ความยินดีมีแก่ผู้ดำเนินในความสว่าง
ความยินดีมีแก่ผู้ดำเนินในความสว่าง
“มาเถิดท่านทั้งหลาย, และให้เราดำเนินในแสงสว่างของพระยะโฮวา.”—ยะซายา 2:5.
1, 2. (ก) แสงสว่างสำคัญเพียงไร? (ข) เหตุใดจึงควรพิจารณาอย่างจริงจังต่อคำเตือนที่ว่าความมืดจะปกคลุมโลก?
พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งแห่งความสว่าง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเป็น “ผู้ที่ประทานให้ดวงอาทิตย์เป็นสว่างโดยกลางวัน, แลได้ตั้งธรรมดาดวงจันทร์, แลธรรมดาดวงดาวทั้งหลาย, เพื่อจะให้แสงสว่างในกลางคืน.” (ยิระมะยา 31:35; บทเพลงสรรเสริญ 8:3) พระองค์ทรงเป็นผู้นั้นที่สร้างดวงอาทิตย์ ซึ่งไม่ผิดอะไรกับเตาปฏิกรณ์ปรมาณูขนาดมหึมาที่ปล่อยพลังงานมากมายสู่อวกาศ บางส่วนในรูปของแสงและความร้อน. พลังงานดังกล่าวเพียงเศษเสี้ยวที่มาถึงเราในรูปแสงอาทิตย์ให้การค้ำจุนชีวิตบนแผ่นดินโลกนี้. หากปราศจากแสงอาทิตย์ เราก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้. แผ่นดินโลกจะกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ปราศจากชีวิต.
2 โดยคำนึงถึงอย่างนี้ เราสามารถเข้าใจได้ถึงความคับขันของสภาพการณ์ที่ผู้พยากรณ์ยะซายาพรรณนา. ท่านกล่าวว่า “ดูเถอะ, ความมืดจะแผ่ปิดโลกไว้มิด, และความมืดทึบจะคลุมประชาชนไว้.” (ยะซายา 60:2) แน่นอน ความมืดนี้ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร. ยะซายามิได้หมายความว่าสักวันหนึ่งดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, และดวงดาวทั้งหลายจะหยุดส่องแสง. (บทเพลงสรรเสริญ 89:36, 37; 136:7-9) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ในที่นี้ท่านกล่าวถึงความมืดฝ่ายวิญญาณ. แต่ความมืดฝ่ายวิญญาณก่อผลเสียหายถึงตาย. ในระยะยาว เราไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากแสงสว่างฝ่ายวิญญาณเช่นเดียวกับที่เราไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากแสงสว่างตามตัวอักษร.—ลูกา 1:79.
3. เมื่อคำนึงถึงถ้อยคำของยะซายา คริสเตียนควรทำอะไร?
3 เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้ จึงเป็นเรื่องจริงจังที่จะสังเกตว่าถ้อยคำของยะซายา แม้ว่าสำเร็จไปแล้วกับยูดาสมัยโบราณ กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างยิ่งใหญ่กว่าในปัจจุบัน. ถูกแล้ว ในสมัยของเราโลกถูกห่อหุ้มด้วยความมืดฝ่ายวิญญาณ. ในสถานการณ์อันตรายเช่นนั้น แสงสว่างฝ่ายวิญญาณมีความสำคัญยิ่ง. นั่นเป็นเหตุผลที่คริสเตียนควรเอาใจใส่คำกระตุ้นเตือนของพระเยซูที่ว่า “ให้ความสว่างของท่านส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวง.” (มัดธาย 5:16) คริสเตียนที่ซื่อสัตย์สามารถส่องสว่างแก่ผู้อ่อนน้อมที่อยู่ในความมืด และดังนั้นจึงให้โอกาสแก่พวกเขาที่จะได้รับชีวิต.—โยฮัน 8:12.
