“สติปัญญาอยู่กับคนเจียมตัว”
“สติปัญญาอยู่กับคนเจียมตัว”
“อะไรคือสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเรียกคืนจากเจ้านอกจาก . . . ให้เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้าของเจ้า?”—มีคา 6:8, ล.ม.
1, 2. ความเจียมตัวคืออะไร และคุณลักษณะนี้ต่างกับความถือดีอย่างไร?
อัครสาวกผู้โดดเด่นปฏิเสธที่จะเรียกร้องความสนใจมายังตัวเอง. ผู้วินิจฉัยที่กล้าหาญชาวยิศราเอลเรียกตัวเองว่าเป็นผู้เล็กน้อยที่สุดในวงศ์บิดา. บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมายอมรับว่าตนมิได้มีอำนาจไม่จำกัด. ชายเหล่านี้แต่ละคนแสดงออกซึ่งความเจียมตัว.
2 ความเจียมตัวตรงกันข้ามกับความถือดี. บุคคลที่เจียมตัวประมาณความสามารถและคุณค่าของตัวเองแต่พอควร และไม่หลงตัวเองหรือภูมิใจในตัวเองเกินไป. แทนที่จะหยิ่ง, โอ้อวด, หรือทะเยอทะยาน คนที่เจียมตัวสำนึกเสมอถึงข้อจำกัดของเขา. ดังนั้น เขาแสดงความนับถือและคำนึงถึงความรู้สึกและทัศนะของผู้อื่นอย่างเหมาะสม.
3. สติปัญญา “อยู่กับคนเจียมตัว” อย่างไร?
3 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างสมเหตุสมผลว่า “สติปัญญาอยู่กับคนเจียมตัว.” (สุภาษิต 11:2, ล.ม.) คนเจียมตัวนั้นสุขุมเพราะเขาปฏิบัติตามแนวทางที่พระเจ้าพอพระทัย และเขาหลีกเลี่ยงน้ำใจถือดีซึ่งนำไปสู่ความอัปยศ. (สุภาษิต 8:13; 1 เปโตร 5:5) สติปัญญาแห่งความเจียมตัวนั้นได้รับการรับรองจากแนวทางชีวิตของผู้รับใช้พระเจ้าจำนวนมาก. ให้เรามาพิจารณาสามตัวอย่างที่ได้กล่าวถึงในวรรคแรก.
เปาโล—“ผู้ที่อยู่ใต้บัญชา” และ “ผู้อารักขา”
4. เปาโลได้รับสิทธิพิเศษเช่นไรที่ไม่มีอะไรเทียบ?
4 เปาโลเป็นคนหนึ่งที่โดดเด่นในท่ามกลางคริสเตียนสมัยแรก ซึ่งก็ไม่แปลกที่เป็นอย่างนั้น. ในเส้นทางงานรับใช้ของท่าน ท่านเดินทางหลายพันกิโลเมตรทั้งทางบกและทางทะเล และท่านได้ก่อตั้งประชาคมขึ้นเป็นจำนวนมาก. นอกจากนี้ พระยะโฮวาทรงอวยพรเปาโลด้วยนิมิตและของประทานในการพูดภาษาต่างประเทศ. (1 โกรินโธ 14:18; 2 โกรินโธ 12:1-5) พระองค์ทรงดลใจเปาโลให้เขียนจดหมาย 14 ฉบับซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกด้วย. เห็นได้ชัด อาจกล่าวได้ว่าเปาโลได้ทำการงานอันเหนื่อยยากยิ่งกว่าอัครสาวกคนอื่น ๆ ทั้งหมด.—1 โกรินโธ 15:10.
5. เปาโลแสดงอย่างไรว่าท่านมองตัวเองอย่างเจียมตัว?
5 เนื่องจากเปาโลอยู่ในระดับแนวหน้าของกิจการงานคริสเตียน บางคนอาจคาดหมายว่าท่านคงจะชอบเป็นจุดสนใจ หรือแม้กระทั่งวางอำนาจด้วยซ้ำ. อย่างไรก็ตาม เปาโลไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะท่านเป็นคนเจียมตัว. ท่านเรียกตัวเองว่า “ผู้น้อยที่สุดในพวกอัครสาวก” และยังกล่าวอีกด้วยว่า “[ข้าพเจ้า] ไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นอัครสาวก, เพราะว่าข้าพเจ้าได้เคี่ยวเข็ญคริสตจักรของพระเจ้า.” (1 โกรินโธ 15:9) ในฐานะอดีตผู้ข่มเหงคริสเตียน เปาโลไม่เคยลืมว่าเป็นเพราะพระกรุณาอันไม่พึงได้รับเท่านั้นที่ทำให้ท่านสามารถมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการที่ท่านได้รับสิทธิพิเศษแห่งงานรับใช้. (โยฮัน 6:44; เอเฟโซ 2:8) ด้วยเหตุนั้น เปาโลไม่คิดว่าความสำเร็จเป็น พิเศษในงานรับใช้ทำให้ท่านเหนือกว่าคนอื่น.— 1 โกรินโธ 9:16.
6. เปาโลแสดงความเจียมตัวอย่างไรในปฏิสัมพันธ์กับชาวโกรินโธ?
6 ความเจียมตัวของเปาโลเห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปฏิสัมพันธ์ที่ท่านมีกับชาวโกรินโธ. ดูเหมือนว่า พวกเขาบางคนชื่นชอบหลงใหลคนที่เขาคิดว่าเป็นผู้ดูแลที่โดดเด่น อย่างเช่น อะโปโล, เกฟา, และเปาโลเอง. (1 โกรินโธ 1:11-15) แต่เปาโลไม่ได้ร้องขอคำสรรเสริญจากชาวโกรินโธ อีกทั้งไม่ได้แสวงหาประโยชน์จากความนิยมชมชอบของพวกเขา. เมื่อเยี่ยมพวกเขา ท่านไม่ได้แสดงตัวเอง “พร้อมด้วยคำพูดหรือสติปัญญาเลิศลอยเกินความจริง.” แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เปาโลกล่าวถึงตัวท่านเองและเพื่อนร่วมเดินทางว่า “ให้ผู้คนถือว่าเราเป็นผู้ที่อยู่ใต้บัญชาพระคริสต์และเป็นผู้อารักขาความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า.” *—1 โกรินโธ 2:1-5; 4:1, ล.ม.
7. เปาโลแสดงความเจียมตัวอย่างไรแม้กระทั่งเมื่อให้คำแนะนำ?
7 เปาโลแสดงความเจียมตัวแม้แต่เมื่อท่านต้องให้คำแนะนำและการชี้นำที่หนักแน่น. ท่านวิงวอนเพื่อนคริสเตียนโดย “อาศัยความเมตตาสงสารของพระเจ้า” และ “เพราะเห็นแก่ความรัก” ยิ่งกว่าจะอาศัยอิทธิพลแห่งอำนาจอัครสาวกของท่าน. (โรม 12:1, 2, ล.ม.; ฟิเลโมน 8, 9) เหตุใดเปาโลทำอย่างนี้? เพราะท่านมองตัวเองว่าเป็น “เพื่อนร่วมทำงาน” กับพี่น้องของท่านอย่างแท้จริง ไม่ใช่ ‘นายเหนือความเชื่อของพวกเขา.’ (2 โกรินโธ 1:24, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัย ความเจียมตัวของเปาโลนั่นเองที่ทำให้ท่านเป็นที่รักเป็นพิเศษของประชาคมคริสเตียนสมัยศตวรรษแรก.—กิจการ 20:36-38.
ทัศนะอันเจียมตัวต่อสิทธิพิเศษที่เราได้รับ
8, 9. (ก) เหตุใดเราควรมองตัวเราเองอย่างเจียมตัว? (ข) คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างจะแสดงความเจียมตัวได้อย่างไร?
8 เปาโลวางตัวอย่างที่ดีไว้สำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้. ไม่ว่าเราได้รับหน้าที่รับผิดชอบอะไรก็ตาม ไม่ควรมีใครในพวกเราคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น. เปาโลเขียนว่า “ถ้าผู้ใดถือตัวว่าเป็นคนสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่สำคัญอะไรเลย ผู้นั้นก็หลอกตัวเอง.” (ฆะลาเตีย 6:3, ฉบับแปลใหม่) เพราะเหตุ ใด? เพราะ “คนทั้งปวง ได้ทำบาปและขาดไปจากสง่าราศีของพระเจ้า.” (โรม 3:23; 5:12, ล.ม.) ถูกแล้ว เราไม่ควรลืมว่าเราทุกคนได้รับบาปและความตายตกทอดมาจากอาดาม. สิทธิพิเศษต่าง ๆ ไม่ได้ยกเราขึ้นให้พ้นจากสภาพผิดบาปและต่ำต้อยของเรา. (ท่านผู้ประกาศ 9:2) ดังที่เป็นจริงในกรณีของเปาโล เป็นเพราะพระกรุณาอันไม่พึงได้รับเท่านั้นที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้ามามีสัมพันธภาพกับพระเจ้า ยังไม่ต้องพูดถึงการรับใช้พระองค์ในหน้าที่อันเป็นสิทธิพิเศษบางอย่าง.—โรม 3:12, 24.
9 โดยตระหนักอย่างนี้ คนที่เจียมตัวย่อมไม่มองสิทธิพิเศษที่ตนได้รับอย่างกระหยิ่มใจ อีกทั้งไม่โอ้อวดความสำเร็จของตน. (1 โกรินโธ 4:7) เมื่อให้คำแนะนำหรือการชี้นำ เขาทำในฐานะเพื่อนร่วมงาน—ไม่ใช่ในฐานะผู้เป็นนาย. แน่นอน คงไม่ถูกต้องสำหรับคนที่เก่งในงานบางอย่างจะเที่ยวขอให้ผู้อื่นยกย่องตนหรือหาประโยชน์จากความนิยมชมชอบของเพื่อนร่วมความเชื่อ. (สุภาษิต 25:27; มัดธาย 6:2-4) คำยกย่องอันมีค่านั้นต้องมาจากผู้อื่นเท่านั้น—และควรมาเองโดยไม่ได้เรียกขอ. หากมีใครยกย่องเรา ก็ไม่ควรทำให้เราคิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็น.—สุภาษิต 27:2; โรม 12:3.
10. จงอธิบายวิธีที่บางคนอาจดูต่ำต้อย แต่จริง ๆ แล้ว “ร่ำรวยในความเชื่อ.”
