เราทำงานเป็นทีม
เรื่องราวชีวิตจริง
เราทำงานเป็นทีม
เล่าโดยเมลบา แบร์รี
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1999 ฉันพร้อมกับสามีได้ไปร่วมการประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวา เหมือนที่เราเคยร่วมเรื่อยมานับพัน ๆ ครั้งตลอด 57 ปีแห่งชีวิตสมรสของเรา. ลอยด์ให้คำบรรยายเรื่องสุดท้ายแห่งระเบียบวาระวันศุกร์ ณ การประชุมภาคที่ฮาวาย. โดยไม่มีใครคาดคิด เขาฟุบลงไป. แม้ว่าได้พยายามกันเต็มที่เพื่อช่วยให้เขาฟื้นสติ แต่เขาก็เสียชีวิต. *
พี่น้องคริสเตียนชายหญิงในฮาวายน่ารักเสียจริง ๆ เขามาอยู่ใกล้ ๆ คอยปลอบประโลมใจ และช่วยให้ฉันรับมือกับการสูญเสียอย่างน่าเศร้าใจนี้! ลอยด์เคยฝากความประทับใจไว้กับหลายคนในหมู่พี่น้องเหล่านี้ และรวมถึงคนอื่นอีกมากหลายทั่วโลก.
ในช่วงเกือบสองปีตั้งแต่สามีเสียชีวิต ฉันนึกถึงวันเวลาอันแสนวิเศษที่เราเคยอยู่ด้วยกัน—หลายปีในงานมอบหมายฐานะมิชชันนารีในต่างแดน และหลายปี ณ สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในบรุกลิน นิวยอร์ก. นอกจากนี้ ฉันยังคงคิดถึงชีวิตวัยเยาว์ของฉันในอดีตที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และอุปสรรคอื่น ๆ ที่ลอยด์และฉันได้เผชิญเพื่อที่จะได้แต่งงานกันในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2. แต่ก่อนอื่น ให้ฉันเล่าเรื่องความเป็นมาว่าฉันเข้ามาเป็นพยานฯ และพบลอยด์เมื่อปี 1939 ได้อย่างไร.
ฉันได้มาเป็นพยานฯ อย่างไร
เจมส์กับเฮนรีเอตตา โจนส์เป็นพ่อแม่ที่รักและเอาใจใส่เลี้ยงดูฉัน. ฉันอายุแค่ 14 ปีตอนเรียนจบในปี 1932. โลกสมัยนั้นอยู่ในระหว่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่. ฉันเริ่มทำงานช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งรวมน้องสาวอีกสองคน. เพียงไม่กี่ปี ฉันก็ได้งานที่มีรายได้ดีและมีลูกน้องที่เป็นหญิงสาวหลายคน.
ระหว่างนั้น ในปี 1935 คุณแม่ได้รับสรรพหนังสือคู่มือคัมภีร์ไบเบิลจากพยานพระยะโฮวา จากนั้นไม่นานท่านก็มั่นใจว่าได้พบความจริงเข้าแล้ว. คนอื่นในครอบครัว รวมทั้งตัวฉันเองต่างก็คิดว่าแม่ท่าจะฟั่นเฟือนเสียแล้ว. แต่อยู่มาวันหนึ่ง ฉันเห็นหนังสือเล่มเล็กชื่อคนตายแล้วไปไหน? และชื่อหนังสือทำให้ฉันเกิดความอยากรู้ขึ้นมา. ฉะนั้น ฉันจึงแอบอ่านหนังสือนั้น. นั่นแหละเป็นจุดเปลี่ยน! ฉันเริ่มไปประชุมกลางสัปดาห์กับคุณแม่ทันที เรียกกันว่าการศึกษาอันเป็นแบบอย่าง. หนังสือเล่มเล็กชื่อการศึกษาอันเป็นแบบอย่าง—ในที่สุดมีถึงสามเล่มด้วยกัน—มีทั้งคำถามและคำตอบ อีกทั้งมีข้อคัมภีร์สนับสนุนคำตอบ.
