้นไหม? ที่แคนาดา มีเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบการหยั่งเสียง “เชื่อว่าปี 2000 จะนำมาซึ่งการเริ่มต้นใหม่สำหรับโลก.” ที่จริง เกือบครึ่งหนึ่ง “คาดว่าจะเกิดข้อพิพาทระดับโลกอีกครั้งหนึ่ง”—กล่าวคือสงครามโลก—ภายใน 50 ปีข้างหน้านี้. เห็นได้ชัด คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าสหัสวรรษใหม่ไม่อาจช่วยขจัดปัญหาของเราและทำให้ทุกสิ่งกลายเป็นสิ่งใหม่ได้. เซอร์ไมเคิล อะทียาห์ อดีตนายกราชสมาคมแห่งบริเตนเขียนไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว . . . ย่อมหมายความว่าศตวรรษที่ 21 จะนำมาซึ่งข้อท้าทายที่สำคัญ ๆ สู่อารยธรรมทั้งสิ้นของเรา. ปัญหาการเพิ่มประชากร, ทรัพยากรซึ่งมีจำกัด, มลภาวะของสิ่งแวดล้อม, และความยากจนซึ่งมีอยู่ทั่วไปเป็นปัญหาที่เราประสบอยู่แล้ว และต้องพยายามแก้ไขอย่างเร่งด่วน.”
5. เราจะพบข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้จากที่ไหน?
5 คุณอาจสงสัยว่า ‘เนื่องจากมนุษย์เราไม่สามารถบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราควรเลิกสนใจเรื่องอนาคตเสียไม่ดีกว่าหรือ?’ คำตอบคือ ไม่! จริงอยู่ มนุษย์ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำถึงสิ่งที่ยังอยู่ในภายภาคหน้า แต่เราไม่ควรคิดว่าไม่มีใครทำได้. ถ้าอย่างนั้นใครล่ะที่ทำได้ และเพราะเหตุใดเราจึงควรมองอนาคตในแง่ดี? คุณจะพบคำตอบอันน่าพอใจได้ในคำพยากรณ์ที่เจาะจงซึ่งมีบันทึกไว้สี่แห่ง. คำพยากรณ์ดังกล่าวบันทึกไว้ในหนังสือที่ผู้คนมีและอ่านกันอย่างกว้างขวางที่สุด และยังเป็นหนังสือที่เข้าใจกันผิด ๆ และถูกละเลยมากด้วย คือคัมภีร์ไบเบิล. ไม่ว่าคุณคิดอย่างไรต่อคัมภีร์ไบเบิล และไม่ว่าคุณคุ้นเคยกับหนังสือนี้ขนาดไหน นับว่าเป็นประโยชน์ที่คุณจะพิจารณาเนื้อหาของคำพยากรณ์สำคัญทั้งสี่แห่งนี้. คำพยากรณ์ดังกล่าวบอกล่วงหน้าถึงอนาคตที่สดใส. นอกจากนั้น คำพยากรณ์สำคัญทั้งสี่แห่งนี้ยังได้พรรณนาสภาพโดยทั่วไปของอนาคตที่คุณและคนที่คุณรักจะมีได้.
6, 7. ยะซายาพยากรณ์เมื่อไร และคำพยากรณ์ของท่านสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่งอย่างไร?
6 คำพยากรณ์แรกพบในพระธรรมยะซายาบท 65. ก่อนที่จะอ่าน โปรดจำไว้ให้ดีถึงฉากเหตุการณ์—เวลาที่ข้อความนี้ได้รับการบันทึกและเกี่ยวข้องกับสถานการณ์เช่นไร. ยะซายาผู้พยากรณ์ของพระเจ้าซึ่งเขียนถ้อยคำเหล่านี้มีชีวิตอยู่ก่อนที่อาณาจักรยูดาจะถึงกาลอวสานมากกว่าหนึ่งร้อยปี. อวสานดังกล่าวมาถึงเมื่อพระยะโฮวาทรงถอนการคุ้มครองจากชาวยิวที่ไม่ซื่อสัตย์ โดยทรงปล่อยให้ชาวบาบูโลนมาทำลายกรุงยะรูซาเลมและพาประชาชนไปเป็นเชลย. เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ยะซายาได้พยากรณ์ไว้แล้วมากกว่าหนึ่งร้อยปี.—2 โครนิกา 36:15-21.
