จงมองดูพระองค์ผู้ทรงทำสิ่งมหัศจรรย์!
จงมองดูพระองค์ผู้ทรงทำสิ่งมหัศจรรย์!
“จงยืนนิ่งและเอาใจใส่ราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า.”—โยบ 37:14, ล.ม.
1, 2. ในปี 1922 ได้มีการค้นพบที่น่าทึ่งอะไร และก่อให้เกิดปฏิกิริยาเช่นไร?
นักโบราณคดีและลอร์ดชาวอังกฤษได้ร่วมมือกันเป็นเวลาหลายปีในการค้นหาขุมทรัพย์. ในที่สุด เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 1922 ณ สุสานฟาโรห์แห่งอียิปต์ที่หุบเขาแห่งราชันอันเลื่องชื่อ นักโบราณคดีโฮเวิร์ด คาร์เตอร์ และลอร์ดคาร์นาร์วอนก็ค้นพบที่ตั้งขุมทรัพย์—สุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน. เมื่อไปถึงประตูที่ปิดตาย พวกเขาเจาะรูที่ประตูนั้นรูหนึ่ง. คาร์เตอร์สอดเทียนไขและมองเข้าไปข้างใน.
2 ในภายหลัง คาร์เตอร์เล่าว่า “เมื่อลอร์ดคาร์นาร์วอนอดใจไว้ไม่ไหวและถามข้าพเจ้าอย่างกระวนกระวายว่า ‘คุณเห็นอะไรไหม?’ ถ้อยคำอย่างเดียวที่สามารถหลุดออกจากปากข้าพเจ้าได้ก็คือ ‘เห็นซิ สิ่งมหัศจรรย์เลยล่ะ.’ ” สิ่งหนึ่งในบรรดาทรัพย์นับพันชิ้นในสุสานนี้ได้แก่โลงพระศพทองคำบริสุทธิ์. คุณอาจได้เห็น “สิ่งมหัศจรรย์” เหล่านี้บางอย่างในภาพถ่ายหรือเห็นจากที่ตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถาน. ถึงกระนั้น แม้ว่าของเหล่านี้ในพิพิธภัณฑสถานอาจมหัศจรรย์ แต่ก็คงเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องเลยกับชีวิตของคุณ. ดังนั้น ให้เราหันมาพิจารณาสิ่งมหัศจรรย์ที่เกี่ยวข้องกับคุณและมีคุณค่าต่อคุณอย่างแน่นอนดีกว่า.
3. เราจะพบข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งมหัศจรรย์ซึ่งสามารถให้ประโยชน์แก่เราได้จากที่ไหน?
3 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้นึกถึงบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีชีวิตเมื่อหลายศตวรรษที่แล้ว บุรุษผู้คู่ควรจะได้รับความสนใจจากเรายิ่งกว่าดาราภาพยนตร์, วีรบุรุษนักกีฬา, หรือราชนิกุล. ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะคนใหญ่คนโตฝ่ายตะวันออก. คุณคงจำชื่อของท่านผู้นี้ได้—โยบ. พระธรรมเล่มหนึ่งทั้งเล่มในคัมภีร์ไบเบิลบันทึกเรื่องราวของท่านไว้. กระนั้น ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่ออะลีฮูซึ่งอยู่ในสมัยเดียวกับโยบรู้สึกว่าจำเป็นต้องว่ากล่าวแก้ไขท่าน. โดยสาระสำคัญ อะลีฮูกล่าวว่าโยบให้ความสนใจต่อตัวเองและคนรอบข้างมากเกินไป. ในโยบบท 37 เราพบคำแนะนำอื่น ๆ บางอย่างที่เจาะจงและสุขุมซึ่งอาจเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราแต่ละคน.—โยบ 1:1-3; 32:1–33:12.
4. เหตุการณ์เช่นไรทำให้อะลีฮูกล่าวกระตุ้นเตือนดังบันทึกไว้ที่โยบ 37:14?
