“ท่านทั้งหลายเป็นพี่น้องกันหมด”
“ท่านทั้งหลายเป็นพี่น้องกันหมด”
“อย่าให้ผู้ใดเรียกท่านว่า รับบี เพราะท่านมีครูแต่ผู้เดียว ส่วนท่านทั้งหลายเป็นพี่น้องกันหมด.”—มัดธาย 23:8, ล.ม.
1. เราควรพิจารณาเรื่องอะไร?
“ใครควรได้รับเกียรติมากกว่า มิชชันนารีหรือเบเธไลต์?” สตรีคริสเตียนผู้หนึ่งในประเทศทางตะวันออกถามมิชชันนารีจากออสเตรเลียด้วยความบริสุทธิ์ใจ. เธอต้องการทราบว่าใครควรได้รับความนับถือมากกว่า มิชชันนารีจากประเทศอื่นหรือว่าผู้รับใช้ท้องถิ่นที่รับใช้ในสำนักงานสาขาของสมาคมว็อชเทาเวอร์. คำถามที่บริสุทธิ์ใจดังกล่าว ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ถือชั้นชน ถามขึ้นมาอย่างกะทันหันจนมิชชันนารีผู้นี้ตั้งตัวไม่ทัน. อย่างไรก็ตาม คำถามดังกล่าวที่ว่าใครเป็นใหญ่กว่าเกิดจากความปรารถนาที่จะทราบว่า ใครอยู่ตรงไหนในตำแหน่งที่มีอำนาจและอิทธิพล.
2. เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อเพื่อนผู้นมัสการของเรา?
2 ความเป็นห่วงในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย. แม้แต่เหล่าสาวกของพระเยซูก็ถกเถียงกันอยู่เรื่อย ๆ ด้วยเรื่องที่ว่าใครเป็นใหญ่ที่สุด. (มัดธาย 20:20-24; มาระโก 9:33-37; ลูกา 22:24-27) พวกเขาก็เช่นกันมาจากวัฒนธรรมที่ค่อนข้างจะถือชั้นชน คือวัฒนธรรมของลัทธิยูดายในศตวรรษแรก. โดยคิดถึงสังคมที่มีลักษณะเช่นนี้ พระเยซูทรงแนะนำเหล่าสาวกว่า “ท่านทั้งหลาย อย่าให้ผู้ใดเรียกท่านว่า รับบี เพราะท่านมีครูแต่ผู้เดียว ส่วนท่านทั้งหลายเป็นพี่น้องกันหมด.” (มัดธาย 23:8, ล.ม.) อัลเบิร์ต บานส์ ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลชี้ว่า ยศศักดิ์ทางศาสนาอย่าง “รับบี” ซึ่งแปลว่า “อาจารย์” นั้น “มักก่อความรู้สึกเหนือกว่าในคนที่ได้รับยศนั้น และก่อความรู้สึกอิจฉาและต่ำต้อยกว่าในคนที่ไม่ได้รับ; น้ำใจและแนวโน้มทั้งหมดที่เกี่ยวกับยศศักดิ์ทางศาสนานี้ตรงกันข้ามกับ ‘ความเรียบง่ายซึ่งมีอยู่ในพระคริสต์.’ ” ที่จริง คริสเตียนหลีกเลี่ยงการเรียกผู้ดูแลที่อยู่ท่ามกลางพวกเขาว่า “ผู้ปกครองคนนั้นคนนี้” ด้วยการใช้คำ “ผู้ปกครอง” เป็นบรรดาศักดิ์ที่ให้การยกย่องเกินควร. (โยบ 32:21, 22) ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ปกครองที่ดำเนินชีวิตตามคำแนะนำซึ่งได้รับจากพระเยซูให้ เกียรติสมาชิกคนอื่น ๆ ในประชาคม เช่นเดียวกับที่พระยะโฮวาทรงให้เกียรติผู้นมัสการที่ภักดีและพระเยซูคริสต์ทรงให้เกียรติเหล่าสาวกที่ภักดี.