สมัยอันมืดมัวในยิศราเอล
4. คำกล่าวเชิงพยากรณ์ของยะซายาสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกเมื่อไร แต่สถานการณ์เช่นไรมีอยู่แล้วในสมัยของท่านเอง?
4 ถ้อยคำของยะซายาเกี่ยวกับความมืดที่ปกคลุมแผ่นดินโลกสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกเมื่อยูดาร้างเปล่าและไพร่พลของยูดาถูกเนรเทศไปอยู่ในบาบูโลน. อย่างไรก็ตาม แม้แต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ในสมัยของยะซายาเองส่วนใหญ่ของชาตินี้ถูกห่อหุ้มด้วยความมืดฝ่ายวิญญาณ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้เองทำให้ท่านกระตุ้นเพื่อนร่วมชาติของท่านว่า “ดูกรตระกูลยาโคบ, มาเถิดท่านทั้งหลาย, และให้เราดำเนินในแสงสว่างของพระยะโฮวา”!—ยะซายา 2:5; 5:20.
5, 6. ปัจจัยอะไรมีส่วนทำให้สมัยของยะซายามืดมน?
5 ยะซายาพยากรณ์ในยูดา “ในรัชกาลของกษัตริย์อุซียา, กษัตริย์โยธาม, กษัตริย์อาฮาศ, และกษัตริย์ฮิศคียาผู้ครองประเทศยะฮูดา.” (ยะซายา 1:1) ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมือง, ความหน้าซื่อใจคดทางศาสนา, การทุจริตในการพิพากษา, และการกดขี่คนยากจน. แม้แต่ในรัชสมัยของกษัตริย์ที่ซื่อสัตย์ เช่น โยธาม แท่นบูชาพระเท็จมีให้เห็นตามยอดเขาหลายแห่ง. ในรัชสมัยของกษัตริย์ที่ไม่ซื่อสัตย์ สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีก. ยกตัวอย่าง กษัตริย์อาฮาศนั้นชั่วร้ายถึงขั้นเผาราชบุตรของตัวเองเป็นบูชายัญแด่พระโมเล็ก. นับเป็นความมืดมนอย่างแท้จริง!—2 กษัตริย์ 15:32-34; 16:2-4.
6 สถานการณ์ระหว่างชาติก็มืดมนด้วย. โมอาบ, อะโดม, และฟะลิศตีมซึ่งตั้งอยู่ตามแนวพรมแดนของยูดาล้วนเป็นยะซายา 1:7, 8; 36:1.
ภัยคุกคาม. อาณาจักรยิศราเอลซึ่งอยู่ทางเหนือ แม้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด แต่กลับประกาศตัวเป็นศัตรู. เหนือขึ้นไป มีซุเรียที่คุกคามสันติสุขของยูดา. ที่เป็นภัยคุกคามยิ่งกว่านั้นอีกก็คืออัสซีเรียที่โหดเหี้ยม ซึ่งจ้องจะขยายอำนาจของตนอยู่ตลอด. ในช่วงที่ยะซายาพยากรณ์อยู่นั้น อัสซีเรียพิชิตอาณาจักรยิศราเอลได้อย่างสิ้นเชิงและเกือบทำลายยูดาได้. ในครั้งหนึ่ง เมืองที่มีป้อมปราการทั้งหมดของอาณาจักรยูดา ยกเว้นกรุงยะรูซาเลม ล้วนตกอยู่ในเงื้อมมือของอัสซีเรีย.—7. ยิศราเอลและยูดาเลือกแนวทางเช่นไร และพระยะโฮวาทรงตอบสนองอย่างไร?