4 เพื่อนสามคนของโยบซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าเพื่อนกล่าวอย่างยืดยาวในเรื่องที่เขาเชื่อว่าโยบได้ทำผิดด้านความคิดหรือการกระทำ. (โยบ 15:1-6, 16; 22:5-10) อะลีฮูคอยอย่างอดทนจนกระทั่งการสนทนาโต้ตอบกันนั้นสิ้นสุดลง. แล้วท่านจึงกล่าวขึ้นด้วยความเข้าใจอันลึกซึ้งและเปี่ยมสติ ปัญญา. ท่านได้กล่าวถึงหลายจุดที่เป็นประโยชน์ แต่ขอให้สังเกตแนวคิดสำคัญ: “โอ้ท่านโยบ จงเงี่ยหูฟังข้อนี้; จงยืนนิ่งและเอาใจใส่ราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า.”—โยบ 37:14, ล.ม.
พระองค์ผู้ทรงกระทำราชกิจนั้น
5. “ราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า” ที่อะลีฮูกล่าวถึงเกี่ยวข้องกับอะไร?
5 ขอให้สังเกตว่าอะลีฮูไม่ได้แนะให้โยบสนใจในตัวเอง, ตัวท่าน, หรือมนุษย์คนใด. ด้วยความสุขุม อะลีฮูกระตุ้นโยบ—และกระตุ้นเราด้วย—ให้เอาใจใส่ราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระยะโฮวาพระเจ้า. คุณคิดว่าวลี “ราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า” เกี่ยวข้องกับอะไร? นอกจากนั้น เมื่อคำนึงถึงว่าคุณคงสนใจในเรื่องสุขภาพ, การเงิน, อนาคต, ครอบครัว, เพื่อนร่วมงาน, และเพื่อนบ้าน เพราะเหตุใดคุณจึงควรเอาใจใส่ราชกิจของพระเจ้า? ไม่ต้องสงสัย ราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระยะโฮวาพระเจ้าเกี่ยวข้องกับพระสติปัญญาและอำนาจของพระองค์เหนือสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นที่อยู่รอบตัวเรา. (นะเฮมยา 9:6; บทเพลงสรรเสริญ 24:1; 104:24; 136:5, 6) เพื่อให้เห็นจุดนี้ชัดขึ้น ขอให้สังเกตจุดหนึ่งในพระธรรมยะโฮซูอะ.
6, 7. (ก) พระยะโฮวาทรงทำราชกิจอันมหัศจรรย์อะไรในสมัยของโมเซและยะโฮซูอะ? (ข) หากคุณเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์เหล่านั้นในสมัยของโมเซและยะโฮซูอะ คุณคงจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร?
6 พระยะโฮวาทรงบันดาลให้เกิดภัยพิบัติต่ออียิปต์โบราณ และจากนั้นทรงแยกทะเลแดงเพื่อโมเซจะสามารถนำชนชาติยิศราเอลโบราณสู่อิสรภาพ. (เอ็กโซโด 7:1–14:31; บทเพลงสรรเสริญ 106:7, 21, 22) มีเหตุการณ์คล้าย ๆ กันบันทึกไว้ในยะโฮซูอะบท 3. ยะโฮซูอะ ผู้สืบตำแหน่งต่อจากโมเซ จะต้องนำไพร่พลของพระเจ้าข้ามลำน้ำอีกแห่งหนึ่งเพื่อเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้. ยะโฮซูอะกล่าวว่า “จงชำระตัวเถิด: ด้วยว่าพรุ่งนี้พระยะโฮวาจะทรงกระทำการอัศจรรย์ในท่ามกลางพวกท่าน.” (ยะโฮซูอะ 3:5) การอัศจรรย์อะไร?
7 บันทึกแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงเปิดทางให้ข้ามผ่านสายน้ำที่ขวางกั้น คือแม่น้ำยาระเดน เพื่อให้ชายหญิงและเด็กหลายแสนคนสามารถข้ามไปบนดินแห้ง. (ยะโฮซูอะ 3:7-17) หากเราอยู่ที่นั่นและเห็นแม่น้ำแยกออกและประชาชนทั้งหมดข้ามไปอย่างปลอดภัย เราจะประทับใจสักเพียงไรในความสำเร็จอันมหัศจรรย์นี้! เหตุการณ์นี้แสดงถึงอำนาจของพระเจ้าเหนือสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง. ถึงกระนั้น ในขณะนี้—ในสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้เอง—มีหลายสิ่งที่มหัศจรรย์ไม่แพ้กัน. เพื่อจะเห็นว่าสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้มีอะไรบ้างและทำไมเราควรเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ขอให้พิจารณาโยบ 37:5-7.
8, 9. โยบ 37:5-7 ชี้ถึงราชกิจอันมหัศจรรย์อะไร แต่เพราะเหตุใดเราจึงควรพิจารณาสิ่งเหล่านี้?
