รับใช้พระเจ้าด้วยความเต็มใจ
รับใช้พระเจ้าด้วยความเต็มใจ
“ข้าพเจ้ายินดีอย่างยิ่งจะทุ่มเทและทุ่มเทสุดตัวเพื่อจิตวิญญาณของท่านทั้งหลาย” อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ดังกล่าว. (2 โกรินโธ 12:15, ล.ม.) ประโยคนี้บอกอะไรคุณบ้างเกี่ยวกับทัศนะและเจตคติที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาควรพยายามปลูกฝัง? ตามที่ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งกล่าวไว้ เมื่อเปาโลเขียนถ้อยคำดังกล่าวถึงคริสเตียนในเมืองโกรินโธ ท่านหมายความว่า “ข้าพเจ้ายินดีใช้กำลัง, เวลา, ชีวิต, และทุกสิ่งที่ข้าพเจ้ามีอยู่เพื่อสวัสดิภาพของท่าน ดุจดังบิดาที่ทำเพื่อบุตรด้วยใจยินดี.” เปาโลพร้อมจะ “ทุ่มเทสุดตัว” หรือ “หมดเรี่ยวหมดแรง” หากว่าจำเป็น เพื่อทำให้งานรับใช้ของท่านในฐานะคริสเตียนสำเร็จ.
นอกจากนั้น เปาโลทำทั้งหมดนี้ด้วยความ “ยินดีอย่างยิ่ง.” ตามฉบับแปลเดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล ท่าน “ยินดีอย่างแท้จริง” ที่จะทำอย่างนั้น. จะว่าอย่างไรในกรณีของคุณ? คุณเต็มใจจะใช้เวลา, กำลัง, ความชำนาญ, และทรัพย์สินของคุณเพื่อรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้าและเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นไหม แม้ว่าการทำเช่นนั้นหมายถึงต้อง “หมดเรี่ยวหมดแรง” ในบางครั้ง? และคุณจะทำเช่นนั้นด้วยความ “ยินดีอย่างยิ่ง” ไหม?
พวกเขาไม่ยอมรับใช้แม้แต่น้อย
คนส่วนใหญ่ไม่เพียงไม่เต็มใจรับใช้พระเจ้า หากแต่ไม่ยอมทำอย่างนั้นแม้แต่น้อย. พวกเขามีน้ำใจแบบที่ขาดความกตัญญู, รักความเป็นอิสระอย่างเห็นแก่ตัว, และแม้กระทั่งขืนอำนาจ. ซาตานล่อลวงอาดามและฮาวาให้คิดแบบนี้. มันบอกอย่างผิด ๆ ว่า พวกเขาจะ “เป็นเหมือนพระ, จะรู้จักความดีและชั่ว”—สามารถตัดสินด้วยตัวเองว่าอะไรถูกอะไรผิด. (เยเนซิศ 3:1-5) คนที่มีน้ำใจแบบเดียวกันในปัจจุบันนี้คิดว่าเขาควรมีเสรีภาพครบถ้วนที่จะทำอย่างที่ตัวเขาเองปรารถนา โดยปราศจากพันธะใด ๆ ต่อพระเจ้าหรือการแทรกแซงจากพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 81:11, 12) พวกเขาต้องการใช้ทุกสิ่งที่เขามีเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตัวเอง.—สุภาษิต 18:1.
คุณคงไม่มีทัศนะที่สุดโต่งแบบนี้. คุณคงมีความหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อของประทานแห่งชีวิตที่คุณมีอยู่ในตอนนี้ และมีความคาดหวังที่เยี่ยมยอดยิ่งกว่านี้เสียอีกที่จะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (บทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11; วิวรณ์ 21:1-4) คุณอาจรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาอย่างยิ่งสำหรับความดีของพระองค์ที่ทรงแสดงต่อคุณ. แต่เราทุกคนจำเป็นต้องตื่นตัวต่ออันตรายที่ว่า ซาตานสามารถบิดเบือนความคิดของเราในวิธีที่อาจทำให้การรับใช้ของเรากลายเป็นสิ่งที่พระเจ้าไม่อาจยอมรับได้. (2 โกรินโธ 11:3) เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นโดยวิธีใด?
