ต่อสู้กับการทุจริตด้วยดาบแห่งพระวิญญาณ
ต่อสู้กับการทุจริตด้วยดาบแห่งพระวิญญาณ
“สวมบุคลิกภาพใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความภักดีที่แท้จริง.”—เอเฟโซ 4:24, ล.ม.
ณ ช่วงที่รุ่งเรืองสูงสุด จักรวรรดิโรมันเป็นวิธีบริหารการปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์เท่าที่โลกเคยเห็นมา. กฎหมายโรมันมีประสิทธิภาพจนกระทั่งยังคงเป็นรากฐานแห่งประมวลกฎหมายของหลายประเทศอยู่. อย่างไรก็ดี แม้โรมจะประสบความสำเร็จก็ตาม กองทหารของโรมไม่สามารถพิชิตศัตรูหนึ่งที่แฝงเร้นได้ นั่นคือการทุจริต. ในที่สุด การทุจริตได้เร่งความล่มจมของโรมให้เร็วขึ้น.
อัครสาวกเปาโลเป็นคนหนึ่งซึ่งทนความลำบากภายใต้เจ้าหน้าที่โรมันที่ทุจริต. เฟลิกซ์ ผู้สำเร็จราชการชาติโรมันซึ่งสอบสวนท่าน ดูเหมือนจะยอมรับว่าเปาโลไม่มีความผิด. แต่เฟลิกซ์ หนึ่งในบรรดาผู้สำเร็จราชการซึ่งทุจริตมากที่สุดในสมัยของท่าน ได้เลื่อนการพิจารณาคดีของเปาโลออกไป โดยหวังว่าเปาโลจะให้เงินเขาเพื่อปล่อยตัวท่าน.—กิจการ 24:22-26.
แทนที่จะติดสินบนเฟลิกซ์ เปาโลพูดกับเขาอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับ “ความชอบธรรม, ความอดกลั้นใจ.” เฟลิกซ์ไม่เปลี่ยนแนวทางของเขา และเปาโลคงอยู่ในคุกต่อไปแทนที่จะพยายามหลบเลี่ยงกระบวนการทางกฎหมายด้วยการให้สินบน. ท่านประกาศข่าวสารแห่งความจริงและความซื่อสัตย์ และดำเนินชีวิตตามนั้น. ท่านเขียนถึงคริสเตียนชาวยิวว่า “เรามั่นใจว่า เรามีสติรู้สึกผิดชอบที่ซื่อสัตย์ เนื่องจากเราปรารถนาจะประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.”—เฮ็บราย 13:18, ล.ม.
จุดยืนดังกล่าวต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับศีลธรรมของสมัยนั้น. พัลลัสน้องชายของเฟลิกซ์เป็นหนึ่งในบรรดาคนร่ำรวยที่สุดในโลกสมัยโบราณ และทรัพย์สมบัติของเขา—มีมูลค่าประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ—แทบทั้งหมดสะสมมาด้วยการติดสินบนและการกรรโชก. อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินของเขากลายเป็นสิ่งไม่สลักสำคัญเมื่อเทียบกับเงินหลายพันล้านเหรียญซึ่งผู้ปกครองทุจริตบางคนในศตวรรษที่ 20 ได้แอบฝากไว้ในบัญชีลับของธนาคาร. เห็นได้ชัด มีแต่ผู้ที่พาซื่อเท่านั้นจะเชื่อว่ารัฐบาลต่าง ๆ ในทุกวันนี้ประสบผลสำเร็จในการต่อสู้กับการทุจริต.
เนื่องจากการทุจริตได้ฝังรากลึกมานานเช่นนั้น เราจึงต้องเหมาเอาว่านั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิสัยมนุษย์เท่านั้นไหม? หรือว่าอาจทำอะไรบางอย่างได้เพื่อยับยั้งการทุจริต?
จะยับยั้งการทุจริตได้อย่างไร?