ประมาณช่วงเวลานั้น ในเดือนเมษายน 1938 โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ตัวแทนจากสำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาได้มาเยี่ยมนครซิดนีย์. คำบรรยายสาธารณะของท่านเป็นคำบรรยายแรกที่ฉันได้ไปร่วม. การประชุมนี้กำหนดจะจัดขึ้นที่ศาลากลางของนครซิดนีย์ แต่พวกต่อต้านได้ดำเนินการไม่ให้เราใช้สถานที่แห่งนั้น. ด้วยเหตุนี้ การบรรยายจึงต้องเปลี่ยนไปใช้ที่สนามกีฬาซิดนีย์ซึ่งกว้างใหญ่กว่าแทน. เนื่องด้วยการต่อต้านขัดขวางเป็นเหตุให้สาธารณชนเกิดความสนใจมากขึ้น ผู้เข้าฟังคำบรรยายจึงมีจำนวนมากถึง 10,000 กว่าคน นับว่ามากมายอย่างน่าทึ่งเมื่อนึกถึงพยานฯ ในออสเตรเลียเวลานั้นมีเพียง 1,300 คน.
หลังจากนั้นไม่นาน ฉันก็ออกไปเผยแพร่ในเขตงานเป็นครั้งแรก—ไปทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม. เมื่อกลุ่มของเราไปถึงเขตงานประกาศ ผู้ชายที่นำกลุ่มบอกฉันว่า “คุณไปประกาศที่บ้านหลังนั้นแหละ.” ฉันประหม่ามากถึงขนาดที่เมื่อผู้หญิงออกมาที่ประตู ฉันเลยถามเขาไปว่า “ดิฉันอยากรู้ว่าตอนนี้กี่โมงแล้ว?” เธอกลับเข้าไปดูนาฬิกาในบ้านและออกมาบอกเวลา. เป็นอันว่าจบการเยี่ยมเพียงแค่นั้น. แล้วฉันก็กลับไปที่รถ.
อย่างไรก็ดี ฉันไม่ยอมแพ้ และในไม่ช้าฉันมีส่วนร่วมเป็นประจำในการบอกข่าวราชอาณาจักรแก่ผู้อื่น. (มัดธาย 24:14) เดือนมีนาคม 1939 ฉันแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาโดยการรับบัพติสมาในอ่างอาบน้ำที่บ้าน โดโรที ฮัตชิง เพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไป. เนื่องจากไม่มีพี่น้องชาย ไม่นานภายหลังการรับบัพติสมา ฉันได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างในประชาคมซึ่งปกติแล้วมักมอบหมายแก่ชายคริสเตียน.
ปกติแล้ว เราจัดการประชุมที่บ้านส่วนตัว แต่บางครั้งก็เช่าห้องประชุมสำหรับคำบรรยายสาธารณะ. พี่น้องหนุ่มรูปหล่อจากเบเธล สำนักงานสาขา ได้มาที่ประชาคมเล็ก ๆ ของเราเพื่อให้คำบรรยาย. โดยที่ฉันไม่รู้ตัว เขามีอีกเหตุผลหนึ่งที่มาคืออยากรู้เกี่ยวกับตัวฉันมากขึ้น. ใช่แล้ว นี่เป็นวิธีที่ได้พบลอยด์.
พบครอบครัวของลอยด์
จากนั้นไม่นาน ฉันมีความปรารถนาอยากรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลา. อย่างไรก็ตาม เมื่อฉันสมัครเป็นไพโอเนียร์ (งานประกาศเผยแพร่ประเภทเต็มเวลา) มีคนถามฉันว่าอยากจะทำงานรับใช้ที่เบเธลไหม. ดังนั้น เดือนกันยายน 1939 เดือนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น ฉันก็เข้ามาเป็นสมาชิกครอบครัวเบเธลในสแตรทฟีลด์ ชานเมืองซิดนีย์.
เดือนธันวาคม 1939 ฉันเดินทางไปประเทศนิวซีแลนด์เพื่อร่วมการประชุมใหญ่. เนื่องจากลอยด์เป็นคนนิวซีแลนด์ เขาจึงไปที่นั่นเช่นกัน. เราโดยสารบนเรือลำเดียวกัน และเราได้มารู้จักกันและกันมากขึ้น. ลอยด์เป็นคนจัดแจงเพื่อให้ฉันได้พบพ่อแม่ของเขาพร้อมทั้งน้องสาวสองคน ณ การประชุมที่เมืองเวลลิงตัน และต่อมาพบที่บ้านของเขาในเมืองไครสต์เชิร์ช.
