ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ได้รับการช่วยเหลือให้เอาชนะความอาย

ได้รับการช่วยเหลือให้เอาชนะความอาย

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ​ให้​เอา​ชนะ​ความ​อาย

เล่า​โดย​รูท แอล. อัล​ริก

ดิฉัน​ร้องไห้​ออก​มา​ที่​บันได​หน้า​ประตู​บ้าน​ของ​นัก​เทศน์. เขา​เพิ่ง​จะ​พูด​ฉอด ๆ กล่าวหา​อย่าง​ผิด ๆ โจมตี​ชาลส์ ที. รัสเซลล์ ซึ่ง​รับใช้​ฐานะ​เป็น​นายก​คน​แรก​ของ​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์. ขอ​ให้​ดิฉัน​อธิบาย​ว่า ขณะ​ที่​เป็น​เพียง​เด็ก​สาว ดิฉัน​ทำ​การ​เยี่ยม​ผู้​คน​แบบ​นั้น​ได้​อย่าง​ไร.

ดิฉัน​เกิด​ใน​ครอบครัว​ที่​เคร่ง​ศาสนา​มาก ณ ฟาร์ม​แห่ง​หนึ่ง​ใน​รัฐ​เนแบรสกา ประเทศ​สหรัฐ​อเมริกา เมื่อ​ปี 1910. ครอบครัว​ของ​เรา​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย​กัน​ทุก​เช้า​และ​ทุก​เย็น​หลัง​จาก​รับประทาน​อาหาร. คุณ​พ่อ​เป็น​ผู้​อำนวย​การ​โรง​เรียน​รวีวารศึกษา​ของ​คริสตจักร​เมโทดิสต์​ใน​วินไซด์ เมือง​เล็ก ๆ ห่าง​จาก​ฟาร์ม​ของ​เรา​ประมาณ 6 กิโลเมตร. เรา​มี​รถ​ม้า​คัน​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ม่าน​คลุม​หน้าต่าง เพื่อ​เรา​จะ​เข้า​ร่วม​ที่​โบสถ์​ตอน​เช้า​วัน​อาทิตย์​ได้ ไม่​ว่า​อากาศ​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ก็​ตาม.

เมื่อ​ดิฉัน​อายุ​ประมาณ​แปด​ขวบ น้อง​ชาย​ตัว​น้อย ๆ ของ​ดิฉัน​ป่วย​ด้วย​โรค​โปลิโอ​ใน​วัย​ทารก และ​คุณ​แม่​พา​น้อง​ไป​รักษา​ที่​สถาน​บำบัด​ใน​รัฐ​ไอโอวา. ทั้ง ๆ ที่​ท่าน​ทุ่มเท​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​น้อง​ก็​ตาม น้อง​ได้​เสีย​ชีวิต​ระหว่าง​อยู่​ที่​นั่น. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​ระหว่าง​ช่วง​เวลา​นั้น ตอน​อยู่​ที่​รัฐ​ไอโอวา คุณ​แม่​ได้​พบ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ตอน​นั้น. คุณ​แม่​ได้​สนทนา​กับ​เขา​หลาย​เรื่อง และ​คุณ​แม่​ถึง​กับ​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​บาง​รายการ​ของ​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​สุภาพสตรี​คน​นั้น.

เมื่อ​คุณ​แม่​กลับ​บ้าน ท่าน​เอา​ชุด​หนังสือ​คู่มือ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ (ภาษา​อังกฤษ) หลาย​เล่ม​ติด​ตัว​มา​ด้วย ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์. ใน​ไม่​ช้า ท่าน​ก็​มั่น​ใจ​ว่า​พวก​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​ความ​จริง และ​คำ​สอน​เรื่อง​สภาพ​อมตะ​ของ​จิตวิญญาณ​มนุษย์​และ​การ​ทรมาน​คน​ชั่ว​ตลอด​กาล​นั้น​ไม่​จริง.—เยเนซิศ 2:7; ท่าน​ผู้​ประกาศ 9:5, 10; ยะเอศเคล 18:4.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คุณ​พ่อ​หัวเสีย​มาก และ​ท่าน​ต่อ​ต้าน​ความพยายาม​ของ​คุณ​แม่​ที่​จะ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ของ​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล. ท่าน​พา​ดิฉัน​กับ​แคลเรนซ์ พี่​ชาย​ของ​ดิฉัน​ไป​โบสถ์​กับ​ท่าน​เสมอ. แต่​เมื่อ​คุณ​พ่อ​ไม่​อยู่​บ้าน คุณ​แม่​ก็​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​พวก​เรา. ผล​ก็​คือ พวก​เรา​ซึ่ง​เป็น​เด็ก​มี​โอกาส​ดี​ที่​จะ​เปรียบ​เทียบ​คำ​สอน​ของ​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​คำ​สอน​ที่​โบสถ์​ของ​เรา.

ดิฉัน​กับ​แคลเรนซ์​ได้​เข้า​ร่วม​โรง​เรียน​รวีวารศึกษา​ที่​โบสถ์​เป็น​ประจำ และ​เขา​ถาม​คำ​ถาม​ครู​หลาย​ข้อ​ซึ่ง​เธอ​ตอบ​ไม่​ได้. เมื่อ​เรา​มา​ถึง​บ้าน เรา​เล่า​ให้​คุณ​แม่​ฟัง และ​นี่​นำ​ไป​สู่​การ​ถก​กัน​ยืด​ยาว​ใน​หัวเรื่อง​เหล่า​นี้. ใน​ที่​สุด ดิฉัน​เลิก​ไป​โบสถ์​แล้ว​เริ่ม​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ของ​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​คุณ​แม่ และ​ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น แคลเรนซ์​ก็​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน.

การ​รับมือ​กับ​ความ​อาย

ใน​เดือน​กันยายน 1922 คุณ​แม่​กับ​ดิฉัน​ได้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​ยาก​จะ​ลืม​เลือน​ได้​ของ​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​เมือง​ซีดาร์พอยต์ รัฐ​โอไฮโอ. ดิฉัน​ยัง​คง​จำ​ภาพ​ผืน​ผ้า​ขนาด​มหึมา​คลี่​ออก​ได้​ติด​ตา​ขณะ​ที่​โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด นายก​ของ​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ใน​ตอน​นั้น กระตุ้น​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​มาก​กว่า 18,000 คน ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​อยู่​บน​ผืน​ผ้า​นั้น​ที่​ว่า “จง​โฆษณา​พระ​มหา​กษัตริย์​และ​ราชอาณาจักร.” ดิฉัน​รู้สึก​ตื้นตัน​ใจ​เหลือ​เกิน​และ​สำนึก​ถึง​ความ​เร่ง​ด่วน​ที่​จะ​บอก​คน​อื่น​เกี่ยว​กับ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.—มัดธาย 6:9, 10; 24:14.

ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​จัด​ขึ้น​ตั้ง​แต่​ปี 1922 ถึง​ปี 1928 ได้​มี​การ​ยอม​รับ​มติ​ที่​ออก​มา​เป็น​ชุด ๆ และ​เนื้อหา​ของ​มติ​นั้น​ได้​รับ​การ​รวบ​รวม​ไว้​ใน​แผ่น​พับ​ที่​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​แจก​จ่าย​ไป​หลาย​สิบ​ล้าน​แผ่น​แก่​ประชาชน​ตลอด​ทั่ว​โลก. ดิฉัน​เป็น​คน​ผอม​สูง—พวก​เขา​เรียก​ดิฉัน​ว่า​เกรเฮานด์ (สุนัข​วิ่ง​แข่ง)—และ​ดิฉัน​วิ่ง​จาก​บ้าน​หนึ่ง​ไป​ยัง​อีก​บ้าน​หนึ่ง​เพื่อ​แจก​จ่าย​ข่าวสาร​ที่​ได้​รับ​การ​พิมพ์​นี้. ดิฉัน​ชอบ​งาน​นี้​จริง ๆ. กระนั้น การ​พูด​คุย​ที่​หน้า​ประตู​บ้าน บอก​คน​อื่น​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ด้วย​ตัว​เอง​นั้น​เป็น​คน​ละ​เรื่อง​กัน.

