ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงประกาศข่าวดีอย่างกระตือรือร้น

จงประกาศข่าวดีอย่างกระตือรือร้น

จง​ประกาศ​ข่าว​ดี​อย่าง​กระตือรือร้น

“จง​รุ่ง​โรจน์​ด้วย​พระ​วิญญาณ. จง​ทำ​งาน​อย่าง​ทาส​แด่​พระ​ยะโฮวา.”—โรม 12:11, ล.ม.

1, 2. คริสเตียน​พยายาม​รักษา​เจตคติ​เช่น​ไร​ใน​ฐานะ​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ดี?

ชาย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​รู้สึก​ตื่นเต้น​ที่​ได้​งาน​ใหม่. ใน​วัน​แรก​ที่​ทำ​งาน เขา​คอย​คำ​สั่ง​จาก​นาย​จ้าง​ด้วย​ความ​กระวนกระวาย​ใจ. เขา​ตั้ง​ตา​คอย​งาน​แรก​และ​ทำ​งาน​นั้น​อย่าง​เอา​จริง​เอา​จัง. เขา​กระตือรือร้น​ที่​จะ​ทำ​ให้​ดี​ที่​สุด.

2 ใน​ทำนอง​เดียว​กัน พวก​เรา​ที่​เป็น​คริสเตียน​อาจ​ถือ​ได้​ว่า​เรา​เอง​เป็น​คน​งาน​ใหม่. เนื่อง​จาก​เรา​มี​ความ​หวัง​ที่​จะ​มี​ชีวิต​ตลอด​ไป จึง​อาจ​กล่าว​ได้​ว่า​เรา​เพิ่ง​จะ​เริ่ม​ทำ​งาน​ให้​พระ​ยะโฮวา. แน่​ละ พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา​ทรง​มี​งาน​มาก​มาย​ใน​พระทัย​ของ​พระองค์​ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​เรา​มี​งาน​เต็ม​มือ​จน​ชั่วนิรันดร์. แต่​งาน​มอบหมาย​แรก​สุด​ที่​เรา​ได้​รับ​ก็​คือ​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เกี่ยว​กับ​ราชอาณาจักร. (1 เธซะโลนิเก 2:4) เรา​รู้สึก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​หน้า​ที่​มอบหมาย​นี้​จาก​พระเจ้า? เช่น​เดียว​กับ​ชาย​หนุ่ม​คน​นี้ เรา​ต้องการ​ทำ​หน้า​ที่​นี้​ให้​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​เรา​ทำ​ได้ ด้วย​ใจ​แรง​กล้า ด้วย​ความ​ยินดี—ด้วย​ความ​กระตือรือร้น!

3. อะไร​ที่​นับ​ว่า​จำเป็น​เพื่อ​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​ฐานะ​ผู้​รับใช้​แห่ง​ข่าว​ดี?

3 จริง​อยู่ การ​รักษา​เจตคติ​ใน​แง่​บวก​เช่น​นั้น​อาจ​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย. นอก​จาก​งาน​รับใช้​ของ​เรา​แล้ว เรา​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​อื่น​อีก​มาก​มาย บาง​อย่าง​อาจ​ต้อง​ใช้​กำลัง​กาย​และ​กำลัง​ความ​คิด​อย่าง​มาก. โดย​มาก​แล้ว เรา​จัด​การ​ดู​แล​สิ่ง​ต่าง ๆ เหล่า​นี้​ใน​ขณะ​เดียว​กับ​ที่​ให้​ความ​เอา​ใจ​ใส่​พอ​เพียง​ต่อ​งาน​รับใช้. กระนั้น นี่​อาจ​เป็น​เรื่อง​ที่​ต้อง​พยายาม​อยู่​เรื่อย​ไป. (มาระโก 8:34) พระ​เยซู​ทรง​เน้น​ว่า​ความ​สำเร็จ​ของ​เรา​ใน​ฐานะ​คริสเตียน​จำเป็น​ต้อง​อาศัย​ความ​พยายาม​อย่าง​มาก.—ลูกา 13:24.

4. ความ​กระวนกระวาย​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน​อาจ​มี​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​ทัศนะ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา?

4 เนื่อง​จาก​มี​หลาย​สิ่ง​หลาย​อย่าง​ที่​ต้อง​ทำ เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​อาจ​จะ​รู้สึก​หมด​แรง​หรือ​หนัก​ใจ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​บาง​ครั้ง. “ความ​กระวนกระวาย​ใน​เรื่อง​ชีวิต” อาจ​ทำ​ให้​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ของ​เรา​และ​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​กิจกรรม​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​ชะงัก​งัน​ไป. (ลูกา 21:34, 35, ล.ม.; มาระโก 4:18, 19) เนื่อง​จาก​เรา​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์ เรา​อาจ​ละ ‘ความ​รัก​ซึ่ง​เรา​เคย​มี​ใน​ตอน​แรก.’ (วิวรณ์ 2:1-4, ล.ม.) แง่​มุม​บาง​อย่าง​ใน​การ​รับใช้​ของ​เรา​แด่​พระ​ยะโฮวา​อาจ​กลาย​เป็น​กิจวัตร. คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​การ​หนุน​ใจ​ที่​จำเป็น​แก่​เรา​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​รักษา​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ใน​งาน​รับใช้​ให้​คง​อยู่​เสมอ?