ต้องถวายการรับใช้ด้วยความเต็มใจ
พระยะโฮวาทรงพอพระทัยการรับใช้ที่ทำอย่างเต็มใจและสิ้นสุดหัวใจ. พระองค์ไม่เคยบังคับเราให้ทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. ซาตานต่างหากที่ทำทุกวิถีทางเพื่อกดดันหรือล่อใจประชาชนให้ทำตามความประสงค์ของมัน. ในเรื่องการรับใช้พระเจ้า คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพันธะ, พระบัญชา, ข้อเรียกร้อง, และอะไร ๆ ทำนองนี้. (ท่านผู้ประกาศ 12:13; ลูกา 1:6) ถึงกระนั้น แรงกระตุ้นสำคัญที่สุดที่ทำให้เรารับใช้พระเจ้านั้นเป็นเพราะเรารักพระองค์.—เอ็กโซโด 35:21; พระบัญญัติ 11:1.
ไม่ว่าเปาโลทุ่มเทตัวไปมากเท่าไรในการรับใช้พระเจ้า ท่านทราบว่าสิ่งที่ท่านทำไปจะไม่มีความหมายเลย ‘หากท่านไม่มีความรัก.’ (1 โกรินโธ 13:1-3) เมื่อผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลกล่าว ถึงคริสเตียนในฐานะทาสของพระเจ้า พวกเขาไม่ได้หมายถึงความเป็นทาสที่น่าสังเวชซึ่งใช้การบังคับขู่เข็ญ. (โรม 12:11; โกโลซาย 3:24) สิ่งที่หมายถึงในที่นี้คือ การอยู่ใต้อำนาจอย่างเต็มใจ อันเป็นผลมาจากความรักที่ลึกซึ้งจากหัวใจต่อพระเจ้าและพระบุตร พระเยซูคริสต์.—มัดธาย 22:37; 2 โกรินโธ 5:14; 1 โยฮัน 4:10, 11.
การรับใช้ของเราที่ถวายแด่พระเจ้าต้องสะท้อนถึงความรักอันลึกซึ้งที่มีต่อผู้คน. เปาโลเขียนถึงประชาคมในเมืองเธซะโลนิเกว่า “เราได้ปฏิบัติอย่างนุ่มนวลท่ามกลางท่านทั้งหลาย เหมือนแม่ลูกอ่อนทะนุถนอมลูกของตน.” (1 เธซะโลนิเก 2:7, ล.ม.) ในหลายดินแดนในทุกวันนี้ มารดามีพันธะตามกฎหมายต้องดูแลเอาใจใส่บุตร. แต่มารดาส่วนใหญ่ย่อมไม่ได้ทำเพียงเพราะเชื่อฟังกฎหมายมิใช่หรือ? ไม่. พวกเขาทำเพราะเขารักใคร่ทะนุถนอมบุตร. แม่ลูกอ่อนยินดีเสียสละอย่างใหญ่หลวงเพื่อลูกน้อยของเธอ! เนื่องจากเปาโลมี “ความรักใคร่อันอ่อนละมุน” คล้าย ๆ กันนี้ต่อคนเหล่านั้นที่ท่านรับใช้ ท่านจึง “ยินดี” (“เต็มใจ,” ฉบับแปลคิง เจมส์; “ปีติยินดี,” ฉบับแปลนิว อินเตอร์แนชันแนล) ที่จะใช้ชีวิตของท่านในการช่วยพวกเขา. (1 เธซะโลนิเก 2:8, ล.ม.) ความรักกระตุ้นเราให้เลียนแบบอย่างของเปาโล.—มัดธาย 22:39.
จะว่าอย่างไรสำหรับการรับใช้อย่างไม่เต็มใจ?