7 ไพร่พลแห่งสัญญาไมตรีของพระเจ้าประสบความหายนะเช่นนั้นเพราะยิศราเอลและยูดาไม่ภักดีต่อพระองค์. เช่นเดียวกับคนเหล่านั้นที่พระธรรมสุภาษิตกล่าวถึง พวกเขา “ละทิ้งทางของความตรง, เพื่อเดินในทางของความมืดมน.” (สุภาษิต 2:13) ถึงกระนั้น แม้พระยะโฮวาทรงพิโรธไพร่พลของพระองค์ แต่พระองค์มิได้ละทิ้งพวกเขาโดยสิ้นเชิง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงตั้งยะซายาและผู้พยากรณ์คนอื่น ๆ ให้จัดเตรียมแสงสว่างฝ่ายวิญญาณไว้สำหรับใครก็ตามในชาตินี้ที่ยังคงพยายามรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์. ความสว่างที่ทรงจัดเตรียมให้โดยทางผู้พยากรณ์เหล่านี้ช่างมีค่าจริง ๆ. เป็นความสว่างที่ให้ชีวิต.
ยุคมืดในปัจจุบัน
8, 9. ปัจจัยอะไรมีส่วนทำให้โลกทุกวันนี้มืดมน?
8 สถานการณ์ในสมัยของยะซายาคล้ายกันมากกับสถานการณ์ในปัจจุบัน. ในสมัยของเรา พวกผู้นำของมนุษย์ได้หันหลังให้แก่พระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ กษัตริย์ผู้ครองบัลลังก์ของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 2:2, 3) พวกหัวหน้าศาสนาแห่งคริสต์ศาสนจักรได้หลอกลวงฝูงแกะของตน. พวกผู้นำเหล่านี้อ้างว่ารับใช้พระเจ้า แต่จริง ๆ แล้ว ส่วนใหญ่สนับสนุนพระทั้งหลายของโลกนี้—ลัทธิชาตินิยม, แสนยนิยม, ความมั่งคั่ง, และบุคคลเด่นดัง—ยังไม่ต้องพูดถึงหลักคำสอนนอกรีตที่พวกเขาสอน.
9 แห่งแล้วแห่งเล่า ศาสนาต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามและสงครามกลางเมือง ที่โดดเด่นคือการฆ่าล้างชาติพันธุ์และความสยดสยองอื่น ๆ. ยิ่งกว่านั้น แทนที่จะยึดมั่นในจุดยืนด้านศีลธรรมตามหลักคัมภีร์ไบเบิล หลายคริสตจักรเพิกเฉยหรือแม้แต่สนับสนุนกิจปฏิบัติที่ผิดศีลธรรม เช่น การผิดประเวณีและการรักร่วมเพศ. ผลของการปฏิเสธมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลก็คือ ฝูงแกะของคริสต์ศาสนจักรเป็นเหมือนกับคนเหล่านั้นที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในคราวโบราณกล่าวถึงว่า “เขาเหล่านั้นไม่รู้, ไม่เข้าใจ; ดำเนินไปมาในที่มืด.” (บทเพลงสรรเสริญ 82:5) จริงทีเดียว คริสต์ศาสนจักรก็เหมือนกับยูดาในสมัยโบราณ คือถลำลึกในความมืด.—วิวรณ์ 8:12.
10. แสงสว่างส่องในความมืดทุกวันนี้อย่างไร และผู้อ่อนน้อมได้รับประโยชน์อย่างไร?
10 ท่ามกลางความมืดมนเช่นนั้น พระยะโฮวาทรงบันดาลให้ความสว่างสาดส่องเพื่อประโยชน์ของผู้อ่อนน้อม. เพื่อจะทำเช่นนี้ พระองค์ทรงใช้ผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระองค์บนแผ่นดินโลก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และพวกเขากำลังฉายแสง “ดุจดวงสว่างต่าง ๆ ในโลก.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.; ฟิลิปปอย 2:15) ชนจำพวกทาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหายที่เป็น “แกะอื่น” หลายล้านคน สะท้อนแสงสว่างฝ่ายวิญญาณที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้าเป็นหลัก. (โยฮัน 10:16) ในโลกที่มืดมนนี้ แสงสว่างเช่นนั้นให้ความหวังแก่ผู้อ่อนน้อม, ช่วยพวกเขาให้มีสัมพันธภาพกับพระเจ้า, และช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงหลุมพรางฝ่ายวิญญาณ. แสงสว่างนี้มีค่าอย่างยิ่งและให้ชีวิต.
“ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระนามของพระองค์”
11. พระยะโฮวาทรงจัดให้มีข้อมูลอะไรไว้พร้อมในสมัยของยะซายา?
11 ในสมัยอันมืดมนที่ยะซายามีชีวิตอยู่และในสมัยที่มืดมิดยิ่งกว่าหลังจากนั้นเมื่อพวกบาบูโลนจับชนชาติของพระยะโฮวาไปเป็นเชลย พระยะโฮวาทรงให้การชี้นำแบบใด? นอกจากทรงให้การชี้นำด้านศีลธรรมแล้ว พระองค์ทรงให้เค้าโครงล่วงหน้าอย่างชัดเจนถึงวิธีที่พระองค์จะทรงทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จเกี่ยวข้องกับไพร่พลพระองค์. ยกตัวอย่าง ขอพิจารณาคำพยากรณ์อันเยี่ยมยอดในยะซายาบท 25 ถึง 27. ข้อความในบทเหล่านี้ชี้ถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงจัดการเรื่องราวในสมัยโน้น และวิธีที่พระองค์ทรงทำเช่นนั้นในปัจจุบัน.
12. ยะซายากล่าวถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกจากหัวใจเช่นไร?
12 ก่อนอื่น ยะซายาประกาศว่า “ข้าฯ แต่พระยะโฮวาพระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะเทิดพระองค์ขึ้นไว้, ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระนามของพระองค์.” ช่างเป็นคำสรรเสริญที่ออกมาจากหัวใจจริง ๆ! แต่อะไรกระตุ้นผู้พยากรณ์ให้กล่าวคำอธิษฐานเช่นนั้น? ปัจจัยสำคัญเห็นได้จากส่วนหลังของข้อ ซึ่งเราอ่านดังนี้: “เพราะพระองค์ [พระยะโฮวา] ได้ทรงกระทำสิ่งที่มหัศจรรย์, โครงการที่ได้ทรงกำหนดนานมาแล้วก็ได้ทรงกระทำให้สำเร็จโดยความซื่อตรงแน่วแน่.”—ยะซายา 25:1.
13. (ก) ความรู้อะไรเสริมสร้างความหยั่งรู้ค่าของยะซายาต่อพระยะโฮวา? (ข) เราจะเรียนจากตัวอย่างของยะซายาได้อย่างไร?
13 ในสมัยของยะซายา พระยะโฮวาได้ทรงทำหลายสิ่งอันมหัศจรรย์สำหรับยิศราเอล และได้มีการบันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้. เห็นได้ชัด ยะซายาคุ้นเคยกับข้อเขียนเหล่านี้. ยกตัวอย่าง ท่านทราบว่าพระยะโฮวาทรงนำไพร่พลของพระองค์ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์และช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากความโมโหโกรธาของกองทัพฟาโรห์ ณ ทะเลแดง. ท่านทราบว่าพระยะโฮวาทรงนำไพร่พลของพระองค์ผ่านถิ่นทุรกันดารและนำพวกเขาเข้าสู่แผ่นดินที่พระองค์ทรงสัญญา. (บทเพลงสรรเสริญ 136:1, 10-26) บันทึกทางประวัติศาสตร์เช่นนั้นแสดงว่าพระยะโฮวาพระเจ้าทรงซื่อสัตย์และไว้วางใจได้. “โครงการ” ของพระองค์—ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์—ล้วนสำเร็จเป็นจริง. ความรู้ถ่องแท้ที่พระเจ้าประทานช่วยเสริมกำลังยะซายาให้ดำเนินต่อไปในความสว่าง. ด้วยเหตุนั้น ยะซายาเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรา. หากเราศึกษาพระคำของพระเจ้าอย่างถี่ถ้วนและนำมาใช้ในชีวิต เราก็เช่นกันจะรักษาตัวอยู่ในความสว่าง.—บทเพลงสรรเสริญ 119:105; 2 โกรินโธ 4:6.