ตัวอย่างของพระยะโฮวาและพระเยซู
3. พระยะโฮวาทรงให้เกียรติอย่างไรแก่สิ่งทรงสร้างของพระองค์ที่เป็นกายวิญญาณ?
3 แม้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้สูงสุด” ตั้งแต่แรกเลยทีเดียวพระองค์ทรงให้เกียรติสิ่งทรงสร้างของพระองค์โดยให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจการงานของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 83:18, ฉบับแปลใหม่) เมื่อพระองค์ทรงสร้างมนุษย์คนแรก พระยะโฮวาทรงตั้งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ให้ร่วมในโครงการนี้ในฐานะ “นายช่าง.” (สุภาษิต 8:27-30, ล.ม.; เยเนซิศ 1:26) พระยะโฮวาถึงกับเชิญเหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์ให้แสดงความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับวิธีที่จะดำเนินการในการทำลายกษัตริย์อาฮาบผู้ชั่วร้าย เมื่อพระองค์ได้ทรงตั้งพระทัยมั่นแล้วว่าจะทำอย่างนั้น.—1 กษัตริย์ 22:19-23.
4, 5. พระยะโฮวาทรงให้เกียรติสิ่งทรงสร้างที่เป็นมนุษย์อย่างไร?
4 พระยะโฮวาทรงครองราชย์ในฐานะองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. (พระบัญญัติ 3:24) พระองค์ไม่จำเป็นต้องขอคำปรึกษาจากมนุษย์. แม้กระนั้น พระองค์ทรงกระทำอย่างที่ดูเหมือนกับทรงลดพระองค์ลงมาเพื่อจะเอาพระทัยใส่พวกเขา. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “มีผู้ใดเล่าจะเสมอเหมือนพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเรา? ผู้ซึ่งประทับอยู่เบื้องสูง, ผู้ซึ่งทรงถ่อมพระทัยทอดพระเนตรลงมาพิจารณาดูฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงโปรดยกคนอนาถาขึ้นจากผงคลีดิน.”—บทเพลงสรรเสริญ 113:5-8.
5 ก่อนจะทำลายซะโดมและกะโมรา พระยะโฮวาทรงสดับคำทูลถามของอับราฮามและทรงสนองตามความรู้สึกในเรื่องความยุติธรรมของท่าน. (เยเนซิศ 18:23-33) แม้ว่าพระยะโฮวาทรงทราบอยู่แล้วว่าคำทูลขอของอับราฮามจะปรากฏผลเป็นเช่นไร พระองค์ทรงฟังอับราฮามอย่างอดทนและยอมรับการหาเหตุผลของท่าน.
6. ผลเป็นเช่นไรจากการที่พระยะโฮวาทรงให้เกียรติเมื่อฮะบาฆูคทูลถาม?
6 นอกจากนี้แล้ว พระยะโฮวาทรงฟังฮะบาฆูคผู้ทูลถามว่า “โอ้พระยะโฮวา นานเท่าไรที่ข้าพเจ้าต้องร้องขอความช่วยเหลือและพระองค์ไม่ทรงฟัง?” พระยะโฮวาทรงถือไหมว่าคำถามนี้เป็นการท้าทายอำนาจของพระองค์? ไม่เลย พระองค์ทรงถือว่าคำถามของฮะบาฆูคถูกต้องสมควร และทันทีหลังจากนั้นพระองค์ทรงเผยถึงพระประสงค์ที่จะตั้งชาวแคลเดียให้ทำหน้าที่พิพากษาสำเร็จโทษ. พระองค์ทรงรับรองกับท่านผู้พยากรณ์ว่า ‘คำพิพากษาที่บอกไว้ล่วงหน้านี้จะสำเร็จเป็นแน่.’ (ฮะบาฆูค 1:1, 2, 5, 6, 13, 14; 2:2, 3, ล.ม.) โดยทรงถือว่าความเป็นห่วงของฮะบาฆูคเป็นเรื่องสำคัญและให้คำตอบแก่ท่าน พระยะโฮวาทรงให้เกียรติผู้พยากรณ์ท่านนี้. ผลก็คือ ท่านผู้พยากรณ์ซึ่งจิตใจว้าวุ่นก็กลับกระปรี้กระเปร่าและมีใจยินดีขึ้น พร้อมด้วยความไว้วางใจเต็มที่ในพระเจ้าแห่งความรอดของท่าน. ทั้งนี้จะเห็นได้ในพระธรรมฮะบาฆูคที่เขียนขึ้นโดยการดลใจซึ่งช่วยเสริมความไว้วางใจของพวกเราในปัจจุบันต่อพระยะโฮวา.—ฮะบาฆูค 3:18, 19.
7. เหตุใดบทบาทของเปโตรในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 จึงไม่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ?
7 พระเยซูคริสต์ทรงเป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงความนับถือผู้อื่น. พระเยซูได้ตรัสแก่เหล่าสาวกว่า “ผู้ใดจะปฏิเสธเราต่อหน้ามนุษย์, เราจะปฏิเสธผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเรา.” (มัดธาย 10:32, 33) อย่างไรก็ตาม ในคืนที่พระองค์ทรงถูกทรยศ สาวกทั้งหมดละทิ้งพระองค์ และอัครสาวกเปโตรปฏิเสธพระองค์สามครั้ง. (มัดธาย 26:34, 35, 69-75) พระเยซูทรงมองลึกกว่าที่ปรากฏภายนอกและสังเกตเห็นถึงความรู้สึกในส่วนลึกของเปโตร เห็นถึงการกลับใจอย่างแท้จริงของท่าน. (ลูกา 22:61, 62) เพียง 51 วันต่อมา พระคริสต์ทรงให้เกียรติอัครสาวกผู้กลับใจโดยให้ท่านพูดแทนเหล่าสาวกของพระเยซู 120 คนในวันเพนเตคอสเต และให้ท่านใช้ “ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักร” ดอกแรก. (มัดธาย 16:19, ล.ม.; กิจการ 2:14-40) เปโตรได้รับโอกาสที่จะ ‘หันกลับและชูกำลังพี่น้องของท่าน.’—ลูกา 22:31-33.
การให้เกียรติสมาชิกในครอบครัว
8, 9. ในการให้เกียรติภรรยา สามีจะเลียนแบบพระยะโฮวาและพระเยซูได้อย่างไร?
8 ผู้ที่เป็นสามีและบิดามารดาควรเลียนแบบพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ในการใช้อำนาจที่ได้รับจากพระเจ้า. เปโตรเตือนสติดังนี้: “ท่านทั้งหลายที่เป็นสามี จงอยู่กับ [ภรรยา] ต่อ ๆ ไปในลักษณะเดียวกันตามความรู้ ให้เกียรติ1 เปโตร 3:7, ล.ม.) ขอให้วาดมโนภาพถึงการจับต้องภาชนะดินเผาที่บอบบาง ซึ่งแตกง่ายกว่าภาชนะไม้อย่างเห็นได้ชัด. คุณจะไม่ระมัดระวังมากกว่าหรอกหรือ? สามีจะทำอย่างนั้นได้ด้วยการเลียนแบบพระยะโฮวา ฟังความเห็นของภรรยาเมื่อจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัว. พึงระลึกว่าพระยะโฮวาทรงใช้เวลาในการหาเหตุผลกับอับราฮาม. เนื่องจากไม่สมบูรณ์ สามีอาจมองเรื่องราวได้ไม่ครบถ้วนทุกด้าน. ดังนั้น ย่อมสุขุมมิใช่หรือที่เขาจะให้เกียรติภรรยาด้วยการพิจารณาความเห็นของเธออย่างจริงใจ?
