ผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงที่กล้าหาญมีชัยเหนือการข่มเหงของนาซี
ยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่น
ผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงที่กล้าหาญมีชัยเหนือการข่มเหงของนาซี
“บุตรชายของเราเอ๋ย จงฉลาด และกระทำใจของเราให้ยินดีเพื่อเราจะตอบบุคคลที่ตำหนิเราได้.” (สุภาษิต 27:11, ฉบับแปลใหม่) คำอ้อนวอนอันอบอุ่นนี้เผยให้เห็นว่าสิ่งทรงสร้างของพระเจ้าซึ่งมีเชาวน์ปัญญาสามารถทำให้พระทัยพระยะโฮวายินดีได้เพราะพวกเขาซื่อสัตย์และภักดีต่อพระองค์. (ซะฟันยา 3:17) อย่างไรก็ตาม ซาตานผู้ที่ตำหนิเยาะเย้ย ตั้งใจจะทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของคนเหล่านั้นที่รับใช้พระยะโฮวา.—โยบ 1:10, 11.
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เมื่อมันถูกเหวี่ยงจากสวรรค์มายังบริเวณแผ่นดินโลก ซาตานได้แสดงความโกรธยิ่งนักต่อไพร่พลของพระยะโฮวา. (วิวรณ์ 12:10, 12) ถึงกระนั้น คริสเตียนแท้ก็ได้ยืนหยัด “อย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่น” และได้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้า. (โกโลซาย 4:12, ล.ม.) ขอให้เราพิจารณาสั้น ๆ ถึงตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นเกี่ยวกับการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงดังกล่าว—ตัวอย่างของพยานพระยะโฮวาในเยอรมนีช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2.
กิจการงานที่ทำด้วยใจแรงกล้านำไปสู่ การทดสอบความซื่อสัตย์มั่นคง
ในทศวรรษ 1920 และต้นทศวรรษ 1930 บีเบลฟอร์เชอร์ (พวกนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล) ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้นในเยอรมนี ได้แจกจ่ายสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลจำนวนมากมาย. ระหว่างปี 1919 ถึงปี 1933 โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขาได้จำหน่ายหนังสือปกแข็ง, หนังสือเล่มเล็ก, หรือวารสารแปดเล่มให้แก่แต่ละครอบครัวในเยอรมนี.
ในตอนนั้น เยอรมนีมีสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์กลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง. ที่จริง ในจำนวน 83,941 คนทั่วโลกซึ่งได้รับประทานอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าในปี 1933 เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์อยู่ในเยอรมนี. ไม่นานนัก พยานฯ ชาวเยอรมันเหล่านี้ได้ประสบการทดสอบความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างหนักหน่วง. (วิวรณ์ 12:17; 14:12) การถูกไล่ออกจากงาน, ถูกตรวจค้นบ้าน, และถูกไล่ออกจากโรงเรียน แล้วก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนกลายมาเป็นการทุบตี, การจับกุม, และการจำคุก. (ภาพที่ 1) ฉะนั้น ในช่วงไม่กี่ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในบรรดาคนเหล่านั้นที่ถูกกักตัวอยู่ในค่ายกักกันประกอบด้วยพยานพระยะโฮวา 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์.
สาเหตุที่พวกนาซีข่มเหงพวกพยานฯ
แต่ทำไมพยานพระยะโฮวายั่วยุให้ผู้ปกครองของระบบนาซีเกิดความเดือดดาล? ในหนังสือฮิตเลอร์—1889-1936: ความหยิ่งยโส (ภาษาอังกฤษ) เอียน เคอร์ชา ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ให้ข้อสังเกตว่า พวกพยานฯ กลายเป็นเป้าของการข่มเหงเพราะพวกเขาปฏิเสธ “ที่จะยอมจำนนต่อการอ้างสิทธิ์โดยเด็ดขาดของรัฐนาซี.”
หนังสือการทรยศ—คริสตจักรต่าง ๆ ของเยอรมนีและการสังหารหมู่พลเรือนโดยพวกนาซี (ภาษาอังกฤษ) เรียบเรียงโดยโรเบิร์ต พี. เอริกสัน ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์และซูซานนา เฮชเชล ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเกี่ยวกับชาวยิว ได้อธิบายว่า พวกพยานฯ “ไม่ยอมเข้าส่วน
ร่วมในความรุนแรงหรือการใช้กำลังทางทหาร. . . . พวกพยานฯ เชื่อในความเป็นกลางทางด้านการเมือง ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่ลงคะแนนเสียงให้ฮิตเลอร์หรือแสดงคารวะต่อฮิตเลอร์.” หนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังกล่าวเสริมว่า เรื่องนี้ยั่วยุความโกรธของพวกนาซีและทำให้พวกพยานฯ อยู่ในฐานะที่ถูกทำร้ายได้ง่าย เพราะ “พรรคสังคมนิยมแห่งชาติจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับการปฏิเสธดังกล่าว.”การประท้วงทั่วโลกและการโจมตีอย่างสุดกำลัง
โดยผู้ส่งข่าวพิเศษ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1934 โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ผู้ซึ่งเป็นแนวหน้าของงานในตอนนั้น ได้ส่งจดหมายประท้วงถึงฮิตเลอร์เพื่อตอบโต้การไม่ยอมอ่อนข้อให้ของพรรคนาซี. (ภาพที่ 2) ในวันที่ 7 ตุลาคม 1934 หลังจากจดหมายของรัทเทอร์ฟอร์ด ก็มีจดหมายและโทรเลขประท้วงราว ๆ 20,000 ฉบับจากพยานพระยะโฮวาใน 50 ประเทศ รวมทั้งเยอรมนีด้วยส่งถึงฮิตเลอร์.