เหมือน​อย่าง “ไฟ” ใน​หัวใจ​เรา

5, 6. อัครสาวก​เปาโล​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​ต่อ​สิทธิ​พิเศษ​ของ​ท่าน​ใน​การ​ประกาศ?

5 งาน​รับใช้​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอบ​แก่​เรา​มี​ค่า​มาก​เกิน​กว่า​จะ​ปล่อย​ให้​กลาย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา. อัครสาวก​เปาโล​ถือ​ว่า​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่ และ​ท่าน​ถือ​ว่า​ตัว​ท่าน​เอง​ไม่​คู่​ควร​จะ​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​นี้. ท่าน​กล่าว​ว่า “พระคุณ​นี้​ทรง​โปรด​ประทาน​แก่​ข้าพเจ้า​ผู้​เป็น​คน​เล็ก​กว่า​คน​เล็ก​ที่​สุด​ใน​สิทธชน​ทั้ง​หมด, ให้​ประกาศ​ความ​มั่งคั่ง​อัน​สมบูรณ์​ของ​พระ​คริสต์​ซึ่ง​จะ​หา​ที่​สุด​ไม่​ได้​แก่​พวก​ต่าง​ชาติ และ​ให้​คน​ทั้ง​ปวง​เห็น​ชัด​ถึง​ข้อ​ลับ​ลึก​ซึ่ง​ตั้ง​แต่​แรก​สร้าง​โลก ทรง​ปิด​บัง​ไว้​กับ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​สร้าง​สารพัตร​ทั้ง​ปวง.”—เอเฟโซ 3:8, 9.

6 เจตคติ​ใน​แง่​บวก​ต่อ​งาน​รับใช้​ของ​เปาโล​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เยี่ยม​สำหรับ​เรา. ใน​จดหมาย​ที่​มี​ไป​ถึง​ผู้​ที่​อยู่​ใน​กรุง​โรม ท่าน​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​มี​ความ​ปรารถนา​แรง​กล้า​จะ​ประกาศ​ข่าว​ดี.” ท่าน​ไม่​รู้สึก​ละอาย​ใน​เรื่อง​ข่าว​ดี. (โรม 1:15, 16, ล.ม.) ท่าน​มี​เจตคติ​ที่​ถูก​ต้อง​และ​กระตือรือร้น​ที่​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​ให้​สำเร็จ.

7. ใน​จดหมาย​ถึง​ผู้​ที่​อยู่​ใน​กรุง​โรม เปาโล​เตือน​ให้​ระวัง​อะไร?

7 อัครสาวก​เปาโล​ตระหนัก​ถึง​ความ​จำเป็น​ใน​การ​รักษา​ทัศนะ​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า ท่าน​จึง​เตือน​สติ​คริสเตียน​ที่อยู่​ใน​กรุง​โรม​ว่า “อย่า​ไถล​ใน​การ​งาน​ของ​ท่าน. จง​รุ่ง​โรจน์​ด้วย​พระ​วิญญาณ. จง​ทำ​งาน​อย่าง​ทาส​แด่​พระ​ยะโฮวา.” (โรม 12:11, ล.ม.) คำ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​ใน​ที่​นี้​ว่า “ไถล” ทำ​ให้​คิด​ถึง​สภาพ “เงื่อง​หงอย, เฉื่อย​ชา.” ใน​ขณะ​ที่​เรา​อาจ​จะ​ไม่​ได้​ไถล​จริง ๆ ใน​งาน​รับใช้​ของ​เรา เรา​ทุก​คน​จำ​ต้อง​ตื่น​ตัว​ต่อ​อาการ​เบื้อง​ต้น​ใด ๆ ก็​ตาม​ของ​ความ​เงื่อง​หงอย​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ปรับ​เปลี่ยน​เจตคติ​ของ​เรา​ตาม​ความ​เหมาะ​สม หาก​เรา​สังเกต​เห็น​อาการ​เช่น​นั้น​ใน​ตัว​เรา​เอง.—สุภาษิต 22:3.

8. (ก) อะไร​ได้​กลาย​เป็น​เหมือน “ไฟ” ใน​หัวใจ​ของ​ยิระมะยา และ​เพราะ​เหตุ​ใด? (ข) เรา​ได้​บทเรียน​อะไร​จาก​ประสบการณ์​ของ​ยิระมะยา?

