ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การข่มเหงกระตุ้นให้มีการเพิ่มทวีในเมืองอันติโอเกีย

การข่มเหงกระตุ้นให้มีการเพิ่มทวีในเมืองอันติโอเกีย

การ​ข่มเหง​กระตุ้น​ให้​มี​การ​เพิ่ม​ทวี​ใน​เมือง​อันติโอเกีย

เมื่อ​การ​ข่มเหง​ปะทุ​ขึ้น​หลัง​จาก​การ​พลี​ชีวิต​เพื่อ​ความ​เชื่อ​ของ​ซะเตฟาโน สาวก​หลาย​คน​ของ​พระ​เยซู​ได้​หนี​ออก​จาก​กรุง​ยะรูซาเลม. ที่​แห่ง​หนึ่ง​ที่​พวก​เขา​ลี้​ภัย​ไป​อยู่​คือ​เมือง​อันติโอเกีย​ใน​ซุเรีย (ซีเรีย) ซึ่ง​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​กรุง​ยะรูซาเลม​ขึ้น​ไป​ประมาณ 550 กิโลเมตร. (กิจการ 11:19) เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ที่​นั่น​ต่อ​จาก​นั้น​จะ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​วิถี​แห่ง​ประวัติศาสตร์​ทั้ง​สิ้น​ของ​ศาสนา​คริสเตียน. เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​รู้​ราย​ละเอียด​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​เมือง​อันติโอเกีย.

ใน​บรรดา​เมือง​ต่าง ๆ ของ​จักรวรรดิ​โรมัน เมือง​อันติโอเกีย​เป็น​รอง​เพียง​แค่​กรุง​โรม​และ​อะเล็กซานเดรีย​เท่า​นั้น​ใน​ด้าน​ขนาด, ความ​เจริญ​รุ่งเรือง​และ​ความ​สำคัญ. มหา​นคร​ของ​ซุเรีย​แห่ง​นี้​เป็น​ใหญ่​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​ลุ่ม​น้ำ​เมดิเตอร์เรเนียน. เมือง​อันติโอเกีย (ปัจจุบัน​คือ​เมือง​อัน​ทา​เกีย ประเทศ​ตุรกี) ตั้ง​อยู่​บน​ฝั่ง​แม่น้ำ​โอรอนติส ซึ่ง​เป็น​ทาง​เชื่อม​ไป​ถึง​ท่า​เรือ​เซลูเซีย พีเรีย​ที่​ห่าง​ออก​ไป 32 กิโลเมตร. เมือง​นี้​ควบคุม​เส้น​ทาง​การ​ค้า​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​สาย​หนึ่ง​ระหว่าง​กรุง​โรม​และ​ลุ่ม​น้ำ​ไทกริส-ยูเฟรทิส. ใน​ฐานะ​เป็น​ศูนย์กลาง​ทาง​การ​ค้า เมือง​นี้​ดำเนิน​ธุรกิจ​กับ​ทั้ง​จักรวรรดิ​และ​เป็น​ที่​ทำ​กิจกรรม​ของ​ผู้​คน​ทุก​ประเภท ซึ่ง​นำ​ข่าว​ความ​เคลื่อน​ไหว​ทาง​ศาสนา​จาก​ทุก ๆ ที่​ใน​จักรวรรดิ​โรมัน​มา​ด้วย.

ศาสนา​และ​ปรัชญา​แบบ​กรีก​เจริญ​รุ่งเรือง​ใน​เมือง​อันติโอเกีย. แต่​นัก​ประวัติศาสตร์​ชื่อ​แกลน​วิลล์ ดาวนีย์ กล่าว​ว่า “ใน​สมัย​ของ​พระ​คริสต์ ลัทธิ​และ​ปรัชญา​แบบ​เก่า​กำลัง​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ส่วน​ตัว ใน​ขณะ​ที่​ผู้​คน​แสวง​หา​ความ​พึง​พอ​ใจ​ด้าน​ศาสนา​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​และ​ความ​ทะเยอทะยาน​ของ​ตน​เอง​อย่าง​เป็น​เอกเทศ.” (ประวัติศาสตร์​ของ​อันติโอเกีย​แห่ง​ซุเรีย ภาษา​อังกฤษ) หลาย​คน​พอ​ใจ​ใน​คำ​สอน​เรื่อง​พระเจ้า​องค์​เดียว, งาน​เทศกาล, และ​หลัก​ศีลธรรม​ต่าง ๆ ของ​ศาสนา​ยูดาย.

