ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“โอ้ ที่จะมีความเชื่อซึ่งจะไม่ลดน้อยถอยลง”!

“โอ้ ที่จะมีความเชื่อซึ่งจะไม่ลดน้อยถอยลง”!

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

“โอ้ ที่​จะ​มี​ความ​เชื่อ​ซึ่ง​จะ​ไม่​ลด​น้อย​ถอย​ลง”!

เล่า​โดย​เฮอร์เบิร์ต มึลเลอร์

เพียง​ไม่​กี่​เดือน​หลัง​จาก​กองทัพ​ของ​ฮิตเลอร์​บุกรุก​ประเทศ​เนเธอร์แลนด์ ก็​ได้​มี​การ​ประกาศ​ห้าม​งาน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. จาก​นั้น​ไม่​นาน ชื่อ​ของ​ผม​ก็​ปรากฏ​อยู่​ใน​บัญชี​ราย​ชื่อ​บุคคล ที่​กองทัพ​นาซี​ต้องการ​ตัว​มาก​ที่​สุด​และ​เขา​ตาม​ล่า​ผม​เหมือน​ผม​เป็น​สัตว์.

มี​อยู่​ครั้ง​หนึ่ง ผม​เหนื่อย​ล้า​หมด​แรง​เพราะ​การ​หลบ​ซ่อน​และ​วิ่ง​หนี ผม​เอ่ย​กับ​ภรรยา​ว่า​คง​จะ​เป็น​การ​ผ่อน​คลาย​หาย​เหนื่อย​หาก​ทหาร​ได้​ตัว​ผม​ไป​เสีย​ที. แต่​แล้ว​ผม​นึก​ถึง​เนื้อร้อง​ใน​เพลง​บท​หนึ่ง​ที่​ว่า: “โอ้ ที่​จะ​มี​ความ​เชื่อ​ซึ่ง​จะ​ไม่​ลด​น้อย​ถอย​ลง แม้​ปวง​ศัตรู​ทุก​หมู่​เหล่า​คอย​บีฑา.” * การ​คิด​รำพึง​ถึง​เพลง​บท​นั้น​ทำ​ให้​ผม​มี​พลัง​ขึ้น​มา​อีก และ​ทำ​ให้​ฟื้น​ความ​ทรง​จำ​เกี่ยว​กับ​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ใน​ประเทศ​เยอรมนี​และ​วัน​ที่​เพื่อน ๆ ของ​ผม​ได้​ร้อง​เพลง​นี้​ส่ง​ผม​ตอน​จาก​เขา​มา. ดี​ไหม​หาก​ผม​ฟื้น​ความ​ทรง​จำ​เหล่า​นี้​และ​เล่า​ให้​คุณ​ฟัง?

ตัว​อย่าง​ของ​บิดา​มารดา

เมื่อ​ผม​เกิด​ปี 1913 ณ เมือง​โคพิทซ์ ประเทศ​เยอรมนี พ่อ​แม่​ผม​เป็น​สมาชิก​คริสตจักร​อิแวนเจลิคัล. * อีก​เจ็ด​ปี​ต่อ​มา ใน​ปี 1920 พ่อ​ยื่น​ใบ​ลา​ออก​จาก​คริสตจักร. วัน​ที่ 6 เมษายน ท่าน​ได้​ขอ​หนังสือ Kirchenaustrittsbescheinigung (ใบ​รับรอง​การ​ลา​ออก​จาก​คริสตจักร). นาย​ทะเบียน​ท้องถิ่น​ได้​ออก​ใบ​รับรอง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หนึ่ง​สัปดาห์​ต่อ​จาก​นั้น พ่อ​กลับ​ไป​ที่​สำนัก​ทะเบียน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง โดย​ชี้​แจง​ว่า​ชื่อ​ลูก​สาว​ของ​ท่าน​ไม่​มี​ใน​ใบ​รับรอง​การ​ลา​ออก. นาย​ทะเบียน​จึง​ได้​ออก​ใบ​รับรอง​ฉบับ​ที่​สอง​ระบุ​การ​ลา​ออก​จาก​คริสตจักร​นั้น​มี​มาร์ทา มาร์กาเรทา มึลเลอร์​รวม​อยู่​ด้วย. เวลา​นั้น มาร์กาเรทา​น้อง​สาว​ของ​ผม​อายุ​หนึ่ง​ขวบ​ครึ่ง. เมื่อ​พูด​ถึง​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา พ่อ​จะ​ไม่​ยอม​ยุติ​เรื่อง​นี้​ไว้​เพียง​ครึ่ง ๆ กลาง ๆ!

ปี​เดียว​กัน​นั้น​เอง พ่อ​แม่​ของ​ผม​ได้​รับ​บัพติสมา​โดย​กลุ่ม​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น. พ่อ​อบรม​เลี้ยง​ดู​พวก​เรา​อย่าง​เข้มงวด แต่​ความ​ภักดี​ของ​ท่าน​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ทำ​ให้​ง่าย​ที่​พวก​เรา​จะ​รับ​เอา​การ​ชี้​นำ​ของ​ท่าน. นอก​จาก​นั้น ความ​ซื่อ​สัตย์​ภักดี​ยัง​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ​ให้​พ่อ​แม่​ของ​ผม​ยอม​ปรับ​เปลี่ยน​หลาย​อย่าง​ด้วย. เป็น​ต้น​ว่า มี​อยู่​ช่วง​หนึ่ง​ไม่​มี​การ​อนุญาต​ให้​เรา​ออก​ไป​เล่น​นอก​บ้าน​ใน​วัน​อาทิตย์. อย่าง​ไร​ก็​ดี วัน​อาทิตย์​วัน​หนึ่ง​ใน​ปี 1925 พ่อ​แม่​บอก​เรา​จะ​ออก​ไป​เดิน​เล่น​นอก​บ้าน​กัน. เรา​ได้​นำ​อาหาร​ว่าง​ไป​กิน​กัน​บ้าง​และ​รู้สึก​สนุกสนาน​มาก—ช่าง​ต่าง​กัน​เสีย​จริง​กับ​การ​อยู่​แต่​ใน​บ้าน​ทั้ง​วัน! พ่อ​บอก​ว่า​พ่อ​ได้​เรียน​รู้​จุด​สำคัญ​บาง​จุด​จาก​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​เพิ่ง​ผ่าน​ไป ซึ่ง​ได้​ช่วย​ท่าน​แก้ไข​แง่​คิด​เกี่ยว​ด้วย​กิจกรรม​วัน​อาทิตย์. ท่าน​ได้​แสดง​ความ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​แบบ​นี้​ใน​โอกาส​อื่น ๆ ด้วย​เช่น​กัน.