8 พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​สามารถ​ช่วย​เรา​ได้​ด้วย​เมื่อ​เรา​ท้อ​ใจ. ยก​ตัว​อย่าง​เช่น ใน​คราว​หนึ่ง​ผู้​พยากรณ์​ยิระมะยา​รู้สึก​ท้อ​แท้​ใจ และ​ท่าน​คิด​อยาก​จะ​เลิก​เสีย​จาก​งาน​พยากรณ์​ของ​ท่าน. ท่าน​ถึง​กับ​พูด​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​ว่า “ข้าพเจ้า​จะ​ไม่​พูด​ถึง​พระองค์​อีก, หรือ​จะ​ไม่​บอก​ใน​นาม​ของ​พระองค์​อีก​แล้ว.” นี่​เป็น​หลักฐาน​แสดง​ว่า​ยิระมะยา​บกพร่อง​ฝ่าย​วิญญาณ​อย่าง​ร้ายแรง​ไหม? เปล่า​เลย. ที่​จริง สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​อัน​เข้มแข็ง​ของ​ยิระมะยา, ความ​รัก​ที่​ท่าน​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา, และ​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ของ​ท่าน​เพื่อ​ความ​จริง​ทำ​ให้​ท่าน​มี​พลัง​ที่​จะ​กล่าว​พยากรณ์​ต่อ​ไป. ท่าน​อธิบาย​ว่า “คำ​ของ [พระ​ยะโฮวา] อยู่​ใน​ใจ​ข้าพเจ้า​เหมือน​อย่าง​ไฟ​ปิด​ไว้​ใน​กะดูก​ทั้ง​ปวง​ของ​ตัว​ข้าพเจ้า, แล​ข้าพเจ้า​จึง​เหน็ด​เหนื่อย​ด้วย​การ​นิ่ง​อยู่, แล​ข้าพเจ้า​จะ​นิ่ง​ต่อ​ไป​มิ​ได้.” (ยิระมะยา 20:9) เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระเจ้า​รู้สึก​ท้อ​แท้​ใน​บาง​ครั้ง. แต่​เมื่อ​พวก​เขา​อธิษฐานขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา พระองค์​จะ​ทรง​อ่าน​หัวใจ​ของ​พวก​เขา​และ​ประทาน​พระ​วิญญาณ​ของ​พระองค์​ให้​อย่าง​ไม่​อั้น หาก​พวก​เขา​เป็น​เช่น​เดียว​กับ​ยิระมะยา คือ​มี​พระ​คำ​ของ​พระองค์​อยู่​ใน​หัวใจ.—ลูกา 11:9-13; กิจการ 15:8.

“อย่า​ดับ​พระ​วิญญาณ”

9. อะไร​อาจ​ขัด​ขวาง​กิจการ​งาน​ที่​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ทำ​เพื่อ​เรา?

9 อัครสาวก​เปาโล​เตือน​สติ​ชาว​เธซะโลนิเก​ว่า “อย่า​ดับ​พระ​วิญญาณ.” (1 เธซะโลนิเก 5:19) ถูก​แล้ว การ​กระทำ​และ​เจตคติ​ที่​ตรง​กัน​ข้าม​กับ​หลักการ​ของ​พระเจ้า​สามารถ​ขัด​ขวาง​กิจการ​งาน​ที่​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ทำ​เพื่อ​เรา. (เอเฟโซ 4:30) คริสเตียน​ใน​ปัจจุบัน​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ประกาศ​ข่าว​ดี. เรา​มอง​สิทธิ​พิเศษ​นี้​ด้วย​ความ​นับถือ​อย่าง​ยิ่ง. เรา​ไม่​แปลก​ใจ​ที่​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ไม่​รู้​จัก​พระเจ้า​มอง​งาน​ประกาศ​ของ​เรา​ด้วย​ความ​ดูถูก. แต่​เมื่อ​คริสเตียน​จงใจ​ละเลย​งาน​รับใช้​ของ​ตน นั่น​อาจ​ยัง​ผล​เป็น​การ​ดับ​ไฟ​แห่ง​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​ให้​แรง​กระตุ้น​ใจ.

10. (ก) ทัศนะ​ของ​เพื่อน​มนุษย์​ด้วย​กัน​อาจ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา​อย่าง​ไร? (ข) 2 โกรินโธ 2:17 แสดง​ถึง​ทัศนะ​อัน​สูง​ส่ง​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​งาน​รับใช้​ของ​เรา?

10 บาง​คน​ที่​อยู่​ภาย​นอก​ประชาคม​คริสเตียน​อาจ​มอง​งาน​รับใช้​ของ​เรา​ว่า​เป็น​เพียง​การ​จ่าย​แจก​สรรพหนังสือ. บาง​คน​อาจ​ลง​ความ​เห็น​ผิด ๆ ว่า​เรา​ไป​ตาม​บ้าน​เพียง​เพื่อ​ขอ​รับ​เงิน​บริจาค. หาก​เรา​ปล่อย​ให้​ทัศนะ​ใน​แง่​ลบ​เช่น​นั้น​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​เจตคติ​ของ​เรา นั่น​อาจ​ทำ​ให้​ประสิทธิผล​ใน​งาน​รับใช้​ของ​เรา​ลด​น้อย​ลง​ไป. แทน​ที่​จะ​ปล่อย​ให้​แง่​คิด​เช่น​นั้น​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา ให้​เรา​รักษา​ทัศนะ​อย่าง​ที่​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​ทรง​มี​ต่อ​งาน​รับใช้​ของ​เรา. อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ถึง​ทัศนะ​ที่​สูง​ส่ง​ดัง​กล่าว​เมื่อ​ท่าน​ประกาศ​ว่า “เรา​ไม่​ใช่​คน​เร่​ขาย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ที่​หลาย​คน​เป็น แต่​เรา​พูด​อย่าง​ที่​ออก​มา​จาก​ใจ​จริง ใช่ อย่าง​ที่​ถูก​ส่ง​มา​จาก​พระเจ้า ใน​สาย​พระ​เนตร​พระเจ้า ร่วม​กับ​พระ​คริสต์.”—2 โกรินโธ 2:17, ล.ม.