เมืองหนึ่งถูกทำลาย
14. มีคำพยากรณ์เช่นไรเกี่ยวกับเมืองหนึ่ง และเมืองดังกล่าวน่าจะหมายถึงเมืองอะไร?
14 ตัวอย่างหนึ่งของคำแนะนำของพระเจ้าพบที่ยะซายา 25:2 ซึ่งเราอ่านดังนี้: “พระองค์ได้กระทำให้เมืองทลายลงเป็นกองอิฐกองหินไป, และให้เมืองที่มีป้อมคูประตูหอรบกลายเป็นเมืองสลักหักพังไป, พระราชวังแบบของคนต่างชาติจะไม่เป็นบ้านเป็นเมืองต่อไป, จะไม่มีใครกลับก่อสร้างขึ้นอีกเลย.” เมืองนี้คือเมืองอะไร? ยะซายาคงกำลังกล่าวเป็นเชิงพยากรณ์ถึงเมืองบาบูโลน. แท้จริง วาระดังกล่าวได้มาถึงบาบูโลนจริง ๆ เมื่อเมืองนี้กลายเป็นเพียงกองหิน.
15. “เมืองใหญ่” อะไรที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และจะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองนี้?
15 เมืองที่ยะซายากล่าวถึงนี้มีคู่เทียบสมัยปัจจุบันไหม? มีซิ. พระธรรมวิวรณ์กล่าวถึง “เมืองใหญ่ที่มีอาณาจักรเหนือกษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก.” (วิวรณ์ 17:18, ล.ม.) เมืองใหญ่นั้นได้แก่ “บาบูโลนใหญ่” จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ. (วิวรณ์ 17:5) ปัจจุบัน ส่วนหลักของบาบูโลนใหญ่ได้แก่คริสต์ศาสนจักร ซึ่งมีนักเทศน์นักบวชเป็นผู้นำในการต่อต้านงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรของไพร่พลพระยะโฮวา. (มัดธาย 24:14) อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับบาบูโลนโบราณ ไม่ช้าบาบูโลนใหญ่จะถูกทำลายโดยไม่มีทางเฟื่องฟูขึ้นมาอีก.
16, 17. เหล่าศัตรูของพระยะโฮวาถวายเกียรติแด่พระองค์อย่างไรในสมัยโบราณและในสมัยปัจจุบัน?
16 ยะซายาพยากรณ์อะไรอีกเกี่ยวกับ “เมืองที่มีป้อมคูประตูหอรบ”? ยะซายากล่าวถึงพระยะโฮวาว่า “ประชาชาติที่แข็งแรงจะถวายพระสิริแก่พระองค์ หัวเมืองของบรรดาประชาชาติที่ทารุณจะเกรงกลัวพระองค์.” (ยะซายา 25:3, ฉบับแปลใหม่) “หัวเมืองของบรรดาประชาชาติที่ทารุณ” หรือเมืองที่เป็นปฏิปักษ์นี้ จะถวายเกียรติพระยะโฮวาอย่างไร? ขอให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับนะบูคัดเนซัร กษัตริย์ผู้ เข้มแข็งที่สุดของบาบูโลน. หลังจากผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ได้คิดถึงความอ่อนแอของท่านเอง ท่านจำต้องยอมรับความยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาและฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่สูงสุดของพระองค์. (ดานิเอล 4:34, 35) เมื่อพระยะโฮวาทรงสำแดงฤทธิ์อำนาจของพระองค์ แม้แต่เหล่าศัตรูของพระองค์ก็จำต้องยอมรับในราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระองค์ แม้จะไม่เต็มใจ.
