ความนับถือต่ออำนาจ—ทำไมจึงขาดไป?
ความนับถือต่ออำนาจ—ทำไมจึงขาดไป?
“การท้าทายอำนาจที่ถูกตั้งขึ้น ทางด้านศาสนาและทางโลก ทางสังคมและทางการเมืองซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก สักวันหนึ่งอาจถือได้อย่างเหมาะสมว่าเป็นเหตุการณ์อันโดดเด่นของทศวรรษที่แล้ว.”
เวลาได้ผ่านไปแล้วหลายปี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นทศวรรษที่มีการกล่าวถึงข้างต้นโดยฮานนาห์ อะเรนต์ นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญา. ทุกวันนี้กระแสของการไม่นับถือต่ออำนาจกำลังดำเนินไปอย่างรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา.
ตัวอย่างเช่น รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ในหนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ แห่งลอนดอนแจ้งว่า “บิดามารดาบางคนไม่ยอมรับว่าครูมีอำนาจเหนือลูกของตน และเมื่อครูพยายามจะตีสอนเด็ก บิดามารดาก็จะบ่น.” บ่อยครั้ง เมื่อลูกได้รับการตีสอนที่โรงเรียน บิดามารดาจะไปถึงโรงเรียน ไม่เพียงเพื่อข่มขู่ครูเท่านั้น แต่เพื่อทำร้ายครูด้วย.
มีการยกคำพูดของโฆษกประจำสมาคมครูใหญ่แห่งชาติในบริเตนขึ้นมากล่าวที่ว่า “คนทั่วไปพูดว่า ‘ฉันมีสิทธิ์’ แทนที่จะพูดว่า ‘ฉันมีหน้าที่รับผิดชอบ.’ ” นอกจากล้มเหลวในการปลูกฝังความนับถือที่เหมาะสมต่อผู้มีอำนาจเข้าไว้ในตัวลูก ๆ แล้ว บิดามารดาบางคนไม่ได้แก้ไขลูก ๆ ของตน และไม่ยอมให้คนอื่นทำเช่นนั้นด้วย. เด็ก ๆ ที่อ้าง “สิทธิ์” ของตนได้ถูกปล่อยให้ดูหมิ่นอำนาจของทั้งบิดามารดาและของครู และผลก็พอจะบอกล่วงหน้าได้คือ “คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีความนับถือต่อผู้มีอำนาจและไม่ค่อยจะคิดถึงว่าอะไรถูกอะไรผิด” มาร์กาเรต ดริสคอลล์ นักเขียนเรื่องประจำได้เขียนไว้ดังกล่าว.
ในวารสารไทม์ บทความเรื่อง “คนรุ่นที่หมดหวัง” ได้ชี้ชัดถึงความสิ้นหวังของหนุ่มสาวชาวรัสเซียหลายคนโดยยกคำพูดของนักดนตรีแรปผู้โด่งดังคนหนึ่งขึ้นมากล่าวที่ว่า “ใคร ๆ ที่เกิดมาในโลกนี้ ที่ไม่มีอะไรยั่งยืนและไม่มีความยุติธรรมเลย จะมีความเชื่อมั่นในสังคมได้อย่างไร?” มิคาอิล ตอปาลอฟ นักสังคมวิทยาได้เห็นพ้องกับทัศนะเช่นนี้โดยกล่าวว่า “เยาวชนเหล่านี้ไม่ใช่คนโง่. พวกเขาได้เห็นบิดามารดาของตนถูกรัฐหลอกลวง ได้เห็นบิดามารดาสูญเสียเงินที่เก็บออมไว้และตกงาน. เราจะคาดหมายให้พวกเขานับถือผู้มีอำนาจได้ไหม?”
อย่างไรก็ดี คงจะผิดพลาดหากสรุปว่า ความไม่ไว้ใจในผู้มีอำนาจนั้นเป็นลักษณะพิเศษของคนรุ่นหนุ่มสาวเท่านั้น. ปัจจุบัน ผู้คนทุกวัยมองดูอำนาจไม่ว่าชนิดใดด้วยความไม่ไว้ใจ ถึงกับดูถูกด้วยซ้ำ. นี่หมายความว่า ไม่มีอำนาจใดที่จะไว้ใจได้อีกแล้วอย่างนั้นหรือ? หากมีการใช้อย่างเหมาะสม อำนาจ ซึ่งได้รับการจำกัดความว่าเป็น “ความสามารถหรือสิทธิที่จะควบคุม, พิพากษาตัดสิน, หรือขัดขวางการกระทำของคนอื่น” อาจเป็นพลังในทางที่ดีได้. อำนาจอาจเป็นประโยชน์แก่ทั้งปัจเจกบุคคลและชุมชนได้. บทความต่อไปจะพิจารณาว่าเรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร.