คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
ภรรยาที่เป็นคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์จำต้องทัดทานความพยายามที่จะหย่าของสามีถึงขนาดไหน?
เมื่อเริ่มมีการสมรสของมนุษย์ พระเจ้าตรัสว่า สามีกับภรรยาควร “ผูกพัน” อยู่ด้วยกัน. (เยเนซิศ 2:18-24) ต่อมามนุษย์เกิดความไม่สมบูรณ์ ซึ่งยังผลให้มีปัญหาในชีวิตสมรสหลายราย แต่พระเจ้าก็ยังคงประสงค์ให้คู่สมรสผูกพันอยู่ด้วยกัน. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ฝ่ายคนที่สมรสกันแล้ว, ข้าพเจ้าขอสั่งไว้, แต่มิใช่ข้าพเจ้าสั่งเอง, แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่า, อย่าให้ภรรยาทิ้งสามี. แต่ถ้านางทิ้งสามีไปแล้ว, อย่าให้นางมีสามีอีกเลย, หรือมิฉะนั้นให้นางกลับคืนดีกับสามีเก่า, อย่าให้สามีทิ้งภรรยา.”—1 โกรินโธ 7:10, 11.
ข้อความข้างต้นยอมรับว่าในท่ามกลางมนุษย์ไม่สมบูรณ์ บางคนอาจตัดสินใจทิ้งคู่สมรสของตนไป. เพื่อเป็นตัวอย่าง เปาโลกล่าวว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งจากไป ทั้งสองจะแต่งงานใหม่ไม่ได้. เพราะเหตุใด? เพราะแม้ว่าคนหนึ่งทิ้งคู่สมรสของตนไป แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้า คนทั้งสองยังคงมีพันธะผูกพันกันอยู่. เปาโลกล่าวอย่างนี้ได้เพราะพระเยซูทรงตั้งมาตรฐานสำหรับการสมรสของคริสเตียนไว้ดังนี้: “ผู้ใดหย่าภรรยาของตนเพราะเหตุต่าง ๆ เว้นแต่ผิดกับชายอื่น [ภาษากรีก พอร์นีอา], แล้วไปมีภรรยาใหม่, ก็ผิดประเวณี.” (มัดธาย 19:9) ใช่แล้ว สาเหตุเดียวสำหรับการหย่าที่ทำให้สายสมรสยุติลงตามหลักพระคัมภีร์คือ ‘การผิดประเวณี’ ซึ่งก็คือการผิดศีลธรรมทางเพศ. ดูเหมือนว่า ในกรณีที่เปาโลพูดถึงนั้นไม่มีฝ่ายใดทำผิดศีลธรรม ดังนั้นเมื่อสามีหรือภรรยาทิ้งคู่ของตนไป สายสมรสไม่ได้สิ้นสุดลงในสายพระเนตรของพระเจ้า.
ต่อจากนั้นเปาโลกล่าวถึงกรณีที่คริสเตียนแท้มีคู่สมรสที่ไม่มีความเชื่อ. ให้เราพิจารณาคำชี้แนะของเปาโลดังนี้: “ถ้าแม้คนเหล่านั้นที่ไม่เชื่อถือพระคริสต์จะไป, ก็ให้เขาไปเถิด พี่น้องชายหญิงเรื่องเช่นนี้ไม่จำเป็นจะผูกมัดผู้ใดให้จำใจอยู่ด้วยกัน แต่พระเจ้าได้ทรงเรียกเราทั้งหลายมาให้อยู่เย็นเป็นสุข.” (1 โกรินโธ 7:12-16) ภรรยาที่ซื่อสัตย์จะทำอะไรได้ถ้าสามีที่ไม่มีความเชื่อทิ้งเธอไป หรือถึงกับพยายามหย่าขาดจากเธอตามกฎหมาย?