11. อะไร​ทำ​ให้​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​สามารถ​รักษา​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ไว้​ได้​แม้​ถูก​กดขี่​ข่มเหง และ​ตัว​อย่าง​ของ​พวก​เขา​ควร​มี​ผล​กระทบ​เรา​อย่าง​ไร?

11 ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม​เผชิญ​ช่วง​แห่ง​การ​กดขี่​ข่มเหง. พวก​เขา​ถูก​ขู่​และ​สั่ง​ห้าม​การ​ประกาศ. ถึง​กระนั้น คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​พวก​เขา “ประกอบ​ด้วย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ และ​กล่าว​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ด้วย​ความ​กล้า​หาญ.” (กิจการ 4:17, 21, 31, ล.ม.) ถ้อย​คำ​ของ​เปาโลที่​มี​ไป​ถึง​ติโมเธียว​หลาย​ปี​หลัง​จาก​นั้น​แสดง​ถึง​เจตคติ​ใน​แง่​บวก​ซึ่ง​คริสเตียน​ควร​รักษา​ไว้. เปาโล​กล่าว​ว่า “พระเจ้า​ไม่​ได้​ประทาน​น้ำใจ​ขลาด​กลัว แต่​น้ำใจ​ที่​มี​พลัง มี​ความ​รัก​และ​มี​สุขภาพ​จิต​ดี​แก่​เรา. เหตุ​ฉะนั้น อย่า​ละอาย​เรื่อง​คำ​พยาน​เกี่ยว​กับ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าของ​เรา ทั้ง​เรื่อง​ข้าพเจ้า​ผู้​ซึ่ง​ถูก​จองจำ​เพราะ​เห็น​แก่​พระองค์ แต่​ท่าน​จง​รับ​ส่วน​ของ​ท่าน​ใน​ความ​ยาก​ลำบาก​เพราะ​เห็น​แก่​ข่าว​ดี​โดย​อาศัย​ฤทธิ์​อำนาจ​ของ​พระเจ้า.”—2 ติโมเธียว 1:7, 8, ล.ม.

เรา​มี​พันธะ​อะไร​ต่อ​เพื่อน​บ้าน​ของ​เรา?

12. เหตุ​ผล​สำคัญ​ที่​เรา​ประกาศ​ข่าว​ดี​คือ​อะไร?

12 เพื่อ​จะ​มี​เจตคติ​ที่​ถูก​ต้อง​ต่อ​งาน​รับใช้​ของ​เรา เรา​ต้อง​มี​แรง​กระตุ้น​ที่​ถูก​ต้อง. ทำไม​เรา​จึง​ประกาศ? เหตุ​ผล​สำคัญ​นั้น​จะ​เห็น​ได้​จาก​คำ​กล่าว​ของ​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ ที่​ว่า “เหล่า​ผู้​จงรักภักดี​ของ​พระองค์​จะ​ถวาย​เกียรติยศ​แด่​พระองค์ [พระ​ยะโฮวา]. เขา​ทั้ง​หลาย​จะ​พูด​ถึง​สง่า​ราศี​แห่ง​ฐานะ​กษัตริย์​ของ​พระองค์ และ​เขา​จะ​เล่า​ถึง​ฤทธานุภาพ​ของ​พระองค์ เพื่อ​ประกาศ​ให้​บุตร​ทั้ง​หลาย​ของ​มนุษย์​ทราบ​ถึง​การ​อิทธิ​ฤทธิ์​ของ​พระองค์ และ​สง่า​ราศี​แห่ง​ความ​สง่า​งาม​แห่ง​ฐานะ​กษัตริย์​ของ​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 145:10-12, ล.ม.) ถูก​แล้ว เรา​ประกาศ​เพื่อ​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เปิด​เผย​และ​ทำ​ให้​พระ​นาม​ของ​พระองค์​เป็น​ที่​นับถือ​อัน​บริสุทธิ์​ต่อ​มนุษยชาติ​ทั้ง​มวล. แม้​เมื่อ​มี​ไม่​กี่​คน​ที่​ฟัง​เรา การ​ที่​เรา​ประกาศ​ข่าวสาร​แห่ง​ความ​รอด​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​นำ​คำ​สรรเสริญ​มา​สู่​พระ​ยะโฮวา.

13. อะไร​ผลัก​ดัน​เรา​ให้​บอก​คน​อื่น ๆ ถึง​ความ​หวัง​เกี่ยว​กับ​ความ​รอด?

