การเสาะหาคนที่เหมาะสมในเคนยา
การเสาะหาคนที่เหมาะสมในเคนยา
เคนยาเป็นดินแดนที่งดงามเลิศล้ำทางธรรมชาติอันน่าประทับใจอย่างยิ่ง. ป่าเขียวชอุ่ม, ที่ราบกว้างไพศาล, ทะเลทรายร้อนระอุ, และภูเขาที่มีหิมะปกคลุมเพิ่มความงดงามให้แก่ดินแดนที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจแห่งนี้. ที่นี่เป็นถิ่นที่อยู่ของละมั่งแอฟริกามากกว่าล้านตัว และแรดที่ใกล้จะสูญพันธุ์. นอกจากนี้ เราสามารถมองเห็นยีราฟฝูงใหญ่เดินผ่านทุ่งหญ้า.
สัตว์ในอากาศก็มีมากมายเช่นกัน มีตั้งแต่นกอินทรีที่บินทะยานสูงด้วยพลังเข้มแข็งไปจนถึงนกที่ส่งเสียงร้องไพเราะนานาชนิดสีสันสวยงาม ส่งเสียงเจื้อยแจ้วอย่างร่าเริง. และมีใครบ้างไหมไม่ได้สังเกตเห็นโขลงช้างและฝูงสิงโต? ภาพที่เห็นและสรรพสำเนียงที่ได้ยินในเคนยานั้นยากจะลืมเลือนเสียได้.
กระนั้น ยังมีอีกเสียงหนึ่งดังกังวานทั่วดินแดนอันสวยงามนี้. นั่นคือเสียงป่าวร้องของหลายพันคนบอกข่าวที่ให้ความหวัง. (ยะซายา 52:7) เสียงของคนเหล่านี้ได้ยินไปถึงผู้คนมากกว่า 40 เผ่าพันธุ์และภาษา. ในแง่นี้ เคนยาเป็นดินแดนที่งดงามฝ่ายวิญญาณเช่นกัน.
ชาวเคนยาส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นคนเลื่อมใสในศาสนาและเต็มใจพูดคุยเรื่องราวด้านศาสนา. ถึงแม้เป็นเช่นนี้ก็ตาม การแสวงหาผู้คนเพื่อจะพูดคุยนั้นปรากฏว่าเป็นข้อท้าทาย เพราะเคนยาก็กำลังประสบการเปลี่ยนแปลงเหมือนประเทศอื่น ๆ.
ภาวะเศรษฐกิจอันยุ่งยากทำให้หลายคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตน. พวกผู้หญิงซึ่งตามธรรมเนียมแล้วทำงานที่บ้าน แต่เดี๋ยวนี้พวกเขาทำงานในสำนักงานหรือขายของข้างทาง อาทิ ขายผลไม้, พืชผัก, ปลา, และเครื่องจักสานต่าง ๆ. ส่วนผู้ชายก็ตรากตรำทำงานเหน็ดเหนื่อยหลายชั่วโมงเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว. แม้แต่เด็ก ๆ ก็เดินเร่ไปตามถนนขายถั่วลิสงคั่วถุงเล็ก ๆ และไข่ต้มซึ่งห้อยไว้เต็มแขนอันบอบบางของเขา. ผลที่ตามมาคือมีน้อยคนอยู่บ้านตอนกลางวัน. ผู้ประกาศข่าวดีแห่งราชอาณาจักรจึงต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่างให้เข้ากับสภาพดังกล่าว.
ประชาคมต่าง ๆ แห่งพยานพระยะโฮวาได้รับคำแนะนำให้มุ่งเข้าถึงประชาชนที่อยู่นอกบ้าน, คนที่มีกิจกรรมทำประจำวัน, รวมทั้งญาติมิตร, นักธุรกิจ, และเพื่อนร่วมงาน. และพี่น้องพยานฯ ได้ตอบสนองโดยการพูดคุยกับผู้คนที่เขาพบไม่ว่าที่ไหน. (มัดธาย 10:11) ความบากบั่นจะขยายงานประกาศเช่นนี้บังเกิดผลไหม? แน่นอน! ขอพิจารณาสักสองสามตัวอย่าง.