ประกาศสั่งห้ามงานของพวกเรา
วันเสาร์ที่ 18 มกราคม 1941 เจ้าหน้าที่รัฐบาลขับรถเก๋งดำคันใหญ่ประมาณหกคันไปที่สำนักงานสาขาเพื่อริบทรัพย์สิน. เนื่องจากฉันกำลังทำงานอยู่ในตู้ยามเล็ก ๆ ตรงประตูทางเข้าเบเธล ฉันจึงเป็นคนแรกที่เห็นพวกเขา. ก่อนหน้านั้นราว ๆ 18 ชั่วโมง เบเธลได้รับข่าวแจ้งการสั่งห้าม ฉะนั้น สรรพหนังสือและแฟ้มต่าง ๆ ถูกขนออกไปจากสาขา
เกือบหมด. สัปดาห์ถัดมา สมาชิกครอบครัวเบเธลห้าคน รวมทั้งลอยด์ถูกจำคุก.ฉันรู้ว่าสิ่งที่พี่น้องในคุกต้องการมากที่สุดคืออาหารฝ่ายวิญญาณ. เพื่อเป็นกำลังใจให้ลอยด์ ฉันตัดสินใจเขียน “จดหมายรัก” ถึงเขา. ฉันเริ่มต้นเขียนในเชิงที่คาดหมายได้ว่าเป็นจดหมายรัก ครั้นแล้วฉันคัดลอกบทความทั้งเรื่องจากหอสังเกตการณ์ และลงท้ายราวกับว่าฉันเป็นหวานใจของเขา. ภายหลังติดคุกนานสี่เดือนครึ่ง ลอยด์ก็ถูกปล่อยตัว.
แต่งงานและปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
ปี 1940 แม่ของลอยด์ได้มาเยือนออสเตรเลีย ลอยด์บอกแม่ว่าเราสองคนคิดจะแต่งงาน. เธอให้ข้อคิดเห็นแก่ลูกชายว่าอย่าเพ่อคิดเรื่องแต่งงาน เพราะอวสานของระบบนี้ดูเหมือนใกล้เข้ามามากแล้ว. (มัดธาย 24:3-14) อนึ่ง ลอยด์ยังเคยบอกเพื่อนสนิทรู้ถึงความตั้งใจ แต่การพูดคุยกันแต่ละครั้ง พวกเพื่อนก็ได้เตือนเขาให้พักเรื่องการแต่งงานไว้ก่อนจะดีกว่า. ท้ายที่สุด วันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 1942 ลอยด์ดำเนินการอย่างเงียบ ๆ โดยพาฉันไปจดทะเบียนสมรส พร้อมด้วยพยานพระยะโฮวาสี่คนซึ่งต่างก็ให้สัญญาจะไม่เผยให้คนอื่นรู้แผนของเรา แล้วเราจึงได้สมรสกัน. สมัยนั้นพยานพระยะโฮวาในออสเตรเลียยังไม่มีอำนาจหน้าที่จะดำเนินการให้คู่สมรสจดทะเบียน.
แม้เราสองคนไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานรับใช้ในเบเธลฐานะเป็นคู่สมรส แต่มีการสอบถามว่าเราอยากทำงานรับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษไหม. ด้วยความยินดี เราตอบรับงานมอบหมายไปยังเมืองเล็ก ๆ ชื่อวากกา วากกา. งานเผยแพร่ของเรายังคงถูกสั่งห้าม และเราไม่ได้รับการอุดหนุนทางการเงิน ดังนั้น เราจึงต้องมอบภาระของเราไว้กับพระยะโฮวาจริง ๆ.—บทเพลงสรรเสริญ 55:22.
เราปั่นรถจักรยานแบบถีบสองคนไปยังเขตชนบท พบชาวบ้านบางคนที่ต้อนรับดีและได้พูดคุยกันนาน. คนที่ตอบรับการศึกษาพระคัมภีร์มีไม่มาก. อย่างไรก็ดี เจ้าของร้านขายปลีกคนหนึ่งหยั่งรู้ค่ามากในงานที่เราทำอยู่ ถึงกับแบ่งผักผลไม้ให้เราทุกสัปดาห์. หลังจากใช้เวลาหกเดือนอยู่ที่หมู่บ้านวากกา วากกา เราก็ถูกเรียกให้กลับเบเธล.
ครอบครัวเบเธลขนย้ายจากสำนักงานสแตรทฟีลด์เมื่อเดือนพฤษภาคม 1942 และเข้าไปอยู่ในบ้านส่วนตัว.
