ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณต้องเชื่อไหม?

คุณต้องเชื่อไหม?

คุณ​ต้อง​เชื่อ​ไหม?

เด็ก​นัก​เรียน​วัย 12 ขวบ​กำลัง​พยายาม​ทำ​ความ​เข้าใจ​หลักการ​ขั้น​พื้น​ฐาน​ของ​วิชา​พีชคณิต. คุณ​ครู​แสดง​ให้​เด็ก​ใน​ชั้น​เห็น​ว่า​การ​คำนวณ​ทาง​พีชคณิต​ดู​เหมือน​เป็น​เรื่อง​ง่าย ๆ.

คุณ​ครู​ตั้ง​โจทย์​ว่า “ให้ x=y และ​ให้​ทั้ง​สอง​มี​ค่า​เป็น 1.”

‘อือ สมมุติฐาน​นี้​ก็​ดู​เหมือน​มี​เหตุ​มี​ผล​ดี’ เด็ก​นัก​เรียน​คน​นั้น​คิด.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​การ​คำนวณ​ซึ่ง​ดู​เหมือน​มี​เหตุ​มี​ผล​ได้​สี่​บรรทัด คุณ​ครู​ก็​บอก​ผลลัพธ์​ที่​น่า​ตกใจ: “เพราะ​ฉะนั้น 2=1!”

“จง​พิสูจน์​ว่า​ผลลัพธ์​นี้​เป็น​เท็จ” คุณ​ครู​ท้า​เด็ก​นัก​เรียน​ที่​กำลัง​สับสน​งงงวย.

เนื่อง​จาก​เด็ก​นัก​เรียน​รุ่น​เยาว์​มี​ความ​รู้​ทาง​พีชคณิต​น้อย​มาก พวก​เขา​จึง​ไม่​รู้​วิธี​พิสูจน์​เพื่อ​หักล้าง​การ​คำนวณ​นั้น. ทุก​ขั้น​ตอน​ใน​การ​คำนวณ​ดู​เหมือน​ถูก​ต้อง​ครบ​ถ้วน. กระนั้น เขา​ควร​จะ​เชื่อ​ผลลัพธ์​ที่​น่า​ตกใจ​นี้​ไหม? ถึง​อย่าง​ไร คุณ​ครู​มี​ประสบการณ์​และ​เชี่ยวชาญ​ทาง​คณิตศาสตร์​มาก​กว่า​เขา. แน่นอน เขา​ไม่​ควร​เชื่อ​ผลลัพธ์​นั้น! เขา​คิด​อยู่​ใน​ใจ​ว่า ‘ฉัน​ไม่​จำเป็น​ต้อง​พิสูจน์​เพื่อ​แย้ง​ผลลัพธ์​นี้. สามัญสำนึก​บอก​ฉัน​ว่า​ผลลัพธ์​นี้​ไม่​สม​เหตุ​สม​ผล.’ (สุภาษิต 14:15, 18) เขา​รู้​ว่า​ทั้ง​คุณ​ครู​และ​เพื่อน ๆ ของ​เขา​คง​ไม่​มี​ใคร​ยอม​เอา​สอง​บาท​ไป​แลก​หนึ่ง​บาท​แน่!

ต่อ​มา เด็ก​นัก​เรียน​ก็​พบ​ข้อ​ผิด​พลาด​ใน​การ​คำนวณ​พีชคณิต​ข้อ​นั้น. ขณะ​เดียว​กัน ประสบการณ์​เรื่อง​นี้​สอน​บทเรียน​ที่​มี​ค่า​ให้​กับ​เขา. แม้​เมื่อ​คน​ที่​มี​ความ​รู้​สูง​กว่า​มาก​เสนอ​การ​หา​เหตุ​ผล​อย่าง​เชี่ยวชาญ​และ​ถี่ถ้วน​ทั้ง​ดู​เหมือน​ไม่​มี​จุด​ใด​จะ​โต้​แย้ง​ได้ ผู้​ฟัง​ก็​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เชื่อ​ข้อ​สรุป​ที่​โง่​เขลา​นั้น​เพียง​เพราะ​เขา​ไม่​สามารถ​หา​ข้อ​พิสูจน์​หักล้าง​เรื่อง​นั้น​ได้​ใน​ตอน​นั้น. อัน​ที่​จริง เด็ก​นัก​เรียน​คน​นั้น​ติด​ตาม​หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ใช้​ได้​ผล​ดี​ยิ่ง​ซึ่ง​พบ​ที่ 1 โยฮัน 4:1 (ล.ม.) ที่​ว่า อย่า​รีบ​เชื่อ​ทุก​อย่าง​ที่​คุณ​ได้​ยิน​แม้​ดู​เหมือน​ว่า​เรื่อง​นั้น​มา​จาก​แหล่ง​ที่​น่า​เชื่อถือ​ก็​ตาม.