มี​ชุมชน​ชาว​ยิว​ขนาด​ใหญ่​อยู่​ใน​เมือง​อันติโอเกีย​มา​ตั้ง​แต่​การ​ก่อ​ตั้ง​เมือง​นี้​ใน​ปี 300 ก.ส.ศ. มี​การ​กะ​ประมาณ​ว่า​ชุมชน​นั้น​มี​ประชากร​อยู่​ราว ๆ 20,000 ถึง 60,000 คน ซึ่ง​มาก​กว่า​ร้อย​ละ​สิบ​ของ​ประชากร​ทั้ง​หมด. นัก​ประวัติศาสตร์​ชื่อ​โยเซฟุส​กล่าว​ว่า ราชวงศ์​เซเลอคิด​สนับสนุน​ให้​ชาว​ยิว​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ใน​เมือง โดย​ให้​พวก​เขา​ได้​สิทธิ​เป็น​พลเมือง​เต็ม​ขั้น. พอ​ถึง​ตอน​นั้น พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ก็​มี​ให้​อ่าน​ใน​ภาษา​กรีก​แล้ว. นี่​กระตุ้น​ให้​เกิด​ความ​สนใจ​ใน​หมู่​ผู้​ที่​เห็น​พ้อง​กับ​ความ​ปรารถนา​ของ​ชาว​ยิว​เรื่อง​มาซีฮา. ด้วย​เหตุ​นี้ มี​ชาว​กรีก​หลาย​คน​หัน​มา​นับถือ​ศาสนา​ยิว. ปัจจัย​ทั้ง​หมด​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​เมือง​อันติโอเกีย​เป็น​เขต​ที่​อุดม​สมบูรณ์​สำหรับ​การ​ทำ​คน​ให้​เป็น​สาวก​คริสเตียน.

การ​ให้​คำ​พยาน​แก่​คน​ต่าง​ชาติ

ผู้​ติด​ตาม​พระ​เยซู​ซึ่ง​ถูก​กดขี่​ข่มเหง​และ​กระจัด​กระจาย​ไป​จาก​กรุง​ยะรูซาเลม​ส่วน​ใหญ่​แบ่ง​ปัน​ความ​เชื่อ​ของ​ตน​กับ​ชาว​ยิว​เท่า​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​เมือง​อันติโอเกีย สาวก​บาง​คน​จาก​เกาะ​กุบโร (ไซปรัส) และ​กุเรเน​พูด​กับ “พวก​กรีก.” (กิจการ 11:20, ฉบับ​แปล​ใหม่) แม้​ว่า​การ​ประกาศ​แก่​ชาว​ยิว​และ​ผู้​เปลี่ยน​ศาสนา​ที่​พูด​ภาษา​กรีก​เริ่ม​มา​ตั้ง​แต่​วัน​เพนเตคอสเต​ปี ส.ศ. 33 แต่​งาน​ประกาศ​ใน​เมือง​อันติโอเกีย​ดู​เหมือน​เป็น​สิ่ง​ใหม่. การ​ประกาศ​นี้​ไม่​ได้​มุ่ง​ไป​ที่​พวก​ยิว​เท่า​นั้น. จริง​อยู่ ชาว​ต่าง​ชาติ​ชื่อ​โกระเนเลียว​และ​ครอบครัว​ของ​เขา​เข้า​มา​เป็น​สาวก​แล้ว. แต่​ต้อง​อาศัย​นิมิต​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​จะ​ทำ​ให้​อัครสาวก​เปโตร​เชื่อ​ว่า​การ​ประกาศ​แก่​ชาว​ต่าง​ชาติ​เป็น​สิ่ง​สม​ควร​ทำ.—กิจการ 10:1-48.

ใน​เมือง​ที่​มี​ชุมชน​ชาว​ยิว​เก่า​แก่​ขนาด​ใหญ่​และ​ไม่​มี​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์​กัน​มาก​นัก​ระหว่าง​ชาว​ยิว​กับ​ชาว​ต่าง​ชาติ คน​ที่​ไม่​ใช่​ยิว​จึง​รับ​คำ​พยาน​และ​ตอบรับ​ข่าว​ดี. เมือง​อันติโอเกีย​ดู​เหมือน​จะ​มี​บรรยากาศ​ที่​ดี​ที่​ทำ​ให้​เกิด​แนว​โน้ม​เช่น​นั้น และ ‘คน​เป็น​อัน​มาก​ได้​เชื่อ.’ (กิจการ 11:21) และ​เมื่อ​คน​ต่าง​ชาติ​ซึ่ง​เปลี่ยน​มา​นับถือ​ศาสนา​ยิว​ที่​เคย​นมัสการ​เทพเจ้า​นอก​รีต​กลาย​เป็น​คริสเตียน พวก​เขา​ก็​พร้อม​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​ให้​คำ​พยาน​แก่​ชาว​ต่าง​ชาติ​คน​อื่น ๆ ซึ่ง​ยัง​นมัสการ​เทพเจ้า​เหล่า​นั้น​อยู่.

เมื่อ​ได้​ยิน​เรื่อง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​เมือง​อันติโอเกีย ประชาคม​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม​ก็​ส่ง​บาระนาบา​ไป​เพื่อ​ตรวจ​สอบ. การ​เลือก​ครั้ง​นั้น​เป็น​การ​ฉลาด​และ​แสดง​ความ​รัก. ท่าน​เป็น​ชาว​เกาะ​กุบโร เช่น​เดียว​กับ​คน​เหล่า​นั้น​บาง​คน​ที่​เริ่ม​ประกาศ​ให้​แก่​คน​ที่​ไม่​ใช่​ยิว. บาระนาบา​คง​จะ​รู้สึก​เป็น​กัน​เอง​ใน​หมู่​ชาว​ต่าง​ชาติ​ใน​เมือง​อันติโอเกีย. ส่วน​พวก​เขา​ก็​คง​จะ​ถือ​ว่า​ท่าน​เป็น​สมาชิก​คน​หนึ่ง​ใน​ชุมชน​ที่​อยู่​ไม่​ไกล​กัน​ซึ่ง​คุ้น​เคย​กัน​ดี. * ท่าน​สามารถ​ร่วม​ความ​รู้สึก​กับ​การ​งาน​ที่​กำลัง​ดำเนิน​ไป. ดัง​นั้น “เมื่อ​บาระนาบา​มา​ถึง​แล้ว, และ​ได้​เห็น​พระคุณ​ของ​พระเจ้า​ก็​ปีติ​ยินดี, จึง​ได้​เตือน​บรรดา​คน​เหล่า​นั้น​ให้​ปลง​ใจ​มั่นคง​ติด​สนิท​อยู่​กับ​พระเจ้า” และ “จำนวน​คน​ของ​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ก็​ได้​ทวี​ขึ้น​เป็น​อัน​มาก.”—กิจการ 11:22-24.

นัก​ประวัติศาสตร์​ดาวนีย์​แนะ​ว่า “เหตุ​ผล​ที่​เป็น​ไป​ได้​ที่ว่าการ​เผยแพร่​ใน​ยุค​เริ่ม​แรก​ที่​เมือง​อันติโอเกีย​ประสบ​ความ​สำเร็จ​อาจ​เป็น​เพราะ​ใน​เมือง​นี้ พวก​มิชชันนารี​ไม่​จำเป็น​ต้อง​กลัว​พวก​ยิว​ที่​คลั่ง​ศาสนา​เหมือน​ที่​พวก​เขา​ประสบ​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม; นอก​จาก​นั้น เมือง​นี้​เป็น​เมือง​หลวง​ของ​ซุเรีย​ซึ่ง​ปกครอง​โดย​ผู้​บัญชา​การ​ทหาร และ​สังคม​จึง​มี​ระเบียบ​มาก​กว่า และ​มี​โอกาส​น้อย​กว่า​ที่​ฝูง​ชน​จะ​ก่อ​ความ​วุ่นวาย​เหมือน​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม ที่​ซึ่ง​ผู้​ปกครอง​แคว้น​ยูเดีย​ดู​เหมือน​ไม่​สามารถ​ยับยั้ง​ชาว​ยิว​ที่​คลั่ง​ศาสนา​ได้ (อย่าง​น้อย​ใน​ช่วง​นั้น).”