ครอบครัวเบเธลย้ายจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่งทุก ๆ สองหรือสามสัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อเลี่ยงการตรวจจับ. เมื่อลอยด์กับฉันกลับไปที่เบเธลในเดือนสิงหาคม เราสมทบกับพวกเขา ณ บ้านหลังหนึ่งในบรรดาบ้านเหล่านั้น. งานมอบหมายของเราตอนกลางวันคือทำงานในโรงพิมพ์แห่งหนึ่งในหลายแห่งที่ตั้งขึ้นอย่างลับ ๆ. ในที่สุด เดือนมิถุนายน 1943 คำสั่งห้ามกิจการของเราก็ถูกเพิกถอน.เตรียมตัวเพื่องานรับใช้ในต่างแดน
เดือนเมษายน 1947 เราได้รับใบสมัครเข้าโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด ที่เซาท์แลนซิง รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา. ในช่วงนั้น เราถูกมอบหมายให้เดินทางเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ในออสเตรเลียเพื่อหนุนกำลังพวกเขาทางด้านวิญญาณ. หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เราก็ได้รับเชิญเข้าเรียนที่กิเลียดเป็นรุ่นที่ 11. เรามีเวลาสามสัปดาห์ในการจัดแจงกิจธุระต่าง ๆ ให้เรียบร้อย และจัดข้าวของลงกระเป๋าเดินทาง. เราอำลาครอบครัวและมิตรสหายในเดือนธันวาคม 1947 และมุ่งสู่นิวยอร์ก ร่วมเดินทางไปกับ 15 คนจากออสเตรเลีย ซึ่งต่างก็ได้รับเชิญไปเรียนชั้นเดียวกัน..
ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่โรงเรียนกิเลียดผ่านไปเร็วมาก และเราได้รับงานมอบหมายฐานะมิชชันนารีไปยังประเทศญี่ปุ่น. การที่จะได้หนังสือสำคัญสำหรับการไปญี่ปุ่นต้องใช้เวลานาน ลอยด์จึงถูกมอบหมายอีกครั้งหนึ่งให้ทำหน้าที่ผู้ดูแลเดินทางแห่งพยานพระยะโฮวา. ประชาคมต่าง ๆ ที่มอบหมายให้เราเยี่ยมนั้นไล่เรียงลงมาตั้งแต่นครลอสแอนเจลิสลงไปจรดพรมแดนเม็กซิโก. เราไม่มีรถยนต์ ฉะนั้น แต่ละสัปดาห์เหล่าพยานฯ แสดงความรักต่อเราโดยการขับรถส่งเราจากประชาคมหนึ่งไปอีกประชาคมหนึ่งเป็นทอด ๆ. ปัจจุบันเขตที่เคยจัดเป็นหมวดอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้นถูกจัดแบ่งเป็นสามภาค ที่ใช้ภาษาอังกฤษและที่ใช้ภาษาสเปนอีกสามภาค แต่ละภาคประกอบด้วยสิบหมวดโดยประมาณ!
โดยกะทันหัน ถึงเดือนตุลาคม ปี 1949 และพวกเรามุ่งหน้าไปญี่ปุ่นโดยนั่งเรือโดยสารซึ่งดัดแปลงมาจากเรือลำเลียงทหาร. สุดด้านหนึ่งของเรือจัดไว้สำหรับผู้ชาย และอีกด้านหนึ่งสำหรับผู้หญิงและเด็ก. เพียงหนึ่งวันก่อนถึงเมืองโยโกฮามา เรือของเราเจอพายุไต้ฝุ่น. ปรากฏชัดว่าพายุได้พัดหอบเอาเมฆไปหมด เพราะเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นในวันถัดมา วันที่ 31 ตุลาคม เรามองออกไปเห็นความงดงามของภูเขาฟูจิได้เต็มตา. ช่างเป็นการต้อนรับพวกเราอย่างยิ่งใหญ่สู่เขตงานมอบหมายใหม่!
