ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงสนับสนุนการสอนจากพระเจ้าอย่างเหนียวแน่น

จงสนับสนุนการสอนจากพระเจ้าอย่างเหนียวแน่น

จง​สนับสนุน​การ​สอน​จาก​พระเจ้า​อย่าง​เหนียวแน่น

“จง​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​เจ้า, อย่า​พึ่ง​ใน​ความ​เข้าใจ​ของ​ตน​เอง: จง​รับ​พระองค์​ให้​เข้า​ส่วน​ใน​ทาง​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า, และ​พระองค์​จะ​ชี้​ทาง​เดิน​ของ​เจ้า​ให้​แจ่ม​แจ้ง.”—สุภาษิต 3:5, 6.

1. เรา​ถูก​แวด​ล้อม​ด้วย​ความ​รู้​ของ​มนุษย์​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน​อย่าง​ไร?

ใน​ปัจจุบัน มี​หนังสือ​พิมพ์​ราย​วัน​วาง​จำหน่าย​อยู่​ทั่ว​โลก​ประมาณ 9,000 ชื่อ. ทุก ๆ ปี มี​การ​ออก​หนังสือ​ใหม่​เฉพาะ​สหรัฐ​แห่ง​เดียว​ประมาณ 200,000 ฉบับ. ตาม​การ​ประมาณ​ของ​แหล่ง​หนึ่ง เมื่อ​ถึง​เดือน​มีนาคม 1998 มี​เว็บเพจ​ใน​อินเทอร์เน็ต​ประมาณ 275 ล้าน​เว็บเพจ. กล่าว​กัน​ว่า​ตัว​เลข​จำนวน​นี้​กำลัง​เพิ่ม​สูง​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใน​อัตรา 20 ล้าน​เว็บเพจ​ต่อ​เดือน. ผู้​คน​สามารถ​เข้า​ถึง​ข่าวสาร​ข้อมูล​เกือบ​จะ​ใน​ทุก​เรื่อง​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน. แม้​ว่า​สถานการณ์​เช่น​นี้​มี​บาง​แง่​ที่​เป็น​ประโยชน์ แต่​การ​มี​ข้อมูล​อย่าง​อุดม​ล้น​เหลือ​เช่น​นี้​ได้​ก่อ​ให้​เกิด​ปัญหา​บาง​อย่าง​ขึ้น.

2. อาจ​เกิด​ปัญหา​อะไร​จาก​การ​เข้า​ถึง​ข้อมูล​ซึ่ง​มี​อยู่​อย่าง​อุดม​ล้น​เหลือ?

2 บาง​คน​ได้​กลาย​เป็น​คน​ติด​ข้อมูล​งอมแงม สนอง​ความ​ปรารถนา​อัน​ไม่​รู้​จัก​พอ​ของ​ตน​อยู่​เสมอ​ที่​จะ​เป็น​คน​ทัน​ยุค​ทัน​สมัย แต่​กลับ​ละเลย​เรื่อง​ที่​สำคัญ​กว่า. คน​อื่น ๆ ได้​ข้อมูล​บาง​ส่วน​เกี่ยว​กับ​ความ​รู้​ใน​สาขา​วิชา​ที่​ซับซ้อน แล้ว​ก็​ถือ​ว่า​ตน​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ. โดย​อาศัย​ความ​เข้าใจ​ที่​มี​จำกัด เขา​อาจ​ตัดสิน​ใจ​ใน​เรื่อง​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ต่อ​ตัว​เอง​หรือ​คน​อื่น ๆ ได้. และ​อันตราย​ที่​มี​อยู่​ตลอด​คือ​การ​เปิด​รับ​ข้อมูล​ที่​ไม่​จริง​หรือ​ไม่​ถูก​ต้อง. บ่อย​ครั้ง ไม่​มี​ทาง​จะ​ยืน​ยัน​ได้​อย่าง​แน่นอน​ว่า​ข้อมูล​ซึ่ง​มี​อยู่​มาก​มาย​นั้น​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​และ​สมดุล​หรือ​ไม่.

3. มี​คำ​เตือน​อะไร​บ้าง​ที่​พบ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เกี่ยว​กับ​การ​แสวง​หา​สติ​ปัญญา​ของ​มนุษย์?

3 ความ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​เป็น​นิสัย​ที่​ติด​ตัว​มนุษย์​มา​ช้า​นาน. อันตราย​ของ​การ​ผลาญ​เวลา​ไป​กับ​การ​แสวง​หา​ข้อมูล​ที่​ไร้​ประโยชน์​หรือ​แม้​แต่​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​เป็น​เรื่อง​ซึ่ง​ตระหนัก​กัน​ดี​ใน​สมัย​ของ​กษัตริย์​ซะโลโม. ท่าน​กล่าว​ว่า “จง​รับ​คำ​เตือน: การ​จะ​ทำ​หนังสือ​มาก​นั้น​ไม่​มี​ที่​สิ้น​สุด และ​การ​ทุ่มเท​กับ​หนังสือ​เหล่า​นั้น​ทำ​ให้​เนื้อหนัง​อิดโรย​ไป.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 12:12, ล.ม.) หลาย​ศตวรรษ​ต่อ​มา อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ถึง​ติโมเธียว​ว่า “ซึ่ง​เรา​ฝาก​ไว้​กับ​ท่าน​นั้น​จง​เฝ้า​รักษา, และ​จง​หลีก​ไป​เสีย​จาก​การ​เถียง​กัน​นอก​คอก​นอก​ทาง [“การ​พูด​ที่​ไร้​สาระ​ซึ่ง​ละเมิด​สิ่ง​บริสุทธิ์,” ล.ม.], และ​จาก​ความ​รู้​อัน​เท็จ​ซึ่ง​มี​ข้อ​แย้ง​กัน​อยู่​เสมอ​ที่​เขา​เรียก​ผิด​ไป​ว่า​เป็น​ความ​รู้ ซึ่ง​บาง​คน​ได้​รับ​เอา​ไว้​แล้ว​เลย​หลง​ไป​จาก​ความ​เชื่อ​นั้น.” (1 ติโมเธียว 6:20, 21) ถูก​แล้ว คริสเตียน​ใน​ทุก​วัน​นี้​จำเป็น​ต้อง​หลีก​เลี่ยง​การ​เปิด​รับ​โดย​ไม่​จำเป็น​ต่อ​แนว​คิด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย.