ญาติ—เพื่อนบ้านใกล้ชิดกับเรามากที่สุด
กรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา มีประชากรประมาณสามล้านคน. นายทหารยศพันตรีนอกประจำการคนหนึ่งอาศัยอยู่ฟากตะวันออกของเมืองนี้ เขาไม่ค่อยชอบพยานพระยะโฮวามานานแล้ว อย่างไรก็ตาม เขาตกใจมากเมื่อรู้ว่าลูกชายของเขาเป็นพยานฯ. คราวหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ อดีตนายทหารคนนี้เดินทางระยะ 160 กิโลเมตรเพื่อเยี่ยมลูกชายในริฟต์ วัลเลย์ เมืองนาคูรู. ระหว่างเยี่ยม ลูกชายมอบหนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ * เป็นของขวัญแก่พ่อ. พ่อก็รับไว้แล้วกลับบ้าน.
เมื่อกลับถึงบ้าน อดีตนายทหารคนนี้ให้หนังสือแก่ภรรยา เธอเริ่มอ่านโดยไม่เฉลียวใจเลยว่าเป็นหนังสือที่พยานพระยะโฮวาจัดพิมพ์ขึ้นมา. ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลเริ่มซึมซาบเข้าในหัวใจของเธอทีละน้อย แล้วเธอก็พูดคุยสิ่งที่ได้รับรู้กับสามี. ด้วยความสนใจใคร่รู้ สามีจึงเริ่มอ่านหนังสือนั้นด้วย. ครั้นได้รู้ว่าใครเป็นผู้จัดพิมพ์ คนทั้งสองกล่าวว่าไม่มีใครเคยบอกความจริงเรื่องพยานพระยะโฮวา. เขาจึงไปพบพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่น แล้วเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. จากการที่เขาอ่านหนังสือเอง เขาได้มารู้ว่าการใช้หรือขายยาสูบยาเส้นไม่ถูกต้องสำหรับคริสเตียน. (มัดธาย 22:39; 2 โกรินโธ 7:1) เขาจัดการทำลายบุหรี่ทั้งหมดที่มีอยู่ในร้านโดยไม่ลังเล. หลายเดือนต่อมา คนทั้งสองบรรลุคุณวุฒิเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับบัพติสมา ณ การประชุมภาค.
ขยะให้ผลผลิตเป็นสมบัติล้ำค่า
ในพื้นที่บางส่วนของเขตเมืองหลวง มีหมู่บ้านหลายแห่งที่ขยายออกไปอย่างไม่มีระเบียบ ซึ่งผู้คนนับหมื่นนับแสนเข้าไปอยู่อาศัย. ที่นี่ เรามองเห็นบ้านเรือนเรียงเป็นแนวยาว บ้างก็สร้างด้วยดินโคลน, บ้างก็สร้างด้วยไม้, แผ่นโลหะ, หรือสังกะสี. เมื่อไม่มีงานด้านอุตสาหกรรมและงานตามโรงงานต่าง ๆ ผู้คนคว้างานอะไรก็ได้โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า. พวกจูอา คาลี (ภาษาสวาฮิลี หมายถึง “แดดกล้า”) กรรมกรที่ทำงานกลางแดด, ทำรองเท้าแตะจากยางรถยนต์เก่า, หรือนำกระป๋องที่ทิ้งแล้วมาทำเป็นตะเกียงน้ำมันก๊าด. บางคนคุ้ยกองขยะหรือค้นถังขยะหากระดาษ, กระป๋อง, และขวดเพื่อนำมาใช้อีก.