8 อะลีฮูประกาศว่า “พระเจ้าทรงกู่ตะโกนอย่างน่ามหัศจรรย์ด้วยพระสุรเสียงของพระองค์. พระองค์ทรงกระทำการใหญ่ยิ่งซึ่งเราเข้าใจไม่ได้.” อะลีฮูนึกถึงอะไรเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำ “อย่างน่ามหัศจรรย์”? ท่านกล่าวถึงหิมะและห่าฝน. สองสิ่งนี้ทำให้เกษตรกรต้องหยุดพักจากการทำงานในไร่นา ทำให้เขามีเวลาและเหตุผลที่จะพินิจพิจารณาราชกิจของพระเจ้า. เราอาจไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ฝนและหิมะอาจก่อผลกระทบต่อเรา. ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ที่ไหน หิมะหรือฝนอาจขัดขวางกิจกรรมของเราด้วย. เราใช้เวลาคิดใคร่ครวญไหมว่าใครคือต้นกำเนิดสิ่งมหัศจรรย์เช่นนั้นและสิ่งนี้มีความหมายเช่นไร? คุณเคยทำอย่างนั้นไหม?
9 น่าสนใจ ดังที่เราอ่านในโยบบท 38 พระยะโฮวาพระเจ้าเองทรงใช้แนวคิดอย่างเดียวกันนี้เมื่อพระองค์ทรงตั้งคำถามที่เปี่ยมด้วยความหมายให้โยบตอบ. แม้ว่าพระผู้สร้างของเราทรงตั้งคำถามเหล่านี้กับโยบ แต่เห็นได้ชัดว่าคำถามดังกล่าวมีผลกระทบต่อเจตคติ, การดำรงอยู่, และอนาคตของเรา. ดังนั้น ให้เรามาดูกันว่าพระเจ้าทรงถามอะไร และให้เราคิดถึงความหมายที่แฝงอยู่ในคำถามเหล่านั้น. ถูกแล้ว ให้เราทำอย่างที่โยบ 37:14 กระตุ้นเรา.
10. โยบบท 38 ควรมีผลกระทบต่อเราเช่นไร และมีการตั้งคำถามอะไรในบทนี้?
10 บท 38 เริ่มต้นดังนี้: “พระยะโฮวาได้ตรัสตอบโยบออกมาจากกลุ่มพายุว่า, ‘นี่ใครหนอเป็นผู้ให้คำแนะนำไขว้เขวไป, ด้วยถ้อยคำอันโฉดเขลา? จงคาดเอวให้ทะมัดทะแมงอย่างลูกผู้ชาย, ด้วยว่าเราจะซักถามเจ้า, และเจ้าจะต้องตอบเรา.’ ” (โยบ 38:1-3) คำตรัสนี้ช่วยปรับสภาพจิตใจ. คำตรัสนี้ช่วยโยบให้ปรับความคิดของท่านให้พร้อมรับความเป็นจริงที่ว่าท่านกำลังยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้สร้างเอกภพและท่านต้องให้การต่อพระองค์. นับว่าเป็นสิ่ง ที่ดีด้วยสำหรับเราและคนในสมัยเดียวกันนี้ที่จะทำอย่างนั้น. จากนั้น พระเจ้าทรงพิจารณาคร่าว ๆ ถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างที่อะลีฮูได้กล่าวไปแล้ว. “เจ้านะอยู่ที่ไหนเมื่อเราได้วางรากแห่งพิภพโลก? บรรยายไปเถิดถ้าเจ้ามีความรู้. ใครเป็นผู้กะกำหนดกว้างยาวของโลก, เจ้ารู้ไหม? หรือใครเป็นผู้ขึงเชือกวัดสอบ? รากพิภพนั้นตั้งติดต่อไว้บนอะไร, หรือใครเป็นผู้ฝังหินหัวมุม?”—โยบ 38:4-6.
11. โยบ 38:4-6 น่าจะทำให้เราตระหนักในเรื่องใด?