เพื่อยับยั้งการทุจริต ขั้นตอนแรกที่เห็นได้ชัดคือ ต้องตระหนักว่าการทุจริตก่อผลเสียหายและเป็นสิ่งผิด เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อคนที่ไม่มีธรรมะโดยยังความเสียหายแก่คนอื่น. ไม่ต้องสงสัยว่ามีการก้าวหน้าอยู่บ้างในเรื่องนี้. เจมส์ โฟลีย์ รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐกล่าวว่า “เราทุกคนยอมรับว่าความเสียหายจากการติดสินบนนั้นร้ายแรง. สินบนบ่อนทำลายวิธีบริหารการปกครองที่ดี, ก่อความเสียหายแก่ประสิทธิภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, ทำให้กิจการค้าเสียรูปไป, และทำให้ประชากรทั่วโลกได้รับความเสียหาย.” หลายคนคงจะเห็นพ้องกับเขา. ในวันที่ 17 ธันวาคม 1997 ประเทศใหญ่ 34 ประเทศได้ลงนามใน “ข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยการติดสินบน” ซึ่งคิดขึ้นมาเพื่อ “ก่อผลกระทบสำคัญในการต่อสู้กับการทุจริตทั่วโลก.” ข้อตกลงนั้น “กำหนดว่า การเสนอ, การสัญญาว่าจะให้หรือการติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศเพื่อจะบรรลุหรือรักษาไว้ซึ่งการดำเนินธุรกิจระหว่างชาตินั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง.”
อย่างไรก็ดี ในประเทศอื่น ๆ สินบนเพื่อบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่มองเห็นได้ของการทุจริต. การกำจัดการทุจริตอย่างทั่วถึงต้องมีขั้นตอนที่สองซึ่งยากกว่ามาก นั่นคือ การเปลี่ยนหัวใจ หรือถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว ต้องมีการเปลี่ยนหัวใจของหลายต่อหลายคน. ผู้คนทุกหนแห่งต้องเรียนรู้ที่จะเกลียดชังการติดสินบนและการทุจริต. เฉพาะแต่การทำเช่นนี้เท่านั้น ทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบจึงจะหมดสิ้นไป. เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ วารสารนิวส์วีก กล่าวว่า บางคนรู้สึกว่ารัฐบาลน่าจะ “สนับสนุนความสำนึกโดยทั่วไปในคุณความดีของพลเมือง.” กลุ่มความโปร่งใสระหว่างชาติ ซึ่งวิ่งเต้นเพื่อต่อต้านการทุจริต ได้เสนอแนะด้วยเช่นกันให้ผู้สนับสนุนพวกเขา “ปลูกฝัง ‘เมล็ดแห่งความซื่อสัตย์’ ” เข้าไปในที่ทำงาน.
การต่อสู้กับการทุจริตเป็นประเด็นทางศีลธรรมซึ่งไม่อาจเอาชนะได้โดยการออกกฎหมายอย่างเดียว หรือโดย “ดาบ” ของการลงโทษตามกฎหมาย. (โรม 13:4, 5) เมล็ดของคุณความดีและความซื่อสัตย์ต้องหว่านลงในหัวใจของผู้คน. อาจบรรลุผลเช่นนี้อย่างดีที่สุดได้โดยใช้สิ่งที่อัครสาวกเปาโลพรรณนาว่าเป็น “ดาบแห่งพระวิญญาณ” พระคำของพระเจ้า คัมภีร์ไบเบิล.—เอเฟโซ 6:17, ล.ม.