ขยะจะให้ผลผลิตเป็นสมบัติล้ำค่าได้หรือ? ได้สิ! บราเดอร์คนหนึ่งเล่าว่า “ชายผู้หนึ่งร่างกำยำ, ผมเผ้ารุงรัง, และท่าทางหยาบกระด้างแบกถุงพลาสติกใบเขื่องมีหนังสือพิมพ์และวารสารเก่า ๆ อยู่เต็มเดินเข้ามาในบริเวณลานนอกหอประชุมใหญ่ของเรา. หลังจากบอกว่าชื่อวิลเลียมแล้วเขาก็ถามว่า ‘คุณมีวารสารหอสังเกตการณ์ ที่ออกเมื่อเร็ว ๆ นี้ไหม?’ ผมชักเป็นห่วงและข้องใจว่าเจตนาของเขาจะเป็นเช่นไร. ครั้นผมเอาวารสารห้าฉบับให้ดู เขาดูทีละเล่มและพูดว่า ‘ผมจะรับทั้งหมดเลย.’ ด้วยความประหลาดใจ ผมจึงกลับไปที่ห้องและออกมาพร้อมกับหนังสือ ท่านจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก. * ผมชี้ภาพอุทยานและอธิบายว่าเราให้การศึกษาด้านคัมภีร์ไบเบิลแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย. แล้วผมเสนอแนะว่า ‘วิลเลียม คุณมาพรุ่งนี้ได้เลย และเราจะเริ่มศึกษากัน.’ เขามาจริง ๆ!
“วันอาทิตย์วันหนึ่ง เขามายังการประชุมเป็นครั้งแรก. วันนั้นผมเป็นผู้บรรยายสาธารณะ. เมื่อวิลเลียมเดินเข้ามา เขามองปราดไปที่ผู้เข้าร่วมประชุม มองมาเห็นผมอยู่บนเวที แล้วรีบเดินออกไปจากหอประชุม. ทีหลัง ผมถามเขาถึงสาเหตุที่ทำเช่นนั้น. เขาตอบอย่างเขิน ๆ ว่า ‘ผมไม่สบายใจ เพราะคนเข้าร่วมประชุมสะอาดสะอ้านกันทั้งนั้น.’
“ขณะที่วิลเลียมก้าวหน้าอย่างดีในการศึกษา ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลได้เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา. เขาอาบน้ำ,
ตัดผม, สวมใส่เสื้อผ้าสะอาดและแต่งกายเรียบร้อย และในไม่ช้าก็เข้าร่วมประชุมสม่ำเสมอ. เมื่อหนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ ออกมา เราเริ่มศึกษาเล่มนี้. ระหว่างนั้น วิลเลียมเป็นนักเรียนบรรยายสองครั้งในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า และได้เป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา. ผมตื่นเต้นเมื่อได้ต้อนรับเขาเข้ามาเป็นพี่น้องฝ่ายวิญญาณตอนที่เขารับบัพติสมา ณ วันประชุมพิเศษ.”วิลเลียมรู้จักคุณค่าวารสารหอสังเกตการณ์ ครั้งแรกจากที่ไหน? “ผมพบบางฉบับจากกองกระดาษที่คนเขาทิ้งเป็นเศษขยะ.” ใช่แล้ว เขาพบสมบัติล้ำค่าอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้!
