ซีริลและเมโทดีอุส—ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลที่ประดิษฐ์อักขระ
ซีริลและเมโทดีอุส—ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลที่ประดิษฐ์อักขระ
“ชาติเราเป็นชาติที่รับศีลบัพติสมา แต่กระนั้น เราไม่มีครู. เราไม่เข้าใจทั้งภาษากรีกและลาติน. . . . เราไม่เข้าใจไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรหรือความหมายของตัวอักษร; ด้วยเหตุนี้ ขอได้โปรดส่งครูที่สามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับพระคำและความหมายของพระคำในพระคัมภีร์มาให้เรา.”—ราสติสลาฟ เจ้าชายแห่งโมเรเวีย ส.ศ. 862.
ปัจจุบัน ประชาชนมากกว่า 435 ล้านคนซึ่งพูดภาษาต่าง ๆ ในตระกูลภาษาสลาฟมีโอกาสที่จะได้อ่านฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลในภาษาพื้นบ้านของตนเอง. * ในจำนวนดังกล่าว 360 ล้านคนใช้อักขระซีริลลิก. แม้กระนั้น เมื่อ 12 ศตวรรษที่แล้ว ไม่มีทั้งภาษาเขียนและอักขระในภาษาถิ่นของบรรพบุรุษพวกเขา. ผู้ที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์นี้คือสองพี่น้องผู้มีนามว่าซีริลและเมโทดีอุส. ผู้คนที่รักพระคำของพระเจ้าจะพบว่าความพยายามที่กล้าหาญและสร้างสรรค์ของพี่น้องคู่นี้ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อันน่าทึ่งในการพิทักษ์และส่งเสริมคัมภีร์ไบเบิล. ชายสองคนนี้เป็นใคร และทั้งสองเผชิญกับอุปสรรคอะไรบ้าง?
“นักปรัชญา” และผู้ว่าการมณฑล
ซีริล (ส.ศ. 827-869 เดิมชื่อคอนสแตนติน) และเมโทดีอุส (ส.ศ. 825-885) เกิดในตระกูลคนชั้นสูงในเมืองเทสซาโลนีกา ประเทศกรีซ. ในเวลานั้น เทสซาโลนีกาเป็นเมืองซึ่งใช้สองภาษา; ประชากรพูดภาษากรีกและภาษาที่เป็นรูปหนึ่งของภาษาสลาฟ. เนื่องจากมีชาวสลาฟอยู่จำนวนมากและมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดระหว่างประชากรทั้งสองภาษา อีกทั้งมีชุมชนชาวสลาฟตั้งอยู่รอบ ๆ จึงอาจทำให้ซีริลและเมโทดีอุสมีโอกาสได้รู้จักภาษาของชาวสลาฟทางตอนใต้เป็นอย่างดี. ผู้เขียนชีวประวัติของเมโทดีอุสคนหนึ่งถึงกับกล่าวถึงมารดาของทั้งสองว่ามีเชื้อสายสลาฟ.
หลังจากบิดาเสียชีวิต ซีริลย้ายมาอยู่ที่คอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์. ที่นั่น เขาเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งจักรพรรดิเป็นผู้อุปถัมภ์ และได้คบหากับอาจารย์เด่น ๆ บางคน. ในเวลาต่อมา เขาได้เป็นบรรณารักษ์ประจำหอสมุดอาเยีย โซเฟีย ซึ่งเป็นอาคารของคริสตจักรที่โดดเด่นที่สุดในซีกโลกตะวันออก และต่อมาก็ได้เป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญา. ที่จริง เนื่องด้วยความสำเร็จของเขาด้านการศึกษา ซีริลถูกเรียกขานด้วยฉายานาม นักปรัชญา.