แม้​สุขภาพ​พ่อ​แม่​ของ​ผม​ไม่​สู้​จะ​แข็งแรง​นัก แต่​สำหรับ​งาน​ประกาศ​แล้ว​ท่าน​ไม่​เคย​ย่อท้อ. อย่าง​เช่น เพื่อ​จะ​แจก​แผ่น​พับ​นัก​เทศน์​นัก​บวช​ถูก​ฟ้องร้อง ใน​เย็น​วัน​หนึ่ง พวก​เรา​พา​กัน​ไป​ขึ้น​รถไฟ​พร้อม​กับ​คน​อื่น ๆ จาก​ประชาคม และ​ได้​เดิน​ทาง​ไป​ถึง​เมือง​เรเกนสบูร์ก ห่าง​จาก​เดรสเดิน​ราว ๆ 300 กิโลเมตร. วัน​ถัด​ไป เรา​แจก​แผ่น​พับ​ไป​ทั่ว​เมือง และ​เมื่อ​แจก​หมด​แล้ว​ก็​นั่ง​รถไฟ​กลับ. ตอน​ที่​เรา​มา​ถึง​บ้าน เวลา​ล่วง​ผ่าน​ไป​เกือบ 24 ชั่วโมง.

การ​ไป​จาก​บ้าน

การ​คบหา​สมาคม​กับ​Jugendgruppe (กลุ่ม​เยาวชน) ใน​ประชาคม​ของ​เรา​ช่วย​ให้​ผม​เจริญ​เติบโต​ฝ่าย​วิญญาณ​ด้วย​เช่น​กัน. ทุก​สัปดาห์ เยาวชน​วัย 14 ปี​หรือ​มาก​กว่า​นั้น​ได้​พบ​ปะ​กับ​พี่​น้อง​ชาย​บาง​คน​ใน​ประชาคม​ที่​มี​อายุ​มาก​กว่า. เรา​เล่น​เกม​และ​เล่น​เครื่อง​ดนตรี, ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล, และ​คุย​กัน​ถึง​เรื่อง​การ​สร้าง​ของ​พระเจ้า​และ​วิทยาศาสตร์. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​ปี 1932 ตอน​ที่​ผม​อายุ 19 ปี การ​คบหา​กับ​กลุ่ม​นั้น​ได้​ชะงัก​ไป.

เดือน​เมษายน​ปี​นั้น​เอง พ่อ​ได้​รับ​จดหมาย​จาก​สำนักงาน​ของ​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ใน​เมือง​มักเดบูร์ก. สมาคม​ฯ กำลัง​มอง​หา​ใคร​สัก​คน​ที่​ขับ​รถ​ได้​และ​ประสงค์​จะ​เป็น​ไพโอเนียร์. ผม​รู้​ความ​ปรารถนา​ของ​พ่อ​แม่​ที่​อยาก​ให้​ผม​เป็น​ไพโอเนียร์ แต่​ผม​คิด​ว่า​คง​ทำ​ไม่​ได้. เนื่อง​จาก​พ่อ​แม่​ของ​ผม​ยาก​จน เมื่อ​อายุ 14 ปี​ผม​เริ่ม​งาน​ซ่อม​รถ​จักรยาน​และ​จักร​เย็บ​ผ้า อีก​ทั้ง​เครื่อง​พิมพ์ดีด​และ​เครื่อง​ใช้​ใน​สำนักงาน. แล้ว​ผม​จะ​ทิ้ง​ครอบครัว​ไป​ได้​อย่าง​ไร? ครอบครัว​จำเป็น​ต้อง​พึ่ง​พา​การ​อุดหนุน​จุนเจือ​จาก​ผม. ยิ่ง​กว่า​นั้น ผม​ยัง​ไม่​ได้​รับ​บัพติสมา​ด้วย​ซ้ำ. พ่อ​นั่ง​คุย​กับ​ผม​และ​ถาม​คำ​ถาม​บาง​ข้อ​เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​ผม​เข้าใจ​สิ่ง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​รับ​บัพติสมา​หรือ​ไม่. เมื่อ​ฟัง​คำ​ตอบ​จาก​ผม ท่าน​เชื่อ​มั่น​ว่า​ผม​ได้​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​มาก​พอ​สม​ควร น่า​จะ​รับ​บัพติสมา​ได้ ท่าน​พูด​ว่า “ลูก​ควร​เสนอ​ตัว​รับ​เอา​หน้า​ที่​มอบหมาย​นี้.” ผม​ได้​ทำ​เช่น​นั้น.

หนึ่ง​สัปดาห์​ต่อ​มา ผม​ได้​รับ​จดหมาย​เชิญ​ไป​เมือง​มักเดบูร์ก. เมื่อ​บอก​เพื่อน​ของ​ผม​ใน​กลุ่ม​เยาวชน พวก​เพื่อน ๆ ต้องการ​ส่ง​ผม​ยาม​อำลา​จาก​ด้วย​บทเพลง​ที่​สนุกสนาน​ชื่น​บาน. พวก​เขา​รู้สึก​ประหลาด​ใจ​เมื่อ​ผม​เลือก​เพลง​ซึ่ง​ค่อนข้าง​จะ​เคร่ง​ขรึม​จริงจัง. ถึง​กระนั้น บาง​คน​คว้า​ไวโอลิน, แมนโดลิน, และ​กีตาร์​ขึ้น​มา​บรรเลง​และ​ทุก​คน​ร้อง​เพลง: “โอ้ ที่​จะ​มี​ความ​เชื่อ​ซึ่ง​จะ​ไม่​ลด​น้อย​ถอย​ลง แม้​ปวง​ศัตรู​ทุก​หมู่​เหล่า​คอย​บีฑา ข้า​ฯ ไม่​หวั่นไหว​แม้​จะ​อยู่​หว่าง​ขอบ​เหว​อัน​วิบัติ​ใด ๆ ใน​โลก.” วัน​นั้น ผม​ไม่​ตระหนัก​เลย​ว่า​เนื้อร้อง​เหล่า​นั้น​จะ​เสริม​กำลัง​ผม​บ่อย​ครั้ง​เพียง​ไร​ใน​ช่วง​หลาย​ปี​ต่อ​มา.

