ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มีความสุขกับมรดกพิเศษ

มีความสุขกับมรดกพิเศษ

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

มี​ความ​สุข​กับ​มรดก​พิเศษ

เล่า​โดย​แครอล แอลเลน

ฉัน​ยืน​อยู่​คน​เดียว มือ​ถือ​หนังสือ​เล่ม​ใหม่​ที่​สวย​งาม​ไว้​แน่น. ฉัน​รู้สึก​กลัว​มาก และ​ร้องไห้​น้ำตา​ไหล​อาบ​แก้ม. ถ้า​จะ​ว่า​ไป ตอน​นั้น​ฉัน​เป็น​แค่​เด็ก​หญิง​ตัว​เล็ก ๆ อายุ​เจ็ด​ขวบ พลัด​หลง​อยู่​ต่าง​เมือง​ท่ามกลาง​ผู้​คน​หลาย​หมื่น!

ไม่​นาน​มา​นี้ ซึ่ง​ก็​เกือบ 60 ปี​ต่อ​มา ความ​ทรง​จำ​อัน​แจ่ม​ชัด​เกี่ยว​กับ​ประสบการณ์​ใน​วัย​เด็ก​พรั่งพรู​กลับ​คืน​มา​ตอน​ที่​ฉัน​กับ​พอล​สามี​ของ​ฉัน​ได้​ไป​เยือน​ศูนย์​การ​ศึกษา​ของ​ว็อชเทาเวอร์​ที่​สวย​งาม ที่​แพตเทอร์สัน รัฐ​นิวยอร์ก. พอล​ได้​รับ​เชิญ​ไป​ที่​นั่น​เพื่อ​เข้า​เรียน​ใน​รุ่น​ที่​สอง​ของ​หลัก​สูตร​สำหรับ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

ขณะ​ที่​เรา​มอง​รอบ ๆ ห้อง​โถง​รับ​แขก​ที่​สว่าง​ด้วย​แสง​อาทิตย์ ฉัน​สังเกต​เห็น​รูป​ภาพ​มาก​มาย​ที่​ถูก​นำ​มา​แสดง​ไว้ มี​ป้าย​ข้อ​ความ​ว่า “การ​ประชุม​ใหญ่.” รูป​ภาพ​ที่​อยู่​ตรง​กลาง​คือ​รูป​ขาว-ดำ​สมัย​เก่า เป็น​ภาพ​พวก​เด็ก ๆ ต่าง​ก็​แกว่ง​หนังสือ​ของ​เขา​เอง​อย่าง​ตื่นเต้น​ดีใจ​ซึ่ง​เป็น​หนังสือ​เล่ม​ที่​ฉัน​มี​เมื่อ​วัย​เด็ก! ฉัน​รีบ​อ่าน​ข้อ​ความ​กำกับ​รูป​นั้น: “ปี 1941 ใน​เมือง​เซนต์​หลุยส์ รัฐ​มิสซูรี เมื่อ​เริ่ม​การ​ประชุม​ภาค​เช้า เยาวชน​จำนวน 15,000 คน—อายุ​ระหว่าง 5 ถึง 18 ปี—ที่​ชุมนุม​กัน ณ สนาม​กีฬา​ใหญ่​ได้​มา​รวม​กัน​อยู่​ตรง​หน้า​เวที. . . . บราเดอร์​รัทเทอร์ฟอร์ด​ประกาศ​การ​ออก​หนังสือ​ใหม่​ชื่อ​เด็ก​ทั้ง​หลาย (ภาษา​อังกฤษ).”

เด็ก​แต่​ละ​คน​ได้​รับ​หนังสือ​หนึ่ง​เล่ม​เป็น​ส่วน​ตัว. ครั้น​แล้ว​เด็ก​ทุก​คน​ต่าง​ก็​กลับ​ไป​หา​พ่อ​แม่​ตาม​ที่​นั่ง—ยก​เว้น​ฉัน​คน​เดียว. ฉัน​หา​พ่อ​แม่​ไม่​เจอ! ผู้​ต้อนรับ​แขก​ท่า​ทาง​เป็น​มิตร​อุ้ม​ฉัน​ขึ้น​ยืน​บน​หีบ​บริจาค​ที่​สูง​จาก​พื้น​และ​บอก​ฉัน​ให้​มอง​หา​คน​ที่​ฉัน​รู้​จัก. ด้วย​ความ​ว้าวุ่น​ใจ ฉัน​กวาด​สายตา​มอง​กลุ่ม​ผู้​คน​ที่​กำลัง​หลั่งไหล​ลง​มา​ตาม​บันได​กว้าง. ทันใด​นั้น​เอง ฉัน​รู้​จัก​คน​หนึ่ง! “ลุง​บ็อบ! ลุง​บ็อบ!” เขา​เห็น​ฉัน​แล้ว! บ็อบ เรนเนอร์​จูง​มือ​ฉัน​ไป​หา​พ่อ​แม่​ที่​กำลัง​คอย​ฉัน​อยู่​อย่าง​กระวนกระวาย.

เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ ใน​วัย​เยาว์​ซึ่ง​ได้​หล่อ​หลอม​ชีวิต​ฉัน

เมื่อ​มอง​ภาพ​ที่​ติด​ไว้​ให้​ชม ความ​ทรง​จำ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ราว​ต่าง ๆ ก็​พรั่งพรู​ขึ้น​มา—เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ ที่​หล่อ​หลอม​ชีวิตฉัน​และ​นำ​เรา​ให้​มา​อยู่​ที่​ศูนย์​การ​ศึกษา​แพตเทอร์สัน​ที่​สวย​งาม​แห่ง​นี้. ความ​คิด​ของ​ฉัน​ย้อน​ไป​หา​เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ เมื่อ​ร้อย​กว่า​ปี​มา​แล้ว โดย​เฉพาะ​เรื่อง​ราว​ที่​ได้​ฟัง​จาก​คุณ​ปู่​คุณ​ย่า​และ​จาก​พ่อ​แม่​ของ​ฉัน.

