ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ขอบพระคุณพระยะโฮวา—ด้วยการรับใช้เต็มเวลา!

ขอบพระคุณพระยะโฮวา—ด้วยการรับใช้เต็มเวลา!

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา—ด้วย​การ​รับใช้​เต็ม​เวลา!

เล่า​โดย สแตนลีย์ อี. เรย์โนลส์

ผม​เกิด​ที่​กรุง​ลอนดอน​ประเทศ​อังกฤษ​ใน​ปี 1910. หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ย้าย​มา​อยู่​ที่​หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ ใน​มณฑล​วิลต์เชียร์​ชื่อ เวสต์เบอรี เลห์. ตอน​เป็น​เด็ก ผม​มัก​จะ​สงสัย​ว่า ‘พระเจ้า​คือ​ใคร?’ ไม่​มี​ใคร​บอก​ผม​ได้. และ​ผม​ไม่​เคย​เข้าใจ​เลย​ว่า ทำไม​ชุมชน​เล็ก ๆ อย่าง​ใน​หมู่​บ้าน​ของ​เรา​ถึง​ต้อง​มี​ที่​สำหรับ​นมัสการ​สอง​แห่ง​และ​มี​โบสถ์​อีก​หนึ่ง​หลัง​เพื่อ​นมัสการ​พระเจ้า.

ใน​ปี 1935 สี่​ปี​ก่อน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 เริ่ม​ขึ้น ผม​กับ​ดิก น้อง​ชาย ขี่​จักรยาน​ไป​เวย์มัท ซึ่ง​อยู่​ใกล้​ชายฝั่ง​ทาง​ใต้​ของ​อังกฤษ​เพื่อ​ไป​เที่ยว​พัก​แรม. ขณะ​ที่​เรา​นั่ง​อยู่​ใน​เต็นท์​ฟัง​เสียง​ฝน​โปรย​ปราย​ลง​มา​และ​คิด​กัน​ว่า​จะ​ทำ​อะไร​ดี สุภาพ​บุรุษ​สูง​อายุ​คน​หนึ่ง​มา​เยี่ยม​และ​เสนอ​หนังสือ​คู่มือ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​ผม​สาม​เล่ม ชื่อ​พิณ​ของ​พระเจ้า, ความ​สว่าง 1, และ​ความ​สว่าง 2 (ภาษา​อังกฤษ). ผม​รับ​หนังสือ​เหล่า​นั้น​ไว้ ดีใจ​ที่​มี​อะไร​ทำ​แก้​ความ​น่า​เบื่อ. ผม​ติด​ใจ​สิ่ง​ที่​ผม​อ่าน​ทันที แต่​ตอน​นั้น​ผม​ไม่​รู้​เลย​ว่า​หนังสือ​เหล่า​นั้น​จะ​เปลี่ยน​ชีวิต​ผม​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง—รวม​ทั้ง​เปลี่ยน​ชีวิต​น้อง​ชาย​ของ​ผม​ด้วย.

เมื่อ​ผม​กลับ​ถึง​บ้าน คุณ​แม่​บอก​ผม​ว่า เคต พาร์สันส์ ซึ่ง​อยู่​ใน​หมู่​บ้าน​ของ​เรา ก็​จำหน่าย​จ่าย​แจก​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​แบบ​เดียว​กัน​นี้. เธอ​มี​คน​รู้​จัก​ทั่ว เพราะ​แม้​ว่า​เธอ​จะ​มี​อายุ​มาก​แล้ว แต่​ก็​ยัง​ขี่​มอเตอร์ไซค์​คัน​เล็ก ๆ ไป​เยี่ยม​ผู้​คน​ที่​อยู่​กระจัด​กระจาย​ใน​ชุมชน​ของ​เรา. ผม​ไป​หา​เธอ และ​เธอ​ก็​ยินดี​ให้​ผม​รับ​หนังสือ​การ​ทรง​สร้าง และ​ความ​มั่งคั่ง (ภาษา​อังกฤษ) รวม​ทั้ง​สรรพหนังสือ​อื่น ๆ ของ​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์. เธอ​บอก​ผม​ด้วย​ว่า เธอ​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