7 เกี่ยวด้วยเรื่องภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของความสำเร็จเป็นจริงนี้ ขอให้ระลึกว่าด้วยการชี้นำของพระเจ้า ยะซายาบอกล่วงหน้าถึงชื่อของบุรุษชาวเปอร์เซียที่ในตอนนั้นยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำ คือไซรัส ซึ่งในที่สุดได้โค่นล้มบาบูโลน. (ยะซายา 45:1) ไซรัสปูทางไว้ให้ชาวยิวได้กลับสู่มาตุภูมิของตนในปี 537 ก่อนสากลศักราช. น่าทึ่ง ยะซายาบอกล่วงหน้าถึงการบูรณะฟื้นฟูนั้น ดังที่เราจะอ่านได้ในบท 65. ท่านเน้นถึงสภาพของสิ่งต่าง ๆ ที่ชาวยิศราเอลจะได้ชื่นชมยินดีเมื่อกลับไปถึงมาตุภูมิของตน.
8. ยะซายาบอกล่วงหน้าถึงอนาคตที่มีความสุขเช่นไร และวลีอะไรที่น่าสนใจเป็นพิเศษ?
8 เราอ่านที่ยะซายา 65:17-19 (ล.ม.) ว่า “นี่แน่ะ เรากำลังสร้างฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่; และสิ่งก่อนนั้นจะไม่ระลึกถึงอีก ทั้งจะไม่คำนึงถึงในหัวใจ. แต่ท่านทั้งหลาย จงยินดีปรีดา และจงปีติชื่นชมตลอดไปในสิ่งที่เรากำลังสร้างอยู่นั้น. เพราะนี่แน่ะ เรากำลังสร้างเยรูซาเลมให้เป็นเหตุที่จะมีความชื่นชม และสร้างพลเมืองของกรุงนั้นให้เป็นเหตุที่จะมีความยินดีปรีดา. และเราจะชื่นชมในเยรูซาเลมและยินดีปรีดาในพลเมืองของเรา; และจะไม่ได้ยินเสียงร้องไห้หรือเสียงคร่ำครวญในกรุงนั้นอีกต่อไป.” แน่นอน ยะซายาพรรณนาถึงสภาพที่ดีกว่ากันอย่างลิบลับเมื่อเทียบกับสภาพที่ชาวยิวได้อยู่อาศัยในบาบูโลน. ท่านบอกล่วงหน้าถึงความชื่นชมยินดี. ทีนี้ ขอให้พิจารณาวลี “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่.” นี่เป็นแห่งแรกในจำนวนทั้งหมดสี่แห่งที่วลีนี้ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล และข้อความทั้งสี่แห่งนี้อาจเกี่ยวข้องโดยตรงกับอนาคตของเรา และแม้กระทั่งบอกล่วงหน้าถึงอนาคตของเราได้.
9. ชาวยิวในสมัยโบราณเกี่ยวข้องอย่างไรกับความสำเร็จเป็นจริงของยะซายา 65:17-19?
9 ความสำเร็จเป็นจริงในขั้นแรกของยะซายา 65:17-19 เกี่ยวข้องกับชาวยิวในสมัยโบราณ ซึ่งได้กลับสู่มาตุภูมิของตนและได้ก่อตั้งการนมัสการอันบริสุทธิ์ขึ้นที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง ตามที่ยะซายาบอกล่วงหน้าไว้อย่างแม่นยำ. (เอษรา 1:1-4; 3:1-4) แน่นอน คุณตระหนักดีว่าพวกเขากลับสู่มาตุภูมิบนโลกนี้เอง ไม่ใช่ที่อื่นใดในเอกภพ. การตระหนักเช่นนั้นช่วยเราให้เห็นได้ว่ายะซายาหมายถึงอะไรเมื่อกล่าวถึงฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่. เราไม่จำเป็นต้องเดา เหมือนที่บางคนเดาความหมายคำพยากรณ์อันคลุมเครือของนอสตราดามุสหรือนักทำนายอื่น ๆ ที่เป็นมนุษย์. คัมภีร์ไบเบิลเองให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสิ่งที่ยะซายาหมายถึง.