ในขณะเดียวกัน เมโทดีอุสเจริญรอยตามบิดาในด้านงานอาชีพ คือเป็นนักบริหารทางการเมือง. เขาก้าวหน้าจนได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลชายแดนแห่งหนึ่งของ
ไบแซนไทน์ซึ่งมีชาวสลาฟอยู่เป็นจำนวนมาก. อย่างไรก็ตาม เขาถอนตัวมาใช้ชีวิตที่อารามแห่งหนึ่งในบิทีเนีย เอเชียไมเนอร์. ซีริลได้มาสมทบกับเขาที่นั่นในปี ส.ศ. 855.ในปี ส.ศ. 860 สังฆราชแห่งคอนสแตนติโนเปิลส่งสองพี่น้องนี้ให้ไปปฏิบัติภารกิจต่างแดน. ทั้งสองถูกส่งไปหาพวกคาซาร์ ชนที่อาศัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลดำ ซึ่งยังคงลังเลอยู่ว่าจะตัดสินใจถือศาสนาอะไรดี อิสลาม, ยูดาย, หรือคริสเตียน. ระหว่างที่เดินทางไปที่นั่น ซีริลพักอยู่ชั่วระยะหนึ่งที่เคอร์ซอนีส แหลมไครเมีย. ผู้คงแก่เรียนบางคนเชื่อว่าเขาเรียนรู้ภาษาฮีบรูและภาษาซะมาเรียที่นั่น และเขาแปลไวยากรณ์ฮีบรูเป็นภาษาคาซาร์ที่นั่น.
คำร้องขอจากโมเรเวีย
ในปี ส.ศ. 862 ราสติสลาฟ เจ้าชายแห่งโมเรเวีย (ปัจจุบันคือเชกเกียตะวันออก, สโลวะเกียตะวันตก, และฮังการีตะวันตก) ส่งคำขอตามที่ปรากฏในย่อหน้าแรกไปถึงมิคาเอลที่สาม จักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์—ขอให้ส่งครูสอนพระคัมภีร์. ประชากรที่พูดภาษาสลาฟของโมเรเวียมีความรู้เกี่ยวกับคำสอนของคริสตจักรอยู่แล้วจากพวกมิชชันนารีที่มาจากอาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก (ปัจจุบันคือเยอรมนีและออสเตรีย). อย่างไรก็ตาม ราสติสลาฟเป็นห่วงในเรื่องอิทธิพลทางการเมืองและอิทธิพลของคริสตจักรของพวกเผ่าเยอรมานิก. พระองค์หวังจะให้ความสัมพันธ์ทางศาสนากับคอนสแตนติโนเปิลช่วยชาติของพระองค์ในการรักษาไว้ซึ่งการปกครองตนเองในทางการเมืองและทางศาสนา.
จักรพรรดิตัดสินพระทัยส่งเมโทดีอุสและซีริลไปโมเรเวีย. หากจะว่ากันในด้านวิชาการชั้นสูง, การศึกษา, และภาษา นับได้ว่าพี่น้องสองคนนี้มีคุณวุฒิเพียบพร้อมที่จะนำในภารกิจดังกล่าว. ผู้เขียนชีวประวัติคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่เก้าสากลศักราชแจ้งให้เราทราบว่า เพื่อกระตุ้นทั้งสองให้ไปยังโมเรเวีย จักรพรรดิทรงหาเหตุผลดังนี้: “ท่านทั้งสองเป็นชาวเทสซาโลนีกาโดยกำเนิด และชาวเทสซาโลนีกาพูดภาษาสลาฟแท้ ๆ กันทุกคน.”
อักขระและฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลถือกำเนิด
ช่วงหลายเดือนก่อนออกเดินทาง ซีริลเตรียมตัวสำหรับภารกิจนี้ด้วยการพัฒนาอักขระสำหรับชาวสลาฟ. กล่าวกันว่าเขามีหูที่ไวมากในทางสัทศาสตร์. ด้วยเหตุนั้น โดยใช้อักขระภาษากรีกและฮีบรู เขาพยายามคิดตัวอักษรสำหรับเสียงพูดแต่ละเสียงในภาษาสลาโวนิก. * นักวิจัยบางคนเชื่อว่าเขาได้ใช้เวลาก่อนหน้านั้นมาหลายปีแล้วในการวางรากฐานไว้สำหรับอักขระแต่ละตัว. และยังคงเป็นเรื่องที่ไม่แน่ใจกันนักว่าอักขระแบบใดกันแน่ที่ซีริลคิดขึ้น.—โปรดดูในกรอบ “อักขระซีริลลิกหรือแกล็กกอลิติก?”