เดือน​ธันวาคม 1894 ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​จาก​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น ได้​มา​เยี่ยม​คุณ​ปู่​เคลย์ตัน เจ. วูดเวิร์ท​ที่​บ้าน​ของ​ท่าน​ใน​เมือง​สแกรนตัน รัฐ​เพนซิลเวเนีย สหรัฐ​อเมริกา. คุณ​ปู่​เคลย์ตัน​เพิ่ง​แต่งงาน. ท่าน​เขียน​จดหมาย​ถึง​ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ นายก​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ และ​จดหมาย​ฉบับ​นั้น​ได้​ตี​พิมพ์​ลง​ใน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 15 มิถุนายน 1895. ท่าน​ชี้​แจง​ว่า

“เรา​เป็น​คู่​สามี​ภรรยา​วัย​หนุ่ม​สาว เป็น​สมาชิก​คริสตจักร​ใน​นาม​แห่ง​หนึ่ง​มา​ร่วม​สิบ​ปี แต่​บัด​นี้ เรา​เชื่อ​แน่​ว่า​เรา​ได้​ก้าว​ออก​จาก​ความ​มืด​สู่​ความ​สว่าง​ของ​วัน​ใหม่​ซึ่ง​กำลัง​ฉาย​แสง​ส่อง​ทาง​ให้​เหล่า​บุตร​ผู้​ซึ่ง​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ผู้​สูง​สุด. . . . นาน​ก่อน​ที่​เรา​ทั้ง​สอง​จะ​ได้​มา​พบ​กัน เรา​มี​ความ​ปรารถนา​อัน​แรง​กล้า​ว่า​หาก​เป็น​พระทัย​ประสงค์​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า เรา​อาจ​ได้​ปฏิบัติ​รับใช้​พระองค์​ฐานะ​มิชชันนารี​ใน​ต่าง​แดน.”

ต่อ​มา ใน​ปี 1903 คุณ​ตา​ทวด​เซบาสเชียน​และ​คุณ​ยาย​ทวด​แคทรีน เครซเก ต่าง​ก็​ดีใจ​เมื่อ​ได้​ฟัง​ข่าวสาร​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ตัว​แทน​สอง​คน​จาก​ว็อชเทาเวอร์​นำ​มา​บอก​พวก​ท่าน​ที่​ฟาร์ม​ใหญ่​ซึ่ง​ท่าน​ทั้ง​สอง​อาศัย​อยู่ ใน​แถบ​เทือก​เขา​โพโกโน​อัน​สวย​งาม แห่ง​รัฐ​เพนซิลเวเนีย. ลูก​สาว​สอง​คน​ของ​คุณ​ทวด​คือ​โครา​และ​แมรี​ก็​อยู่​ที่​นั่น​กับ​สามี​ของ​พวก​เธอ​คือ​วอชิงตัน​และ​เอดมุนด์ โฮเวลล์. ตัว​แทน​ของ​ว็อชเทาเวอร์​ซึ่ง​ได้​แก่​คาร์ล แฮมเมอร์เล และ​เรย์ แรตคลิฟ​ได้​พัก​อยู่​ที่​บ้าน​ของ​คน​เหล่า​นี้​ตลอด​สัปดาห์ สั่ง​สอน​พวก​ท่าน​หลาย​ข้อ​หลาย​ประการ. สมาชิก​ครอบครัว​ทั้ง​หก​คน​ได้​รับ​ฟัง, ศึกษา และ​ไม่​นาน​จาก​นั้น​ก็​ได้​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ที่​กระตือรือร้น.

ณ ปี 1903 นั้น​เอง โครา​และ​วอชิงตัน โฮเวลล์​ก็​ได้​ลูก​สาว​ชื่อ​แคทรีน. ใน​ที่​สุด​เธอ​ได้​สมรส​กับ​เคลย์ตัน เจ. วูดเวิร์ท จูเนียร์ พ่อ​ของ​ฉัน​ได้​อย่าง​ไร​นั้น​เป็น​เรื่อง​น่า​สนใจ และ​ฉัน​คิด​ว่า​เป็น​เรื่อง​ราว​ที่​มี​ความ​สำคัญ​ที​เดียว. นั่น​เผย​ให้​เห็น​การ​หยั่ง​รู้​เข้าใจ​ของ​เคลย์ตัน เจ. วูดเวิร์ท ซีเนียร์ คุณ​ปู่​ของ​ฉัน​ใน​ฐานะ​เป็น​บิดา​ที่​มี​ความ​รัก​และ​ห่วงใย​บุตร​ของ​ตน.

พ่อ​ฉัน​รับ​การ​ช่วยเหลือ​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก

พ่อ​ฉัน เคลย์ตัน จูเนียร์ เกิด​ใน​ปี 1906 ที่​เมือง​สแกรนตัน ห่าง​จาก​ฟาร์ม​ตระกูล​โฮเวลล์​ประมาณ 80 กิโลเมตร. สมัย​โน้น คุณ​ปู่​วูดเวิร์ท​ได้​มา​รู้​จัก​คุ้น​เคย​กัน​ดี​กับ​ครอบครัว​โฮเวลล์​ซึ่ง​เป็น​ครอบครัว​ใหญ่ ได้​ร่วม​สังสรรค์​บ่อย ๆ กับ​ครอบครัว​นี้​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​เรื่อง​ความ​เอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่. ท่าน​เป็น​ผู้​ให้​การ​ช่วยเหลือ​อย่าง​มาก​แก่​ประชาคม​ของ​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ใน​แถบ​นั้น. ต่อ​มา คุณ​ปู่​ได้​รับ​เชิญ​ไป​ประกอบ​การ​สมรส​ให้​แก่​ลูก​ชาย​ทั้ง​สาม​คน​ของ​ตระกูล​โฮเวลล์ และ​ด้วย​การ​คำนึง​ถึง​สวัสดิภาพ​ของ​บุตร​ชาย​ตัว​เอง ท่าน​พา​บุตร​ชาย​ไป​ร่วม​งาน​สมรส​เหล่า​นี้​แต่​ละ​ราย​ด้วย.