ทำงานกับคนญี่ปุ่น
ขณะเรือใกล้จะเทียบท่า เราแลเห็นคนผมดำนับร้อย ๆ. ‘ช่างจ้อกแจ้กจอแจกันเสียจริง!’ เรานึกในใจเมื่อได้ยินเสียงอึงคะนึงฟังไม่ได้ศัพท์. ทุกคนสวมเกี๊ยะญี่ปุ่น มีเสียงดังโกกเกกยามเดินบนสะพานไม้กระดานท่าเทียบเรือ. หลังจากพักหนึ่งคืนในเมืองโยโกฮามา พวกเรามิชชันนารีก็ขึ้นรถไฟไปยังเขตมอบหมายของเราในเมืองโกเบ. ที่นั่น ดอน แฮสเลตต์ เพื่อนร่วมชั้นที่โรงเรียนกิเลียดได้มาถึงญี่ปุ่นก่อนเราสองสามเดือนแล้ว และได้เช่าบ้านไว้สำหรับมิชชันนารี เป็นบ้านสวยสองชั้น, หลังใหญ่, สไตล์ตะวันตก—ภายในบ้านโล่ง ไม่มีเครื่องเรือนเลย!
เพื่อจะมีเครื่องปูลาดสำหรับนอน พวกเราออกไปตัดต้นหญ้าสูงที่ขึ้นอยู่บริเวณรอบบ้านแล้วเอามาปูบนพื้นห้อง. นั่นคือการเริ่มชีวิตมิชชันนารีของเราโดยไม่มีอะไรเลย นอกจากของส่วนตัวในกระเป๋าเดินทาง. เราได้เตาอั้งโล่เล็ก ๆ เรียกว่าฮิบาชิ มาหลายเตา สำหรับทำความร้อนและหุงต้ม. มีอยู่คืนหนึ่ง ลอยด์เห็นเพื่อนมิชชันนารีสองคนคือเพอร์ซีกับอิลมา อิซลอบ นอนหมดสติเพราะสูดควันไฟ. ลอยด์ช่วยคนทั้งสองได้ทัน ด้วยการเปิดหน้าต่างปล่อยให้อากาศเย็นสดชื่นพัดโกรกเข้ามาในห้อง. ครั้งหนึ่ง ฉันเองก็เคยหมดสติขณะใช้เตาถ่านทำอาหาร. เพื่อจะชินกับอะไรบางอย่างต้องใช้เวลามากพอสมควร!
การเรียนรู้ภาษาเป็นสิ่งสำคัญ และพวกเราเรียนภาษาญี่ปุ่นวันละ 11 ชั่วโมงนานถึงหนึ่งเดือนเต็ม. หลังจากนั้น เราก็เริ่มออกไปทำงานเผยแพร่พร้อมกับจดข้อความหนึ่งหรือสองประโยคไว้เพื่อเราจะเริ่มต้นได้. วันแรกที่ออกประกาศ ฉันพบมิโยะ ทากากิ เธอเป็นผู้หญิงที่น่ารัก ต้อนรับฉันอย่างกรุณา. ในระหว่างการกลับเยี่ยมหลายครั้ง ฉันกับมิโยะพยายามเอาชนะอุปสรรคโดยอาศัยพจนานุกรมญี่ปุ่น-อังกฤษ จนกระทั่งพัฒนาถึงขั้นที่เป็นการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ดี. ในปี 1999 ขณะที่ร่วมอุทิศอาคารสำนักงานสาขาในญี่ปุ่นที่ขยายเพิ่มเติม ฉันได้พบมิโยะอีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยบุคคลที่เรารักอีกหลาย ๆ คนซึ่งฉันเคยนำการศึกษา. ห้าสิบ
ปีผ่านไป กระนั้น พวกเขาก็ยังเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรที่มีใจแรงกล้า ทำงานรับใช้พระยะโฮวาตามกำลังความสามารถของเขา.วันที่ 1 เมษายน 1950 ที่เมืองโกเบมีประมาณ 180 คนเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ระลึกการวายพระชนม์ของพระคริสต์. สิ่งที่ยังความประหลาดใจแก่เราคือ เช้าวันถัดไป 35 คนได้แสดงตัวอยากเข้าส่วนร่วมทำงานเผยแพร่ตามบ้าน. มิชชันนารีแต่ละคนจึงพาคนใหม่เหล่านี้สามหรือสี่คนออกไปด้วยกันในงานเผยแพร่. เจ้าของบ้านไม่ได้สนทนากับฉัน—คนต่างชาติซึ่งรู้ภาษาญี่ปุ่นนิด ๆ หน่อย ๆ—แต่หันไปคุยกับคนที่เข้าร่วมประชุมอนุสรณ์ที่ไปด้วยเสียมากกว่า. การสนทนาดำเนินไปเรื่อย ๆ แต่ฉันไม่อาจเข้าใจว่าเขาพูดอะไรบ้าง. ฉันยินดีจะบอกว่าคนใหม่บางคนในกลุ่มนี้ได้ก้าวหน้าด้านความรู้ และยังคงทำงานเผยแพร่ต่อ ๆ มาตราบจนทุกวันนี้.