ใน​สภาพการณ์​ที่​เอื้ออำนวย​เช่น​นี้ และ​มี​งาน​มาก​ที่​จะ​ต้อง​ทำ บาระนาบา​อาจ​จะ​ตระหนัก​ว่า​ท่าน​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ และ​ท่าน​คิด​ถึง​สหาย​ของ​ท่าน คือ​เซาโล. ทำไม​ต้อง​เป็น​เซาโล หรือ​อีก​ชื่อ​หนึ่ง​คือ​เปาโล? ดู​เหมือน​ว่า​เนื่อง​จาก​เปาโล แม้​ว่า​ไม่​ได้​เป็น​หนึ่ง​ใน​อัครสาวก 12 คน แต่​ก็​ได้​รับ​ตำแหน่ง​อัครสาวก​ไป​ยัง​ชาติ​ต่าง ๆ. (กิจการ 9:15, 27; โรม 1:5; วิวรณ์ 21:14) ด้วย​เหตุ​นี้ เปาโล​จึง​เหมาะ​มาก​ใน​ฐานะ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ประกาศ​ข่าว​ดี​ใน​เมือง​ของ​คน​ต่าง​ชาติ​เช่น​อันติโอเกีย. (ฆะลาเตีย 1:16) ดัง​นั้น บาระนาบา​จึง​ไป​ยัง​เมือง​ตาระโซ​เพื่อ​พบ​เปาโล แล้ว​พา​ท่าน​มา​ยัง​เมือง​อันติโอเกีย.—กิจการ 11:25, 26; ดู​กรอบ​หน้า 26-27.

ถูก​เรียก​ว่า​คริสเตียน​โดย​การ​ทรง​นำ​ของ​พระเจ้า

ตลอด​หนึ่ง​ปี​เต็ม บาระนาบา​และ​เซาโล “สอน​คน​กลุ่ม​ใหญ่ และ​นับ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​อันติโอเกีย​ที่​โดย​การ​ทรง​นำ​ของ​พระเจ้า​พวก​สาวก​ถูก​เรียก​ว่า คริสเตียน.” ชาว​ยิว​คง​ไม่​ใช่​พวก​แรก​ที่​เรียก​ผู้​ติด​ตาม​ของ​พระ​เยซู​ว่า​คริสเตียน (ภาษา​กรีก) หรือ​พวก​มาซีฮา (ภาษา​ฮีบรู) เพราะ​พวก​เขา​ปฏิเสธ​พระ​เยซู​ว่า​ไม่​ได้​เป็น​พระ​มาซีฮา หรือ​พระ​คริสต์ และ​ด้วย​เหตุ​นี้​คง​จะ​ไม่​ยอม​รับ​พระองค์​ว่า​เป็น​พระ​มาซีฮา​ทาง​อ้อม​โดย​เรียก​ผู้​ติด​ตาม​ของ​พระองค์​ว่า​คริสเตียน. บาง​คน​คิด​ว่า​คน​นอก​ศาสนา​อาจ​ตั้ง​ชื่อ​พวก​เขา​ว่า​คริสเตียน​แบบ​ล้อ​เล่นหรือ​ด้วย​ความ​เย้ย​หยัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ว่า​ชื่อ​คริสเตียน​มี​ต้นตอ​มา​จาก​พระเจ้า.—กิจการ 11:26, ล.ม.

ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก คำ​กริยา​ที่​ใช้​กับ​ชื่อ​ใหม่ ซึ่ง​โดย​ทั่ว​ไป​มี​การ​แปล​ว่า “ถูก​เรียก​ว่า” เป็น​คำ​ที่​มัก​ใช้​กับ​สิ่ง​เหนือ​ธรรมชาติ, สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์, หรือ​พระเจ้า. ผู้​คง​แก่​เรียน​จึง​แปล​คำ​นี้​ว่า “กล่าว​คำ​ทำนาย,” “ประกาศ​คำ​จาก​พระเจ้า,” หรือ “ให้​พระ​บัญชา​หรือ​คำ​ตักเตือน​จาก​พระเจ้า, สอน​มา​จาก​สวรรค์.” เนื่อง​จาก​ผู้​ติด​ตาม​ของ​พระ​เยซู​ถูก​เรียก​ว่า​คริสเตียน “โดย​การ​ทรง​นำ​ของ​พระเจ้า” จึง​เป็น​ไป​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชี้​นำ​ให้​เซาโล​กับ​บาระนาบา​ตั้ง​ชื่อ​นี้.