นางเหมือนภาชนะที่อ่อนแอกว่า คือเพศหญิง.” (9 ในดินแดนที่อำนาจของผู้ชายนั้นฝังรากลึก สามีต้องระลึกเสมอว่าภรรยาอาจต้องเอาชนะอุปสรรคที่ยากทีเดียวในการที่เธอจะแสดงออกมาถึงความรู้สึกในส่วนลึก. จงเลียนแบบวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติต่อเหล่าสาวก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชนจำพวกเจ้าสาวในอนาคตของพระองค์ ขณะที่ทรงอยู่บนแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงทะนุถนอมพวกเขา คำนึงถึงข้อจำกัดทางกายและฝ่ายวิญญาณของพวกเขา แม้กระทั่งก่อนที่พวกเขาจะพูดออกมาถึงความจำเป็นของตน. (มาระโก 6:31; โยฮัน 16:12, 13; เอเฟโซ 5:28-30) นอกจากนั้น จงใช้เวลาสังเกตดูว่าภรรยาทำอะไรเพื่อคุณกับครอบครัวบ้าง และแสดงความหยั่งรู้ค่าออกมาทั้งทางคำพูดและการกระทำ. ทั้งพระยะโฮวาและพระเยซูทรงแสดงความหยั่งรู้ค่า, ชมเชย, และอวยพรคนที่คู่ควรจะได้รับ. (1 กษัตริย์ 3:10-14; โยบ 42:12-15; มาระโก 12:41-44; โยฮัน 12:3-8) หลังจากที่สามีได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา สตรีคริสเตียนคนหนึ่งในประเทศทางตะวันออกกล่าวว่า “เมื่อก่อนสามีจะเดินนำดิฉันสามสี่ก้าว ปล่อยให้ดิฉันถือของทุกอย่าง. เดี๋ยวนี้ เขาช่วยถือถุงและแสดงความหยั่งรู้ค่าสำหรับสิ่งที่ดิฉันทำที่บ้าน!” คำกล่าวแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างจริงใจช่วยได้มากในการทำให้ภรรยารู้สึกว่าตัวเธอมีค่า.—สุภาษิต 31:28.
10, 11. บิดามารดาจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างที่ดีของพระยะโฮวาในการปฏิบัติต่อชาติยิศราเอลที่ขืนอำนาจ?
10 ในการดูแลเอาใจใส่บุตร โดยเฉพาะเมื่อจำเป็นต้องว่ากล่าว บิดามารดาควรเลียนแบบอย่างของพระเจ้า. “พระยะโฮวาทรงเตือนยิศราเอลและยูดาอยู่เสมอ” ให้หันกลับจากทางชั่วของตน แต่พวกเขา “เอาแต่ทำคอแข็ง.” (2 กษัตริย์ 17:13-15, ล.ม.) ชาวยิศราเอลถึงกับ “ยกย่องพระองค์ด้วยปาก, แต่ลิ้นของเขาได้มุสาพระองค์.” บิดามารดาหลายคนอาจรู้สึกว่าบางครั้งบุตรของตนทำคล้าย ๆ กัน. ชาวยิศราเอล “ทดลองพระเจ้า” และทำให้พระองค์ทรงรู้สึกปวดร้าวพระทัย. กระนั้น พระยะโฮวา “ทรงพระกรุณาโปรดยกโทษไม่ทรงประหารเขาเสีย.”—บทเพลงสรรเสริญ 78:36-41.