การให้คำพยาน ณ ที่ทำงาน
เราตื่นตัวตลอดเวลาไหมเพื่อให้คำพยาน ณ ที่ทำงานเมื่อสบโอกาส? เจมส์ ผู้ปกครองในประชาคมหนึ่งที่เมืองไนโรบีรู้จักความจริงของคัมภีร์ไบเบิลก็ด้วยวิธีนี้. แล้วเขาจึงกลายเป็นคนชำนาญในการใช้วิธีนี้เพื่อเข้าถึงคนอื่น ๆ. ตัวอย่างเช่น ณ โอกาสหนึ่ง เจมส์แลเห็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเดินเข้าสำนักงานมีบัตรติดหน้าอกเขียนว่า “พระเยซูช่วยชีวิต.” ด้วยการเลียนแบบฟิลิปผู้ประกาศกิตติคุณ เจมส์จึงถามเพื่อนร่วมงานดังนี้: “คุณเข้าใจความหมายของถ้อยคำนั้นจริง ๆ ไหม?” (กิจการ 8:30) คำถามนั้นเปิดทางให้มีการสนทนาที่ดี. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจึงเริ่มขึ้น และในเวลาต่อมาชายผู้นั้นได้รับบัพติสมา. เจมส์ประสบความสำเร็จกับรายอื่นไหม? ขอให้เขาชี้แจง:
“ผมกับทอมทำงานในบริษัทเดียวกัน. บ่อยครั้งเรามักจะนั่งไปด้วยกันในรถรับส่งพนักงานบริษัท. เช้าวันหนึ่ง บังเอิญเราได้นั่งคู่กัน. ผมอ่านหนังสือของเราเล่มหนึ่ง และผมถือหนังสือในท่าที่มั่นใจว่าทอมจะเห็นได้ชัด ๆ. สมดังใจหวัง ทอมเกิดสนใจหนังสือเล่มนั้น และผมยินดีให้เขายืมไปอ่าน. เขาประทับใจเรื่องที่เขาอ่านและตกลงศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ตอนนี้ เขาพร้อมกับภรรยาได้เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาที่รับบัพติสมาแล้ว.”
เจมส์เล่าต่อดังนี้: “บ่อยครั้งในช่วงพักกินข้าวเที่ยงที่บริษัทของเรา มักมีการพูดคุยที่น่าสนใจมาก ๆ. นั่นคือเมื่อผมพบกับเอฟราอิมและวอลเตอร์ แต่เป็นคนละเวลากัน. คนทั้งสองรู้ว่าผมเป็นพยานฯ. เอฟราอิมสนใจใคร่รู้ว่าทำไมจึงมีการต่อต้านขัดขวางพยานพระยะโฮวามากมายเหลือเกิน. ส่วนวอลเตอร์มีคำถามหลายข้อเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างพยานพระยะโฮวากับศาสนาอื่น. ทั้งคู่พึงพอใจกับคำตอบที่ผมยกมาจากพระคัมภีร์ และตกลงจะศึกษา. เอฟราอิมก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว. ในที่สุด ตัวเขากับภรรยาได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวา. เวลานี้เอฟราอิมรับใช้ฐานะผู้ปกครอง และภรรยาเป็นไพโอเนียร์ประจำ. แต่วอลเตอร์เผชิญการขัดขวางอย่างรุนแรงถึงขั้นทิ้งหนังสือที่ใช้ศึกษาไป. แต่เนื่องจากผมเพียรพยายาม เขากลับมาเริ่มศึกษาอีก. ตอนนี้เขาได้สิทธิพิเศษรับใช้ฐานะเป็นผู้ปกครองเช่นกัน.” รวมทั้งสิ้น 11 คนกลายมาเป็นคริสเตียนแท้เพราะเจมส์ฉวยโอกาสให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการ ณ ที่ทำงาน.
ปรากฏผลอย่างน่าทึ่ง
ณ ชนบทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนฝั่งทะเลสาบวิกตอเรีย เพื่อนฝูงญาติมิตรได้ไปร่วมงานศพรายหนึ่งที่จัดขึ้น. ในบรรดาผู้เศร้าโศกเหล่านั้นมีพยานฯ สูงอายุคนหนึ่ง. เขาเข้าไปหาครูสอนหนังสือชื่อดอลลี และอธิบายให้เธอฟังเกี่ยวกับเรื่องสภาพคนตายและพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะขจัดความตายให้สิ้นสูญตลอดกาล. เมื่อสังเกตเห็นเธอตอบรับอย่างน่าพอใจ เขารับรองกับเธอว่า “เมื่อครูกลับไปยังบ้านเกิดของครู จะมีมิชชันนารีไปเยี่ยมและสอนครูเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล.”