13 นอก​จาก​นี้ เรา​ยัง​ประกาศ​เนื่อง​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ​ผู้​คน​และ​เพื่อ​จะ​ได้​ไม่​มี​ความ​ผิด​ฐาน​ทำ​ให้​โลหิต​ตก. (ยะเอศเคล 33:8; มาระโก 6:34) ที่​นับ​ว่า​สอดคล้อง​กับ​เรื่อง​นี้​คือ​คำ​พูด​ของ​เปาโล เมื่อ​ท่าน​กล่าว​ถึง​คน​ที่​อยู่​ภาย​นอก​ประชาคม​คริสเตียน​ว่า “ข้าพเจ้า​เป็น​หนี้​ทั้ง​พวก​เฮเลน​และ​พวก​ต่าง​ประเทศ​ด้วย, เป็น​หนี้​ทั้ง​นัก​ปราชญ์​และ​คน​เขลา​ด้วย.” (โรม 1:14) เปาโล​รู้สึก​ว่า​ท่าน​มี​พันธะ​ต่อ​ประชาชน​ที่​จะ​ประกาศ​ข่าว​ดี​แก่​พวก​เขา เนื่อง​จาก​พระเจ้า​ทรง​มี​พระทัย​ประสงค์​ให้ “คน​ทุก​ชนิด​ได้​ความ​รอด.” (1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) ปัจจุบัน เรา​รู้สึก​ถึง​ความ​รัก​และ​พันธะ​อย่าง​เดียว​กัน​ต่อ​เพื่อน​บ้าน​ของ​เรา. ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​มนุษยชาติ​กระตุ้น​พระองค์​ให้​ส่ง​พระ​บุตร​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก​ให้​วาย​พระ​ชนม์​เพื่อ​พวก​เขา. (โยฮัน 3:16) นั่น​เป็น​การ​เสีย​สละ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่. เรา​เลียน​แบบ​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา​เมื่อ​เรา​ใช้​เวลา​และ​ความ​พยายาม​เพื่อ​บอก​คน​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​ข่าว​ดี​แห่ง​ความ​รอด​ซึ่ง​อาศัย​เครื่อง​บูชา​ของ​พระ​เยซู.

14. คัมภีร์​ไบเบิล​พรรณนา​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​โลก​ภาย​นอก​ประชาคม​คริสเตียน?

14 พยาน​พระ​ยะโฮวา​มอง​ดู​เพื่อน​มนุษย์​ใน​ฐานะ​ที่​เขา​อาจ​เข้า​มา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​ภราดรภาพ​แบบ​คริสเตียน. เรา​ต้อง​ประกาศ​ด้วย​ความ​กล้า​หาญ แต่​กระนั้น ความ​กล้า​ของ​เรา​ไม่​ใช่​ใน​ลักษณะ​พร้อม​จะ​ปะทะ. เป็น​ความ​จริง​ที่​ว่า คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​ถ้อย​คำ​แรง ๆ เมื่อ​กล่าว​ถึง​โลก​โดย​ทั่ว​ไป. สำหรับ​คำ​ว่า “โลก” เอง เปาโล​ได้​ใช้​ใน​แง่​ลบ​เมื่อ​ท่าน​กล่าว​ถึง “ปัญญา​ของ​โลก​นี้” และ “ความ​ปรารถนา​ทาง​โลก.” (1 โกรินโธ 3:19; ติโต 2:12, ล.ม.) เปาโล​ยัง​เตือน​คริสเตียน​ชาว​เอเฟโซ​ด้วย​ให้​ระลึก​ว่า คราว​ที่​พวก​เขา​ดำเนิน “ตาม​ระบบ​ของ​โลก​นี้” พวก​เขา​ได้ “ตาย​แล้ว” ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ. (เอเฟโซ 2:1-3, ล.ม.) ข้อ​ความ​เหล่า​นี้​และ​ข้อ​ความ​อื่น​ที่​คล้าย ๆ กัน​ต่าง​ก็​สอดคล้อง​กับ​คำ​กล่าว​ของ​อัครสาวก​โยฮัน ที่​ว่า “โลก​ทั้ง​สิ้น​อยู่​ใน​อำนาจ​ตัว​ชั่ว​ร้าย​นั้น.”—1 โยฮัน 5:19, ล.ม.

15. เกี่ยว​ด้วย​คน​ภาย​นอก​ประชาคม​คริสเตียน เรา​จะ​ไม่​ทำ​อะไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