10 เมื่อเราได้รับหน้าที่รับผิดชอบบางอย่าง ความเจียมตัวจะช่วยเราให้หลีกเลี่ยงการเน้นที่ตัวเราเองจนเกินควร โดยพยายามสร้างความประทับใจว่าประชาคมกำลังก้าวหน้าเนื่องด้วยความพยายาม และความสามารถของเราล้วน ๆ. ยกตัวอย่าง เราอาจมีพรสวรรค์เป็นพิเศษในการสอน. (เอเฟโซ 4:11, 12) อย่างไรก็ตาม หากเราเจียมตัว เราย่อมจะตระหนักว่าบทเรียนยิ่งใหญ่ที่สุดที่มีการเรียนรู้กัน ณ การประชุมประชาคมนั้นไม่ได้มาจากเวที. อาทิเช่น คุณได้รับการหนุนกำลังใจมิใช่หรือเมื่อคุณเห็นบิดาหรือมารดาไร้คู่มาที่หอประชุมราชอาณาจักรเป็นประจำพร้อมกับบุตรที่ตามมาด้วย? หรือคนที่มีอาการซึมเศร้าซึ่งมาร่วมประชุมสม่ำเสมอแม้มีความรู้สึกที่ฝังแน่นว่าตัวเองไร้ค่า? หรือเยาวชนที่ก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณอย่างต่อเนื่องแม้ว่ามีอิทธิพลไม่ดีในโรงเรียนและที่อื่น ๆ? (บทเพลงสรรเสริญ 84:10) คนเหล่านี้อาจไม่เด่นในสายตาของคนทั่วไป. การทดสอบความซื่อสัตย์มั่นคงที่พวกเขาเผชิญนั้นคนอื่นมักจะไม่ค่อยสังเกตเห็น. กระนั้น พวกเขาอาจ “ร่ำรวยในความเชื่อ” เช่นเดียวกับคนที่เด่นกว่า. (ยาโกโบ 2:5, ล.ม.) ที่จริง ในที่สุดแล้วความซื่อสัตย์อย่างนั้นแหละที่ได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวา.—มัดธาย 10:22; 1 โกรินโธ 4:2.
ฆิดโอน—“ผู้น้อยที่สุด” ในวงศ์บิดา
11. ฆิดโอนแสดงความเจียมตัวอย่างไรเมื่อพูดกับทูตสวรรค์ของพระเจ้า?
11 ฆิดโอน ชายหนุ่มผู้กำยำล่ำสันแห่งตระกูลมะนาเซ มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาอันปั่นป่วนวุ่นวายในประวัติศาสตร์ของชาติยิศราเอล. ไพร่พลของพระเจ้าได้ถูกพวกมิดยานกดขี่อยู่เจ็ดปี. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่พระยะโฮวาจะช่วยไพร่พลของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น ทูตสวรรค์องค์หนึ่งปรากฏแก่ฆิดโอนและกล่าวว่า “ท่านบุรุษกล้าหาญเอ๋ย, พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ด้วยท่าน.” ฆิดโอนนั้นเจียมตัว ดังนั้นท่านมิได้พอใจในคำชมที่มิได้คาดหมายนี้. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านกล่าวอย่างนับถือต่อทูตสวรรค์ว่า “ท่านเจ้าข้า, ถ้าพระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ด้วย, เป็นไฉนเหตุร้ายนี้จึงเกิดแก่พวกข้าพเจ้าเล่า?” ทูตสวรรค์ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ แล้วจึงกล่าวแก่ฆิดโอนว่า “จงไปช่วยพวกยิศราเอลให้พ้นมือมิดยาน.” ฆิดโอนตอบอย่างไร? แทนที่จะรีบรับเอางานมอบหมายนั้นอย่างที่เป็นโอกาสจะสร้างชื่อให้ตัวเองในฐานะวีรบุรุษของชาติ ฆิดโอนกลับตอบว่า “ข้าแต่พระองค์, ข้าพเจ้าจะช่วยพวกยิศราเอลให้รอดพ้นอย่างไรได้? ด้วยเชื้อวงศ์ของข้าพเจ้าต่ำในตระกูลมะนาเซ, ส่วนตัวข้าพเจ้าเป็นผู้น้อยที่สุดในวงศ์ของบิดา.” ช่างเจียมตัวสักเพียงไร!—วินิจฉัย 6:11-15.
12. ฆิดโอนแสดงความสุขุมอย่างไรในการทำงานมอบหมายของท่านให้ลุล่วง?
* ไม่ว่าจะอย่างไร ด้วยการอวยพรจากพระยะโฮวา ฆิดโอนทำงานมอบหมายได้สำเร็จ และต่อมาพระเจ้าก็ทรงใช้ท่านให้ปลดปล่อยชาติยิศราเอลจากพวกมิดยาน.—วินิจฉัย 6:25-27.