คัมภีร์ไบเบิลตำหนิการทุจริต
ทำไมเปาโลปฏิเสธที่จะยอมให้กับการทุจริต? เพราะท่านต้องการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า “ผู้มิได้เห็นแก่บุคคลผู้ใด, และมิได้เห็นแก่อามิษสินบน.” (พระบัญญัติ 10:17) นอกจากนี้ เปาโลจำได้อย่างแน่นอนถึงคำสั่งที่เจาะจงซึ่งพบในพระบัญญัติของโมเซที่ว่า “อย่าพิพากษาเห็นแก่หน้าคน; และอย่ารับสินบน; ด้วยสินบนจะทำให้ตาของผู้มีปัญญานั้นมืดมัวไป, และกระทำให้ถ้อยคำของคนชอบธรรมนั้นเป็นความเท็จไป.” (พระบัญญัติ 16:19) กษัตริย์ดาวิดเข้าใจเช่นกันว่าพระยะโฮวาทรงเกลียดการทุจริต และท่านทูลขอพระเจ้ามิให้นับท่านอยู่ในท่ามกลางคนบาป “ผู้ที่ . . . มือขวาของเขาเต็มไปด้วยสินบน.”—บทเพลงสรรเสริญ 26:10.
คนเหล่านั้นที่นมัสการพระเจ้าอย่างจริงใจมีเหตุผลเพิ่มขึ้นในการปฏิเสธการทุจริต. ซะโลโมเขียนว่า “โดยความยุติธรรม กษัตริย์ทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ แต่ผู้ทรงละโมบสินบนทำให้ประเทศพังทลาย.” (สุภาษิต 29:4, นิว อินเตอร์แนชันแนล เวอร์ชัน) ความยุติธรรม—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดำเนินการจากเจ้าหน้าที่ชั้นสูงสุดลงมา—ย่อมนำมาซึ่งเสถียรภาพ ในขณะที่การทุจริตทำให้ประเทศยากจนลง. น่าสนใจ นิวส์วีก ชี้แจงว่า “ในระบบที่ทุกคนต้องการมีส่วนแบ่งในผลประโยชน์จากการทุจริต และรู้วิธีที่จะได้ส่วนแบ่งนั้น เศรษฐกิจอาจพังทลายได้อย่างง่ายดาย.”
แม้แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่พังทลายอย่างสิ้นเชิงก็ตาม ผู้ที่รักความยุติธรรมรู้สึกข้องขัดใจเมื่อการทุจริตมีอยู่ดาษดื่นโดยไม่มีการยับยั้ง. (บทเพลงสรรเสริญ 73:3, 13) พระผู้สร้างของเรา ผู้ทรงประทานให้เรามีความปรารถนามาแต่กำเนิด ในเรื่องความยุติธรรมนั้นได้รับการสบประมาทด้วย. ในอดีต พระยะโฮวาได้เข้าแทรกแซงเพื่อกวาดล้างการทุจริตอย่างโจ่งแจ้ง. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงแจ้งอย่างตรงไปตรงมาแก่ชาวกรุงยะรูซาเลมถึงเหตุผลที่พระองค์จะละพวกเขาไว้กับเหล่าศัตรู.
พระเจ้าตรัสผ่านมีคาผู้พยากรณ์ของพระองค์ว่า “โอ ท่านผู้เป็นประมุขแห่งวงศ์วานของยาโคบ, และบรรดาผู้ปกครองแห่งวงศ์วานยิศราเอล, ผู้ที่ชังความยุติธรรมและทำอิสรภาพให้แปรปรวนไป, ข้าพเจ้าขอให้ท่านฟังข้อความเหล่านี้. พวกตระลาการตัดสินความเห็นแก่สินบน, และปุโรหิตสั่งสอนเพราะเห็นแก่สินจ้าง, และพวกผู้ทำนายก็ทำนายเพราะเห็นแก่เงิน . . . เพราะฉะนั้นเพราะเห็นแก่เจ้านิคมซีโอนจะถูกไถเหมือนไถนา, และกรุงยะรูซาเลมจะกลับเป็นเนื้อนาที่ไถแล้ว.” การทุจริตได้ทำความเสียหายแก่สังคมในยิศราเอล เช่นเดียวกับที่ได้เซาะกร่อนโรมในหลายศตวรรษต่อมา. จริงตามคำเตือนของพระเจ้า ราว ๆ หนึ่งศตวรรษหลังจากมีคาเขียนถ้อยคำเหล่านี้ กรุงยะรูซาเลมได้ถูกทำลายและถูกละทิ้ง.—มีคา 3:9, 11, 12.