4. ทาง​หนึ่ง​ที่​เรา​สามารถ​แสดง​ความ​ไว้​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​และ​การ​สอน​ของ​พระองค์​คือ​อะไร?

4 ไพร่พล​ของ​พระ​ยะโฮวา​ควร​เอา​ใจ​ใส่​ถ้อย​คำ​ที่​สุภาษิต 3:5, 6 ด้วย ที่​ว่า “จง​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​เจ้า, อย่า​พึ่ง​ใน​ความ​เข้าใจ​ของ​ตน​เอง: จง​รับ​พระองค์​ให้​เข้า​ส่วน​ใน​ทาง​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า, และ​พระองค์​จะ​ชี้​ทาง​เดิน​ของ​เจ้า​ให้​แจ่ม​แจ้ง.” การ​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​หมาย​รวม​ถึง​การ​ปฏิเสธ​แนว​คิด​ใด ๆ ที่​ขัด​กับ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า ไม่​ว่า​จะ​เป็น​แนว​คิด​ที่​มา​จาก​การ​หา​เหตุ​ผล​ของ​เรา​เอง​หรือ​จาก​เพื่อน​มนุษย์. เพื่อ​รักษา​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา​ไว้ เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​จะ​ฝึกฝน​ความ​สามารถ​ใน​การ​สังเกต​เข้าใจ​ของ​เรา เพื่อ​จะ​บอก​ได้​ว่า​ข้อมูล​ใด​ก่อ​ผล​เสียหาย​และ​หลีก​เลี่ยง​ข้อมูล​นั้น. (เฮ็บราย 5:14) ให้​เรา​พิจารณา​ด้วย​กัน​เกี่ยว​กับ​บาง​แหล่ง​ซึ่ง​เป็น​ที่​มา​ของ​ข้อมูล​เช่น​นั้น.

โลก​ซึ่ง​ถูก​ซาตาน​ครอบ​งำ

5. แหล่ง​หนึ่ง​ของ​แนว​คิด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​คือ​อะไร และ​ใคร​อยู่​เบื้อง​หลัง?

5 โลก​ของ​เรา​เป็น​แหล่ง​ซึ่ง​อุดม​ไป​ด้วย​แนว​คิด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย. (1 โกรินโธ 3:19) พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​อธิษฐาน​ถึง​พระเจ้า​เพื่อ​เหล่า​สาวก​ว่า “ข้าพเจ้า​ทูล​ขอ​พระองค์ มิ​ให้​นำ​พวก​เขา​ไป​จาก​โลก แต่​ขอ​ทรง​พิทักษ์​เขา​ไว้​เพราะ​ตัว​ชั่ว​ร้าย.” (โยฮัน 17:15, ล.ม.) คำ​ขอ​ของ​พระ​เยซู​เพื่อ​เหล่า​สาวก​จะ​ได้​รับ​การ​พิทักษ์​จาก “ตัว​ชั่ว​ร้าย” แสดง​ถึง​การ​ยอม​รับ​ว่า​ซาตาน​มี​อิทธิพล​ใน​โลก​นี้. การ​ที่​เรา​เป็น​คริสเตียน​ไม่​ได้​ป้องกัน​เรา​โดย​อัตโนมัติ​จาก​อิทธิพล​ชั่ว​ของ​โลก​นี้. โยฮัน​เขียน​ว่า “เรา​รู้​ว่า​เรา​เกิด​จาก​พระเจ้า แต่​โลก​ทั้ง​สิ้น​อยู่​ใน​อำนาจ​ตัว​ชั่ว​ร้าย​นั้น.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง ใน​ช่วง​สุด​ท้าย​ของ​สมัย​สุด​ท้าย​นี้ เป็น​ที่​คาด​หมาย​ได้​เลย​ว่า​ซาตาน​กับ​เหล่า​ผี​ปิศาจ​จะ​ทำ​ให้​โลก​นี้​อัด​แน่น​ไป​ด้วย​ข้อมูล​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย.

6. โลก​บันเทิง​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​ด้าน​ชา​ทาง​ศีลธรรม​ได้​อย่าง​ไร?

6 นอก​จาก​นี้​ยัง​คาด​หมาย​ได้​ด้วย​ว่า​ข้อมูล​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​บาง​อย่าง​อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​ปราศจาก​อันตราย. (2 โกรินโธ 11:14) เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ขอ​ให้​พิจารณา​โลก​บันเทิง ไม่​ว่า​จะ​เป็น​รายการ​ทาง​โทรทัศน์, ภาพยนตร์, ดนตรี, และ​สิ่ง​พิมพ์​ต่าง ๆ. หลาย​คน​เห็น​พ้อง​ต้อง​กัน​ว่า​ยิ่ง​นาน​ก็​ยิ่ง​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ที่​ความ​บันเทิง​บาง​รูป​แบบ​ส่ง​เสริม​กิจ​ปฏิบัติ​อัน​เสื่อม​ทราม อย่าง​เช่น การ​ผิด​ศีลธรรม, ความ​รุนแรง, และ​การ​ใช้​ยา​เสพย์ติด. ใน​ครั้ง​แรก​ที่​รับ​ชม​รับ​ฟัง​ความ​บันเทิง​แบบ​ที่​เสื่อม​ศีลธรรม​ยิ่ง​กว่า​ที่​แล้ว ๆ มา ผู้​ชม​หรือ​ผู้​ฟัง​อาจ​ตกตะลึง. แต่​เมื่อ​รับ​ความ​บันเทิง​แบบ​นั้น​ซ้ำ ๆ หลาย​ครั้ง​ก็​อาจ​ทำ​ให้​เรา​ชินชา. ขอ​เรา​อย่า​ได้​ถือ​ว่า​ความ​บันเทิง​ที่​ส่ง​เสริม​แนว​คิด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​เช่น​นั้น​เป็น​เรื่อง​ยอม​รับ​ได้​หรือ​ไม่​มี​พิษ​ภัย.—บทเพลง​สรรเสริญ 119:37.

7. สติ​ปัญญา​แบบ​ใด​ของ​มนุษย์​ที่​อาจ​เซาะกร่อน​ความ​เชื่อ​มั่น​ของ​เรา​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล?

7 ขอ​พิจารณา​อีก​แหล่ง​หนึ่ง​ของ​ข้อมูล​ที่​อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย—แนว​คิด​ที่​มี​อยู่​มาก​มาย​ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​นัก​วิทยาศาสตร์​และ​ผู้​คง​แก่​เรียน​บาง​คน​ที่​ท้าทาย​ความ​น่า​เชื่อถือ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล. (เทียบ​กับ​ยาโกโบ 3:15.) เนื้อหา​เช่น​นั้น​ปรากฏ​บ่อย ๆ ใน​นิตยสาร​ที่​คน​ส่วน​ใหญ่​อ่าน​และ​หนังสือ​ที่​ได้​รับ​ความ​นิยม และ​อาจ​เซาะกร่อน​ความ​มั่น​ใจ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. บาง​คน​รู้สึก​ภูมิ​ใจ​ใน​การ​ทำ​ให้​อำนาจ​แห่ง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อ่อน​ลง​ด้วย​ข้อ​คาด​เดา​อัน​ไม่​รู้​จัก​จบ. อันตราย​คล้าย​กัน​นี้​มี​อยู่​ใน​สมัย​ของ​อัครสาวก​ด้วย ดัง​จะ​เห็น​ได้​ชัด​จาก​คำ​พูด​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ที่​ว่า “จง​ระวัง: อาจ​มี​คน​ที่​จะ​ทำ​ให้​พวก​ท่าน​ตก​เป็น​เหยื่อ​ของ​เขา​ได้​โดย​ใช้​ปรัชญา​และ​คำ​ล่อ​ลวง​เหลวไหล​ตาม​ประเพณี​ของ​มนุษย์ ตาม​สิ่ง​ธรรมดา​ของ​โลก​และ​ไม่​ใช่​ตาม​พระ​คริสต์.”—โกโลซาย 2:8, ล.ม.

ศัตรู​ของ​ความ​จริง

8, 9. การ​ออก​หาก​ปรากฏ​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ใน​ทุก​วัน​นี้?

8 พวก​ออก​หาก​อาจ​เป็น​ภัย​คุกคาม​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ต่อ​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา. อัครสาวก​เปาโล​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​การ​ออก​หาก​จะ​เกิด​ขึ้น​ท่ามกลาง​คน​ที่​ประกาศ​ตัว​เป็น​คริสเตียน. (กิจการ 20:29, 30; 2 เธซะโลนิเก 2:3) สม​จริง​ตาม​คำ​กล่าว​ของ​ท่าน ภาย​หลัง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​เหล่า​อัครสาวก การ​ออก​หาก​ครั้ง​ใหญ่​ได้​ทำ​ให้​คริสต์​ศาสนจักร​พัฒนา​ขึ้น​มา. ปัจจุบัน ไม่​มี​การ​ออก​หาก​ครั้ง​ใหญ่​เกิด​ขึ้น​ใน​หมู่​ไพร่พล​ของ​พระเจ้า. ถึง​กระนั้น มี​บาง​คน​ได้​ออก​ไป​จาก​กลุ่ม​พวก​เรา และ​บาง​คน​ใน​พวก​นี้​มุ่ง​มั่น​จะ​ทำลาย​ชื่อเสียง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​การ​แพร่​คำ​โกหก​และ​ข้อมูล​บิดเบือน. บาง​คน​ทำ​งาน​กับ​กลุ่ม​อื่น รวมหัว​กัน​ต่อ​ต้าน​การ​นมัสการบริสุทธิ์. โดย​ทำ​เช่น​นั้น พวก​เขา​สนับสนุน​ซาตาน​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ออก​หาก​แรก​สุด.