ชื่อ​ใหม่​นี้​ใช้​กัน​เรื่อย​มา. ไม่​อาจ​เข้าใจ​ผิด​อีก​ต่อ​ไป​ว่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​เป็น​นิกาย​หนึ่ง​ของ​ลัทธิ​ยูดาย ซึ่ง​พวก​เขา​แตกต่าง​ไป​อย่าง​มาก. พอ​ถึง​ปี ส.ศ. 58 เจ้าหน้าที่​โรมัน​รู้​ดี​ว่า​พวก​คริสเตียน​คือ​ใคร. (กิจการ 26:28) ตาม​ที่​นัก​ประวัติศาสตร์​ชื่อ​ทาซิทุส​กล่าว​ไว้ พอ​ถึง​ปี ส.ศ. 64 ชื่อ​นี้​ถูก​ใช้​กัน​ทั่ว​ไป​ท่ามกลาง​ประชากร​ใน​กรุง​โรม​ด้วย.

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​เหล่า​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์

ข่าว​ดี​เจริญ​ก้าว​หน้า​อย่าง​มาก​ใน​เมือง​อันติโอเกีย. โดย​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา​และ​เนื่อง​จาก​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ของ​ผู้​ติด​ตาม​พระ​เยซู​ที่​จะ​ประกาศ​ต่อ ๆ ไป เมือง​อันติโอเกีย​จึง​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​หนึ่ง​ของ​ศาสนา​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก. พระเจ้า​ทรง​ใช้​ประชาคม​ใน​เมือง​นั้น​เป็น​ฐาน​ใน​การ​แพร่​กระจาย​ข่าว​ดี​ไป​ยัง​ดินแดน​อัน​ห่าง​ไกล. ตัว​อย่าง​เช่น เมือง​อันติโอเกีย​เป็น​จุด​เริ่ม​ต้น​ใน​การ​เดิน​ทาง​บุกเบิก​เป็น​มิชชันนารี​แต่​ละ​ครั้ง​ของ​อัครสาวก​เปาโล.

ใน​สมัย​ปัจจุบัน ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​และ​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​แม้​เผชิญ​การ​ต่อ​ต้าน​ทำ​ให้​ศาสนา​คริสเตียน​แท้​แพร่​กระจาย​ออก​ไป​ยิ่ง​ขึ้น​เช่น​กัน และ​ช่วย​ให้​หลาย​คน​ได้​ยิน​ข่าว​ดี​และ​แสดง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ต่อ​ข่าว​ดี​นั้น. * ดัง​นั้น ถ้า​คุณ​ประสบ​การ​ต่อ​ต้าน​เนื่อง​จาก​คุณ​สนับสนุน​การ​นมัสการ​บริสุทธิ์ จง​จำ​ไว้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​เหตุ​ผล​ที่​ปล่อย​ให้​เป็น​เช่น​นั้น. เช่น​เดียว​กับ​ใน​ศตวรรษ​แรก ผู้​คน​ใน​ปัจจุบัน​ต้อง​ได้​รับ​โอกาส​ได้​ยิน​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​และ​เข้า​ข้าง​ราชอาณาจักร​นั้น. ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ของ​คุณ​ที่​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ต่อ ๆ ไป​อาจ​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​ที​เดียว​เพื่อ​ช่วย​คน​อื่น​ให้​มา​ได้​รับ​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​ความ​จริง.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 ใน​วัน​ที่​อากาศ​ปลอด​โปร่ง สามารถ​เห็น​เกาะ​กุบโร​ได้​จาก​เขา​คาซิอุส ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​เมือง​อันติโอเกีย.

^ วรรค 18 ดู​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 สิงหาคม 1999 หน้า 9; ตื่นเถิด! ฉบับ 8 พฤษภาคม 1999 หน้า 21-22; หนังสือ​ประจำ​ปี​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา 1999 หน้า 250-252.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 26, 27]

“ช่วง​เวลา​ที่​ขาด​หาย​ไป” เกี่ยว​กับ​เซาโล

มี​การ​อ้าง​ถึง​เซาโล​เป็น​ครั้ง​สุด​ท้าย​ใน​พระ​ธรรม​กิจการ​ก่อน​ที่​ท่าน​จะ​ย้าย​ไป​ยัง​เมือง​อันติโอเกีย​ใน​ราว ๆ ปี ส.ศ. 45 คือ​เมื่อ​แผนการ​ที่​จะ​สังหาร​ท่าน​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม​ล้มเหลว​และ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ส่ง​ท่าน​ไป​ยัง​เมือง​ตาระโซ. (กิจการ 9:28-30; 11:25) แต่​เหตุ​การณ์​นี้​เกิด​ขึ้น​เก้า​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น คือ​ใน​ราว ๆ ปี ส.ศ. 36. ท่าน​ทำ​อะไร​ระหว่าง​ช่วง​เวลา​นี้ ซึ่ง​มี​การ​เรียก​กัน​ว่า​ช่วง​เวลา​ที่​ขาด​หาย​ไป​เกี่ยว​กับ​เซาโล?