10. เราต้องเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับ “แผ่นดินโลก” ใหม่ที่ยะซายาบอกล่วงหน้า?
10 ในคัมภีร์ไบเบิล “แผ่นดินโลก” ไม่ได้หมายถึงลูกโลกของเราเสมอไป. ตัวอย่างเช่น บทเพลงสรรเสริญ 96:1 กล่าวตามตัวอักษรว่า ‘จงร้องเพลงถวายแก่พระยะโฮวา แผ่นดินโลกทั้งสิ้น.’ เราทราบว่าดาวเคราะห์โลกของเรา—พื้นดินและมหาสมุทรอันกว้างใหญ่—ไม่สามารถร้องเพลง. มนุษย์เราต่างหากที่ร้องเพลง. ถูกแล้ว บทเพลงสรรเสริญ 96:1 กล่าวถึงผู้คนบนแผ่นดินโลก. * แต่ยะซายา 65:17 ยังกล่าวถึง “ฟ้าสวรรค์ใหม่” ด้วย. หาก “แผ่นดินโลก” หมายถึงสังคมใหม่แห่งไพร่พลในมาตุภูมิของชาวยิว “ฟ้าสวรรค์ใหม่” หมายถึงอะไร?
11. วลี “ฟ้าสวรรค์ใหม่” ชี้ถึงอะไร?
11 สารานุกรมว่าด้วยสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล, เทววิทยา, และคริสตจักร (ภาษาอังกฤษ) โดยแมกคลินทอก และ สตรอง กล่าวดังนี้: “ไม่ว่าฉาก ของนิมิตเชิงพยากรณ์อยู่ที่ไหนก็ตาม ฟ้าสวรรค์ แสดงนัยถึง . . . คณะบุคคลทั้งหมดแห่งอำนาจปกครอง . . . ซึ่งอยู่เหนือและปกครองอาณาประชาราษฎร์ เช่นเดียวกับที่ฟ้าสวรรค์จริง ๆ อยู่เหนือและมีอิทธิพลต่อแผ่นดินโลก.” สำหรับวลี “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” สารานุกรม นี้อธิบายว่า ‘โดยใช้ถ้อยคำเชิงพยากรณ์ วลีนี้แสดงนัยถึงสภาวะทางการเมืองของบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ. ฟ้าสวรรค์ได้แก่อำนาจสูงสุดในการปกครอง; แผ่นดินโลกได้แก่ไพร่ฟ้าประชากร คนที่อยู่ใต้การปกครองของผู้มีอำนาจสูงกว่า.’
12. ชาวยิวในสมัยโบราณได้ประสบ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” อย่างไร?
12 เมื่อชาวยิวกลับสู่มาตุภูมิ พวกเขาได้รับสิ่งซึ่งอาจเรียกได้ว่าระบบใหม่. มีคณะปกครองใหม่. ซะรูบาเบล เชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด เป็นผู้สำเร็จราชการ และยะโฮซูอะเป็นมหาปุโรหิต. (ฮาฆี 1:1, 12; 2:21; ซะคาระยา 6:11) ทั้งสองประกอบกันเป็น “ฟ้าสวรรค์ใหม่.” เหนืออะไร? “ฟ้าสวรรค์ใหม่” อยู่เหนือ “แผ่นดินโลกใหม่” คือสังคมแห่งไพร่พล ที่ได้รับการชำระให้สะอาดซึ่งกลับมาที่แผ่นดินของตนเพื่อสร้างกรุงยะรูซาเลมและพระวิหารขึ้นใหม่สำหรับการนมัสการพระยะโฮวา. ดังนั้น ตามความหมายที่แท้จริงนี้ มีฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ในความสำเร็จสมจริงซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวยิวในเวลานั้น.
13, 14. (ก) เราควรพิจารณาวลี “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” อีกแห่งหนึ่งที่ไหน? (ข) เหตุใดคำพยากรณ์ของเปโตรจึงน่าสนใจเป็นพิเศษในเวลานี้?
13 ขออย่าได้พลาดจุดสำคัญ. นี่ไม่ใช่การหัดตีความคัมภีร์ไบเบิล อีกทั้งไม่ได้เป็นเพียงการพิจารณาประวัติศาสตร์โบราณอย่างคร่าว ๆ. คุณจะเห็นจริงเช่นนี้ด้วยการพลิกพระคัมภีร์ไปดูอีกแห่งหนึ่งที่ปรากฏวลี “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่.” ใน 2 เปโตรบท 3 คุณจะพบวลีนี้ปรากฏอยู่และจะเห็นว่าอนาคตของเราเกี่ยวข้องอยู่ด้วย.
14 อัครสาวกเปโตรเขียนจดหมายของท่านหลังจากที่ชาวยิวกลับสู่มาตุภูมิของตนแล้วมากกว่า 500 ปี. ในฐานะอัครสาวกคนหนึ่งของพระเยซู เปโตรเขียนถึงผู้ติดตามพระคริสต์ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ตามที่กล่าวถึงใน 2 เปโตร 3:2. ในข้อ 4 เปโตรกล่าวถึง ‘การประทับของพระเยซูที่ทรงสัญญาไว้’ ซึ่งทำให้คำพยากรณ์นี้เกี่ยวข้องกับทุกวันนี้อย่างมาก. มีหลักฐานท่วมท้นซึ่งแสดงว่านับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 พระเยซูได้ประทับอยู่ในความหมายที่ว่าทรงได้รับอำนาจฐานะผู้ปกครองในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 6:1-8; 11:15, 18) เรื่องนี้มีความหมายเป็นพิเศษเมื่อคำนึงถึงสิ่งอื่นที่เปโตรบอกล่วงหน้าไว้ในบทนี้.
15. คำพยากรณ์ของเปโตรเกี่ยวกับ “ฟ้าสวรรค์ใหม่” สำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
15 เราอ่านที่ 2 เปโตร 3:13 (ล.ม.) ว่า “มีฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งเรากำลังรอท่าอยู่ตามคำสัญญาของพระองค์ และซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.” คุณคงทราบแล้วว่าพระเยซูผู้อยู่ในสวรรค์ทรงเป็นผู้ปกครององค์เอกใน “ฟ้าสวรรค์ใหม่.” (ลูกา 1:32, 33) กระนั้น ข้อพระคัมภีร์อื่น ๆ ระบุว่าพระองค์ไม่ได้ปกครองเพียงลำพังผู้เดียว. พระเยซูทรงสัญญาว่าจะมีที่ในสวรรค์สำหรับเหล่าอัครสาวกและคนอื่น ๆ ที่คล้ายกับพวกเขา. ในพระธรรมเฮ็บราย อัครสาวกเปาโลพรรณนาถึงคนเหล่านี้ว่าเป็น “ผู้เข้าส่วนด้วยกันในการทรงเรียกซึ่งมาจากสวรรค์ นั้น.” และพระเยซูตรัสว่าคนในกลุ่มนี้จะนั่งบนราชบัลลังก์ในสวรรค์กับพระองค์. (เฮ็บราย 3:1; มัดธาย 19:28; ลูกา 22:28-30; โยฮัน 14:2, 3) จุดสำคัญคือการที่มีคนอื่น ๆ ร่วมปกครองกับพระเยซูในฐานะส่วนหนึ่งของฟ้าสวรรค์ใหม่. ถ้าอย่างนั้น เปโตรหมายถึงอะไรสำหรับคำว่า “แผ่นดินโลกใหม่”?
16. “แผ่นดินโลกใหม่” เช่นไรซึ่งมีอยู่แล้วในเวลานี้?
16 เช่นเดียวกับความสำเร็จเป็นจริงในสมัยโบราณ—การกลับสู่มาตุภูมิของชาวยิว—ความสำเร็จเป็นจริงในปัจจุบันของ 2 เปโตร 3:13 เกี่ยวข้องกับผู้คนที่ยอมตัวอยู่ภายใต้การปกครองของฟ้าสวรรค์ใหม่. คุณจะพบว่ามีหลายล้านคนในทุกวันนี้ยินดีอยู่ภายใต้การปกครองดังกล่าว. พวกเขาได้รับประโยชน์จากโครงการอบรมสั่งสอนของฟ้าสวรรค์ใหม่และพยายามปฏิบัติตามกฎหมายของฟ้าสวรรค์ใหม่ซึ่งพบในคัมภีร์ไบเบิล. (ยะซายา 54:13) คนเหล่านี้ประกอบกันเป็นรากฐานของ “แผ่นดินโลกใหม่” ในความหมายที่ว่า พวกเขาเป็นสังคมโลกแห่งคนทุกสัญชาติ, ภาษา, เชื้อชาติ และทำงานร่วมกันภายใต้อำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์อยู่ในขณะนี้ คือพระเยซูคริสต์. ข้อเท็จจริงที่สำคัญคือ คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้!—มีคา 4:1-4.
