ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างเหลือล้นก่อให้เกิดความยินดี
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างเหลือล้นก่อให้เกิดความยินดี
ในฐานะคริสเตียนผู้ดูแลที่เปี่ยมด้วยความรัก อัครสาวกเปาโลใส่ใจเพื่อนร่วมความเชื่อของท่านอย่างแท้จริง. (2 โกรินโธ 11:28) ด้วยเหตุนั้น ในกลางทศวรรษที่เริ่มในปี 50 แห่งศตวรรษแรกของสากลศักราช เมื่อท่านจัดให้มีการเรี่ยไรเงินเพื่อช่วยเหลือคริสเตียนที่ยากจนในแคว้นยูเดีย ท่านใช้โอกาสนั้นเพื่อสอนบทเรียนอันมีค่าเกี่ยวกับความเอื้อเฟื้อ. เปาโลเน้นว่าการให้ด้วยใจยินดีเป็นสิ่งที่พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่ามาก โดยกล่าวว่า “ให้แต่ละคนทำอย่างที่เขาได้มุ่งหมายไว้ในหัวใจ มิใช่ด้วยฝืนใจหรือถูกบังคับ ด้วยว่าพระเจ้าทรงรักผู้ให้ด้วยใจยินดี.”—2 โกรินโธ 9:7, ล.ม.
ยากจนแสนเข็ญแต่ก็มีใจกว้าง
คริสเตียนส่วนใหญ่ในศตวรรษแรกไม่ใช่คนเด่นดังในสังคม. เปาโลตั้งข้อสังเกตว่าในท่ามกลางพวกเขา “มีน้อยคนที่มีอำนาจ.” พวกเขาเป็น “คนที่โลกถือว่าอ่อนแอ” เป็น “สิ่งที่โลกถือว่าต่ำต้อย.” (1 โกรินโธ 1:26-28, ฉบับแปลใหม่) ตัวอย่างเช่น คริสเตียนที่อยู่ในมณฑลมากะโดเนียเป็นคน “ยากจนแสนเข็ญ” และ “รับความทุกข์ลำบากเป็นอันมาก.” ถึงกระนั้น ผู้มีความเชื่อชาวมากะโดเนียที่ถ่อมใจเหล่านั้นขอมีสิทธิพิเศษที่จะบริจาคเงินเพื่อ “เข้าส่วนในการกุศลที่จะช่วยสิทธชน”; และเปาโลเป็นพยานว่า สิ่งที่พวกเขาให้นั้น “เกินความสามารถของเขา”!—2 โกรินโธ 8:1-4.
อย่างไรก็ตาม การให้อย่างใจกว้างเช่นนั้นไม่ได้ตัดสินกันที่มูลค่า. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือแรงกระตุ้น, การเต็มใจมีส่วนร่วม, และแนวโน้มแห่งหัวใจ. เปาโลกล่าวกับคริสเตียนชาวโกรินโธว่าทั้งจิตใจและหัวใจต่างเกี่ยวข้องในการบริจาค. ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าทราบเรื่องการมีใจพร้อมของท่านทั้งหลาย ซึ่งข้าพเจ้ากำลังอวดพวกท่านต่อชาวมาซิโดเนีย . . . และใจแรงกล้าของพวกท่านได้กระตุ้นพวกเขาส่วนใหญ่.” พวกเขา “มุ่งหมายไว้ในหัวใจ” ว่าจะให้อย่างใจกว้าง.—2 โกรินโธ 9:2, 7, ล.ม.
‘พวกเขามีน้ำใจ’
อัครสาวกเปาโลอาจนึกถึงตัวอย่างการให้ด้วยใจกว้างในสมัยก่อนหน้านั้น ซึ่งเกิดขึ้นในถิ่นทุรกันดารมากกว่า 15 ศตวรรษก่อนสมัยของท่าน. ชนยิศราเอล 12 ตระกูลได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสในอียิปต์. ตอนนั้นพวกเขาอยู่ที่เชิงเขาซีนาย และพระยะโฮวาทรงบัญชาพวกเขาให้สร้างพลับพลาเพื่อการนมัสการรวมทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับการนมัสการ. งานนี้ต้องใช้ทรัพย์อย่างมาก และชาตินั้นก็ได้รับคำเชิญให้บริจาค.
