คุณสามารถรับมือกับความท้อแท้ได้!
คุณสามารถรับมือกับความท้อแท้ได้!
บุรุษผู้ชาญฉลาดคนหนึ่งเขียนไว้ว่า “เจ้าแสดงตัวท้อแท้ในวันที่มีความทุกข์ยากหรือ? กำลังของเจ้าจะมีน้อย.” (สุภาษิต 24:10, ล.ม.) ถ้าคุณเคยท้อแท้ คุณคงจะเห็นด้วยกับข้อความนี้.
ไม่มีใครที่ไม่เคยท้อแท้. อาการท้อแท้แบบไม่รุนแรงอาจมีอยู่หนึ่งหรือสองวันแล้วก็หายไป. แต่ถ้ามีความรู้สึกเจ็บปวดหรือความขุ่นเคืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ปัญหานั้นก็อาจคงอยู่นานกว่านั้นมาก. คริสเตียนบางคนที่ซื่อสัตย์มานานหลายปีได้หมดกำลังใจจนถึงขั้นที่เขาไม่เข้าร่วมการประชุมประชาคมและไม่เข้าส่วนในการเผยแพร่ตามบ้านอีกต่อไป.
ถ้าคุณรู้สึกท้อแท้ ก็อย่าหมดกำลังใจ! ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในอดีตเคยประสบผลสำเร็จในการรับมือกับความท้อแท้มาแล้ว และด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า คุณก็ทำได้เช่นเดียวกัน.
เมื่อคนอื่นทำร้ายความรู้สึกของคุณ
คุณไม่อาจหวังได้ว่าจะรอดพ้นจากคำพูดที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกหรือการกระทำที่ไม่ยั้งคิดของคนอื่นโดยสิ้นเชิง. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณทำได้คือไม่ยอมให้ความไม่สมบูรณ์ของคนอื่นมาขัดขวางงานรับใช้ของคุณต่อพระยะโฮวา. ถ้ามีใครบางคนทำร้ายความรู้สึกของคุณ อาจเป็นประโยชน์ที่คุณจะพิจารณาวิธีที่นางฮันนา มารดาของซามูเอล รับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้หมดกำลังใจ.
ฮันนาอยากมีบุตรมาก แต่นางเป็นหมัน. พะนีนา ภรรยาคนที่สองของสามี มีบุตรชายหญิงหลายคน. แทนที่จะเห็นอกเห็นใจนางฮันนาเนื่องจากความทุกข์ของนาง พะนีนากลับมองว่านางเป็นคู่แข่งและแสดงกิริยาต่อนางฮันนาจนทำให้นาง “ร้องไห้ไม่รับประทานอาหาร.”—1 ซามูเอล 1:2, 4-7.
วันหนึ่ง นางฮันนาไปที่พลับพลาเพื่ออธิษฐาน. เอลี มหาปุโรหิตของชาติยิศราเอล เห็นนางทำปากขมุบขมิบ. เนื่องจากไม่ตระหนักว่านางฮันนากำลังอธิษฐาน เอลีจึงคิดว่านางเมาสุรา. เอลีถามว่า “จะเมาไปนานสักเท่าไร, จงทิ้งน้ำองุ่นเสียเถิด.” (1 ซามูเอล 1:12-14) คุณพอนึกภาพได้ไหมว่าฮันนาคงรู้สึกอย่างไร? นางมาที่พลับพลาเพื่อจะได้รับการหนุนกำลังใจ. นางคงไม่ได้คาดหมายว่าจะถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ จากบุรุษผู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในชาติยิศราเอล!