ดิฉัน​เป็น​คน​ขี้อาย​จน​ถึง​กับ​หวาด​กลัว​ด้วย​ซ้ำ​เมื่อ​คุณ​แม่​เชิญ​ญาติ​กลุ่ม​ใหญ่​มา​ที่​บ้าน​ทุก​ปี. ดิฉัน​หาย​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​นอน​แล้ว​ไม่​ออก​มา. ครั้ง​หนึ่ง คุณ​แม่​ต้องการ​ถ่าย​รูป​ของ​ทั้ง​ครอบครัว และ​ท่าน​เรียก​ดิฉัน​ออก​มา. เพราะ​ไม่​ต้องการ​ร่วม​กับ​พวก​เขา ดิฉัน​ร้อง​กรี๊ด​ขณะ​ที่​แม่​ลาก​ตัว​ดิฉัน​ออก​มา​จาก​ห้อง.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม วัน​นั้น​ก็​มา​ถึง​เมื่อ​ดิฉัน​เอา​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​บาง​เล่ม​ใส่​ใน​กระเป๋า​ด้วย​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่. ดิฉัน​พูด​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ว่า “ฉัน​ทำ​ไม่​ได้​หรอก” แต่​อีก​สัก​ครู่​ดิฉัน​ก็​บอก​ตัว​เอง​ว่า “ฉัน​ต้อง​ทำ​ให้​ได้.” ใน​ที่​สุด ดิฉัน​ก็​ไป​ประกาศ. ภาย​หลัง ดิฉัน​มี​ความ​สุข​มาก​ที่​ได้​รวบ​รวม​ความ​กล้า​ที่​จะ​ออก​ไป. ความ​ยินดี​ใหญ่​หลวง​ของ​ดิฉัน แท้​จริง​แล้ว​ไม่​ใช่​ขณะ​ที่​ทำ​งาน​นั้น แต่​เมื่อ​ได้​ทำ​งาน​นั้น​ให้​เสร็จ. ประมาณ​ช่วง​นั้น​แหละ​ที่​ดิฉัน​พบ​นัก​เทศน์​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​ตอน​ต้น​แล้ว​ก็​เดิน​ร้องไห้​ออก​มา. ขณะ​ที่​เวลา​ผ่าน​ไป พร้อม​ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา ดิฉัน​สามารถ​พูด​คุย​กับ​ประชาชน​ที่​หน้า​ประตู​บ้าน​ของ​เขา และ​ความ​ยินดี​ของ​ดิฉัน​เพิ่ม​ขึ้น. ครั้น​แล้ว ใน​ปี 1925 ดิฉัน​ได้​แสดง​สัญลักษณ์​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​รับ​บัพติสมา​ใน​น้ำ.

เริ่ม​ต้น​งาน​เผยแพร่​เต็ม​เวลา

ตอน​อายุ 18 ปี ดิฉัน​ซื้อ​รถยนต์​คัน​หนึ่ง​ด้วย​เงิน​ที่​ได้​รับ​มรดก​จาก​คุณ​ป้า แล้ว​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์ ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​งาน​เผยแพร่​เต็ม​เวลา. สอง​ปี​ต่อ​มา ใน​ปี 1930 ดิฉัน​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ได้​รับ​เขต​มอบหมาย​งาน​ประกาศ. ถึง​ตอน​นั้น​แคลเรนซ์​ได้​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์​ด้วย. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​เขา​ตอบรับ​คำ​เชิญ​ให้​ไป​รับใช้​ที่​เบเธล สำนักงาน​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​บรุกลิน นิวยอร์ก.

ราว ๆ ช่วง​นั้น​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ของ​เรา​ได้​แยก​กัน​อยู่ ดัง​นั้น คุณ​แม่​กับ​ดิฉัน​ได้​สร้าง​บ้าน​รถ​พ่วง​ขึ้น​แล้ว​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์​ด้วย​กัน. ประมาณ​ช่วง​นั้น​ภาวะ​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ​ครั้ง​ใหญ่​ได้​เกิด​ขึ้น​ใน​สหรัฐ. ที่​จะ​อยู่​ต่อ​ไป​ใน​งาน​ไพโอเนียร์​กลาย​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​ที​เดียว แต่​เรา​ได้​ตั้งใจ​ที่​จะ​ไม่​เลิก​รา. เรา​เอา​สรรพหนังสือ​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​แลก​กับ​ไก่, ไข่, และ​ผลิตผล​จาก​สวน อีก​ทั้ง​ของ​ต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่​เก่า ๆ และ​อะลูมิเนียม​ที่​ทิ้ง​แล้ว. สอง​อย่าง​หลัง​นี้​เรา​ขาย​เพื่อ​ได้​เงิน​ซื้อ​น้ำมัน​สำหรับ​รถยนต์​และ​เพื่อ​ชำระ​ค่า​ใช้​จ่าย​อื่น ๆ. ดิฉัน​ยัง​เรียน​วิธี​อัด​จาระบี​และ​เปลี่ยน​น้ำมัน​เครื่อง​เอง​ด้วย​เพื่อ​ประหยัด​เงิน. จริง​ตาม​คำ​สัญญา​ของ​พระองค์ เรา​เห็น​แล้ว​ว่า พระ​ยะโฮวา​ทรง​เปิด​ทาง​เพื่อ​ช่วย​เรา​เอา​ชนะ​อุปสรรค​ต่าง ๆ.—มัดธาย 6:33.