17 บาบูโลนใหญ่เคยจำใจต้องยอมรับราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวาไหม? ใช่แล้ว. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผู้รับใช้ที่ถูกเจิมของพระยะโฮวาประกาศภายใต้สภาพการณ์อันทุกข์ยากลำบาก. ในปี 1918 พวกเขาตกเป็นเชลยฝ่ายวิญญาณเมื่อคนเหล่านั้นที่นำหน้าในสมาคมว็อชเทาเวอร์ถูกจำคุก. งานประกาศแบบที่มีการจัดระเบียบยุติลงเกือบจะโดยสิ้นเชิง. ต่อมา ในปี 1919 พระยะโฮวาทรงฟื้นฟูพวกเขาและช่วยพวกเขาให้มีกำลังขึ้นมาอีกครั้งด้วยพระวิญญาณของพระองค์ ซึ่งหลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ในงานมอบหมายให้ประกาศข่าวดีไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีผู้อาศัย. (มาระโก 13:10) ทั้งหมดนี้มีพยากรณ์ไว้แล้วในพระธรรมวิวรณ์ รวมไปถึงผลที่เกิดขึ้นกับผู้ต่อต้านพวกเขา. คนเหล่านี้ “เกิดความหวาดกลัวและได้ถวายสง่าราศีแด่พระเจ้าแห่งสวรรค์.” (วิวรณ์ 11:3, 7, 11-13, ล.ม.) นี่มิได้หมายความว่าพวกเขาทั้งหมดเปลี่ยนเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ แต่ในโอกาสนี้พวกเขาจำต้องยอมรับราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวา ดังที่ยะซายาได้บอกไว้ล่วงหน้า.
“ที่กำบังเข้มแข็งของคนยากจน”
18, 19. (ก) เหตุใดพวกผู้ต่อต้านจึงได้ล้มเหลวในการทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของไพร่พลพระยะโฮวา? (ข) “เสียงเพลงของผู้ทารุณ” จะถูกทำให้เงียบไปอย่างไร?
18 ยะซายาหันมาพิจารณาการปฏิบัติอย่างกรุณาของพระยะโฮวาต่อผู้ที่ดำเนินในความสว่าง โดยทูลพระยะโฮวาว่า “พระองค์ได้ทรงเป็นที่กำบังเข้มแข็งของคนยากจน ทรงเป็นที่กำบังเข้มแข็งของคนขัดสนเมื่อเขาทุกข์ใจ ทรงเป็นที่กำบังจากพายุ และเป็นร่มกันความร้อน เพราะลมของผู้ที่ทารุณก็เหมือนพายุพัดกำแพง. เหมือนความร้อนในที่แห้ง พระองค์ทรงระงับเสียงของคนต่างด้าว. ร่มเมฆระงับความร้อนฉันใด เสียงเพลงของผู้ทารุณก็เงียบไปฉันนั้น.”—ยะซายา 25:4, 5, ฉบับแปลใหม่.
19 นับตั้งแต่ปี 1919 พวกผู้กดขี่ได้พยายามทุกวิถีทางจะทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของผู้นมัสการแท้ แต่พวกเขาล้มเหลว. เพราะเหตุใด? เพราะพระยะโฮวาทรงเป็นที่มั่นและที่คุ้มภัยของไพร่พลพระองค์. พระองค์ทรงจัดเตรียมร่มเงาซึ่งช่วยคลายความร้อนที่แผดเผาของการกดขี่ข่มเหง และทรงตั้งมั่นดุจกำแพงอันแน่นหนาที่กันพายุแห่งการต่อต้านเอาไว้. พวกเราที่ดำเนินในความสว่างของพระเจ้าคาดหมายอย่างมั่นใจถึงเวลาเมื่อ ‘เสียงเพลงของผู้ทารุณจะถูกทำให้เงียบไป.’ ใช่แล้ว เราคอยท่าอย่างกระตือรือร้นให้ถึงวันที่ศัตรูของพระยะโฮวาจะสาบสูญไป.