แน่ละ เราต้องไม่ปล่อยให้ความรักตัวเองมีน้ำหนักมากกว่าความรักต่อพระเจ้าและผู้คน. หาไม่แล้ว มีอันตรายอย่างแท้จริงที่เราอาจรับใช้เพียงครึ่งใจ หรือไม่เต็มใจ. เราอาจถึงกับเริ่มพัฒนาความขุ่นเคืองใจ รู้สึกหัวเสียที่เราไม่สามารถดำเนินชีวิตตามใจปรารถนาของตัวเองได้อย่างแท้จริง. เป็นอย่างนี้กับชาวยิศราเอลบางคนที่สูญเสียความรักต่อพระเจ้า แต่ก็ยังถวายการรับใช้บางอย่างแด่พระองค์ด้วยความสำนึกในหน้าที่. ผลเป็นเช่นไร? การรับใช้พระเจ้ากลายเป็นสิ่งที่ “น่าอ่อนระอาใจ” สำหรับเขา.—มาลาคี 1:13.
เครื่องบูชาที่ถวายแด่พระเจ้าควร “ปราศจากตำหนิ” คือไม่พิการ และเป็นสิ่ง “ดีเลิศ” เท่าที่มีอยู่. (เลวีติโก 22:17-20, ฉบับแปลใหม่; เอ็กโซโด 23:19, ฉบับแปลใหม่) อย่างไรก็ตาม แทนที่จะถวายสัตว์ที่ดีที่สุด ประชาชนในสมัยของมาลาคีเริ่มถวายสัตว์ที่พวกเขาเองไม่ต้องการแล้วจริง ๆ. ปฏิกิริยาของพระยะโฮวาเป็นเช่นไร? พระองค์ตรัสแก่เหล่าปุโรหิตว่า “ ‘ก็ทีเจ้าทั้งหลายถวายสัตว์ตาบอดเป็นเครื่องบูชาละก้อไม่ชั่วหรือ? และเจ้าทั้งหลายถวายสัตว์ขาหักและเป็นโรคละก้อไม่เป็นการชั่วหรือ?’ พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า, ‘เอ้า, จงเอาของเหล่านี้ลองไปกำนัลเจ้าเมืองของเจ้า, ดูทีหรือว่า, เขาจะพอใจโปรดปรานรับไหม? . . . เจ้าเอาสัตว์ขาหักและเป็นโรคซ้ำขโมยเขามา, เจ้าได้เอาสัตว์ตัวนั้นมาถวายเป็นเครื่องบูชา.’ พระยะโฮวาตรัสถามว่า, ‘เราจะรับของเหล่านี้จากมือของเจ้าได้หรือ?’ ”—มาลาคี 1:8, 13.
เรื่องเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับใคร ๆ ในพวกเราโดยวิธีใด? การถวายเครื่องบูชาของเราอาจกลายเป็นสิ่งที่ “น่าอ่อนระอาใจ” สำหรับเรา หากเราขาดหัวใจและน้ำใจที่เต็มใจอย่างแท้จริง. (เอ็กโซโด 35:5, 21, 22; เลวีติโก 1:3; บทเพลงสรรเสริญ 54:6; เฮ็บราย 13:15, 16) เพื่อเป็นตัวอย่าง พระยะโฮวาทรงได้รับเวลาจากเราในส่วนที่เหลือใช้แล้วไหม?
มีใครหรือที่จะคิดอย่างจริงจังว่าพระเจ้าคงจะทรงยอมรับได้หากสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งซึ่งมีความมุ่งหมายที่ดี หรือชาวเลวีซึ่งมีใจแรงกล้า บังคับชาวยิศราเอลผู้ไม่เต็มใจให้คัดสรรสัตว์ตัวที่ดีที่สุดของเขาเพื่อถวายเป็นเครื่องบูชา โดยที่เขาไม่ปรารถนาจะถวายจริง ๆ? (ยะซายา 29:13; มัดธาย 15:7, 8) พระยะโฮวาทรงปฏิเสธเครื่องบูชาเช่นนั้น และในที่สุดพระองค์ทรงปฏิเสธคนที่เสนอเครื่องบูชาแบบนั้นด้วย.—โฮเซอา 4:6; มัดธาย 21:43.
