จงได้รับการเสริมสร้างขึ้นด้วยความรัก
จงได้รับการเสริมสร้างขึ้นด้วยความรัก
“จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์ของเจ้า, และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า.”—มัดธาย 22:37.
1. (ก) คริสเตียนปลูกฝังอะไรบ้าง? (ข) คุณลักษณะอะไรแบบคริสเตียนที่สำคัญที่สุด และเพราะเหตุใด?
คริสเตียนปลูกฝังหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อจะเป็นผู้รับใช้ที่มีประสิทธิภาพ. พระธรรมสุภาษิตเน้นถึงคุณค่าของความรู้, ความเข้าใจ, และสติปัญญา. (สุภาษิต 2:1-10) อัครสาวกเปาโลพิจารณาถึงความจำเป็นต้องมีความเชื่อที่หนักแน่นและความหวังอันมั่นคง. (โรม 1:16, 17; โกโลซาย 1:5; เฮ็บราย 10:39) ความเพียรอดทนและการรู้จักบังคับตนก็สำคัญด้วย. (กิจการ 24:25; เฮ็บราย 10:36) อย่างไรก็ตาม มีองค์ประกอบอีกประการหนึ่งซึ่งถ้าขาดไปแล้ว คุณลักษณะอื่นทั้งหมดจะด้อยค่าลงไป และอาจถึงกับหมดค่าเลยทีเดียว. องค์ประกอบนั้นคือความรัก.—1 โกรินโธ 13:1-3, 13.
2. พระเยซูทรงแสดงถึงความสำคัญของความรักอย่างไร และคำตรัสของพระองค์ทำให้เกิดคำถามอะไรขึ้นมา?
2 พระเยซูทรงแสดงถึงความสำคัญของความรักเมื่อพระองค์ตรัสว่า “โดยเหตุนี้คนทั้งปวงจะรู้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ถ้าเจ้ามีความรักระหว่างพวกเจ้าเอง.” (โยฮัน 13:35, ล.ม.) เนื่องจากความรักเป็นเครื่องหมายระบุตัวคริสเตียนแท้ เราจึงต้องถามว่า ความรักคืออะไร? เหตุใดความรักจึงสำคัญมากถึงขนาดที่พระเยซูตรัสว่า ความรักเป็นลักษณะเด่นของเหล่าสาวกของพระองค์ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด? เราจะปลูกฝังความรักได้อย่างไร? ใครที่เราควรรัก? ให้เรามาพิจารณาคำถามเหล่านี้ด้วยกัน.
ความรักคืออะไร?
3. อาจพรรณนาถึงความรักได้เช่นไร และเหตุใดความรักจึงเกี่ยวข้องกับทั้งจิตใจและหัวใจ?
3 คำพรรณนาหนึ่งกล่าวว่า ความรักคือ ‘ความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนตัวที่อบอุ่นหรือความชอบพอที่ลึกซึ้ง, ความชื่นชอบหรือความพอใจซึ่งกันและกันอันอบอุ่น.’ ความรักเป็นคุณลักษณะที่กระตุ้นผู้คนให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และในบางครั้งโดยที่เสียสละตัวเองอย่างใหญ่หลวง. ความรักตามที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์ไบเบิลมีความหมายครอบคลุมทั้งจิตใจและหัวใจ. จิตใจหรือความสามารถในการเข้าใจเหตุผลมีบทบาทในเรื่องนี้เพราะคนที่แสดงความรักไม่ได้หลับหูหลับตารัก หากแต่ตระหนักว่าตัวเขาและคนอื่นที่เขารักต่างก็มีทั้งข้อเสียและคุณลักษณะที่ดึงดูดใจ. ความสามารถในการเข้าใจเหตุผลยังเกี่ยวข้องยิ่งกว่านี้อีกเนื่องจากมีบางคนที่คริสเตียนรัก—แม้ในบางครั้งอาจฝืนความรู้สึกตามธรรมดา—เนื่องจากเขาทราบจากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้เขารัก. (มัดธาย 5:44; 1 โกรินโธ 16:14) ถึงกระนั้น โดยพื้นฐานแล้วความรักเกิดมาจากหัวใจ. ความรักแท้ดังที่เผยไว้ในคัมภีร์ไบเบิลไม่เคยเป็นเพียงเรื่องของเหตุผล. ความรักแท้เกี่ยวข้องกับความจริงใจอันลึกซึ้งและความผูกพันทางอารมณ์เต็มที่.— 1 เปโตร 1:22.