11 พระยะโฮวาทรงถึงกับอ้อนวอนชาวยิศราเอลว่า “มาเถิด เจ้าทั้งหลาย และให้เราจัดเรื่องราวระหว่างเรากับเจ้าให้เรียบร้อย. แม้บาปของพวกเจ้าจะเป็นเหมือนสีแดงสด บาปนั้นจะถูกทำให้ขาวดุจหิมะ.” (ยะซายา 1:18, ล.ม.) แม้ว่าพระยะโฮวาไม่มีข้อผิดพลาด พระองค์ทรงเชิญชาตินี้ที่ขืนอำนาจให้มาจัดเรื่องราวกันให้ถูกต้อง. ช่างเป็นเจตคติที่ดีอะไรเช่นนี้ที่บิดามารดาควรเลียนแบบอย่างในการปฏิบัติต่อบุตร! เมื่อโอกาสอำนวย จงให้เกียรติเขาโดยฟังเรื่องราวจากด้านของเขา และหาเหตุผลกับเขาว่าทำไมเขาต้องเปลี่ยน.
12. (ก) เหตุใดเราควรหลีกเลี่ยงการให้เกียรติบุตรมากกว่าพระยะโฮวา? (ข) จำเป็นต้องทำเช่นไรหากเราต้องการจะให้ความนับถือต่อศักดิ์ศรีของบุตรเมื่อว่ากล่าวแก้ไขเขา?
12 แน่นอน บางครั้งบุตรจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแรง ๆ. บิดามารดาคงไม่ต้องการเป็นเหมือนเอลีซึ่ง ‘ให้เกียรติแก่บุตรทั้งสองของเขาเหนือพระยะโฮวา.’ (1 ซามูเอล 2:29, ฉบับแปลใหม่) แม้กระนั้น ผู้เยาว์จำเป็นต้องมองเห็นแรงกระตุ้นอันเปี่ยมด้วยความรักซึ่งอยู่เบื้องหลังการว่ากล่าวแก้ไข. พวกเขาควรจะสามารถตระหนักว่าบิดามารดารักพวกเขาจริง ๆ. เปาโลเตือนสติบิดาทั้งหลายดังนี้: “อย่ายั่วบุตรของท่านให้ขัดเคืองใจ แต่จงอบรมเขาด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) ในขณะที่ได้มีการใช้อำนาจของบิดา จุดสำคัญที่ต้องการชี้คือบิดาจำเป็นต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของบุตร ไม่ทำให้พวกเขาขุ่นเคืองเนื่องด้วยความเข้มงวดกวดขันเกินไป. ถูกแล้ว การที่จะคำนึงถึงศักดิ์ศรีของบุตรบิดามารดาต้องใช้เวลาและความพยายาม แต่ผลจากการทำเช่นนั้นคุ้มค่าการเสียสละทุกอย่างที่ทำไป.
13. ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิลเป็นเช่นไรเกี่ยวด้วยผู้สูงอายุในครอบครัว?
13 การให้เกียรติสมาชิกในครอบครัวต้องไม่เพียงคำนึงถึงศักดิ์ศรีของภรรยาและบุตรเท่านั้น. สุภาษิตญี่ปุ่นกล่าวว่า “เมื่อแก่ตัวลง จงเชื่อฟังบุตร.” จุดสำคัญของสุภาษิตนี้คือบิดามารดาที่สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจของความเป็นบิดามารดามากเกินไป และควรใส่ใจในคำพูดของบุตรซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว. แม้ว่าเป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ที่บิดามารดาจะให้เกียรติบุตรด้วยการฟังพวกเขา แต่บุตรก็ไม่ควรแสดงเจตคติไม่นับถือต่อสมาชิกสูงอายุของครอบครัว. สุภาษิต 23:22 กล่าวว่า “อย่าดูหมิ่นมารดาของเจ้าเมื่อท่านแก่ชรา.” กษัตริย์ซะโลโมประพฤติตามสุภาษิตข้อนี้และให้เกียรติพระมารดาเมื่อพระนางได้เข้าเฝ้าทูลขอ. ซะโลโมรับสั่งให้จัดพระที่นั่งสำหรับพระมารดาให้ประทับที่เบื้องขวาราชบัลลังก์ของท่านเอง แล้วทรงรับฟังเรื่องที่พระนางบัธเซบะ พระมารดาผู้ชราแล้วทูลท่าน.— 1 กษัตริย์ 2:19, 20.