หน้าที่มอบหมายหลายอย่างที่ให้ ความสุขและความอิ่มใจ
เราสองคนทำงานมิชชันนารีในเมืองโกเบเรื่อยมาจนถึงปี 1952 ซึ่งเป็นปีที่เราถูกมอบหมายให้ไปโตเกียว ที่นั่นลอยด์มีภารกิจมอบหมายให้ดูแลสำนักงานสาขา. ต่อมา เนื่องด้วยภารกิจที่มอบหมายให้นั้น เขาจึงต้องเดินทางทั่วญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ. ในเวลาต่อมา ในการเยี่ยมคราวหนึ่งของนาทาน เอช. นอรร์จากสำนักงานใหญ่ ท่านพูดกับฉันว่า “นี่ซิสเตอร์ รู้ไหมว่าสามีคุณจะเดินทางเยี่ยมโซนครั้งต่อไปที่ไหน? ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อย่างไรล่ะ.” ท่านพูดเสริมว่า “คุณจะไปด้วยก็ได้ ถ้าคุณจ่ายค่าเดินทางเอง.” ช่างน่าตื่นเต้นเสียจริง ๆ! ที่จริง ตั้งแต่เราจากบ้านมาก็เก้าปีแล้ว.
หลังจากนั้น เรารีบเขียนจดหมายติดต่อไปถึงครอบครัวของเรา. คุณแม่ฉันช่วยค่าตั๋วเครื่องบิน. ทั้งลอยด์และตัวฉันเองต่างก็ยุ่งอยู่กับงานมอบหมายของเรา และไม่มีทุนทรัพย์พอจะไปเยี่ยมครอบครัวของเรา. ดังนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการตอบสนองคำอธิษฐานของฉัน. อย่างที่คุณคงจะนึกภาพออก คุณแม่ดีใจมากเมื่อพบฉัน. ท่านพูดว่า “ต่อไปนี้แม่จะเก็บออมเงินให้ลูกได้กลับมาอีกในสามปีข้างหน้า.” เราจากลากันพร้อมกับเก็บความคิดนั้นไว้ในใจ แต่น่าเศร้า แม่เสียชีวิตในเดือนกรกฎาคมปีถัดมา. ความหวังที่ฉันจะได้อยู่ร่วมกับแม่อีกในโลกใหม่ช่างวิเศษเสียจริง ๆ!
งานมิชชันนารีเป็นภารกิจอย่างเดียวที่ฉันถูกมอบหมายกระทั่งถึงปี 1960 แต่แล้วฉันได้รับจดหมายชี้แจงว่า “นับจากวันที่ซึ่งระบุไว้เป็นต้นไป คุณได้ถูกจัดให้ทำงานแผนกซักรีดสำหรับครอบครัวเบเธลทั้งหมด.” ครอบครัวเบเธลตอนนั้นมีแค่สิบสองคนเท่านั้น ฉันจึงสามารถเอาใจใส่งานนี้ได้นอกเหนือจากงานมิชชันนารีที่มอบหมายแก่ฉัน.
ปี 1962 เรารื้อบ้านสไตล์ญี่ปุ่น และในปีถัดมาได้สร้างสำนักเบเธลหลังใหม่สูงหกชั้นขึ้นบนพื้นที่แห่งนั้น. ฉันถูกมอบหมายให้ช่วยบราเดอร์หนุ่ม ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ในเบเธลดูแลรักษาห้องของเขาให้ประณีตเรียบร้อย และเก็บเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ ล้างถ้วยชาม. โดยประเพณีนิยมทั่วไป เด็กหนุ่มในญี่ปุ่นไม่ได้รับการฝึกสอนให้ทำอะไรเลยที่เป็นงานบ้าน. แต่การศึกษาวิชาชีพนั้นกลับเน้นกันมาก และแม่จะเป็นคนทำให้ลูกทุกอย่าง. ไม่นานเท่าไร เขาก็เรียนรู้ว่าฉันไม่ได้เป็นแม่ของเขา. ในที่สุด หลายคนก้าวหน้าถึงขั้นรับเอางานมอบหมายใหม่ภายในองค์การที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบ.
