ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวาทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา

พระยะโฮวาทรงเป็นใหญ่กว่าใจของเรา

พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ใหญ่​กว่า​ใจ​ของ​เรา

“พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยินดี​ใน​คน​ที่​เกรง​กลัว​พระองค์” ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​เขียน​ไว้. จริง​ที​เดียว พระ​ผู้​สร้าง​ทรง​ยินดี​ใน​การ​เฝ้า​ดู​ผู้​รับใช้​ที่​เป็น​มนุษย์​แต่​ละ​คน​ขณะ​ที่​พวก​เขา​พยายาม​ยึด​มั่น​กับ​มาตรฐาน​อัน​ชอบธรรม​ของ​พระองค์. พระเจ้า​ทรง​อวย​พร​แก่​ผู้​ที่​ภักดี​ต่อ​พระองค์, หนุน​กำลังใจ​พวก​เขา, และ​ปลอบ​ประโลม​พวก​เขา​ใน​ยาม​สิ้น​หวัง. พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​ผู้​ที่​นมัสการ​พระองค์​ไม่​สมบูรณ์ พระองค์​จึง​ทรง​คาด​หมาย​จาก​พวก​เขา​อย่าง​ที่​ตรง​กับ​ความ​เป็น​จริง.—บทเพลง​สรรเสริญ 147:11.

อาจ​ไม่​ยาก​สำหรับ​เรา​ที่​จะ​เชื่อ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​ความ​รัก​อัน​แรง​กล้า​ต่อ​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​โดย​รวม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม บาง​คน​ดู​เหมือน​เป็น​ห่วง​เกี่ยว​กับ​ข้อ​อ่อนแอ​ของ​ตัว​เอง​มาก​เกิน​ไป​ถึง​ขนาด​ที่​เขา​เชื่อ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​มี​วัน​รัก​เขา. เขา​อาจ​สรุป​ว่า “ฉัน​ไม่​สมบูรณ์​เกิน​กว่า​ที่​พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​รัก​ฉัน.” แน่​ละ เรา​ทุก​คน​มี​ความ​รู้สึก​ใน​แง่​ลบ​เป็น​ครั้ง​คราว. แต่​บาง​คน​ดู​เหมือน​ต่อ​สู้​กับ​ความ​รู้สึก​ที่​ว่า​ตัว​เอง​ไร้​ค่า​อยู่​เรื่อย​ไป.

ความ​รู้สึก​เศร้า​หมอง

ใน​สมัย​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล ผู้​ซื่อ​สัตย์​หลาย​คน​ประสบ​กับ​ความ​รู้สึก​เศร้า​หมอง​อย่าง​รุนแรง. โยบ​เกลียด​ชีวิต​และ​คิดว่า​พระเจ้า​ทรง​ทอดทิ้ง​ท่าน. นาง​ฮันนา ซึ่ง​ภาย​หลัง​กลาย​เป็น​มารดา​ของ​ซามูเอล ครั้ง​หนึ่ง​เคย​เศร้า​หมอง​เกี่ยว​กับ​การ​ที่​เธอ​ไม่​มี​บุตร​และ​ร้องไห้​อย่าง​ขมขื่น. ดาวิด​เคย “ค้อม​ตัว​ต่ำ​ที่​สุด” และ​เอปาฟะโรดีโต​เป็น​ทุกข์​เนื่อง​จาก​ข่าว​เกี่ยว​กับ​ความ​เจ็บ​ป่วย​ของ​ท่าน​ทำ​ให้​พี่​น้อง​ของ​ท่าน​โศก​เศร้า.—บทเพลง​สรรเสริญ 38:6, ล.ม.; 1 ซามูเอล 1:7, 10; โยบ 29:2, 4, 5; ฟิลิปปอย 2:25, 26.