การ​เริ่ม​ต้น​อย่าง​วุ่นวาย

หลัง​จาก​พี่​น้อง​ชาย​ใน​มักเดบูร์ก​ได้​ทดสอบ​ความ​สามารถ​ของ​ผม​ใน​การ​ขับ​ขี่​แล้ว พวก​เขา​ได้​มอบ​รถยนต์​คัน​หนึ่ง​ให้​ผม​ใช้​ร่วม​กับ​ไพโอเนียร์​อีก​สี่​คน และ​เรา​มุ่ง​หน้า​ไป​ยัง​ชไนเฟล เขต​ใกล้​ประเทศ​เบลเยียม. ชั่ว​เวลา​อัน​สั้น​เรา​ได้​เรียน​รู้​ว่า​รถยนต์​ของ​เรา​เป็น​สิ่ง​จำเป็น. คริสตจักร​คาทอลิก​ใน​เขต​ไม่​พอ​ใจ​ที่​เห็น​พวก​เรา​ประกาศ​ใน​เมือง​นั้น และ​โดย​การ​กระตุ้น​ของ​พวก​บาทหลวง บ่อย​ครั้ง​พวก​ชาว​บ้าน​มัก​จะ​คอย​เสือก​ไส​ไล่​พวก​เรา​ออก​ไป. รถยนต์​ช่วย​พวก​เรา​หนี​ได้​ทัน​ท่วงที​หลาย​ครั้ง ก่อน​ชาว​บ้าน​จะ​กลุ้ม​รุม​ตี​เรา​ด้วย​จอบ​และ​คราด​กวาด​หญ้า.

หลัง​การ​ฉลอง​อนุสรณ์​ปี 1933 พอล กรอสส์มันน์ ผู้​ดู​แล​ภาค​ขณะ​นั้น​แจ้ง​แก่​พวก​เรา​ว่า​งาน​ของ​สมาคม​ฯ ใน​ประเทศ​เยอรมนี​ถูก​สั่ง​ห้าม​ไป​แล้ว. จาก​นั้น​ไม่​นาน สำนักงาน​สาขา​ขอ​ให้​ผม​เอา​รถ​ขับ​ไป​ที่​เมือง​มักเดบูร์ก​เก็บ​สรรพหนังสือ และ​ขน​ย้าย​ไป​ยัง​รัฐ​แซกโซนี ห่าง​จาก​เมือง​มักเดบูร์ก​ประมาณ 100 กิโลเมตร. อย่าง​ไร​ก็​ดี เมื่อ​ผม​ไป​ถึง​มักเดบูร์ก หน่วย​เกสตาโป (ตำรวจ​ลับ​ของ​นาซี) ได้​ปิด​สำนักงาน​ของ​สมาคม​ฯ ไป​แล้ว. ผม​จึง​ฝาก​รถยนต์​ไว้​กับ​บราเดอร์​คน​หนึ่ง​ใน​เมือง​ไลพ์ซิก แล้ว​กลับ​บ้าน—แต่​อยู่​ได้​ไม่​นาน.

สำนักงาน​ของ​สมาคม​ฯ ใน​สวิตเซอร์แลนด์​ชักชวน​ผม​ไป​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์​ที่​ประเทศ​เนเธอร์แลนด์. ผม​วาง​แผน​จะ​ไป​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​เกิน​สอง​สัปดาห์. แต่​พ่อ​แนะ​นำ​ผม​ให้​รีบ​ไป​ทันที. ผม​เชื่อ​คำ​แนะ​นำ​ของ​ท่าน และ​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​กี่​ชั่วโมง ผม​ก็​จาก​บ้าน​ไป. วัน​ต่อ​มา ตำรวจ​มา​ที่​บ้าน​พ่อ​เพื่อ​จับ​กุม​ผม​ด้วย​ข้อ​หา​หนี​ทหาร. พวก​เขา​มา​ช้า​ไป.

เริ่ม​ต้น​ทำ​งาน​ที่​เนเธอร์แลนด์

วัน​ที่ 15 สิงหาคม 1933 ผม​ไป​ถึง​บ้าน​ไพโอเนียร์​ที่​เมือง​เฮมสเตด ห่าง​จาก​อัมสเตอร์ดัม 25 กิโลเมตร. วัน​ถัด​มา ผม​ออก​ทำ​งาน​ประกาศ​ทั้ง​ที่​ไม่​รู้​ภาษา​ดัตช์​แม้​แต่​คำ​เดียว. ผม​เริ่ม​ต้น​ด้วย​การ​นำ​เอา​บัตร​ที่​พิมพ์​คำ​พยาน​ติด​ตัว​ไป​ด้วย. ผม​ได้​กำลังใจ​มาก​เพียง​ไร​เมื่อ​ผู้​หญิง​คาทอลิก​คน​หนึ่ง​รับ​หนังสือ​การ​คืน​ดี! วัน​เดียว​กัน​นั้น ผม​ได้​จำหน่าย​หนังสือ​เล่ม​เล็ก 27 เล่ม​อีก​ด้วย. เมื่อ​สิ้น​วัน​แรก ผม​รู้สึก​เบิกบาน​ใจ​ที่​สามารถ​ประกาศ​ได้​อย่าง​อิสระ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง.