ตอน​นั้น​พ่อ​ไม่​ได้​ร่วม​งาน​เผยแพร่​ของ​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​อย่าง​ขันแข็ง. ที่​จริง​ท่าน​ขับ​รถ​ให้​คุณ​ปู่​ไป​เยี่ยม​เพื่อน​บ้าน​เพื่อ​เผยแพร่ แต่​ถึง​แม้​คุณ​ปู่​ได้​ให้​การ​สนับสนุน​สัก​เพียง​ไร พ่อ​เอง​ก็​ไม่​เข้า​ส่วน​ร่วม​กิจกรรม. สมัย​นั้น ความ​สนใจ​ของ​พ่อ​ทาง​ด้าน​ดนตรี​เข้า​แทน​ที่​งาน​อื่น​ทุก​อย่าง และ​พ่อ​ก็​กำลัง​มุ่ง​มั่น​จะ​เป็น​นัก​ดนตรี​มือ​อาชีพ.

แคทรีน ลูก​สาว​ของ​โครา​และ​วอชิงตัน โฮเวลล์​ก็​กลาย​เป็น​นัก​ดนตรี​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​เช่น​กัน ทั้ง​เล่น​และ​สอน​เปียโน. แต่​ทั้ง ๆ ที่​โอกาส​ได้​เปิด​กว้าง​ให้​เธอ​ยึด​เอา​เป็น​งานอาชีพ​ก็​ตาม เธอ​กลับ​ไม่​สนใจ แล้ว​เริ่ม​เข้า​ส่วน​ร่วม​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา. คุณ​ปู่​คง​ต้อง​ได้​หมาย​ตา​เพื่อน​คู่​ใจ​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​บุตร​ชาย​ไว้​แล้ว—อย่าง​น้อย​ก็​จาก​แง่​คิด​ของ​ฉัน! พ่อ​รับ​บัพติสมา และ​หก​เดือน​ต่อ​มา​พ่อ​กับ​แม่​ก็​แต่งงาน​กัน​ใน​เดือน​มิถุนายน ปี 1931.

คุณ​ปู่​ภูมิ​ใจ​เสมอ​ใน​ความ​สามารถ​ของ​บุตร​ชาย​ทาง​ด้าน​ดนตรี. ท่าน​มี​ความ​สุข​เหลือ​เกิน​เมื่อ​พ่อ​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ช่วย​ฝึก​กลุ่ม​นัก​ดนตรี​วง​ออร์เคสตรา​วง​ใหญ่​สำหรับ​การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ปี 1946 ที่​คลิฟแลนด์ รัฐ​โอไฮโอ. ปี​ต่อ ๆ มา พ่อ​เข้า​มา​เป็น​ผู้​ควบคุม​วง​ดนตรี​นั้น ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ที่​อื่น ๆ อีก​หลาย​ครั้ง.

คุณ​ปู่​ถูก​ดำเนิน​คดี​และ​ชีวิต​ใน​คุก

ใน​ห้อง​โถง​รับ​แขก​ที่​แพตเทอร์สัน พอล​กับ​ฉัน​ยัง​ได้​เห็น​รูป​ภาพ​ที่​ตั้ง​แสดง​ไว้​อีก​ด้วย เป็น​ภาพ​ที่​เห็น​อยู่​ใน​หน้า​ถัด​ไป. ฉัน​จำ​รูป​ภาพ​นั้น​ได้​ทันที เนื่อง​จาก​คุณ​ปู่​ส่ง​ให้​ฉัน​รูป​หนึ่ง​เมื่อ 50 กว่า​ปี​มา​แล้ว. ท่าน​คือ​คน​ที่​ยืน​ริม​ขวา​สุด.

ใน​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 ซึ่ง​ความ​คลั่ง​ใน​ลัทธิ​ชาติ​นิยม​มี​อยู่​อย่าง​แพร่​หลาย นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​แปด​คน​เหล่า​นี้—รวม​ทั้ง โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด (นั่ง​กลาง) นายก​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ถูก​จำ​คุก​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​และ​ไม่​อนุญาต​ให้​มี​การ​ประกัน​ตัว. คำ​ฟ้อง​ที่​กล่าวหา​พวก​เขา​มุ่ง​ไป​ที่​คำ​กล่าว​บาง​อย่าง​ใน​หนังสือ​เล่ม​ที่​เจ็ด​ของ​ชุด​คู่มือ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ (ภาษา​อังกฤษ) ซึ่ง​มี​ชื่อ​ว่า​ข้อ​ลับ​ลึก​สำเร็จ​แล้ว. มี​การ​ถือ​กัน​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​คำ​กล่าว​เหล่า​นั้น​ขัด​กับ​การ​ที่​สหรัฐ​เข้า​ร่วม​ใน​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง.

ใน​ช่วง​เวลา​หลาย​ปี ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ ได้​เขียน​หก​เล่ม​แรก​ใน​หนังสือ​ชุด​คู่มือ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ แต่​ท่าน​สิ้น​ชีวิต​เสีย​ก่อน​จะ​ได้​เขียน​เล่ม​ที่​เจ็ด. ดัง​นั้น สมุด​จด​บันทึก​ของ​ท่าน​จึง​ถูก​มอบ​ให้​คุณ​ปู่​และ​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​อีก​ท่าน​หนึ่ง และ​บุคคล​ทั้ง​สอง​จึง​ได้​เขียน​เล่ม​ที่​เจ็ด. หนังสือ​นี้​ออก​เมื่อ​ปี 1917 ก่อน​สงคราม​สิ้น​สุด​ลง. ณ การ​พิจารณา​คดี​คราว​นั้น คุณ​ปู่​และ​คน​อื่น ๆ เกือบ​ทั้ง​หมด​ถูก​ตัดสิน​ว่า​มี​ความ​ผิด​สี่​กระทง ให้​จำ​คุก 20 ปี พร้อม​กัน​ไป​สำหรับ​ความ​ผิด​แต่​ละ​กระทง.