หลัง​จาก​ผม​ได้​อ่าน​หนังสือ​เหล่า​นั้น​ร่วม​กัน​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล ผม​ก็​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​และ​ผมต้องการ​จะ​นมัสการ​พระองค์. ผม​จึง​ส่ง​จดหมาย​ลา​ออก​จาก​คริสตจักร​แล้ว​เริ่ม​ไป​ร่วม​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​บ้าน​ของ​จอห์น​และ​แอลิส มูดดี. เขา​ทั้ง​สอง​อยู่​ใน​เมือง​เวสต์เบอรี ซึ่ง​เป็น​เมือง​ที่​ใกล้​บ้าน​ของ​เรา​มาก​ที่​สุด. การ​ประชุม​สมัย​นั้น​มี​เรา​เพียง​เจ็ด​คน. ก่อน​และ​หลัง​การ​ประชุม เคต พาร์สันส์​จะ​เล่น​ออร์แกน​เล็ก​และ​เรา​ก็​จะ​ร้อง​เพลง​ราชอาณาจักร​ร่วม​กัน​อย่าง​สุด​เสียง!

สมัย​แรก ๆ

ผม​ตระหนัก​ว่า​เรา​อยู่​ใน​ช่วง​เวลา​ที่​สำคัญ​มาก และ​ผม​ต้องการ​จะ​เข้า​ร่วม​งาน​ประกาศ​ซึ่ง​มี​พยากรณ์​ไว้​ที่​มัดธาย 24:14. ผม​จึง​เลิก​สูบ​บุหรี่, ซื้อ​กระเป๋า​หนังสือ​ใบ​หนึ่ง, และ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา พระเจ้า​องค์​ยิ่ง​ใหญ่.

ใน​เดือน​สิงหาคม​ปี 1936 โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด นายก​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ มา​เยี่ยม​เมือง​กลาสโกว์ สกอตแลนด์ เพื่อ​บรรยาย​ใน​หัวเรื่อง “อาร์มาเก็ดดอน.” แม้​ว่า​เมือง​กลาสโกว์​อยู่​ไกล​ประมาณ 600 กิโลเมตร ผม​ก็​ตั้งใจ​จะ​ไป​ที่​นั่น​และ​รับ​บัพติสมา ณ การ​ประชุม​นั้น. ผม​ไม่​ค่อย​มี​เงิน ผม​จึง​เอา​จักรยาน​ขึ้น​รถไฟ​ไป​ยัง​เมือง​คาร์ไลเอิล ซึ่ง​อยู่​ติด​กับ​ชายแดน​ของ​สกอตแลนด์ แล้ว​ขี่​จักรยาน​ต่อ​จาก​ที่​นั่น​ขึ้น​เหนือ​ไป​อีก 160 กิโลเมตร. ขา​กลับ​ผม​ก็​ขี่​จักรยาน​เป็น​ส่วน​ใหญ่​ด้วย เมื่อ​มา​ถึง​บ้าน ร่าง​กาย​ผม​อ่อน​ล้า​แต่​ก็​แข็งแรง​ฝ่าย​วิญญาณ.

ตั้ง​แต่​นั้น​มา ผม​จะ​ขี่​จักรยาน​ไป​เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​ผม​ไป​แบ่ง​ปัน​ความ​เชื่อ​กับ​ผู้​คน​ใน​หมู่​บ้าน​ใกล้​เคียง. ใน​ยุค​นั้น พยาน​ฯ แต่​ละ​คน​มี​บัตร​ให้​คำ​พยาน​ซึ่ง​มี​ข่าวสาร​จาก​พระ​คัมภีร์​ให้​เจ้าของ​บ้าน​อ่าน. เรา​ยัง​ใช้​เครื่อง​เล่น​แผ่น​เสียง​แบบ​พก​พา​เพื่อ​เปิด​บันทึก​คำ​บรรยาย​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​นายก​สมาคม​ฯ. และ​แน่นอน เรา​มี​กระเป๋า​วารสาร * ซึ่ง​ระบุ​ตัว​เรา​ว่า​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