สมัย​นั้น​ไพโอเนียร์​ไม่​มี​แหล่ง​ราย​ได้​อื่น นอก​จาก​เงิน​บริจาค​เมื่อ​จำหน่าย​หนังสือ​ได้. เรา​ใช้​เงิน​นั้น​ซื้อ​อาหาร​และ​สิ่ง​จำเป็น​อื่น ๆ. หาก​เงิน​เล็ก​น้อย​ยัง​มี​เหลือ​อยู่​บ้าง​ใน​ตอน​สิ้น​เดือน ก็​เอา​มา​แบ่ง​กัน​ใน​หมู่​ไพโอเนียร์​เพื่อ​เป็น​ค่า​ใช้​จ่าย​ส่วน​ตัว. พวก​เรา​ไม่​ค่อย​มี​มาก​ทาง​ด้าน​วัตถุ แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​เตรียม​ให้​พวก​เรา​มี​พอ​ถึง​ขนาด​ที่​ผม​สามารถ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ปี 1934 ที่​ประเทศ​สวิตเซอร์แลนด์​ได้.

เพื่อน​สนิท​ที่​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง

ณ การ​ประชุม​ใหญ่ ผม​ได้​พบ​เอริคา ฟิงเค อายุ 18 ปี. ผม​รู้​จัก​เธอ​มา​ตั้ง​แต่​ตอน​ผม​อยู่​ที่​บ้าน. เธอ​เป็น​เพื่อน​มาร์กาเรทา​น้อง​สาว​ของ​ผม และ​ผม​รู้สึก​ประทับใจ​เสมอ​มา​ที่​เอริคา​ยืนหยัด​มั่นคง​เพื่อ​ความ​จริง. ไม่​นาน​หลัง​จาก​เธอ​รับ​บัพติสมา​เมื่อ​ปี 1932 มี​คน​แจ้ง​หน่วย​เกสตาโป​ว่า​เอริคา​ไม่​ยอม​พูด​ว่า “ไฮล์ [ความ​รอด​มา​จาก] ฮิตเลอร์!” เกสตาโป​ตาม​ล่า​หา​ตัว​และ​ต้องการ​รู้​สาเหตุ​ที่​เธอ​ปฏิเสธ. เอริคา​อ่าน​กิจการ 17:3 ให้​เจ้า​พนักงาน​ที่​สถานี​ตำรวจ​ฟัง และ​ชี้​แจง​ว่า​พระเจ้า​ได้​ทรง​ตั้ง​พระ​เยซู​คริสต์​องค์​เดียว​เท่า​นั้น​เป็น​ผู้​ช่วย​ให้​รอด. นาย​ตำรวจ​สอบ​ถาม​เธอ​ว่า “มี​ใคร​อีก​ไหม​เชื่อ​เหมือน​คุณ?” เอริคา​ไม่​ยอม​บอก​ชื่อ​ใคร ๆ ทั้ง​สิ้น. ครั้น​ตำรวจ​ข่มขู่​จะ​กัก​ตัว เอริคา​บอก​ว่า​เธอ​ยอม​ตาย​เสีย​ดี​กว่า​จะ​บอก​ชื่อ​คนใด ๆ. นาย​ตำรวจ​จ้อง​หน้า​เธอ​และ​เอ็ด​เสียง​ดัง​ลั่น​ว่า “ออก​ไป​ให้​พ้น กลับ​บ้าน​ไป. ไฮล์ ฮิตเลอร์!”

หลัง​การ​ประชุม​ใหญ่ ผม​กลับ​ไป​ที่​เนเธอร์แลนด์​ขณะ​ที่​เอริคา​ยัง​อยู่​ที่​สวิตเซอร์แลนด์. กระนั้น เรา​สอง​คน​ตระหนัก​ดี​ว่า​มิตรภาพ​ของ​เรา​กำลัง​งอกงาม. ระหว่าง​อยู่​ใน​สวิตเซอร์แลนด์ เอริคา​ได้​ข่าว​ว่า​หน่วย​เกสตาโป​ที่​ประเทศ​บ้าน​เกิด​ได้​ตาม​ล่า​หา​ตัว​เธอ. เธอ​ตก​ลง​อยู่​ใน​ประเทศ​สวิตเซอร์แลนด์​ต่อ​ไป​และ​เป็น​ไพโอเนียร์​ที่​นั่น. หลัง​จาก​นั้น​เพียง​สอง​สาม​เดือน สมาคม​ฯ ขอ​ให้​เธอ​ย้าย​ไป​ประเทศ​สเปน. เธอ​ทำ​งาน​ไพโอเนียร์​ใน​กรุง​มาดริด, แล้ว​ก็​บิลบาโอ, ต่อ​จาก​นั้น​ที่​เมือง​ซาน เซบาสเตียน ซึ่ง​การ​ข่มเหง​โดย​การ​ปลุก​เร้า​ของ​พวก​นัก​เทศน์​นัก​บวช​เป็น​เหตุ​ให้​เธอ​กับ​เพื่อน​ไพโอเนียร์​ต้อง​ติด​คุก​ที่​นี่. ใน​ปี 1935 มี​คำ​สั่ง​ให้​พวก​เธอ​ออก​จาก​ประเทศ​สเปน. เอริคา​ได้​มา​ที่​เนเธอร์แลนด์ และ​เรา​แต่งงาน​กัน​ใน​ปี​นั้น.