12 ก่อนส่งฆิดโอนสู่ศึกสงคราม พระยะโฮวาทรงทดสอบท่าน. โดยวิธีใด? ฆิดโอนได้รับคำสั่งให้ทำลายแท่นบูชาบาละของบิดาท่านและหักทำลายเสาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ข้างแท่นนั้น. การทำงานมอบหมายนี้ต้องใช้ความกล้า แต่ฆิดโอนแสดงความเจียมตัวและความสุขุมในวิธีที่ท่านทำงานนี้ให้ลุล่วง. แทนที่จะทำให้ตัวเองตกเป็นเป้าสายตาของผู้คน ฆิดโอนลงมือภายใต้ความมืดของกลางคืนอันเป็นเวลาซึ่งคงจะมีโอกาสน้อยที่สุดที่ใครจะมาพบเห็นท่าน. นอกจากนั้นแล้ว ฆิดโอนเริ่มลงมือด้วยความรอบคอบอย่างที่ควรจะเป็น. ท่านพาคนรับใช้ไปด้วยสิบคน—อาจจะให้บางคนยืนยามคอยป้องกันในขณะพวกที่เหลือช่วยท่านทำลายแท่นและเสาศักดิ์สิทธิ์.การแสดงความเจียมตัวและความสุขุม
13, 14. (ก) เราจะแสดงความเจียมตัวได้อย่างไรเมื่อมีการเสนอสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้แก่เรา? (ข) บราเดอร์ เอ. เอช. แมกมิลแลนวางตัวอย่างที่ดีในการแสดงความเจียมตัวอย่างไร?
13 เราสามารถได้บทเรียนหลายอย่างจากความเจียมตัวของฆิดโอน. ตัวอย่างเช่น เราตอบรับอย่างไรเมื่อมีการเสนอสิทธิพิเศษแห่งงานรับใช้แก่เรา? เราคิดถึงความเด่นดังหรือเกียรติคุณที่จะได้รับเป็นอันดับแรกไหม? หรือเราพิจารณาอย่างเจียมตัวและพร้อมด้วยการอธิษฐานว่าเราจะทำได้สำเร็จตามข้อเรียกร้องของงานมอบหมายนั้นได้ไหม? บราเดอร์เอ. เอช. แมกมิลแลน ซึ่งเสร็จสิ้นวิถีชีวิตทางแผ่นดินโลกในปี 1966 วางตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้. ครั้งหนึ่ง ซี. ที. รัสเซลล์ นายกสมาคมว็อชเทาเวอร์คนแรก ขอความเห็นจากบราเดอร์แมกมิลแลนว่าน่าจะให้ใครทำหน้าที่แทนท่านเมื่อท่านไม่อยู่. ในการ
พิจารณาด้วยกันหลังจากนั้น บราเดอร์แมกมิลแลนไม่เคยกล่าวเป็นเชิงสนับสนุนตัวท่านเองแม้แต่ครั้งเดียว แม้ว่าท่านคงทำอย่างนั้นได้ไม่ยาก. ในท้ายที่สุด บราเดอร์รัสเซลล์ขอร้องบราเดอร์แมกมิลแลนให้คิดถึงการรับงานมอบหมายนี้. “ผมยืนตะลึงอยู่ตรงนั้น” บราเดอร์แมกมิลแลนเขียนเล่าไว้ในหลายปีต่อมา. “ผมคิดใคร่ครวญเรื่องนี้อย่างหนักและอธิษฐานในเรื่องนี้อยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ก่อนที่ในที่สุดผมบอกกับท่านว่าผมยินดีจะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยท่าน.”14 หลังจากนั้นไม่นานนัก บราเดอร์รัสเซลล์ก็เสียชีวิต ทิ้งให้ตำแหน่งนายกสมาคมว็อชเทาเวอร์ว่างลง. เนื่องจากบราเดอร์แมกมิลแลนทำหน้าที่แทนในระหว่างที่บราเดอร์รัสเซลล์เดินทางประกาศสั่งสอนครั้งสุดท้าย พี่น้องคนหนึ่งจึงกล่าวกับท่านว่า “แมก