9 ผู้​ออก​หาก​บาง​คน​กำลัง​ใช้​เครื่อง​มือ​สื่อสาร​มวลชน​แบบ​ต่าง ๆ มาก​ขึ้น รวม​ทั้ง​อินเทอร์เน็ต เพื่อ​แพร่​ข้อมูล​เท็จ​เกี่ยว​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ผล​ก็​คือ เมื่อ​สุจริต​ชน​ค้น​ดู​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา เขา​อาจ​พบ​การ​โฆษณา​ชวน​เชื่อ​ของ​ผู้​ออก​หาก​เหล่า​นี้​เข้า​โดย​บังเอิญ. แม้​แต่​พยาน​ฯ บาง​คน​ก็​ได้​รับ​ข้อมูล​ข่าวสาร​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​เช่น​นี้​โดย​ไม่​ทัน​รู้​ตัว. นอก​จาก​นั้น บาง​ครั้ง​พวก​ผู้​ออก​หาก​ยัง​ได้​ไป​ร่วม​รายการ​ทาง​โทรทัศน์​หรือ​วิทยุ​ด้วย. อะไร​คือ​แนว​ปฏิบัติ​ที่​ฉลาด​สุขุม​ใน​เรื่อง​นี้?

10. อะไร​คือ​ปฏิกิริยา​ที่​สุขุม​ต่อ​การ​โฆษณา​ชวน​เชื่อ​ของ​พวก​ออก​หาก?

10 อัครสาวก​โยฮัน​สั่ง​คริสเตียน​ว่า​อย่า​ได้​รับ​ผู้​ออก​หาก​เข้า​มา​ใน​บ้าน​ของ​ตน. ท่าน​เขียน​ว่า “หาก​ผู้​ใด​มา​หา​ท่าน​ทั้ง​หลาย​และ​ไม่​นำ​คำ​สอน​นี้​มา อย่า​รับ​เขา​เข้า​มา​ใน​เรือน​ของ​ท่าน​หรือ​กล่าว​ทักทาย​เขา​เลย. เพราะ​ผู้​ที่​กล่าว​ทักทาย​เขา​ก็​เป็น​ผู้​ที่​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​กระทำ​ที่​ชั่ว​ของ​เขา.” (2 โยฮัน 10, 11, ล.ม.) การ​หลีก​เว้น​จาก​การ​ติด​ต่อ​ทุก​อย่าง​กับ​ปรปักษ์​เหล่า​นี้​จะ​ป้องกัน​เรา​ไว้​จาก​แนว​คิด​อัน​เสื่อม​ทราม​ของ​พวก​เขา. การ​เปิด​รับ​คำ​สอน​ออก​หาก​ทาง​สื่อ​ต่าง ๆ ของ​เครื่อง​มือ​สื่อสาร​สมัย​ใหม่​ซึ่ง​มี​อยู่​หลาก​หลาย​เป็น​อันตราย​พอ ๆ กัน​เลย​ที​เดียว​กับ​การ​ต้อนรับ​ตัว​ผู้​ออก​หาก​เอง​เข้า​มา​ใน​บ้าน​ของ​เรา. เรา​ไม่​ควร​ปล่อย​ให้​ความ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​ล่อ​ใจ​เรา​เข้า​สู่​แนว​ทาง​ที่​นำ​ไป​สู่​ความ​หายนะ​เช่น​นั้น!—สุภาษิต 22:3.

ภาย​ใน​ประชาคม

11, 12. (ก) แหล่ง​ที่​มา​ของ​แนว​คิด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ใน​ประชาคม​สมัย​ศตวรรษ​แรก​คือ​อะไร? (ข) โดย​วิธี​ใด​คริสเตียน​บาง​คน​ไม่​ได้​สนับสนุน​การ​สอน​จาก​พระเจ้า​อย่าง​เหนียวแน่น?

11 ขอ​พิจารณา​อีก​แหล่ง​หนึ่ง​อัน​อาจ​เป็น​ที่​มา​ของ​แนว​คิด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย. แม้​ว่า​ไม่​ได้​ตั้งใจ​จะ​สอน​ความ​เท็จ คริสเตียน​ที่​อุทิศ​ตัว​บาง​คน​อาจ​เริ่ม​เพาะ​นิสัย​พูด​อย่าง​ไม่​ยั้ง​คิด. (สุภาษิต 12:18) เนื่อง​จาก​เรา​ไม่​สมบูรณ์ เรา​ทุก​คน​พลาด​พลั้ง​ใน​บาง​ครั้ง​ด้วย​ลิ้น​ของ​เรา. (สุภาษิต 10:19; ยาโกโบ 3:8) ดู​เหมือน​ว่า ใน​สมัย​ของ​อัครสาวก​เปาโล มี​บาง​คน​ใน​ประชาคม​ที่​ไม่​ได้​ควบคุม​ลิ้น​ของ​ตน​และ​เข้า​ไป​ยุ่ง​เกี่ยว​ใน​การ​ทะเลาะ​ถกเถียง​กัน​เกี่ยว​กับ​ถ้อย​คำ. (1 ติโมเธียว 2:8) แล้ว​ก็​ยัง​มี​คน​อื่น​ด้วย​ที่​ยึด​ความ​เห็น​ของ​ตน​เอง​มาก​เกิน​ไป​และ​ถึง​กับ​ท้าทาย​อำนาจ​ของ​เปาโล. (2 โกรินโธ 10:10-12) น้ำใจ​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​เกิด​การ​ขัด​แย้ง​กัน​โดย​ไม่​จำเป็น.

12 บาง​ครั้ง ความ​ไม่​ลง​รอย​กัน​เหล่า​นี้​บานปลาย​กลาย​เป็น “การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​รุนแรง​ด้วย​เรื่อง​หยุมหยิม” และ​ทำลาย​สันติ​สุข​ของ​ประชาคม. (1 ติโมเธียว 6:5, ล.ม.; ฆะลาเตีย 5:15) เปาโล​เขียน​เกี่ยว​กับ​คน​ที่​ก่อ​การ​ทะเลาะ​ถกเถียง​เหล่า​นั้น​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​สอน​หลัก​คำ​สอน​อื่น​และ​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​ถ้อย​คำ​ที่​มี​ประโยชน์​ต่อ​สุขภาพ คือ​ถ้อย​คำ​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา หรือ​กับ​คำ​สอน​ที่​สอดคล้อง​กับ​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า เขา​อวด​ทะนง​ตน ไม่​เข้าใจ​อะไร​ทั้ง​สิ้น แต่​จิตใจ​เสื่อม​ด้วย​การ​ซัก​ถาม​และ​การ​โต้​เถียง​กัน​เรื่อง​ถ้อย​คำ. จาก​สิ่ง​เหล่า​นี้​จึง​เกิด​ความ​อิจฉา, ความ​ขัด​เคือง, การ​พูด​จา​ว่า​ร้าย, การ​สงสัย​ด้วย​ใจ​ชั่ว.”—1 ติโมเธียว 6:3, 4, ล.ม.

13. ความ​ประพฤติ​ของ​คริสเตียน​ส่วน​ใหญ่​ใน​สมัย​ศตวรรษ​แรก​เป็น​เช่น​ไร?

13 น่า​ยินดี คริสเตียน​ส่วน​ใหญ่​ใน​สมัย​ของ​อัครสาวก​เป็น​คน​ซื่อ​สัตย์​และ​ยัง​คง​เอา​ใจ​ใส่​เป็น​พิเศษ​ใน​งาน​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า. พวก​เขา​ง่วน​อยู่​กับ​การ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล “ลูก​กำพร้า​และ​หญิง​ม่าย​ใน​ความ​ทุกข์​ยาก​ของ​เขา และ​รักษา​ตัว​ให้​ปราศจาก​ด่าง​พร้อย​ของ​โลก” ไม่​เสีย​เวลา​ไป​กับ​การ​โต้​เถียง​อัน​ไร้​ประโยชน์​ใน​เรื่อง​ถ้อย​คำ. (ยาโกโบ 1:27, ล.ม.) พวก​เขา​หลีก​เลี่ยง “การ​คบหา​สมาคม​ที่​ไม่​ดี” แม้​แต่​ภาย​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​เอง​เพื่อ​ป้องกัน​รักษา​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ตน.—1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 2:20, 21.

14. หาก​เรา​ไม่​ระวัง การ​แลก​เปลี่ยน​ความ​คิด​เห็น​กัน​ตาม​ธรรมดา​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​การ​ถกเถียง​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ได้​อย่าง​ไร?

14 คล้ายคลึง​กัน สถานการณ์​ตาม​ที่​พรรณนา​ใน​ข้อ 11 มิ​ได้​เป็น​สภาพ​โดย​ทั่ว​ไป​ของ​ประชาคม​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ทุก​วัน​นี้. ถึง​กระนั้น เรา​ควร​ยอม​รับ​ว่า​อาจ​เกิด​การ​ถกเถียง​กัน​อย่าง​ไร้​ประโยชน์​เช่น​นั้น​ขึ้น​ได้. แน่นอน เป็น​เรื่อง​ปกติ​ธรรมดา​ที่​จะ​พิจารณา​กัน​ถึง​เรื่อง​ราว​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​หรือ​สงสัย​ใน​บาง​แง่​มุม​ที่​ยัง​ไม่​ได้​มี​การ​เปิด​เผย​เกี่ยว​กับ​โลก​ใหม่​ตาม​คำ​สัญญา. และ​ไม่​มี​อะไร​ผิด​ที่​จะ​แลก​เปลี่ยน​ความ​คิด​เห็น​กัน​ใน​เรื่อง​ส่วน​ตัว เช่น​การ​แต่ง​กาย​และ​การ​ประดับ​ตัว​หรือ​การ​เลือก​ความ​บันเทิง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หาก​เรา​กลาย​เป็น​คน​ดึง​ดัน​ตาม​ความ​เห็น​ของ​เรา​เอง​และ​ขุ่นเคือง​เมื่อ​คน​อื่น​ไม่​เห็น​พ้อง​กับ​เรา ผล​สุด​ท้าย​อาจ​เกิด​การ​แตก​แยก​กัน​ใน​ประชาคม​ด้วย​เรื่อง​หยุมหยิม. เหตุ​การณ์​ที่​เริ่ม​ต้น​ด้วย​การ​พูด​คุย​กัน​ตาม​ธรรมดา​อาจ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ได้​จริง ๆ.