15 อย่าง​ไร​ก็​ตาม ต้อง​ไม่​ลืม​ว่า​ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว​พาด​พิง​ถึง​โลก​โดย​ทั่ว​ไป​ที่​เหินห่าง​จาก​พระเจ้า ไม่​ได้​พาด​พิง​ถึง​ปัจเจกบุคคล. คริสเตียน​ไม่​ทึกทัก​และ​ตัดสิน​ไป​ก่อน​ว่า​ประชาชน​เป็น​ราย​บุคคล​จะ​ตอบรับ​งาน​ประกาศ​อย่าง​ไร. พวก​เขา​ไม่​มี​มูลฐาน​ที่​จะ​ระบุ​ว่า​คน​นั้น​คน​นี้​เป็น​แพะ. ไม่​ใช่​หน้า​ที่​ของ​เรา​ที่​จะ​บอก​ว่า​ผล​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​เมื่อ​พระ​เยซู​เสด็จ​มา​แยก “แกะ” ออก​จาก “แพะ.” (มัดธาย 25:31-46) พระ​เยซู​ทรง​เป็น​ผู้​พิพากษา​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง; ไม่​ใช่​เรา. นอก​จาก​นั้น มี​ประสบการณ์​ที่​ได้​พิสูจน์​ให้​เห็น​ว่า​บาง​คน​ที่​เคย​พัวพัน​ใน​การ​ประพฤติ​อัน​ชั่ว​ร้าย​อย่าง​ยิ่ง​ได้​ตอบรับ​ข่าวสาร​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล, เปลี่ยน​แปลง, และ​กลาย​มา​เป็น​คริสเตียน​ที่​ดำเนิน​ชีวิต​สะอาด. ดัง​นั้น แม้​ว่า​เรา​ไม่​พา​ตัว​เข้า​ไป​คบหา​กับ​คน​บาง​คน แต่​เรา​ไม่​ลังเล​ที่​จะ​พูด​กับ​เขา​ถึง​ความ​หวัง​เรื่อง​ราชอาณาจักร​เมื่อ​โอกาส​เปิด​ออก​ให้. พระ​คัมภีร์​กล่าว​ถึง​บาง​คน​ซึ่ง แม้​ใน​ขณะ​ที่​ยัง​เป็น​ผู้​ไม่​มี​ความ​เชื่อ แต่​ก็ “มี​ความโน้ม​เอียง​อย่าง​ถูก​ต้อง​เพื่อ​ชีวิต​นิรันดร์.” ใน​ที่​สุด คน​เหล่า​นี้​ได้​เข้า​มา​เป็น​ผู้​มี​ความ​เชื่อ. (กิจการ 13:48, ล.ม.) เรา​ไม่​มี​ทาง​ทราบ​ว่า​ใคร​มี​ความ​โน้ม​เอียง​อย่าง​ถูก​ต้อง​เช่น​นั้น จน​กว่า​เรา​จะ​ได้​ให้​คำ​พยาน​แก่​เขา​แล้ว ซึ่ง​ก็​อาจ​จะ​ต้อง​หลาย ๆ ครั้ง. โดย​คำนึง​ถึง​ข้อ​นี้​เอา​ไว้ เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​ที่​ยัง​ไม่​ได้​ตอบรับ​ข่าวสาร​แห่ง​ความ​รอด​ด้วย “ใจ​อ่อนโยน” และ​ด้วย “ความ​นับถือ​สุด​ซึ้ง” โดย​หวัง​ว่า​บาง​คน​ใน​พวก​เขา​อาจ​ตอบรับ​ข่าวสาร​ที่​ให้​ชีวิต.— 2 ติโมเธียว 2:25, ล.ม.; 1 เปโตร 3:15, ล.ม.

16. เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​เรา​ต้องการ​จะ​พัฒนา “ศิลปะ​แห่ง​การ​สอน” คือ​อะไร?

16 การ​พัฒนา​ความ​ชำนิ​ชำนาญ​ใน​ฐานะ​ผู้​สอน​จะ​ช่วย​ให้​เรา​กระตือรือร้น​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​ประกาศ​ข่าว​ดี. เพื่อ​ให้​เห็น​ภาพ​ชัด​ขึ้น: เกม​หรือ​กีฬา​ที่​น่า​ตื่นเต้น​บาง​อย่าง​อาจ​ไม่​น่า​สนใจ​สำหรับ​คน​ที่​ไม่​ทราบ​วิธี​เล่น. แต่​สำหรับ​คน​ที่​เล่น​ได้​ดี เกม​หรือ​กีฬา​นั้น​ให้​ความ​เพลิดเพลิน​ที​เดียว. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน คริสเตียน​ที่​ได้​พัฒนา “ศิลปะ​แห่ง​การ​สอน” มี​ความ​ยินดี​มาก​ขึ้น​ใน​งาน​รับใช้. (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.; ติโต 1:9) เปาโล​แนะ​นำ​ติโมเธียว​ว่า “จง​ทำ​สุด​ความ​สามารถ​เพื่อ​สำแดง​ตน​ให้​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระเจ้า เป็น​คน​งาน​ที่​ไม่​มี​อะไร​ต้อง​อาย ใช้​คำ​แห่ง​ความ​จริง​อย่าง​ถูก​ต้อง.” (2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.) เรา​จะ​พัฒนา​ความ​ชำนิ​ชำนาญ​ใน​การ​สอน​ของ​เรา​ได้​อย่าง​ไร?

17. เรา​จะ “ปลูกฝัง​ความ​ปรารถนา” ที่​จะ​ได้​ความ​รู้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​วิธี​ใด และ​ความ​รู้​ดัง​กล่าว​จะ​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ไร​ต่อ​งาน​รับใช้​ของ​เรา?