คุณมีโอกาสมากเลยที่จะเข้ารับตำแหน่งนี้เอง. คุณเป็นตัวแทนพิเศษของบราเดอร์รัสเซลล์เมื่อท่านไม่อยู่ และท่านสั่งให้เราทุกคนทำตามที่คุณบอก. ตอนนี้ท่านก็จากไปแล้ว และจะไม่กลับมาอีก. ดูเหมือนว่าคุณน่าจะเป็นคนที่รับช่วงหน้าที่นี้ต่อไป.” บราเดอร์แมกมิลแลนตอบว่า “บราเดอร์ครับ นั่นไม่ใช่วิธีที่ควรมองเรื่องนี้. นี่เป็นงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าและตำแหน่งที่คุณจะได้รับในองค์การขององค์พระผู้เป็นเจ้าคือตำแหน่งที่พระองค์ทรงเห็นควรจะมอบแก่คุณเท่านั้น; และผมแน่ใจว่าผมไม่ใช่คนที่เหมาะกับงานนี้.” หลังจากนั้น บราเดอร์แมกมิลแลนก็แนะนำคนอื่นให้เข้ารับตำแหน่งนี้. เช่นเดียวกับฆิดโอน ท่านมองตัวเองอย่างเจียมตัว—ทัศนะที่เราควรรับเอามาใช้.
15. วิธีซึ่งใช้การได้จริงอะไรบ้างที่เราสามารถใช้ความหยั่งเห็นเข้าใจเมื่อเราประกาศแก่ผู้อื่น?
15 เราก็เช่นกันควรเจียมตัวในวิธีที่เราทำหน้าที่มอบหมายของเราให้ลุล่วง. ฆิดโอนมีความสุขุม และท่านพยายามไม่ทำให้ผู้ต่อต้านท่านโกรธโดยไม่จำเป็น. คล้ายกันนั้น ในการประกาศของเรา เราควรเจียมตัวและสุขุมในวิธีที่เราพูดกับคนอื่น. จริงอยู่ เราทำสงครามฝ่ายวิญญาณเพื่อคว่ำ “สิ่งที่ฝังรากลึก” และ “การหาเหตุผล.” (2 โกรินโธ 10:4, 5, ล.ม.) แต่เราไม่ควรพูดดูถูกคนอื่นหรือทำให้เขามีสาเหตุอันฟังขึ้นที่จะโกรธเคืองข่าวสารของเรา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราควรนับถือทัศนะของเขา เน้นในเรื่องที่เราอาจเห็นพ้อง แล้วเน้นถึงแง่มุมในด้านที่เสริมสร้างของข่าวสารของเรา.—กิจการ 22:1-3; 1 โกรินโธ 9:22; วิวรณ์ 21:4.
พระเยซู—ตัวอย่างอันประเสริฐสุดของความเจียมตัว
16. พระเยซูทรงแสดงอย่างไรว่าพระองค์ทรงมีทัศนะที่เจียมตัวเกี่ยวกับพระองค์เอง?
16 ตัวอย่างอันประเสริฐสุดของความเจียมตัวได้แก่พระเยซูคริสต์. * แม้พระองค์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบิดา พระเยซูไม่ทรงลังเลที่จะยอมรับว่าบางเรื่องนั้นเกินขอบ เขตแห่งอำนาจของพระองค์. (โยฮัน 1:14) ยกตัวอย่าง เมื่อมารดาของยาโกโบและโยฮันทูลขอให้บุตรชายทั้งสองได้นั่งข้าง ๆ พระเยซูในราชอาณาจักรของพระองค์ พระเยซูตรัสว่า “ซึ่งจะนั่งข้างขวาและข้างซ้ายของเรานั้นไม่ใช่พนักงานของเราที่จะจัดให้.” (มัดธาย 20:20-23) ในอีกคราวหนึ่ง พระเยซูทรงยอมรับอย่างเปิดเผยว่า “เราจะทำสิ่งใดด้วยความริเริ่มของเราเองไม่ได้ . . . เรามิได้มุ่งที่จะทำตามความประสงค์ของเราเอง แต่ตามความประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา.”—โยฮัน 5:30; 14:28, ล.ม.; ฟิลิปปอย 2:5, 6.