ออก​ไป​สู่​งาน​มอบหมาย​เป็น​มิชชันนารี

ใน​ปี 1946 ดิฉัน​ได้​รับ​เชิญ​ให้​เข้า​ร่วม​ชั้น​เรียน​ที่​เจ็ด​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แห่ง​กิเลียด ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ใกล้​เซาท์แลนซิง นิวยอร์ก. ถึง​ตอน​นั้น คุณ​แม่​กับ​ดิฉัน​เป็น​ไพโอเนียร์​ด้วย​กัน​มา​มาก​กว่า 15 ปี​แล้ว กระนั้น ท่าน​ก็​ไม่​ต้องการ​ขัด​ขวาง​โอกาส​ที่​ดิฉัน​จะ​ได้​รับ​การ​อบรม​สำหรับ​งาน​มิชชันนารี. ดัง​นั้น ท่าน​สนับสนุน​ดิฉัน​ให้​รับ​เอา​สิทธิ​พิเศษ​ที่​จะ​เข้า​โรง​เรียน​กิเลียด. หลัง​จาก​สำเร็จ​การ​ศึกษา มาร์ทา เฮสส์ จาก​เมือง​พีโอเรีย รัฐ​อิลลินอยส์ กับ​ดิฉัน​ได้​เป็น​เพื่อน​ร่วม​งาน​กัน. เรา​พร้อม​กับ​คน​อื่น​อีก​สอง​คน​ได้​รับ​มอบหมาย​ไป​เมือง​คลีฟแลนด์ รัฐ​โอไฮโอ เป็น​เวลา​หนึ่ง​ปี​ขณะ​ที่​เรา​รอ​การ​มอบหมาย​ไป​ต่าง​ประเทศ.

การ​มอบหมาย​ดัง​กล่าว​มา​ถึง​ใน​ปี 1947. มาร์ทา​กับ​ดิฉัน​ได้​รับ​มอบหมาย​ไป​ที่​ฮาวาย. เนื่อง​จาก​เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​โยกย้าย​เข้า​ไป​ยัง​เกาะ​เหล่า​นี้ คุณ​แม่​จึง​มา​อาศัย​อยู่​ใกล้​พวก​เรา​ใน​เมือง​ฮอนโนลูลู. สุขภาพ​ของ​ท่าน​เสื่อม​ทรุด​ลง ดัง​นั้น พร้อม​กับ​การ​เอา​ใจ​ใส่​งาน​มิชชันนารี​ของ​ตัว​เอง ดิฉัน​ก็​ได้​ช่วยเหลือ​คุณ​แม่​ด้วย. ดิฉัน​สามารถ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ท่าน​จน​กระทั่ง​ท่าน​เสีย​ชีวิต​ใน​ฮาวาย​เมื่อ​ปี 1956 ขณะ​อายุ 77 ปี. ตอน​ที่​เรา​มา​ถึง มี​พยาน​ฯ ประมาณ 130 คน​ใน​ฮาวาย แต่​ตอน​ที่​คุณ​แม่​เสีย​ชีวิต มี​พยาน​ฯ มาก​กว่า​หนึ่ง​พัน​คน​แล้ว และ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​มี​มิชชันนารี​อีก​ต่อ​ไป.

ต่อ​มา มาร์ทา​กับ​ดิฉัน​ได้​รับ​จดหมาย​จาก​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ที่​เสนอ​เขต​มอบหมาย​ใน​ญี่ปุ่น​ให้​เรา. ความ​ห่วงใย​อันดับ​แรก​ของ​เรา​คือ อายุ​ขนาด​เรา​สามารถ​เรียน​ภาษา​ญี่ปุ่น​ได้​หรือ​ไม่. ตอน​นั้น​ดิฉัน​อายุ 48 ปี และ​มาร์ทา​อ่อน​กว่า​ดิฉัน​เพียง​สี่​ปี​เท่า​นั้น. แต่​เรา​มอบ​เรื่อง​นั้น​ไว้​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ยอม​รับ​งาน​มอบหมาย.

ทันที​หลัง​จาก​การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ปี 1958 ณ สนาม​กีฬา​แยงกี​และ​สนาม​โปโล​ใน​นคร​นิวยอร์ก เรา​ออก​เดิน​ทางไป​โตเกียว​โดย​ทาง​เรือ. พายุ​ไต้ฝุ่น​โหม​กระหน่ำ​เรา​ขณะ​เข้า​ใกล้​ท่า​เรือ​ที่​โยโกฮามา ที่​นั่น​เรา​พบ​ดอน​และ​เม​เบล แฮสเลตต์, ลอยด์​กับ​เมลบา แบร์รี, และ​มิชชันนารี​คน​อื่น ๆ. ตอน​นั้น มี​พยาน​ฯ เพียง 1,124 คน​ใน​ญี่ปุ่น.

เรา​เริ่ม​เรียน​ภาษา​ญี่ปุ่น​และ​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​เผยแพร่​ตาม​บ้าน​เรือน​ทันที. โดย​ใช้​อักษร​ภาษา​อังกฤษ เรา​เขียน​คำ​ที่​จะ​พูด แล้ว​อ่าน​ออก​มา​เป็น​ภาษา​ญี่ปุ่น. เมื่อ​ตอบ เจ้าของ​บ้าน​จะ​พูด​ว่า “โยโรชิอิ เดสึ” หรือ “เคกโค เดสึ” ซึ่ง​เรา​ได้​เรียน​ความหมาย​ว่า “ดี​แล้ว” หรือ “ดี​มาก.” แต่​เรา​มัก​จะ​ไม่​รู้​ว่า​เจ้าของ​บ้าน​สนใจ​หรือ​ไม่ เนื่อง​จาก​มี​การ​ใช้​คำ​เหล่า​นั้น​เพื่อ​แสดง​การ​ปฏิเสธ​ด้วย. ความหมาย​ขึ้น​อยู่​กับ​น้ำ​เสียง​ที่​ใช้​หรือ​สี​หน้า​ของ​คน​พูด. เรา​ต้อง​ใช้​เวลา​ใน​การ​เรียน​รู้​เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ความหมาย​ของ​น้ำ​เสียง​หรือ​สี​หน้า.

ประสบการณ์​ที่​ทำ​ให้​หัวใจ​ดิฉัน​อบอุ่น

ขณะ​ที่​ยัง​คง​พยายาม​เรียน​ภาษา​อยู่​นั้น วัน​หนึ่ง​ดิฉัน​ไป​เยี่ยม​หอ​พัก​ของ​บริษัท​มิตซูบิชิ​และ​พบ​ผู้​หญิง​อายุ 20 ปี​คน​หนึ่ง. เธอ​ก้าว​หน้า​เป็น​อย่าง​ดี​ใน​ด้าน​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1966. หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา​เธอ​เริ่ม​เป็น​ไพโอเนียร์ และ​ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น​ก็​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ไพโอเนียร์​พิเศษ. เธอ​รับใช้​ใน​ฐานะ​ดัง​กล่าว​ตั้ง​แต่​นั้น​เป็น​ต้น​มา. นั่น​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ​สำหรับ​ดิฉัน​เสมอ​มา​ที่​เห็น​วิธี​ที่​เธอ​ใช้​เวลา​และ​พละกำลัง​ตั้ง​แต่​วัย​สาว​ใน​งาน​เผยแพร่​เต็ม​เวลา.