พวกนาซีตอบโต้โดยเพิ่มการข่มเหงมากขึ้น. ในวันที่ 1 เมษายน 1935 พวกพยานฯ ถูกสั่งห้ามทั่วประเทศ. และในวันที่ 28 สิงหาคม 1936 หน่วยตำรวจเกสตาโปเปิดฉากโจมตีพวกเขาอย่างสุดกำลัง. หนังสือการทรยศ—คริสตจักรต่าง ๆ ของเยอรมนีและการสังหารหมู่พลเรือนโดยพวกนาซี ให้ข้อสังเกตว่า ถึงกระนั้น พวกพยานฯ “ก็ยังคงแจกจ่ายหนังสือเล่มเล็กหรือมิฉะนั้นก็รักษาความเชื่อของพวกเขาไว้ต่อไป.”
ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 12 ธันวาคม 1936 พยานฯ ประมาณ 3,500 คนได้แจกจ่ายมติที่พิมพ์เกี่ยวกับการทารุณที่พวกเขาประสบเป็นจำนวนหลายหมื่นใบ ต่อหน้าต่อตาหน่วยตำรวจเกสตาโปทีเดียว. วารสารหอสังเกตการณ์ รายงานเกี่ยวกับการรณรงค์นี้ว่า “เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่และเป็นดุจการจ้วงแทงศัตรู ยังความยินดีเหลือที่จะพรรณนาแก่เหล่าผู้ทำงานที่ซื่อสัตย์.”—โรม 9:17.
การข่มเหงล้มเหลว!
พวกนาซียังคงค้นหาตัวพยานพระยะโฮวาอยู่ต่อไป. ถึงปี 1939 พวกเขาหกพันคนถูกจำคุก และหลายพันคนถูกส่งไปยังค่ายกักกัน. (ภาพที่ 3) พอถึงตอนสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์เป็นเช่นไร? พยานฯ ที่ถูกจำคุกเสียชีวิตประมาณ 2,000 คน, มากกว่า 250 คนถูกประหารชีวิต. ถึงกระนั้น ศาสตราจารย์เอริกสันและเฮชเชลได้เขียนว่า “พยานพระยะโฮวาส่วนใหญ่ยึดมั่นกับความเชื่อของเขาถึงแม้จะเผชิญความยุ่งยากลำบาก.” ผลก็คือ เมื่อการปกครองของฮิตเลอร์ล่มสลาย พยานฯ มากกว่าหนึ่งพันคนปรากฏออกมาจากค่ายอย่างมีชัย.—ภาพที่ 4; กิจการ 5:38, 39; โรม 8:35-37, ล.ม.
อะไรทำให้ไพร่พลของพระยะโฮวามีกำลังที่จะอดทนการข่มเหง? อะดอล์ฟ อาร์โนลด์ ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันได้ชี้แจงว่า “ถึงแม้จะอ่อนแรงเหลือเกิน พระยะโฮวาก็ทรงมองเห็นเรา ทรงทราบว่าเราประสบอะไร และพระองค์จะประทานเรี่ยวแรงที่จำเป็นให้เราเพื่อเอาชนะสถานการณ์นั้นและคงความซื่อสัตย์ต่อไป. พระหัตถ์ของพระองค์มิได้สั้นเกินไป.”
ถ้อยคำของผู้พยากรณ์ซะฟันยานำมาใช้ได้อย่างเหมาะเจาะเพียงไรกับคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์เหล่านั้น! ท่านได้ประกาศว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของท่านก็สถิตอยู่ในท่ามกลางท่าน, พระองค์ประกอบด้วยฤทธิ์อันยิ่งก็จะช่วยให้รอด, พระองค์จะชอบพระทัยในท่านด้วยความยินดี.” (ซะฟันยา 3:17) ขอให้ผู้นมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้ทุกคนในปัจจุบันเลียนแบบความเชื่อของพยานฯ ผู้ภักดีเหล่านั้นซึ่งได้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงแม้เผชิญกับการข่มเหงของพวกนาซีและทำให้พระทัยของพระยะโฮวาชื่นชมยินดีเช่นกัน.—ฟิลิปปอย 1:12-14.
[ที่มาของภาพหน้า 8]
Państwowe Muzeum Oświȩcim-Brzezinka, courtesy of the USHMM Photo Archives