4. ความรักเป็นเครื่องผูกพันที่มีพลังอย่างไร?
4 คนที่มีหัวใจอันเห็นแก่ตัวยากจะมีความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรักแท้ได้ เพราะคนที่มีความรักพร้อมจะให้ผลประโยชน์ของผู้อื่นมาก่อนผลประโยชน์ของตนเอง. (ฟิลิปปอย 2:2-4) คำตรัสของพระเยซูที่ว่า “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ” เป็นจริงเป็นพิเศษเมื่อการให้นั้นทำด้วยความรัก. (กิจการ 20:35, ล.ม.) ความรักเป็นเครื่องผูกพันที่มีพลัง. (โกโลซาย 3:14) ความรักมักมีความหมายครอบคลุมไปถึงมิตรภาพ แต่ความผูกพันของความรักนั้นเหนียวแน่นกว่าความผูกพันของมิตรภาพ. บางครั้งมีการพรรณนาถึงสายสัมพันธ์อันหวานชื่นระหว่างสามีกับภรรยาว่านั่นแหละคือความรัก; อย่างไรก็ตาม ความรักที่คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้ปลูกฝังนั้นยั่งยืนกว่าความดึงดูดทางกาย. เมื่อคู่สมรสรักกันอย่างแท้จริง ทั้งสองยังคงครองคู่กันแม้แต่เมื่อไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางกายอีกต่อไป อันเนื่องจากความอ่อนแอที่มาพร้อมกับวัยชราหรือเพราะคนใดคนหนึ่งไร้สมรรถภาพ.
ความรัก—คุณลักษณะที่สำคัญยิ่ง
5. เหตุใดความรักจึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งสำหรับคริสเตียน?
5 เหตุใดความรักเป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งสำหรับคริสเตียน? ประการแรก เพราะพระเยซูทรงมีพระบัญชาให้เหล่าสาวกรักซึ่งกันและกัน. พระองค์ตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นมิตรของเราถ้าเจ้าปฏิบัติตามที่เราสั่งเจ้า. สิ่งเหล่านี้เราสั่งเจ้าทั้งหลายไว้ เพื่อเจ้าจะรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 15:14, 17, ล.ม.) ประการที่สอง เพราะพระยะโฮวาทรงเป็นแบบฉบับแห่งความรัก และในฐานะผู้นมัสการพระองค์เราควรเลียนแบบพระองค์. (เอเฟโซ 5:1; 1 โยฮัน 4:16) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าการรับเอาความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซูหมายถึงชีวิตนิรันดร์. เราจะกล่าวได้อย่างไรว่าเรารู้จักพระเจ้าหากเราไม่พยายามเป็นเหมือนพระองค์? อัครสาวกโยฮันชักเหตุผลดังนี้: “ผู้ที่ไม่รักก็ไม่ได้มารู้จักพระเจ้า เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก.”—1 โยฮัน 4:8, ล.ม.
6. ความรักช่วยเราให้มีความสมดุลในแง่ต่าง ๆ ของชีวิตได้อย่างไร?
6 ความรักเป็นคุณลักษณะสำคัญเนื่องด้วยเหตุผลประการที่สามคือ: ความรักช่วยเราให้มีความสมดุลในแง่ต่าง ๆ ของชีวิตและเสริมแรงกระตุ้นที่ดีให้แก่สิ่งที่เราทำ. ยกตัวอย่าง เป็นเรื่องสำคัญที่จะรับเอาความรู้จากพระคำของพระเจ้าต่อ ๆ ไป. สำหรับคริสเตียน ความรู้เช่นนั้นเป็นเหมือนอาหาร. ความรู้ดังกล่าวช่วยเขาให้เติบโตสู่ความอาวุโสและประพฤติสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 119:105; มัดธาย 4:4; 2 ติโมเธียว 3:15, 16) อย่างไรก็ตาม เปาโลเตือนว่า “ความรู้ทำให้อวดดี แต่ความรักก่อร่างสร้างขึ้น.” (1 โกรินโธ 8:1, ล.ม.) แน่ล่ะ ไม่มีอะไรผิดในตัวของความรู้ถ่องแท้เอง. ปัญหาอยู่ที่เรา—เรามีแนวโน้มผิดบาป. (เยเนซิศ 8:21) หากขาดอิทธิพลที่ช่วยให้สมดุลของความรัก ความรู้อาจทำให้คนเราอวดดี คิดว่าตัวเขาเองดีกว่าผู้อื่น. เรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเขาได้รับแรงกระตุ้นพื้นฐานจากความรัก. “ความรัก . . . ไม่อวดตัว, ไม่พองตัว.” (1 โกรินโธ 13:4, ล.ม.) คริสเตียนที่ได้รับแรงกระตุ้นจากความรักจะไม่หยิ่งทะนงแม้ว่าเขามีความรู้ลึกซึ้ง. ความรักทำให้เขาถ่อมใจอยู่เสมอและป้องกันเขาไว้จากความปรารถนาจะสร้างชื่อสำหรับตัวเอง.—บทเพลงสรรเสริญ 138:6; ยาโกโบ 4:6.
7, 8. ความรักช่วยเราอย่างไรให้มุ่งเน้นในเรื่องที่สำคัญกว่า?
7 เปาโลเขียนถึงชาวฟิลิปปอยว่า “ข้าพเจ้าอธิษฐานอย่างนี้อยู่เรื่อยไป เพื่อว่าความรักของท่านทั้งหลายจะอุดมยิ่ง ๆ ขึ้นพร้อมด้วยความรู้ถ่องแท้และความสังเกตเข้าใจครบถ้วน; เพื่อท่านทั้งหลายจะตรวจดูให้รู้แน่ถึงสิ่งที่สำคัญกว่า.” (ฟิลิปปอย 1:9, 10, ล.ม.) ความรักแบบคริสเตียนจะช่วยเราให้ปฏิบัติตามคำหนุนกำลังใจนี้ด้วยการตรวจดูให้รู้แน่ถึงสิ่งที่สำคัญกว่า. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาถ้อยคำของเปาโลที่มีไปถึงติโมเธียวว่า “ถ้าชายคนใดเอื้อมแขนออกไปเพื่อจะได้ตำแหน่งผู้ดูแล เขาก็ปรารถนาการงานที่ดี.” (1 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ระหว่างปีรับใช้ 2000 จำนวนประชาคมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1,502 ประชาคม รวมทั้งหมดเป็น 91,487 ประชาคม. ด้วยเหตุนี้ มีความจำเป็นต้องมีผู้ปกครองอีกเป็นจำนวนมาก และคนที่เอื้อมแขนออกไปเพื่อรับสิทธิพิเศษนี้ควรได้รับคำชมเชย.
8 อย่างไรก็ตาม คนที่เอื้อมแขนออกไปเพื่อรับสิทธิพิเศษแห่งการเป็นผู้ดูแลจะรักษาความสมดุลที่ดีก็ต่อเมื่อเขาระลึกเสมอถึงจุดมุ่งหมายของสิทธิพิเศษเช่นนั้น. การมีอำนาจหน้าที่หรือการมีชื่อเสียงเด่นไม่ใช่ เรื่องสำคัญ. ผู้ปกครองที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัยได้รับแรงกระตุ้นจากความรักที่มีต่อพระองค์และพี่น้องของเขา. พวกเขาไม่แสวงหาความเด่นดังหรืออิทธิพล. หลังจากให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองในประชาคมให้รักษาเจตคติที่ดี อัครสาวกเปโตรเน้นถึงความจำเป็นต้องมี “จิตใจอ่อนน้อม.” ท่านแนะนำทุกคนในประชาคมว่า “ท่านทั้งหลายจงถ่อมตัวลงภายใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า.” (1 เปโตร 5:1-6, ล.ม.) ใครก็ตามที่เอื้อมแขนออกไปควรพิจารณาตัวอย่างของผู้ปกครองมากมายทั่วโลกที่ทำงานหนักด้วยความถ่อมใจ และจึงเป็นพระพรแก่ประชาคมของพวกเขา.—เฮ็บราย 13:7.
แรงกระตุ้นที่ดีช่วยเราให้เพียรอดทน
9. เหตุใดคริสเตียนนึกถึงพระพรที่พระยะโฮวาทรงสัญญาไว้เสมอ?
9 ความสำคัญของการได้รับแรงกระตุ้นจากความรักจะเห็นได้ในอีกวิธีหนึ่ง. สำหรับผู้ที่ดำเนินตามความเลื่อมใสในพระเจ้าด้วยความรัก คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่าเขาจะได้รับพระพรอันอุดมในขณะนี้และพระพรอันเยี่ยมยอดที่เกินกว่าจะนึกภาพออกได้ในอนาคต. (1 ติโมเธียว 4:8) คริสเตียนที่มีความเชื่ออันเข้มแข็งในคำสัญญาเหล่านี้รวมทั้งเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวา “มาเป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ” ได้รับการช่วยให้ยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อ. (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) พวกเราส่วนใหญ่ปรารถนาจะเห็นความสำเร็จแห่งคำสัญญาของพระเจ้าและสะท้อนถึงความรู้สึกของอัครสาวกโยฮันที่กล่าวว่า “อาเมน! เชิญเสด็จมาเถิด พระเยซูเจ้า.” (วิวรณ์ 22:20, ล.ม.) ถูกแล้ว การใคร่ครวญถึงพระพรที่เราจะได้รับหากเราซื่อสัตย์ช่วยเสริมให้เราสามารถเพียรอดทน เช่นเดียวกับการที่พระเยซูทรงนึกถึง “ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า” ช่วยให้พระองค์ทรงอดทนได้.—เฮ็บราย 12:1, 2, ล.ม.
10, 11. การได้รับแรงกระตุ้นจากความรักช่วยเราให้อดทนอย่างไร?
10 อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรถ้าความปรารถนาที่จะได้อยู่ในโลกใหม่เป็นแรงกระตุ้นเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เรารับใช้พระเจ้า? ถ้าอย่างนั้น เราอาจเริ่มขาดความอดทนหรือไม่พอใจเมื่อเกิดความลำบากหรือเมื่อเหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราหวังไว้หรือตามเวลาที่เราคาดคิด. เราอาจตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงที่จะลอยห่างไป. (เฮ็บราย 2:1; 3:12) เปาโลกล่าวถึงเดมา ชายผู้หนึ่งที่เคยเป็นเพื่อนเดินทางของท่าน ซึ่งได้ทิ้งท่านไป. เพราะเหตุใด? เพราะ “เขารักโลกปัจจุบันนี้.” (2 ติโมเธียว 4:10) ใครก็ตามที่รับใช้ด้วยเหตุผลที่เห็นแก่ตัวล้วน ๆ ย่อมตกอยู่ในอันตรายที่อาจจะทำอย่างเดียวกันนั้น. พวกเขาอาจถูกล่อใจจากโอกาสที่เห็นผลทันตาซึ่งโลกเสนอให้และเริ่มไม่เต็มใจจะเสียสละในขณะนี้โดยหวังจะได้รับพระพรที่จะมีมา.
11 แม้ว่าที่จะมีความปรารถนาจะได้รับพระพรในอนาคตและหลุดพ้นจากความยากลำบากเป็นเรื่องธรรมดาและถูกต้อง แต่ความรักเสริมสร้างความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งที่ควรมีค่าสูงสุดในชีวิตเรา. พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาต่างหากที่สำคัญ ไม่ใช่ความประสงค์ของเรา. (ลูกา 22:41, 42) ถูกแล้ว ความรักเสริมสร้างเราขึ้น. ความรักทำให้เรายินดีคอยท่าพระเจ้าของเราอย่างอดทน อิ่มใจกับพระพรใด ๆ ก็ตามที่พระองค์ประทานและเชื่อมั่นว่า ในเวลากำหนดของพระองค์ เราจะได้รับทุกสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสัญญา—และมากยิ่งกว่านั้นอีก. (บทเพลงสรรเสริญ 145:16; 2 โกรินโธ 12:8, 9) ในช่วงที่รอคำสัญญาดังกล่าว ความรักช่วยเราให้รับใช้ต่อ ๆ ไปอย่างไม่เห็นแก่ตัว เพราะ “ความรัก . . . ไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง.”—1 โกรินโธ 13:4, 5, ล.ม.
คริสเตียนควรรักใคร?
12. ตามที่พระเยซูตรัส เราควรรักใคร?
12 พระเยซูทรงให้กฎทั่วไปในเรื่องที่ว่าเราควรรักใครเมื่อพระองค์ทรงยกข้อความสองตอนจากบัญญัติของโมเซ. พระองค์ตรัสว่า “จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์มัดธาย 22:37-39.
ของเจ้า, และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า” และ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.”—13. เราเรียนรู้ที่จะรักพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด แม้ว่าเรามองไม่เห็นพระองค์?
13 จากคำตรัสของพระเยซู เห็นได้ชัดว่าที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดคือเราควรรักพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความรักซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้วต่อพระยะโฮวา. ความรักดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราต้องปลูกฝัง. เมื่อเราได้ยินเกี่ยวกับพระองค์เป็นครั้งแรก เราถูกดึงดูดใจให้เข้ามาหาพระองค์จากสิ่งที่เราได้ยิน. ทีละเล็กละน้อย เราได้รับทราบวิธีที่พระองค์ทรงตระเตรียมแผ่นดินโลกไว้สำหรับมนุษยชาติ. (เยเนซิศ 2:5-23) เราเรียนรู้วิธีที่พระองค์ได้ทรงดำเนินการกับมนุษยชาติ โดยที่พระองค์ไม่ทรงละทิ้งเราเมื่อบาปรุกล้ำเข้ามาในครอบครัวมนุษย์เป็นครั้งแรก แต่ทรงดำเนินตามขั้นตอนเพื่อไถ่ถอนเรา. (เยเนซิศ 3:1-5, 15) พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างกรุณาต่อผู้ที่ซื่อสัตย์ และในที่สุดประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวเพื่อให้เราได้รับการอภัยบาป. (โยฮัน 3:16, 36) ความรู้ที่เสริมเข้ามาเช่นนี้ทำให้เราสำนึกถึงพระคุณของพระยะโฮวามากขึ้น. (ยะซายา 25:1) กษัตริย์ดาวิดกล่าวว่า ท่านรักพระยะโฮวาเนื่องจากความใฝ่พระทัยอันเปี่ยมด้วยความรักของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 116:1-9) ปัจจุบัน พระยะโฮวาทรงดูแลเรา, ชี้นำเรา, เสริมกำลังเรา, และหนุนกำลังใจเรา. ยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์มากเท่าใด ความรักที่เรามีต่อพระองค์ก็ยิ่งลึกซึ้งขึ้นเท่านั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 31:23; ซะฟันยา 3:17; โรม 8:28.
เราจะแสดงความรักได้โดยวิธีใด?
14. เราจะแสดงว่าเรารักพระยะโฮวาอย่างแท้จริงได้อย่างไร?
14 แน่ละ หลายคนในโลกนี้กล่าวว่าเขารักพระเจ้า แต่แนวทางการประพฤติของพวกเขาขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของตัวเอง. เราจะทราบได้อย่างไรว่าเรารักพระยะโฮวาอย่างแท้จริง? เราสามารถสนทนากับพระองค์ในคำอธิษฐานและทูลต่อพระองค์ว่าเรารู้สึกอย่างไร. และเราสามารถประพฤติในแนวทางซึ่งแสดงถึงความรักของเรา. อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า “คนใดที่ปฏิบัติตามพระคำของ [พระเจ้า] ความรักของพระเจ้าก็ถูกทำให้สมบูรณ์ในตัวผู้นั้นอย่างแท้จริง. ด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้ว่าเราร่วมสามัคคีกับพระองค์.” (1 โยฮัน 2:5; 5:3, ล.ม.) นอกเหนือจากสิ่งอื่น ๆ แล้ว พระคำของพระเจ้าบอกเราให้คบหาสมาคมกันและดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์สะอาดมีศีลธรรม. เราหลีกเลี่ยงความหน้าซื่อใจคด, พูดความจริง, และรักษาความคิดของเราให้สะอาด. (2 โกรินโธ 7:1; เอเฟโซ 4:15; 1 ติโมเธียว 1:5; เฮ็บราย 10:23-25) เราแสดงความรักโดยให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุแก่คนที่ขัดสน. (1 โยฮัน 3:17, 18) และเราไม่รั้งรอที่จะบอกคนอื่น ๆ เกี่ยวกับพระยะโฮวา. นั่นรวมถึงการมีส่วนร่วมในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วโลก. (มัดธาย 24:14; โรม 10:10) การเชื่อฟังพระคำของพระเจ้าในเรื่องเหล่านี้เป็นหลักฐานว่าเรารักพระยะโฮวาอย่างแท้จริง.
15, 16. ความรักต่อพระยะโฮวามีผลต่อชีวิตของหลายคนอย่างไรในปีที่แล้ว?
15 ความรักต่อพระยะโฮวาช่วยผู้คนให้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง. ปีที่แล้ว ความรักเช่นนั้นกระตุ้น 288,907 คนให้อุทิศชีวิตแด่พระองค์และแสดงสัญลักษณ์ของการตัดสินใจนั้นด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ. (มัดธาย 28:19, 20) การอุทิศตัวของพวกเขาเปี่ยมด้วยความหมาย. การอุทิศตัวนั้นทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเด่นชัดในชีวิตของพวกเขา. ตัวอย่างเช่น กาซเมนด์เป็นยอดนักบาสเกตบอลคนหนึ่งของแอลเบเนีย. เขากับภรรยาศึกษาพระคัมภีร์อยู่หลายปี และแม้ว่ามีอุปสรรคแต่ทั้งคู่ก็สามารถมีคุณวุฒิเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรได้ในที่สุด. ปีที่แล้ว กาซเมนด์เป็นคนหนึ่งในจำนวน 366 คนที่รับบัพติสมาในแอลเบเนียในปีรับใช้ 2000. หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงเรื่องของเขาในบทความหนึ่งโดยกล่าวว่า “ชีวิตของเขามีจุดมุ่งหมาย และด้วยเหตุนี้ เขากับครอบครัวกำลังมีความสุขที่สุดในชีวิต. สำหรับเขาแล้ว ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปที่จะเห็นว่าเขาสามารถได้อะไรจากชีวิตมากขนาดไหน แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาสนใจว่าเขาจะให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้มากเพียงใดต่างหาก.”
16 คล้ายคลึงกันนั้น พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่เพิ่งรับบัพติสมาซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งในเกาะกวมได้รับข้อเสนอที่ล่อใจ. หลังจากที่ทำงานไต่เต้าขึ้นมาในบริษัทเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดเธอได้รับการเสนอโอกาสที่จะเป็นรองประธานบริษัทคนแรกที่เป็นผู้หญิงในประวัติศาสตร์ของบริษัท. อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เธอได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาแล้ว. ดังนั้น หลังจากพิจารณาเรื่องนี้กับสามี พี่น้องใหม่คนนี้ปฏิเสธข้อเสนอนั้นและขอรับงานไม่เต็มเวลาแทน เพื่อเธอจะสามารถทำความก้าวหน้าจนเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาประเภทไพโอเนียร์ได้. ความรักต่อพระยะโฮวากระตุ้นเธอให้ปรารถนาจะรับใช้พระองค์ในฐานะไพโอเนียร์มากกว่าจะติดตามผลประโยชน์ด้านการเงินของโลกนี้. ที่จริง ความรักเช่นนั้นกระตุ้น 805,205 คนทั่วโลกให้มีส่วนในงานรับใช้ไพโอเนียร์ประเภทต่าง ๆ ในระหว่างปีรับใช้ 2000. ไพโอเนียร์เหล่านี้แสดงออกซึ่งความรักและความเชื่อจริง ๆ!
ถูกกระตุ้นให้รักพระเยซู
17. เราเห็นตัวอย่างที่ดีเช่นไรในพระเยซูเกี่ยวกับความรัก?
17 พระเยซูทรงเป็นตัวอย่างอันเยี่ยมยอดของบุคคลที่ถูกกระตุ้นโดยความรัก. ก่อนพระองค์ทรงสภาพเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงรักพระบิดาและมนุษยชาติ. ในฐานะพระปัญญาซึ่งถูกกล่าวถึงราวกับเป็นบุคคล พระองค์ตรัสว่า “เราอยู่ใกล้ชิดกับ [พระยะโฮวา] แล้ว, เป็นลูกมือของพระองค์; และเราชื่นชมยินดีทุกวัน. ร่าเริงอยู่เสมอเฉพาะพระองค์, ร่าเริงอยู่บนพื้นพิภพของพระองค์; และความชื่นชมยินดีของเราก็คลุกคลีอยู่กับพงศ์พันธุ์ของมนุษย์.” (สุภาษิต 8:30, 31) ความรักของพระเยซูกระตุ้นพระองค์ให้ละจากที่อยู่ของพระองค์ในสวรรค์มาประสูติเป็นทารกที่พึ่งตัวเองไม่ได้. พระองค์ทรงติดต่อเกี่ยวข้องกับคนอ่อนน้อมและคนต่ำต้อยอย่างอดทนและกรุณา และทรงทนทุกข์ด้วยน้ำมือของศัตรูของพระยะโฮวา. ในที่สุด พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษยชาติทั้งสิ้นบนหลักทรมาน. (โยฮัน 3:35; 14:30, 31; 15:12, 13; ฟิลิปปอย 2:5-11) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ ของแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง!
18. (ก) เราปลูกฝังความรักต่อพระเยซูโดยวิธีใด? (ข) เราแสดงโดยวิธีใดว่าเรารักพระเยซู?
18 เมื่อผู้มีสภาพหัวใจถูกต้องอ่านชีวประวัติของพระเยซูซึ่งบันทึกไว้ในพระธรรมกิตติคุณและใคร่ครวญถึงพระพรมาก1 เปโตร 1:8, ล.ม.) ความรักของเราแสดงออกมาเมื่อเราสำแดงความเชื่อในพระองค์และเลียนแบบชีวิตที่เสียสละพระองค์เอง. (1 โกรินโธ 11:1; 1 เธซะโลนิเก 1:6; 1 เปโตร 2:21-25) ในวันที่ 19 เมษายน 2000 มีทั้งหมด 14,872,086 คนได้รับการย้ำเตือนถึงเหตุผลที่เรารักพระเยซู เมื่อพวกเขาเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์ซึ่งจัดขึ้นทุกปี. ช่างเป็นจำนวนมากทีเดียว! และช่างเสริมกำลังสักเพียงไรที่ทราบว่ามีคนเป็นอันมากสนใจในความรอดซึ่งอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู! จริงทีเดียว เราได้รับการเสริมสร้างขึ้นโดยความรักของพระยะโฮวาและพระเยซูที่แสดงต่อพวกเราและความรักของเราที่มีต่อพระองค์ทั้งสอง.
มายที่แนวทางอันซื่อสัตย์ของพระองค์นำมาสู่พวกเขา เรื่องนี้ทำให้พวกเขาเกิดมีความรักอันลึกซึ้งต่อพระองค์. พวกเราในปัจจุบันก็เป็นเช่นเดียวกับคนเหล่านั้นที่เปโตรกล่าวแก่พวกเขาว่า “ถึงแม้ท่านทั้งหลายไม่เคยเห็น [พระเยซู] เลย ท่านทั้งหลายรักพระองค์.” (19. จะมีการพิจารณาคำถามอะไรเกี่ยวกับความรักในบทความถัดไป?
19 พระเยซูตรัสว่าเราควรรักพระยะโฮวาด้วยสิ้นสุดหัวใจ, จิตวิญญาณ, จิตใจ, และกำลังของเรา. แต่พระองค์ยังตรัสด้วยว่าเราควรรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเราเอง. (มาระโก 12:29-31) นั่นหมายรวมถึงอะไร? และความรักต่อเพื่อนบ้านช่วยเราอย่างไรให้รักษาความสมดุลและแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง? จะมีการพิจารณาคำถามดังกล่าวในบทความถัดไป.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดความรักเป็นคุณลักษณะที่สำคัญยิ่ง?
• เราจะเรียนรู้ที่จะรักพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
• ความประพฤติของเราพิสูจน์อย่างไรว่าเรารักพระยะโฮวา?
• เราแสดงความรักของเราต่อพระเยซูโดยวิธีใด?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 10, 11]
ความรักช่วยเราให้คอยอย่างอดทนสำหรับการบรรเทาทุกข์
[ภาพหน้า 12]
เครื่องบูชาอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูกระตุ้นเราให้รักพระองค์