การ​เป็น​ไพโอเนียร์​ใน​ยาม​สงคราม

น้อง​ชาย​ของ​ผม​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1940. สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​เพิ่ง​เริ่ม​ขึ้น​ใน​ปี 1939 และ​เรา​ทั้ง​สอง​คน​เห็น​ถึง​ความ​จำเป็น​เร่ง​ด่วน​ที่​จะ​มี​ผู้​ประกาศ​เต็ม​เวลา. ดัง​นั้น เรา​จึง​ยื่น​ใบ​สมัคร​เป็น​ไพโอเนียร์. เรา​ดีใจ​มาก​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​ร่วม​กัน​ให้​ไป​ที่​บ้าน​พัก​ไพโอเนียร์​ใน​เมือง​บริสตอล เพื่อ​สมทบ​กับ​อีดิท พูล, เบิร์ต ฟาร์เมอร์, ทอม​และ​โดโรที บริดส์, เบอร์นาร์ด ฮอห์ตัน และ​ไพโอเนียร์​คน​อื่น ๆ ที่​เรา​ชื่นชม​ความ​เชื่อ​ของ​เขา​มา​นาน​แล้ว.

ไม่​นาน​รถ​ตู้​คัน​เล็ก ๆ ซึ่ง​เขียน​อักษร​ตัว​หนา​อยู่​ข้าง​รถ​ว่า “พยาน​พระ​ยะโฮวา” ก็​มา​รับ​เรา. ผู้​ขับ​รถ​คือ​สแตนลีย์ โจนส์ ซึ่ง​ต่อ​มา​กลาย​เป็น​มิชชันนารี​ใน​ประเทศ​จีน​และ​ถูก​ขัง​เดี่ยว​ที่​นั่น​ถึง​เจ็ด​ปี​เนื่อง​จาก​กิจกรรม​การ​ประกาศ​ของ​เขา.

ขณะ​ที่​สงคราม​ดำเนิน​ไป น้อย​ครั้ง​นัก​ที่​เรา​จะ​ได้​นอน​ตลอด​คืน. มี​การ​ทิ้ง​ระเบิด​แถว ๆ บ้าน​พัก​ไพโอเนียร์​ของ​เรา และ​เรา​ต้อง​คอย​ระวัง​ระเบิด​เพลิง​อยู่​เสมอ. เย็น​วัน​หนึ่ง​เรา​ออก​จาก​ใจ​กลาง​เมือง​บริสตอล​หลัง​เลิก​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​ดี​มาก​ครั้ง​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​พยาน​ฯ เข้า​ร่วม 200 คน และ​กลับ​ถึง​บ้าน​ที่​ค่อนข้าง​จะ​ปลอด​ภัย​หลัง​จาก​ได้​ฝ่า​ห่า​สะเก็ด​กระสุน​ปืน​ต่อ​สู้​อากาศยาน.

เช้า​วัน​ถัด​มา ผม​กับ​ดิก​กลับ​เข้า​ไป​ใน​เมือง​เพื่อ​เก็บ​ข้าวของ​ที่​เรา​ทิ้ง​ไว้. เรา​ต่าง​ตะลึงงัน. บริสตอล​กลาย​เป็น​เมือง​ที่​โกลาหล. ใจ​กลาง​เมือง​ทั้ง​หมด​เสียหาย​ยับเยิน​และ​ถูก​เผา​เรียบ. ถนน​ปาร์ก ซึ่ง​หอ​ประชุม​ของ​เรา​ตั้ง​อยู่​มี​แต่​กอง​เศษ​อิฐ​เศษ​ปูน​ซึ่ง​มี​ควัน​โขมง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​มี​พยาน​ฯ เสีย​ชีวิต​หรือ​ได้​รับ​บาดเจ็บ. น่า​ยินดี​ที่​เรา​ได้​ย้าย​สรรพหนังสือ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​หอ​ประชุม​และ​แจก​จ่าย​ไป​ตาม​บ้าน​ของ​สมาชิก​ใน​ประชาคม​ไป​แล้ว. เรา​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​สำหรับ​ทั้ง​สอง​เรื่อง​นี้.