จาก​กรุง​ยะรูซาเลม เซาโล​ไป​ยัง​เขต​ซุเรีย​และ​กีลิเกีย (ซิลีเซีย) และ​ประชาคม​ใน​ยูดาย​ก็​ได้​ยิน​ว่า “ผู้​ที่​แต่​ก่อน​ได้​ข่มเหง​เรา, เดี๋ยว​นี้​ก็​ประกาศ​ความ​เชื่อ​นั้น​ซึ่ง​แต่​ก่อน​เขา​ได้​ทำลาย​เสีย.” (ฆะลาเตีย 1:21-23) รายงาน​นี้​อาจ​อ้าง​ถึง​การ​งาน​ใน​เมือง​อันติโอเกีย​ที่​ทำ​ร่วม​กับ​บาระนาบา แต่​แม้​กระทั่ง​ก่อน​หน้า​นั้น เซาโล​ก็​ไม่​ได้​อยู่​นิ่ง​แน่ ๆ. พอ​ถึง​ปี ส.ศ. 49 มี​ประชาคม​จำนวน​หนึ่ง​อยู่​ใน​ซุเรีย​และ​กีลิเกีย. มี​ประชาคม​หนึ่ง​อยู่​ใน​เมือง​อันติโอเกีย แต่​บาง​คน​คิด​ว่า​ประชาคม​แห่ง​อื่น ๆ อาจ​เป็น​ผล​มา​จาก​การ​งาน​ของ​เซาโล​ระหว่าง​ช่วง​ที่​เรียก​กัน​ว่า​ช่วง​เวลา​ที่​ขาด​หาย​ของ​ท่าน.—กิจการ 11:26; 15:23, 41.

ผู้​คง​แก่​เรียน​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​เหตุ​การณ์​อัน​น่า​ทึ่ง​ใน​ชีวิต​ของ​เซาโล​อาจ​อยู่​ใน​ช่วง​เวลา​เดียว​กัน​นี้. ความ​ยาก​ลำบาก​หลาย​ประการ​ใน​ฐานะ “คน​รับใช้​ของ​พระ​คริสต์” นั้น​ยาก​ที่​จะ​กำหนด​ลง​ไป​ว่า​อยู่​ช่วง​ไหน​ใน​ชีวิต​ของ​ท่าน​ฐานะ​มิชชันนารี​ถ้า​ไม่​ได้​อยู่​ใน​ช่วง​นี้. (2 โกรินโธ 11:23-27) เมื่อ​ไร​ที่​เซาโล​ถูก​เฆี่ยน​ห้า​ครั้ง ครั้ง​ละ 39 ที​โดย​พวก​ยิว? ท่าน​ถูก​เฆี่ยน​ด้วย​ไม้เรียว​สาม​ครั้ง​ที่​ไหน? ท่าน​ติด​คุก “มาก” ที่​ไหน? การ​จำ​คุก​ของ​ท่าน​ใน​กรุง​โรม​เกิด​ขึ้น​ใน​เวลา​ต่อ​มา. เรา​มี​รายงาน​เรื่อง​ที่​ท่าน​ถูก​เฆี่ยน​และ​จำ​คุก​เพียง​ครั้ง​เดียว คือ​ในเมือง​ฟิลิปปอย. แต่​ครั้ง​อื่น ๆ ล่ะ? (กิจการ 16:22, 23) นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​คาด​ว่า​ใน​ช่วง​เวลา​นี้​เซาโล “ให้​คำ​พยาน​เกี่ยว​กับ​พระ​คริสต์​ใน​ธรรมศาลา​ใน​ดินแดน​ต่าง ๆ ที่​อยู่​กระจัด​กระจาย​ด้วย​ท่าที​ที่​กระตุ้น​ให้​ถูก​ข่มเหง​ทั้ง​จาก​ผู้​มี​อำนาจ​ทาง​ศาสนา​และ​ใน​บ้าน​เมือง.”