ความชื่นชมยินดีในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า
เพื่อจะถวายการรับใช้ที่พระองค์ทรงยอมรับ เราต้องดำเนินตามตัวอย่างของพระเยซูคริสต์. พระเยซูตรัสว่า “เราจะทำสิ่งใดด้วยความริเริ่มของเราเองไม่ได้ . . . แต่ตามความประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา.” (โยฮัน 5:30, ล.ม.) พระเยซูทรงมีความสุขอย่างยิ่งในการรับใช้พระเจ้าด้วยความเต็มพระทัย. พระเยซูทรงทำให้คำพยากรณ์ของดาวิดสำเร็จเป็นจริงที่ว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้ายินดีที่จะประพฤติตามน้ำพระทัยของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 40:8.
แม้ว่าพระเยซูทรงชื่นชมยินดีในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา แต่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. ขอพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่พระองค์จะถูกจับ, ถูกพิจารณาคดี, และถูกประหาร. ขณะอยู่ในสวนเก็ธเซมาเน พระเยซูทรง “เป็นทุกข์” และ “ทรงเป็นทุกข์สาหัสในพระทัย.” ความตึงเครียดทางอารมณ์นั้นหนักถึงขนาดที่ขณะพระองค์ทรงอธิษฐาน “พระเสโทของพระองค์กลายเป็นเหมือนหยดเลือดตกลงบนพื้นดิน.”—มัดธาย 26:38; ลูกา 22:44, ล.ม.
เหตุใดพระเยซูทรงมีความทุกข์สาหัสในพระทัยเช่นนั้น? แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะความเห็นแก่ตัวหรือความไม่เต็มพระทัยมัดธาย 16:21-23, ล.ม.) สิ่งที่ทำให้พระเยซูเป็นห่วงก็คือ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในฐานะอาชญากรที่ถูกเหยียดหยามจะมีผลกระทบต่อพระยะโฮวาและพระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์. พระเยซูทรงทราบดีว่าพระบิดาของพระองค์จะทรงได้รับความเจ็บปวดอย่างมากที่เห็นพระบุตรสุดที่รักถูกปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนเช่นนั้น.
จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระองค์ทรงพร้อมที่จะสิ้นพระชนม์ ถึงกับทรงแสดงความไม่พอพระทัยอย่างแรงต่อคำพูดของเปโตรที่กล่าวว่า “พระองค์เจ้าข้า จงกรุณาพระองค์เองเถิด พระองค์จะไม่ประสบเหตุการณ์เช่นนั้นเลย.” (พระเยซูยังทรงเข้าใจด้วยว่า พระองค์ทรงเข้าไปใกล้ช่วงเวลาสำคัญในการทำให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จลุล่วง. การยึดมั่นอย่างซื่อสัตย์ต่อกฎหมายของพระเจ้าจะแสดงให้เห็นอย่างไร้ข้อกังขาใด ๆ ว่า อาดามสามารถเลือกอย่างเดียวกันนั้นได้. ความซื่อสัตย์ของพระเยซูจะเปิดโปงคำกล่าวอ้างของซาตานว่าเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง ที่ว่ามนุษย์ซึ่งตกอยู่ในการทดลองจะไม่มีทางรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มใจและอย่างซื่อสัตย์. โดยทางพระเยซู ในที่สุดพระยะโฮวาจะทรงบดขยี้ซาตานและขจัดผลแห่งการกบฏของมันให้หมดสิ้น.—เยเนซิศ 3:15.
ช่างเป็นหน้าที่รับผิดชอบหนักสักเพียงไรที่ตกอยู่กับพระเยซู! พระนามของพระบิดา, สันติภาพทุกหนทุกแห่ง, และความรอดของครอบครัวมนุษย์ล้วนขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ของพระองค์. โดยตระหนักอย่างนี้ พระองค์ทรงอธิษฐานว่า “โอพระบิดาของข้าพเจ้า, ถ้าเป็นได้ขอให้จอกนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพเจ้าเถิด แต่อย่างไรก็ดีอย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพเจ้า, แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์.” (มัดธาย 26:39) แม้เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดที่สุด พระเยซูทรงเต็มพระทัยทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง.