อย่างไรก็ตาม ไม่มีมนุษย์คนใดหรือชาติใดจำเป็นต้องทุจริต. พระเจ้าทรงสนับสนุนคนชั่วให้ละทิ้งแนวทางชีวิตของเขาแล้วเปลี่ยนวิธีการคิด. (ยะซายา 55:7) พระองค์ทรงประสงค์ให้แต่ละคนและทุก ๆ คนเอาความไม่เห็นแก่ตัวเข้ามาแทนที่ความโลภ และเอาความชอบธรรมเข้ามาแทนที่การทุจริต. พระยะโฮวาทรงเตือนเราให้ระลึกว่า “บุคคลผู้กดขี่เบียดเบียนคนจนก็ทำความอัปยศแก่พระผู้สร้างตน; แต่บุคคลผู้มีความเมตตาแก่คนยากจนก็ถวายเกียรติยศแก่พระองค์.”—สุภาษิต 14:31.
การต่อสู้กับการทุจริตอย่างเป็นผลสำเร็จด้วยความจริงในคัมภีร์ไบเบิล
อะไรอาจกระตุ้นคนเราให้ทำการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นได้? พลังอย่างเดียวกันที่ได้กระตุ้นเปาโลให้ละทิ้งชีวิตของฟาริซายเพื่อมาเป็นสาวกที่ไม่ย่อท้อของพระเยซูคริสต์. ท่านเขียนว่า “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง.” (เฮ็บราย 4:12, ล.ม.) ทุกวันนี้ ความจริงตามหลักพระคัมภีร์ยังคงส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตอยู่ แม้แต่ในท่ามกลางคนเหล่านั้นที่ได้เข้าไปพัวพันอย่างลึกซึ้งกับการทุจริต. ขอพิจารณาตัวอย่างหนึ่ง.
ไม่นานหลังจากเสร็จสิ้นการเป็นทหารประจำการ อะเล็กซานเดอร์ซึ่งมาจากยุโรปตะวันออก ได้เข้าร่วมกับแก๊งหนึ่งซึ่งดำเนินการหลอกต้ม, กรรโชก, และรับสินบน. * เขาอธิบายว่า “งานมอบหมายของผมคือขู่เอาเงินค่าคุ้มครองจากพวกนักธุรกิจที่ร่ำรวย. เมื่อผมได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจจากนักธุรกิจคนหนึ่งแล้ว สมาชิกคนอื่นในทีมของเราก็จะข่มขู่เขาด้วยการใช้ความรุนแรง. จากนั้นผมก็อาสาจะจัดการเรื่องนั้นให้—ด้วยเงินรางวัลก้อนโต. ‘ลูกค้า’ ของผมขอบคุณที่ผมช่วยจัดการปัญหาของเขา ทั้ง ๆ ที่ตามจริงแล้วผมเป็นต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้น. อาจดูเหมือนว่าแปลก นี่เป็นแง่มุมหนึ่งของงานที่ผมชอบ.
“นอกจากนั้น ผมชอบเงินและความตื่นเต้นที่ได้จากชีวิตแบบนี้. ผมขับรถยนต์ราคาแพง, มีชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่สวยหรู, และมีเงินที่จะซื้ออะไรก็ได้ที่ผมต้องการ. ผู้คนกลัวเกรงผมซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่ามีอำนาจ. ในทางใดทางหนึ่งผมรู้สึกว่า ไม่มีใครเอาชนะผมได้ และผมอยู่เหนือกฎหมาย. ปัญหาใด ๆ ที่มีกับตำรวจก็สามารถแก้ได้โดยใช้ทนายความที่เชี่ยวชาญ ซึ่งมีวิธีต่าง ๆ ในการหลบเลี่ยงกระบวนการยุติธรรม หรือโดยติดสินบนแก่คนที่เหมาะ.
