ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เปาโลจัดระเบียบการบริจาคเพื่อบรรเทาทุกข์สำหรับเหล่าผู้บริสุทธิ์

เปาโลจัดระเบียบการบริจาคเพื่อบรรเทาทุกข์สำหรับเหล่าผู้บริสุทธิ์

เปาโล​จัด​ระเบียบ​การ​บริจาค​เพื่อ​บรรเทา​ทุกข์​สำหรับ​เหล่า​ผู้​บริสุทธิ์

ผล​ประโยชน์​ฝ่าย​วิญญาณ​มี​ความ​สำคัญ​เป็น​อันดับ​แรก​สำหรับ​คริสเตียน​แท้. ถึง​กระนั้น ความ​ห่วงใย​ต่อ​สวัสดิภาพ​ทาง​กาย​ของ​คน​อื่น​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​สำหรับ​พวก​เขา​ด้วย. บ่อย​ครั้ง​พวก​เขา​ได้​จัด​หา​ให้​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก. ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​กระตุ้น​ให้​คริสเตียน​ช่วยเหลือ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​ขัดสน.—โยฮัน 13:34, 35.

ความ​รัก​ต่อ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ฝ่าย​วิญญาณ​ได้​กระตุ้น​อัครสาวก​เปาโล​ให้​จัด​ระเบียบ​การ​บริจาค​ใน​ท่ามกลาง​ประชาคม​ใน​มณฑล​อะฆายะ, ฆะลาเตีย, มากะโดเนีย, และ​มณฑล​อาเซีย. อะไร​ทำ​ให้​เรื่อง​นี้​จำเป็น? ได้​มี​การ​จัด​ระเบียบ​โครงการ​บรรเทา​ทุกข์​อย่าง​ไร? การ​ตอบรับ​เป็น​เช่น​ไร? และ​ทำไม​เรา​ควร​สนใจ​สิ่ง​ที่​ได้​เกิด​ขึ้น?

สถานการณ์​ของ​ประชาคม​ยะรูซาเลม

หลัง​จาก​เทศกาล​เพนเตคอสเต ส.ศ. 33 ชาว​ยิว​และ​คน​ที่​เปลี่ยน​มา​ถือ​ศาสนา​ยิว​จาก​ที่​อื่น​ซึ่ง​เข้า​มา​เป็น​สาวก​ใน​วัน​เพนเตคอสเต​ยัง​คง​อยู่​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม​ต่อ​ไป​ชั่ว​ระยะ​หนึ่ง​เพื่อ​เรียน​รู้​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​แท้. ใน​กรณี​ที่​จำเป็น เพื่อน​ร่วม​นมัสการ​ยินดี​ช่วย​แบก​ภาระ​ใน​การ​ที่​ต้อง​พัก​อยู่​ต่อ​ไป​เช่น​นั้น. (กิจการ 2:7-11, 41-44; 4:32-37) ความ​ไม่​สงบ​ภาย​ใน​เมือง​อาจ​ยัง​ผล​ด้วย​ความ​ขัดสน​ยิ่ง​ขึ้น​ไป​อีก​เมื่อ​ชาว​ยิว​ที่​นิยม​ชาติ​ปลุกปั่น​ให้​เกิด​การ​กบฏ​และ​ฝูง​ชน​ที่​ก่อ​ความ​รุนแรง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพื่อ​ที่​จะ​ไม่​มี​สาวก​คน​ใด​ของ​พระ​คริสต์​ต้อง​ประสบ​ความ​หิว​โหย จึง​มี​การ​แจก​จ่าย​สิ่ง​ของ​ทุก​วัน​ให้​แก่​แม่​ม่าย​ที่​ขัดสน. (กิจการ 6:1-6) เฮโรด​ได้​ข่มเหง​ประชาคม​อย่าง​รุนแรง และ​ใน ส.ศ. 45 การ​กันดาร​อาหาร​ได้​สร้าง​ความ​เสียหาย​แก่​แคว้น​ยูเดีย. ตราบ​ใด​ที่​มี​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย เหตุ​การณ์​ทั้ง​หมด​นี้​อาจ​ยัง​ผล​เป็น “ความ​ยาก​ลำบาก,” “[การ] ข่มเหง,” และ “[การ] ปล้น​ชิง​เอา​สิ่ง​ของ​ของ [เขา] ไป” ดัง​ที่​เปาโล​กล่าว.—เฮ็บราย 10:32-34; กิจการ 11:27–12:1.