อิสรภาพ​ที่​ไม่​ได้​คาด​หมาย

ประชาคม​บริสตอล​ที่​ผม​รับใช้​เป็น​ผู้​ดู​แล​ผู้​เป็น​ประธาน​เติบโต​ขึ้น​จน​มี​ผู้​ประกาศ​เผยแพร่ 64 คน​เมื่อ​ถึง​ตอน​ที่​ผม​ได้​รับ​หมาย​เกณฑ์​ทหาร. พยาน​อีก​หลาย​คน​ถูก​ส่ง​ตัว​เข้า​คุก​เนื่อง​จาก​ฐานะ​เป็น​กลาง​ของ​ตน และ​ผม​ก็​คาด​ว่า​เสรีภาพ​ใน​การ​ประกาศ​ของ​ผม​คง​จะ​ถูก​จำกัด​แบบ​เดียว​กัน. คดี​ของ​ผม​ได้​รับ​การ​พิจารณา​ใน​ศาล​ท้อง​ที่​แห่ง​เมือง​บริสตอล ซึ่ง​บราเดอร์​แอนโทนี บัก อดีต​เจ้าหน้าที่​เรือน​จำ ให้​การ​แทน​ผม. เขา​เป็น​คน​ที่​กล้า​หาญ, ไม่​ครั่นคร้าม, และ​กระตือรือร้น​เกี่ยว​กับ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล และ​ผล​จาก​การ​แถลง​ข้อ​เท็จ​จริง​อย่าง​ดี​ของ​เขา ผม​จึง​ได้​รับ​การ​ยก​เว้น​จาก​การ​เกณฑ์​ทหาร​โดย​ไม่​ได้​คาด​หมาย โดย​มี​เงื่อนไข​ว่า​ผม​จะ​ต้อง​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ต่อ​ไป!

ผม​ตื่นเต้น​ที่​ได้​รับ​อิสรภาพ และ​ผม​ตั้งใจ​จะ​ใช้​อิสรภาพ​นั้น​เพื่อ​การ​ประกาศ​ให้​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​ผม​จะ​ทำ​ได้. เมื่อ​ผม​ถูก​เรียก​ให้​ไป​รายงาน​ตัว​ที่​สำนักงาน​สาขา​ใน​กรุง​ลอนดอน​เพื่อ​พบ​กับ​อัลเบิร์ต ดี. ชโรเดอร์ ผู้​ดู​แล​สาขา เป็น​ธรรมดา​อยู่​เอง​ที่​ผม​จะ​สงสัย​ว่า​มี​อะไร​รอ​ผม​อยู่. ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​ผม​ประหลาด​ใจ​แค่​ไหน​ที่​ถูก​เชิญ​ให้​ไป​ยัง​มณฑล​ยอร์กเชียร์​เพื่อ​รับใช้​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง คือ​ที่​จะ​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ แต่​ละ​สัปดาห์​เพื่อ​ช่วยเหลือ​และ​หนุน​กำลังใจ​พี่​น้อง. ผม​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ขาด​คุณวุฒิ​สำหรับ​งาน​มอบหมาย​นั้น แต่​ผม​ได้​รับ​การ​ผ่อน​ผัน​จาก​การ​เกณฑ์​ทหาร​และ​มี​อิสระ​จะ​ไป. ผม​จึง​ยอม​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​ยะโฮวา​และ​เต็ม​ใจ​ไป.

