รับใช้สิ้นสุดจิตวิญญาณถึงแม้เผชิญความยากลำบาก
เรื่องราวชีวิตจริง
รับใช้สิ้นสุดจิตวิญญาณถึงแม้เผชิญความยากลำบาก
เล่าโดยโรดอล์ฟโฟ โลซาโน
ผมเกิดวันที่ 17 กันยายน 1917 ที่เมืองโกเมซ ปาลาซิโอ รัฐดูรังโก ประเทศเม็กซิโก. การปฏิวัติเม็กซิโกเป็นไปอย่างดุเดือด. แม้ว่าการปฏิวัติได้ยุติลงในปี 1920 แต่ความโกลาหลวุ่นวายในพื้นที่ที่เราอยู่ยังคงมีต่อเนื่องนานหลายปีหลังจากนั้น อันเป็นเหตุให้ชีวิตเดือดร้อนลำเค็ญมาก.
ครั้งหนึ่ง เมื่อแม่รู้ข่าวว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายกบฏกับกองทหาร แม่กักพวกเราไว้ในบ้านหลายวัน ซึ่งก็มีผมกับพี่ชายสามคน, พี่สาวและน้องสาว. เราไม่ค่อยจะมีอาหารกิน และจำได้ว่าผมกับน้องสาวซ่อนตัวเงียบอยู่ใต้เตียง. หลังจากนั้น แม่ก็ตัดสินใจพาพวกเราลูก ๆ ไปประเทศสหรัฐ และทีหลังพ่อตามไปสมทบกับพวกเรา.
พวกเราไปถึงแคลิฟอร์เนียในปี 1926 ไม่นานก่อนภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐตกต่ำครั้งร้ายแรง. พวกเราย้ายไปทั่วเพื่อจะได้งานทำ เช่น ไปที่ซานคัวกิน วัลเลย์, ซานตา คลารา, ซาลีนัส, และคิงซิตี. เราเรียนรู้การทำงานในทุ่งนาและการเก็บพืชผักผลไม้ทุกอย่าง. แม้ว่าผมต้องทำงานหนักในวัยหนุ่ม ทว่า มันเป็นช่วงที่สนุกเพลิดเพลินมากในชีวิตของผม.
พบความจริงของคัมภีร์ไบเบิล
เดือนมีนาคมปี 1928 คนหนึ่งจากกลุ่มนักศึกษาพระคัมภีร์ อันเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้นได้แวะเยี่ยมพวกเรา. เขาชื่อเอสเตบาน ริเวรา มีอายุแล้วและพูดภาษาสเปน. หนังสือชื่อ “คนตายอยู่ที่ไหน?” ซึ่งเขาให้เราไว้อ่านนั้นดึงดูดใจผมมาก รวมทั้งเนื้อหาในหนังสือนั้นด้วย. แม้ว่าผมเป็นเด็กหนุ่ม แต่ก็มุ่งมั่นจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและคบหากับกลุ่มนักศึกษาพระคัมภีร์. ต่อมา ทั้งแม่และอะโรราน้องสาวของผมได้มาเป็นผู้สรรเสริญพระยะโฮวาด้วยใจแรงกล้าเช่นกัน.
ในช่วงกลางทศวรรษปี 1930 มีการสร้างหอประชุมราชอาณาจักรในเมืองซานโฮเซสำหรับประชาคมที่ใช้ภาษาอังกฤษ. เนื่องจากมีชาวลาตินอเมริกันเป็นจำนวนมากรับจ้างทำงานที่ฟาร์มในเขตนั้น พวกเราจึงเริ่มออกไปเผยแพร่แก่พวกเขาและจัดให้มีการศึกษาหอสังเกตการณ์. เราทำเช่นนี้ด้วยความช่วยเหลือของบรรดาพยานพระยะโฮวาเชื้อสายลาตินอเมริกันจากซานฟรานซิสโก ซึ่งอยู่ไกลออกไปประมาณ 80 กิโลเมตร. ต่อมา มีราว ๆ 60 คนเข้าร่วมการประชุมภาษาสเปน ณ หอประชุมราชอาณาจักรแห่งนี้ในเมืองซานโฮเซ.