รักษา​สิ่ง​ที่​เรา​ได้​รับ​ฝาก​ไว้

15. “คำ​สอน​ของ​พวก​ผี​ปิศาจ” อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ฝ่าย​วิญญาณ​แก่​เรา​ได้​ถึง​ขนาด​ไหน และ​พระ​คัมภีร์​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร?

15 อัครสาวก​เปาโล​เตือน​ว่า “พระ​วิญญาณ​ได้​ตรัส​ไว้​โดย​แจ่ม​แจ้ง​ว่า, ภาย​หลัง​จะ​มี​บาง​คน​ทิ้ง​ความ​เชื่อ​เสีย, แล้ว​ไป​เชื่อ​ฟัง​วิญญาณ​ที่​ล่อ​ลวง​และ​ฟัง​คำ​สอน​ของ​พวก​ผี​ปิศาจ.” (1 ติโมเธียว 4:1) ถูก​แล้ว แนว​คิด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​เป็น​ภัย​คุกคาม​อย่าง​แท้​จริง. จึง​เป็น​เรื่อง​เข้าใจ​ได้​ที่​เปาโล​วิงวอน​ติโมเธียว​สหาย​ที่​รัก​ของ​ท่าน​ว่า “ติโมเธียว​เอ๋ย, ซึ่ง​เรา​ฝาก​ไว้​กับ​ท่าน​นั้น​จง​เฝ้า​รักษา, และ​จง​หลีก​ไป​เสีย​จาก​การ​เถียง​กัน​นอก​คอก​นอก​ทาง [“การ​พูด​ที่​ไร้​สาระ​ซึ่ง​ละเมิด​สิ่ง​บริสุทธิ์,” ล.ม.], และ​จาก​ความ​รู้​อัน​เท็จ​ซึ่ง​มี​ข้อ​แย้ง​กัน​อยู่​เสมอ​ที่​เขา​เรียก​ผิด​ไป​ว่า​เป็น​ความ​รู้ ซึ่ง​บาง​คน​ได้​รับ​เอา​ไว้​แล้ว​เลย​หลง​ไป​จาก​ความ​เชื่อ​นั้น.”—1 ติโมเธียว 6:20, 21.

16, 17. พระเจ้า​ทรง​ฝาก​อะไร​ไว้​กับ​เรา และ​เรา​ควร​รักษา​ไว้​อย่าง​ไร?

16 ใน​ปัจจุบัน เรา​จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​คำ​เตือน​ด้วย​ความ​รัก​นี้​ได้​อย่าง​ไร? ติโมเธียว​ได้​รับ​ฝาก​สิ่ง​มี​ค่า​ที่​จะ​ดู​แล​และ​ปก​ป้อง. สิ่ง​นั้น​คือ​อะไร? เปาโล​อธิบาย​ว่า “จง​ยึด​ถือ​แบบ​แผน​แห่ง​ถ้อย​คำ​ที่​มี​ประโยชน์​ต่อ​สุขภาพ ที่​ท่าน​ได้​ยิน​จาก​ข้าพเจ้า​ด้วย​ความ​เชื่อ​และ​ความ​รัก​ซึ่ง​เกี่ยว​เนื่อง​กับ​พระ​คริสต์​เยซู. สิ่ง​ดี​ที่​ฝาก​ไว้​นี้​จง​รักษา​โดย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​เรา.” (2 ติโมเธียว 1:13, 14, ล.ม.) ถูก​แล้ว สิ่ง​ที่​ฝาก​ไว้​กับ​ติโมเธียว​นั้น​รวม​ถึง “ถ้อย​คำ​ที่​มี​ประโยชน์​ต่อ​สุขภาพ” “คำ​สอน​ที่​สอดคล้อง​กับ​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า.” (1 ติโมเธียว 6:3, ล.ม.) สอดคล้อง​กับ​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้ คริสเตียน​ใน​ปัจจุบัน​ตั้งใจ​แน่วแน่​จะ​รักษา​ความ​เชื่อ​ของ​ตน​และ​ความ​จริง​ทั้ง​สิ้น​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​ฝาก​ไว้.

17 การ​รักษา​สิ่ง​ที่​ฝาก​ไว้​นั้น​หมาย​รวม​ถึง​การ​ปลูกฝัง​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ อย่าง​เช่น​นิสัย​ที่​ดี​ใน​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​การ​เพียร​อธิษฐาน ขณะ​เดียว​กัน​ก็​ทำ “การ​ดี​ต่อ​คน​ทั้ง​ปวง แต่​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​ผู้​ที่​สัมพันธ์​กับ​เรา​ใน​ความ​เชื่อ.” (ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.; โรม 12:11-17) เปาโล​เตือน​สติ​ต่อ​ไป​อีก​ว่า “จง​ติด​ตาม​ความ​ชอบธรรม ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า ความ​เชื่อ ความ​รัก ความ​อด​ทน มี​ใจ​อ่อนโยน. จง​เข้า​ใน​การ​สู้​อย่าง​ดี​เพื่อ​ความ​เชื่อ ยึด​มั่น​อยู่​กับ​ชีวิต​นิรันดร์​ตาม​ที่​ได้​ทรง​เลือก​ท่าน​ไว้​และ​ท่าน​ก็​ได้​ให้​คำ​ประกาศ​อัน​ดี​อย่าง​เปิด​เผย​ต่อ​หน้า​พยาน​หลาย​คน.” (1 ติโมเธียว 6:11, 12, ล.ม.) การ​ที่​เปาโล​ใช้​วลี “จง​เข้า​ใน​การ​สู้​อย่าง​ดี” และ “ยึด​มั่น” ทำ​ให้​เห็น​ได้​ชัด​ว่า เรา​ต้อง​ต้านทาน​อย่าง​แข็งขัน และ​อย่าง​เด็ด​เดี่ยว ต่อ​อิทธิพล​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ฝ่าย​วิญญาณ.

จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​สังเกต​เข้าใจ

18. เรา​จะ​แสดง​ความ​สมดุล​แบบ​คริสเตียน​ได้​อย่าง​ไร​ใน​การ​รับ​ข้อมูล​ฝ่าย​โลก?

18 แน่​ละ ใน​การ​ต่อ​สู้​อย่าง​ดี​เพื่อ​ความ​เชื่อ​นั้น​จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​สังเกต​เข้าใจ. (สุภาษิต 2:11; ฟิลิปปอย 1:9) ตัว​อย่าง​เช่น ย่อม​ไม่​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​สงสัย​ข้อมูล​ฝ่าย​โลก​ทุก​อย่าง. (ฟิลิปปอย 4:5; ยาโกโบ 3:17) ไม่​ใช่​ความ​คิด​ทุก​อย่าง​ของ​มนุษย์​ขัด​แย้ง​กับ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. พระ​เยซู​ตรัส​พาด​พิง​ถึง​ความ​จำเป็น​ที่​คน​ป่วย​ต้อง​ปรึกษา​แพทย์​ที่​มี​คุณวุฒิ​ซึ่ง​เป็น​วิชา​ชีพ​ฝ่าย​โลก​อย่าง​หนึ่ง. (ลูกา 5:31) แม้​ว่า​การ​รักษา​ทาง​การ​แพทย์​ใน​สมัย​ของ​พระ​เยซู​อยู่​ใน​ขั้น​แรก​เริ่ม แต่​พระองค์​ทรง​ยอม​รับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​แพทย์. คริสเตียน​ใน​ทุก​วัน​นี้​แสดง​ความ​สมดุล​ใน​เรื่อง​ข้อมูล​ฝ่าย​โลก แต่​พวก​เขา​ไม่​รับ​ข้อมูล​ที่​อาจ​ก่อ​ผล​เสียหาย​ฝ่าย​วิญญาณ​แก่​เขา.

19, 20. (ก) ผู้​ปกครอง​ดำเนิน​การ​ด้วย​การ​สังเกต​เข้าใจ​อย่าง​ไร​เมื่อ​ช่วย​คน​ที่​พูด​อย่าง​ไม่​สุขุม? (ข) ประชาคม​จัด​การ​อย่าง​ไร​ต่อ​คน​ที่​ยืนกราน​จะ​ส่ง​เสริม​คำ​สอน​เท็จ?

19 การ​สังเกต​เข้าใจ​ยัง​มี​ความ​สำคัญ​ด้วย​สำหรับ​ผู้​ปกครอง​เมื่อ​มี​การ​ขอ​ให้​ช่วย​คน​ที่​พูด​อย่าง​ไม่​สุขุม. (2 ติโมเธียว 2:7) บาง​ครั้ง สมาชิก​ของ​ประชาคม​อาจ​โต้​เถียง​กัน​ด้วย​เรื่อง​หยุม ๆ หยิม ๆ และ​การ​คาด​เดา. เพื่อ​รักษา​เอกภาพ​ของ​ประชาคม ผู้​ปกครอง​ควร​จัด​การ​ปัญหา​เช่น​นั้น​โดย​เร็ว. ใน​ขณะ​เดียว​กัน พวก​เขา​หลีก​เลี่ยง​การ​กล่าวหา​ว่า​พี่​น้อง​มี​แรง​กระตุ้น​ไม่​ดี​และ​ไม่​ด่วน​สรุป​ถือ​ว่า​เขา​เป็น​ผู้​ออก​หาก.

20 เปาโล​พรรณนา​ถึง​น้ำใจ​ที่​ควร​มี​ใน​การ​ช่วยเหลือ​ผู้​อื่น. ท่าน​กล่าว​ว่า “พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย ถ้า​แม้น​ผู้​ใด​ก้าว​พลาด​ไป​ประการ​ใด​ก่อน​ที่​เขา​รู้​ตัว ท่าน​ทั้ง​หลาย​ผู้​มี​คุณวุฒิ​ฝ่าย​วิญญาณ​จง​พยายาม​ปรับ​คน​เช่น​นั้น​ให้​เข้า​ที่​ด้วย​น้ำใจ​อ่อนโยน.” (ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.) โดย​กล่าว​อย่าง​เจาะจง​ถึง​คริสเตียน​ที่​ต่อ​สู้​อยู่​กับ​ความ​สงสัย ยูดา​เขียน​ว่า “จง​สำแดง​ความ​เมตตา​ต่อ ๆ ไป​ต่อ​บาง​คน​ที่​มี​ความ​สงสัย; จง​ช่วย​พวก​เขา​ให้​รอด​โดย​ฉุด​เขา​ออก​จาก​ไฟ.” (ยูดา 22, 23, ล.ม.) แน่นอน หาก​หลัง​จาก​ได้​รับ​คำ​ตักเตือน​หลาย​ครั้ง คน​นั้น​ยัง​ยืนกราน​จะ​ส่ง​เสริม​คำ​สอน​เท็จ ผู้​ปกครอง​ก็​จำเป็น​ต้อง​ดำเนิน​การ​ขั้น​เด็ดขาด​เพื่อ​ปก​ป้อง​ประชาคม.—1 ติโมเธียว 1:20; ติโต 3:10, 11.