20, 21. พระยะโฮวาทรงจัดให้มีงานเลี้ยงอะไร และในโลกใหม่งานเลี้ยงนั้นจะหมายรวมถึงอะไรด้วย?
20 พระยะโฮวาไม่เพียงแต่ปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์. พระองค์ทรงเลี้ยงดูพวกเขาในฐานะพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก. หลังจากปลดปล่อยไพร่พลของพระองค์จากบาบูโลนใหญ่ในปี 1919 พระองค์ทรงจัดงานเลี้ยงฉลองชัยชนะสำหรับพวกเขาด้วยอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมบริบูรณ์. เรื่องนี้มีบอกไว้ล่วงหน้าที่ยะซายา 25:6 ซึ่งเราอ่านดังนี้: “บนภูเขานี้พระยะโฮวาจอมพลโยธาจะจัดแจงการเลี้ยงสำหรับประชาชนทั่วไป. ด้วยอาหารอันปรุงขึ้นด้วยมันสัตว์, ด้วยเหล้าองุ่นอย่างดีที่นอนก้นแล้ว, ด้วยอาหารอันปรุงขึ้นด้วยไขมัน, และเหล้าองุ่นที่นอนก้นกลั่นอย่างดี.” นับเป็นพระพรสักเพียงไรที่เราได้ร่วมในงานเลี้ยงนั้น! (มัดธาย 4:4) มีของดี ๆ มากมายให้รับประทานอยู่เต็ม “โต๊ะของ [พระยะโฮวา].” (1 โกรินโธ 10:21) โดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เราได้รับทุกสิ่งที่จำเป็นในแง่ฝ่ายวิญญาณ.
21 และงานเลี้ยงที่พระเจ้าทรงจัดยังมีมากกว่านี้อีก. การเลี้ยงฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับในเวลานี้เตือนใจเราให้นึกถึงความอุดมสมบูรณ์ของอาหารฝ่ายร่างกายซึ่งจะมีในโลกใหม่ที่พระเจ้าทรงสัญญา. ในตอนนั้น “การเลี้ยง . . . ด้วยอาหารอันปรุงขึ้นด้วยมันสัตว์” จะรวมถึงอาหารฝ่ายร่างกายที่อุดมล้นเหลือ. จะไม่มีใครต้องทนหิวไม่ว่าในแง่ฝ่ายร่างกายหรือฝ่ายวิญญาณ. ช่างจะเป็นความปลอดโปร่งใจสักเพียงไรสำหรับผู้ซื่อสัตย์ผู้เป็นที่รักซึ่งในเวลานี้ทนทุกข์เนื่องจาก “การขาดแคลนอาหาร” ตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “หมายสำคัญ” แห่งการประทับของพระเยซู! (มัดธาย 24:3, 7, ล.ม.) สำหรับพวกเขา คำกล่าวของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญให้กำลังใจจริง ๆ. ท่านกล่าวว่า “ธัญญาหารจะบริบูรณ์บนแผ่นดิน; ต้นไม้บนยอดเขาจะมีผลดก.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:16, ล.ม.
22, 23. (ก) อะไรคือ “ม่าน” หรือ “ผ้าคลุมหน้า” ที่จะถูกขจัดออกไป และโดยวิธีใด? (ข) ‘การลบหลู่ไพร่พลของพระยะโฮวา’ จะถูกขจัดให้หมดไปโดยวิธีใด?
22 ขอให้ฟังคำสัญญาที่เยี่ยมยอดยิ่งกว่านั้นอีก. โดยเปรียบเทียบบาปและความตายกับ “ม่าน” หรือ “ผ้าคลุมหน้า” ยะซายากล่าวว่า “และบนภูเขานี้ [พระยะโฮวา] จะทรงทำลายผ้าคลุมหน้าซึ่งคลุมหน้าบรรดาชนชาติทั้งหลายและม่านซึ่งกางอยู่เหนือบรรดาประชาชาติ.” (ยะซายา 25:7, ฉบับแปลใหม่) คิดดูซิ! บาปและความตายซึ่งคลุมทับมนุษยชาติดุจผ้าห่มที่ทำให้หายใจไม่ค่อยออกจะไม่มีอีกต่อ ไป. เราปรารถนาสักเพียงไรให้วันนั้นมาถึงเมื่อมีการใช้ผลประโยชน์แห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูอย่างเต็มที่กับมนุษยชาติที่เชื่อฟังและซื่อสัตย์!—วิวรณ์ 21:3, 4.