11 โยบอยู่ที่ไหน—เราอยู่ที่ไหน—เมื่อแผ่นดินโลกอุบัติขึ้น? มนุษย์เราเป็นสถาปนิกที่ออกแบบโลกของเรา และกำหนดขนาดของโลกจากแบบดังกล่าวราวกับวัดด้วยไม้บรรทัดไหม? แน่นอน ไม่ใช่! ยังไม่มีมนุษย์เสียด้วยซ้ำในตอนนั้น. โดยทรงเปรียบแผ่นดินโลกกับตึก พระเจ้าตรัสถามว่า “ใครเป็นผู้ฝังหินหัวมุม?” เราทราบว่าโลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในระยะที่พอเหมาะพอดีเพื่อให้เรามีชีวิตและเจริญเติบโตได้. และโลกยังมีขนาดที่พอดีด้วย. หากโลกใหญ่กว่านี้มาก ก๊าซไฮโดรเจนจะไม่สามารถเล็ดลอดออกไปจากชั้นบรรยากาศและสิ่งมีชีวิตจะอยู่บนดาวเคราะห์ของเราดวงนี้ไม่ได้. เห็นได้ชัด มีผู้หนึ่งซึ่ง “ฝังหินหัวมุม” ไว้ในที่อันเหมาะ. โยบควรได้รับเกียรติสำหรับเรื่องนี้ไหม? หรือพวกเรา? หรือว่าพระยะโฮวาพระเจ้า?—สุภาษิต 3:19; ยิระมะยา 10:12.
มนุษย์คนใดมีคำตอบ?
12. คำถามที่พบในโยบ 38:6 นำเราให้คิดถึงเรื่องอะไร?
12 พระเจ้ายังตรัสถามอีกด้วยว่า “รากพิภพนั้นตั้งติดต่อไว้บนอะไร?” นั่นเป็นคำถามที่น่าคิดมิใช่หรือ? เราคงคุ้นเคยกับศัพท์ที่โยบไม่รู้จัก—ความโน้มถ่วง. พวกเราส่วนใหญ่เข้าใจว่าแรงโน้มถ่วงจากมวลสารมหึมาของดวงอาทิตย์ช่วยให้ลูกโลกของเราอยู่ในตำแหน่ง หรืออยู่ในลักษณะที่กล่าวได้ว่ารากพิภพถูกฝังไว้. ถึงกระนั้น มีใครที่เข้าใจเรื่องความโน้มถ่วงอย่างถ่องแท้?
13, 14. (ก) ต้องยอมรับอะไรเกี่ยวกับความโน้มถ่วง? (ข) เราควรมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเรื่องที่โยบ 38:6 เน้น?
13 หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งออกเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งมีชื่อว่าอธิบายเอกภพ (ภาษาอังกฤษ) ยอมรับว่า ‘แรงโน้มถ่วงเป็นพลังธรรมชาติที่คุ้นเคยกันดีที่สุด แต่เข้าใจกันน้อยที่สุด.’ หนังสือนี้กล่าวต่อไปอีกว่า “แรงโน้มถ่วงดูเหมือนว่าเดินทางข้ามอวกาศอันว่างเปล่าในพริบตาเดียว โดยที่ไม่ทราบวิธีอันแน่ชัดเกี่ยวกับการเดินทางของมัน. อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ นักฟิสิกส์เริ่มตั้งสมมุติฐานกันว่าแรงโน้มถ่วงอาจเดินทางในรูปของคลื่นซึ่งประกอบด้วยอนุภาคที่เรียกว่ากราวิตอน . . . แต่ไม่มีใครแน่ใจอย่างแท้จริงถึงการดำรงอยู่ของกราวิตอนที่ว่านี้.” คิดดูก็แล้วกันว่านั่นบ่งชี้ถึงอะไร.
14 วิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้าเรื่อยมาเป็นเวลาถึง 3,000 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่พระยะโฮวาทรงตั้งคำถามดังกล่าวกับโยบ. ถึงกระนั้น ไม่มีใครในพวกเราหรือแม้แต่นักฟิสิกส์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถอธิบายได้อย่างครบถ้วนในเรื่องความโน้มถ่วงซึ่งทำให้โลกเราอยู่ในวงโคจรที่ถูกต้อง อยู่ในตำแหน่งพอเหมาะพอดีที่ทำให้เราสามารถเพลิดเพลินกับชีวิตบนโลกใบนี้. (โยบ 26:7; ยะซายา 45:18) ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เพื่อแนะนำว่าเราทุกคนต้องติดตามศึกษาอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความลึกลับของความโน้มถ่วง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การให้ความเอาใจใส่ต่อราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้าแม้แต่ในแง่นี้เพียงแง่เดียวก็น่าจะมีผลต่อทัศนะที่เรามีต่อพระองค์. คุณรู้สึกเกรงขามในพระสติปัญญาและความรู้ของพระองค์ไหม และคุณตระหนักไหมถึงเหตุผลที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระองค์?