การ​ยืนหยัด​เพื่อ​ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ข้อ​ท้าทาย​ที่​สำคัญ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​ผู้​คน​ซึ่ง​อยู่​ใน​สังคม​ที่​ไม่​ใช่​คริสเตียน. กระนั้น หลาย​พัน​คน​ได้​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​นี้ รวม​ทั้ง​คน​เหล่า​นั้น​หลาย​คน​ที่​ดิฉัน​ได้​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย. พวก​เขา​ได้​ทิ้ง​แท่น​บูชา​ราคา​แพง​ของ​ศาสนา​พุทธ​และ​หิ้ง​บูชา​ของ​ศาสนา​ชินโต​ซึ่ง​สืบ​ทอด​กัน​มา​ตาม​ที่​พบ​ได้​ใน​บ้าน​ของ​ชาว​ญี่ปุ่น. เนื่อง​จาก​บาง​ครั้ง​ญาติ​พี่​น้อง​แปล​ความหมาย​ผิด​ว่า การ​กระทำ​ดัง​กล่าว​เป็น​การ​ไม่​นับถือ​ต่อบรรพบุรุษ​ที่​ตาย​ไป​แล้ว คน​ใหม่ ๆ จึง​จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​กล้า​หาญ​เพื่อ​จะ​ทำ​เช่น​นี้​ได้. การ​กระทำ​ที่​กล้า​หาญ​ของ​พวก​เขา​ทำ​ให้​คิด​ถึง​อดีต​เกี่ยว​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ใน​ท่ามกลาง​พวก​คริสเตียน​ยุค​แรก​ซึ่ง​ได้​สลัด​ตัว​จาก​สิ่ง​ของ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​เท็จ.—กิจการ 19:18-20.

ดิฉัน​จำ​ได้​ถึง​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​หนึ่ง เป็น​แม่บ้าน​ซึ่ง​วาง​แผน​ว่า​จะ​ย้าย​ออก​จาก​โตเกียว​พร้อม​กับ​ครอบครัว​ของ​เธอ. เธอ​ต้องการ​ย้าย​เข้า​บ้าน​ใหม่​ซึ่ง​ไม่​มี​วัตถุ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​แบบ​นอก​รีต. ดัง​นั้น เธอ​บอก​สามี​ให้​ทราบ​ความ​ประสงค์​ของ​เธอ และ​เขา​ก็​ร่วม​มือ​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ. เธอ​เล่า​ให้​ดิฉัน​ฟัง​เรื่อง​นั้น​ด้วย​ความ​ยินดี แต่​แล้ว​ก็​นึก​ขึ้น​มา​ได้​ว่า เธอ​เก็บ​แจกัน​หิน​อ่อน​ขนาด​ใหญ่​ราคา​แพง​ใบ​หนึ่ง​ซึ่ง​เธอ​ได้​ซื้อ​มา​นั้น​ไว้ เพราะ​กล่าว​กัน​ว่า​นั่น​รับประกัน​ความ​สุข​ใน​บ้าน. เนื่อง​จาก​เธอ​มี​ความ​สงสัย​ว่า​แจกัน​นั้น​มี​ความ​เกี่ยว​พัน​กับ​การ​นมัสการ​เท็จ เธอ​จึง​เอา​ฆ้อน​ทุบ​แจกัน​นั้น​แตก​แล้ว​ทิ้ง​ไป.

การ​เห็น​สตรี​ผู้​นี้​และ​คน​อื่น​เต็ม​ใจ​กำจัด​วัตถุ​ราคา​แพง​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​เท็จ​และ​เริ่ม​ต้น​ชีวิต​ใหม่​อย่าง​กล้า​หาญ​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​นับ​เป็น​ประสบการณ์​ที่​ให้​บำเหน็จ และ​น่า​พอ​ใจ​มาก​ที่​สุด​สำหรับ​ดิฉัน. ดิฉัน​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​เสมอ​ที่​สามารถ​ชื่นชม​กับ​งาน​รับใช้​ประเภท​มิชชันนารี​มาก​กว่า 40 ปี​ใน​ญี่ปุ่น.

“การ​อัศจรรย์” สมัย​ใหม่

เมื่อ​หวน​คิด​ถึง​การ​ที่​ดิฉัน​อยู่​ใน​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​มาก​กว่า 70 ปี ดิฉัน​รู้สึก​พิศวง​ใน​สิ่ง​ที่​ดู​เหมือน​เป็น​การ​อัศจรรย์​สมัย​ใหม่​สำหรับ​ตัว​เอง. ตอน​เป็น​เด็ก​สาว​ที่​เป็น​ทุกข์​ด้วย​ความ​อาย ดิฉัน​ไม่​เคย​คิด​ว่า​ตัว​เอง​จะ​สามารถ​ใช้​เวลา​ทั้ง​ชีวิต​ใน​การ​ริเริ่ม​พูด​คุย​กับ​ประชาชน​ใน​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ซึ่ง​คน​ส่วน​ใหญ่​ไม่​อยาก​ฟัง​แต่​อย่าง​ใด. กระนั้น ไม่​เฉพาะ​ดิฉัน​คน​เดียว​ที่​สามารถ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้ แต่​ดิฉัน​ได้​เห็น​คน​อื่น ๆ ถ้า​ไม่​ใช่​เป็น​พัน ก็​เป็น​หลาย​ร้อย​คน​ที่​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน. และ​พวก​เขา​ได้​ทำ​เช่น​นั้น​ด้วย​ประสิทธิภาพ​ถึง​ขนาด​ที่​พยาน​ฯ แค่​พัน​กว่า​คน​ใน​ญี่ปุ่น​ตอน​ที่​ดิฉัน​มา​ถึง​ใน​ปี 1958 นั้น​ได้​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น 222,000 กว่า​คน​ใน​ปัจจุบัน!

เมื่อ​มาร์ทา​กับ​ดิฉัน​มา​ถึง​ญี่ปุ่น​ตอน​แรก เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​อยู่ ณ สำนักงาน​สาขา​ใน​โตเกียว. ใน​ปี 1963 มี​การ​สร้าง​อาคาร​สาขา​หลัง​ใหม่​สูง​หก​ชั้น​ขึ้น​ใน​ที่​เดียว​กัน​นั้น และ​เรา​อยู่​ที่​นั่น​ตั้ง​แต่​นั้น​เป็น​ต้น​มา. ใน​เดือน​พฤศจิกายน 1963 เรา​อยู่​ใน​ท่ามกลาง 163 คน​ซึ่ง​เข้า​ร่วม​ใน​คำ​บรรยาย​อุทิศ​โดย​ลอยด์ แบร์รี​ผู้​ดู​แล​สาขา​ของ​เรา. ตอน​นั้น​เรา​ได้​บรรลุ​ยอด​พยาน​ฯ 3,000 คน​ใน​ญี่ปุ่น.

เป็น​เรื่อง​น่า​ยินดี​ที่​เห็น​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร​เจริญ​เติบโต​อย่าง​น่า​ทึ่ง มี​ถึง 14,000 คน​ใน​ปี 1972 ตอน​ที่​สาขา​ซึ่ง​ขยาย​ใหม่​แล้ว​เสร็จ​ใน​เมือง​นูมาสึ. แต่​พอ​ถึง​ปี 1982 มี​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​มาก​กว่า 68,000 คน​ใน​ญี่ปุ่น และ​มี​การ​สร้าง​อาคาร​สาขา​ที่​ใหญ่​กว่า​มาก​ใน​เมือง​เอบินา ห่าง​จาก​โตเกียว​ประมาณ 80 กิโลเมตร.

ใน​ระหว่าง​นั้น อาคาร​สาขา​เดิม​ใน​ใจ​กลาง​กรุง​โตเกียว​ได้​รับ​การ​บูรณะ. ใน​ที่​สุด อาคาร​นั้น​ใช้​เป็น​บ้าน​พัก​มิชชันนารี​สำหรับ​มิชชันนารี​มาก​กว่า 20 คน​ซึ่ง​ได้​รับใช้​ใน​ญี่ปุ่น​เป็น​เวลา 40, 50 ปี, หรือ​มาก​กว่า​นั้น รวม​ทั้ง​ดิฉัน​กับ​มาร์ทา เฮสส์ เพื่อน​ร่วม​งาน​เก่า​แก่​ของ​ดิฉัน. แพทย์​คน​หนึ่ง​กับ​ภรรยา​ของ​เขา​ซึ่ง​เป็น​พยาบาล​อยู่​ใน​บ้าน​ของ​เรา​ด้วย. เขา​ดู​แล​เรา เอา​ใจ​ใส่​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ​ความ​จำเป็น​ด้าน​สุขภาพ​ของ​เรา. ไม่​นาน​มา​นี้ มี​การ​เพิ่ม​พยาบาล​เข้า​มา​อีก​คน​หนึ่ง​และ​พี่​น้อง​หญิง​คริสเตียน​หลาย​คน​มา​เป็น​ผู้​ช่วย​พยาบาล​ใน​ช่วง​กลางวัน. สมาชิก​สอง​คน​จาก​ครอบครัว​เบเธล​ใน​เอบินา​ผลัด​เปลี่ยน​กัน​มา​เพื่อ​เตรียม​อาหาร​และ​ทำ​ความ​สะอาด​บ้าน​ของ​เรา. ที่​จริง พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดี​ต่อ​เรา​เสมอ​มา.—บทเพลง​สรรเสริญ 34:8, 10.

เหตุ​การณ์​เด่น​อย่าง​หนึ่ง​ใน​ชีวิต​มิชชันนารี​ของ​ดิฉัน​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​เดือน​พฤศจิกายน​ที่​แล้ว 36 ปี​หลัง​จาก​การ​อุทิศ​อาคาร​ซึ่ง​พวก​เรา​หลาย​คน​ที่​เป็น​มิชชันนารี​มา​นาน​แล้ว​อาศัย​อยู่​ใน​ตอน​นี้. ใน​วัน​ที่ 13 พฤศจิกายน 1999 ดิฉัน​อยู่​ใน​ท่ามกลาง 4,486 คน รวม​ทั้ง​ผู้​ที่​เป็น​พยาน​ฯ มา​นาน​หลาย​ร้อย​คน​จาก 37 ประเทศ ซึ่ง​ได้​เข้า​ร่วม​ใน​การ​อุทิศ​อาคาร​ต่าง ๆ ที่​มี​การ​ขยาย ณ สาขา​ญี่ปุ่น​ของ​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์​ใน​เอบินา. ปัจจุบัน มี​ประมาณ 650 คน​ใน​ครอบครัว​สาขา​นั้น.

ระหว่าง​ช่วง​เวลา​เกือบ 80 ปี​ตั้ง​แต่​ดิฉัน​เริ่ม​ไป​ตาม​บ้าน​เรือน​ด้วย​ความ​อาย​และ​ประหม่า​เพื่อ​เสนอ​ข่าวสาร​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​ช่วย​ที่​เสริม​กำลัง​แก่​ดิฉัน. พระองค์​ได้​ทรง​ช่วย​ดิฉัน​ให้​เอา​ชนะ​ความ​อาย. ดิฉัน​เชื่อ​มั่น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​สามารถ​ใช้​ใคร ๆ ที่​วางใจ​ใน​พระองค์ กระทั่ง​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ขี้อาย​เหลือ​เกิน​อย่าง​ดิฉัน. และ​ดิฉัน​มี​ชีวิต​ที่​น่า​พอ​ใจ​เสีย​จริง ๆ ใน​การ​พูด​คุย​กับ​คน​แปลก​หน้า​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา พระเจ้า​ของ​เรา!

[ภาพ​หน้า 21]

กับ​คุณ​แม่​และ​แคลเรนซ์ ซึ่ง​มา​จาก​เบเธล​มา​เยี่ยม​เรา

[ภาพ​หน้า 23]

สมาชิก​ใน​ชั้น​ของ​เรา​เรียน​กัน​ใน​สนาม​หญ้า​ที่​โรง​เรียน​กิเลียด​ใกล้​เซาท์แลนซิง นิวยอร์ก

[ภาพ​หน้า 23]

ซ้าย: ดิฉัน, มาร์ทา เฮสส์, และ​คุณ​แม่​ใน​ฮาวาย

[ภาพ​หน้า 24]

ขวา: สมาชิก​บ้าน​พัก​มิชชันนารี​ของ​เรา​ใน​โตเกียว

[ภาพ​หน้า 24]

ล่าง: กับ​มาร์ทา เฮสส์ เพื่อน​ร่วม​งาน​เก่า​แก่​ของ​ดิฉัน

[ภาพ​หน้า 25]

การ​อุทิศ​อาคาร​สาขา​ของ​เรา​ที่​ได้​รับ​การ​ขยาย​ใน​เอบินา​เมื่อ​เดือน​พฤศจิกายน​ที่​ผ่าน​มา