เซาโล​ประสบ​ภัย​เรือ​แตก​สี่​ครั้ง แต่​พระ​คัมภีร์​ให้​ราย​ละเอียด​เพียง​ครั้ง​เดียว ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​ที่​ท่าน​พรรณนา​ความ​ยาก​ลำบาก​ของ​ท่าน​เมื่อ​เขียน​ไป​ยัง​ชาว​โกรินโธ. (กิจการ 27:27-44) ดัง​นั้น สาม​ครั้ง​ที่​เหลือ​คง​จะ​เป็น​การ​เดิน​ทาง​ที่​เรา​ไม่​รู้. เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​เหตุ​การณ์​หนึ่ง​หรือ​ทั้ง​หมด​อาจ​อยู่​ใน “ช่วง​เวลา​ที่​ขาด​หาย.”

อีก​เหตุ​การณ์​หนึ่ง​ที่​ดู​เหมือน​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​เวลา​นี้​มี​พรรณนา​ที่ 2 โกรินโธ 12:2-5. เซาโล​กล่าว​ว่า ‘สิบ​สี่​ปี​มา​แล้ว​ข้าพเจ้า​ได้​รู้​จัก​คน​หนึ่ง​ผู้​เลื่อมใส​ใน​พระ​คริสต์ เขา​ถูก​รับ​ขึ้น​ไป​ยัง​สวรรค์​ชั้น​ที่​สาม ขึ้น​ไป​ยัง​เทพ​อุทยาน, และ​ได้​ยิน​สำเนียง​ซึ่ง​จะ​พูด​เป็น​คำ​ไม่​ได้. และ​มนุษย์​จะ​บรรยาย​ไม่​ได้​เลย.’ ดู​เหมือน​ว่า เซาโล​พูด​ถึง​ตัว​ท่าน​เอง. เนื่อง​จาก​ท่าน​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​นี้​ใน​ราว ๆ ปี ส.ศ. 55 ดัง​นั้น 14 ปี​ก่อน​หน้า​นั้น​ก็​จะ​ตก​ใน​ปี ส.ศ. 41 ตอน​กลาง​ของ “ช่วง​เวลา​ที่​ขาด​หาย.”

นิมิต​นี้​คง​จะ​ให้​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​พิเศษ​แก่​เซาโล​เป็น​แน่. เหตุ​การณ์​นี้​เกิด​ขึ้น​เพื่อ​เตรียม​ท่าน​ให้ “เป็น​อัครสาวก​ไป​ยัง​ชาติ​ต่าง ๆ” ไหม? (โรม 11:13, ล.ม.) นิมิต​นี้​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​วิธี​ที่​ท่าน​คิด, เขียน, และ​พูด​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ไหม? ช่วง​หลาย​ปี​ระหว่าง​การ​เปลี่ยน​ศาสนา​ของ​เปาโล​และ​การ​เรียก​ท่าน​ไป​ยัง​เมือง​อันติโอเกีย​เป็น​การ​ฝึกฝน​ท่าน​และ​ทำ​ให้​ท่าน​อาวุโส​เพื่อ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ใน​วัน​ข้าง​หน้า​ไหม? ไม่​ว่า​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้​จะ​เป็น​เช่น​ไร เรา​แน่​ใจ​ได้​ว่า​เมื่อ​บาระนาบา​เชิญ​ท่าน​ไป​ช่วย​นำ​หน้า​งาน​ประกาศ​ใน​เมือง​อันติโอเกีย เซาโล​ผู้​มี​ใจ​แรง​กล้า​ก็​มี​คุณวุฒิ​เพียบ​พร้อม​เพื่อ​งาน​มอบหมาย​นี้​แล้ว.—กิจการ 11:19-26.

[แผนที่​หน้า 25]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ซุเรีย

โอรอนติส

อันติโอเกีย

เซลูเซีย

กุบโร

ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน

ยะรูซาเลม

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.

[ภาพ​หน้า 24]

บน: เมือง​อันติโอเกีย​สมัย​ปัจจุบัน

กลาง: ทิวทัศน์​ของ​เมือง​เซลูเซีย​เมื่อ​มอง​ไป​ทาง​ใต้

ล่าง: เขื่อน​กั้น​คลื่น​ลม​ของ​ท่า​เรือ​เซลูเซีย