คริสเตียน​ใน​สมัย​นี้​ล่ะ? บาง​ที​ความ​เจ็บ​ป่วย, อายุ​ที่​มาก​ขึ้น, หรือ​สภาพการณ์​ส่วน​ตัว​อื่น ๆ ทำ​ให้​บาง​คน​ไม่​อาจ​ทำ​ได้​มาก​เท่า​ที่​เขา​อยาก​จะ​ทำ​ใน​งาน​รับใช้​ศักดิ์สิทธิ์. ทั้ง​นี้​อาจ​ทำ​ให้​เขา​สรุป​ว่า เขา​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​และ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ผิด​หวัง. หรือ​บาง​คน​อาจ​โทษ​ตัว​เอง​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก​เกี่ยว​กับ​ความ​ผิด​พลาด​ใน​อดีต และ​สงสัย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อภัย​หรือ​ไม่. บาง​ที คน​อื่น​ซึ่ง​มี​ภูมิหลัง​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ปัญหา​อาจ​เชื่อ​ว่า​เขา​ไม่​มี​ค่า​พอ​จะ​เป็น​ที่​รัก. เรื่อง​นี้​เป็น​ไป​ได้​อย่าง​ไร?

บาง​คน​เติบโต​มา​ใน​ครอบครัว​ที่​ความ​รัก​ไม่​ใช่​น้ำใจ​ที่​เด่น​แต่​เป็น​ความ​เห็น​แก่​ตัว, คำ​พูด​ถากถาง, และ​ความ​กลัว. พวก​เขา​อาจ​ไม่​มี​วัน​รู้​จัก​บิดา​ที่​รัก​เขา​อย่าง​ลึกซึ้ง ผู้​ซึ่ง​มอง​หา​โอกาส​จะ​ชมเชย​และ​หนุน​กำลังใจ ผู้​ซึ่ง​มอง​ข้าม​ความ​ผิด​พลาด​เล็ก ๆ น้อย ๆ และ​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​กระทั่ง​ความ​ผิด​ที่​ร้ายแรง​กว่า และ​มี​ความ​อบอุ่น​ที่​ทำ​ให้​ทั้ง​ครอบครัว​รู้สึก​มั่นคง. เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ไม่​เคย​มี​บิดา​ที่​เป็น​มนุษย์​ซึ่ง​แสดง​ความ​รัก พวก​เขา​อาจ​พบ​ว่า​ยาก​ที่​จะ​เข้าใจ​ว่า การ​มี​บิดา​ทาง​ภาค​สวรรค์​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​นั้น​หมายความ​อย่าง​ไร.

ตัว​อย่าง​เช่น ฟริตซ์ เขียน​ว่า “ช่วง​วัย​เด็ก​และ​วัยรุ่น​ของ​ผม​ได้​รับ​อิทธิพล​อย่าง​มาก​จาก​ลักษณะ​ที่​ขาด​ความ​รัก​ของ​พ่อ. * เขา​ไม่​เคย​กล่าว​คำ​ชม และ​ผม​ไม่​เคย​รู้สึก​ใกล้​ชิด​กับ​พ่อ. ที่​จริง เวลา​ส่วน​ใหญ่​ผม​กลัว​พ่อ.” ผล​ก็​คือ ฟริตซ์ ซึ่ง​ปัจจุบัน​มี​อายุ 50 กว่า​ปี​แล้ว ยัง​คง​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ขาด​คุณสมบัติ. และ​มาร์กาเรตเต อธิบาย​ว่า “พ่อ​แม่​ของ​ดิฉัน​เป็น​คน​เย็นชา​และ​ไม่​แสดง​ความ​รัก. เมื่อ​ดิฉัน​เริ่ม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล ดิฉัน​แทบ​จะ​นึก​ภาพ​ไม่​ออก​ว่า​บิดา​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​เป็น​อย่าง​ไร.”

ความ​รู้สึก​แบบ​นี้ ไม่​ว่า​เกิด​จาก​อะไร อาจ​หมายความ​ว่า บาง​ครั้ง​การ​ที่​เรา​รับใช้​พระเจ้า​ไม่​ได้​ถูก​กระตุ้น​ด้วย​ความ​รัก​เป็น​อันดับ​แรก แต่​ถูก​กระตุ้น​ด้วย​ความ​รู้สึก​ผิด​หรือ​ความ​กลัว​เสีย​ส่วน​ใหญ่. ความ​พยายาม​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​เรา​ดู​เหมือน​ไม่​เคย​ดี​พอ. ความ​ปรารถนา​จะ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พอ​พระทัย​และ​ทำ​ให้​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ชอบ​ใจ​อาจ​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​ว่า​เรา​ไม่​สามารถ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ที่​เรา​อยาก​จะ​ทำ. ผล​ก็​คือ เรา​อาจ​ไม่​บรรลุ​เป้าหมาย​ของ​เรา โทษ​ตัว​เอง แล้ว​หมด​กำลังใจ.

จะ​ทำ​อะไร​ได้? บาง​ที​เรา​ต้อง​เตือน​ใจ​ตัว​เอง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​พระทัย​กว้าง​สัก​เพียง​ไร. คน​ที่​เข้าใจ​บุคลิกภาพ​ของ​พระเจ้า​ใน​แง่​มุม​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​นี้​คือ​อัครสาวก​โยฮัน.

‘พระเจ้า​ทรง​เป็น​ใหญ่​กว่า​ใจ​ของ​เรา’

ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​หนึ่ง​สากล​ศักราช โยฮัน​เขียน​ถึง​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น​เรา​จึง​รู้​ว่า​เรา​อยู่​ฝ่าย​ความ​จริง, และ​จะ​ได้​ตั้งใจ​ของ​เรา​ให้​แน่วแน่​จำเพาะ​พระองค์. เพราะ​ถึง​แม้​ว่า​ใจ​ของ​เรา​เอง​ปรับ​โทษ​ตัว​เรา, พระเจ้า​ก็​ยัง​ทรง​เป็น​ใหญ่​กว่า​ใจ​ของ​เรา, และ​ยัง​ทรง​ทราบ​สารพัตร​ทุก​สิ่ง.” ทำไม​โยฮัน​เขียน​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้?—1 โยฮัน 3:19, 20.

เห็น​ได้​ชัด โยฮัน​รู้​ว่า​เป็น​ไป​ได้​ที่​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​จะ​รู้สึก​ถูก​ตำหนิ​อยู่​ใน​หัวใจ. บาง​ที​โยฮัน​เอง​เคย​ประสบ​กับ​ความ​รู้สึก​เช่น​นั้น. ตอน​ที่​ท่าน​เป็น​คน​หนุ่ม​อารมณ์​ร้อน โยฮัน​ถูก​ว่า​กล่าว​โดย​พระ​เยซู​คริสต์​เพราะ​ท่าน​ตำหนิ​คน​อื่น​อย่าง​รุนแรง. ที่​จริง พระ​เยซู​ทรง​ตั้ง​ฉายา​ให้​โยฮัน​กับ​ยาโกโบ​พี่​ชาย​ของ​ท่าน​ว่า “โบอะเนระเฆ​แปล​ว่า​ลูก​ฟ้า​ร้อง.”—มาระโก 3:17; ลูกา 9:49-56.

ใน​ช่วง 60 ปี​ถัด​มา โยฮัน​สุขุม​ขึ้น​และ​กลาย​เป็น​คริสเตียน​ที่​สมดุล, มี​ความ​รัก, และ​เมตตา. ท่าน​เป็น​อัครสาวก​คน​สุด​ท้าย​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่ และ​พอ​ถึง​ตอน​ที่​ท่าน​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ ท่าน​ทราบ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทรง​ถือ​ว่า​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ต้อง​ให้​การ​สำหรับ​ความ​ผิด​พลาด​เล็ก ๆ น้อย ๆ ทุก​อย่าง. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พระองค์​ทรง​เป็น​พระ​บิดา​ที่​มี​ความ​อบอุ่น, พระทัย​กว้าง, เผื่อแผ่, และ​เมตตา​สงสาร ผู้​ทรง​มี​ความ​รัก​อัน​ลึกซึ้ง​ต่อ​ทุก​คน​ที่​รัก​พระองค์​และ​นมัสการ​พระองค์​ด้วย​ความ​จริง. โยฮัน​เขียน​ว่า “พระเจ้า​ทรง​เป็น​ความ​รัก.”—1 โยฮัน 4:8.