17 วิธี​หนึ่ง​คือ​โดย​การ​รับ​ความ​รู้​ถ่องแท้​เพิ่ม​เติม. อัครสาวก​เปโตร​สนับสนุน​เรา​ดัง​นี้: “ดุจ​ดัง​ทารก​ที่​เพิ่ง​คลอด จง​ปลูกฝัง​ความ​ปรารถนา​จะ​ได้​น้ำ​นม​อัน​ไม่​มี​อะไร​เจือ​ปน​ที่​เป็น​ของ​พระ​คำ เพื่อ​โดย​น้ำ​นม​นั้น ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​เติบโต​ถึง​ความ​รอด.” (1 เปโตร 2:2, ล.ม.) ทารก​ที่​สุขภาพ​ดี​มี​ความ​ปรารถนา​ตาม​สัญชาตญาณ​ที่​จะ​ได้​น้ำ​นม. อย่าง​ไร​ก็​ดี คริสเตียน​อาจ​จำเป็น​ต้อง “ปลูกฝัง​ความ​ปรารถนา” จะ​ได้​ความ​รู้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. อาจ​ทำ​เช่น​นี้​ได้​ด้วย​การ​ปลูกฝัง​นิสัย​ที่​ดี​ใน​การ​ศึกษา​และ​การ​อ่าน. (สุภาษิต 2:1-6) ความ​พยายาม​และ​การ​ใช้​วินัย​กับ​ตัว​เอง​เป็น​สิ่ง​ที่​จำเป็น​ต้อง​มี​หาก​เรา​ต้องการ​จะ​กลาย​เป็น​ผู้​สอน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​ชำนาญ แต่​ความ​พยายาม​เช่น​นั้น​นำ​บำเหน็จ​มา​ให้. ความ​ยินดี​ที่​มา​จาก​การ​ตรวจ​สอบ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​จะ​ทำ​ให้​เรา​รุ่ง​โรจน์​ด้วย​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า ทำ​ให้​เรา​กระตือรือร้น​ที่​จะ​แบ่ง​ปัน​สิ่ง​ที่​เรา​ได้​เรียน​รู้​แก่​ผู้​อื่น.

18. การ​ประชุม​คริสเตียน​จะ​ช่วย​เตรียม​เรา​ไว้​อย่าง​ไร​ที่​จะ​ใช้​พระ​คำ​แห่ง​ความ​จริง​อย่าง​ถูก​ต้อง?

18 การ​ประชุม​คริสเตียน​มี​บทบาท​สำคัญ​ด้วย​ใน​การ​ที่​เรา​จะ​ใช้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ชำนาญ. เมื่อ​มี​การ​อ่าน​ข้อ​พระ​คัมภีร์​ใน​คำ​บรรยาย​สาธารณะ​และ​การ​พิจารณา​พระ​คัมภีร์​รายการ​อื่น ๆ เรา​ควร​ติด​ตาม​การ​อ่าน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เรา​เอง. นับ​ว่า​สุขุม​ที่​เรา​จะ​เอา​ใจ​ใส่​จริง ๆ ต่อ​ส่วน​ต่าง ๆ ใน​การ​ประชุม รวม​ทั้ง​ส่วน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​โดย​เฉพาะ​กับ​งาน​ประกาศ​ของ​เรา. ขอ​เรา​อย่า​ได้​ประเมิน​ค่า​การ​สาธิต​ต่าง ๆ ต่ำ​ไป อาจ​จะ​โดย​ที่​ปล่อย​ให้​ตัว​เอง​ใจ​ลอย. อีก​ครั้ง​หนึ่ง การ​ใช้​วินัย​กับ​ตัว​เอง​และ​การ​เอา​ใจ​จดจ่อ​เป็น​สิ่ง​จำเป็น. (1 ติโมเธียว 4:16) การ​ประชุม​คริสเตียน​ช่วย​เสริม​สร้าง​ความ​เชื่อ​ของ​เรา, ช่วย​เรา​ปลูกฝัง​ความ​ปรารถนา​จะ​ได้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า, และ​ฝึก​สอน​เรา​ให้​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ดี​ที่​กระตือรือร้น.

เรา​สามารถ​หมาย​พึ่ง​การ​สนับสนุน​จาก​พระ​ยะโฮวา

19. เหตุ​ใด​การ​เข้า​ร่วม​เป็น​ประจำ​ใน​งาน​ประกาศ​จึง​สำคัญ?