17, 18. เหตุใดคำกล่าวที่ 2 เปโตร 3:13 จึงให้เหตุผลแก่เราที่จะคิดถึงอนาคต?
17 อย่าคิดว่าเรื่องมีอยู่เพียงเท่านี้ หรือเราไม่สามารถหยั่งเห็นเข้าใจอย่างละเอียดในเรื่องอนาคต. ที่จริง เมื่อพิจารณาบริบทของ 2 เปโตรบท 3 คุณจะพบข้อบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวันข้างหน้า. ในข้อ 5 และ 6 เปโตรเขียนเกี่ยวกับมหาอุทกภัยในสมัยโนฮา น้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้โลกชั่วในเวลานั้นสิ้นสุดลง. ในข้อ 7 เปโตรกล่าวว่า “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกที่อยู่เดี๋ยวนี้” คือทั้งพวกผู้ปกครองและมวลชน ถูกเก็บไว้สำหรับ “วันแห่งการพิพากษาและวันพินาศแห่งบรรดาคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า.” ข้อนี้ยืนยันว่าวลี “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกที่อยู่เดี๋ยวนี้” ไม่ได้หมายถึงเอกภพที่เป็นวัตถุ หากแต่หมายถึงมนุษย์และการปกครองของพวกเขา.
18 ถัดจากนั้น เปโตรอธิบายว่าวันของพระยะโฮวาที่กำลังจะมาถึงจะนำมาซึ่งการชำระล้างครั้งใหญ่ แผ้วถางทางไว้สำหรับฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ซึ่งมีกล่าวถึงในข้อ 13. โปรดสังเกตส่วนท้ายของข้อนั้น—“ความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.” นั่นบ่งบอกมิใช่หรือว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่บางอย่างที่ดีขึ้น? ข้อนี้ทำให้คาดหมายได้เลยมิใช่หรือว่าจะมีสิ่งใหม่อย่างแท้จริง สมัยเมื่อมนุษย์จะมีชีวิตด้วยความชื่นชมยินดีมากกว่าในทุกวันนี้? หากคุณเข้าใจอย่างนั้น
ก็แสดงว่าคุณได้มาซึ่งความหยั่งเห็นเข้าใจในสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ล่วงหน้า ความเข้าใจอันลึกซึ้งที่น้อยคนมี.19. ในฉากเหตุการณ์เช่นไรที่พระธรรมวิวรณ์ชี้ถึง “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ซึ่งยังจะต้องมาถึง?
19 แต่ให้เราพิจารณากันต่อไป. เราได้พิจารณาวลี “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ไปแล้วในยะซายาบท 65 และอีกที่หนึ่งใน 2 เปโตรบท 3. ตอนนี้ ให้เราเปิดไปที่วิวรณ์บท 21 ซึ่งเป็นอีกแห่งหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลที่วลีนี้ปรากฏอยู่. อีกครั้งหนึ่ง การเข้าใจฉากเหตุการณ์นับว่าเป็นประโยชน์. สองบทก่อนหน้านี้ ในวิวรณ์บท 19 เราพบคำพรรณนาถึงสงครามอย่างหนึ่งด้วยภาษาสัญลักษณ์ที่ชัดเจน—แต่ไม่ใช่สงครามระหว่างชาติต่าง ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กัน. ฝ่ายหนึ่งได้แก่ “พระวาทะของพระเจ้า.” คุณคงจำได้ว่านี่คือชื่อตำแหน่งของพระเยซูคริสต์. (โยฮัน 1:1, 14) พระองค์ทรงอยู่ในสวรรค์ และนิมิตนี้พรรณนาว่าพระองค์ทรงอยู่กับกองทัพฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. สู้รบกับใคร? บทนี้กล่าวถึง “กษัตริย์ทั้งหลาย,” “นายทหารชั้นผู้ใหญ่,” และผู้คนที่อยู่ในฐานะตำแหน่งต่าง ๆ ทั้ง “ผู้น้อยและผู้ใหญ่.” สงครามนี้เกี่ยวข้องกับวันของพระยะโฮวาที่กำลังจะมาถึง การทำลายความชั่ว. (2 เธซะโลนิเก 1:6-10) วิวรณ์บท 20 เดินเรื่องต่อไป เปิดฉากด้วยการพรรณนาถึงการขจัด “งูตัวแรกเดิมนั้น ผู้เป็นพญามารและซาตาน.” นี่เป็นการปูพื้นไว้สำหรับการพิจารณาวิวรณ์บท 21.