ชาวยิศราเอลเหล่านั้นตอบรับอย่างไร? “พวกเขาจึงมา คือทุกคนที่หัวใจกระตุ้นเขา และพวกเขาทุกคนที่มีน้ำใจ ได้นำสิ่งของมาถวายพระยะโฮวาสำหรับงานที่เต็นท์ประชุม.” (เอ็กโซโด 35:21, ล.ม.) ชาตินั้นถวายของอย่างใจกว้างไหม? เป็นอย่างนั้นจริง ๆ! มีการรายงานต่อโมเซดังนี้: “พลไพร่นำของมาถวายเพิ่มเติมจนเกินความต้องการที่จะใช้ในงานนั้น ๆ, ตามซึ่งพระยะโฮวามีรับสั่งให้กระทำ.”—เอ็กโซโด 36:5.
ฐานะทางการเงินของชาวยิศราเอลในตอนนั้นเป็นอย่างไร? ไม่นานก่อนหน้านั้น พวกเขายังเป็นทาสที่น่าสังเวชและ “ทำการงานตรากตรำ” พวกเขามี ‘ชีวิตที่ขมขื่น’ ชีวิตที่มี “ความทุกข์.” (เอ็กโซโด 1:11, 14; 3:7; 5:10-18, ฉบับแปลใหม่) ดังนั้น พวกเขาคงไม่ได้ร่ำรวยเงินทองแน่ ๆ. จริงอยู่ ชาวยิศราเอลออกจากแผ่นดินที่พวกเขาเป็นทาสพร้อมกับฝูงแกะและฝูงสัตว์. (เอ็กโซโด 12:32) แต่ฝูงสัตว์เหล่านั้นคงมีไม่มากเท่าไร เนื่องจากไม่นานหลังจากออกจากอียิปต์ พวกเขาก็บ่นว่าไม่มีเนื้อสัตว์และขนมปังจะรับประทาน.—เอ็กโซโด 16:3.
ถ้าอย่างนั้น ชาวยิศราเอลเอาของมีค่าซึ่งพวกเขาบริจาคเพื่อสร้างพลับพลามาจากไหน? จากชาวอียิปต์ อดีตเจ้านายของพวกเขานั่นเอง. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ชนชาติยิศราเอล . . . ได้ขอเครื่องเงินทองประดับกาย, และผ้านุ่งห่มจากชาติอายฆุบโต . . . [ชาติอายฆุบโต] จึงให้สิ่งของทั้งปวงตามที่เขาขอ.” การมีใจกว้างของชาวอียิปต์นี้เป็นพระพรจากพระยะโฮวา ไม่ใช่จากฟาโรห์. บันทึกที่มาจากพระเจ้ากล่าวว่า “พระยะโฮวาได้ทรงทำให้พลไพร่นั้นเป็นที่ชอบพอต่อชาวอายฆุบโต, เขาจึงให้สิ่งของทั้งปวงตามที่เขาขอ.”—ตอนนี้ขอนึกว่าชาวยิศราเอลคงจะรู้สึกอย่างไร. คนหลายชั่วอายุได้ทนทุกข์กับการเป็นทาสอย่างขมขื่นและการขาดแคลน. ตอนนี้พวกเขาเป็นอิสระและมีทรัพย์สมบัติมากมาย. พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องให้ทรัพย์สมบัติบางส่วนของตนไป? พวกเขาอาจรู้สึกว่าพวกเขาหาของนั้นมาได้และมีสิทธิ์จะเก็บไว้. อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขอให้บริจาคเงินทองเพื่อสนับสนุนการนมัสการบริสุทธิ์ พวกเขาก็ทำเช่นนั้น—โดยไม่ลังเลหรือนึกเสียดาย! พวกเขาไม่ลืมว่าพระยะโฮวาทรงทำให้เป็นไปได้ที่พวกเขาจะมีทรัพย์สิ่งของเหล่านั้น. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงถวายเงินและทองและฝูงปศุสัตว์อย่างมากมาย. พวกเขา “เต็มใจ.” “หัวใจกระตุ้นเขา.” พวกเขา “มีน้ำใจ.” นั่นเป็น ‘ของถวายพระยะโฮวาด้วยใจสมัคร’ อย่างแท้จริง.—เอ็กโซโด 25:1-9; 35:4-9, 20-29; 36:3-7, ล.ม.