อัลเบิร์ต ชโรเดอร์​แนะ​นำ​ผม​แก่​พี่​น้อง​ที่​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​ฮัดเดอร์สฟีลด์ และ​ใน​เดือน​เมษายน 1941 ผม​ก็​ได้​รับ​งาน​มอบหมาย​ใหม่. ผม​ยินดี​จริง ๆ ที่​ได้​รู้​จัก​พี่​น้อง​ที่​รัก​เหล่า​นั้น! ความ​รัก​และ​ความ​กรุณา​ของ​พวก​เขา​ทำ​ให้​ผม​ตระหนัก​มาก​ขึ้น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​ไพร่พล​ที่​อุทิศ​ตัว​เต็ม​ที่​แด่​พระองค์​ผู้​ซึ่ง​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน.—โยฮัน 13:35.

ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​มาก​ขึ้น​ใน​การ​รับใช้

การ​ประชุม​ใหญ่​ห้า​วัน​ที่​ลืม​ไม่​ได้​จัด​ขึ้น​ใน​ปี 1941 ที่​ห้อง​ประชุม​เดอ มอนต์เฟิร์ต​แห่ง​เมือง​เลสเตอร์. ทั้ง ๆ ที่​มี​การ​ปัน​ส่วน​อาหาร​และ​การ​จำกัด​การ​เดิน​ทาง​ภาย​ใน​ประเทศ ผู้​เข้า​ร่วมประชุม​ก็​ยัง​เพิ่ม​ขึ้น​จน​มี​ยอด​ใน​วัน​อาทิตย์ 12,000 คน แม้​ว่า​ใน​ตอน​นั้น​มี​พยาน​ฯ อยู่​ใน​ประเทศ​เพียง 11,000 กว่า​คน. มี​การ​เปิด​บันทึก​เสียง​คำ​บรรยาย​ของ​นายก​สมาคม​ฯ และ​มี​การ​ออก​หนังสือ​บุตร (ภาษา​อังกฤษ). การ​ประชุม​คราว​นั้น​เป็น​จุด​เด่น​ใน​ประวัติ​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​บริเตน​จริง ๆ ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2.

ไม่​นาน​หลัง​การ​ประชุม​คราว​นั้น ผม​ได้​รับ​เชิญ​ให้​รับใช้​ร่วม​กับ​ครอบครัว​เบเธล​ลอนดอน. ผม​ทำ​งาน​ที่​นั่น​ใน​แผนก​ห่อ​และ​ส่ง​หนังสือ​และ​ต่อ​มา​ทำ​งาน​ใน​สำนักงาน จัด​การ​เรื่อง​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ประชาคม.

ครอบครัว​เบเธล​ต้อง​รับมือ​กับ​การ​โจมตี​ทาง​อากาศ​ใน​กรุง​ลอนดอน​ทั้ง​วัน​ทั้ง​คืน รวม​ทั้ง​การ​ตรวจ​สอบ​เป็น​ระยะ ๆ ของ​เจ้าหน้าที่​ซึ่ง​มา​ตรวจตรา​พี่​น้อง​ที่​ทำ​งาน​ที่​นั่น. ไพรซ์ ฮิวส์, ยู​เวิร์ต ชิตตี, และ​แฟรงก์ แพลตต์​ทั้ง​หมด​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​เรือน​จำ​เนื่อง​จาก​ฐานะ​เป็น​กลาง​ของ​ตน และ​ใน​ที่​สุด อัลเบิร์ต ชโรเดอร์​ก็​ถูก​เนรเทศ​ไป​ยัง​สหรัฐ. แม้​ว่า​มี​ความ​กดดัน​เหล่า​นี้ ประชาคม​ต่าง ๆ และ​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​ยัง​คง​ได้​รับ​การ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​อย่าง​ดี​ต่อ​ไป.

ไป​กิเลียด!