14. เราจะให้เกียรติสมาชิกผู้สูงอายุในประชาคมได้อย่างไร?
14 ในครอบครัวใหญ่ฝ่ายวิญญาณ เราอยู่ในฐานะที่ดีที่จะ “นำหน้า” ในการให้เกียรติสมาชิกผู้สูงอายุในประชาคม. (โรม 12:10, ล.ม.) พวกเขาไม่สามารถทำได้มากเหมือนเมื่อก่อน และนั่นอาจทำให้เขาข้องขัดใจ. (ท่านผู้ประกาศ 12:1-7) ครั้งหนึ่ง พยานสูงอายุคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถูกเจิม ต้องนอนแซ่วอยู่กับเตียงในสถานพยาบาล แสดงความข้องขัดใจเช่นนั้นโดยกล่าวว่า “ฉันอยากจะตายเสียเร็ว ๆ จะได้กลับไปทำงานต่อไป.” สำหรับผู้สูงอายุเหล่านี้ การให้เกียรติและการยอมรับตามที่เขาสมควรจะได้รับอาจช่วยได้. ชาวยิศราเอลได้รับพระบัญชาว่า “เจ้าจงลุกขึ้นคำนับคนผมหงอกและเคารพ [“แสดงการคำนึงถึง,” ล.ม.] คนชรา.” (เลวีติโก 19:32, ฉบับแปลใหม่) จงแสดงการคำนึงถึงด้วยการทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าคนอื่นต้องการและหยั่งรู้ค่าในตัวเขา. ‘การลุกขึ้น’ อาจหมายรวมถึงการนั่งลงแล้วฟังพวกเขาเล่าถึงสิ่งที่เขาได้ทำสำเร็จเมื่อหลายปีมาแล้ว. นั่นย่อมจะเป็นการให้เกียรติผู้สูงอายุและบำรุงชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราให้สมบูรณ์ด้วย.
‘ในการให้เกียรติ จงนำหน้า’
15. ผู้ปกครองจะทำอะไรได้เพื่อให้เกียรติสมาชิกในประชาคม?
15 สมาชิกในประชาคมเจริญรุดหน้าเมื่อผู้ปกครองวางตัวอย่างที่ดีไว้ให้พวกเขา. (1 เปโตร 5:2, 3) แม้ว่าตารางเวลาของเขาจะเต็มแน่น ผู้ปกครองที่เอาใจใส่ริเริ่มในการเข้าถึงผู้เยาว์, ประมุขครอบครัว, มารดาไร้คู่, แม่บ้าน, และผู้สูงอายุ ไม่ว่าคนเหล่านั้นกำลังเผชิญปัญหาอยู่หรือไม่ก็ตาม. ผู้ปกครองฟังสมาชิกในประชาคมพูดและชมเชยเขาในสิ่งที่เขาสามารถทำได้. ผู้ปกครองที่เอาใจใส่ซึ่งกล่าวแสดงความหยั่งรู้ค่าในสิ่งที่พี่น้องชายหญิงได้ทำนั้นกำลังเลียนแบบอย่างของพระยะโฮวา ผู้ทรงหยั่งรู้ค่าสิ่งทรงสร้างของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้.
16. เหตุใดเราควรมีทัศนะต่อผู้ปกครองว่าสมควรได้รับเกียรติเหมือนกับคนอื่น ๆ ในประชาคม?