หมอก​เมฆ​แห่ง​สงคราม​คืบ​ใกล้​เข้า​มา

หลัง​การ​แต่งงาน เรา​ทำ​งาน​ไพโอเนียร์​ใน​เมือง​เฮมสเตด ต่อ​จาก​นั้น​เรา​ได้​ย้าย​ไป​ยัง​เมือง​รอตเทอร์ดัม. วอล์ฟกัง ลูก​ชาย​ของ​เรา​เกิด​ที่​เมือง​นี้​ใน​ปี 1937. หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา เรา​ได้​ย้าย​ไป​ที่​เมือง​โกรนิงเกน ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​ประเทศ​เนเธอร์แลนด์ ที่​นั่น​เรา​อยู่​บ้าน​รวม​กับ​เฟอร์ดินันด์​และ​เฮลกา ฮอลทอร์ฟ ไพโอเนียร์​ชาว​เยอรมัน​และ​ลูก​สาว​ของ​เขา. เดือน​กรกฎาคม 1938 สมาคม​ฯ แจ้ง​เรา​ว่า​รัฐบาล​ดัตช์​ได้​ออก​หมาย​เตือน​ว่า พยาน​พระ​ยะโฮวา​สัญชาติ​เยอรมัน​จะ​ไม่​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ประกาศ​อีก​ต่อ​ไป. ใน​เวลา​ไล่เลี่ย​กัน ผม​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​รับใช้​โซน (ผู้​ดู​แล​หมวด) และ​ครอบครัว​ของ​เรา​ย้าย​ไป​ที่​ลิคต์ดราเคอร์ (ผู้​ถือ​ความ​สว่าง) ซึ่ง​เป็น​เรือ​ของ​สมาคม​ฯ ที่​ใช้​เป็น​ฐาน​สำหรับ​ไพโอเนียร์​ที่​ประกาศ​ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​เนเธอร์แลนด์. เวลา​ส่วน​ใหญ่ ผม​ไม่​ได้​อยู่​กับ​ครอบครัว ผม​ขี่​จักรยาน​จาก​ประชาคม​หนึ่ง​ไป​อีก​ประชาคม​หนึ่ง​เพื่อ​หนุน​กำลังใจ​พี่​น้อง​ให้​ทำ​การ​ประกาศ​ต่อ ๆ ไป. และ​พวก​พี่​น้อง​ก็​มุ่ง​มั่น​ทำ​เช่น​นั้น​จริง. บาง​คน​ได้​เพิ่ม​กิจกรรม​ของ​ตน​มาก​ขึ้น​ด้วย​ซ้ำ. วิม เคตเตลาเรย์ เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี.

เมื่อ​ผม​พบ​กับ​วิม เขา​เป็น​คน​หนุ่ม​ที่​ยอม​รับ​เอา​ความ​จริง แต่​ไม่​ค่อย​มี​เวลา​ว่าง​เนื่อง​จาก​รับจ้าง​ทำ​งาน​ใน​ฟาร์ม. ผม​แนะ​นำ​เขา​ว่า “ถ้า​คุณ​อยาก​มี​เวลา​รับใช้​พระ​ยะโฮวา คุณ​ควร​หา​งาน​อื่น​ทำ.” เขา​ทำ​อย่าง​นั้น. ต่อ​มา เมื่อ​เรา​พบ​กัน​อีก ผม​สนับสนุน​เขา​เป็น​ไพโอเนียร์. เขา​ตอบ​ว่า “แต่​ผม​ต้อง​ทำ​งาน​เพื่อ​จะ​มี​กิน” ผม​พูด​ให้​เขา​มั่น​ใจ​ว่า “คุณ​จะ​มี​กิน พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​ดู​แล​คุณ.” แล้ว​วิม​ก็​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์. ต่อ​มา แม้​แต่​ใน​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง เขา​ได้​รับใช้​ฐานะ​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง. เวลา​นี้ วิม​ใน​วัย 80 เศษ ๆ ยัง​คง​เป็น​พยาน​ฯ ที่​กระตือรือร้น. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดู​แล​เขา​อย่าง​แท้​จริง.

ภาย​ใต้​คำ​สั่ง​ห้าม​และ​ถูก​ตาม​ล่า

เมื่อ​เดือน​พฤษภาคม ปี 1940 ประมาณ​หนึ่ง​ปี​หลัง​จาก​ไร​นา ลูก​คน​ที่​สอง​ของ​เรา​เกิด กองทัพ​ดัตช์​ยอม​แพ้​และ​นาซี​ได้​ยึด​ครอง​ประเทศ​เนเธอร์แลนด์. เดือน​กรกฎาคม หน่วย​เกสตาโป​ได้​ยึด​ทรัพย์​สิน​และ​แท่น​พิมพ์​ของ​สมาคม​ฯ. ปี​ต่อ​มา มี​การ​จับ​กุม​เหล่า​พยาน​ฯ ระลอก​แล้ว​ระลอก​เล่า และ​ผม​ถูก​จับ​ด้วย. เนื่อง​จาก​เป็น​พยาน​ฯ และ​เป็น​คน​เยอรมัน​ที่​อายุ​ครบ​เกณฑ์​ทหาร ฉะนั้น​ไม่​ยาก​ที่​จะ​นึก​ภาพ​ว่า​เกสตาโป​จะ​ทำ​อะไร​แก่​ผม. ผม​ทำ​ใจ​ยอม​รับ​ว่า​จะ​ไม่​มี​วัน​ได้​พบ​เห็น​ครอบครัว​อีก.

ครั้น​แล้ว ใน​เดือน​พฤษภาคม 1941 ตำรวจ​เกสตาโป​ปล่อย​ผม​ออก​จาก​คุก และ​สั่ง​ให้​ไป​รายงาน​ตัว​เพื่อ​เข้า​รับ​ราชการ​ทหาร. ผม​ไม่​อาจ​จะ​เชื่อ​ได้. วัน​เดียว​กัน​นั้น​เอง ผม​หาย​ตัว​เข้า​กลีบ​เมฆ และ​ใน​เดือน​เดียว​กัน​ผม​ก็​ได้​กลับ​ไป​ทำ​งาน​หมวด. หน่วย​เกสตาโป​ใส่​ชื่อ​ของ​ผม​ไว้​ใน​ราย​ชื่อ​ที่​เขา​ต้องการ​ตัว​มาก​ที่​สุด.