20. วิวรณ์ 21:1 ชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญอะไรที่อยู่ในวันข้างหน้า?
20 อัครสาวกโยฮันเริ่มด้วยถ้อยคำอันน่าตื่นเต้น: “ข้าพเจ้าได้เห็นฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่; ด้วยว่าฟ้าสวรรค์เดิมและแผ่นดินโลกเดิมนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว และทะเลไม่มีอีกต่อไป.” โดยอาศัยสิ่งที่เราได้เข้าใจแล้วในยะซายาบท 65 และ 2 เปโตรบท 3 เราแน่ใจได้ว่านี่ไม่ได้หมายถึงการแทนที่ฟ้าอากาศและลูกโลกของเราด้วยห้วงมหาสมุทร. ดังที่บทก่อนหน้านี้แสดงให้เห็น คนชั่วและการปกครองของพวกเขา รวมทั้งซาตานผู้ปกครองที่ไม่ปรากฏแก่ตา จะถูกขจัดออกไป. ใช่แล้ว คำสัญญาในที่นี้เป็นคำสัญญาในเรื่องระบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนบนแผ่นดินโลก.
21, 22. โยฮันรับรองกับเราถึงพระพรอะไร และการเช็ดน้ำตาหมายถึงอะไร?
21 เราแน่ใจในเรื่องนี้เมื่อเราพิจารณากันต่อไปในคำพยากรณ์อันน่าพิศวงนี้. ตอนท้ายของข้อ 3 กล่าวถึงเวลาเมื่อพระเจ้าจะทรงอยู่กับมนุษยชาติ หันมาใฝ่พระทัยเพื่อประโยชน์ของไพร่พลที่ทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. (ยะเอศเคล 43:7) โยฮันกล่าวต่อไปในข้อ 4, 5 (ล.ม.) ว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้นผ่านพ้นไปแล้ว. และพระองค์ผู้ประทับบนราชบัลลังก์นั้นตรัสว่า ‘นี่แน่ะ! เรากำลังทำสิ่งทั้งปวงให้ใหม่.’ พระองค์ตรัสด้วยว่า ‘จงเขียนไว้เถิด เพราะถ้อยคำเหล่านี้สัตย์ซื่อและสัตย์จริง.’ ” ช่างเป็นคำพยากรณ์ที่น่าชื่นใจอะไรเช่นนี้!
22 โปรดหยุดตรงนี้สักครู่และชื่นใจยินดีในสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ล่วงหน้า. ‘พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา.’ นั่นย่อมไม่ได้หมายถึงน้ำตาที่เกิดอยู่เป็นปกติเพื่อล้างดวงตาของเราซึ่งระคายเคืองได้ง่าย และไม่ได้หมายถึงน้ำตาแห่งความยินดี. น้ำตาที่พระเจ้าจะทรงเช็ดให้เหือดแห้งนั้นเกิดจากการทนทุกข์, ความทุกข์โศก, ความผิดหวัง, ความเจ็บปวด, และความทรมาน. เราจะแน่ใจได้อย่างไร? ขอให้สังเกตว่าคำสัญญาที่น่าทึ่งของพระเจ้าในข้อนี้เชื่อมโยงการเช็ดน้ำตาเข้ากับ ‘การไม่มีความตาย, ความทุกข์โศก, เสียงร้อง, และความเจ็บปวดอีกต่อไป.’—โยฮัน 11:35.
23. คำพยากรณ์ของโยฮันรับรองถึงอวสานของสภาพการณ์เช่นไร?
