การปลอบโยนจำเป็นเหลือเกิน!
การปลอบโยนจำเป็นเหลือเกิน!
“นี่แน่ะ, น้ำตาของผู้ถูกข่มเหง เป็นต้น, ไม่มีคนเช็ดให้; ในมือของ ผู้ข่มเหงนั้นได้กุมอำนาจไว้; แต่ผู้ถูกข่มเหงนั้นหามีผู้เล้าโลมไม่.”—ท่านผู้ประกาศ 4:1.
คุณกำลังเสาะหาการปลอบโยนอยู่ไหม? คุณปรารถนาจะเห็นแสงแห่งการปลอบประโลมส่องทะลุเมฆหมอกของความสิ้นหวังไหม? คุณอยากได้รับการประเล้าประโลมสักเล็กน้อยเพื่อทำให้ชีวิตคลายความขมขื่นจากความทุกข์และประสบการณ์ที่ไม่น่ายินดีไหม?
ไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง เราทุกคนต้องการการปลอบโยนและการชูใจเหลือเกิน. นี่เป็นเพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างจริง ๆ ในชีวิตที่นำมาซึ่งความโศกเศร้า. เราทุกคนต้องการได้รับการปกป้อง, ได้รับความอบอุ่น, เป็นที่ยอมรับ. พวกเราบางคนแก่ลงและไม่มีความสุขที่เป็นเช่นนั้น. คนอื่น ๆ ผิดหวังอย่างยิ่งที่ชีวิตไม่เป็นไปตามที่หวังไว้. ยังมีคนอื่น ๆ อีกที่ไม่สบายใจเนื่องจากรายงานที่ได้คืนมาจากห้องทดลองทางพยาธิวิทยา.
นอกจากนี้ มีน้อยคนจะโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสมัยของเราได้ก่อให้เกิดความจำเป็นอย่างมากมายในเรื่องการปลอบโยนและความหวัง. เฉพาะระหว่างศตวรรษที่แล้วเท่านั้น ผู้คนมากกว่าหนึ่งร้อยล้านคนเสียชีวิตในสงคราม. * พวกเขาแทบทั้งหมดได้ทิ้งครอบครัวที่ทุกข์ระทม—พ่อแม่, พี่น้อง, ผู้เป็นม่ายและลูกกำพร้า—ไว้ให้อยู่ในสภาพที่ต้องการการปลอบโยนเหลือเกิน. ทุกวันนี้ มากกว่าหนึ่งพันล้านคนมีชีวิตอยู่ในสภาพยากจนข้นแค้นแสนสาหัส. ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกขาดโอกาสที่จะได้รับการรักษาทางการแพทย์และการรักษาด้วยยาที่จำเป็นเป็นประจำ. เด็กที่ถูกทอดทิ้งนับล้านเตร็ดเตร่อยู่ตามถนนในเมืองใหญ่ที่มีภาวะมลพิษ หลายคนในเด็กเหล่านี้ใช้ยาเสพย์ติดและเป็นโสเภณี. ผู้ลี้ภัยนับล้านอยู่ในค่ายที่น่าสังเวช.
อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลข—ที่อาจดูน่าสนใจ—ไม่ได้แสดงให้เห็นความเจ็บปวดและความทุกข์ร้อนที่ผู้คนกำลังประสบอยู่ในชีวิตส่วนตัวของเขา. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาดูสเว็ตลานา หญิงสาวคนหนึ่งจากคาบสมุทรบอลข่านซึ่งเกิดมาในสภาพยาก * เธอบอกว่า “เพื่อจะได้เงิน พ่อแม่ส่งดิฉันออกไปขอทานหรือไม่ก็ขโมย. ชีวิตครอบครัวเสื่อมถึงขั้นที่ดิฉันกลายเป็นเหยื่อของการร่วมเพศระหว่างญาติใกล้ชิด. ดิฉันได้งานเป็นพนักงานเดินโต๊ะ และคุณแม่ซึ่งได้รับเงินที่ดิฉันหามาได้ บอกว่าถ้าดิฉันตกงาน ท่านจะฆ่าตัวตาย. ทั้งหมดนี้นำดิฉันไปสู่ชีวิตโสเภณี. ดิฉันอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น. ในที่สุด ดิฉันตั้งครรภ์และได้ทำแท้ง. ตอนอายุ 15 ปี ดิฉันดูเหมือนคนอายุ 30 ปี.”