บ้านเกิดของดอลลีเป็นเมืองใหญ่อันดับสามในประเทศเคนยา. ตอน
นั้นมีมิชชันนารีพยานฯ เพียงสี่คนทำงานเผยแพร่ในเมืองนี้. อันที่จริง บราเดอร์สูงอายุคนนี้ไม่ได้แจ้งมิชชันนารีให้ไปเยี่ยมดอลลีเลย. เขาเพียงแต่มั่นใจอย่างยิ่งว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น. และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ! ในช่วงเวลาไม่นานเท่าไร มิชชันนารีหญิงคนหนึ่งได้ไปพบดอลลีและเริ่มนำการศึกษาพระคัมภีร์กับเธอ. เวลานี้ดอลลีรับบัพติสมาแล้ว ลูกสาววัยเยาว์ของเธอสมัครเป็นนักเรียนโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า และลูกชายสองคนก็รับบัพติสมาแล้ว. เธอยิ่งประสบความชื่นชมยินดีที่ได้เข้าโรงเรียนไพโอเนียร์.การดูแลด้านการเพิ่มทวี
การมุ่งเน้นที่จะให้คำพยานเมื่อสบโอกาสสามารถช่วยผู้คนนับพัน ๆ คนในประเทศเคนยาได้ยินได้ฟังข่าวดี. เวลานี้ผู้เผยแพร่มากกว่า 15,000 คนขยันทำงานสำคัญเป็นพิเศษนี้อย่างเอาจริงเอาจัง และเมื่อปีที่แล้ว 41,000 กว่าคนได้เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ระลึกการวายพระชนม์ของพระคริสต์. จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั่วทั้งประเทศเคนยามักจะมีมากเป็นสองเท่าของผู้ประกาศราชอาณาจักร. ทั้งนี้ก่อให้เกิดความจำเป็นต้องมีหอประชุมราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น.
มีการสร้างหอประชุมราชอาณาจักรขึ้นทั้งในเมืองใหญ่และในแถบถิ่นที่ห่างไกลด้วย. หนึ่งในจำนวนนี้อยู่ในเมืองซัมบูรูอันโดดเดี่ยว ห่างจากเมืองไนโรบีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 320 กิโลเมตร. ในปี 1934 เมืองนี้มีชื่อเรียกในภาษาซัมบูรูว่ามาราลาล หมายถึง “เปล่งแสงวาววับ” เนื่องจากหลังแรกที่มุงสังกะสีสะท้อนแสงวาววับกลางแดด. หกสิบสองปีต่อมา อาคารหลังคามุงสังกะสีถูกสร้างขึ้นอีกหลังหนึ่งในมาราลาล. อาคารหลังนี้ก็เช่นกัน “เปล่งแสงวาววับ” และ “สว่างไสว” เนื่องจากเป็นสถานที่สำหรับการนมัสการแท้ในท้องถิ่นนี้.
ผู้ประกาศ 15 คนได้บากบั่นพยายามมากทีเดียวที่จะสร้างหอประชุมราชอาณาจักรหลังแรกขึ้นในภูมิภาคอันโดดเดี่ยวห่างไกลของเคนยา. เนื่องจากเงินกองทุนมีจำกัด พวกพี่น้องจึงต้องอาศัยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น. พวกเขาก่อผนังโดยใช้ดินแดงผสมน้ำแล้วเทอัดลงไปให้แน่นระหว่างไม้ที่ปักเป็นแบบ. พวกเขาฉาบผนังให้เรียบด้วยการใช้มูลวัวผสมขี้เถ้า ซึ่งเป็นการฉาบให้แข็งคงทนไปได้นานหลายปี.