ใน​ราว​ปี ส.ศ. 49 สถานการณ์​ยัง​คง​ย่ำแย่​อยู่. ดัง​นั้น หลัง​จาก​ตก​ลง​กัน​ว่า​เปาโล​จะ​มุ่ง​ความ​สนใจ​ใน​การ​ประกาศ​เผยแพร่​แก่​คน​ต่าง​ชาติ เปโตร, ยาโกโบ, และ​โยฮัน​ได้​กระตุ้น​ท่าน ‘ไม่​ให้​ลืม​คน​จน.’ นั่น​คือ​สิ่ง​ที่​เปาโล​ได้​พยายาม​ทำ.—ฆะลาเตีย 2:7-10.

การ​จัด​ระเบียบ​เงิน​บริจาค

เปาโล​ดู​แล​เงิน​ทุน​สำหรับ​คริสเตียน​ที่​ยาก​จน​ใน​แคว้น​ยูเดีย. ใน​ราว ส.ศ. 55 ท่าน​ได้​บอก​ชาว​โกรินโธ​ว่า “เรื่อง​การ​เรี่ยไร​สำหรับ​สิทธชน​นั้น, ข้าพเจ้า​ได้​สั่ง​คริสตจักร​ที่​มณฑล​ฆะลาเตีย​อย่าง​ไร, ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​กระทำ​เหมือน​อย่าง​นั้น. ทุก​วัน​อาทิตย์​ให้​พวก​ท่าน​ทุก​คน​เก็บ​เงิน​ผล​ประโยชน์​ที่​ได้​ไว้​บ้าง . . . [ครั้น​แล้ว] พวก​ท่าน​จะ​เห็น​ชอบ​เลือก​ผู้​ใด​ไป​แทน, ข้าพเจ้า​จะ​ใช้​ผู้​นั้น​ถือ​หนังสือ​และ​เงิน​ถวาย​ของ​ท่าน​ส่ง​ไป​ยัง​กรุง​ยะรูซาเลม.” (1 โกรินโธ 16:1-3) หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา​เปาโล​ได้​กล่าว​ว่า​พวก​มากะโดเนีย​และ​พวก​อะฆายะ​ได้มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​บรรเทา​ทุกข์​นั้น. และ​เมื่อ​มี​การ​ส่ง​เงิน​ที่​ได้​รับ​บริจาค​นั้น​ไป​ยัง​กรุง​ยะรูซาเลม การ​ที่​ตัว​แทน​จาก​มณฑล​อาเซีย​อยู่​ที่​นั่น​ดู​เหมือน​จะ​บ่ง​บอก​ว่า​ประชาคม​ต่าง ๆ ใน​เขต​นั้น​ได้​บริจาค​ด้วย​เช่น​กัน.—กิจการ 20:4; 2 โกรินโธ 8:1-4; 9:1, 2.

ไม่​มี​ใคร​ถูก​บีบ​ให้​บริจาค​เกิน​กว่า​ที่​เขา​จะ​สามารถ​ให้​ได้. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น นั่น​เป็น​เรื่อง​ของ​การ​ให้​กัน​ไป​ให้​กัน​มา​เพื่อ​คน​ที่​มี​บริบูรณ์​จะ​ช่วย​คน​ที่​ขัดสน​ใน​ท่ามกลาง​ผู้​บริสุทธิ์​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม​และ​แคว้น​ยูเดีย. (2 โกรินโธ 8:13-15) เปาโล​กล่าว​ว่า “ทุก​คน​จง​ให้​ตาม​ซึ่ง​เขา​ได้​คิด​หมาย​ไว้​ใน​ใจ​มิ​ใช่​ด้วย​นึก​เสียดาย, มิ​ใช่​ด้วย​ขืน​ใจ​ให้ เพราะ​ว่า​พระเจ้า​ทรง​รัก​คน​นั้น​ที่​ให้​ด้วย​ใจ​ยินดี.”—2 โกรินโธ 9:7.