ในขณะเดียวกัน ซีริลได้เริ่มโครงการเร่งด่วนในการแปล
คัมภีร์ไบเบิล. ตามคำเล่าสืบปาก เขาได้แปลภาษากรีกเป็นภาษาสลาโวนิกโดยเริ่มที่วลีแรกของพระธรรมกิตติคุณของโยฮัน โดยใช้อักขระที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมา: “เมื่อเดิมนั้นพระวาทะเป็นอยู่แล้ว . . . ” ต่อจากนั้น ซีริลจึงได้แปลพระธรรมกิตติคุณทั้งสี่, จดหมายฉบับต่าง ๆ ของเปาโล, และพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ.เขาทำงานคนเดียวไหม? เป็นไปได้มากทีเดียวว่าเมโทดีอุสคงได้ช่วยในงานนี้. นอกจากนั้น หนังสือประวัติศาสตร์ยุคกลางโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ไม่ยากที่จะนึกได้ว่ามีบางคนที่ช่วย [ซีริล] ซึ่งในประการแรกเลยนั้น คงต้องเป็นคนพื้นเมืองชาวสลาฟที่รู้ภาษากรีก. หากเราตรวจสอบฉบับแปลที่เก่าที่สุด . . . เรามีหลักฐานที่ดีเยี่ยมซึ่งบ่งชี้ว่ามีการใช้คำภาษาสลาโวนิกในระดับที่ลึกซึ้งมาก ซึ่งคงต้องเป็นผลมาจากผู้ร่วมงานที่เป็นชาวสลาฟเอง.” ส่วนที่เหลือของคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเสร็จสิ้นในเวลาต่อมาโดยเมโทดีอุส ดังที่เราจะได้เห็นกันต่อไป.
“เหมือนอีการุมพญาเหยี่ยว”
ในปี ส.ศ. 863 ซีริลและเมโทดีอุสเริ่มปฏิบัติภารกิจในโมเรเวีย ซึ่งที่นั่นทั้งสองได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น. งานที่ทั้งสองทำนั้นรวมไปถึงงานสอนคนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งให้เรียนอักขระสลาโวนิกที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา นอกเหนือไปจากการแปลคัมภีร์ไบเบิลและบทสวด.
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย. คณะนักบวชชาวแฟรงก์ในโมเรเวียต่อต้านอย่างรุนแรงต่อการใช้ภาษาสลาโวนิก. พวกเขาเชื่อในทฤษฎีสามภาษาที่ถือว่าเฉพาะภาษาลาติน, กรีก, และฮีบรูเท่านั้นเป็นภาษาซึ่งยอมรับได้สำหรับใช้ในการนมัสการ. โดยหวังจะได้รับการสนับสนุนจากโปปสำหรับภาษาเขียนที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมานี้ สองพี่น้องจึงเดินทางไปยังกรุงโรมในปี ส.ศ. 867.
ระหว่างทาง ที่เมืองเวนิซ ซีริลและเมโทดีอุสเผชิญหน้ากับนักบวชคาทอลิกที่ยึดจารีตภาษาลาตินอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเชื่อในทฤษฎีสามภาษา. ผู้เขียนชีวประวัติของซีริลในยุคกลางบอกเราว่า บิชอป, นักเทศน์, และพวกพระทั้งหลายรุมสับโขกเขา “เหมือนอีการุมพญาเหยี่ยว.” ตามบันทึกดังกล่าว ซีริลโต้ตอบโดยยก 1 โกรินโธ 14:8, 9 ที่ว่า “ถ้าแตรเดี่ยวนั้นเปล่งเสียงไม่ชัดเจน, ใครเล่าจะเตรียมตัวเข้าประจัญบานข้าศึก? ฝ่ายท่านทั้งหลายเป็นเช่นนั้น ถ้าท่านไม่ใช้ภาษาคำพูดที่เข้าใจได้ง่าย, เขาจะเข้าใจคำพูดนั้นอย่างไรได้? ท่านก็จะพูดเพ้อตามลมไป.”
ในที่สุด เมื่อสองพี่น้องไปถึงกรุงโรม โปปเอเดรียนที่สองเห็นชอบด้วยเต็มที่กับทั้งสองในเรื่องการใช้ภาษาสลาโวนิก. หลังจากผ่านไปหลายเดือน และขณะยังอยู่ในกรุงโรม ซีริลเกิดป่วยอย่างหนัก. ไม่ถึงสองเดือนต่อมา เขาก็เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 42 ปี.
