นักเรียนกิเลียดรุ่นที่ 108 ได้รับการกระตุ้นให้ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์
นักเรียนกิเลียดรุ่นที่ 108 ได้รับการกระตุ้นให้ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์
ในคัมภีร์ไบเบิลมีบ่อยครั้งที่เรียกการนมัสการพระเจ้าว่า “การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์.” คำนี้มาจากคำภาษากรีกที่หมายถึงการถวายการรับใช้แด่พระเจ้า. (โรม 9:4, ล.ม.) ผู้เข้าร่วมจำนวน 5,562 คนที่ฟังระเบียบวาระการสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดรุ่นที่ 108 ได้ยินผู้บรรยายหลายคนให้คำแนะนำที่ใช้การได้จริงซึ่งจะช่วยผู้สำเร็จการศึกษาถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับแด่พระยะโฮวา. *
ทีโอดอร์ จารัซ สมาชิกคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาทำหน้าที่เป็นประธาน. ระเบียบวาระเริ่มด้วยเพลงบท 52 “พระนามแห่งพระบิดาของเรา.” เนื้อเพลงท่อนที่สองในเพลงบทนั้นประกาศว่า “เราสืบหาหนทางวิธีเพื่อเชิดชูพระนามเด่นเหนือใคร.” เนื้อเพลงท่อนนี้พรรณนาความปรารถนาจากหัวใจของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา (ซึ่งมาจาก 10 ประเทศ) ให้ใช้สิ่งที่ได้ฝึกอบรมมาในงานมอบหมายมิชชันนารีของตน ซึ่งอยู่ใน 17 ดินแดน.
ในคำกล่าวเปิด บราเดอร์จารัซชี้ให้สนใจการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างเอาจริงเอาจังเป็นเวลาห้าเดือนซึ่งเตรียมพวกเขาไว้เพื่อการรับใช้ในเขตงานต่างแดน. การศึกษานั้นช่วยพวกเขาให้ “ทำให้แน่ใจในทุกสิ่ง” นั่นคือที่จะพินิจพิจารณาสิ่งที่พวกเขาเพิ่งได้เรียนรู้ในแสงสว่างแห่งพระคำของพระเจ้า และเพื่อ ‘ยึดสิ่งที่ดีไว้ให้มั่น.’ (1 เธซะโลนิเก 5:21, ล.ม.) บราเดอร์จารัซหนุนกำลังใจพวกเขาให้ติดสนิทอย่างซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา, พระคำของพระองค์, และงานมอบหมายที่พวกเขาได้รับการฝึกอบรมมา. อะไรจะช่วยพวกเขาในการทำสิ่งเหล่านี้?
คำแนะนำที่ใช้การได้เพื่อถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์
ลอน ชิลลิง สมาชิกคณะกรรมการดำเนินงานเบเธล บรรยายในหัวเรื่อง “คุณจะผ่านการทดสอบความมีเหตุผลไหม?” บราเดอร์ชิลลิงเน้นคุณค่าของการเป็นคนมีเหตุผล ซึ่งเป็นการสะท้อนสติปัญญาของพระเจ้า. (ยาโกโบ 3:17) ความมีเหตุผลเกี่ยวข้องกับการยอมคนอื่น, การเป็นคนยุติธรรม, การประมาณตน, การคำนึงถึงผู้อื่น, และการอดกลั้น. บราเดอร์ชิลลิงกล่าวว่า “คนที่มีเหตุผลเป็นคนสมดุลในการปฏิบัติต่อผู้อื่น. พวกเขาจะไม่เป็นคนสุดโต่ง.” อะไรจะช่วยมิชชันนารีในการเป็นคนมีเหตุผล? การมองตัวเองด้วยความเจียมตัว, การฉวยโอกาสที่จะฟังและเรียนรู้จากคนอื่น, และการเต็มใจจะพิจารณาความคิดเห็นของคนอื่นแต่ก็ไม่ยอมอะลุ่มอล่วยหลักการของพระเจ้า.—1 โกรินโธ 9:19-23.
“อย่าลืมรับประทานอาหาร!” ฟิลิปปอย 4:13.