23 นั่นย่อมหมายความว่ามะเร็ง, โรคเส้นเลือดสมอง,
โรคหัวใจ, และแม้แต่ความตายจะถูกขจัดให้หมดไปมิใช่หรือ? มีใครบ้างไม่เคยสูญเสียผู้เป็นที่รักเนื่องด้วยโรคภัย, อุบัติเหตุ, หรือภัยพิบัติ? ในที่นี้ พระเจ้าทรงสัญญาว่าความตายจะไม่มีอีกต่อไป ซึ่งย่อมจะหมายความว่าเด็ก ๆ ที่อาจเกิดมาในตอนนั้นจะไม่เกิดมาด้วยความคาดหมายที่จะเติบโตขึ้นแล้วก็แก่ลง และตายไปในที่สุด. คำพยากรณ์นี้ยังหมายความด้วยว่าจะไม่มีโรคสมองเสื่อม, โรคกระดูกพรุน, เนื้องอก, ต้อหิน, หรือแม้แต่ต้อกระจก—ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา.24. “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” จะเป็นพระพรอย่างไร และมีอะไรอีกที่เราจะพิจารณากันต่อไป?
24 ไม่ต้องสงสัยว่าคุณคงเห็นด้วยว่าความทุกข์โศกและเสียงร้องคงจะลดน้อยลงไปเมื่อมีการขจัดความตาย, ความชรา, และโรคภัยไข้เจ็บให้หมดไป. กระนั้น จะว่าอย่างไรสำหรับความยากจนข้นแค้น, การทำร้ายเด็ก, และการเลือกปฏิบัติอย่างกดขี่ที่สืบเนื่องมาจากภูมิหลังหรือสีผิว? หากเรื่องต่าง ๆ เช่นนั้นซึ่งมีอยู่ทั่วไปในทุกวันนี้ยังมีอยู่ต่อไป เราย่อมจะยังไม่พ้นจากความทุกข์โศกและเสียงร้อง. ด้วยเหตุนั้น ชีวิตภายใต้ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” จะไม่ถูกทำให้เสียหายจากสาเหตุดังกล่าวของความเศร้าเสียใจซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน. ช่างจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสักเพียงไร! อย่างไรก็ตาม เราได้พิจารณากันไปเพียงสามแห่งจากทั้งหมดสี่แห่งซึ่งวลี “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล. มีอีกแห่งหนึ่งซึ่งผูกโยงกับเรื่องที่เราได้พิจารณากันไปแล้ว และเน้นให้เห็นว่าทำไมเรามีเหตุผลที่จะคอยท่าวันเวลาและวิธีที่พระเจ้าจะทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์ในการ “ทำสิ่งทั้งปวงให้ใหม่.” บทความถัดไปจะพิจารณาคำพยากรณ์ดังกล่าวรวมทั้งสิ่งที่คำพยากรณ์นั้นอาจมีความหมายต่อความสุขของเรา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล แปลบทเพลงสรรเสริญ 96:1 ว่า “จงร้องเพลงถวายองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด บรรดาชนบนแผ่นดินโลก.” เดอะ คอนเทมโพรารี อิงลิช เวอร์ชัน อ่านดังนี้: “ทุก ๆ คนบนพิภพนี้ จงร้องเพลงสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า.” ทั้งนี้นับว่าสอดคล้องกันกับความเข้าใจที่ว่า ยะซายาใช้คำว่า “แผ่นดินโลกใหม่” หมายถึงไพร่พลของพระเจ้าในแผ่นดินของพวกเขา.
คุณจำได้ไหม?
• สามแห่งในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งบอกล่วงหน้าถึง “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” คือที่ใดบ้าง?
• ชาวยิวในสมัยโบราณเกี่ยวข้องอย่างไรกับความสำเร็จเป็นจริงของ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่”?
• มีความเข้าใจเช่นไรเกี่ยวกับความสำเร็จเป็นจริงของ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ตามที่เปโตรกล่าวถึง?
• วิวรณ์บท 21 ชี้ถึงอนาคตที่สดใสอย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 10]
เป็นดังที่พระยะโฮวาตรัสไว้ล่วงหน้า ไซรัสได้ปูทางไว้สำหรับการกลับสู่มาตุภูมิของชาวยิวในปี 537 ก.ส.ศ.