ในที่สุด เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1940 ผมแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาโดยการรับบัพติสมาในน้ำ ณ การประชุมใหญ่ในเมืองซานโฮเซ. ปีถัดมา ผมได้รับแต่งตั้งเป็นไพโอเนียร์ ผู้เผยแพร่เต็มเวลาของพยานพระยะโฮวา. ครั้นแล้ว ในเดือนเมษายน 1943 ผมได้รับเชิญให้ย้ายไปที่เมืองสตอกตัน ห่างออกไปประมาณ 130 กิโลเมตรเพื่อจัดตั้งประชาคมภาษาสเปน. ระหว่างนั้น ผมยังคงทำงานฐานะผู้ดูแลผู้เป็นประธานในประชาคมที่ใช้ภาษาอังกฤษในเมืองซานโฮเซ และดูแลพยานฯ ที่พูดภาษาสเปนในประชาคมนั้นด้วย. หลังจากมอบหมายคนอื่นให้ดูแลรับผิดชอบงานเหล่านี้แล้ว ผมก็ได้ย้ายไปสตอกตัน.
ความซื่อสัตย์มั่นคงถูกทดสอบ
เริ่มต้นในปี 1940 ผมถูกหมายเรียกหลายครั้งให้ไปรายงานตัวที่กองเกณฑ์ทหาร แต่ทุกครั้งพวกเขาให้ความนับถือจุดยืนของผมในฐานะผู้ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องด้วยมโนธรรม. ไม่นานหลังจากประเทศสหรัฐเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองในเดือนธันวาคม 1941 ความกดดันจากกองเกณฑ์ทหารยิ่งรุนแรงมากขึ้น. ในที่สุด ปี 1944 เขาส่งผมเข้าคุก. ระหว่างรอการตัดสิน เขาขังผมในห้องใต้ดินรวมกับพวกอาชญากร. เมื่อรู้ว่าผมเป็นพยานพระยะโฮวา หลายคนในกลุ่มนั้นถามผมว่าการที่พวกเขาเคยได้ประกอบอาชญากรรมนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อฐานะของเขาจำเพาะพระเจ้า.
เพื่อนพยานฯ ในเมืองซานโฮเซได้จ่ายค่าประกันตัวให้ผม เพื่อผมจะถูกปล่อยตัวระหว่างที่ยังไม่ตัดสินคดี. ทนายคนหนึ่งในลอสแอนเจลิสซึ่งเป็นทนายฝ่ายจำเลยในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิของพลเมือง ยอมว่าความให้ผมโดยไม่เรียกค่าป่วยการ. ผู้พิพากษาตัดสินปล่อยตัวผมโดยมีเงื่อนไขว่าผมต้องเลิกงานไพโอเนียร์, ประกอบอาชีพ, และรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางทุกเดือน. ผมไม่ยอมรับตามการตัดสินนั้น ผลคือผมถูกตัดสินลงโทษจำคุกสองปีในเรือนจำแมกนีล ไอแลนด์ รัฐวอชิงตัน. ที่นั่นผมใช้เวลาศึกษาพระคัมภีร์อย่างเอาจริงเอาจัง. นอกจากนั้น ผมฝึกเรียนพิมพ์ดีดด้วย. ไม่ถึงสองปี ผมก็ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระเพราะมีความประพฤติดี. ผมเตรียมการต่าง ๆ ทันทีเพื่อทำงานรับใช้ฐานะไพโอเนียร์ต่อไป.
กิจกรรมที่ขยายออกไป
ฤดูหนาวปี 1947 ผมได้รับมอบหมายให้ทำงานร่วมกับเพื่อนไพโอเนียร์คนหนึ่งในเขตโคโลราโดซิตี รัฐเทกซัสที่มีผู้คนพูดภาษาสเปน. แต่หน้าหนาวปีนั้นหนาวเหลือเกินจนเราต้องย้ายไปเมืองซานแอนโตนิโอซึ่งมีอากาศอุ่นกว่า. อย่างไรก็ตาม ที่นั่นฝนตกชุก งานประกาศของเราขณะไปตามบ้านเรือนจึงไม่สู้จะราบรื่นนัก. ในไม่ช้าเงินที่เรามีอยู่ก็ใช้หมดไป. เราประทังชีวิตอยู่หลายสัปดาห์ด้วยแซนด์วิชกะหล่ำปลีสดและดื่มน้ำชาที่ทำจากหญ้าแอลแฟลฟา. เพื่อนร่วมงานของผมกลับบ้าน แต่ผมอยู่ต่อ. เมื่อเพื่อนพยานฯ ที่พูดภาษาอังกฤษทราบถึงความจำเป็นของผมด้านวัตถุ พวกเขาก็เริ่มให้การสงเคราะห์ผม.