เป็นหัวเรื่องที่น่าฉงนของส่วนถัดไปของระเบียบวาระ ซึ่งเสนอโดยแซมมูเอล เฮิร์ด สมาชิกอีกคนหนึ่งของคณะกรรมการปกครอง. ท่านเน้นคุณค่าของการรับประทานอาหารฝ่ายวิญญาณที่ดีเพื่อจะคงความแข็งแรงในการถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์. บราเดอร์เฮิร์ดกล่าวว่า “กิจกรรมฝ่ายวิญญาณของคุณจะเพิ่มมากขึ้นขณะที่คุณหมกมุ่นในงานมอบหมายเรื่องการประกาศและการสอน. ดังนั้น มีความจำเป็นที่คุณจะเพิ่มการรับอาหารฝ่ายวิญญาณเพื่อจะมีกำลังที่สมดุลและเหมาะสม.” อาหารฝ่ายวิญญาณที่สม่ำเสมอสามารถช่วยมิชชันนารีให้หลีกเลี่ยงความซึมเศร้าฝ่ายวิญญาณและการคิดถึงบ้าน และช่วยให้มีความพึงพอใจและความตั้งใจแน่วแน่ที่จะยึดมั่นกับงานมอบหมายแห่งการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ต่อไป.—ลอว์เรนซ์ โบเวน ผู้สอนคนหนึ่งแห่งโรงเรียนกิเลียด หนุนกำลังใจนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาให้ “กลับไปเริ่มต้นใหม่.” ท่านหมายความอย่างไร? ท่านให้ผู้ฟังทุกคนเปิดไปที่สุภาษิต 1:7 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวว่า “ความเกรงกลัวพระยะโฮวาเป็นการเริ่มต้นของความรู้.” ผู้บรรยายอธิบายว่า “อะไรก็ตามที่เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงพื้นฐานเรื่องการดำรงอยู่ของพระยะโฮวาไม่อาจจะถือได้ว่าเป็นความรู้แท้ทั้งไม่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง.” บราเดอร์โบเวนเทียบรายละเอียดในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเป็นพระคำของพระเจ้ากับชิ้นส่วนภาพต่อ. เมื่อ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ต่อกัน ก็เกิดรูปภาพขึ้น. ยิ่งมีชิ้นส่วนมากเท่าไร รูปนั้นก็ยิ่งเห็นใหญ่ขึ้นและชัดขึ้นเท่านั้น และคนเราจึงพัฒนาความหยั่งรู้ค่ามากขึ้น. เรื่องนี้อาจช่วยทุกคนให้ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า.
วอลเลซ ลิเวอร์รันซ์ นายทะเบียนแห่งโรงเรียนกิเลียด เป็นผู้สรุปชุดคำบรรยาย. หัวเรื่องของท่านคือ “ถวายการขอบพระคุณเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้า.” ท่านชี้ให้สนใจเรื่องราวที่พระเยซูทรงรักษาคนโรคเรื้อนสิบคน. (ลูกา 17:11-19) คนโรคเรื้อนเพียงคนเดียวกลับมาสรรเสริญพระเจ้าและขอบพระคุณพระเยซู. บราเดอร์ลิเวอร์รันซ์ให้ความเห็นว่า “ไม่ต้องสงสัย คนอื่นก็ตื่นเต้นที่หายโรค. พวกเขารู้สึกยินดีเกี่ยวกับสภาพของตัวเอง แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาเพียงแต่ต้องการจะให้ได้รับการประกาศว่าสะอาดโดยปุโรหิต.” การชำระฝ่ายวิญญาณซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนรู้ความจริง รวมทั้งการสำนึกในพระกรุณาคุณ ควรกระตุ้นให้คนเราแสดงการขอบพระคุณต่อคุณความดีของพระองค์. นักเรียนกิเลียดในรุ่นที่ 108 ได้รับการสนับสนุนให้คิดรำพึงถึงพระราชกิจและคุณความดีทั้งสิ้นของพระเจ้าเพื่อจะทำให้การรับใช้และการเสียสละเป็นการสะท้อนถึงการขอบพระคุณพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 50:14, 23; 116:12, 17.
ประสบการณ์และการสัมภาษณ์ เกี่ยวกับวิธีถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์
มาร์ก นูแมร์ ผู้สอนในโรงเรียนกิเลียดอีกคนหนึ่ง นำส่วนต่อไปของระเบียบวาระ. ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในการประกาศของนักเรียนในชั้นระหว่างช่วงการฝึกอบรม. นักเรียนได้รับใช้เต็มเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 12 ปีก่อนมายังโรงเรียนกิเลียด. ในช่วงที่เข้าโรงเรียน พวกเขาเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลหลายรายกับคนที่มีภูมิหลังหลากหลาย ซึ่งแสดงว่านักเรียนรู้วิธี “เป็นคนทุกชนิดเพราะเห็นแก่คนทั้งปวง.”—1 โกรินโธ 9:22.