อัครสาวก​ให้​เหตุ​ผล​ที่​ดี​แก่​ชาว​โกรินโธ​ที่​จะ​เป็น​คน​ใจ​กว้าง. พระ​เยซู ‘ทรง​ยอม​เป็น​คน​ยาก​จน​เพราะ​เห็น​แก่​พวก​เขา, เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ได้​เป็น​คน​มั่งมี’ ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ. (2 โกรินโธ 8:9) แน่นอน พวก​เขา​คง​จะ​ต้องการ​เลียน​แบบ​น้ำใจ​ใน​การ​ให้​ของ​พระองค์. นอก​จาก​นี้ เนื่อง​จาก​พระเจ้า​ทรง​ทำ​ให้​พวก​เขา “มี​สิ่ง​สารพัตร​มั่งคั่ง​บริบูรณ์​ขึ้น” ก็​นับ​ว่า​เหมาะ​สม​ที่​พวก​เขา​จะ​ช่วย​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​ผู้​บริสุทธิ์.—2 โกรินโธ 9:10-12.

เจตคติ​ของ​ผู้​มี​ส่วน​ร่วม

เรา​เรียน​รู้​ได้​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​การ​ให้​โดย​สมัคร​ใจ​จาก​การ​พิจารณา​เจตคติ​ของ​ผู้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​โครงการ​บรรเทา​ทุกข์​สำหรับ​ผู้​บริสุทธิ์​ใน​ศตวรรษ​แรก. การ​บริจาค​นั้น​แสดง​ให้​เห็น​ไม่​เพียง​แต่​ความ​ห่วงใย​ต่อ​เพื่อน​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​เท่า​นั้น แต่​บ่ง​บอก​ว่า​มี​ความ​ผูก​พัน​ของ​ภราดรภาพ​ระหว่าง​คริสเตียน​ที่​เป็น​ชาว​ยิว​และ​คน​ต่าง​ชาติ. การ​ให้​และ​การ​รับ​เงิน​บริจาค​แสดง​ให้​เห็น​เอกภาพ​และ​มิตรภาพ​ระหว่าง​คน​ต่าง​ชาติ​เหล่า​นี้​กับ​ชาว​ยิว. การ​แบ่ง​ปัน​ของ​พวก​เขา​เป็น​ทั้ง​ทาง​ฝ่าย​วัตถุ​และ​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​ด้วย.—โรม 15:26, 27.

เดิม​ที​เปาโล​อาจ​ไม่​ได้​เชิญ​คริสเตียน​ชาว​มากะโดเนีย​ให้​มี​ส่วน​ร่วม—พวก​เขา​อยู่​ใน​สภาพ​ยาก​จน​แสน​เข็ญ​เช่น​กัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พวก​เขา ‘วิงวอน​มาก​มาย​ขอ​เข้า​ส่วน​ใน​การ​ให้.’ ถึง​แม้​พวก​เขา​ประสบ “ความ​ทุกข์​ลำบาก​เป็น​อัน​มาก” พวก​เขา​ก็​ยัง​ให้​ด้วย​ความ​ยินดี “เกิน​ความ​สามารถ​ของ​เขา​เสีย​อีก”! (2 โกรินโธ 8:1-4) การ​ทดลอง​อย่าง​หนัก​ของ​พวก​เขา​ดู​เหมือน​รวม​เอา​ข้อ​กล่าวหา​ที่​ว่า​พวก​เขา​ปฏิบัติ​ศาสนา​ที่​ผิด​กฎหมาย​สำหรับ​ชาว​โรมัน. ดัง​นั้น เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ว่า พวก​เขา​จะ​มี​ความ​ร่วม​รู้สึก​ต่อ​พี่​น้อง​ชาว​ยูดาย​ซึ่ง​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก​คล้าย​กัน.—กิจการ 16:20, 21; 17:5-9; 1 เธซะโลนิเก 2:14.