วันหนึ่งในฤดูร้อนอากาศอบอ้าวมาก นักศึกษาพระคัมภีร์ได้แวะเยือนอาคารสำนักงานของเรา และเธอเห็นฉันกำลังขัดพื้นห้องน้ำอยู่. เธอพูดว่า “กรุณาบอกใครก็ได้ที่เป็นผู้ดูแลว่า ดิฉันยินดีจ่ายค่าจ้างแก่เด็กรับใช้ที่มาทำงานนี้แทนคุณ.” ฉันพูดให้เธอเข้าใจว่าแม้ฉันรู้สึกหยั่งรู้ค่าที่เธอแสดงน้ำใจดีต่อฉัน
แต่ฉันก็เต็มใจอย่างยิ่งจะทำงานใด ๆ ที่มอบหมายให้ฉันทำในองค์การของพระยะโฮวา.ประมาณช่วงเวลานี้ ลอยด์กับฉันได้รับเชิญให้เข้าโรงเรียนกิเลียดเป็นรุ่นที่ 39! ช่างเป็นสิทธิพิเศษเสียนี่กระไรในปี 1964 ตอนอายุ 46 ฉันได้เข้าโรงเรียนอีก! หลักสูตรนี้จัดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อช่วยคนเหล่านั้นที่รับใช้ในสำนักงานสาขาให้เอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของตน. หลังจากจบหลักสูตรสิบเดือน เราถูกมอบหมายให้กลับประเทศญี่ปุ่น. ตอนนั้น ญี่ปุ่นมีผู้ประกาศราชอาณาจักร 3,000 กว่าคนในประเทศ.
อัตราความเร็วของการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขนาดที่ปี 1972 มีพยานฯ มากกว่า 14,000 คน และมีการสร้างสำนักงานสาขาหลังใหม่สูงห้าชั้นขึ้นที่เมืองนูมาซุ ทางทิศใต้ของกรุงโตเกียว. จากสำนักเบเธล เรามองเห็นทิวทัศน์ภูเขาฟูจิที่งดงามยิ่งนัก. เครื่องพิมพ์โรตารีขนาดใหญ่ใหม่เอี่ยมเริ่มพิมพ์วารสารภาษาญี่ปุ่นในเดือนหนึ่ง ๆ มากกว่าหนึ่งล้านฉบับ. แต่การเปลี่ยนแปลงสำหรับเราสองคนเป็นอนาคตที่อยู่ไม่ไกลนัก.
ปลายปี 1974 ลอยด์ได้รับจดหมายจากสำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในบรุกลิน เชิญเขาเข้าไปร่วมงานรับใช้กับคณะกรรมการปกครอง. ทีแรก ฉันคิดว่า ‘คราวนี้คงเป็นการจบชีวิตคู่ของเราละซี. เนื่องจากลอยด์มีความหวังทางภาคสวรรค์ ส่วนฉันมีความหวังทางแผ่นดินโลก ไม่ช้าก็เร็วเราต้องพรากจากกัน. บางทีลอยด์น่าจะไปบรุกลินเพียงคนเดียว โดยไม่มีฉันไปด้วย.’ แต่ในไม่ช้าฉันก็ปรับแนวคิดเสียใหม่ และเต็มใจย้ายไปกับลอยด์เมื่อเดือนมีนาคม 1975.
พระพรมากมาย ณ สำนักงานใหญ่
แม้อยู่ที่บรุกลิน หัวใจของลอยด์ยังคงผูกพันกับเขตงานในประเทศญี่ปุ่น และเขามักพูดคุยเสมอถึงประสบการณ์ของเราที่นั่น. แต่มาตอนนี้โอกาสมีมากมายสำหรับการขยายงาน. ตลอดช่วง 24 ปีหลังนี้ ลอยด์ใช้ชีวิตอยู่กับงานดูแลโซนอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมถึงการเดินทางทั่วโลก. ฉันได้ร่วมเดินทางรอบโลกไปกับเขาหลายครั้ง.