15-17. (ก) โยบ 38:8-11 เน้นเรื่องอะไร และทำให้เกิดคำถามอะไร? (ข) ต้องยอมรับเช่นไรเกี่ยวกับความรู้ในเรื่องมหาสมุทรและการกระจายตัวของมหาสมุทรบนลูกโลก?
15 พระผู้สร้างตรัสถามต่อไปว่า “ใครปิดประตูกันน้ำทะเลไว้, เมื่อมันพังออกมาดุจอาการที่คลอดออกมาจากครรภ์, เมื่อเราได้สร้างเมฆเป็นเช่นเสื้อผ้าของมัน, และสร้างเมฆทึบเป็นเช่นผ้าอ้อมสำหรับมัน, และจำกัดเขตให้มัน, ทำรั้วและประตูกั้นมันไว้, ทั้งกำชับไว้ว่า, ‘เจ้ามาได้แต่เพียงเขตนี้, แต่จะล้ำออกไปอีกไม่ได้; คลื่นอันทะนงองอาจของเจ้าจะต้องหยุดอยู่ที่นี่แหละ.’ ”—16 การปิดประตูกันน้ำทะเลเกี่ยวข้องกับทวีป, มหาสมุทร, และน้ำขึ้นน้ำลง. มนุษย์เราได้สังเกตและศึกษาเรื่องนี้มานานเท่าใดแล้ว? หลายพันปี—และศึกษากันอย่างลึกซึ้งมากในศตวรรษที่แล้ว. คุณอาจนึกอยู่ในใจว่าข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ที่ควรทราบในเรื่องนี้ ถึงตอนนี้ คงพิสูจน์ชัดเจนไปหมดแล้ว. กระนั้น ในปี 2001 นี้ หากคุณตรวจสอบเรื่องนี้ที่หอสมุดใหญ่ ๆ หรือใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งช่วยให้ค้นคว้าได้อย่างกว้างขวางเพื่อหาข้อเท็จจริงล่าสุด คุณจะพบอะไร?
17 ในหนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับโดยทั่วไป คุณจะพบกับคำยอมรับดังนี้: “การกระจายตัวของลานทวีปและพื้นมหาสมุทรบนพื้นผิวของลูกโลก และการกระจายตัวของลักษณะแผ่นดินแบบหลัก ๆ ซึ่งมีรูปพรรณสัณฐานต่าง ๆ กันไป เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาน่าพิศวงที่สุดสำหรับการตรวจสอบและการตั้งทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์.” หลังจากกล่าวเช่นนี้แล้ว สารานุกรมฉบับเดียวกันนี้ได้เสนอคำอธิบายสี่ประการที่เป็นไปได้ แต่ก็กล่าวว่าคำอธิบายเหล่านี้เป็น “ส่วนหนึ่งในสมมุติฐานหลาย ๆ ข้อ.” ดังที่คุณคงทราบ สมมุติฐาน “ส่อนัยถึงการมีหลักฐานไม่พอ จึงเป็นได้แค่คำอธิบายชั่วคราว.”
18. โยบ 38:8-11 ช่วยคุณให้ลงความเห็นเช่นไร?
18 นั่นทำให้เห็นชัดมิใช่หรือว่าคำถามที่เราอ่านในโยบ 38:8-11 เป็นคำถามที่เหมาะกับเวลา? แน่ล่ะ เราไม่ใช่ผู้ที่ได้จัดสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ไว้บนดาวเคราะห์ดวงนี้. เราไม่ได้วางตำแหน่งของดวงจันทร์เพื่อให้แรงดึงดูดของมันทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งตามปกติจะไม่ท่วมชายฝั่งหรือที่อยู่อาศัยของมนุษย์เรา. คุณทราบว่าพระผู้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลายเป็นผู้ทำสิ่งเหล่านี้.—บทเพลงสรรเสริญ 33:7; 89:9; สุภาษิต 8:29; กิจการ 4:24; วิวรณ์ 14:7.
จงถวายคำยกย่องอันสมควรแด่พระยะโฮวา
19. ถ้อยกวีที่โยบ 38:12-14 ชี้ชวนให้เราสนใจความเป็นจริงอะไรทางกายภาพ?