ใน​เรื่อง​นี้​ไม่​ได้​หมายความ​ว่า​คุณ​ควร​ยึด​ติด​อย่าง​ดื้อ​รั้น​ต่อ​ความ​คิด​ที่​คุณ​มี​อยู่​ก่อน​แล้ว. นับ​ว่า​เป็น​ความ​ผิด​พลาด​ถ้า​คุณ​จะ​ไม่​สนใจ​ข้อมูล​ซึ่ง​อาจ​ช่วย​ปรับ​ทัศนะ​ที่​ผิด ๆ. แต่​คุณ​ก็​ไม่​ควร ‘ด่วน​หวั่นไหว​จาก​เหตุ​ผล​ของ​คุณ’ เมื่อ​เผชิญ​กับ​แรง​กดดัน​จาก​คน​ที่​อ้าง​ว่า​มี​ความ​รู้​สูง​และ​มี​อำนาจ​มาก. (2 เธซะโลนิเก 2:2, ล.ม.) แน่​ละ ครู​เพียง​แค่​เล่น​สนุก​กับ​เด็ก​นัก​เรียน. แต่​บาง​ครั้ง​เรื่อง​ต่าง ๆ ไม่​ใช่​เรื่อง​ที่​ไม่​เป็น​พิษ​เป็น​ภัย​แบบ​นั้น. ผู้​คน​อาจ “ฉลาด​แกม​โกง​ใน​การ​คิด​หา​เรื่อง​เท็จ” เป็น​อย่าง​ยิ่ง.—เอเฟโซ 4:14, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 2:14, 23, 24.

ผู้​เชี่ยวชาญ​ถูก​ต้อง​เสมอ​ไป​ไหม?

แม้​อาจ​จะ​มี​ความ​รู้​เฉลียวฉลาด​เพียง​ใด​ก็​ตาม ผู้​เชี่ยวชาญ​ไม่​ว่า​ใน​สาขา​ใด ๆ ก็​อาจ​มี​ความ​คิด​เห็น​ที่​ขัด​แย้ง​กัน​และ​มี​ทัศนะ​ที่​เปลี่ยน​ไป​เปลี่ยน​มา. ตัว​อย่าง​เช่น ขอ​พิจารณา​วงการ​วิทยาศาสตร์​การ​แพทย์​ที่​กำลัง​โต้​เถียง​กัน​อยู่​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​พื้น ๆ อย่าง​เช่น สาเหตุ​ต่าง ๆ ของ​ความ​เจ็บ​ป่วย. ศาสตราจารย์​ด้าน​การ​แพทย์​ท่าน​หนึ่ง​ของ​มหาวิทยาลัย​ฮาร์เวิร์ด​เขียน​ว่า “ประเด็น​ที่​ค่อนข้าง​สำคัญ​ที่​ว่า​ความ​เจ็บ​ไข้​ได้​ป่วย​เกิด​จาก​สาเหตุ​ทาง​พันธุกรรม​หรือ​ว่า​เกิด​จาก​ปัจจัย​ด้าน​สังคม​และ​สิ่ง​แวด​ล้อม​นั้น ได้​ก่อ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​เผ็ด​ร้อน​ใน​หมู่​นัก​วิทยาศาสตร์.” ผู้​อยู่​ใน​กลุ่ม​ที่​เรียก​กัน​ว่า​นัก​นิยัตินิยม​เชื่อ​มั่น​ว่า​ยีน​หรือ​สาร​พันธุกรรม​ของ​เรา​มี​บทบาท​อย่าง​ไม่​ต้อง​สงสัย​ต่อ​ความ​อ่อนแอ​ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​โรค​ภัย​นานา​ประการ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คน​อื่น ๆ โต้​แย้ง​ว่า​สภาพ​แวด​ล้อม​และ​รูป​แบบ​การ​ดำเนิน​ชีวิต​ต่าง​หาก​ที่​เป็น​สาเหตุ​สำคัญ​ใน​ความ​เจ็บ​ป่วย​ของ​มนุษย์. ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ต่าง​ไม่​รอ​ช้า​ที่​จะ​ยก​การ​ศึกษา​และ​สถิติ​ต่าง ๆ ขึ้น​มา​อ้าง​เพื่อ​สนับสนุน​เรื่อง​ของ​ตน. กระนั้น การ​โต้​เถียง​ก็​ยัง​คง​ดำเนิน​อยู่.