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยินดี​ที่​เรา​รับใช้​พระองค์

พระเจ้า​ทรง​ทราบ​ถึง​ข้อ​อ่อนแอ​และ​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​เรา​ที่​มี​มา​ตั้ง​แต่​เกิด และ​พระองค์​ทรง​คำนึง​ถึง​เรื่อง​นี้. ดาวิด​เขียน​ว่า “พระองค์​ทรง​ทราบ​ร่าง​กาย​ของ​พวก​ข้าพเจ้า​แล้ว; พระองค์​ทรง​ระลึก​อยู่​ว่า​พวก​ข้าพเจ้า​เป็น​แต่​ผงคลี​ดิน.” พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตระหนัก​ว่า​ภูมิหลัง​ของ​เรา​มี​ผล​กระทบ​ต่อตัว​เรา​ขนาด​ไหน. ที่​จริง พระองค์​ทรง​รู้​จัก​เรา​ดี​กว่า​ที่​เรา​รู้​จัก​ตัว​เรา​เอง​มาก​นัก.—บทเพลง​สรรเสริญ 103:14.

พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​เรา​หลาย​คน​ต้องการ​จะ​เปลี่ยน​แปลง​ตัว​เอง แต่​เรา​ก็​ไม่​สามารถ​จะ​เอา​ชนะ​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​เรา​ได้. สภาพการณ์​ของ​เรา​เทียบ​ได้​กับ​สภาพการณ์​ของ​อัครสาวก​เปาโล ผู้​ซึ่ง​เขียน​ว่า “สิ่ง​ดี​ที่​ข้าพเจ้า​ปรารถนา​ข้าพเจ้า​มิ​ได้​ทำ แต่​สิ่ง​ไม่​ดี​ที่​ข้าพเจ้า​ไม่​ปรารถนา​กลับ​เป็น​สิ่ง​ที่​ข้าพเจ้า​ทำ​อยู่.” เรา​ทุก​คน​ก็​ต่อ​สู้​ใน​แบบ​เดียว​กัน. ใน​บาง​กรณี นี่​อาจ​ยัง​ผล​ให้​เรา​มี​หัวใจ​ที่​ตำหนิ​ตัว​เอง.—โรม 7:19, ล.ม.

ขอ​ให้​จำ​เรื่อง​นี้​ไว้​เสมอ: พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​เรา​อย่าง​ไร​นั้น​สำคัญ​กว่า​เรา​มอง​ตัว​เรา​เอง​อย่าง​ไร. เมื่อ​ใด​ที่​พระองค์​ทรง​เห็น​เรา​พยายาม​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​พระทัย พระองค์​ไม่​ได้​แสดง​ความ​พอ​พระทัย​เพียง​เล็ก​น้อย​เท่า​นั้น แต่​ทรง​ยินดี​มาก. (สุภาษิต 27:11) ถึง​แม้​สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​ได้​อาจ​ดู​เหมือน​มี​ค่อนข้าง​น้อย​ใน​สายตา​ของ​เรา​เอง แต่​ความ​เต็ม​ใจ​และ​แรง​จูง​ใจ​ที่​ดี​ของ​เรา​ทำ​ให้​พระองค์​ทรง​ชื่นชม​ยินดี. พระองค์​ทรง​มอง​ลึก​กว่า​สิ่ง​ที่​เรา​ได้​ทำ พระองค์​ทรง​เห็น​สิ่ง​ที่​เรา​ต้องการ จะ​ทำ; พระองค์​ทรง​ตระหนัก​ถึง​ความ​ต้องการ​และ​ความ​ปรารถนา​ของ​เรา. พระ​ยะโฮวา​ทรง​สามารถ​อ่าน​หัวใจ​ของ​เรา​ได้.—ยิระมะยา 12:3; 17:10.