หลังจากการเล่าประสบการณ์ของนักเรียน ชาลส์ มอลาแฮนและวิลเลียม แซมมูเอลสัน สัมภาษณ์สมาชิกครอบครัวเบเธลและผู้ดูแลเดินทางบางคนซึ่งเคยเข้าโรงเรียนกิเลียด. พี่น้องคนหนึ่งที่ถูกสัมภาษณ์คือโรเบิร์ต เพฟอี ซึ่งรับใช้ในฟิลิปปินส์หลังจากสำเร็จการศึกษาจากกิเลียดรุ่นที่ 51. บราเดอร์เพฟอีเตือนใจนักเรียนว่า “เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหา ทุกคนก็ให้คำแนะนำถึงวิธีแก้ปัญหานั้น. มักจะมีใครบางคนที่ฉลาดกว่าคุณเสมอ คือคนที่จะแนะความคิดที่ดีกว่า. แต่ถ้าคุณหมายพึ่งคัมภีร์ไบเบิลและพยายามค้นหาทัศนะของพระเจ้าในเรื่องนั้น ก็จะไม่มีใครเก่งกว่านั้นไปได้. นั่นจะเป็นคำตอบที่ถูกเสมอ.”
ในการทำให้ระเบียบวาระฝ่ายวิญญาณที่ดีนี้ครบถ้วน จอห์น บาร์ สมาชิกคณะกรรมการปกครอง บรรยายในหัวเรื่อง “จงถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้แด่พระยะโฮวา.” ท่านแสดงวิธีที่การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์สามารถสะท้อนให้เห็นในงานประกาศเพื่อช่วยผู้มีหัวใจสุจริตนมัสการพระเจ้าในแนวทางที่ยอมรับได้. หลังจากอ้างถึงคำตรัสของพระเยซูที่มัดธาย 4:10 บราเดอร์บาร์กล่าวว่า “ถ้าเราจะนมัสการพระยะโฮวาองค์เดียว เราต้องหลีกห่างจากการนมัสการรูปเคารพในแบบแฝงเร้นทุกรูปแบบ เช่น ความโลภ, ความอยากได้ใคร่มี, และอยากเป็นคนเด่นดัง. น่าดีใจเพียงไรเมื่อคิดว่าเหล่ามิชชันนารีของเราตลอดหลายปีตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1940 ได้สร้างประวัติบันทึกอันยอดเยี่ยมในเรื่องนี้! และเราแน่ใจว่าพวกคุณที่สำเร็จการศึกษาจากกิเลียดในรุ่นที่ 108 นี้จะติดตามตัวอย่างที่ดีของพวกเขา. คุณกำลังจะถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวา ซึ่งเป็นองค์เดียวเท่านั้นที่คู่ควรจะได้รับ.”
นั่นเป็นจุดสุดยอดที่ดีของระเบียบวาระที่เสริมสร้าง. จากนั้นก็เป็นเวลาที่จะได้ยินการส่งความปรารถนาดีจากทั่วโลก, การมอบประกาศนียบัตร, และการอ่านจดหมายจากนักเรียนทั้งชั้นที่แสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการฝึกอบรมที่ได้รับ. นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาได้รับการกระตุ้นเตือนให้สำแดงการยืนหยัดในงานมอบหมายและในการรับใช้พระยะโฮวา. ทุกคนที่เข้าร่วม รวมทั้งแขกจาก 25 ประเทศ ร่วมในการจบระเบียบวาระด้วยเพลงและคำอธิษฐาน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 พิธีสำเร็จการศึกษาในวันที่ 11 มีนาคม 2000 จัดขึ้นที่ศูนย์การศึกษาว็อชเทาเวอร์ในแพตเทอร์สัน รัฐนิวยอร์ก.
[ภาพหน้า 23]
สถิติของชั้นเรียน
ตัวแทนมาจาก: 10 ประเทศ
ได้รับมอบหมายไปยัง: 17 ประเทศ
จำนวนนักเรียน: 46 คน
เฉลี่ยอายุ: 34 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่อยู่ในความจริง: 16 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีในงานรับใช้เต็มเวลา: 12 ปี
[ภาพหน้า 24]
ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 108 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
รายชื่อข้างล่างนี้ เลขแถวนับจากแถวหน้าไปแถวหลัง และชื่อเรียงตามลำดับจากซ้ายไปขวาในแต่ละแถว.
(1) Amadori, E.; Cook, O.; Byrne, M.; Lee, A. (2) Newsome, D.; Pederzolli, A.; Bigras, H.; Kato, T.; Gatewood, D. (3) Eade, D.; Eade, J.; Wells, S.; Jamison, J.; Gonzales, M.; Gonzales, J. (4) Kato, T.; Lohn, D.; Niklaus, Y.; Preiss, S.; Foster, P.; Ibarra, J. (5) Amadori, M.; Manning, M.; James, M.; Boström, A.; Gatewood, B.; Newsome, D. (6) Foster, B.; Jamison, R.; Hifinger, A.; Koffel, C.; Koffel, T.; Byrne, G. (7) Hifinger, K.; Manning, C.; Cook, J.; Boström, J.; Lohn, E.; Pederzolli, A. (8) James, A.; Wells, L.; Preiss, D.; Niklaus, E.; Lee, M.; Ibarra, P.; Bigras, Y.