ถึง​แม้​เปาโล​ใช้​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ของ​ชาว​โกรินโธ​ใน​ตอน​แรก​ที่​มี​ต่อ​การ​บริจาค​เพื่อ​สนับสนุน​ชาว​มากะโดเนีย​ก็​ตาม ความ​กระตือรือร้น​ใน​โกรินโธ​ค่อย ๆ ลด​ลง. ตอน​นี้​อัครสาวก​จึง​อ้าง​ถึง​ความ​เอื้อเฟื้อ​ของ​ชาว​มากะโดเนีย​เพื่อ​กระตุ้น​ชาว​โกรินโธ. ท่าน​พบ​ว่า​จำเป็น​ที่​จะ​เตือน​พวก​เขา​ให้​ระลึก​ว่า ถึง​เวลา​ที่​จะ​ทำ​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ได้​ตั้ง​ต้น​หนึ่ง​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น​ให้​สำเร็จ. เกิด​อะไร​ขึ้น?—2 โกรินโธ 8:10, 11; 9:1-5.

ติโต​ได้​ริเริ่ม​การ​บริจาค​ใน​เมือง​โกรินโธ แต่​เกิด​ปัญหา​ขึ้น​ที่​ดู​เหมือน​จะ​ขัด​ขวาง​ความ​พยายาม​ของ​เขา. หลัง​จาก​ปรึกษา​กับ​เปาโล​ใน​มากะโดเนีย​แล้ว ติโต​ได้​กลับ​มา​พร้อม​กับ​คน​อื่น​อีก​สอง​คน​เพื่อ​สนับสนุน​ประชาคม​ใน​เมือง​โกรินโธ​และ​ทำ​การ​บริจาค​นั้น​ให้​สำเร็จ. บาง​คน​อาจ​พูด​เป็น​นัย​ว่า​เปาโล​พยายาม​แสวง​ประโยชน์​จาก​ชาว​โกรินโธ. บาง​ที​เพราะ​เหตุ​นี้​ท่าน​จึง​ส่ง​ชาย​สาม​คน​ไป​เพื่อ​ทำ​ให้​การ​บริจาค​สำเร็จ​และ​แนะ​นำ​ตัว​พวก​เขา​แต่​ละ​คน. เปาโล​กล่าว​ว่า “จะ​ได้​ระวัง​ไม่​ให้​คน​หนึ่ง​คน​ใด​ติเตียน​เรา​ได้​ใน​การ​ที่​เรา​ได้​รับ​สิ่ง​ของ​เป็น​อัน​มาก​มา​แจก​ทาน​นั้น. เพราะ​เรา​คิด​ปรารถนา​เป็น​คน​สัตย์​ซื่อ, มิ​ใช่​เฉพาะ​พระ​พักตร์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​เท่า​นั้น, แต่​ต่อ​หน้า​คน​ทั้ง​ปวง​ด้วย.”—2 โกรินโธ 8:6, 18-23; 12:18.