ตัว​อย่าง​เช่น พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​คน​เป็น​คน​เหนียม​อาย​และ​ไม่​กล้า​พูด คือ​เป็น​คน​ที่​ไม่​อยาก​เป็น​เป้า​สายตา. สำหรับ​คน​เหล่า​นี้ การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ตาม​บ้าน​อาจ​เป็น​ข้อ​ท้าทาย​ที่​น่า​หวาด​หวั่น. กระนั้น โดย​ถูก​กระตุ้น​จาก​ความ​ปรารถนา​จะ​รับใช้​พระเจ้า​และ​ช่วย​เพื่อน​บ้าน​ของ​ตน แม้​แต่​คน​ที่​เหนียม​อาย​ก็​เรียน​รู้​วิธี​ที่​จะ​เข้า​ใกล้​เพื่อน​บ้าน​และ​พูด​คุย​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล. พวก​เขา​อาจ​รู้สึก​ว่า​ตน​ประสบ​ความ​สำเร็จ​น้อย และ​ความ​รู้สึก​นี้​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ขาด​ความ​ยินดี. หัวใจ​ของ​พวก​เขา​อาจ​คิด​ว่า​งาน​เผยแพร่​ของ​ตน​ตาม​บ้าน​ไม่​คุ้มค่า. แต่​แน่นอน พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชื่นชม​ความ​พยายาม​ที่​คน​เหล่า​นั้น​ทุ่มเท​เพื่อ​งาน​รับใช้. ยิ่ง​กว่า​นั้น พวก​เขา​ไม่​อาจ​แน่​ใจ​ได้​ว่า​เมื่อ​ไร​และ​ที่​ไหน​ที่​เมล็ด​แห่ง​ความ​จริง​ซึ่ง​หว่าน​ไป​จะ​งอก​ขึ้น​มา เติบโต, และ​เกิด​ผล.—ท่าน​ผู้​ประกาศ 11:6; มาระโก 12:41-44; 2 โกรินโธ 8:12.

พยาน​ฯ คน​อื่น ๆ ทน​กับ​ความ​เจ็บ​ป่วย​เรื้อรัง​หรือ​มี​อายุ​มาก​ขึ้น. สำหรับ​เขา​แล้ว การ​เข้า​ร่วม​ประชุม​เป็น​ประจำ​ที่​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​อาจ​ก่อ​ความ​เจ็บ​ปวด​และ​ความ​กังวล​ใจ. การ​ฟัง​คำ​บรรยาย​เกี่ยว​กับ​งาน​ประกาศ​อาจ​เตือน​เขา​ให้​ระลึก​ถึง​สิ่ง​ที่​เขา​เคย​ทำ​และ​ยัง​อยาก​ทำ​อยู่ แม้​ว่า​ร่าง​กาย​ที่​อ่อนแอ​ขัด​ขวาง​เขา​ไว้. คน​เหล่า​นั้น​อาจ​ถูก​ทิ่ม​แทง​ด้วย​ความ​รู้สึก​ผิด​ที่​พวก​เขา​ไม่​สามารถ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​มาก​เท่า​ที่​อยาก​ทำ. กระนั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​หยั่ง​รู้​ค่า​ความ​ภักดี​และ​ความ​อด​ทน​ของ​เขา​เป็น​แน่. ตราบ​ที่​พวก​เขา​รักษา​ความ​ภักดี​ไว้ พระองค์​จะ​ไม่​ทรง​ลืม​ความ​ซื่อ​สัตย์​ของ​พวก​เขา​เลย.—บทเพลง​สรรเสริญ 18:25; 37:28.

“ทำ​ให้​หัวใจ​ของ​เรา​มั่นคง”

เมื่อ​โยฮัน​ถึง​วัย​ชรา ท่าน​คง​ต้อง​เข้าใจ​มาก​เกี่ยว​กับ​พระทัย​อัน​กว้างขวาง​ของ​พระเจ้า. จำ​ไว้​ว่า​ท่าน​เขียน​ว่า “พระเจ้า​ก็​ยัง​ทรง​เป็น​ใหญ่​กว่า​ใจ​ของ​เรา, และ​ยัง​ทรง​ทราบ​สารพัตร​ทุก​สิ่ง.” นอก​จาก​นั้น โยฮัน​สนับสนุน​ให้​เรา “ตั้งใจ​ของ​เรา​ให้​แน่วแน่ [“ทำ​ให้​หัวใจ​ของ​เรา​มั่นคง,” ล.ม.].” โยฮัน​หมายความ​ว่า​อย่าง​ไร?