17. พระเยซูทรงแสดงความเจียมพระองค์อย่างไรในการปฏิบัติต่อผู้อื่น?
17 พระเยซูทรงเหนือกว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์ในทุกทาง และพระองค์ทรงมีอำนาจที่ไม่มีใครเทียมซึ่งได้รับจากพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงเจียมพระองค์ในการปฏิบัติต่อเหล่าสาวก. พระองค์ไม่ทรงแสดงอำนาจเหนือพวกเขาด้วยการแสดงความรู้อันน่าประทับใจ. พระองค์แสดงความรู้สึกไวและความเมตตารักใคร่ อีกทั้งคำนึงถึงความจำเป็นตามธรรมดามนุษย์ของพวกเขา. (มัดธาย 15:32; 26:40, 41; มาระโก 6:31) ด้วยเหตุนั้น แม้พระเยซูทรงสมบูรณ์ พระองค์ไม่ทรงเป็นคนมุ่งแต่ความสมบูรณ์. พระองค์ไม่เคยเรียกร้องจากเหล่าสาวกมากกว่าที่พวกเขาสามารถให้ได้ และพระองค์ไม่เคยวางภาระไว้บนพวกเขาเกินที่เขาจะแบกได้. (โยฮัน 16:12) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนรู้สึกว่าพระองค์ทรงให้ความสดชื่น!—มัดธาย 11:29.
จงเลียนแบบอย่างความเจียมพระองค์ของพระเยซู
18, 19. เราจะเลียนแบบความเจียมพระองค์ของพระเยซูได้อย่างไร (ก) ในวิธีที่เรามองตัวเราเอง และ (ข) ในวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น?
18 ในเมื่อบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาแสดงความเจียมพระองค์ ย่อมสมควรมากกว่าสักเพียงไรที่เราจะแสดงความเจียมตัว. มนุษย์ไม่สมบูรณ์มักจะไม่เต็มใจยอมรับว่าจริง ๆ แล้วเขามิได้มีอำนาจโดยสมบูรณ์. อย่างไรก็ตาม ในการเลียนแบบพระเยซู คริสเตียนพยายามที่จะเป็นคนเจียมตัว. พวกเขาไม่หยิ่งเกินไปที่จะมอบหน้าที่รับผิดชอบแก่คนที่มีคุณวุฒิควรได้รับ; อีกทั้งไม่แสดงความหยิ่งยโสและความไม่เต็มใจที่จะรับการชี้นำจากผู้ที่มีอำนาจ. โดยแสดงน้ำใจให้ความร่วมมือ พวกเขาทำให้ทุกสิ่งในประชาคมดำเนินไป “อย่างที่ถูกที่ควรและเป็นไปตามระเบียบ.”—1 โกรินโธ 14:40, ล.ม.
19 ความเจียมตัวจะกระตุ้นเราด้วยให้มีเหตุผลในสิ่งที่เราคาดหมายจากผู้อื่น และคำนึงถึงความจำเป็นของพวกเขา. (ฟิลิปปอย 4:5) เราอาจมีความสามารถและจุดเด่นบางอย่างที่คนอื่นขาดไป. ถึงกระนั้น หากเราเจียมตัว เราจะไม่คาดหมายจากผู้อื่นให้ทำอย่างที่เราอยากให้เขาทำอยู่เสมอ. โดยรู้อยู่ว่าแต่ละคนมีข้อจำกัดของตนเอง หากเราเจียมตัว เราจะคิดเผื่อถึงข้อบกพร่องของผู้อื่น. เปโตรเขียนว่า “ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จงมีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน เพราะความรักปกปิดความผิดไว้มากมาย.”—1 เปโตร 4:8, ล.ม.