ในสถานการณ์แบบนี้คงง่ายที่นางฮันนาจะท้อใจมาก. นางอาจจะออกไปจากพลับพลาทันทีและสาบานว่าจะไม่กลับไปอีกตราบใดที่เอลียังเป็นมหาปุโรหิตอยู่ที่นั่น. อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่านางฮันนาหยั่งรู้ค่าสัมพันธภาพของนางกับพระยะโฮวา. นางรู้ว่าพระองค์จะไม่พอพระทัยถ้านางทำอย่างนั้น. พลับพลาเป็นศูนย์กลางการนมัสการแท้ในตอนนั้น. พระยะโฮวาทรงตั้งพระนามของพระองค์ไว้ที่นั่น. และแม้ว่าเอลีจะเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ แต่ท่านก็เป็นตัวแทนที่พระยะโฮวาทรงเลือกไว้.
วิธีที่ฮันนาตอบคำกล่าวหาของเอลีด้วยความนับถือเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับเราในปัจจุบัน. นางไม่ปล่อยให้ตัวนางถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ แต่นางตอบในแบบที่แสดงความนับถืออย่างยิ่ง. นางตอบว่า “มิใช่เจ้าข้า, ข้าพเจ้าเป็นหญิงใจทุกข์โศก, น้ำองุ่นหรือของเมาหาได้รับประทานไม่, เป็นแต่ได้อ้อนวอนร้องทุกข์เฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาเท่านั้น. อย่าได้ถือว่าข้าพเจ้าเป็นหญิงที่มีผิด, ด้วยข้าพเจ้าเป็นทุกข์ร้อนใจมาก, จึงทูลไปจนบัดนี้.”—1 ซามูเอล 1:15, 16.
ฮันนาทำให้เอลีเข้าใจไหม? แน่นอน. กระนั้น นางพูดกับเอลีอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาโดยไม่บังอาจตำหนิท่านเพราะ1 ซามูเอล 1:17, 18.
ท่านกล่าวหาอย่างผิด ๆ. ส่วนเอลีก็ตอบนางด้วยความกรุณา โดยกล่าวว่า “จงไปเป็นสุข, ขอให้พระเจ้าของพวกยิศราเอลทรงโปรดประทาน, ตามที่เจ้าได้อธิษฐานต่อพระองค์นั้น.” เมื่อเรื่องลงเอยแล้ว ฮันนาก็ “ลาไปรับประทานอาหาร, โดยหน้าชื่นบานมิได้เศร้าโศกต่อไปอีก.”—เราเรียนอะไรได้จากเรื่องราวนี้? ฮันนาไม่รอช้าในการแก้ไขความเข้าใจผิด แต่นางทำด้วยความนับถืออย่างสุดซึ้ง. ผลก็คือ นางรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาและกับเอลีไว้. บ่อยครั้งเพียงไรที่การสื่อความที่ดีและการผ่อนหนักผ่อนเบาสักเล็กน้อยอาจป้องกันไม่ให้ปัญหาเล็ก ๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่!
จำต้องยอมรับว่า ในการจัดการกับความขัดแย้งนั้น ทั้งสองฝ่ายต้องมีความถ่อมและความยืดหยุ่น. ถ้าเพื่อนร่วมความเชื่อไม่ได้ตอบรับความพยายามของคุณที่จะแก้ไขความขัดแย้ง คุณอาจต้องฝากเรื่องนั้นไว้ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา และไว้ใจว่าพระองค์จะจัดการเรื่องนั้นในเวลากำหนดและตามวิธีของพระองค์เอง.
คุณสูญเสียสิทธิพิเศษแห่งการรับใช้ไหม?
บางคนซึมเศร้าเนื่องจากจำต้องสละสิทธิพิเศษบางอย่างแห่งการรับใช้พระเจ้าที่เขาถือว่ามีค่าสูง. เขามีความสุขในการรับใช้พี่น้องของตน และเมื่อสูญเสียสิทธิพิเศษนั้นไป เขาก็รู้สึกว่าตนไม่มีประโยชน์ต่อพระยะโฮวาหรือองค์การของพระองค์อีกต่อไป. ถ้าคุณรู้สึกอย่างนั้น คุณอาจได้ความหยั่งเห็นเข้าใจโดยการพิจารณาตัวอย่างของผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลชื่อมาระโก ผู้มีชื่ออีกว่าโยฮันมาระโก.—กิจการ 12:12.