ตาม​พจนานุกรม​อธิบาย​ศัพท์​พันธสัญญา​เดิม​และ​ใหม่​ของ​ไวน์ (ภาษา​อังกฤษ) คำ​กริยา​ภาษา​กรีก​ที่​มี​การ​แปล​ว่า “ทำ​ให้ . . . มั่นคง” หมายความ​ว่า “โน้ม​น้าว, เกลี้ยกล่อม.” พูด​อีก​อย่าง​หนึ่ง ที่​จะ​ทำ​ให้​หัวใจ​ของ​เรา​มั่นคง เรา​ต้อง​เกลี้ยกล่อม​ใจ​ของ​เรา โน้ม​น้าว​ใจ​ของ​เรา​ให้​เชื่อ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​เรา. จะ​ทำ​เช่น​นั้น​โดย​วิธี​ใด?

ฟริตซ์ ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​ใน​บทความ​นี้ ได้​รับใช้​เป็น​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​แห่ง​หนึ่ง​เป็น​เวลา 25 ปี​แล้ว; เขา​พบ​ว่า​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​ทำ​ให้​เขา​มั่น​ใจ​ใน​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา. “ผม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​สรรพหนังสือ​ของ​เรา​เป็น​ประจำ​และ​ถี่ถ้วน. การ​ทำ​เช่น​นี้​ช่วย​ผม​ไม่​ให้​หมกมุ่น​อยู่​กับ​อดีต แต่​ช่วย​รักษา​การ​มอง​เห็น​อนาคต​อัน​ยอด​เยี่ยม​ให้​แจ่ม​ชัด​เสมอ. บาง​ครั้ง​บาง​คราว อดีต​เข้า​มา​ครอบ​งำ​ความ​คิด​ของ​ผม และ​ผม​รู้สึก​ว่า​พระเจ้า​ไม่​มี​วัน​รัก​ผม. แต่​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว ผม​พบ​ว่า​การ​ศึกษา​เป็น​ประจำ​เสริม​กำลัง​ให้​หัวใจ​ของ​ผม เพิ่ม​ความ​เชื่อ และ​ช่วย​ให้​รักษา​ความ​ยินดี​และ​ความ​สมดุล.”

จริง​อยู่ การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​การ​คิด​รำพึง​อาจ​ไม่​เปลี่ยน​สภาพการณ์​จริง ๆ ของ​เรา. กระนั้น นั่น​อาจ​เปลี่ยน​วิธี​ที่​เรา​มอง​สภาพการณ์​ของ​เรา. การ​นำ​แนว​คิด​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เข้า​มา​สู่​หัวใจ​ของ​เรา​ช่วย​ให้​เรา​คิด​เหมือน​พระองค์. อีก​ประการ​หนึ่ง การ​ศึกษา​ช่วย​เรา​ให้​เข้าใจ​มาก​ขึ้น​ใน​เรื่อง​ความ​มี​พระทัย​กว้างขวาง​ของ​พระเจ้า. เรา​อาจ​ค่อย ๆ ยอม​รับ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทรง​ถือ​โทษ​เรา​เนื่อง​จาก​สภาพ​แวด​ล้อม​ใน​วัย​เด็ก และ​พระองค์​ไม่​ทรง​ตำหนิ​เรา​สำหรับ​ความ​อ่อนแอ​ทาง​ร่าง​กาย​ของ​เรา. พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​ภาระ​ที่​เรา​หลาย​คน​แบก​รับ​อยู่—ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ทาง​อารมณ์​หรือ​ทาง​ร่าง​กาย—บ่อย​ครั้ง​ไม่​ได้​เกิด​จาก​เรา​เอง และ​พระองค์​ทรง​คำนึง​ถึง​เรื่อง​นี้​ด้วย​ความ​รัก.