เมื่อ​สงคราม​ยุติ​ลง​ใน​ปี 1945 ผม​สมัคร​เข้า​รับ​การ​ฝึก​อบรม​เป็น​มิชชันนารี​ที่​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด และ​ถูก​รับ​เข้า​เรียน​รุ่น​ที่​แปด​ใน​ปี 1946. สมาคม​ฯ จัด​เตรียม​ให้​พวก​เรา ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​โทนี อัตต์วูด, สแตนลีย์ โจนส์, แฮโรลด์ คิง, ดอน เรนเดลล์, และ​สแตนลีย์ วูดเบิร์น ลง​เรือ​จาก​ท่า​เรือ​หา​ปลา เฟาวีย์ ใน​มณฑล​คอร์นวอลล์. พยาน​ฯ ท้องถิ่น​คน​หนึ่ง​จอง​ตั๋ว​ให้​เรา​โดยสาร​บน​เรือ​สินค้า​ลำ​เล็ก ๆ ซึ่ง​บรรทุก​ดิน​สำหรับ​ทำ​ถ้วย​ชาม. ห้อง​พัก​ของ​เรา​คับแคบ​มาก และ​ดาดฟ้า​เรือ​มัก​จะ​ถูก​น้ำ​ซัด​ถึง. เรา​โล่ง​ใจ​เหลือ​เกิน​เมื่อ​ใน​ที่​สุด​เรา​ก็​มา​ถึง​ท่า​เรือ​ฟิลาเดลเฟีย!

สถาน​ที่​อัน​สวย​งาม​ของ​โรง​เรียน​กิเลียด​ตั้ง​อยู่​ที่​เซาท์แลนซิง​ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​มลรัฐ​นิวยอร์ก และ​การ​ฝึกฝน​ที่​ผม​ได้​รับ​ที่​นั่น​มี​ความหมาย​กับ​ผม​มาก. นัก​เรียน​ใน​รุ่น​ของ​เรา​มา​จาก 18 ประเทศ ซึ่ง​เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​สมาคม​ฯ สามารถ​รับ​ผู้​รับใช้​จาก​ต่าง​แดน​เข้า​เรียน​ได้​มาก​ขนาด​นั้น และ​เรา​ทุก​คน​ก็​กลาย​เป็น​เพื่อน​สนิท​ต่อ​กัน. ผม​ชอบ​คบหา​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​ผม​มาก นั่น​คือ​กาลเล ซา​ลาวา​รา จาก​ฟินแลนด์.

เวลา​ผ่าน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว และ​เมื่อ​ครบ​ห้า​เดือน นาทาน เอช. นอร์ นายก​ของ​สมาคม​ฯ เดิน​ทาง​มา​จาก​สำนักงาน​ใหญ่​ใน​บรุกลิน​เพื่อ​ให้​ประกาศนียบัตร​และ​บอก​เรา​ว่า​การ​มอบหมาย​ของ​เรา​จะ​เป็น​ที่​ไหน. ใน​สมัย​นั้น นัก​เรียน​ไม่​รู้​ว่า​ตน​จะ​ไป​ที่​ไหน​จน​กระทั่ง​มี​คำ​ประกาศ​ใน​พิธี​สำเร็จ​การ​ศึกษา. ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​กลับ​ไป​ที่​เบเธล​ลอนดอน​เพื่อ​ทำ​งาน​ต่อ​ที่​นั่น.

กลับ​มา​ลอนดอน

ช่วง​หลัง​สงคราม​เป็น​ช่วง​ที่​เศร้า​สลด​ใน​บริเตน. อาหาร​และ​สิ่ง​จำเป็น​อื่น ๆ รวม​ทั้ง​กระดาษ ยัง​คง​ต้อง​ปัน​ส่วน​กัน​ต่อ​ไป. แต่​เรา​ผ่าน​ช่วง​นั้น​มา​ได้ และ​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​ของ​พระ​ยะโฮวา​ก็​เจริญ​รุ่งเรือง. นอก​จาก​ทำ​งาน​ที่​เบเธล ผม​ยัง​รับใช้​ใน​การ​ประชุม​หมวด​และ​การ​ประชุม​ภาค​และ​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ รวม​ทั้ง​บาง​ประชาคม​ใน​ไอร์แลนด์​ด้วย. เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​พบ​เอริค ฟรอสต์​และ​พี่​น้อง​คน​อื่น ๆ จาก​ยุโรป​และ​ได้​เรียน​รู้​จาก​พวก​เขา​เกี่ยว​กับ​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​เพื่อน​พยาน​ฯ ซึ่ง​ได้​เผชิญ​กับ​ความ​โหด​ร้าย​ของ​ค่าย​กัก​กัน​นาซี. การ​รับใช้​ที่​เบเธล​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​จริง ๆ ซึ่ง​ถือ​ว่า​เป็น​พระ​พร.