การเยี่ยมเยือนพี่น้องคริสเตียนของเราในประเทศอื่น ๆ ช่วยให้ฉันหยั่งรู้เข้าใจว่า พี่น้องหลายคนดำรงชีวิตและทำงานภายใต้สภาพการณ์เช่นไร. ฉันไม่มีวันลืมใบหน้าของเอนเทลเลียเด็กหญิงวัยสิบขวบที่ฉันพบที่แอฟริกาตอนเหนือ. เธอรักพระนามพระเจ้าและต้องเดินไปยังที่ประชุมคริสเตียน แต่ละเที่ยวใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง. ทั้ง ๆ ที่ถูกครอบครัวข่มเหงอย่างรุนแรง เอนเทลเลียได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. เมื่อเราเยี่ยมประชาคมที่เธอร่วมด้วย ที่ประชาคมแห่งนั้นมีหลอดไฟแรงเทียนต่ำเพียงดวงเดียวแขวนไว้เหนือศีรษะผู้บรรยาย ถ้าไม่มีไฟดวงนั้น ที่ประชุมแห่งนั้นก็มืดตึ๊ดตื๋อ. ถึงแม้จะมืดขนาดนั้น พอได้ฟังเสียงพี่น้องชายหญิงร้องเพลงแล้วรู้สึกทึ่งจริง ๆ.
เดือนธันวาคม 1998 เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำในชีวิตของเรา เมื่อลอยด์กับฉันรวมอยู่ในกลุ่มตัวแทนเข้าร่วมการประชุมภาค “วิถีชีวิตตามแนวทางของพระเจ้า” ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศคิวบา. เรารู้สึกประทับใจมากเพียงไรเมื่อบรรดาพี่น้องชายหญิงที่นั่นแสดงความขอบคุณและชื่นชมเนื่องจากมีบางคนจากสำนักงานใหญ่ในบรุกลินไปเยี่ยมพวกเขา! การได้พบกับบุคคลผู้เป็นที่รัก ผู้ซึ่งแซ่ซ้องสรรเสริญพระยะโฮวาด้วยใจแรงกล้าเช่นนั้น ฉันถือเป็นสิ่งล้ำค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้ในความทรงจำ.
อยู่เป็นสุขกับไพร่พลของพระเจ้า
ถึงแม้ประเทศบ้านเกิดของฉันคือออสเตรเลีย แต่ฉันมีความรู้สึกรักใคร่ผู้คนไม่ว่าที่ไหนที่องค์การของพระยะโฮวาส่งฉันไป. ข้อนี้เป็นจริงในประเทศญี่ปุ่น และมาตอนนี้ฉันเข้ามาอยู่ในสหรัฐนานกว่า 25 ปีแล้ว ฉันประสบว่าที่นี่ก็เหมือนกัน. เมื่อสามีฉันเสียชีวิต ความมุ่งหมายของฉันคือไม่กลับออสเตรเลีย แต่จะอยู่ที่เบเธลบรุกลิน ซึ่งพระยะโฮวาทรงมอบหมายแก่ฉัน.
เวลานี้อายุฉัน 80 กว่าแล้ว. หลังจากอยู่ในงานรับใช้เต็มเวลา 61 ปี ฉันยังคงสมัครใจจะรับใช้พระยะโฮวาไม่ว่าที่ไหนตามแต่พระองค์ทรงเห็นสมควร. จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงใฝ่พระทัยดูแลฉันเป็นอย่างดี. ฉันถือว่าระยะเวลามากกว่า 57 ปีที่ฉันสามารถร่วมชีวิตกับเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากที่น่ารักผู้ซึ่งรักพระยะโฮวานั้นเป็นช่วงเวลาที่มีค่ายิ่ง. ฉันเชื่อมั่นว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรเราทั้งสองมิได้ขาด และฉันรู้ว่าพระองค์จะไม่ทรงลืมการงานของเราและความรักที่เราได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์.—เฮ็บราย 6:10.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 โปรดอ่านหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ตุลาคม 1999 หน้า 16, 17.
[ภาพหน้า 25]
กับคุณแม่ในปี 1956
[ภาพหน้า 26]
กับลอยด์และกลุ่มผู้เผยแพร่ชาวญี่ปุ่น ช่วงต้นทศวรรษ 1950
[ภาพหน้า 26]
กับมิโยะ ทากากิ นักศึกษาพระคัมภีร์คนแรกของฉันในญี่ปุ่น เมื่อต้นทศวรรษ 1950 และในปี 1999
[ภาพหน้า 28]
กับลอยด์ในการให้คำพยานโดยใช้วารสารที่ประเทศญี่ปุ่น