มาระโกร่วมกับเปาโลและบาระนาบาในการเดินทางเผยแพร่ยังต่างแดนรอบแรก แต่ระหว่างการเดินทางนั้น เขาทิ้งคนอื่น ๆ และกลับไปยังกรุงยะรูซาเลม. (กิจการ 13:13) ต่อมา บาระนาบาต้องการจะพามาระโกไปด้วยในการเดินทางรอบใหม่. อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เปาโลไม่เห็นควรที่จะพาโยฮันไปด้วย, เพราะครั้งก่อนโยฮันได้ทิ้งท่านเสียที่มณฑลปัมฟูเลีย, และมิได้ไปทำการด้วยกัน.” บาระนาบาไม่เห็นด้วยกับเปาโล. บันทึกกล่าวต่อไปว่า “แล้วได้เกิดการเถียงกันมากจน [เปาโลกับบาระนาบา] ต้องแยกกัน บาระนาบาจึงพามาระโกลงเรือไปยังเกาะกุบโร, แต่เปาโลได้เลือกซีลา.”—กิจการ 15:36-40.
มาระโกคงรู้สึกเศร้าใจมากที่รู้ว่าอัครสาวกเปาโลซึ่งเป็นที่นับถือไม่ต้องการจะทำงานร่วมกับท่านและที่ว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของท่านทำให้เปาโลและบาระนาบาแตกแยกกัน. แต่เรื่องยังไม่จบแค่นี้.
เปาโลกับซีลายังต้องการเพื่อนร่วมเดินทาง. เมื่อทั้งสองมาถึงเมืองลุศตรา ก็ได้พบกับคนที่จะมาแทนมาระโก นั่นคือชายหนุ่มที่ชื่อติโมเธียว. แต่ติโมเธียวอาจเพิ่งรับบัพติสมาเป็นเวลาสองหรือสามปีเท่านั้นในตอนที่ท่านถูกเลือก. ส่วนมาระโกสมทบกับประชาคมคริสเตียนตั้งแต่เริ่มแรก—อันที่จริงนานกว่าเปาโลเองเสียด้วยซ้ำ. กระนั้น ติโมเธียวก็เป็นผู้ได้รับงานมอบหมายที่เป็นสิทธิพิเศษนี้.—กิจการ 16:1-3.
มาระโกแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อท่านทราบว่าท่านถูกแทนที่ด้วยชายที่อ่อนวัยกว่าและมีประสบการณ์น้อยกว่า? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอก. อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่ามาระโกยังคงกระตือรือร้นต่อไปในงานรับใช้พระยะโฮวา. ท่านทำงานในสิทธิพิเศษที่ท่านยังมีอยู่. แม้ว่าไม่สามารถรับใช้ร่วมกับเปาโลและซีลา แต่ท่านก็สามารถเดินทางกับบาระนาบาไปยังเกาะกุบโร ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบาระนาบา. มาระโกยังได้รับใช้ร่วมกับเปโตรในบาบูโลนด้วย. ในที่สุด ท่านก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับเปาโล—รวมทั้งติโมเธียว—ในกรุงโรม. (โกโลซาย 1:1; 4:10; 1 เปโตร 5:13) ต่อมา มาระโกถึงกับได้รับการดลใจให้บันทึกพระธรรมกิตติคุณหนึ่งในสี่เล่มด้วย!
มีบทเรียนอันทรงคุณค่าในเรื่องราวทั้งหมดนี้. มาระโกไม่ได้เป็นห่วงเกี่ยวกับสิทธิพิเศษที่สูญเสียไปจนถึงกับไม่หยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษที่ท่านยังมีอยู่. มาระโกหมกมุ่นในงานรับใช้พระยะโฮวา และพระยะโฮวาก็ทรงอวยพรท่าน.