การ​นำ​ส่ง​เงิน​บริจาค

พอ​ถึง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ปี ส.ศ. 56 ก็​มี​การ​เตรียม​พร้อม​ที่​จะ​ส่ง​เงิน​บริจาค​ไป​กรุง​ยะรูซาเลม. เปาโล​คง​จะ​ไป​กับ​คณะ​ผู้​แทน​ที่​ผู้​บริจาค​ได้​เลือก​ไป. กิจการ 20:4 บอก​ว่า “คน​ที่​ไป​ยัง​มณฑล​อาเซีย​กับ​เปาโล​นั้น​คือ​โซปาโตร​บุตร​ของ​ปุ​โร​ชาว​เมือง​เบรอยะ, อะริศตาโค​กับ​เซกุนโด​ชาว​เมือง​เธซะโลนิเก, คาโย​ชาว​เมือง​เดระเบ, และ​ติโมเธียว, ตุคิโก​กับ​โตรฟีโม​ชาว​มณฑล​อาเซีย.” จาก​หลักฐาน​ที่​หา​ได้ ใน​ท่ามกลาง​พวก​เขา​มี​ลูกา​อยู่​ด้วย ผู้​ซึ่ง​อาจ​เป็น​ตัว​แทน​ของ​คริสเตียน​ใน​เมือง​ฟิลิปปอย. ดัง​นั้น อย่าง​น้อย​มี​ผู้​ชาย​เก้า​คน​ไป​ใน​การ​ปฏิบัติ​ภารกิจ​พิเศษ​นี้.

ดีเทอร์ เกออร์กี ผู้​คง​แก่​เรียน​กล่าว​ว่า “เงิน​ที่​รวบ​รวม​ได้​ทั้ง​หมด​คง​ต้อง​มี​เป็น​จำนวน​มาก เพราะ​ความ​พยายาม​ใน​ตอน​ท้าย​สุด​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เปาโล​และ​ตัว​แทน​หลาย​คน​เช่น​นั้น คง​จะ​ไม่​คุ้ม​กับ​ความ​ลำบาก​และ​ค่า​ใช้​จ่าย​ใน​ด้าน​อื่น.” คน​กลุ่ม​นี้​ทำ​หน้า​ที่​ไม่​เพียง​เพื่อ​รับประกัน​ความ​ปลอด​ภัย​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ช่วย​ปก​ป้อง​เปาโล​ไว้​จาก​ข้อ​กล่าวหา​ใด ๆ เกี่ยว​กับ​ความ​ไม่​ซื่อ​สัตย์​นั้น​ด้วย. คน​เหล่า​นั้น​ที่​ถูก​ส่ง​ไป​เป็น​ตัว​แทน​ของ​ประชาคม​คน​ต่าง​ชาติ​ต่อ​หน้า​ผู้​บริสุทธิ์​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม.

โดย​แล่น​เรือ​จาก​เมือง​โกรินโธ​ไป​มณฑล​ซุเรีย คณะ​ผู้​แทน​คง​จะ​ถึง​กรุง​ยะรูซาเลม​ช่วง​เทศกาล​ปัศคา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ข่าว​เรื่อง​การ​คิด​ร้าย​จะ​สังหาร​เปาโล​ได้​ทำ​ให้​มี​การ​เปลี่ยน​แผน. (กิจการ 20:3) บาง​ที​พวก​ศัตรู​ตั้งใจ​จะ​ฆ่า​ท่าน​ที่​ทะเล.

เปาโล​มี​ความ​ห่วงใย​ใน​เรื่อง​อื่น​ด้วย. ก่อน​ออก​เดิน​ทาง ท่าน​ได้​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​ให้​อธิษฐาน​เพื่อ​ท่าน “จะ​พ้น​จาก​มือ​คน​เหล่า​นั้น​ใน​ประเทศ​ยูดาย​ที่​ไม่​เชื่อ, และ​เพื่อ​การ​ปรนนิบัติ​เนื่อง​ด้วย​ผล​ทาน​ซึ่ง​ท่าน​นำ​ไป​ยัง​กรุง​ยะรูซาเลม​จะ​เป็น​ที่​พอ​ใจ​สิทธชน.” (โรม 15:30, 31) ถึง​แม้​ผู้​บริสุทธิ์​จะ​รับ​เงิน​บริจาค​ด้วย​ความ​รู้สึก​ขอบคุณ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​โดย​ไม่​ต้อง​สงสัย​ก็​ตาม เปาโล​อาจ​เป็น​ห่วง​ว่า​การ​มา​ถึง​ของ​ท่าน​จะ​ก่อ​ความ​ยุ่งยาก​ขึ้น​ใน​ท่ามกลาง​ชาว​ยิว​โดย​ทั่ว​ไป​ได้.