มี​การ​พิสูจน์​ให้​เห็น​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ว่า​นัก​คิด​ที่​มี​ชื่อเสียง​มาก​ที่​สุด​เคย​ผิด​พลาด แม้​สิ่ง​ที่​เขา​สอน​อาจ​ดู​เหมือน​ไม่​มี​ช่อง​โหว่​ที่​จะ​โต้​แย้ง​ได้​ใน​ตอน​นั้น. นัก​ปรัชญา เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ พรรณนา​ถึง​อาริสโตเติล​ว่า​เป็น​ผู้​หนึ่ง “ที่​มี​อิทธิพล​มาก​ที่​สุด​ใน​บรรดา​นัก​ปรัชญา.” กระนั้น รัสเซลล์​ยัง​ชี้​ให้​เห็น​ด้วย​ว่า​คำ​สอน​หลาย​อย่าง​ของ​อาริสโตเติล​เป็น “เรื่อง​ไม่​จริง​โดย​สิ้นเชิง.” เขา​เขียน​ว่า “ตลอด​ยุค​ปัจจุบัน โดย​แท้​แล้ว สาวก​ของ​อาริสโตเติล​ต่อ​ต้าน​ความ​ก้าว​หน้า​เกือบ​จะ​ทุก​อย่าง​ด้าน​วิทยาศาสตร์, ตรรกศาสตร์, หรือ​ด้าน​ปรัชญา.”—ประวัติ​ปรัชญา​ตะวัน​ตก (ภาษา​อังกฤษ).

“สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ผิด ๆ ว่า ‘ความ​รู้’ ”

คริสเตียน​สมัย​แรก​คง​พบ​กับ​หลาย​คน​ที่​เป็น​ศิษย์​ของ​นัก​ปรัชญา​กรีก​ที่​มี​ชื่อเสียง เช่น โสกราตีส, เพลโต, และ​อาริสโตเติล. ผู้​คน​ที่​มี​การ​ศึกษา​ใน​สมัย​นั้น​ถือ​ว่า​พวก​เขา​เอง​เป็น​ผู้​มี​สติ​ปัญญา​เหนือ​กว่า​คริสเตียน​ส่วน​ใหญ่. สาวก​ของ​พระ​เยซู​มี​น้อย​คน​ที่ “โลก​นิยม​ว่า​มี​ปัญญา.” (1 โกรินโธ 1:26) ที่​จริง​แล้ว ผู้​สอน​หลัก​ปรัชญา​ใน​สมัย​นั้น​ถือ​ว่า​สิ่ง​ที่​พวก​คริสเตียน​เชื่อ​เป็น​เรื่อง “โฉด​เขลา” หรือ “เหลวไหล​โดย​สิ้นเชิง.”—1 โกรินโธ 1:23, ฉบับ​แปล​ฟิลลิปส์.