โปปเอเดรียนที่สองสนับสนุนเมโทดีอุสให้กลับไปทำงานในโมเรเวียและเขตโดยรอบของเมืองนีตรา ซึ่งปัจจุบันคือสโลวะเกีย. โดยหวังจะสร้างอิทธิพลที่แข็งแกร่งเหนือพื้นที่นั้น โปปมอบจดหมายรับรองการใช้ภาษาสลาโวนิกแก่เมโทดีอุสและแต่งตั้งเขาเป็นอาร์ชบิชอป. อย่างไรก็ตาม ในปี ส.ศ. 870 เฮอร์มานริก บิชอปชาวแฟรงก์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าชายสวาโตปลุกแห่งนีตรา ออกคำสั่งให้จับกุมเมโทดีอุส. เขาถูกจำคุกสองปีครึ่งในอารามแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเยอรมนี. ในที่สุด โปปจอห์นที่แปด ผู้สืบตำแหน่งต่อจากเอเดรียนที่สอง มีคำสั่งให้ปล่อยเมโทดีอุส, ตั้งเขาให้กลับเข้าอยู่ในเขตปกครองของตน, และให้การยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าโปปสนับสนุนการใช้ภาษาสลาโวนิกในการนมัสการ.
แต่การต่อต้านจากคณะนักบวชชาวแฟรงก์ดำเนินต่อไป. เมโทดีอุสแก้ต่างให้ตัวเขาเองในข้อหาออกหากได้สำเร็จ และในที่สุดเขาได้รับราชกฤษฎีกาจากโปปจอห์นที่แปดซึ่งให้อำนาจอย่างชัดเจนให้ใช้ภาษาสลาโวนิกในคริสตจักรได้. ดังที่จอห์น ปอลที่สองซึ่งดำรงตำแหน่งโปปคนปัจจุบันยอมรับ ชีวิตของเมโทดีอุสถูกใช้ไป “ในการเดินทาง, การถูกกีดกัน, ความทุกข์ยาก, ความเป็นปฏิปักษ์และการกดขี่ . . . แม้กระทั่งการถูกจำคุกอย่างโหดร้ายอยู่ระยะหนึ่ง.” แปลกแต่จริง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากน้ำมือของบิชอปและเจ้าชายซึ่งมีทัศนะที่ดีต่อโรม.
คัมภีร์ไบเบิลครบชุดได้รับการแปล
แม้ประสบกับการต่อต้านอย่างไม่ละลด เมโทดีอุสซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากนักจดชวเลขหลายคนได้แปลส่วนที่เหลือของคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาสลาโวนิกจนเสร็จ. ตามคำเล่าสืบปาก เขาทำงานใหญ่นี้สำเร็จในเวลาเพียงแปดเดือน. อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้แปลพระธรรมนอกสารบบของพวกแมกคาบี.
ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประเมินอย่างถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพของงานแปลที่ทำโดยซีริลและเมโทดีอุส. มีฉบับสำเนาเพียงไม่กี่ฉบับที่ยังคงมีอยู่ซึ่งคัดลอกใกล้กับเวลาที่แปลเป็นครั้งแรก. ด้วยการตรวจสอบตัวอย่างงานแปลในยุคแรก ๆ เหล่านั้นซึ่งมีไม่กี่ฉบับ นักภาษาศาสตร์ชี้ว่าการแปลมีความถูกต้องแม่นยำและกระจ่างชัดโดยปราศจากการปรุงแต่ง. หนังสือคัมภีร์ไบเบิลภาษาสลาฟของเรา (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่าสองพี่น้องนี้ “ต้องคิดคำและวลีใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย . . . และทั้งสองทำทั้งหมดนี้ด้วยความแม่นยำที่น่าทึ่ง [และ] ทำให้ภาษาสลาฟมีคำในบัญชีศัพท์มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน.”
มรดกที่ยั่งยืน
หลังจากเมโทดีอุสเสียชีวิตในปี ส.ศ. 885 บรรดาลูกศิษย์ลูกหาของเขาถูกชาวแฟรงก์ที่เป็นปฏิปักษ์ขับไล่ออกจากโมเรเวีย. คนเหล่านี้ลี้ภัยไปอยู่ที่โบฮีเมีย, ภาคใต้ของโปแลนด์, และบัลแกเรีย. โดยวิธีนี้ งานของซีริลและเมโทดีอุสจึงถูกนำไปและแพร่กระจายอย่างแท้จริง. ภาษาสลาโวนิกซึ่งได้รับรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรและถาวรกว่าโดยสองพี่น้องนี้ได้เฟื่องฟู, พัฒนา, และในเวลาต่อมาแตกออกเป็นหลายภาษา. ปัจจุบัน ภาษาในตระกูลภาษาสลาฟมี 13 ภาษารวมถึงภาษาถิ่นอีกหลายภาษา.