16 ด้วยการเลียนแบบพระยะโฮวา ผู้ปกครองวางตัวอย่างที่ดีในการทำตามคำแนะเตือนของเปาโลที่ว่า “ด้วยความรักฉันพี่น้อง จงมีความรักใคร่อันอ่อนละมุนต่อกัน. ในการให้เกียรติกัน จงนำหน้า.” (โรม 12:10, ล.ม.) เรื่องนี้อาจยากกว่าสำหรับผู้ปกครองที่อยู่ในประเทศซึ่งมีการถือชั้นชนเป็นบรรทัดฐาน. ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศหนึ่งทางตะวันออก มีคำสองคำสำหรับ “พี่น้อง” คำหนึ่งใช้เพื่อแสดงความนับถือ และอีกคำหนึ่งเป็นคำธรรมดา. จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง สมาชิกในประชาคมเรียกผู้ปกครองและผู้ที่อาวุโสกว่าด้วยคำเรียกแสดงความนับถือและใช้คำธรรมดาเรียกคนอื่น ๆ. อย่างไรก็ดี พวกเขาได้รับการสนับสนุนให้ใช้คำ ธรรมดาเสมอ เพราะพระเยซูตรัสแก่เหล่าสาวกว่า “ท่านทั้งหลายเป็นพี่น้องกันหมด.” (มัดธาย 23:8, ล.ม.) แม้ว่าอาจไม่เห็นการแบ่งแยกชัดอย่างนี้ในประเทศอื่น ๆ แต่เราทุกคนจำเป็นต้องระวังแนวโน้มของมนุษย์ซึ่งชอบแบ่งแยกชั้นชน.— ยาโกโบ 2:4.
17. (ก) เหตุใดผู้ปกครองควรเป็นคนที่เข้าพบได้ง่าย? (ข) ผู้ปกครองจะเลียนแบบพระยะโฮวาได้ในทางใดบ้างในการปฏิบัติต่อสมาชิกในประชาคม?
17 จริงอยู่ เปาโลสนับสนุนเราให้ปฏิบัติต่อผู้ปกครองว่าควรได้รับ “เกียรติสองเท่า” แต่เขาก็ยังคงเป็นพี่น้องของเรานั่นเอง. (1 ติโมเธียว 5:17, ล.ม.) หากเราสามารถ “เข้าไปถึงราชบัลลังก์แห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและพูดอย่างสะดวกใจ” กับองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ เราก็น่าจะสามารถเข้าพบผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้ที่ควรเลียนแบบพระยะโฮวามิใช่หรือ? (เฮ็บราย 4:16, ล.ม.; เอเฟโซ 5:1) ผู้ดูแลอาจวัดดูได้ว่าเขาเองเป็นคนที่เข้าถึงได้ง่ายขนาดไหน โดยดูจากการที่ผู้อื่นเข้ามาหาและขอคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะจากเขาบ่อยเพียงไร. จงเรียนรู้บทเรียนจากวิธีที่พระยะโฮวาทรงเปิดให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในโครงการของพระองค์. พระองค์ให้เกียรติผู้อื่นโดยมอบหน้าที่รับผิดชอบแก่พวกเขา. แม้ว่าข้อเสนอแนะบางอย่างจากพยานคนอื่นอาจดูเหมือนว่าใช้ไม่ได้ ผู้ปกครองควรหยั่งรู้ค่าในความห่วงใยที่ได้มีการแสดงออกมา. จงระลึกถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อการที่อับราฮามถามพระองค์ในเชิงหยั่งทัศนะและต่อเสียงร้องแสดงความทุกข์เดือดร้อนของฮะบาฆูค.
18. ผู้ปกครองจะเลียนแบบพระยะโฮวาได้อย่างไรในการปรับคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือให้เข้าที่?