หาก​คุณ​อยู่​ท่ามกลาง​เหล่า​คริสเตียน​สมัย​แรก คุณ​จะ​ประทับใจ​การ​หา​เหตุ​ผล​ที่​จูง​ใจ​ของ​ชน​ชั้น​ปัญญาชน​ใน​สมัย​นั้น​หรือ​ตกใจ​กลัว​เนื่อง​จาก​การ​สำแดง​สติ​ปัญญา​ของ​พวก​เขา​ไหม? (โกโลซาย 2:4) ไม่​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น ตาม​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ได้​กล่าว. ท่าน​เตือน​พวก​คริสเตียน​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​ดู “ปัญญา​ของ​คน​มี​ปัญญา” และ “ความ​ฉลาด​ของ​คน​ฉลาด” ใน​สมัย​นั้น​เป็น​ความ​โง่​เขลา. (1 โกรินโธ 1:19) ท่าน​ถาม​ว่า “นัก​ปรัชญา นัก​เขียน​และ​นัก​วิจารณ์​ของ​โลก​นี้​เป็น​เช่น​ไร​ใน​การ​แสดง​สติ​ปัญญา​ของ​ตน?” (1 โกรินโธ 1:20, ฉบับ​แปล​ฟิลลิปส์) ถึง​แม้​พวก​เขา​ทุก​คน​มี​สติ​ปัญญา​หลักแหลม กระนั้น นัก​ปรัชญา, นัก​เขียน, และ​นัก​วิจารณ์​ใน​สมัย​ของ​ท่าน​เปาโล​ก็​ไม่​อาจ​มี​คำ​ตอบ​อัน​แท้​จริง​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​ของ​มนุษยชาติ.

ดัง​นั้น คริสเตียน​เรียน​รู้​ที่​จะ​หลีก​เลี่ยง​สิ่ง​ที่​อัครสาวก​เปาโล​บอก​ว่า​เป็น “ข้อ​ขัด​แย้ง​ของ​สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ผิด ๆ ว่า ‘ความ​รู้.’ ” (1 ติโมเธียว 6:20, ล.ม.) เหตุ​ผล​ที่​ท่าน​เปาโล​เรียก​ความ​รู้​เช่น​นั้น​ว่า “ผิด” ก็​เนื่อง​จาก​ความ​รู้​นั้น​ขาด​ปัจจัย​หนึ่ง​ที่​สำคัญ—แหล่ง​หรือ​ข้อมูล​อ้างอิง​จาก​พระเจ้า​ซึ่ง​อาจ​ใช้​ทดสอบ​ทฤษฎี​ต่าง ๆ ของ​พวก​เขา. (โยบ 28:12; สุภาษิต 1:7) การ​ขาด​แหล่ง​ที่​มา​นั้น และ​ขณะ​เดียว​กัน​ถูก​ทำ​ให้​ตา​บอด​จาก​ซาตาน ผู้​หลอก​ลวง​ตัว​เอ้ ทำ​ให้​ผู้​ที่​ยึด​ติด​กับ​ความ​รู้​เช่น​นั้น​ไม่​มี​หวัง​จะ​พบ​กับ​ความ​จริง.—1 โกรินโธ 2:6-8, 14; 3:18-20; 2 โกรินโธ 4:4; 11:14; วิวรณ์ 12:9.

คัมภีร์​ไบเบิล—คำ​แนะ​นำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ

คริสเตียน​สมัย​แรก​ไม่​เคย​สงสัย​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​พระเจ้า​ทรง​เปิด​เผย​พระทัย​ประสงค์, จุด​มุ่ง​หมาย, และ​หลักการ​ของ​พระองค์​ใน​พระ​คัมภีร์. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) พระ​คำ​นี้​ป้องกัน​พวก​เขา​จาก​การ ‘ตก​เป็น​เหยื่อ​ของ​ปรัชญา​และ​คำ​ล่อ​ลวง​เหลวไหล​ตาม​ประเพณี​ของ​มนุษย์.’ (โกโลซาย 2:8, ล.ม.) ทุก​วัน​นี้ สถานการณ์​ไม่​ต่าง​กัน. ตรง​กัน​ข้าม​กับ​แนว​ความ​คิด​ของ​มนุษย์​ที่​สับสน​และ​ขัด​แย้ง​กัน พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ให้​พื้น​ฐาน​อัน​มั่นคง​สำหรับ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา. (โยฮัน 17:17; 1 เธซะโลนิเก 2:13; 2 เปโตร 1:21) หาก​ปราศจาก​คัมภีร์​ไบเบิล เรา​ก็​ตก​อยู่​ใน​สถานการณ์​ที่​เป็น​ไป​ไม่​ได้​เลย​ที่​จะ​พยายาม​ปลูก​สร้าง​สิ่ง​ก่อ​สร้าง​ที่​มั่นคง​แข็งแรง​บน​เนิน​ทราย​ที่​ถูก​ลม​พัด​เคลื่อน​ที่​ไป​แห่ง​ทฤษฎี​และ​ปรัชญา​ของ​มนุษย์.—มัดธาย 7:24-27.