นอกจากนั้น ความพยายามที่กล้าหาญของซีริลและเมโทดีอุสในการแปลคัมภีร์ไบเบิลเกิดดอกออกผลโดยที่ในปัจจุบันมีฉบับแปลพระคัมภีร์ในภาษาสลาฟหลายฉบับ. หลายล้านคนที่พูดภาษาเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากการมีพระคำของพระเจ้าในภาษาของตนเอง. แม้ว่าประสบกับการต่อต้านที่น่าขมขื่น แต่ถ้อยคำดังต่อไปนี้ช่างเป็นจริงสักเพียงไร ที่ว่า “พระดำรัสของพระเจ้าของเราจะยั่งยืนอยู่เป็นนิจ”!—ยะซายา 40:8.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ภาษาในตระกูลภาษาสลาฟใช้พูดกันในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง ซึ่งรวมถึงภาษารัสเซีย, ยูเครน, เซอร์เบีย, โปแลนด์, เชก, บัลแกเรีย, และภาษาอื่นที่คล้ายกัน.
^ วรรค 13 ภาษา “สลาโวนิก” ที่ใช้ในบทความนี้หมายถึงภาษาถิ่นของภาษาสลาฟที่ซีริลและเมโทดีอุสใช้ในภารกิจและงานเขียนของเขา. บางคนในปัจจุบันใช้คำ “ภาษาสลาโวนิกดั้งเดิม” หรือ “ภาษาสลาโวนิกแห่งคริสตจักรเดิม.” นักภาษาศาสตร์เห็นพ้องกันว่า ไม่มีภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นภาษาร่วมที่ชาวสลาฟในศตวรรษที่ 9 ใช้.
[กรอบหน้า 29]
อักขระซีริลลิกหรือแกล็กกอลิติก?
ลักษณะพื้นฐานของอักขระที่ซีริลประดิษฐ์ขึ้นได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันมาก เนื่องจากนักภาษาศาสตร์ไม่แน่ใจว่าเป็นอักขระชนิดใดแน่. อักขระที่เรียกกันว่าอักขระซีริลลิกมีโครงสร้างพื้นฐานใกล้เคียงมากกับอักขระกรีก โดยมีตัวอักษรเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยสิบสองตัวซึ่งประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแทนเสียงในภาษาสลาโวนิกที่ไม่มีในภาษากรีก. อย่างไรก็ตาม ฉบับสำเนาภาษาสลาโวนิกที่เก่าที่สุดบางฉบับใช้อักขระที่ต่างกันมาก ซึ่งเรียกกันว่าอักขระแกล็กกอลิติก และผู้คงแก่เรียนหลายคนเชื่อว่าซีริลเป็นผู้ประดิษฐ์อักขระนี้. มีอักขระแกล็กกอลิติกสองสามตัวที่ดูเหมือนมาจากอักขระกรีกหรือฮีบรูแบบตัวมน. มีอักขระบางตัวที่อาจได้มาจากเครื่องหมายเสริมสัทอักษรของยุคกลาง แต่ส่วนใหญ่คิดสร้างขึ้นใหม่และซับซ้อน. อักขระแกล็กกอลิติกดูเหมือนว่าเป็นผลงานการสร้างที่มีลักษณะเฉพาะที่เด่นมากและเป็นต้นแบบที่คิดขึ้นเอง. อย่างไรก็ตาม อักขระซีริลลิกคืออักขระที่ใช้พัฒนามาเป็นอักขระปัจจุบันของภาษารัสเซีย, ยูเครน, เซอร์เบีย, บัลแกเรีย, และมาซิโดเนีย, และภาษาอื่นอีก 22 ภาษาซึ่งบางภาษาไม่อยู่ในตระกูลภาษาสลาฟ.
[Artwork—Cyrillic and Glagolitic characters]
[แผนที่หน้า 31]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ทะเลบอลติก
(โปแลนด์)
โบฮีเมีย (เชกเกีย)
โมเรเวีย (เชกเกียตะวันออก, สโลวะเกียตะวันตก, ฮังการีตะวันตก)
เมืองนีตรา
อาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก (เยอรมนีและออสเตรีย)
อิตาลี
เมืองเวนิซ
โรม
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
บัลแกเรีย
กรีซ
เทสซาโลนีกา
(แหลมไครเมีย)
ทะเลดำ
บิทีเนีย
กรุงคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูล)
[ภาพหน้า 31]
คัมภีร์ไบเบิลภาษาสลาโวนิกซึ่งใช้อักขระซีริลลิกจากปี 1581
[ที่มาของภาพหน้า 31]
Bible: Narodna in univerzitetna knjiz̆nica-Slovenija-Ljubljana