ครอบครัว​ของ​ผม​รับมือ​อย่าง​ไร

ภรรยา​ของ​ผม​พร้อม​กับ​ลูก​ได้​ย้าย​ไป​อยู่​ที่​หมู่​บ้าน​โฟร์​เดน ทาง​ภาค​ตะวัน​ออก​ของ​ประเทศ. แต่​เพื่อ​ลด​ความ​เสี่ยง​อันตราย​อัน​อาจ​จะ​เกิด​ขึ้น​แก่​พวก​เขา ผม​จึง​ต้อง​จำกัด​การ​กลับ​เยี่ยม​บ้าน​ให้​น้อย​ครั้ง​ที่​สุด. (มัดธาย 10:16) เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย พวก​พี่​น้อง​ไม่​ได้​ใช้​ชื่อ​จริง​ของ​ผม ใช้​แต่​นามแฝง​ว่า​ไดท์เซอ ยาน (จอห์น​ชาว​เยอรมัน). แม้​แต่​วอล์ฟ​กัง​ลูก​ชาย​วัย​สี่​ขวบ ก็​ไม่​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​พูด​เรื่อง​เกี่ยว​กับ “พ่อ” แต่​พูด​ถึง “โอมิ ยาน” (ลุง​จอห์น) ได้. เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​เขา​สับสน​ทาง​อารมณ์​มิ​ใช่​น้อย.

ใน​ระหว่าง​ที่​ผม​หลบ ๆ ซ่อน ๆ หน่วย​เกสตาโป เอริคา​ก็​เอา​ใจ​ใส่​เลี้ยง​ลูก​และ​ทำ​งาน​ประกาศ​มิ​ได้​ขาด. เมื่อ​ไร​นา​อายุ​ได้​สอง​ขวบ เอริคา​ขี่​จักรยาน​เอา​ลูก​สาว​นั่ง​ตะแกรง​หน้า​รถ​ไป​ประกาศ​ตาม​หมู่​บ้าน​ชนบท​ด้วย. แม้​อาหาร​อัตคัด เอริคา​ไม่​ถึง​กับ​ลำเค็ญ​ขนาด​ไม่​มี​อาหาร​สำหรับ​ครอบครัว. (มัดธาย 6:33) เกษตรกร​ชาว​คาทอลิก​ซึ่ง​ครั้ง​หนึ่ง​ผม​เคย​ซ่อม​จักร​เย็บ​ผ้า​ให้ เขา​ได้​ให้​มันฝรั่ง​แก่​เอริคา. นอก​จาก​นั้น เขา​มัก​ถ่ายทอด​ข่าว​คราว​ที่​ได้​รับ​จาก​ผม​ให้​เธอ​อีก​ต่อ​หนึ่ง. คราว​หนึ่ง เธอ​จ่าย​หนึ่ง​กูลเดน เป็น​ค่า​สิ่ง​ของ​ที่​ซื้อ​จาก​ร้าน​ขาย​ยา. เจ้าของ​ร้าน​รู้​ว่า​เธอ​ต้อง​อยู่​อย่าง​หลบ ๆ ซ่อน ๆ และ​ไม่​มี​บัตร​ปัน​ส่วน​อาหาร เขา​จึง​ให้​สิ่ง​ของ​แก่​เธอ แถม​เงิน​อีก​สอง​กูลเดน. การ​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​เช่น​นั้น​ช่วย​เธอ​อยู่​รอด​ได้.— เฮ็บราย 13:5.

ทำ​งาน​เคียง​ข้าง​ไป​กับ​พวก​พี่​น้อง​ที่​กล้า​หาญ

ช่วง​เวลา​นั้น ผม​ยัง​คง​เดิน​ทาง​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ อย่าง​ต่อ​เนื่อง—แม้​เป็น​เพียง​การ​ติด​ต่อ​เฉพาะ​กับ​พี่​น้อง​ผู้​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ของ​ประชาคม. เนื่อง​จาก​หน่วย​เกสตาโป​ตาม​ล่า​ไม่​ขาด​ระยะ ผม​จึง​ไม่​อาจ​อยู่ ณ ที่​แห่ง​หนึ่ง​ได้​นาน​กว่า​สอง​หรือ​สาม​ชั่วโมง. พี่​น้อง​ทั้ง​ชาย​และ​หญิง​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​พบ​ผม. พี่​น้อง​รู้​จัก​มัก​คุ้น​กัน​ก็​เฉพาะ​หมู่​พยาน​ฯ ใน​กลุ่ม​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กลุ่ม​เล็ก ๆ ของ​ตน​เอง​เท่า​นั้น. จาก​สภาพ​ดัง​กล่าว ทำ​ให้​ซิสเตอร์​สอง​คน​ซึ่ง​เป็น​พี่​น้อง​ร่วม​ท้อง​แท้ ๆ แต่​อยู่​กัน​คน​ละ​ที่​ใน​เมือง​เดียว​กัน เพิ่ง​ได้​มา​รู้​ภาย​หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​ว่า​ทั้ง​สอง​คน​ต่าง​ก็​เข้า​มา​เป็น​พยาน​ฯ ใน​ช่วง​สงคราม.

การ​หา​ที่​สำหรับ​ซ่อน​สรรพหนังสือ​ของ​สมาคม​ฯ เป็น​ภารกิจ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​สำหรับ​ผม. เรา​ยัง​ได้​ซุก​ซ่อน​กระดาษ, เครื่อง​อัดสำเนา, และ​เครื่อง​พิมพ์ดีด​อีก​ด้วย​เพื่อ​ใช้​พิมพ์​วารสาร​หอสังเกตการณ์ หาก​มี​ความ​ต้องการ. บาง​ครั้ง พวกเรา​ต้อง​ขน​ย้าย​หนังสือ​ของ​สมาคม​ฯ จาก​ที่​ซ่อน​ไป​อีก​ที่​หนึ่ง. ผม​จำ​ได้​ว่า​ครั้ง​หนึ่ง​เคย​ขน​ย้าย​จำนวน​มาก​ถึง 30 กล่อง​ที่​บรรจุ​หนังสือ​ไว้​เต็ม ขณะ​เดียว​กัน​ก็​พยายาม​ไม่​ให้​เป็น​ที่​น่า​สงสัย—เป็น​งาน​ที่​น่า​หวั่น​กลัว​เสีย​จริง!