มาร์กาเรตเต ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​เป็น​อย่าง​ไร​บ้าง? เมื่อ​เธอ​ได้​มา​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​เธอ​เช่น​กัน. เช่น​เดียว​กับ​ฟริตซ์ เธอ​ต้อง​เปลี่ยน​ภาพ​ลักษณ์​ของ​เธอ​ที่​มี​ต่อ​บิดา​เสีย​ใหม่. การ​อธิษฐาน​ช่วย​มาร์กาเรตเต​ให้​รวบ​รวม​สิ่ง​ที่​เธอ​ได้​เรียน​รู้​จาก​การ​ศึกษา​เข้า​ด้วย​กัน. มาร์กาเรตเต​กล่าว​ว่า “เพื่อ​จะ​เริ่ม​ต้น ดิฉัน​นึก​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฐานะ​เพื่อน​สนิท เนื่อง​จาก​ดิฉัน​มี​ประสบการณ์​กับ​เพื่อน​ที่​มี​ความ​รัก​มาก​กว่า​กับ​คุณ​พ่อ​ที่​มี​ความ​รัก. แล้ว​อย่าง​ค่อย​เป็น​ค่อย​ไป ดิฉัน​เรียน​รู้​ที่​จะ​ระบาย​ความ​รู้สึก, ความ​สงสัย, ความ​กังวล, และ​ปัญหา​ต่าง ๆ ต่อ​พระ​ยะโฮวา. ดิฉัน​พูด​คุย​กับ​พระองค์​โดย​การ​อธิษฐาน​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​เล่า ใน​เวลา​เดียว​กัน​ก็​นำ​สิ่ง​ใหม่ ๆ ที่​ดิฉัน​ได้​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระองค์​มา​ประกอบ​กัน เหมือน​ภาพ​โมเสก. เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​ระยะ​หนึ่ง ความ​รู้สึก​ของ​ดิฉัน​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​พัฒนา​ขึ้น​ถึง​ขนาด​ที่​ตอน​นี้​ดิฉัน​แทบ​จะ​ไม่​มี​ปัญหา​ใน​การ​นึก​ถึง​พระองค์​ใน​ฐานะ​พระ​บิดา​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก.”

ปลด​ปล่อย​จาก​ความ​กังวล​ทุก​อย่าง

ตราบ​ใด​ที่​ระบบ​เก่า​อัน​ชั่ว​ช้า​นี้​ยัง​คง​อยู่ ไม่​มี​ใคร​หวัง​ได้​ว่า​จะ​ปราศจาก​ความ​กังวล. สำหรับ​คริสเตียน​บาง​คน นี่​หมายความ​ว่า​ความ​รู้สึก​กังวล​หรือ​ความ​สงสัย​ใน​ตัว​เอง​อาจ​เกิด​ขึ้น​อีก​และ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​ทุกข์​ใจ. แต่​เรา​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทราบ​เจตนา​ดี​ของ​เรา​และ​งาน​หนัก​ที่​เรา​ทำ​ใน​การ​รับใช้. พระองค์​จะ​ไม่​มี​วัน​ลืม​ความ​รัก​ที่​เรา​แสดง​ต่อ​พระ​นาม​ของ​พระองค์​เลย.—เฮ็บราย 6:10.

ขณะ​ที่​แผ่นดิน​โลก​ใหม่​ภาย​ใต้​ราชอาณาจักร​มาซีฮา​คืบ​ใกล้​เข้า​มา มนุษย์​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ทุก​คน​คาด​หมาย​ได้​ว่า​จะ​ถูก​ปลด​ปล่อย​จาก​ภาระ​ต่าง ๆ แห่ง​ระบบ​ของ​ซาตาน. นั่น​จะ​เป็น​การ​ปลด​เปลื้อง​อย่าง​แท้​จริง! ตอน​นั้น เรา​จะ​เห็น​หลักฐาน​มาก​ขึ้น​ด้วย​ซ้ำ​ว่า พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​พระทัย​กว้าง​มาก​สัก​เพียง​ไร. กว่า​จะ​ถึง​ตอน​นั้น ขอ​ให้​เรา​มั่น​ใจ​ว่า “พระเจ้า​ก็​ยัง​ทรง​เป็น​ใหญ่​กว่า​ใจ​ของ​เรา, และ​ยัง​ทรง​ทราบ​สารพัตร​ทุก​สิ่ง.”—1 โยฮัน 3:20.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 ชื่อ​ต่าง ๆ เป็น​นาม​สมมุติ

[ภาพ​หน้า 30]

พระ​ยะโฮวา ไม่​ทรง​เป็น​ผู้​เผด็จการ​ที่​โหด​ร้าย แต่​ทรง​เป็น​พระ​บิดา​ที่​มี​ความ​อบอุ่น, พระทัย​กว้าง, และ​เมตตา​สงสาร

[ภาพ​หน้า 31]

การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ช่วย​เรา​ให้​คิด​เหมือน​พระองค์