ผม​รู้​จัก​กับ​โจน เวบบ์ เป็น​เวลา​สิบ​ปี เธอ​เป็น​ไพโอเนียร์​พิเศษ​ที่​รับใช้​ใน​เมือง​วัต​ฟอร์ด อยู่​ทาง​เหนือ​ติด​กับ​ลอนดอน. ใน​ปี 1952 เรา​แต่งงาน​กัน. เรา​ทั้ง​สอง​ต้องการ​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ต่อ​ไป เรา​จึง​ตื่นเต้น​ที่​ผม​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด​เมื่อ​ผม​ออก​จาก​เบเธล. หมวด​แรก​ของ​เรา​อยู่​ตาม​ชายฝั่ง​ทาง​ใต้​ของ​อังกฤษ ใน​มณฑล​ซัสเซกซ์​และ​แฮมป์เชียร์. ใน​สมัย​นั้น​งาน​หมวด​ไม่​ใช่​งาน​ง่าย ๆ. ส่วน​ใหญ่​เรา​เดิน​ทาง​โดย​รถ​ประจำ​ทาง, จักรยาน, และ​เดิน​เท้า. หลาย​ประชาคม​มี​เขต​งาน​ที่​กว้าง​ใหญ่​ใน​ชนบท ซึ่ง​มัก​จะ​ไป​ถึง​ได้​ยาก แต่​จำนวน​ของ​พยาน​ฯ ก็​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​สม่ำเสมอ.

นคร​นิวยอร์ก​ปี 1958

ใน​ปี 1957 ผม​ได้​รับ​คำ​เชิญ​จาก​เบเธล​อีก​ครั้ง​ดัง​นี้: “คุณ​อยาก​จะ​มา​ที่​สำนักงาน​และ​ช่วย​เรื่อง​การ​จัด​เตรียม​การ​เดิน​ทาง​สำหรับ​การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ที่​กำลัง​จะ​จัด​ขึ้น​ที่​สนาม​กีฬา​แยงกี​และ​สนาม​โปโลกราวนด์​ใน​นคร​นิวยอร์ก​ปี 1958 ไหม?” ไม่​นาน​ผม​กับ​โจน​ก็​ยุ่ง​อยู่​กับ​การ​รับ​ใบ​สมัคร​จาก​พี่​น้อง​สำหรับ​เครื่องบิน​และ​เรือ​เช่า​เหมา​ลำ​ของ​สมาคม​ฯ. การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ครั้ง​นี้​มี​อรรถบท​ว่า พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี มี​ผู้​เข้า​ร่วม​มาก​ถึง 253,922 คน. ที่​การ​ประชุม​นี้ มี​ผู้​แสดง​สัญลักษณ์​ของ​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​จุ่ม​ตัว​ใน​น้ำ​ถึง 7,136 คน นั่น​มาก​กว่า​สอง​เท่า​ของ​จำนวน​ผู้​รับ​บัพติสมา​ใน​โอกาส​สำคัญ​เมื่อ​วัน​เพนเตคอสเต​ปี ส.ศ. 33 ดัง​ที่​มี​รายงาน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.—กิจการ 2:41.

ผม​กับ​โจน​จะ​ไม่​มี​วัน​ลืม​ความ​กรุณา​ของ​บราเดอร์​นอร์​เมื่อ​เขา​เชิญ​เรา​เป็น​ส่วน​ตัว​ให้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ครั้ง​นั้น​เพื่อ​ช่วย​ดู​แล​ผู้​แทน​ซึ่ง​มา​ถึง​นคร​นิวยอร์ก​จาก 123 ดินแดน. นั่น​เป็น​ประสบการณ์​ที่​มี​ความ​สุข​และ​น่า​พอ​ใจ​สำหรับ​เรา​ทั้ง​สอง​คน.