ที่จะได้เสามาสร้างหอประชุม พวกพี่น้องได้รับใบอนุญาตในการโค่นต้นไม้. แต่ป่าที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร. พวกพี่น้องทั้งชายและหญิงต้องเดินเข้าป่า, ตัดต้นไม้, ลิดกิ่งเหลือแต่ลำต้น, แล้วแบกเสากลับมายังบริเวณก่อสร้าง. คราวหนึ่ง ขณะเดินทางออกมาจากป่าด้วยความยากลำบาก ตำรวจได้เรียกให้พี่น้องหยุด ทั้งยังอ้างว่าใบอนุญาตนั้นใช้ไม่ได้. ตำรวจแจ้งไพโอเนียร์พิเศษว่าเขาถูกจับฐานตัดต้นไม้. ซิสเตอร์คนหนึ่งในท้องถิ่นซึ่งคนในชุมชนรู้จักดี และตำรวจก็รู้จักเธอด้วยได้พูดขึ้นว่า “ถ้าคุณตำรวจจับบราเดอร์ของเรา ก็ต้องจับพวกเราทุกคน เพราะเราทุกคนโค่นต้นไม้เหมือนกัน!” แล้วตำรวจจึงได้ปล่อยพวกเขาทั้งหมด.
ในป่ามีสัตว์ดุร้าย ดังนั้นการเดินในป่าใช่ว่าจะปลอดภัย. วันหนึ่ง ซิสเตอร์คนหนึ่งโค่นต้นไม้. ทันทีที่ต้นไม้ล้ม เธอเห็นสัตว์ตัวหนึ่งกระโดดวิ่งหนีไป. จากการมองเห็นสีเหลืองอมน้ำตาลแวบเดียว เธอนึกว่ามันเป็นกวางอิมพาลา แต่ต่อมาเธอเห็นรอยเท้าถึงได้รู้ว่านั่นเป็นสิงโต! แม้มีอันตรายเช่นนั้น พวกพี่น้องก็สร้างหอประชุมเสร็จสมบูรณ์ และมันตั้งเด่นอยู่ที่นั่นเป็นแหล่งให้ความ “สว่างไสว” เป็นคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา.
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1963 เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ตามระบอบของพระเจ้าในประเทศเคนยา. ณ วันนั้นได้มีการเปิดสำนักงานสาขาแห่งแรก มีห้องทำงานห้องเดียว เนื้อที่ 7.4 ตารางเมตร. วันที่ 25 ตุลาคม 1997 เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ตามระบอบของพระเจ้าในประเทศเคนยา—วันอุทิศชุดอาคารใหม่ของเบเธลขนาด 7,800 ตารางเมตร! โครงการซึ่งเสร็จสมบูรณ์นี้ถือว่าเป็นสุดยอดยิ่งใหญ่ของการทำงานหนักอย่างเสียสละนานถึงสามปี. อาสาสมัครจาก 25 ชาติได้แปลงพื้นที่ซึ่งเป็นโคลนเป็นตม เต็มไปด้วยพงหญ้ารกราว ๆ 20 ไร่ให้กลายเป็นเหมือนสวนอันสวยงามสำหรับตั้งอาคารสำนักงานหลังใหม่ เป็นที่พักอาศัยและที่ทำงานของสมาชิก 80 คนแห่งครอบครัวเบเธล.
เรามีเหตุผลทุกประการที่จะชื่นชมยินดีในบรรดาการทั้งสิ้นที่พระยะโฮวาทรงกระทำเพื่อไพร่พลของพระองค์. ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงกระตุ้นผู้รับใช้ให้ตีแผ่หัวใจของตนและมุมานะเสาะหาคนที่เหมาะสมในประเทศเคนยา ทำให้ที่แห่งนี้เป็นดินแดนอันงดงามฝ่ายวิญญาณ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
^ วรรค 13 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.