19 มนุษย์ไม่อาจรับการยกย่องสำหรับการหมุนรอบตัวเองของโลก ตามที่โยบ 38:12-14 กล่าวพาดพิงถึง. การหมุนนี้ทำให้เกิดอรุณรุ่ง ที่มักจะสวยจับใจ. ขณะที่ดวงอาทิตย์ลอยสูงขึ้น รูปลักษณะของโลกก็เห็นได้ชัดขึ้น เหมือนกับรอยของตราประทับที่กดลงบนดินเหนียว. หากเราได้ให้ความสนใจสักเล็กน้อยต่อการหมุนของโลก เราก็ต้องประหลาดใจที่โลกไม่ได้หมุนเร็วเกินไป ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นเราคงตระหนักได้ไม่ยากว่าย่อมยังผลเป็นความหายนะ. อีกทั้งโลกไม่ได้หมุนช้ามากจนกลางวันและกลางคืนยาวนานเกินไปและทำให้ร้อนจัดและหนาวจัดจนมนุษย์ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้. กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เราน่าจะดีใจที่พระเจ้าทรงเป็นผู้กำหนดตั้งความเร็วในการหมุนของโลก ไม่ใช่มนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง.—บทเพลงสรรเสริญ 148:1-5.
20. คุณจะตอบคำถามในโยบ 38:16, 18 อย่างไร?
20 ทีนี้ ขอให้วาดมโนภาพว่าพระเจ้าตรัสถามคุณอีกว่า “เจ้าได้เข้าไปถึงปล่องน้ำพุทะเลหรือ? เจ้าได้เดินไปถึงห้องสุดลึกของมหาสมุทรหรือ?” แม้แต่นักสมุทรศาสตร์ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ครบถ้วน! “เจ้าเห็นแจ้งถึงความกว้างของโลกนั้นหรือ? ถ้าเจ้ารู้ตลอดแล้วก็จงกล่าวออกมา.” (โยบ 38:16, 18) คุณได้ไปเยือนและสำรวจทั่วทุกภูมิภาคของโลกแล้วไหม หรือแม้แต่ภูมิภาคส่วนใหญ่ของโลก? หากจะทุ่มเทความสนใจกับสถานที่อันสวยงามและน่าพิศวงทั้งหลายในโลกคงจะต้องใช้เวลาสักกี่ชั่วคน? และนั่นคงจะเป็นช่วงเวลาที่เยี่ยมยอดสักเพียงไร!
21. (ก) คำถามที่โยบ 38:19 อาจแนะให้นึกถึงความเห็นเช่นไรทางวิทยาศาสตร์? (ข) ความเป็นจริงเกี่ยวกับแสงควรกระตุ้นเราให้ทำอะไร?
โยบ 38:19 (ฉบับแปลใหม่) ด้วย ที่ว่า “ทางที่จะนำไปสู่สำนักของความสว่างอยู่ที่ไหน และส่วนที่มืด สถานที่นั้นอยู่ที่ไหน.” คุณอาจทราบว่า เป็นเวลานานทีเดียวที่คิดกันว่าแสงเดินทางเหมือนคลื่น คล้ายระลอกคลื่นที่เราเห็นบนผิวน้ำในสระ. ต่อมา ในปี 1905 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์อธิบายว่าแสงมีพฤติกรรมคล้ายกลุ่มก้อนหรืออนุภาคของพลังงาน. นั่นถือเป็นข้อสรุปไหม? สารานุกรมฉบับหนึ่งซึ่งออกเมื่อเมื่อไม่นานมานี้ตั้งคำถามว่า “แสงเป็นคลื่นหรืออนุภาค?” แล้วก็ให้คำตอบว่า “ดูเหมือนว่า [แสง] ไม่สามารถเป็นได้ทั้งสองอย่าง เพราะรูปแบบของทั้งสอง [คือคลื่นและอนุภาค] ต่างกันมาก. คำตอบที่ดีที่สุดก็คือ กล่าวโดยเคร่งครัดแล้วแสงไม่เป็นทั้งสองอย่าง.” ถึงกระนั้น เราได้รับความร้อนที่พอเหมาะอยู่ตลอด (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) แม้ว่าไม่มีมนุษย์คนใดสามารถอธิบายราชกิจของพระเจ้าในเรื่องนี้ได้อย่างครบถ้วน. เราได้รับอาหารและออกซิเจนที่เกิดจากการที่พืชตอบสนองต่อแสง. เราสามารถอ่านหนังสือ, เห็นใบหน้าของผู้ที่เรารัก, ชมอาทิตย์อัสดง, และชื่นชมสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย. ขณะที่เราทำอย่างนั้น เราควรยอมรับมิใช่หรือว่านี่เป็นราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า?—บทเพลงสรรเสริญ 104:1, 2; 145:5; ยะซายา 45:7; ยิระมะยา 31:35.