บาง​คน​อาจ​กล่าว​ว่า ‘แต่​เดี๋ยว​ก่อน. เป็น​ความ​จริง​มิ​ใช่​หรือ​ที่​ข้อ​เท็จ​จริง​ทาง​วิทยาศาสตร์​พิสูจน์​ให้​เห็น​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ข้อ​ผิด​พลาด และ​ดัง​นั้น คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​ไม่​น่า​เชื่อถือ​มาก​ไป​กว่า​ปรัชญา​ของ​มนุษย์​ที่​เปลี่ยน​แปลง​อยู่​เสมอ?’ ตัว​อย่าง​เช่น เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ อ้าง​ว่า “โคเพอร์นิคุส, เคปเลอร์, และ​กาลิเลโอ ต่อ​สู้​กับ​อาริสโตเติล รวม​ทั้ง​คัมภีร์​ไบเบิล ใน​เรื่อง​การ​มี​ทัศนะ​ที่​ว่า​โลก​ไม่​ได้​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​เอกภพ.” (เรา​เปลี่ยน​เป็น​ตัว​เอน.) และ​อีก​ตัว​อย่าง​หนึ่ง เป็น​ความ​จริง​มิ​ใช่​หรือ​ที่​ทุก​วัน​นี้ นัก​คติ​นิยม​การ​ทรง​สร้าง​ยืนกราน​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​ว่า​โลก​ถูก​สร้าง​ใน​หก​วัน​ที่​มี 24 ชั่วโมง ทั้ง​ที่​ข้อ​เท็จ​จริง​ทุก​อย่าง​แสดง​ว่า​โลก​มี​อายุ​มา​หลาย​พัน​ล้าน​ปี​แล้ว?

อัน​ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​กล่าว​ว่า​โลก​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​เอกภพ. พวก​ผู้​นำ​คริสตจักร​ซึ่ง​ไม่​ได้​ยึด​มั่น​กับ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ต่าง​หาก​ที่​ได้​สอน​เรื่อง​นั้น. บันทึก​ใน​พระ​ธรรม​เยเนซิศ​เกี่ยว​กับ​การ​ทรง​สร้าง​เปิด​ช่อง​ว่า​เป็น​ไป​ได้​ที่​โลก​มีอายุ​หลาย​พัน​ล้าน​ปี​และ​วัน​แห่ง​การ​ทรง​สร้าง​ไม่​ได้​จำกัด​แค่​วัน​ละ 24 ชั่วโมง. (เยเนซิศ 1:1, 5, 8, 13, 19, 23, 31; 2:3, 4) การ​ประเมิน​ค่า​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ชี้​ให้​เห็น​ว่า แม้​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ใช่​ตำรา​ทาง​วิทยาศาสตร์ กระนั้น​ก็​ไม่​ใช่​หนังสือ​ที่ “เหลวไหล​โดย​สิ้นเชิง” อย่าง​แน่นอน. ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​ลง​รอย​ทุก​อย่าง​กับ​วิทยาศาสตร์​ที่​ได้​รับ​การ​พิสูจน์​แล้ว. *

‘ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​เหตุ​ผล’

ถึง​แม้​สาวก​ของ​พระ​เยซู​หลาย​คน​เป็น​ชาย​หญิง​ที่​ต่ำต้อย บาง​ที​มี​การ​ศึกษา​น้อย แต่​พวก​เขา​ก็​ได้​รับ​สิ่ง​มี​ค่า​อย่าง​อื่น​ที่​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​ให้. ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​มี​ภูมิหลัง​อย่าง​ไร พวก​เขา​ทุก​คน​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​เห​ดุ​ผล​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด. อัครสาวก​เปาโล​สนับสนุน​เพื่อน​คริสเตียน​ให้​ใช้ ‘ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​เหตุ​ผล’ ของ​ตน​เอง​อย่าง​เต็ม​ที่​เพื่อ “พิสูจน์​แก่​ตัว​เอง​ใน​เรื่อง​พระทัย​ประสงค์​อัน​ดี​ที่​น่า​รับ​ไว้​และ​สมบูรณ์​พร้อม​ของ​พระเจ้า.”—โรม 12:1, 2, ล.ม.