ฤดูใบไม้ผลิปีถัดมา ผมกลับไปเขตงานที่ได้รับมอบหมายที่โคโลราโดซิตีอีก และในที่สุดก็มีการจัดตั้งประชาคมเล็ก ๆ ที่ใช้ภาษาสเปน. ต่อจากนั้น ผมย้ายไปยังเมืองสวีตวอเตอร์ รัฐเทกซัส และก็ได้ช่วยจัดตั้งประชาคมภาษาสเปนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง. ระหว่างที่อยู่เมืองสวีตวอเตอร์ ผมได้รับจดหมายเชิญเข้าเรียนในโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด รุ่นที่ 15 เพื่อรับการฝึกอบรมเป็นมิชชันนารีซึ่งเปิดเรียนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1950. หลังจากรับประกาศนียบัตรในฤดูร้อนปีนั้น ณ การประชุมนานาชาติที่สนามกีฬาแยงกีในนครนิวยอร์ก ผมยังคงอยู่ต่ออีกสามเดือนที่สำนักงานกลางของพยานพระยะโฮวาในบรุกลิน. ที่นั่นผมได้รับการฝึกอบรมเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่มอบหมาย ณ สำนักงานสาขาประเทศเม็กซิโก.
งานในเม็กซิโก
ผมมาถึงเม็กซิโกซิตีวันที่ 20 ตุลาคม 1950. ประมาณสองสัปดาห์ต่อจากนั้น ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลสาขา ผมทำหน้าที่มอบหมายนี้นานสี่ปีครึ่ง. ปรากฏว่าประสบการณ์ที่ผมได้จากงานรับใช้ประเภทไพโอเนียร์, จากเรือนจำ, จากกิเลียด, และที่บรุกลินให้คุณประโยชน์มากจริง ๆ. ตอนมาถึงประเทศเม็กซิโก ผมเห็นในทันทีว่าจำต้องเสริมสร้างสภาพฝ่ายวิญญาณของพี่น้องชาวเม็กซิกันทั้งชายและหญิง. โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จำเป็นก็คือต้องช่วยพวกเขาให้ยึดอยู่กับมาตรฐานทางศีลธรรมอันสูงส่งแห่งพระคำของพระเจ้า.
ในประเทศแถบลาตินอเมริกา รวมทั้งเม็กซิโกต่างก็มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่าชายหญิงอยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส. นิกายต่าง ๆ ในคริสต์ศาสนจักร โดยเฉพาะคริสตจักรโรมันคาทอลิกได้ยอมให้ธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนี้ซึ่งไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์แพร่หลายอย่างกว้างขวาง. (เฮ็บราย 13:4) ด้วยเหตุนี้ บางคนเข้ามาเป็นสมาชิกประชาคมของพยานพระยะโฮวา โดยยังไม่ได้สมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย. มาบัดนี้ บุคคลดังกล่าวมีเวลานานหกเดือนเพื่อดำเนินการให้การสมรสของตนถูกต้องเรียบร้อย. มิฉะนั้นพวกเขาจะไม่เป็นที่ยอมรับฐานะเป็นพยานพระยะโฮวาอีกต่อไป.
สำหรับหลายคน การจัดวิถีชีวิตให้ถูกต้องเช่นนั้นทำได้ง่าย. พวกเขาเพียงแต่จดทะเบียนสมรสกันเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ที่ดำเนินอยู่นั้นเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย. ส่วนอีกหลายคนตกอยู่ในสภาพการณ์ที่ซับซ้อนกว่า. ตัวอย่างเช่น บางคนแต่งงานซ้อนสองครั้ง หรือกระทั่งสามครั้งด้วยซ้ำ โดยไม่เคยจัดการเรื่องการหย่าให้ถูกต้องตามกฎหมาย. ในที่สุดเมื่อสถานะการสมรสแห่งไพร่พลของพระยะโฮวาสอดคล้องกับคำสอนจากพระคำของพระเจ้า ประชาคมต่าง ๆ ก็ได้รับพระพรฝ่ายวิญญาณอันเยี่ยมยอดนานัปการ.—1 โกรินโธ 6:9-11.