พร้อมที่จะให้
มูลค่าของการบริจาคอาจไม่ใช่เครื่องบ่งบอกถึงความใจกว้างของผู้ให้เสมอไป. ครั้งหนึ่งพระเยซูคริสต์เฝ้าดูผู้คนนำเงินมาใส่ในหีบบริจาคของพระวิหาร. คนรวยใส่เงินลงไปหลายเหรียญ แต่พระเยซูทรงประทับใจเมื่อพระองค์ทรงเห็นหญิงม่ายยากจนคนหนึ่งใส่เหรียญเล็ก ๆ สองเหรียญที่มีค่าเพียงเล็กน้อยลงไป. พระองค์ตรัสว่า “หญิงม่ายจนคนนี้ได้ใส่ไว้มากกว่าคนทั้งปวงนั้น . . . ผู้หญิงคนนี้ขัดสนที่สุดยังได้เอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด.”—ลูกา 21:1-4; มาระโก 12:41-44.
คำกล่าวของเปาโลถึงชาวโกรินโธสอดคล้องกับแนวคิดนี้ของพระเยซู. ในเรื่องการบริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมความเชื่อที่ยากจน เปาโลให้ข้อสังเกตว่า “ถ้ามีน้ำใจพร้อมอยู่ก่อนแล้ว, พระเจ้าก็พอพระทัยที่จะทรงโปรดรับไว้ตามซึ่งทุกคนมีอยู่, มิใช่ตามซึ่งเขาไม่มี.” (2 โกรินโธ 8:12) ใช่แล้ว การบริจาคไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันหรือการเปรียบเทียบ. คนหนึ่งให้ตามฐานะของตัวเอง และพระยะโฮวาก็ทรงพอพระทัยกับน้ำใจแห่งความเอื้อเฟื้อ.
แม้ว่าไม่มีใครสามารถทำให้พระยะโฮวามั่งคั่งขึ้นได้จริง ๆ เพราะพระองค์เป็นเจ้าของสรรพสิ่งทั้งสิ้น แต่การบริจาคก็เป็นสิทธิพิเศษที่ทำให้ผู้นมัสการมีโอกาสจะแสดงความรักต่อพระองค์. (1 โครนิกา 29:14-17) การบริจาคที่ไม่ได้เกิดจากความปรารถนาจะโอ้อวดหรือจากแรงกระตุ้นอื่น ๆ ที่เห็นแก่ตัว แต่เกิดจากเจตคติที่ถูกต้องและความ ปรารถนาจะส่งเสริมการนมัสการแท้นั้นนำมาซึ่งความยินดีและพระพรจากพระเจ้า. (มัดธาย 6:1-4) พระเยซูตรัสว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจการ 20:35) เราสามารถร่วมในความสุขแบบนั้นได้โดยการให้กำลังของเราในงานรับใช้พระยะโฮวาและโดยการกันทรัพย์สินส่วนหนึ่งของเราไว้เพื่อสนับสนุนการนมัสการแท้และช่วยผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ.—1 โกรินโธ 16:1, 2.
การพร้อมที่จะให้ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน พยานพระยะโฮวาต่างตื่นเต้นที่ได้เห็นงานประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้” ก้าวหน้าไปทั่วโลก. (มัดธาย 24:14, ล.ม.) ระหว่างทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 มากกว่า 3,000,000 คนได้รับบัพติสมาอันเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้า และประชาคมใหม่ประมาณ 30,000 ประชาคมถูกก่อตั้งขึ้น. ใช่แล้ว หนึ่งในสามของประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาที่มีอยู่ในปัจจุบันถูกก่อตั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา! การเพิ่มทวีนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากงานหนักของคริสเตียนทั้งชายและหญิงซึ่งให้เวลาและกำลังของตนเพื่อไปเยี่ยมเพื่อนบ้านและบอกพวกเขาเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระยะโฮวา. การเพิ่มทวีบางส่วนเป็นผลจากการงานของพวกมิชชันนารี ซึ่งจากบ้านเกิดเมืองนอนและเดินทางไปยังดินแดนอันห่างไกลเพื่อช่วยงานประกาศราชอาณาจักรที่นั่น. การเพิ่มทวีทำให้มีการจัดตั้งหมวดใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งผู้ดูแลหมวดคนใหม่. นอกจากนั้น มีความต้องการคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้นเพื่อใช้ในการประกาศและการศึกษาส่วนตัว. มีความต้องการสรรพหนังสือมากขึ้น. และในหลายประเทศ มีความจำเป็นต้องขยายอาคารสาขาหรือสร้างใหม่ให้ใหญ่ขึ้น. ความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดนี้ได้รับการเอาใจใส่โดยการบริจาคด้วยใจสมัครจากไพร่พลของพระยะโฮวา.