คำ​บรรยาย​ภาพ​ใน​ห้อง​โถง​รับ​แขก​ที่​แพตเทอร์สัน​ว่า​ดัง​นี้: “เก้า​เดือน​ภาย​หลัง​รัทเทอร์ฟอร์ด​และ​พรรค​พวก​ถูก​จำ​คุก—และ​สงคราม​ได้​ผ่าน​ไป​แล้ว—ใน​วัน​ที่ 21 มีนาคม 1919 ศาล​อุทธรณ์​อนุญาต​ให้​จำเลย​ทั้ง​แปด​ประกัน​ตัว​ได้ และ​วัน​ที่ 26 มีนาคม พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว​ใน​บรุกลิน​โดย​วาง​เงิน​ประกัน​คน​ละ 10,000 ดอลลาร์. วัน​ที่ 5 พฤษภาคม 1920 เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด พร้อม​กับ​คน​อื่น ๆ ก็​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ให้​พ้น​ผิด​ทุก​ข้อ​กล่าวหา.”

หลัง​จาก​ถูก​ตัดสิน​ลง​โทษ แต่​ก่อน​จะ​ถูก​ส่ง​เข้า​ทัณฑสถานของ​รัฐบาล​กลาง​ใน​เมือง​แอตแลนตา รัฐ​จอร์เจีย บุคคล​ทั้ง​แปด​ถูก​กัก​ขัง​สอง​สาม​วัน​แรก​ใน​เรือน​จำ​ที่​ถนน​เรย์มอนด์ บรุกลิน นิวยอร์ก. จาก​ที่​นั่น คุณ​ปู่​เขียน​บรรยาย​ว่า​ท่าน​ถูก​ขัง​ใน​ห้อง​กว้าง​หก​ฟุต​ยาว​แปด​ฟุต “ท่ามกลาง​สิ่ง​เน่า​เหม็น​น่า​ขยะแขยง​และ​ไม่​เป็น​ระเบียบ.” ท่าน​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “คุณ​มี​หนังสือ​พิมพ์​ปึก​ใหญ่​และ​ถ้า​ตอน​แรก​ไม่​มี​ที​ท่า​ว่า​จะ​สนใจ​เท่า​ไร​นัก แต่​ชั่ว​เวลา​อัน​สั้น​คุณ​ก็​ตระหนัก​ว่า กระดาษ​หนังสือ​พิมพ์​เหล่า​นี้​และ​สบู่​กับ​ผ้า​ถู​ตัว​เท่า​นั้น​ที่​ช่วย​ให้​คุณ​มี​โอกาส​ได้​สะอาด​และ​นับถือ​ตัว​เอง.”

ถึง​กระนั้น คุณ​ปู่​ก็​ยัง​มี​อารมณ์​ขัน​อยู่​โดย​เอ่ย​ถึง​คุก​ว่า​เหมือน “โฮเตล เดอ รามองดี” และ​บอก​ว่า “ปู่​จะ​ออก​ไป​จาก​ที่​นี่​ทันที​ที่​ครบ​สัญญา​เช่า​ห้อง​พัก.” คุณ​ปู่​ยัง​ได้​เล่า​เรื่อง​การ​เดิน​เตร่​ของ​ท่าน​ใน​สนาม​เรือน​จำ​อีก​ด้วย. ครั้ง​หนึ่ง​เมื่อ​หยุด​เดิน​เพียง​ชั่ว​ครู่​เพื่อ​หวี​ผม ก็​มี​คน​ล้วง​กระเป๋า​ฉก​เอา​นาฬิกา​พก​ของ​ท่าน แต่​ท่าน​เขียน​เล่า​ว่า “โซ่​ร้อย​นาฬิกา​ขาด และ​ปู่​ยัง​รักษา​มัน​ไว้​ได้.” เมื่อ​ฉัน​ไป​เยี่ยม​เบเธล​ที่​บรุกลิน​ปี 1958 แกรนต์ ซูตเตอร์ เหรัญญิก​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​เวลา​นั้น ได้​เรียก​ฉัน​ไป​ที่​ห้อง​ทำ​งาน​ของ​ท่าน​และ​ให้​นาฬิกา​เรือน​นั้น​แก่​ฉัน. ฉัน​ยัง​คง​เก็บ​รักษา​ไว้​เสมือน​สมบัติ​ที่​มี​ค่า.

ผล​กระทบ​ที่​มี​ต่อ​พ่อ

ตอน​ที่​คุณ​ปู่​ถูก​จำ​คุก​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​ใน​ปี 1918 พ่อ​เป็น​แค่​เด็ก​วัย 12 ขวบ​เท่า​นั้น. คุณ​ย่า​ปิด​บ้าน​และ​พา​พ่อ​ไป​อยู่​กับ​คุณ​ย่า​ทวด​และ​น้อง​สาว​สาม​คน​ของ​ย่า. นามสกุล​เดิม​ของ​คุณ​ย่า​คือ​อาเทอร์ และ​ครอบครัว​นี้​กล่าว​อ้าง​ด้วย​ความ​ภูมิ​ใจ​ที่​ญาติ​คน​หนึ่ง​ใน​ตระกูล​นี้​ชื่อ เชสเตอร์ อลัน อาเทอร์ ได้​เป็น​ประธานาธิบดี​คน​ที่ 21 ของ​ประเทศ​สหรัฐ.

หลัง​จาก​คุณ​ปู่​วูดเวิร์ท​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​ระยะ​ยาว​ด้วย​ข้อ​กล่าวหา​ที่​ว่า​กระทำ​ความ​ผิด​ต่อ​ประเทศ​สหรัฐ คน​ใน​ตระกูล​อาเทอร์​ถือ​ว่า​คุณ​ปู่​ทำ​ให้​ชื่อเสียง​ครอบครัว​ของ​พวก​เขา​เสื่อม​เสีย. มัน​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​พ่อ​รู้สึก​ปวด​ร้าว​อย่าง​สาหัส. บาง​ที​ท่าที​เช่น​นั้น​อาจ​เป็น​สาเหตุ​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​พ่อ​ลังเล​ที่​จะ​เข้า​ส่วน​ใน​งาน​รับใช้​อย่าง​เปิด​เผย.