เธออาจอยากให้เขาอยู่กับเธอต่อไป. เธออาจยังรักเขาอยู่, อาจรู้สึกถึงความต้องการทางอารมณ์และทางเพศของทั้งสองฝ่าย, และรู้ว่าเธอกับลูก ๆ ที่ยังเล็กซึ่งพวกเขาอาจมีด้วยกัน ต้องการการอุปการะเลี้ยงดู. เธออาจยังหวังด้วยว่าเมื่อเวลาผ่านไป สามีของเธอจะเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือและได้รับการช่วยให้รอด. แต่ถ้าเขาดำเนินการเพื่อจะยุติสายสมรส (ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์) ภรรยาอาจยอม “ให้เขาไป” อย่างที่เปาโลเขียนไว้ก็ได้. หลักการข้อเดียวกันนี้ใช้ได้กับกรณีของสามีที่เป็นผู้เชื่อถือแต่ไม่นับถือทัศนะของพระเจ้าเรื่องการสมรสและยืนยันจะทิ้งภรรยาไป.
ถึงกระนั้น เธออาจต้องปกป้องตัวเอง และลูก ๆ ในสถานการณ์เช่นนี้. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? เธออาจต้องการรักษาสิทธิเป็นผู้ปกครองดูแลลูกที่เธอรักเพื่อที่เธอจะสามารถให้ความรักของมารดา, ให้การฝึกอบรมทางศีลธรรม, และปลูกฝังความเชื่อตามหลักคำสอนที่ดีงามของคัมภีร์ไบเบิลให้แก่ลูก ๆ. (2 ติโมเธียว 3:15) การหย่าอาจทำให้เธอเสียสิทธิเหล่านี้. ด้วยเหตุนี้ เธออาจดำเนินการเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเหมาะสมต่อผู้มีอำนาจเพื่อจะปกป้องสิทธิของเธอในการดูแลลูก ๆ และเพื่อทำให้แน่ใจว่าสามีของเธอมีพันธะเลี้ยงดูครอบครัวที่เขากำลังจะทิ้งไป. ในบางแห่ง ผู้หญิงที่คัดค้านการหย่าอาจลงลายมือชื่อในเอกสารทางกฎหมายที่จัดการเรื่องการปกครองดูแลบุตรและการอุปการะเลี้ยงดูได้ โดยไม่เป็นการแสดงว่าเธอเห็นด้วยกับการหย่าที่สามีของเธอเป็นฝ่ายริเริ่ม. ในที่อื่น ข้อความในเอกสารบ่งชี้ว่าเธอเห็นด้วยกับการหย่า; ด้วยเหตุนี้ ถ้าสามีของเธอได้ทำผิดประเวณี การที่ภรรยาลงลายมือชื่อในเอกสารเหล่านั้นจะหมายความว่าเธอปฏิเสธเขา.
คนส่วนใหญ่ในชุมชนและในประชาคมคงไม่รู้รายละเอียดต่าง ๆ เช่นในเรื่องที่ว่า การหย่านั้นอาศัยพื้นฐานตามหลักพระคัมภีร์หรือไม่. ดังนั้น ก่อนที่เรื่องราวจะไปไกลถึงขั้นนั้น คงดีถ้าภรรยาจะชี้แจงกับผู้ดูแลผู้เป็นประธานและผู้ปกครองอีกคนหนึ่งในประชาคม (น่าจะเป็นลายลักษณ์อักษร) เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ. โดยวิธีนี้ ถ้าเกิดคำถามขึ้นก็จะมีข้อเท็จจริงอยู่พร้อม—ทั้งในตอนนั้นและในภายหลัง.
ขอให้เรากลับไปที่คำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ผู้ใดหย่าภรรยาของตนเพราะเหตุต่าง ๆ เว้นแต่ผิดกับชายอื่น, แล้วไปมีภรรยาใหม่, ก็ผิดประเวณี.” ถ้าจริง ๆ แล้วสามีทำผิดศีลธรรมทางเพศ แต่ต้องการจะอยู่กับภรรยาของเขาต่อไป โฮเซอา 1:1-3; 3:1-3.
ภรรยา (ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้ทำผิดในตัวอย่างของพระเยซู) ต้องตัดสินใจว่าจะให้อภัยเขาและอยู่ร่วมเตียงสมรสต่อไปหรือจะปฏิเสธเขา. ถ้าเธอเต็มใจให้อภัยและอยู่กับสามีตามกฎหมายของเธอต่อไป เธอก็ไม่ได้ทำผิดศีลธรรม.—ในกรณีที่สามีซึ่งทำผิดศีลธรรมพยายามหย่า ภรรยาอาจยังเต็มใจจะให้อภัย โดยหวังจะได้เขาคืนมา. เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเธอโดยอาศัยสติรู้สึกผิดชอบและสภาพการณ์ของเธอว่าจะคัดค้านการดำเนินการหย่าของเขาหรือไม่. ในบางแห่ง ผู้หญิงที่คัดค้านการหย่าอาจลงลายมือชื่อในเอกสารที่จัดการเรื่องการปกครองดูแลบุตรและการอุปการะเลี้ยงดูได้ โดยไม่เป็นการบ่งชี้ว่าเธอเห็นด้วยกับการหย่า; การที่เธอลงลายมือชื่อในเอกสารเหล่านั้นในตัวมันเองไม่ได้บ่งชี้ว่าเธอปฏิเสธเขา. อย่างไรก็ตาม สำหรับบางแห่งแล้ว ภรรยาที่คัดค้านการหย่าอาจได้รับการขอให้ลงลายมือชื่อในเอกสารซึ่งบ่งชี้ว่าเธอเห็นด้วยกับการหย่า; การลงลายมือชื่อในเอกสารเช่นนั้นจะเป็นการแสดงอย่างชัดแจ้งว่าเธอปฏิเสธสามีที่ทำผิด.
ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น คงดีถ้าภรรยาจะเขียนจดหมายถึงตัวแทนของประชาคมและอธิบายย่อ ๆ เกี่ยวกับขั้นตอนที่กำลังดำเนินอยู่และเจตคติที่อยู่เบื้องหลังขั้นตอนเหล่านั้น. เธอควรระบุเรื่องที่เธอบอกสามีแล้วว่าเธอเต็มใจให้อภัยเขาและจะเป็นภรรยาของเขาต่อไป. นั่นจะหมายความว่ามีการหย่าโดยขัดกับความปรารถนาของเธอ; เธอไม่ได้ปฏิเสธสามีของเธอ เธอยังคงเต็มใจให้อภัย. หลังจากทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าเธอเต็มใจให้อภัยและคงอยู่ในสายสมรส การที่เธอลงลายมือชื่อในเอกสารซึ่งเพียงแต่ระบุว่าจะจัดการเรื่องราวด้านการเงินและ/หรือเรื่องการปกครองดูแลบุตรอย่างไรนั้นจะไม่เป็นการบ่งชี้ว่าเธอปฏิเสธสามีของเธอ. *
เมื่อได้ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าเธอเต็มใจจะให้อภัยแม้แต่ภายหลังการหย่า ไม่ว่าเธอหรือสามีของเธอก็ไม่มีสิทธิ์จะแต่งงานใหม่. ถ้าเธอ—ฝ่ายที่ไม่ได้ทำผิดซึ่งเสนอจะให้อภัยแต่ถูกปฏิเสธ—ตัดสินใจภายหลังว่าจะปฏิเสธเขาเนื่องจากการทำผิดศีลธรรม ตอนนี้ทั้งสองก็มีสิทธิ์จะสมรสใหม่. พระเยซูทรงแสดงว่าฝ่ายที่ไม่ได้ทำผิดมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจอย่างนั้น.—มัดธาย 5:32; 19:9; ลูกา 16:18.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 ขั้นตอนและเอกสารตามกฎหมายอาจแตกต่างไปในแต่ละที่. ควรตรวจสอบเงื่อนไขในหนังสือหย่าอย่างละเอียดก่อนที่จะลงลายมือชื่อ. ถ้าฝ่ายที่ไม่ได้ทำผิดลงลายมือชื่อในเอกสารที่บ่งชี้ว่าเธอ (หรือเขา) ไม่คัดค้านการหย่าที่อีกฝ่ายหนึ่งยื่นขอ นั่นก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธคู่สมรสของตน.—มัดธาย 5:37.