สมัยนั้น การศึกษาทางโลกในประเทศเม็กซิโกโดยทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ. แม้ก่อนผมมาถึงเมื่อปี 1950 สำนักงานสาขาได้เริ่มจัดชั้นเรียนฝึกการอ่านการเขียนขึ้นแล้วในประชาคม. เมื่อผมมาถึง จึงได้จัดระเบียบชั้นเรียนเสียใหม่และดำเนินการจดทะเบียนชั้นเรียนเหล่านี้กับรัฐบาล. ตั้งแต่เริ่มเก็บรวบรวมบันทึกเมื่อปี 1946 มีมากกว่า 143,000 คนตามชั้นต่าง ๆ ที่พยานพระยะโฮวาสอนให้อ่านออกเขียนได้ในเม็กซิโก!
ประเทศเม็กซิโกมีกฎหมายที่เข้มงวดมากด้านศาสนา. อย่างไรก็ตาม ในปีหลัง ๆ นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ หลายอย่างในด้านนี้. ปี 1992 มีกฎหมายใหม่ออกมาเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนา ดังนั้น ในปี 1993 พยานพระยะโฮวาในเม็กซิโกจึงได้จดทะเบียนเป็นองค์การทางศาสนา.
สำหรับผมแล้ว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นที่มาของความชื่นชมยินดีเหลือล้น แต่ก่อนผมเคยคิดว่าเรื่องนี้ไม่มี
ทางเป็นไปได้. ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เยี่ยมที่ทำการของรัฐหลายครั้งและพบเห็นท่าทีที่ค่อนข้างไม่ไว้ใจเรา. อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นการดีอย่างยิ่งเมื่อมองเห็นว่าเรื่องเหล่านี้ได้รับการจัดการดูแลอย่างไรโดยแผนกกฎหมายของสำนักงานสาขาของเรา ดังนั้น งานเผยแพร่ของเราในปัจจุบันจึงไม่ค่อยถูกรบกวนมากนัก.ร่วมรับใช้กับคู่ชีวิตที่เป็นมิชชันนารี
เมื่อผมมาถึงประเทศเม็กซิโก มีหลายคนที่จบหลักสูตรของกิเลียดรุ่นก่อน ๆ มาอยู่ในประเทศนี้แล้ว. หนึ่งในจำนวนนี้คือเอสเทอร์ วาร์แทเนียน เธอเป็นพยานฯ ชาวอาร์เมเนียน เริ่มงานไพโอเนียร์ในปี 1942 ที่เมืองวาเยโค รัฐแคลิฟอร์เนีย. เราแต่งงานกันวันที่ 30 กรกฎาคม 1955 และหลังจากนั้น เรายังคงอยู่ในเขตมอบหมายที่เม็กซิโก. เอสเทอร์ทำงานฐานะมิชชันนารีในเม็กซิโกซิตี และเราพักอาศัยที่สำนักงานสาขาซึ่งผมยังคงรับใช้อยู่ที่นั่น.
ในปี 1947 เอสเทอร์ได้ไปถึงเมืองมอนเตร์เรย์ นวยโบ เลออง ประเทศเม็กซิโก เขตงานมิชชันนารีแห่งแรกที่เธอได้รับมอบหมาย. ในเมืองมอนเตร์เรย์มีพยานฯ 40 คน มีประชาคมเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ตอนที่เธอย้ายมาเม็กซิโกซิตีในปี 1950 มีสี่ประชาคม. ณ สำนักงานสาขาของเราใกล้เม็กซิโกซิตี เวลานี้มีชายหนุ่มสองคนทำงานที่นั่น ซึ่งเป็นลูกหลานของครอบครัวที่เอสเทอร์เคยนำการศึกษาพระคัมภีร์สมัยที่เธอรับใช้ในเมืองมอนเตร์เรย์.
ย้อนไปในปี 1950 เขตงานประกาศของพวกมิชชันนารีในเม็กซิโกซิตีครอบคลุมเกือบทั้งเมือง. มิชชันนารีเดินซอกแซกไปทั่วเขตที่ได้รับมอบหมาย หรือไม่ก็นั่งเบียดเสียดกับผู้คนบนรถประจำทางเก่าบุโรทั่ง. เมื่อผมมาถึงตอนปลายปี 1950 มีเจ็ดประชาคม. เดี๋ยวนี้จำนวนประชาคมเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ประชาคมโดยประมาณ พร้อมด้วยผู้ประกาศราชอาณาจักร 90,000 กว่าคนในเม็กซิโกซิตี และเมื่อปีที่แล้วมี 250,000 กว่าคนเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ระลึกการวายพระชนม์ของพระคริสต์ในเมืองนั้น! ตลอดเวลาหลายปี ผมกับเอสเทอร์มีสิทธิพิเศษได้รับใช้ในประชาคมต่าง ๆ เหล่านี้หลายประชาคม.
เมื่อผมกับเอสเทอร์เริ่มการศึกษาพระคัมภีร์ เราพยายามเสมอที่จะกระตุ้นความสนใจของผู้เป็นบิดา เพื่อว่าทั้งครอบครัวจะได้มีส่วนร่วมด้วย. ดังนั้น เราจึงเห็นครอบครัวใหญ่หลายครอบครัวเข้ามารับใช้พระยะโฮวา. ผมเชื่อว่ามูลเหตุแห่งความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของการนมัสการแท้ในประเทศเม็กซิโกนั้นเป็นเพราะบ่อยครั้งสมาชิกครอบครัวสมทบกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการนมัสการแท้.
พระยะโฮวาทรงอวยพรให้กิจการเจริญขึ้น
ตั้งแต่ปี 1950 งานในเม็กซิโกได้เจริญก้าวหน้ามากเป็นที่น่าสังเกต ทั้งด้านการทวีจำนวนและการเปลี่ยนแปลงภายในองค์การ. นับเป็นความปลื้มปีติอย่างแท้จริงที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มทวีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อได้ทำงานร่วมกับผู้คนที่โอบอ้อมอารีและมีความสุข.
หลายปีมาแล้ว คาร์ล ไคลน์ ซึ่งรับใช้ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวา พร้อมด้วยมาร์กาเรตภรรยาได้เยี่ยมเราขณะที่มาพักร้อน. บราเดอร์ไคลน์ต้องการสัมผัสความกระตือรือร้นมีชีวิตชีวาของพี่น้องในเขตงานเม็กซิโก ดังนั้นเขากับมาร์กาเรตจึงได้ไปที่ประชาคมซาน ฮวน เตซอนตลา ใกล้นครเม็กซิโกซิตี ซึ่งเราร่วมสมทบในตอนนั้น. หอประชุมของเราเป็นหอประชุมเล็ก ๆ กว้างแค่ 4.5 เมตรและยาว 5.5 เมตร. เมื่อไปถึงก็ปรากฏว่ามีประมาณ 70 คนอยู่ที่นั่นแล้ว และแทบไม่มีที่ว่างให้ยืนด้วยซ้ำ. ผู้สูงอายุนั่งบนเก้าอี้ พวกหนุ่มสาวนั่งบนม้ายาว และเด็กเล็ก ๆ นั่งบนกองอิฐหรือไม่ก็นั่งที่พื้น.
บราเดอร์ไคลน์รู้สึกประทับใจมาก เพราะว่าเด็กทุกคนมีคัมภีร์ไบเบิลอยู่พร้อม และพลิกอ่านข้อคัมภีร์ตามผู้บรรยาย. หลังจากจบการบรรยายสาธารณะแล้ว บราเดอร์ไคลน์ได้พูดถึงมัดธาย 13:19-23 และบอกว่า “ดินดี” อย่างที่พระเยซูตรัสถึงนั้นมีมากในประเทศเม็กซิโก. เวลานี้ มีเจ็ดคนจากจำนวนเด็ก ๆ ที่นั่งประชุมวันนั้นกำลังทำงานในโครงการใหญ่เพื่อขยายอาคารต่าง ๆ ของสำนักงานสาขาของเราใกล้ ๆ นครเม็กซิโกซิตี. อีกคนหนึ่งทำงานในเบเธล และบางคนเป็นไพโอเนียร์!
เมื่อผมมาถึงเม็กซิโกซิตี สมาชิกสาขาของเรามีเพียง 11 คน. เดี๋ยวนี้ ประมาณ 1,350 คนทำงานที่นั่น ในจำนวนดังกล่าวมีราว ๆ 250 คนกำลังก่อสร้างอาคารสำนักงานสาขาหลังใหม่. เมื่องานทั้งหมดนี้เสร็จสมบูรณ์ อาจจะภายในปี 2002 เราสามารถรองรับผู้คนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,200 คนในอาคารต่าง ๆ ที่ได้ขยับขยายเพิ่มขึ้น. คิดดูสิ ในปี 1950 ทั่วทั้งประเทศเรามีผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักรไม่ถึง 7,000 คน แต่ในปัจจุบันเรามีมากกว่า 500,000 คนทีเดียว! หัวใจผมจึงเปี่ยมล้นด้วยความยินดีเมื่อเห็นวิธีที่พระยะโฮวาทรงอวยพรความบากบั่นของพี่น้องชาวเม็กซิกันผู้ถ่อมใจที่ขยันทำงานเพื่อสรรเสริญพระองค์.
เผชิญข้อท้าทายที่ใหญ่หลวง
ข้อท้าทายที่ใหญ่หลวงประการหนึ่งสำหรับผมตอนหลัง ๆ นี้คือความเจ็บป่วย. ปกติแล้วผมมีสุขภาพแข็งแรง. แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1988 ผมเกิดอาการโรคเส้นเลือดสมองซึ่งส่งผลกระทบมากต่อสมรรถนะทางกายของผม. ขอบพระคุณพระยะโฮวา โดยการออกกำลังกายและการรักษาวิธีอื่น ๆ ผมค่อยทุเลาขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ร่างกายบางส่วนยังไม่ตอบสนองเท่าที่ผมต้องการ. ผมรับการเยียวยาและการดูแลของแพทย์มิได้ขาดเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดศีรษะรุนแรงและผลสืบเนื่องอื่น ๆ ซึ่งยังไม่หายขาด.
แม้เวลานี้ผมไม่สามารถทำได้มากอย่างที่ใจปรารถนา แต่ก็อิ่มใจเพราะรู้อยู่ว่าผมเคยได้ช่วยหลายคนเรียนรู้พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาและพวกเขากลายมาเป็นผู้รับใช้ที่ได้อุทิศตัวแด่พระองค์. นอกจากนั้น ผมรู้สึกเพลิดเพลินที่มีโอกาสคุยกับพี่น้องคริสเตียนชายหญิงมากเท่าที่จะทำได้เมื่อเขาแวะเยี่ยมสำนักงานสาขา ผมรู้สึกว่าเราต่างก็หนุนกำลังใจซึ่งกันและกัน.
การรู้ว่าพระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่างานรับใช้ที่เราได้ทำเพื่อพระองค์ และสิ่งที่เราได้กระทำนั้นไม่ไร้ประโยชน์นี่เองทำให้ผมมีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นมากทีเดียว. (1 โกรินโธ 15:58) ทั้ง ๆ ที่ผมมีข้อจำกัดและเจ็บป่วย ผมจำถ้อยคำในโกโลซาย 3:23, 24 (ล.ม.) ใส่ใจเสมอที่ว่า “สิ่งใด ๆ ก็ดีที่ท่านทั้งหลายทำ จงทำด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณเหมือนหนึ่งทำแด่พระยะโฮวาและไม่ใช่แก่มนุษย์ ด้วยท่านทั้งหลายรู้แล้วว่า ท่านจะได้รับบำเหน็จอันควรเป็นมรดกจากพระยะโฮวา.” ด้วยการปฏิบัติตามคำตักเตือนนี้อยู่เสมอ ผมได้เรียนรู้ที่จะรับใช้พระยะโฮวาสิ้นสุดจิตวิญญาณถึงแม้เผชิญความยากลำบาก.
[ภาพหน้า 24]
ปี 1942 เมื่อผมเป็นไพโอเนียร์
[ภาพหน้า 24]
ภรรยาของผมเริ่มงานมิชชันนารีในประเทศเม็กซิโก ปี 1947
[ภาพหน้า 24]
กับเอสเทอร์ในปัจจุบัน
[ภาพหน้า 26]
ภาพบนซ้าย: ครอบครัวเบเธลของเราที่เม็กซิโกในปี 1952 ผมอยู่ข้างหน้า
ภาพบน: การประชุมภาคปี 1999 ที่สนามกีฬาเม็กซิโกซิตี มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 109,000 คน
ล่างซ้าย: อาคารสาขาใหม่ของเรา เวลานี้จวนจะแล้วเสร็จ