19 คริสเตียน​ที่ “รุ่ง​โรจน์​ด้วย​พระ​วิญญาณ” และ​กระตือรือร้น​ที่​จะ​ประกาศ​ข่าว​ดี​พยายาม​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​เข้า​ร่วม​เป็น​ประจำ​ใน​งาน​รับใช้. (เอเฟโซ 5:15, 16) จริง​อยู่ สภาพของ​แต่​ละ​คน​แตกต่าง​กัน และ​ไม่​ใช่​ทุก​คน​สามารถ​ใช้​เวลา​เท่า​กัน​ใน​งาน​ช่วย​ชีวิต​นี้. (ฆะลาเตีย 6:4, 5) กระนั้น สิ่ง​ที่​อาจ​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​ปริมาณ​ของ​เวลา​ทั้ง​หมด​ที่​เรา​ใช้​ใน​งาน​ประกาศ​ข่าว​ดี​ก็​คือ​การ​ที่​เรา​บอก​คน​อื่น​ใน​เรื่อง​ความ​หวัง​ของ​เรา​บ่อย ๆ. (2 ติโมเธียว 4:1, 2) ยิ่ง​เรา​ประกาศ​มาก​เท่า​ไร เรา​ก็​จะ​ยิ่ง​หยั่ง​รู้​ค่า​ความ​สำคัญ​ของ​งาน​นี้​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น. (โรม 10:14, 15) เรา​จะ​เติบโต​ยิ่ง​ขึ้น​ใน​ด้าน​ความ​เมตตา​รักใคร่​และ​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ เมื่อ​เรา​ได้​มา​ติด​ต่อ​เป็น​ประจำ​กับ​ประชาชน​ที่​มี​น้ำ​ใส​ใจ​จริง​ซึ่ง​กำลัง​ถอน​หายใจ​และ​ครวญ​คราง​และ​ปราศจาก​ความ​หวัง.—ยะเอศเคล 9:4; โรม 8:22.

20, 21. (ก) งาน​อะไร​ยัง​คง​อยู่​ตรง​หน้า​เรา? (ข) พระ​ยะโฮวา​กำลัง​หนุน​หลัง​ความ​พยายาม​ของ​เรา​อย่าง​ไร?

20 พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอบ​ข่าว​ดี​ไว้​กับ​เรา. นี่​เป็น​งาน​มอบหมาย​แรก​ที่​เรา​ได้​รับ​จาก​พระองค์​ใน​ฐานะ “ผู้​ร่วม​ทำ​การ​ด้วย​กัน” กับ​พระองค์. (1 โกรินโธ 3:6-9) เรา​กระตือรือร้น​ที่​จะ​ทำ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ที่​ได้​รับ​จาก​พระเจ้า​นี้​ให้​สำเร็จ​อย่าง​สุด​จิตวิญญาณ สุด​ความ​สามารถ​ของ​เรา. (มาระโก 12:30; โรม 12:1) ยัง​คง​มี​ผู้​คน​มาก​มาย​ใน​โลก​ที่​มี​ความ​โน้ม​เอียง​อย่าง​ถูก​ต้อง​ซึ่ง​กระหาย​จะ​ได้​รับ​ความ​จริง. มี​งาน​อีก​มาก​ที่​ต้อง​ทำ แต่​เรา​สามารถ​หมาย​พึ่ง​การ​สนับสนุน​จาก​พระ​ยะโฮวา​ขณะ​ที่​เรา​ทำ​งาน​รับใช้​ของ​เรา​ให้​สำเร็จ​ครบ​ถ้วน.—2 ติโมเธียว 4:5.

21 พระ​ยะโฮวา​ทรง​เสนอ​จะ​ประทาน​พระ​วิญญาณ​ของ​พระองค์​และ​จัด​ให้​เรา​มี “ดาบ​แห่ง​พระ​วิญญาณ” คือ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​ของ​พระองค์ เรา​สามารถ​เปิด​ปาก​ของ​เรา​พูด “เพื่อ​จะ​ประกาศ​ความ​ลับ​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​แห่ง​ข่าว​ดี​ด้วย​การ​พูด​อย่าง​สะดวก​ใจ.” (เอเฟโซ 6:17-20, ล.ม.) ขอ​ให้​ผู้​อื่น​พูด​ถึง​เรา​อย่าง​ที่​อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​เธซะโลนิเก​ว่า “ข่าว​ดี​ที่​เรา​ประกาศ​ไม่​ได้​มา​ถึง​ท่ามกลาง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​โดย​วาจา​เท่า​นั้น​แต่​โดย​ฤทธิ์​และ​โดย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​และ​ความ​มั่น​ใจ​เต็ม​ที่​ด้วย” (1 เธซะโลนิเก 1:5, ล.ม.) ใช่​แล้ว ให้​เรา​ประกาศ​ข่าว​ดี​ด้วย​ความ​กระตือรือร้น!

ทบทวน​สั้น ๆ

• เนื่อง​ด้วย​ความ​กังวล​ใน​ชีวิต อาจ​เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ของ​เรา​ใน​งาน​รับใช้?

• ความ​ปรารถนา​ของ​เรา​ที่​จะ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ควร​เป็น​เหมือน “ไฟ” ใน​หัวใจ​ของ​เรา​อย่าง​ไร?

• เรา​ควร​หลีก​เลี่ยง​การ​มี​เจตคติ​แง่​ลบ​เช่น​ไร​ต่อ​งาน​รับใช้?

• โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว เรา​ควร​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​ต่อ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​เหมือน​กับ​เรา?

• พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​เรา​อย่าง​ไร​ให้​รักษา​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ใน​งาน​ประกาศ?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 9]

คริสเตียน​เลียน​แบบ​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ของ​เปาโล​และ​ยิระมะยา

[ภาพ​หน้า 10]

ความ​กระตือรือร้น​ของ​เรา​ใน​งาน​รับใช้​ได้​รับ​แรง​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระเจ้า​และ​เพื่อน​บ้าน