เนื่อง​จาก​คริสเตียน​สมัย​แรก​มี ‘ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​เหตุ​ผล’ ที่​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​ให้ พวก​เขา​จึง​ทราบ​อย่าง​แน่ชัด​ว่า​ปรัชญา​หรือ​คำ​สอน​ใด ๆ ที่​ขัด​กับ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​เปิด​เผย​นั้น​ย่อม​ใช้​การ​ไม่​ได้. ที่​จริง​แล้ว ใน​บาง​กรณี ผู้​มี​ปัญญา​ใน​สมัย​นั้น “ขัด​ขวาง​ความ​จริง” และ​บอก​ปัด​หลักฐาน​ที่​ว่า​มี​พระเจ้า. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “เขา​ถือ​ตัว​ว่า​เป็น​นัก​ปราชญ์, เขา​จึง​เป็น​คน​โง่​เขลา​ไป.” เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ปฏิเสธ​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​และ​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์ พวก​เขา​จึง “คิด​ใน​สิ่ง​ที่​ไม่​เป็น​สาระ, และ​ใจ​โง่​ของ​เขา​ก็​มืด​ไป.”—โรม 1:18-22; ยิระมะยา 8:8, 9.

บ่อย​ครั้ง ผู้​ที่​อ้าง​ตัว​ว่า​ฉลาด​เสนอ​ข้อ​สรุป​ราว​กับ​ว่า “ไม่​มี​พระเจ้า” หรือ “คัมภีร์​ไบเบิล​เชื่อถือ​ไม่​ได้” หรือ “สมัย​นี้​ไม่​ใช่ ‘สมัย​สุด​ท้าย.’ ” ความ​คิด​เช่น​นั้น​โง่​เขลา​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระเจ้า​เหมือน​กับ​ที่​สรุป​ว่า “2=1.” (1 โกรินโธ 3:19) ไม่​ว่า​ผู้​มี​อำนาจ​จะ​อ้าง​อย่าง​ไร​ก็​ตาม คุณ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ยอม​รับ​ข้อ​สรุป​ของ​พวก​เขา หาก​ข้อ​สรุป​นั้น​ขัด​แย้ง​กับ​พระเจ้า, เพิกเฉย​ต่อ​พระ​คำ​ของ​พระองค์, และ​ฝืน​สามัญสำนึก. ใน​การ​วิเคราะห์​ขั้น​สุด​ท้าย แนว​ทาง​อัน​ฉลาด​สุขุม​เสมอ​คือ​ว่า “ให้​ปรากฏ​ว่า​พระเจ้า​ทรง​เป็น​องค์​สัตย์​จริง แม้​ปรากฏ​ว่า​ทุก​คน​เป็น​คน​มุสา.”—โรม 3:4, ล.ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 20 สำหรับ​ราย​ละเอียด โปรด​ดู​ใน​หนังสือ ชีวิต—เกิด​ขึ้น​มา​อย่าง​ไร? โดย​วิวัฒนาการ​หรือ​มี​ผู้​สร้าง? และ​หนังสือ พระ​ผู้​สร้าง​ผู้​ใฝ่​พระทัย​ใน​ตัว​คุณ​มี​ไหม? จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง​นิวยอร์ก.

[ภาพ​หน้า 31]

ตรง​กัน​ข้าม​กับ​ความ​เห็น​ของ​มนุษย์​ที่​เปลี่ยน​ไป​เปลี่ยน​มา คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​รากฐาน​อัน​มั่นคง​สำหรับ​ความ​เชื่อ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Left, Epicurus: Photograph taken by courtesy of the British Museum; upper middle, Plato: National Archaeological Museum, Athens, Greece; right, Socrates: Roma, Musei Capitolini