ดังนั้น ถ้าคุณสูญเสียสิทธิพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งไป ก็อย่าหมดกำลังใจ. ถ้าคุณรักษาเจตคติในแง่บวกและขยันหมั่นเพียรอยู่เสมอ คุณอาจได้รับสิทธิพิเศษอื่น ๆ ก็ได้. มีมากมายหลายสิ่งที่จะทำในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า.—1 โกรินโธ 15:58.
ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์หมดกำลังใจ
นับว่าไม่ง่ายที่จะต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อ. บางครั้ง คุณอาจหมดกำลังใจ. แล้วคุณก็อาจรู้สึกผิดด้วยซ้ำที่หมดกำลังใจ โดยคิดว่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าไม่ควรรู้สึกอย่างนั้น. ลองคิดถึงเอลียา ผู้พยากรณ์ที่โดดเด่นคนหนึ่งของยิศราเอล.
เมื่อราชินีอีซาเบ็ลแห่งยิศราเอล ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมการนมัสการบาละอย่างบ้าคลั่ง รู้ว่าบรรดาผู้พยากรณ์ของพระบาละถูกเอลียาฆ่า นางก็สาบานว่าจะฆ่าท่าน. เอลียาเคยเผชิญกับศัตรูที่ยิ่งใหญ่กว่านางอีซาเบ็ลมาแล้ว แต่จู่ ๆ ท่านก็เริ่มหมดกำลังใจจนถึงกับต้องการจะตาย. (1 กษัตริย์ 19:1-4) เป็นไปได้อย่างไร? ท่านลืมอะไรบางอย่าง.
เอลียาลืมที่จะหมายพึ่งพระยะโฮวาในฐานะเป็นแหล่งแห่งความเข้มแข็งของท่าน. ใครล่ะที่ให้อำนาจแก่เอลียาที่จะปลุกคนตายและเผชิญหน้ากับผู้พยากรณ์ของพระบาละ? พระยะโฮวานั่นเอง. แน่นอน พระยะโฮวาสามารถประทานความเข้มแข็งแก่ท่านเพื่อเผชิญกับความกริ้วโกรธของราชินีอีซาเบ็ล.—1 กษัตริย์ 17:17-24; 18:21-40; 2 โกรินโธ 4:7.
ไม่ว่าใครก็อาจวางใจในพระยะโฮวาน้อยลงได้ชั่วระยะหนึ่ง. เช่นเดียวกับเอลียา บางครั้งคุณอาจมองปัญหาบางอย่างตามความคิดของมนุษย์แทนที่จะใช้ “สติปัญญาที่มาจากเบื้องบน” ในการรับมือกับปัญหานั้น. (ยาโกโบ 3:17) อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาไม่ทรงทอดทิ้งเอลียาเนื่องจากการพลาดพลั้งเพียงชั่วคราวครั้งนี้.
เอลียาหนีไปเมืองบะเอละซาบาแล้วเข้าไปในป่ากันดารที่ซึ่งท่านคิดว่าไม่มีใครจะหาท่านพบ. แต่พระยะโฮวาทรงหาท่านพบ. พระองค์ทรงส่งทูตสวรรค์มาปลอบประโลมท่าน. ทูตสวรรค์ดูแลให้เอลียามีขนมปังที่ปิ้งบนก้อนหินร้อนรับประทานและมีน้ำที่ทำให้สดชื่นดื่ม. หลังจากเอลียาได้พัก ทูตสวรรค์ก็นำท่านให้เดินทางเป็นระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรไปยังภูเขาโฮเร็บ แล้วท่านได้รับการเสริมกำลังมากขึ้นอีกจากพระยะโฮวา.—1 กษัตริย์ 19:5-8, ฉบับแปลใหม่.