“อย่างไรก็ตาม ความภักดีหาได้ยากในท่ามกลางคนเหล่านั้นซึ่งทำมาหาเลี้ยงชีพโดยอาศัยการทุจริต. คนหนึ่งในแก๊งของเราเริ่มไม่ชอบหน้าผม และผมรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่นิยมชมชอบอีกต่อไป. ทันทีทันใด ผมสูญเสียรถยนต์คันหรู, เงิน, เพื่อนสาวที่มีรสนิยมสูง. ผมถึงกับถูกกระหน่ำตีอย่างรุนแรง. การเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้ทำให้ผมคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของชีวิต.
“ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น คุณแม่ของผมได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา และผมเริ่มอ่านสรรพหนังสือของพวกเขา. ข้อคัมภีร์ที่สุภาษิต 4:14, 15 ทำให้ผมคิดอย่างแท้จริง ข้อนั้นบอกว่า “อย่าย่างเข้าไปในทางของคนชั่วร้าย, และอย่าเดินในทางของคนบาป. จงหลีกเสีย, อย่าเข้าใกล้มันเลย; จงหันไปจากมัน, และผ่านเลยไปเสียเถิด.” ข้อความในพระคัมภีร์เช่นตอนนี้ทำให้ผมมั่นใจว่าคนเหล่านั้นที่ต้องการดำเนินชีวิตแบบอาชญากรไม่มีอนาคตแท้. ผมเริ่มอธิษฐานถึงพระยะโฮวาและทูลขอพระองค์ให้ทรงนำผมในทางที่ถูกต้อง. ผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา และในที่สุด ผมได้อุทิศชีวิตแด่พระเจ้า. ผมดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา.
“แน่นอน การดำเนินชีวิตโดยมาตรฐานที่ซื่อสัตย์หมายถึงการได้เงินน้อยลงมาก. แต่ปัจจุบันผมรู้สึกว่าตัวเองมีอนาคต บทเพลงสรรเสริญ 37:3 ซึ่งกล่าวว่า ‘จงวางใจในพระยะโฮวาและประพฤติการดี; จงอาศัยอยู่ที่แผ่นดิน, หาเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์.’ ”
ชีวิตผมมีความหมายที่แท้จริง. ผมตระหนักว่ารูปแบบชีวิตแต่ก่อนของผมพร้อมกับเงินรางวัลพิเศษมากมายทั้งหมดที่ได้จากชีวิตแบบนั้นเป็นเหมือนบ้านที่ทำด้วยไพ่เท่านั้นซึ่งรอว่าจะพังลงเมื่อไรก็ได้. แต่ก่อน สติรู้สึกผิดชอบของผมด้านชา. ตอนนี้ เนื่องจากผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิล สติรู้สึกผิดชอบจึงทิ่มแทงผมเมื่อไรก็ตามที่ผมถูกล่อใจให้เป็นคนไม่ซื่อสัตย์—แม้แต่ในเรื่องเล็กน้อย. ผมพยายามจะดำเนินชีวิตประสานกับ“ผู้ที่ชังสินบนจะมีชีวิตอยู่”
ดังที่อะเล็กซานเดอร์ค้นพบ ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลสามารถกระตุ้นคนเราให้เอาชนะการทุจริตได้. เขาได้ทำการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งประสานกับสิ่งที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ในจดหมายของท่านที่เขียนถึงชาวเอเฟโซที่ว่า “ท่านทั้งหลายควรละทิ้งบุคลิกภาพเก่าซึ่งเป็นไปตามแนวทางการประพฤติเดิมของท่าน และซึ่งถูกทำให้เสื่อมเสียตามความปรารถนาอันหลอกลวงของตน; . . . ท่านทั้งหลายควรถูกเปลี่ยนใหม่ในพลังที่กระตุ้นจิตใจของท่าน และควรสวมบุคลิกภาพใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในความชอบธรรมและความภักดีที่แท้จริง. บัดนี้ ครั้นท่านทั้งหลายได้ละทิ้งความเท็จแล้ว ท่านทุกคนจงพูดความจริงกับเพื่อนบ้านของตน เพราะเราเป็นอวัยวะของกันและกัน. คนที่เคยเป็นขโมยก็อย่าขโมยอีกต่อไป แต่จงให้เขาทำงานหนักใช้มือของเขาทำสิ่งซึ่งเป็นการงานอันดีแทน เพื่อเขาจะมีอะไรบางอย่างแจกให้แก่บางคนที่ขัดสน.” (เอเฟโซ 4:22-25, 28, ล.ม.) อนาคตของมนุษยชาติขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว.