นอก​จาก​นั้น เรา​ได้​จัด​ระบบ​การ​ขน​ส่ง​อาหาร​จาก​ฟาร์ม​ทาง​ภาค​ตะวัน​ออก​ของ​เนเธอร์แลนด์​ไป​ยัง​เมือง​ต่าง ๆ ภาค​ตะวัน​ตก ทั้ง ๆ ที่​มี​การ​ห้าม​วิธี​การ​แบบ​นี้. เรา​จะ​เอา​อาหาร​บรรทุก​รถ​ที่​ใช้​ม้า​ลาก​และ​มุ่ง​หน้า​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก. เมื่อ​ไป​ถึง​แม่น้ำ เรา​ใช้​สะพาน​เป็น​ทาง​ข้าม​ไม่​ได้ เพราะ​มี​ทหาร​เฝ้า​ยาม​ประจำ​อยู่. แต่​เรา​ได้​ถ่าย​อาหาร​จาก​รถ​ม้า​ลง​ใน​เรือ​ลำ​เล็ก ๆ ครั้น​แล้ว​ก็​ลำเลียง​อาหาร​ข้าม​แม่น้ำ และ​ขน​อาหาร​ออก​จาก​เรือ​ใส่​รถ​ม้า​อีก​คัน​หนึ่ง. เมื่อ​เรา​ไป​ถึง​เมือง​อัน​เป็น​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง เรา​คอย​จน​กว่า​มืด​ค่ำ เอา​ถุง​เท้า​ครอบ​กีบ​ม้า​ไว้​แล้ว​ไป​ต่อ​อย่าง​เงียบ ๆ จน​ถึง​คลัง​เก็บ​ซ่อน​เสบียง​ของ​ประชาคม. จาก​ที่​นั่น อาหาร​ก็​ถูก​แบ่ง​ปัน​แจก​ให้​แก่​พี่​น้อง​ที่​ขัดสน

ถ้า​ทหาร​เยอรมัน​ค้น​พบ​คลัง​เสบียง​ดัง​กล่าว นั่น​ย่อม​หมาย​ถึง​ใคร​สัก​คน​ต้อง​เสีย​ชีวิต. กระนั้น​ก็​ดี พี่​น้อง​หลาย​คน​อาสา​ช่วย​งาน​ด้าน​นี้. ตัว​อย่าง​เช่น ครอบครัว​บลูมิงค์ ใน​เมือง​อาเมอร์สโฟร์ต​ได้​ให้​เรา​ใช้​ห้อง​นั่ง​เล่น​ใน​บ้าน​ของ​เขา​เป็น​คลัง​เก็บ​อาหาร ทั้ง ๆ ที่​บ้าน​ของ​เขา​อยู่​ห่าง​จาก​ป้อม​ทหาร​เยอรมัน​ไม่​กี่​สิบ​เมตร! พยาน​ฯ ที่​กล้า​หาญ​เหล่า​นี้​ยอม​เสี่ยง​ชีวิต​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​พวก​พี่​น้อง.

พระ​ยะโฮวา​ทรง​ค้ำจุน​ผม​กับ​ภรรยา​เพื่อ​ดำรง​ตน​ซื่อ​สัตย์​อยู่​ได้​ตลอด​ช่วง​หลาย​ปี​ที่​มี​การ​ประกาศ​ห้าม. เดือน​พฤษภาคม 1945 กองทัพ​เยอรมัน​แพ้​สงคราม และ​วิถี​ชีวิต​แบบ​หลบ ๆ ซ่อน ๆ ของ​ผม​ก็​ยุติ​ลง. สมาคม​ฯ ได้​ขอ​ให้​ผม​ทำ​งาน​ต่อ​ไป​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​จน​กว่า​จะ​มี​พี่​น้อง​ชาย​บาง​คน​มา​รับ​หน้า​ที่​นี้. ปี 1947 เบอร์ทุส ฟาน เดอร์ เบล​ได้​รับ​ช่วง​ต่อ​จาก​ผม. * ตอน​นั้น ลูก​คน​ที่​สาม​ของ​เรา​เกิด​แล้ว และ​เรา​ปัก​หลัก​ใน​ภูมิภาค​ด้าน​ตะวัน​ออก​ของ​ประเทศ.

ความ​โศก​เศร้า​และ​ความ​ยินดี

ภาย​หลัง​สงคราม ผม​ถึง​ได้​มา​รู้​ว่า​ประมาณ​หนึ่ง​ปี​หลัง​จาก​ผม​จาก​บ้าน​ไป​อยู่​เนเธอร์แลนด์ พ่อ​ก็​ถูก​จำ​คุก. เขา​ปล่อย​ท่าน​ออก​มา​สอง​ครั้ง​เนื่อง​จาก​สุขภาพ​ไม่​แข็งแรง แต่​ละ​ครั้ง​ท่าน​ก็​ต้อง​กลับ​เข้า​คุก​อีก. เดือน​กุมภาพันธ์ ปี 1938 ท่าน​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ยัง​ค่าย​กัก​กัน​บูเคนวาลด์ แล้ว​จาก​นั้น​ไป​ที่​ดาเคา. พ่อ​ของ​ผม​ถึง​แก่​ชีวิต​ใน​ค่าย​แห่ง​นั้น​เมื่อ​วัน​ที่ 14 พฤษภาคม 1942. ท่าน​ยืนหยัด​และ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​จน​ถึง​ที่​สุด.

แม่​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​ที่​ค่าย​ดาเคา​เช่น​เดียว​กัน. แม่​อยู่​ที่​นั่น​เรื่อย​มา​กระทั่ง​รับ​การ​ปลด​ปล่อย​เมื่อ​ปี 1945. เนื่อง​ด้วย​ตัว​อย่าง​อัน​มั่นคง​เด็ด​เดี่ยว​ของ​ท่าน​ทั้ง​สอง​เป็น​ส่วน​สนับสนุน​อย่าง​มาก ซึ่ง​ทำ​ให้​ผม​ได้​ชื่นชม​กับ​พระ​พร​ฝ่าย​วิญญาณ นับ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​มี​แม่​มา​อยู่​ร่วม​กับ​พวก​เรา​ใน​ปี 1954. มาร์กาเรทา น้อง​สาว​ของ​ผม—ซึ่ง​ทำ​งาน​ไพโอเนียร์​มา​ตั้ง​แต่​ปี 1945 ที่​เยอรมนี​ตะวัน​ออก ประเทศ​คอมมิวนิสต์—ก็​มา​อยู่​ด้วย. ถึง​แม้​แม่​ไม่​สบาย แถม​พูด​ภาษา​ดัตช์​ไม่​ได้ แต่​แม่​ยัง​คง​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​เผยแพร่​กระทั่ง​ท่าน​สิ้น​ชีวิต​ทาง​แผ่นดิน​โลก​ไป​อย่าง​ซื่อ​สัตย์ เมื่อ​เดือน​ตุลาคม 1957.

ถือ​ได้​ว่า​การ​ประชุม​ใหญ่​ปี 1955 ที่​นคร​นูเรมเบิร์ก ประเทศ​เยอรมนี​นั้น​วิเศษ​จริง ๆ. หลัง​จาก​พวก​เรา​ไป​ถึง​ที่​นั่น พี่​น้อง​จาก​เมือง​เดรสเดิน​บอก​เอริคา​ว่า​แม่​ของ​เธอ​ได้​มา​อยู่ ณ ที่​การ​ประชุม​นี้​เช่น​กัน. เนื่อง​จาก​ตอน​นั้น​เดรสเดิน​อยู่​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​เยอรมนี​ตะวัน​ออก เอริคา​ไม่​ได้​เห็น​แม่​ของ​เธอ​นาน​ถึง 21 ปี. ดัง​นั้น จึง​มี​การ​จัด​เตรียม​เพื่อ​ให้​พบ​ปะ​กัน ทั้ง​แม่​และ​ลูก​สาว​ต่าง​ก็​โผ​เข้า​สวมกอด​กัน. ช่าง​เป็น​การ​กลับ​มา​อยู่​ร่วม​กัน​อีก​อย่าง​น่า​ชื่น​ใจ​ยินดี​เสีย​นี่​กระไร!

ใน​ที่​สุด ครอบครัว​ของ​เรา​ได้​ขยาย​ใหญ่​ขึ้น​โดย​มี​ลูก​แปด​คน. น่า​เศร้า​ที่​เรา​เสีย​ลูก​ชาย​คน​หนึ่ง​ไป​เพราะ​อุบัติเหตุ​ทาง​รถยนต์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ได้​เห็น​ลูก​ทุก​คน​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​จึง​เป็น​แหล่ง​ที่​ให้​ความ​ชื่นชม​ยินดี​อัน​ล้ำ​ลึก. เรา​ชื่น​ใจ​ที่​วอล์ฟ​กัง ลูก​ชาย​ของ​เรา​พร้อม​กับ​ภรรยา​อยู่​ใน​งาน​เยี่ยม​หมวด และ​ลูก​ชาย​ของ​เขา​ก็​รับใช้​ใน​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​หมวด​เช่น​กัน.

ผม​ปลื้ม​ปีติ​ที่​ได้​เป็น​พยาน​รู้​เห็น​การ​งาน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ประเทศ​เนเธอร์แลนด์​เจริญ​ก้าว​หน้า. ตอน​ที่​ผม​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์​ใน​ประเทศ​นี้​เมื่อ​ปี 1933 มี​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ประมาณ​หนึ่ง​ร้อย​คน. ปัจจุบัน มี​มาก​กว่า 30,000 คน. แม้​ว่า​เวลา​นี้​กำลัง​วังชา​ของ​เรา​เสื่อม​ถอย​ลง​ไป ผม​กับ​เอริคา​ก็​ยัง​ตั้งใจ​แน่วแน่​จะ​ดำรง​ชีวิต​ตาม​เนื้อร้อง​ของ​เพลง​สมัย​หลาย​ปี​ก่อน​ที่​ว่า “โอ้ ที่​จะ​มี​ความ​เชื่อ​ซึ่ง​จะ​ไม่​ลด​น้อย​ถอย​ลง.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 เพลง​บท 194.—เพลง​สดุดี​พระ​ยะโฮวา (1928).

^ วรรค 7 เมือง​โคพิทซ์ เวลา​นี้​เรียก​ว่า​เพียร์นา ตั้ง​อยู่​บน​ลำ​น้ำ​เอลเบ ห่าง​จาก​เมือง​เดรสเดิน 18 กิโลเมตร.

^ วรรค 38 โปรด​อ่าน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 1998 เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง​ของ​บราเดอร์ ฟาน เดอร์ เบล ใต้​หัวเรื่อง “ไม่​มี​อะไร​ดี​ไป​กว่า​ความ​จริง.”

[ภาพ​หน้า 23]

กลุ่ม “Jugendgruppe” ระหว่าง​พัก​ช่วง​สั้น ๆ หลัง​จาก​ทำ​งาน​รับใช้​ใน​เขต​งาน

[ภาพ​หน้า 24]

ผม​กับ​เพื่อน​ไพโอเนียร์​ทำ​งาน​ใน​เขต​งาน​ชไนเฟล​อย่าง​ทั่ว​ถึง. ตอน​นั้น​ผม​อายุ 20 ปี

[ภาพ​หน้า 25]

กับ​เอริคา​และ​วอล์ฟ​กัง​ใน​ปี 1940

[ภาพ​หน้า 26]

จาก​ซ้าย​ไป​ขวา: โยนา​ทาน หลาน​และ​มี​เรียม​หลาน​สะใภ้; เอริคา, ผม, วอล์ฟ​กัง​ลูก​ชาย​และ​ยูเลีย ภรรยา​ของ​เขา

[ภาพ​หน้า 26]

บราเดอร์​คน​หนึ่ง​ที่​ติด​คุก​กับ​พ่อ​ของ​ผม​ได้​วาด​รูป​พ่อ​รูป​นี้ ใน​ปี 1941