อัครสาวก​คิด​ถึง​คน​ยาก​จน​อย่าง​แน่นอน. ถึง​แม้​พระ​คัมภีร์​มิ​ได้​กล่าว​ว่า​มี​การ​ส่ง​มอบ​เงิน​บริจาค​กัน​เมื่อ​ไร​ก็​ตาม การ​ส่ง​มอบ​นั้น​ได้​ส่ง​เสริม​เอกภาพ​และ​ทำ​ให้​คริสเตียน​ที่​เป็น​คน​ต่าง​ชาติ​สามารถ​แสดง​ความ​รู้สึก​ขอบคุณ​ต่อ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​เป็น​ชาว​ยูดาย​สำหรับ​ทรัพย์​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ได้​รับ​จาก​พวก​เขา. การ​ปรากฏ​ตัว​ของ​เปาโล ณ พระ​วิหาร​ไม่​นาน​หลัง​จาก​มา​ถึง​กรุง​ยะรูซาเลม​ได้​ยั่ว​ยุ​ให้​เกิด​ความ​วุ่นวาย​และ​ทำ​ให้​ท่าน​ถูก​จับ​กุม. แต่​ใน​ที่​สุด​เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​ท่าน​มี​โอกาส​จะ​ให้​คำ​พยาน​ต่อ​ผู้​สำเร็จ​ราชการ​และ​กษัตริย์.—กิจการ 9:15; 21:17-36; 23:11; 24:1–26:32.

การ​บริจาค​ของ​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้

ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​แรก​เป็น​ต้น​มา มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ไป​มาก—แต่​หลักการ​พื้น​ฐาน​มิ​ได้​เปลี่ยน. คริสเตียน​ได้​รับ​การ​แจ้ง​อย่าง​เหมาะ​สม​ถึง​ความ​จำเป็น​ต่าง ๆ ทาง​ด้าน​การ​เงิน. การ​บริจาค​ใด ๆ ที่​เขา​ทำ​เพื่อ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ขัดสน​ควร​เป็น​ไป​โดย​สมัคร​ใจ ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​ต่อ​เพื่อน​มนุษย์.—มาระโก 12:28-31.

มาตรการ​บรรเทา​ทุกข์​ที่​ดำเนิน​การ​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ผู้​บริสุทธิ์​ใน​ศตวรรษ​แรก​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​การ​จัด​การ​เกี่ยว​กับ​การ​บริจาค​ดัง​กล่าว​ต้อง​ได้​รับ​การ​จัด​ระเบียบ​อย่าง​เหมาะ​สม​และ​ดำเนิน​การ​ใน​วิธี​ที่​ซื่อ​สัตย์​อย่าง​ละเอียด​รอบคอบ. แน่นอน พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​ทราบ​ความ​จำเป็น​ต่าง ๆ และ​พระองค์​ทรง​ทำ​การ​จัด​เตรียม​เพื่อ​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์ เพื่อ​พวก​เขา​จะ​สามารถ​แบ่ง​ปัน​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ให้​กับ​คน​อื่น​ต่อ ๆ ไป​แม้​จะ​มี​ความ​ยาก​ลำบาก. (มัดธาย 6:25-34) กระนั้น พวก​เรา​ทุก​คน​สามารถ​ทำ​ส่วน​ของ​เรา ไม่​ว่า​ฐานะ​ทาง​เศรษฐกิจ​ของ​เรา​จะ​เป็น​เช่น​ไร​ก็​ตาม. โดย​วิธี​นั้น “เขา​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​เก็บ​สะสม​ไว้​มาก​ไม่​มี​เหลือ, และ​เขา​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​เก็บ​สะสม​ไว้​น้อย​ไม่​ได้​ขัดสน.”—2 โกรินโธ 8:15.