เมื่อ​คุณ​ปู่​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว​จาก​เรือน​จำ​แล้ว ท่าน​ได้​ย้าย​ครอบครัว​เข้า​ไป​อยู่​ใน​บ้าน​ตึก​หลัง​ใหญ่ ที่​ถนน​ควินซี​ใน​เมือง​สแกรนตัน. ตอน​เป็น​เด็ก ฉัน​รู้​จัก​บ้าน​หลัง​นี้—ทั้ง​เครื่อง​กระเบื้อง​สวย ๆ ของ​คุณ​ย่า—เป็น​อย่าง​ดี. พวก​เรา​เรียก​เครื่อง​กระเบื้อง​เหล่า​นี้​ว่า​ถ้วย​ชาม​ศักดิ์สิทธิ์ เพราะ​ไม่​อนุญาต​ให้​คน​หนึ่ง​คน​ใด​ล้าง​ถ้วย​ชาม​เหล่า​นั้น นอก​จาก​คุณ​ย่า. หลัง​คุณ​ย่า​สิ้น​ชีวิต​เมื่อ​ปี 1943 แม่​จัด​สังสรรค์​บ่อย ๆ และ​มัก​จะ​ใช้​ถ้วย​ชาม​งาม ๆ เหล่า​นั้น​ใน​งาน​เลี้ยง.

ปฏิบัติ​ราชกิจ​อย่าง​เอา​จริง​เอา​จัง

อีก​วัน​หนึ่ง ณ บริเวณ​ศูนย์​แพตเทอร์สัน ฉัน​เห็น​รูป​บราเดอร์​รัทเทอร์ฟอร์ด ขณะ​บรรยาย​ใน​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​ซีดาร์ พอยต์ รัฐ​โอไฮโอ. ตอน​นั้น​ท่าน​กล่าว​กระตุ้น​บรรดา​ผู้​ที่​กำลัง​ฟัง​อยู่​ให้​เข้า​ส่วน​ร่วม​งาน​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า และ​ใช้ เดอะ โกลเดน เอจ วารสาร​ใหม่​ที่​เพิ่ง​ออก ณ การ​ประชุม​ครั้ง​นั้น. คุณ​ปู่​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​บรรณาธิการ และ​ท่าน​ได้​เขียน​บทความ​ลง​พิมพ์​ใน​วารสาร​เรื่อย​มา​จน​กระทั่ง​ทศวรรษ 1940 ไม่​นาน​ก่อน​ท่าน​เสีย​ชีวิต. ปี 1937 ชื่อ​วารสาร​ได้​เปลี่ยน​เป็น​คอนโซเลชัน พอ​มา​ใน​ปี 1946 เปลี่ยน​เป็น​อะเวก! (ตื่นเถิด!).

คุณ​ปู่​ทำ​งาน​เขียน​หนังสือ​ที่​บ้าน​ใน​เมือง​สแกรนตัน​และ​ที่​สำนักงาน​ใหญ่​ของ​ว็อชเทาเวอร์​ใน​บรุกลิน​ด้วย ซึ่ง​ไกล​จาก​บ้าน​ราว ๆ 240 กิโลเมตร คุณ​ปู่​ใช้​เวลา​ทำ​งาน​แต่​ละ​แห่ง​นาน​สอง​สัปดาห์. พ่อ​เล่า​ว่า พ่อ​จำ​ได้​ว่า​มี​เสียง​รัว​พิมพ์ดีด​ตอน​เช้า​ตรู่​เวลา​ตี​ห้า​อยู่​หลาย​วัน. ถึง​กระนั้น คุณ​ปู่​ถือ​เป็น​ความ​รับผิดชอบ​อย่าง​จริงจัง​ที่​จะ​ร่วม​งาน​ประกาศ​เผยแพร่​ต่อ​สาธารณชน​ด้วย. อัน​ที่​จริง ท่าน​ออก​แบบ​เสื้อ​กั๊ก​ผู้​ชาย​มี​กระเป๋า​ใหญ่​อยู่​ด้าน​ใน​สำหรับ​ใส่​หนังสือ​คู่มือ​อธิบาย​พระ​คัมภีร์. นาโอมิ โฮเวลล์ น้า​สะใภ้​ของ​ฉัน​วัย 94 ยัง​มี​เก็บ​ไว้​ตัว​หนึ่ง​เลย. คุณ​ปู่​เคย​ออก​แบบ​กระเป๋า​หนังสือ​สำหรับ​ผู้​หญิง​ด้วย.

คราว​หนึ่ง หลัง​การ​ถก​กัน​ถึง​เรื่อง​พระ​คัมภีร์​อย่าง​มี​ชีวิต​ชีวา​แล้ว เพื่อน​คุณ​ปู่​ที่​ร่วม​งาน​รับใช้​พูด​ว่า “นี่​คุณ ซี. เจ. คุณ​พลาด​ไป​อย่าง​หนึ่ง​นะ.”

“พลาด​ตรง​ไหน​ล่ะ?” คุณ​ปู่​ถาม. ท่าน​สำรวจ​กระเป๋า​เสื้อ​กั๊ก. ปรากฏ​ว่า​กระเป๋า​เสื้อ​ว่าง​ทั้ง​สอง​ข้าง.

“คุณ​ลืม​เสนอ​การ​บอกรับ​เป็น​สมาชิก​วารสาร​เดอะ โกลเดน เอจ ไง​ล่ะ.” พวก​เขา​ฮา​กัน​ใหญ่​เพราะ​บรรณาธิการ​ลืม​เสนอ​วารสาร​ของ​ตน.