ความจำเป็นเรื่องหอประชุม
ความจำเป็นที่สำคัญยิ่งเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มจำนวนของพยานพระยะโฮวาคือความจำเป็นเรื่องหอประชุม. การสำรวจเมื่อต้นปี 2000 เผยว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีข้อจำกัดทางการเงินต้องการหอประชุมมากกว่า 11,000 แห่ง. ขอพิจารณาแองโกลา. ทั้ง ๆ ที่มีสงครามกลางเมืองหลายปี แต่ประเทศนี้ก็กำลังมีจำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี. อย่างไรก็ตาม ประชาคมส่วนใหญ่จากจำนวน 675 ประชาคมในประเทศนี้ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ทางแอฟริกาประชุมกันกลางแจ้ง. มีหอประชุมในประเทศนั้นเพียง 22 แห่ง และในบรรดาหอประชุมเหล่านั้น มีเพียง 12 แห่งที่มีหลังคาไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง.
สภาพการณ์คล้าย ๆ กันมีอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก. แม้ว่ามีเกือบ 300 ประชาคมในนครหลวงกินชาซา แต่มีหอประชุมเพียงสิบแห่ง. ทั่วประเทศมีความต้องการหอประชุมอย่างเร่งด่วนกว่า 1,500 แห่ง. เนื่องจากความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศแถบยุโรปตะวันออก รัสเซียและยูเครนรายงานว่ามีความต้องการหอประชุมรวมกันแล้วอีกหลายร้อยแห่ง. การเติบโตอย่างรวดเร็วในลาตินอเมริกานั้นเห็นได้ชัดในบราซิล ซึ่งมีพยานฯ มากกว่าครึ่งล้านคนและมีความต้องการหอประชุมเพิ่มอีกมาก.
เพื่อจะสนองความจำเป็นในประเทศเหล่านั้น พยานพระยะโฮวาได้จัดตั้งโครงการด่วนสำหรับการสร้างหอประชุม. โครงการนี้ได้รับเงินทุนจากการบริจาคด้วยใจกว้างจากสังคมพี่น้องทั่วโลก เพื่อแม้แต่ประชาคมที่ยากจนที่สุดก็จะสามารถมีสถานที่นมัสการที่เหมาะสมได้.
เช่นเดียวกับสมัยของชาติยิศราเอลโบราณ มีการทำให้หลายสิ่งสำเร็จได้เนื่องจากคริสเตียนที่จริงใจ ‘ถวายพระเกียรติยศแด่พระยะโฮวาด้วยทรัพย์ของตน.’ (สุภาษิต 3:9, 10) คณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาอยากจะถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อทุกคนที่หัวใจของเขากระตุ้นให้เข้าส่วนร่วมในการให้ด้วยความสมัครใจนี้. และเรามั่นใจได้ว่าพระวิญญาณของพระยะโฮวาจะกระตุ้นหัวใจไพร่พลของพระองค์ต่อ ๆ ไปให้สนับสนุนความต้องการของงานราชอาณาจักรซึ่งขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง.
ขณะที่งานทั่วโลกขยายตัวต่อไป ขอให้เรามองหาโอกาสที่จะแสดงความยินดีและความเต็มใจในการให้กำลัง, เวลา, และทรัพย์สมบัติของเราต่อ ๆ ไป. และขอให้เราประสบความยินดีแท้ที่น้ำใจแห่งการให้เช่นนั้นนำมาให้.