21 ขอให้พิจารณาคำถามที่ลึกซึ้งที่22. ดาวิดผู้อยู่ในโบราณกาลตอบสนองอย่างไรต่อราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า?
22 เป้าหมายของการที่เราใคร่ครวญถึงราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระยะโฮวาเป็นเพียงเพื่อจะประทับใจ หรือเพื่อจะรู้สึกเกรงขามจนพูดไม่ออกเท่านั้นไหม? ไม่ใช่อย่างนั้นแน่. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในโบราณกาลยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจและอธิบายราชกิจทุกอย่างของพระเจ้า. ดาวิดเขียนว่า “ข้าแต่พระยะโฮวาพระเจ้าของข้าพเจ้า, พระองค์ทรงกระทำการอัศจรรย์มาก . . . ถ้าข้าพเจ้าจะสำแดงหรือพูดถึงการเหล่านั้นก็เหลือที่จะนับได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 40:5) อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องแน่นอนว่าท่านไม่ได้หมายความว่าท่านจะไม่ปริปากพูดเกี่ยวกับราชกิจอันยิ่งใหญ่เหล่านี้. ดาวิดพิสูจน์ข้อนี้โดยแสดงความตั้งใจแน่วแน่ของท่านที่บทเพลงสรรเสริญ 9:1 ว่า “ข้าพเจ้าจะถวายความสรรเสริญแก่พระยะโฮวาด้วยสุดใจของข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะประกาศการมหัศจรรย์ต่าง ๆ ของพระองค์.”
23. ปฏิกิริยาของคุณต่อราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้าเป็นเช่นไร และคุณจะช่วยคนอื่นได้อย่างไร?
23 เราก็น่าจะถูกกระตุ้นไม่น้อยกว่านั้นมิใช่หรือ? ความรู้สึกทึ่งในราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าน่าจะกระตุ้นเรามิใช่หรือให้กล่าวถึงพระองค์, กล่าวถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทำไปแล้ว, และกล่าวถึงสิ่งที่พระองค์ยังจะกระทำ? คำตอบนั้นเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว—เราควร “ประกาศพระเกียรติของพระองค์ในท่ามกลางชนประเทศทั้งปวง, และประกาศการอัศจรรย์ของพระองค์ในท่ามกลางบรรดามนุษย์โลก.” (บทเพลงสรรเสริญ 96:3-5) ถูกแล้ว เราสามารถแสดงออกซึ่งความหยั่งรู้ค่าด้วยใจถ่อมต่อราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้าโดยบอกผู้อื่นถึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์. แม้แต่ในกรณีที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ไม่เชื่อเรื่องพระผู้สร้าง คำพูดในแง่บวกของเราซึ่งให้ข้อมูลที่ดีอาจทำให้พวกเขาตื่นตัวที่จะยอมรับพระเจ้า. นอกจากนั้น คำพูดเช่นนั้นอาจกระตุ้นพวกเขาให้ต้องการเรียนรู้และรับใช้พระยะโฮวา ผู้ทรง “สร้างสรรพสิ่ง” ผู้ทำราชกิจอันมหัศจรรย์.—วิวรณ์ 4:11.
คุณจะตอบอย่างไร?
• คำกระตุ้นเตือนดังบันทึกไว้ที่โยบ 37:14 ทำให้คุณคิดถึงราชกิจอะไรบ้างของพระเจ้า?
• โยบบท 37 และ 38 เน้นเกี่ยวกับอะไรบ้างที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้อย่างครบถ้วน?
• คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า และความรู้สึกดังกล่าวกระตุ้นคุณให้ทำอะไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 7]
ใครกันทะเลไว้ กักทะเลให้อยู่ในที่ของมัน?
[ภาพหน้า 7]
ใครบ้างที่ได้ไปเยือนสถานที่สวยงามทั้งหมดในโลกซึ่งพระเจ้าได้สร้างไว้?