บรรจุ​ความ​คิด​ของ​เรา​ด้วย​สิ่ง​ที่​น่า​สรรเสริญ

21, 22. เรา​ควร​พิถีพิถัน​ใน​เรื่อง​ใด และ​เรา​ควร​บรรจุ​จิตใจ​ของ​เรา​ด้วย​อะไร?

21 ประชาคม​คริสเตียน​หลีก​ห่าง​คำ​พูด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ซึ่ง “แผ่​ลาม​ไป​เหมือน​เนื้อ​ตาย.” (2 ติโมเธียว 2:16, 17, ล.ม.; ติโต 3:9) ควร​หลีก​ห่าง​ทั้ง​คำ​พูด​ที่​ส่อ​ให้​เห็น​ถึง “สติ​ปัญญา” ฝ่าย​โลก​ที่​ชัก​นำ​ให้​หลง, การ​โฆษณา​ชวน​เชื่อ​ของ​พวก​ออก​หาก, และ​การ​พูด​คุย​กัน​อย่าง​ไม่​ยั้ง​คิด​ภาย​ใน​ประชาคม. แม้​ว่า​ความ​ปรารถนา​ดี​ที่​จะ​เรียน​รู้​สิ่ง​ใหม่ ๆ อาจ​เป็น​ประโยชน์ แต่​ความ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​ที่​ไม่​มี​การ​เหนี่ยว​รั้ง​อาจ​ทำ​ให้​เรา​รับ​เอา​ความ​คิด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย. เรา​ทราบ​อุบาย​ของ​ซาตาน. (2 โกรินโธ 2:11, ล.ม.) เรา​ทราบ​ว่า​มัน​กำลัง​พยายาม​อย่าง​หนัก​ที่​จะ​ดึง​เรา​ให้​ช้า​ลง​ใน​การ​รับใช้​พระเจ้า.

22 ใน​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ที่​ดี ให้​เรา​สนับสนุน​การ​สอน​จาก​พระเจ้า​อย่าง​เหนียวแน่น. (1 ติโมเธียว 4:6) ขอ​ให้​เรา​ใช้​เวลา​อย่าง​ฉลาด​สุขุม​โดย​พิถีพิถัน​ใน​การ​เลือก​รับ​ข้อมูล. เมื่อ​เป็น​อย่าง​นี้ เรา​จะ​ไม่​หวั่นไหว​ง่าย ๆ ต่อ​การ​โฆษณา​ชวน​เชื่อ​ที่​ซาตาน​อยู่​เบื้อง​หลัง. ใช่​แล้ว ให้​เรา​ใคร่ครวญ​เสมอ​ถึง “สิ่ง​ใด​ที่​จริง, สิ่ง​ใด​ที่​น่า​เอา​ใจ​ใส่​อย่าง​จริงจัง, สิ่ง​ใด​ที่​ชอบธรรม, สิ่ง​ใด​ที่​บริสุทธิ์, สิ่ง​ใด​ที่​น่า​รัก, สิ่ง​ใด​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​ทาง​ดี, สิ่ง​ใด​ที่​มี​คุณ​ความ​ดี​และ​สิ่ง​ใด​ที่​น่า​สรรเสริญ.” หาก​เรา​บรรจุ​จิตใจ​และ​หัวใจ​ของ​เรา​ด้วย​สิ่ง​ต่าง ๆ เช่น​นั้น พระเจ้า​แห่ง​สันติ​สุข​จะ​สถิต​อยู่​กับ​เรา.—ฟิลิปปอย 4:8, 9, ล.ม.

เรา​ได้​เรียน​อะไร​ไป​บ้าง?

• สติ​ปัญญา​ฝ่าย​โลก​อาจ​เป็น​ภัย​คุกคาม​ต่อ​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา​อย่าง​ไร?

• เรา​สามารถ​ทำ​อะไร​เพื่อ​ป้องกัน​ตัว​เรา​เอง​จาก​ข้อมูล​ของ​พวก​ออก​หาก​ซึ่ง​ก่อ​ผล​เสียหาย?

• ควร​หลีก​เลี่ยง​คำ​พูด​แบบ​ใด​ภาย​ใน​ประชาคม?

• คริสเตียน​แสดง​ความ​สมดุล​อย่าง​ไร​เมื่อ​เข้า​ไป​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ข้อมูล​ซึ่ง​มี​อยู่​อย่าง​อุดม​ล้น​เหลือ​ใน​ทุก​วัน​นี้?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 9]

วารสาร​และ​หนังสือ​จำนวน​มาก​ที่​ผู้​คน​นิยม​อ่าน​ขัด​แย้ง​กับ​ค่า​นิยม​แบบ​คริสเตียน​ของ​เรา

[ภาพ​หน้า 10]

คริสเตียน​สามารถ​แลก​เปลี่ยน​ความ​คิด​เห็น​กัน​ได้​โดย​ไม่​ดึง​ดัน​ตาม​ความ​คิด​ของ​ตน​เอง