[กรอบหน้า 29]
“ใช้เงินนี้ดี ๆ นะคะ!”
“หนูอายุสิบขวบค่ะ. หนูส่งเงินนี้มาให้ท่านซื้อกระดาษหรือสิ่งอื่น ๆ เพื่อใช้ทำหนังสือ.”—ซินดี.
“หนูยินดีส่งเงินนี้มาเพื่อให้ท่านผลิตหนังสือออกมาให้เรามากขึ้น. หนูเก็บเงินนี้จากการช่วยคุณพ่อ. ดังนั้น ใช้เงินนี้ดี ๆ นะคะ!”—แพม อายุเจ็ดขวบ.
“หนูเสียใจเรื่องพายุเฮอร์ริเคนนั่น. หนูหวังว่าพวกท่านจะปลอดภัย. ในกระปุกออมสินของหนูมีเงินทั้งหมดอยู่เท่านี้ [2 ดอลลาร์, 80 บาท].”—แอลลิสัน อายุสี่ขวบ.
“ผมชื่อรูดี ผมอายุ 11 ขวบครับ. น้องชายของผมชื่อราล์ฟ อายุหกขวบ. และน้องสาวของผมชื่อจูดิท อายุสองขวบครึ่ง. พวกเราเก็บออมเงินค่าขนมของเราเป็นเวลาสามเดือนเพื่อช่วยพี่น้องใน [เขตที่มีสงคราม]. พวกเราเก็บออมเงินได้ 20 ดอลลาร์ [800 บาท] ซึ่งเราส่งมาในตอนนี้.”
“ผมสงสารพี่น้องที่ [ถูกพายุเฮอร์ริเคนกระหน่ำ]. ผมหาเงินได้ 17 ดอลลาร์จากการทำงานกับคุณพ่อ. ผมไม่ได้ส่งเงินนี้มาสำหรับอะไรโดยเฉพาะ ผมจึงขอให้ท่านตัดสินใจ.”—แมกเคลน อายุแปดขวบ.
[กรอบหน้า 31]
วิธีต่าง ๆ ที่บางคนเลือกใช้เพื่อ
บริจาคสำหรับงานทั่วโลก
หลายคนกันเงินหรือจัดงบประมาณไว้จำนวนหนึ่งซึ่งเขาจะใส่ในกล่องบริจาคที่ติดป้ายว่า “เงินบริจาคสำหรับงานประกาศข่าวดีทั่วโลก—มัดธาย 24:14.” แต่ละเดือน ประชาคมต่าง ๆ จะส่งเงินเหล่านั้นไปยังสำนักงานกลางในบรุกลิน นิวยอร์ก หรือไม่ก็ส่งถึงสำนักงานสาขาในประเทศ.
นอกจากนั้น เงินบริจาคโดยสมัครใจอาจส่งตรงถึงแผนกเหรัญญิกโดยจ่าหน้าถึง Watch Tower Bible and Tract Society of Pennsylvania, 25 Columbia Heights, Brooklyn, New York 11201-2483 หรือถึงสำนักงานของสมาคมฯ ซึ่งดำเนินงานในประเทศคุณ. อาจบริจาคอัญมณีหรือของมีค่าอื่น ๆ ได้ด้วย. ควรแนบจดหมายสั้น ๆ ไปกับของบริจาคโดยระบุว่าเป็นของที่ยกให้โดยสิ้นเชิง.
การบริจาคแบบมีเงื่อนไข
อาจฝากเงินไว้กับสมาคมว็อชเทาเวอร์โดยมีข้อตกลงพิเศษว่าจะคืนเงินให้ผู้บริจาคหากผู้บริจาคมีความจำเป็น. สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อแผนกเหรัญญิกตามจ่าหน้าที่อยู่ข้างต้น.
การให้แบบเตรียมการ
นอกจากเงินที่ยกให้โดยสิ้นเชิงและการบริจาคแบบมีเงื่อนไขแล้ว ยังมีวิธีการให้แบบอื่นอีกเพื่อประโยชน์แก่งานราชอาณาจักรทั่วโลก. วิธีให้เหล่านี้รวมถึง:
เงินประกัน: อาจระบุชื่อสมาคมว็อชเทาเวอร์ [ในประเทศไทย: มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาพระคัมภีร์] ให้เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือเงินบำเหน็จบำนาญ.