23 โดยชี้ไปยังเวลาอันรุ่งโรจน์ ผู้พยากรณ์ซึ่งได้รับการดลใจรับรองกับเราดังนี้: “[พระเจ้า] จะทรงกลืนความตายเสียเป็นนิตย์ และพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาจากหน้าทั้งปวง. และพระองค์จะทรงเอาการลบหลู่ชนชาติของพระองค์ไปเสียจากทั่วแผ่นดินโลก เพราะพระเจ้าได้ตรัสแล้ว.” (ยะซายา 25:8, ฉบับแปลใหม่) ไม่มีใครจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุตามธรรมชาติหรือร้องไห้เพราะสูญเสียผู้เป็นที่รัก. ช่างเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพระพรอะไรเช่นนี้! นอกจากนั้น จะไม่มีคำติเตียนหรือการโฆษณาชวนเชื่ออันเป็นความเท็จให้ได้ยินอีกไม่ว่าจะที่ใดในโลก ซึ่งพระเจ้าและผู้รับใช้ของพระองค์ได้อดทนมานาน. เพราะเหตุใด? เพราะพระยะโฮวาจะทรงกำจัดต้นตอ—ซาตานพญามาร พ่อของการมุสา พร้อมกับพงศ์พันธุ์ทั้งสิ้นของมัน.—โยฮัน 8:44.
24. ผู้ที่ดำเนินในความสว่างตอบรับอย่างไรต่อราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวาเพื่อประโยชน์ของพวกเขา?
24 เมื่อคิดใคร่ครวญถึงการสำแดงฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา ผู้ที่ดำเนินในความสว่างถูกกระตุ้นให้ร้องออกมาว่า “นี่แน่ะ! นี่แหละคือพระเจ้าของเรา. เราได้หวังในพระองค์ และพระองค์จะทรงช่วยเราให้รอด. นี่แหละคือพระยะโฮวา. เราได้หวังในพระองค์. ให้เรายินดีและชื่นชมในความรอดจากพระองค์เถิด.” (ยะซายา 25:9, ล.ม.) ในไม่ช้า มนุษยชาติที่ชอบธรรมจะมีเหตุผลทุกประการที่จะชื่นชมยินดี. ความมืดจะถูกขจัดออกไปอย่างสิ้นเชิง และผู้ซื่อสัตย์จะอาบเอิบอยู่ในความสว่างของพระยะโฮวาชั่วนิจนิรันดร์. มีความหวังใดอีกไหมที่รุ่งโรจน์กว่านี้? ไม่มีอีกแล้ว!
คุณอธิบายได้ไหม?
• เหตุใดจึงสำคัญที่จะดำเนินในความสว่างในทุกวันนี้?
• เหตุใดยะซายาจึงสรรเสริญพระนามของพระยะโฮวา?
• เหตุใดพวกศัตรูจะไม่มีทางทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของไพร่พลพระเจ้า?
• มีพระพรอันอุดมเช่นไรรออยู่สำหรับผู้ที่ดำเนินในความสว่าง?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 12, 13]
ประชากรแห่งยูดาถวายเด็กเป็นบูชายัญแด่โมเล็ก
[ภาพหน้า 15]
ความรู้เกี่ยวกับราชกิจอันทรงฤทธิ์ของพระยะโฮวากระตุ้นยะซายาให้สรรเสริญพระนามของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 16]
ผู้ชอบธรรมจะอาบเอิบในความสว่างของพระยะโฮวาตลอดไป