จนข้นแค้น.ไลมานิส ชายหนุ่มคนหนึ่งจากลัตเวีย เล่าถึงความต้องการการปลอบโยนและความทรงจำที่น่าสลดหดหู่ซึ่งทำให้เขาเป็นคนซึมเศร้า. ตอนอายุ 29 ปี เขาได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ซึ่งทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงไป. เขารู้สึกหมดหวังอย่างสิ้นเชิงและได้หันเข้าหาแอลกอฮอล์. ห้าปีต่อมาเขาอยู่ในสภาพทรุดโทรม—เป็นคนติดเหล้าที่เป็นอัมพาตซึ่งไม่มีอนาคต. เขาสามารถได้การปลอบโยนจากที่ไหน?
หรือไม่ก็ขอให้คิดถึงแอนจี. สามีของเธอได้รับการผ่าตัดสมองสามครั้ง ซึ่งแรก ๆ ทำให้เขาเป็นอัมพาตบางส่วน. ต่อมา ห้าปีหลังจากการผ่าตัดครั้งสุดท้าย เขาประสบอุบัติเหตุร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้. เมื่อภรรยาของเขาเข้าไปในห้องฉุกเฉินและเห็นสามีนอนอยู่ที่นั่นในสภาพโคม่าหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เธอรู้ว่าเหตุการณ์น่าเศร้ากำลังจะเกิดขึ้น. วิถีชีวิตในอนาคตสำหรับเธอและครอบครัวคงจะไม่ราบรื่น. เธอจะพบการเกื้อหนุนและการชูใจได้อย่างไร?
สำหรับแพตแล้ว วันหนึ่งในฤดูหนาวเมื่อหลายปีมาแล้วดูเหมือนจะเริ่มต้นอย่างเป็นปกติ. อย่างไรก็ดี เธอจำเหตุการณ์สามวันถัดไปไม่ได้. ทีหลังสามีได้เล่าให้เธอฟังว่า หลังจากเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หัวใจของเธอหยุดเต้นไปเลย. หัวใจของเธอเริ่มเต้นเร็วมากและไม่เป็นจังหวะ แล้วก็หยุดเต้นอย่างสิ้นเชิง. เธอหยุดหายใจ. แพตบอกว่า “ในทางการแพทย์แล้ว ถือว่าดิฉันตายจริง ๆ.” แต่ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เธอรอดชีวิตมาได้. เธอพูดถึงการที่เธออยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานานว่า “ดิฉันตกใจกลัวเนื่องจากการทดสอบหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาพยายามทำให้หัวใจของดิฉันเต้นรัวแล้วทำให้หยุด อย่างที่ดิฉันเป็นในตอนแรก.” อะไรอาจให้การปลอบใจและการบรรเทาที่จำเป็นแก่เธอได้ระหว่างช่วงวิกฤตินี้?
โจกับรีเบกกาสูญเสียลูกชายวัย 19 ปีในอุบัติเหตุทางรถยนต์. ทั้งสองบอกว่า “เราไม่เคยต้องรับมือกับอะไรที่ร้ายแรงขนาดนี้. ถึงแม้ในอดีต เราเคยโศกเศร้ากับคนอื่นในความสูญเสียของเขาก็ตาม เราไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดในหัวใจรุนแรงจริง ๆ อย่างที่เรารู้สึกในตอนนี้.” อะไรอาจปลอบคนที่ “เจ็บปวดในหัวใจรุนแรง” เช่นนั้น ความทุกข์ระทมแสนสาหัสในการสูญเสียคนที่คุณรักยิ่งนั้น?
บุคคลเหล่านี้ทั้งหมด และคนอื่น ๆ นับล้านได้พบแหล่งอันยอดเยี่ยมของการปลอบโยนและการประเล้าประโลมจริง ๆ. เพื่อเห็นวิธีที่คุณสามารถได้รับประโยชน์จากแหล่งนั้นด้วยเช่นกัน โปรดอ่านต่อไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 จำนวนที่แน่ชัดของบุคลากรทางทหารและพลเรือนซึ่งได้เสียชีวิตนั้นไม่เป็นที่รู้กัน. ตัวอย่างเช่น หนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสงครามของชาวอเมริกัน (ภาษาอังกฤษ) ประจำปี 1998 ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้นว่า “แหล่งข่าวส่วนใหญ่แจ้งจำนวนรวมทั้งหมดของคนเหล่านั้นที่ตายเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 (ทหารและพลเรือน) ว่ามี 50 ล้านคน แต่หลายคนที่ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้นอย่างถี่ถ้วนเชื่อว่าตัวเลขที่ถูกต้องกว่าสูงกว่านั้น—ถึงสองเท่าของจำนวนนั้น.”
^ วรรค 6 ชื่อสมมุติ.
[ที่มาของภาพหน้า 3]
UNITED NATIONS/PHOTO BY J. K. ISAAC
UN PHOTO 146150 BY O. MONSEN