พระ​พร​แห่ง​การ​รับใช้​เต็ม​เวลา

เมื่อ​เรา​กลับ​มา เรา​ทำ​งาน​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป​จน​กระทั่ง​เกิด​ปัญหา​สุขภาพ. โจน​ต้อง​เข้า​โรง​พยาบาล และ​ผม​มี​อาการ​ตก​เลือด​ใน​สมอง​ที่​ไม่​ร้ายแรง. เรา​เปลี่ยน​มา​ทำ​งาน​ไพโอเนียร์​พิเศษ แต่​ต่อ​มา​มี​สิทธิ​พิเศษ​รับใช้​ใน​งาน​หมวด​อีก​ครั้ง​เป็น​การ​ชั่ว​คราว. ใน​ที่​สุด เรา​ก็​กลับ​มา​ยัง​บริสตอล และ​ยัง​คง​อยู่​ใน​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ที่​นี่​ต่อ​ไป. ดิก น้อง​ชาย​ของ​ผม​กับ​ครอบครัว​ของ​เขา​อยู่​ใกล้ ๆ และ​เรา​ระลึก​ถึง​ความ​หลัง​กัน​อยู่​บ่อย ๆ.

สายตา​ของ​ผม​เสีย​ไป​เนื่อง​จาก​เรตินา​แยก​ออก​และ​รักษา​ไม่​ได้​ใน​ปี 1971. ตั้ง​แต่​นั้น​มา ผม​อ่าน​หนังสือ​ได้​ลำบาก​มาก ผม​จึง​พบ​ว่า​ตลับ​บันทึก​เสียง​สรรพหนังสือ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​การ​จัด​เตรียม​ที่​วิเศษ​จาก​พระ​ยะโฮวา. โจน​กับ​ผม​ยัง​นำ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล และ​ตลอด​หลาย​ปี เรา​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​ช่วย​คน​ประมาณ 40 คน​เข้า​มา​รู้​ความ​จริง รวม​ทั้ง​ครอบครัว​หนึ่ง​ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​เจ็ด​คน.

เมื่อ​เรา​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระ​ยะโฮวา​เมื่อ 60 ปี​ก่อน เรา​ปรารถนา​จะ​เข้า​สู่​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​และ​คง​อยู่​ใน​งาน​นั้น. เรา​ขอบพระคุณ​สัก​เพียง​ไร​ที่​เรา​ยัง​คง​มี​กำลัง​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​องค์​ยิ่ง​ใหญ่—ซึ่ง​เป็น​วิธี​เดียว​ที่​เรา​สามารถ​ขอบพระคุณ​พระองค์​ได้​สำหรับ​สิ่ง​ดี​ทั้ง​หลาย​ที่​ทรง​ประทาน​แก่​เรา​และ​สำหรับ​หลาย​ปี​ที่​เรา​มี​ความ​สุข​ร่วม​กัน!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 11 กระเป๋า​ผ้า​ซึ่ง​ใช้​สะพาย​และ​ออก​แบบ​เพื่อ​ใส่​วารสาร​หอสังเกตการณ์ และ​คอนโซเลชัน (ต่อ​มา​คือ​ตื่นเถิด!).

[ภาพ​หน้า 25]

กับ​ดิก น้อง​ชาย​ของ​ผม (ซ้าย​สุด; คน​ยืน​คือ​ดิก) และ​ไพโอเนียร์​คน​อื่น ๆ ที่​หน้า​บ้าน​พัก​ไพโอเนียร์​ใน​เมือง​บริสตอล

[ภาพ​หน้า 25]

บ้าน​พัก​ไพโอเนียร์​ใน​เมือง​บริสตอล​ปี 1940

[ภาพ​หน้า 26]

สแตนลีย์​กับ​โจน เรย์โนลส์​ใน​วัน​สมรส วัน​ที่ 12 มกราคม 1952 และ​ใน​ปัจจุบัน