บัญชีเงินฝาก: บัญชีเงินฝาก, ใบรับเงินฝากที่เปลี่ยนมือได้, หรือบัญชีเงินบำนาญส่วนบุคคลอาจมอบไว้ในความดูแล ของสมาคมว็อชเทาเวอร์ หรือให้สมาคมฯ เบิกได้เมื่อเจ้าของบัญชีสิ้นชีวิต แก่สมาคมว็อชเทาเวอร์ โดยเป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารท้องถิ่น.
หุ้นและพันธบัตร: อาจบริจาคหุ้นและพันธบัตรแก่สมาคมว็อชเทาเวอร์ด้วยการยกให้โดยสิ้นเชิง.
อสังหาริมทรัพย์: อสังหาริมทรัพย์ที่สามารถขายได้ก็อาจบริจาคแก่สมาคมว็อชเทาเวอร์ ไม่ว่าด้วยการยกให้โดยสิ้นเชิง หรือโดยการสงวนสิทธิ์ไว้สำหรับผู้บริจาคซึ่งจะอาศัยในบ้านหรือที่ดินนั้นจนสิ้นชีวิต. เขาควรติดต่อกับสมาคมฯ ก่อนจะทำการโอนอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ให้สมาคมฯ.
พินัยกรรม: อาจยกทรัพย์สินหรือเงินให้แก่สมาคมว็อชเทาเวอร์ [หรือมูลนิธิฯ] ด้วยการทำพินัยกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย.
ตามความหมายของสำนวนที่ว่า “การให้แบบเตรียมการ” ผู้บริจาคตามวิธีเหล่านี้คงต้องวางแผนอยู่บ้าง. เพื่อช่วยแต่ละคนซึ่งประสงค์จะให้สมาคมฯ [มูลนิธิฯ] ได้รับประโยชน์จากการให้แบบเตรียมการบางประเภทนั้น สมาคมฯ จึงจัดเตรียมจุลสารในภาษาอังกฤษและภาษาสเปนชื่อการให้แบบเตรียมการเพื่องานราชอาณาจักรทั่วโลก. จุลสารนี้จัดทำขึ้นเพื่อตอบคำถามหลายข้อที่สมาคมฯ ได้รับซึ่งเกี่ยวกับการให้และพินัยกรรม. จุลสารนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์, การเงิน, และภาษีอีกด้วย. และจุลสารนี้ถูกออกแบบเพื่อช่วยผู้คนในประเทศสหรัฐซึ่งวางแผนจะยกทรัพย์สินให้สมาคมฯ ในเวลานี้หรือจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เมื่อตนเสียชีวิต ให้เลือกวิธีการที่มีข้อได้เปรียบและได้ผลที่สุดโดยคำนึงถึงครอบครัวของตนและสภาพการณ์ส่วนตัว. จะรับจุลสารนี้ได้โดยเขียนไปขอโดยตรงจากแผนกการให้แบบเตรียมการ.
หลังจากอ่านจุลสารนี้แล้วและปรึกษาแผนกการให้แบบเตรียมการ หลายคนจึงสามารถสนับสนุนสมาคมฯ และขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์สูงสุดในเรื่องการเสียภาษี. ควรส่งสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมเหล่านี้และแจ้งให้แผนกการให้แบบเตรียมการทราบ. ถ้าคุณสนใจการจัดเตรียมเรื่องการให้แบบเตรียมการประเภทใดประเภทหนึ่ง คุณควรเขียนหรือโทรศัพท์ถึงแผนกการให้แบบเตรียมการตามที่อยู่ข้างล่างนี้ หรือติดต่อสำนักงานของสมาคมฯ ซึ่งดำเนินงานในประเทศของคุณ.
CHARITABLE PLANNING OFFICE
Watch Tower Bible and Tract Society of Pennsylvania
100 Watchtower Drive, Patterson, New York 12563-9204
Telephone: (845) 306-0707