ที่ภูเขาโฮเร็บ เอลียาได้เห็นการสำแดงอิทธิฤทธิ์ของพระยะโฮวาซึ่งเป็นการเสริมความเชื่อ. จากนั้นพระยะโฮวาทรงตรัสด้วยเสียงเบา ๆ รับรองกับท่านว่าท่านไม่ได้อยู่คนเดียว. พระยะโฮวาสถิตอยู่กับท่าน และพี่น้องของท่านอีก 7,000 คนก็อยู่กับท่านด้วย แม้ว่าเอลียาไม่รู้. ในที่สุด พระยะโฮวาทรงมอบหมายงานให้ท่านทำ. พระองค์ไม่ได้ถอดเอลียาออกจากการเป็นผู้พยากรณ์!—1 กษัตริย์ 19:11-18.
การช่วยเหลือมีอยู่พร้อม
ถ้าคุณรู้สึกท้อแท้แบบที่ไม่รุนแรงเป็นครั้งคราว คุณอาจพบว่าคุณรู้สึกดีขึ้นถ้าคุณพักผ่อนนานเป็นพิเศษหรือรับประทานอาหารที่มีคุณค่า. นาทาน เอช. นอรร์ ซึ่งรับใช้เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1977 เคยให้ข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งว่า ปัญหาใหญ่ ๆ มักจะดูเล็กลงมากหลังจากได้นอนหลับสนิทตลอดคืน. อย่างไรก็ตาม ถ้าปัญหายังคงอยู่ วิธีแก้แบบนี้อาจไม่เพียงพอ—คุณจะต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อสู้กับความท้อแท้.
พระยะโฮวาทรงส่งทูตสวรรค์ลงมาเสริมกำลังเอลียา. ในปัจจุบัน พระเจ้าทรงประทานการหนุนกำลังใจผ่านทางเหล่าผู้ปกครองและคริสเตียนผู้อาวุโสคนอื่น ๆ. แท้จริง ผู้ปกครองอาจเป็น “ที่คุ้มขังบังล้อมพลเมืองมิให้ต้องลม.” (ยะซายา 32:1, 2) แต่ที่จะได้รับการหนุนกำลังใจจากพวกเขา คุณอาจต้องเป็นฝ่ายริเริ่ม. แม้ว่าเอลียาท้อแท้ แต่ท่านก็เดินทางไปยังภูเขาโฮเร็บเพื่อรับคำแนะนำจากพระยะโฮวา. เราได้รับคำแนะนำที่เสริมกำลังผ่านทางประชาคมคริสเตียน.
เมื่อเรายอมรับความช่วยเหลือและเผชิญการทดสอบอย่างกล้าหาญ เช่น ความรู้สึกเจ็บใจหรือการสูญเสียสิทธิพิเศษ เราก็สนับสนุนฝ่ายพระยะโฮวาในประเด็นที่สำคัญ. ประเด็นอะไร? ซาตานโต้แย้งว่ามนุษย์รับใช้พระยะโฮวาเพียงเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว. ซาตานไม่ได้ปฏิเสธว่าเราจะรับใช้พระเจ้าถ้าทุกสิ่งในชีวิตของเราราบรื่นดี แต่มันอ้างว่าเราจะเลิกรับใช้พระเจ้าหากเราประสบปัญหา. (โยบบท 1 และ 2) โดยการทำงานรับใช้พระยะโฮวาต่อ ๆ ไปอย่างไม่สั่นคลอนแม้ว่าจะรู้สึกท้อใจ เราก็ช่วยให้คำตอบต่อคำกล่าวหาใส่ร้ายของพญามารได้.—สุภาษิต 27:11.
ฮันนา, มาระโก, และเอลียาต่างก็มีปัญหาซึ่งทำให้หมด
ความยินดีไปชั่วเวลาสั้น ๆ. อย่างไรก็ดี พวกเขารับมือกับปัญหาของตนและดำเนินชีวิตที่บังเกิดผล. ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา คุณก็สามารถรับมือกับความท้อแท้ได้เช่นเดียวกัน!