ความ​ทรง​จำ​ขณะ​เติบโต​ขึ้น

ฉัน​จำ​ได้​ว่า​ใน​วัย​เด็ก​ฉัน​นั่ง​ตัก​คุณ​ปู่ คุณ​ปู่​กำ​มือ​น้อย ๆ ของ​ฉัน​และ​เล่า​นิทาน​เรื่อง “นิ้ว​มือ” ให้​ฉัน​ฟัง. เริ่ม​ต้น​กับ “นิ้ว​โป้ง​ทอมมี” แล้ว​ก็​เลื่อน​ไป​ยัง “นิ้ว​ชี้​ปีเตอร์” คุณ​ปู่​พูด​ถึง​ลักษณะ​พิเศษ​ของ​แต่​ละ​นิ้ว. แล้ว​ท่าน​ก็​ค่อย ๆ รวบ​นิ้ว​มือ​ทุก​นิ้ว​เข้า​ด้วย​กัน​พร้อม​กับ​ให้​คติ​สอน​ใจ​ว่า “นิ้ว​มือ​ทำ​งาน​ได้​ดี​ที่​สุด​เมื่อ​ทำ​งาน​ร่วม​กัน แต่​ละ​นิ้ว​ช่วย​นิ้ว​อื่น ๆ ทั้ง​หมด.”

หลัง​จาก​พ่อ​กับ​แม่​แต่งงาน​กัน​แล้ว​จึง​ได้​ย้าย​ไป​ที่​เมือง​คลิฟแลนด์ รัฐ​โอไฮโอ และ​กลาย​เป็น​เพื่อน​สนิท​กับ​เอ็ด​และ​แมรี ฮูเปอร์. ครอบครัว​ของ​เขา​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​มา​ตั้ง​แต่​ต้น​ศตวรรษ. พ่อ​แม่​ของ​ฉัน​เป็น​เพื่อน​สนิท​รักใคร่​ชอบ​พอ​กับ​ลุง​เอ็ด​และ​ป้า​แมรี​มาก​อย่าง​ไม่​อาจ​แยก​จาก​กัน​ได้. ลูก​สาว​คน​เดียว​ของ​ครอบครัว​ฮูเปอร์​เสีย​ชีวิต​ตั้ง​แต่​ยัง​เป็น​ทารก ฉะนั้น เมื่อ​ฉัน​เกิด​ใน​ปี 1934 ฉัน​จึง​กลาย​เป็น “ลูก​สาว” คน​พิเศษ​ของ​เขา. จาก​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​อัน​อุดม​ฝ่าย​วิญญาณ​เช่น​นั้น ฉัน​ได้​อุทิศ​ตัว​แด่​พระเจ้า​และ​รับ​บัพติสมา​ก่อน​ฉัน​มี​อายุ​ครบ​แปด​ขวบ.

การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​ช่วง​ชีวิต​วัย​เยาว์​ของ​ฉัน. คำ​พรรณนา​ที่​ยะซายา 11:6-9 ที่​พูด​ถึง​ชีวิต​ใน​โลก​ใหม่​ของ​พระเจ้า​เป็น​หนึ่ง​ใน​เนื้อ​ความ​หลาย​ตอน​ที่​ฉัน​ชอบ​มาก. ความ​พยายาม​ครั้ง​แรก​ของ​ฉัน​ที่​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​จบ​นั้น​เริ่ม​เมื่อ​ปี 1944 หลัง​จาก​ได้​รับ​ฉบับ​แปล​อเมริกัน สแตนดาร์ด เล่ม​หนึ่ง​เป็น​ของ​ตัว​เอง ซึ่ง​มี​การ​ออก​ฉบับ​พิเศษ​นี้ ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​บัฟฟาโล รัฐ​นิวยอร์ก. ฉัน​ตื่นเต้น​ดีใจ​เพียง​ไร​เมื่อ​ได้​อ่าน​ฉบับ​แปล​นี้​ซึ่ง​ได้​นำ​ชื่อ ยะโฮวา พระ​นาม​พระเจ้า​เกือบ 7,000 ครั้ง​กลับ​มา​ใส่​ไว้ ณ ที่​อัน​เหมาะ​สม​ใน “พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​เดิม”!

วัน​สุด​สัปดาห์​เป็น​เวลา​ที่​เรา​มี​ความ​สุข. พ่อ​กับ​แม่​และ​ครอบครัว​ฮูเปอร์​พา​ฉัน​ออก​ไป​ทำ​งาน​ให้​คำ​พยาน​ตาม​ชนบท. เรา​จัด​เตรียม​อาหาร​มื้อ​กลางวัน​ไป​ปิกนิก​ริม​ลำธาร. แล้ว​เรา​ได้​ไป​ที่​ฟาร์ม​ของ​ใคร​บาง​คน​เพื่อ​จัด​บรรยาย​กลางแจ้ง​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​เรา​ก็​ได้​เชิญ​ชวน​เพื่อน​บ้าน​ละแวก​ใกล้​เคียง​มา​ฟัง. สมัย​นั้น​ชีวิต​เรียบ​ง่าย. เรา​ชื่นชม​ยินดี​ด้วย​กัน​เป็น​ครอบครัว. คน​ใน​ครอบครัว​มิตร​สหาย​เก่า​เหล่า​นี้​มี​หลาย​คน​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ได้​กลาย​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง ซึ่ง​นับ​รวม​เอา​เอ็ด ฮูเปอร์, บ็อบ ไรเนอร์ และ​ลูก​ชาย​สอง​คน​ของ​เขา. ริชาร์ด ไรเนอร์ ยัง​คง​ทำ​งาน​นี้​อยู่​พร้อม​กับ​มี​ลินดา ภรรยา​เป็น​เพื่อน​ร่วม​เดิน​ทาง.

ฤดู​ร้อน​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​มี​ความ​สุข​เป็น​พิเศษ. ฉัน​พัก​อยู่​กับ​ญาติ​ลูก​พี่​ลูก​น้อง​ที่​ฟาร์ม​ของ​โฮเวลล์. ใน​ปี 1949 เกรซ​ลูก​สาว​ป้า​แต่งงาน​กับ​มัลคอล์ม แอลเลน. ฉัน​ไม่​นึก​เลย​ว่า​หลาย​ปี​ต่อ​มา​ฉัน​จะ​ได้​แต่งงาน​กับ​น้อง​ชาย​ของ​มัลคอร์ม. มาริออน ญาติ​ผู้​น้อง ลูก​สาว​ของ​น้า​ชาย​เป็น​มิชชันนารี​ใน​ประเทศ​อุรุกวัย. เธอ​แต่งงาน​กับ​โฮเวิร์ด ฮิลบอน​ใน​ปี 1966. ลูก​พี่​ลูก​น้อง​ทั้ง​สอง​คน​นี้​ได้​รับใช้​ร่วม​กับ​สามี ณ สำนักงาน​ใหญ่​ใน​บรุกลิน​นาน​หลาย​ปี.

คุณ​ปู่​กับ​วัน​ที่​ฉัน​จบ​การ​ศึกษา

ใน​ช่วง​หลาย​ปี​ที่​ฉัน​เรียน​ระดับ​มัธยม​ปลาย คุณ​ปู่​เป็น​ผู้​ที่​พร้อม​จะ​ตอบ​จดหมาย​เสมอ. จดหมาย​ของ​ท่าน​จะ​มี​รูป​เก่า ๆ ของ​คน​ใน​ครอบครัว​สอด​มา​ด้วย​หลาย​รูป ด้าน​หลัง​รูป​พิมพ์​ข้อ​ความ​เล่า​ประวัติ​ครอบครัว. นี่​คือ​วิธี​ที่​ฉัน​ได้​รับ​รูป​ถ่าย​ของ​ท่าน​และ​คน​อื่น​ที่​ติด​คุก​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม.

ตอน​ปลาย​ปี 1951 คุณ​ปู่​ไม่​มี​เสียง​พูด เนื่อง​จาก​ป่วย​เป็น​โรค​มะเร็ง​ที่​กล่อง​เสียง. แต่​เชาวน์​ปัญญา​ของ​ท่าน​ยัง​คง​ฉับ​ไว​เช่น​เดิม ทว่า ท่าน​ต้อง​เขียน​คำ​พูด​ลง​บน​สมุด​ฉีก​เล่ม​เล็ก ๆ ซึ่ง​ท่าน​พก​ติด​ตัว​เสมอ. ฉัน​จวน​จบ​ชั้น​มัธยม​ปลาย​ตอน​กลาง​เทอม​ใน​เดือน​มกราคม 1952. ต้น​เดือน​ธันวาคม ฉัน​ได้​ส่ง​ฉบับ​ร่าง​คำ​ปราศรัย​ของ​ฉัน​ใน​วัน​ฉลอง​การ​สำเร็จ​การ​ศึกษา​ไป​ให้​คุณ​ปู่​ดู. ท่าน​ได้​แก้ไข​บาง​ตอน แล้ว​ที่​หน้า​สุด​ท้าย​นั้น​เอง ท่าน​เขียน​สอง​คำ​ซึ่ง​ตรึง​ใจ​ฉัน: “ปู่​ดีใจ.” ท่าน​จบ​ชีวิต​ทาง​แผ่นดิน​โลก​เมื่อ​วัน​ที่ 18 ธันวาคม 1951 อายุ 81 ปี. * ฉัน​ยัง​ถือ​ว่า​กระดาษ​ร่าง​คำ​บรรยาย​อัน​เก่า​คร่ำ​ของ​ฉัน​พร้อม​กับ​ถ้อย​คำ​สอง​คำ​ใน​หน้า​สุด​ท้าย​นั้น​เป็น​สมบัติ​ล้ำ​ค่า.

ทันที​หลัง​จาก​ฉัน​จบ​การ​ศึกษา ฉัน​ก็​เข้า​สู่​งาน​รับใช้​ประเภท​ไพโอเนียร์ ชื่อ​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใช้​เรียก​งาน​เผยแพร่​เต็ม​เวลา. ปี 1958 ฉัน​ได้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ครั้ง​ยิ่ง​ใหญ่​ในนคร​นิวยอร์ก ยอด​ผู้​ร่วม​ประชุม 253,922 คน​จาก 123 ประเทศ​เต็ม​สนาม​กีฬา​แยงกี​และ​โปโลกราวด์. ที่​นั่น วัน​หนึ่ง​ฉัน​ได้​พบ​ตัว​แทน​จาก​แอฟริกา​ที่​มา​ร่วม​การ​ประชุม​ติด​บัตร​ระบุ​ชื่อ “วูดเวิร์ท มิลส์.” ราว ๆ 30 ปี​ก่อน​หน้า​นี้​ได้​มี​การ​ตั้ง​ชื่อ​ให้​เขา​ตาม​ชื่อ​คุณ​ปู่!

เป็น​สุข​กับ​มรดก

เมื่อ​ฉัน​อายุ 14 ปี แม่​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์​อีก. 40 ปี​ต่อ​มา ใน​ปี 1988 แม่​เสีย​ชีวิต​ขณะ​ที่​ยัง​เป็น​ไพโอเนียร์! เมื่อ​พ่อ​สามารถ​ทำ​ได้ พ่อ​ก็​จะ​เข้า​ร่วม​งาน​ไพโอเนียร์. พ่อ​เสีย​ชีวิต​ก่อน​แม่​เก้า​เดือน. คน​เหล่า​นั้น​ที่​เรา​ได้​นำ​การ​ศึกษา​กับ​เขา​กลาย​เป็น​เพื่อน​รัก​กัน​ชั่ว​ชีวิต. ลูก​ชาย​ของ​เขา​บาง​คน​เข้า​ไป​ทำ​งาน​ที่​สำนักงาน​ใหญ่​ใน​บรุกลิน และ​บาง​คน​เข้า​สู่​งาน​ไพโอเนียร์.