18 เพื่อนคริสเตียนบางคนจำเป็นต้องได้รับการปรับให้เข้าที่. (ฆะลาเตีย 6:1) แม้กระนั้น พวกเขามีค่าในสายพระเนตรของพระยะโฮวา และควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี. พยานฯ คนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อคนที่ให้คำแนะนำปฏิบัติต่อผมด้วยความนับถือ ผมรู้สึกเป็นอิสระที่จะเข้าพบเขา.” คนส่วนใหญ่ตอบรับคำแนะนำเมื่อเขาได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี. การทำเช่นนี้อาจใช้เวลามากกว่า แต่การรับฟังคนที่ได้ก้าวพลาดไปทำให้ง่ายขึ้นที่เขาจะยอมรับคำแนะนำที่จำเป็น. จงระลึกเสมอถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงหาเหตุผลกับชาวยิศราเอลครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยความเมตตาสงสารที่ทรงมีต่อพวกเขา. (2 โครนิกา 36:15; ติโต 3:2) คำแนะนำที่ให้ด้วยความร่วมรู้สึกและเห็นอกเห็นใจจะซาบซึ้งถึงหัวใจของคนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ.—สุภาษิต 17:17; ฟิลิปปอย 2:2, 3; 1 เปโตร 3:8.
19. เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อผู้ที่ไม่มีความเชื่อเหมือนคริสเตียน?
19 การให้เกียรติผู้อื่นที่เราแสดงออกนั้นครอบคลุมไปถึงคนเหล่านั้นที่อาจเข้ามาเป็นพี่น้องฝ่ายวิญญาณของเราในวันข้างหน้าด้วย. คนเหล่านี้อาจช้าในการยอมรับข่าวสารของเราในเวลานี้ แต่เรายังคงจำเป็นต้องอดทนกับพวกเขาและยอมรับศักดิ์ศรีของเขาในฐานะมนุษย์. พระยะโฮวา “ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3:9, ล.ม.) เราควรมีทัศนะแบบพระยะโฮวามิใช่หรือ? เมื่อคำนึงถึงประชาชนโดยทั่วไป อาจเป็นการปูทางไว้สำหรับการให้คำพยานหากเราพยายามอยู่เสมอที่จะแสดงไมตรีจิต. แน่ละ เราหลีกเลี่ยงจากการผูกมิตรแบบที่อาจนำไปสู่อันตรายฝ่ายวิญญาณ. (1 โกรินโธ 15:33) ถึงกระนั้น เราแสดง “ใจเมตตาปรานี” โดยไม่ดูถูกผู้ที่ไม่มีความเชื่อเหมือนกับเรา.—กิจการ 27:3.
20. ตัวอย่างของพระยะโฮวาและพระเยซูควรกระตุ้นเราให้ทำอะไร?
20 ถูกแล้ว พระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ทรงถือว่าเราแต่ละคนควรได้รับความนับถือ. ขอให้เราจำไว้เสมอถึงวิธีที่พระองค์ทั้งสองทรงกระทำ แล้วก็ทำอย่างเดียวกันนั้นในการริเริ่มให้เกียรติกันและกัน. และขอให้เราระลึกไว้เสมอถึงคำตรัสของพระเยซูคริสต์เจ้าที่ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นพี่น้องกันหมด.”—มัดธาย 23:8, ล.ม.
คุณจะตอบอย่างไร?
• คุณควรมีทัศนะอย่างไรต่อเพื่อนผู้นมัสการ?
• ตัวอย่างของพระยะโฮวาและพระเยซูกระตุ้นคุณอย่างไรที่จะให้เกียรติผู้อื่น?
• ผู้ที่เป็นสามีและบิดามารดาจะให้เกียรติผู้อื่นได้อย่างไร?
• การถือว่าเพื่อนคริสเตียนเป็นพี่น้องของตนกระตุ้นผู้ปกครองให้ปฏิบัติในลักษณะใด?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 18]
จงให้เกียรติภรรยาของคุณด้วยคำพูดแสดงความหยั่งรู้ค่า
[ภาพหน้า 18]
จงให้เกียรติบุตรของคุณโดยฟังพวกเขา
[ภาพหน้า 18]
จงปฏิบัติต่อสมาชิกในประชาคมอย่างที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของพวกเขา