“ผลงานชิ้นเอกของการสร้างภาพยนตร์”
ยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่น
“ผลงานชิ้นเอกของการสร้างภาพยนตร์”
ตั้งแต่ยุคแรก ๆ แห่งประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบันของพยานพระยะโฮวา พวกเขาสนใจอย่างแรงกล้าในคำพยากรณ์ข้อหนึ่งของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) ขณะที่ปี 1914—จุดเริ่มต้นของ “สมัยสุดท้าย”—ใกล้เข้ามา พวกนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่จริงใจได้ดำเนินการด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่น รณรงค์ให้การศึกษาที่อาศัยพระคัมภีร์บริสุทธิ์ไปตลอดทั่วโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน.—2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.
เพื่อบรรลุเป้าหมายของพวกเขาในการประกาศข่าวดีไปทั่วแผ่นดินโลก ผู้รับใช้เหล่านี้ของพระยะโฮวาได้ใช้วิธีการที่ใหม่, สะดุดตา, และกระจ่างชัด. เพื่อทราบมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอให้เราย้อนเวลากลับไปยังช่วงนั้น.
วิธีใหม่ที่จะประกาศข่าวดี
ตอนนั้นเป็นเดือนมกราคมของปี 1914. ขอให้นึกภาพตัวคุณนั่งอยู่ท่ามกลางคนอื่น 5,000 คนในห้องประชุมที่มืดในนครนิวยอร์ก. มีจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่อยู่ข้างหน้าคุณ. ชายผมขาวคนหนึ่งในชุดเสื้อคลุมยาวปรากฏตัวบนจอ. คุณเคยชมภาพยนตร์ที่ไม่มีเสียง แต่ชายคนนั้นพูด และคุณสามารถได้ยินคำพูดของเขา. คุณอยู่ ณ การแสดงรอบปฐมทัศน์เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ทางเทคโนโลยี และเนื้อหาของเรื่องนั้นไม่มีใดเหมือน. ผู้พูดคือชาลส์ เทซ รัสเซลล์ นายกคนแรกของสมาคมว็อชเทาเวอร์ และสิ่งที่นำเสนอนั้นคือ “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง.”
ซี. ที. รัสเซลล์ได้ตระหนักถึงศักยภาพของภาพยนตร์ที่จะเข้าถึงประชาชนจำนวนมากได้. เพราะฉะนั้น ในปี 1912 ท่านเริ่มเตรียมงานสำหรับ “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง.” ในที่สุด ภาพสไลด์และภาพเคลื่อนไหวซึ่งยาวแปดชั่วโมง ก็สร้างเสร็จพร้อมด้วยสีและเสียง.
“ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อฉายเป็นสี่ตอน พาผู้ชมสู่เหตุการณ์ตั้งแต่การทรงสร้างเรื่อยมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์จนถึงจุดสุดยอดแห่งพระประสงค์ของพระยะโฮวาพระเจ้าสำหรับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติในตอนจบของรัชสมัยพันปีของพระคริสต์. เวลาคงจะผ่านไปหลายปีก่อนที่การใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวกันนี้จะประสบผลสำเร็จทางการค้า. ถึงกระนั้น หลายล้านคนได้ชม “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” โดยไม่ต้องเสียค่า.
มีการเตรียมการบันทึกเสียงดนตรีที่ดีเยี่ยมอีกทั้งแผ่นเสียงอัดคำบรรยาย 96 แผ่นไว้ด้วยสำหรับ “ภาพยนตร์” นี้. ภาพสไลด์ที่ฉายด้วยเทคนิคพิเศษนั้นประกอบด้วยภาพเขียนต่าง ๆ ที่มีชื่อในสมัยนั้น แสดงให้เห็นประวัติความเป็นมาของโลก. จำเป็นต้องทำภาพวาดและภาพร่างใหม่หลายร้อยแผ่นด้วย. ภาพสไลด์และฟิล์มที่เป็นสีบางภาพนั้นได้รับการระบายสีด้วยมือด้วยความอุตสาหะ. และมีการทำเช่นนี้หลายครั้งหลายหน เพื่อว่าในที่สุดภาพยนตร์ที่มีสี่ตอนจำนวน 20 ชุดได้รับการเตรียมไว้พร้อม. นี่ทำให้เป็นไปได้ที่
จะฉายตอนหนึ่งของ “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” ในเมืองต่าง ๆ 80 เมืองในวันหนึ่ง ๆ!สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง
เกิดอะไรขึ้นเบื้องหลังระหว่างที่ฉาย “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง”? แอลิส ฮอฟฟ์มัน นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ภาพยนตร์เริ่มด้วยการฉายภาพบราเดอร์รัสเซลล์. ขณะที่ท่านจะปรากฏบนจอและริมฝีปากท่านเริ่มขยับ เครื่องเล่นแผ่นเสียงก็จะเริ่มเล่น . . . และเราจะได้รับความเพลิดเพลินจากการฟังเสียงของท่าน.”
เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพแบบย่นเวลา โซลา ฮอฟฟ์มัน เล่าทวนความหลังว่า “ดิฉันนั่งอยู่ที่นั่นเบิกตามองด้วยความพิศวงขณะที่เราเฝ้าดูการพรรณนาภาพวันต่าง ๆ แห่งการทรงสร้าง. มีหมู่ดอกลิลลีที่ค่อย ๆ คลี่กลีบดอกออกต่อหน้าต่อตาเราจริง ๆ.”
คาร์ล เอฟ. ไคลน์ ผู้ชื่นชอบดนตรีซึ่งเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวากล่าวเสริมว่า “ขณะที่มีการฉายภาพยนตร์นี้ เวลาเดียวกันก็มีดนตรีที่ไพเราะมากคลอตามไปด้วย เช่น ผลงานประพันธ์เพชรน้ำหนึ่งอย่างนาร์ซิสซัสและฮูโมเรสเก.”
ยังมีเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ยากจะลืมเลือนด้วย. เคลย์ตัน เจ. วูดเวิร์ท จูเนียร์ เล่าความหลังว่า “บางครั้งเกิดเรื่องน่าขันขึ้น. ในคราวหนึ่งแผ่นเสียงเล่นเพลง ‘จงหนีไปยังภูเขาของพระองค์ดุจดังนก’ แต่ภาพที่ปรากฏบนจอกลับเป็นไดโนเสาร์ตัวมหึมา สัตว์ขนาดใหญ่โตที่มีอยู่ก่อนน้ำท่วมโลก”!
นอกจาก “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” ที่ฉายประจำแล้ว ในไม่ช้าก็มีชุด “ยูรีคา ดรามา” ออกมา. (โปรดดูในกรอบ.) ชุดนี้ประกอบด้วยคำบรรยายที่บันทึกเสียงไว้ และมีการอัดเสียงดนตรีลงไปด้วย. อีกชุดหนึ่งประกอบด้วยทั้งแผ่นเสียงและภาพสไลด์. ถึงแม้ชุด “ยูรีคา ดรามา” ไม่มีภาพเคลื่อนไหวก็ตาม แต่ก็ประสบผลสำเร็จมากเมื่อมีการจัดแสดงในบริเวณที่ผู้คนอยู่หนาแน่นน้อยกว่า.
เครื่องมือให้คำพยานที่ทรงพลัง
พอถึงสิ้นปี 1914 มีการฉาย “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” แก่ผู้ชมรวมทั้งหมดมากกว่า 9,000,000 คนในอเมริกาเหนือ, ยุโรป, และออสเตรเลีย. ถึงแม้มีจำนวนน้อยก็ตาม พวกนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลไม่ขาดความเชื่อมั่นอันหนักแน่นซึ่งจำเป็นต้องมีเพื่อจะประกาศข่าวดีด้วยเครื่องมือใหม่นี้. พวกเขายินดีบริจาคเงินทุนที่จำเป็นเพื่อเช่าสถานที่ที่เหมาะสำหรับฉายภาพยนตร์ชุดนี้. ดังนั้น “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” นั่นเองได้ทำงานที่ใหญ่โตในการช่วยผู้ชมให้คุ้นเคยกับพระคำและพระประสงค์ของพระเจ้า.
ในจดหมายถึง ซี. ที. รัสเซลล์ คนหนึ่งได้เขียนว่า “การไปชมภาพยนตร์ของคุณครั้งแรกเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของผม; หรือผมน่าจะพูดว่า เป็นจุดเปลี่ยนในด้านความรู้ของผมเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล.” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ความเชื่อทางศาสนาของดิฉันแทบจะอับปางอยู่แล้ว และดิฉันรู้สึกว่าได้รับการกู้ขึ้นมาโดย ‘ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง’ ซึ่งมีการฉายที่นี่เมื่อฤดูร้อนที่แล้ว. . . . ตอนนี้ดิฉันมีความสงบสุขซึ่งโลกนี้ไม่สามารถให้ได้ และซึ่งดิฉันจะไม่แลกกับทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นของโลก.”
เดมีเตรียส พาพาจอร์จ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ของสมาคมฯ เป็นเวลานาน ได้ออกความเห็นว่า “ ‘ภาพยนตร์’ เรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของการสร้างภาพยนตร์ เมื่อเราคำนึงถึงจำนวนเล็กน้อยของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและเงินทุนที่หาได้ก็น้อยตามไปด้วย. พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่เบื้องหลังผลงานชิ้นนี้อย่างแท้จริง!”
[กรอบ/ภาพหน้า 8, 9]
“ยูรีคา ดรามา”
แปดเดือนหลังจากการฉาย “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” รอบปฐมทัศน์ สมาคมฯ เห็นความจำเป็นที่จะจัดเตรียมเรื่องนี้ในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ยูรีคา ดรามา.” ขณะที่มีการฉาย “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” ครบชุดต่อไปในเมืองใหญ่ ๆ ชุด “ยูรีคา” ได้เสนอข่าวสารพื้นฐานอย่างเดียวกันในหมู่บ้านต่าง ๆ และตามเขตชนบท. มีการพรรณนา “ยูรีคา ดรามา” ชุดหนึ่งว่า ทำให้ “พวกพี่น้องฝ่ายหญิงมีโอกาสเป็นพิเศษ” ที่จะเผยแพร่. ทำไมเป็นเช่นนั้น? เพราะหีบใส่เครื่องเล่นแผ่นเสียงหนักเพียง 14 กิโลกรัมเท่านั้น. แน่นอน เพื่อจัดแสดงจำเป็นต้องหิ้วเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปด้วย.