สำหรับ​ฉัน​แล้ว ปี 1959 เป็น​ปี​พิเศษ​จริง ๆ. นั่น​เป็น​คราว​ที่​มี​คน​แนะ​นำ​ฉัน​ให้​รู้​จัก​พอล แอลเลน. เขา​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​ใน​ปี 1946 ภาย​หลัง​จบ​หลัก​สูตร​รุ่น​ที่​เจ็ด​ของ​โรง​เรียน​กิเลียด โรง​เรียน​ฝึก​อบรม​มิชชันนารี​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ตอน​ที่​เรา​พบ​กัน เรา​ต่าง​คน​ต่าง​ไม่​ล่วง​รู้​เลย​ว่า​เขต​มอบหมาย​สำหรับ​พอล​ครั้ง​ต่อ​ไป​จะ​เป็น​ที่​คลิฟแลนด์ โอไฮโอ ซึ่ง​ฉัน​ทำ​งาน​ไพโอเนียร์​ใน​เมือง​นั้น. พ่อ​รัก​เขา​มาก และ​แม่​ก็​รัก​เขา​เช่น​กัน. เรา​แต่งงาน​ที่​ฟาร์ม​ของ​โฮเวลล์​ใน​เดือน​กรกฎาคม 1963 ห้อม​ล้อม​ไป​ด้วย​บรรดา​ญาติ ๆ จาก​ครอบครัว​ของ​เรา​และ​มี​เอ็ด ฮูเปอร์​เป็น​ประธาน​บรรยาย​งาน​สมรส. นั่น​คือ​ฝัน​ที่​เป็น​จริง.

พอล​ไม่​เคย​มี​รถยนต์​ส่วน​ตัว. เมื่อ​เรา​ออก​จาก​เมือง​คลิฟแลนด์​ไป​ยัง​เขต​มอบหมาย​ถัด​ไป เรา​เก็บ​ข้าวของ​ทุก​ชิ้น​ใส่​เข้า​ไป​ใน​รถ​โฟล์กสวาเกน​รุ่น​ปี 1961 ของ​ฉัน. เพื่อน ๆ มัก​จะ​แวะ​มา​ใน​วัน​จันทร์​เพื่อ​ดู​เรา​จัด​ของ​ใส่​รถ เพราะ​เป็น​วัน​ที่​เรา​จะ​เดิน​ทาง​ไป​อีก​ประชาคม​หนึ่ง. ดู​คล้าย ๆ การ​แสดง​ละคร​สัตว์​เมื่อ​เห็น​กระเป๋า​เสื้อ​ผ้า กระเป๋า​หนังสือ, แฟ้ม​เอกสาร, เครื่อง​พิมพ์ดีด​และ​ของ​อื่น ๆ หาย​เข้า​ไป​ใน​รถ​เล็ก ๆ คัน​นั้น.

พอล​กับ​ฉัน​เดิน​ทาง​ด้วย​กัน​ไม่​รู้​กี่​พัน​กี่​หมื่น​กิโลเมตร ชื่นชม​ยินดี​กับ​ชีวิต​ปัจจุบัน​ที่​มี​ทั้ง​ความ​สะดวก​สบาย​และ​ต้อง​อด​ทน​ต่อ​ความ​ยาก​ลำบาก—ทุก​สิ่ง​ลุ​ล่วง​ไป​ได้​ด้วย​กำลัง​เรี่ยว​แรง​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​องค์​เดียว​เท่า​นั้น​ให้​เรา​ได้. เดือน​ปี​ทั้ง​หลาย​ที่​ผ่าน​ไป​เป็น​เวลา​ที่​มี​ความ​สุข เต็ม​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ให้​กัน ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​เพื่อน​เก่า​และ​เพื่อน​ใหม่. สอง​เดือน​ที่​เรา​ได้​มา​อยู่​ที่​แพตเทอร์สัน​ระหว่าง​ที่​พอล​รับ​การ​อบรม​นี้​ถือ​ว่า​เป็น​ช่วง​ที่​น่า​ประทับใจ​ยิ่ง​ใน​ชีวิต​ของ​เรา. การ​สังเกต​เห็น​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ทาง​แผ่นดิน​โลก​อย่าง​ใกล้​ชิด​ยิ่ง​เสริม​ความ​เชื่อ​มั่น​ที่​ดิฉัน​ได้​รับ​สืบ​ทอด​มา​เสมือน​เป็น​ส่วน​มรดก​ฝ่าย​วิญญาณ​อัน​มี​ค่า​ของ​ฉัน​ที่​ว่า นี่​คือ​องค์การ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​แท้​จริง. น่า​ชื่นชม​ยินดี​เสีย​นี่​กระไร​ที่​ได้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​องค์การ​นี้ แม้​เป็น​เพียง​ส่วน​เล็ก ๆ ก็​ตาม!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 44 โปรด​ดู​จาก​วารสาร​หอสังเกตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 15 กุมภาพันธ์ 1952 หน้า 128.

[ภาพ​หน้า 25]

กับ​เอ็ด ฮูเปอร์ ไม่​นาน​ก่อน​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​เซนต์​หลุยส์ ใน​ปี 1941 ซึ่ง​ที่​นั่น​ฉัน​ได้​รับ​หนังสือ “เด็ก​ทั้ง​หลาย” เป็น​เล่ม​ส่วน​ตัว

[ภาพ​หน้า 26]

ภาพ​คุณ​ปู่​ปี 1948

[ภาพ​หน้า 26]

ที่​ฟาร์ม​ของ​ครอบครัว​โฮเวลล์ เมื่อ​พ่อ​กับ​แม่​ของ​ฉัน (ใน​วง​กลม) แต่งงาน

[ภาพ​หน้า 27]

นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​แปด​คน​ซึ่ง​ถูก​จำ​คุก​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​ใน​ปี 1918 (คุณ​ปู่​ยืน​ริม​ขวา​สุด)

[ภาพ​หน้า 29]

ข้าวของ​เครื่อง​ใช้​ทั้ง​หมด​ของ​เรา​ถูก​อัด​ลง​ใน​รถ​โฟล์กสวาเกน

[ภาพ​หน้า 29]

กับ​พอล สามี​ของ​ฉัน