20. เราจะทำอะไรได้เพื่อเอาชนะความโน้มเอียงที่จะไม่เจียมตัว?
20 ดังที่เราได้เรียนไปแล้ว เป็นความจริงทีเดียวว่าสติปัญญาอยู่กับคนเจียมตัว. อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรหากคุณพบว่าคุณมีแนวโน้มที่จะไม่เจียมตัวหรือถือดี? อย่าได้ท้อใจ. แทนที่จะท้อใจ ขอให้ทำอย่างดาวิดซึ่งอธิษฐานว่า “ขอทรงยึดหน่วงผู้ทาสของพระองค์ไว้ให้พ้นจากการผิดโดยประมาท [“การทำเกินสิทธิ์,” ล.ม.]; อย่าให้ความผิดนั้นครอบงำข้าพเจ้าไว้เลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 19:13) ด้วยการเลียนแบบความเชื่อของบางคนอย่างเช่น เปาโล, ฆิดโอน, และ—ที่เหนือกว่าทุกคน—คือพระเยซูคริสต์ เราเองจะประสบกับความจริงของถ้อยคำที่ว่า “สติปัญญาอยู่กับคนเจียมตัว.”—สุภาษิต 11:2, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 คำภาษากรีกที่แปลในที่นี้ว่า “ผู้ที่อยู่ใต้บัญชา” อาจหมายถึงทาสที่พายเรือในแถวฝีพายชั้นล่างของเรือใหญ่. เมื่อเทียบกัน “ผู้อารักขา” อาจได้รับมอบหมายงานที่ต้องรับผิดชอบมากกว่า ซึ่งก็อาจได้แก่การดูแลทรัพย์สิน. อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนายส่วนใหญ่ ผู้อารักขาอยู่ในสภาพข้ารับใช้เหมือน ๆ กับทาสฝีพายในเรือใหญ่.
^ วรรค 12 ไม่ควรตีความการกระทำอย่างสุขุมและรอบคอบของฆิดโอนว่าเป็นเครื่องชี้แสดงถึงความขี้ขลาด. ตรงกันข้าม ความกล้าหาญของท่านได้รับการยืนยันโดยเฮ็บราย 11:32-38 ซึ่งกล่าวถึงหลายคนรวมทั้งฆิดโอนด้วยว่า “มีกำลังมากขึ้น” และ “มีกำลังเรี่ยวแรงมาก [“กล้าหาญ,” ล.ม.] ในการสงคราม.”
^ วรรค 16 เนื่องจากความเจียมตัวหมายรวมถึงการตระหนักถึงข้อจำกัดของตัวเอง จึงไม่อาจกล่าวได้อย่างถูกต้องว่าพระยะโฮวาทรงเจียมพระองค์. อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงถ่อมพระทัย.—บทเพลงสรรเสริญ 18:35.
คุณจำได้ไหม?
• ความเจียมตัวคืออะไร?
• เราจะเลียนแบบความเจียมตัวของเปาโลได้อย่างไร?
• เราได้บทเรียนอะไรเกี่ยวกับความเจียมตัวจากตัวอย่างของฆิดโอน?
• พระเยซูทรงวางตัวอย่างอันประเสริฐสุดอย่างไรเกี่ยวกับความเจียมพระองค์?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 15]
ความเจียมตัวของเปาโลทำให้ท่านเป็นที่รักของเพื่อนคริสเตียน
[ภาพหน้า 17]
ฆิดโอนใช้ความสุขุมในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า
[ภาพหน้า 18]
พระเยซูพระบุตรของพระเจ้าทรงแสดงความเจียมพระองค์ในทุกสิ่งที่พระองค์ทำ