“ใจพร้อม แต่เนื้อหนังอ่อนแอ”
ในเมื่อพระเยซูทรงประสบความตึงเครียดทางอารมณ์อย่างรุนแรงขณะทรงรับใช้พระยะโฮวา เราย่อมคาดหมายได้เลยว่าซาตานจะกดดันพวกเราซึ่งเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าด้วย. (โยฮัน 15:20; 1 เปโตร 5:8) ยิ่งกว่านั้น เราไม่สมบูรณ์. ดังนั้น แม้ว่าเรารับใช้พระเจ้าอย่างเต็มใจ แต่ก็ไม่ง่ายที่เราจะรับใช้พระองค์. พระเยซูทรงเห็นวิธีที่เหล่าอัครสาวกพยายามทำทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมีรับสั่งให้พวกเขาทำ. นั่นเป็นเหตุที่ทำให้พระองค์ตรัสว่า “แน่ล่ะ ใจพร้อม แต่เนื้อหนังอ่อนแอ.” (มัดธาย 26:41, ล.ม.) ไม่มีความอ่อนแอใด ๆ ติดมาตั้งแต่กำเนิดในกายมนุษย์ที่สมบูรณ์ของพระองค์. อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงคิดถึงความอ่อนแอในเนื้อหนังของเหล่าสาวก ความไม่สมบูรณ์ซึ่งพวกเขารับเป็นมรดกจากอาดามผู้ไม่สมบูรณ์. พระเยซูทรงทราบว่าเนื่องด้วยความไม่สมบูรณ์และข้อจำกัดต่าง ๆ ของมนุษย์ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องของความไม่สมบูรณ์ พวกเขาจะต้องพยายามอย่างมากเพื่อจะทำทุกสิ่งที่เขาปรารถนาจะทำในงานรับใช้ของพระยะโฮวา.
ด้วยเหตุนั้น เราอาจรู้สึกคล้าย ๆ กับอัครสาวกเปาโล ซึ่งเป็นทุกข์ร้อนใจอย่างยิ่งเมื่อความไม่สมบูรณ์เป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถรับใช้พระเจ้าได้อย่างเต็มที่. เปาโลเขียนว่า “เจตนาดีของข้าพเจ้าก็มีอยู่, แต่ซึ่งจะกระทำการดีนั้นข้าพเจ้าหาได้กระทำไม่.” (โรม 7:18) เราเองก็เหมือนกัน ไม่สามารถกระทำการดีได้อย่างครบถ้วนอย่างที่เราปรารถนาจะทำ. (โรม 7:19) ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเราไม่เต็มใจ. หากแต่เพราะความอ่อนแอของเนื้อหนังซึ่งขัดขวางเราไว้ แม้จะพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว.
ขอเราอย่าได้ท้อใจ. หากเราพร้อมจะทำทุกสิ่งที่เราทำได้ด้วยความรู้สึกจากหัวใจ พระเจ้าจะทรงยอมรับงานรับใช้ของเราแน่นอน. (2 โกรินโธ 8:12) ขอให้เรา ‘ทำสุดความสามารถของเรา’ เพื่อเลียนแบบน้ำพระทัยของพระคริสต์ในการน้อมทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าอย่างครบถ้วน. (2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.; ฟิลิปปอย 2:5-7; 1 เปโตร 4:1, 2) พระยะโฮวาจะประทานรางวัลและจะทรงสนับสนุนน้ำใจที่เต็มใจเช่นนั้น. พระองค์จะประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” แก่เราเพื่อชดเชยความอ่อนแอของเรา. (2 โกรินโธ 4:7-10, ล.ม.) ด้วยความช่วยเหลือของพระยะโฮวา เราก็จะเป็นเช่นเดียวกับเปาโล “ยินดีอย่างยิ่งจะทุ่มเทและทุ่มเทสุดตัว” ในงานรับใช้อันมีค่ายิ่งของพระองค์.
[ภาพหน้า 21]
เปาโลเต็มใจรับใช้พระเจ้าอย่างดีที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้
[ภาพหน้า 23]
พระเยซูทรงทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดา แม้เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดที่สุด