หากปล่อยไว้โดยไม่มีการยับยั้งแล้ว ความโลภและการทุจริตสามารถทำลายแผ่นดินโลกได้ เหมือนกับที่เคยมีส่วนในการทำลายจักรวรรดิโรมัน. แต่น่ายินดี พระผู้สร้างของมนุษยชาติมิได้คิดจะปล่อยเรื่องนั้นไว้ตามยถากรรม. พระองค์ได้ตั้งพระทัยไว้ “ที่จะทำลายคนเหล่านั้นที่ทำลายแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 11:18, ล.ม.) และพระยะโฮวาทรงสัญญากับคนเหล่านั้นที่ปรารถนาโลกซึ่งปราศจากการทุจริตนั้นว่า ในไม่ช้าจะมี “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ . . . และซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.”—2 เปโตร 3:13, ล.ม.
จริงอยู่ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินชีวิตตามมาตรฐานที่ซื่อตรงในทุกวันนี้. ถึงอย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงรับรองกับเราว่า ในที่สุด “ผู้ที่มีความโลภเห็นแต่จะได้ย่อมนำความทุกข์มาสู่ครัวเรือนของตนเอง; แต่ผู้ที่ชังสินบนจะมีชีวิตอยู่.” * (สุภาษิต 15:27) โดยเลิกการทุจริตในขณะนี้ เราแสดงความจริงใจเมื่ออธิษฐานถึงพระเจ้าว่า “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จแล้วในสวรรค์อย่างไร ก็ขอให้สำเร็จบนแผ่นดินโลกอย่างนั้น.”—มัดธาย 6:10, ล.ม.
ขณะที่เราคอยให้ราชอาณาจักรนั้นปฏิบัติงาน เราแต่ละคนสามารถ “หว่านความชอบธรรม” โดยไม่ยอมให้กับการทุจริตหรือทำการนั้น. (โฮเซอา 10:12) หากเราทำเช่นนั้น ชีวิตของเราเช่นกันจะยืนยันถึงพลังแห่งพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ. ดาบแห่งพระวิญญาณสามารถเอาชนะการทุจริตได้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 20 ชื่อสมมุติ.
^ วรรค 28 แน่นอน มีความแตกต่างกันระหว่างสินบนกับค่าทิป. ขณะที่มีการให้สินบนเพื่อบิดเบือนความยุติธรรมหรือเพื่อจุดประสงค์ที่ไม่ซื่อตรงอื่น ๆ ค่าทิปเป็นการแสดงความขอบคุณสำหรับบริการที่ได้รับ. มีการอธิบายเรื่องนี้ใน “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) วันที่ 1 ตุลาคม 1986.
[ภาพหน้า 7]
ด้วยความช่วยเหลือของคัมภีร์ไบเบิล เราสามารถปลูกฝัง “บุคลิกภาพใหม่” และหลีกเลี่ยงการทุจริต