ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การรุดหน้าในทางของพระยะโฮวาเป็นกำลังและความยินดีของเรา

การรุดหน้าในทางของพระยะโฮวาเป็นกำลังและความยินดีของเรา

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

การ​รุด​หน้า​ใน​ทาง​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​กำลัง​และ​ความ​ยินดี​ของ​เรา

เล่า​โดย​ลุอิจิ ดี. วาเลนติโน

“ทาง​นี้​แหละ. . . . จง​เดิน​ใน​ทาง​นี้​เถิด” พระ​ยะโฮวา​ทรง​แนะ​นำ. (ยะซายา 30:21, ล.ม.) การ​เชื่อ​ฟัง​คำ​แนะ​นำ​ข้อ​นี้​เป็น​เป้าหมาย​ของ​ผม​เรื่อย​มา​ตั้ง​แต่​ได้​รับ​บัพติสมา​เมื่อ 60 ปี​มา​แล้ว. ผม​ตั้ง​เป้าหมาย​นี้​มา​แต่​ต้น​โดย​อาศัย​แบบ​อย่าง​ของ​พ่อ​แม่​ซึ่ง​อพยพ​จาก​อิตาลี​มา​อยู่​ที่​เมือง​คลีฟแลนด์ รัฐ​โอไฮโอ ประเทศ​สหรัฐ​อเมริกา​เมื่อ​ปี 1921. ท่าน​ได้​เลี้ยง​ดู​ลูก​สาม​คน คือ​ไมก์​พี่​ชาย​ผม แล้ว​ก็​ตัว​ผม และ​ลิเดีย​น้อง​สาว.

พ่อ​แม่​ของ​ผม​ได้​ตรวจ​สอบ​ดู​ศาสนา​ต่าง ๆ แต่​ลง​ท้าย​ก็​เลิก​ไป​อย่าง​ผิด​หวัง. อยู่​มา​วัน​หนึ่ง​ใน​ปี 1932 พ่อ​เปิด​ฟัง​รายการ​วิทยุ​ภาษา​อิตาลี. รายการ​ออก​อากาศ​นี้​จัด​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา และ​ท่าน​ชอบ​เรื่อง​ราว​ที่​ได้​ฟัง. พ่อ​จึง​เขียน​ไป​ขอ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม และ​พยาน​ฯ ซึ่ง​เป็น​ชาว​อิตาลี​จาก​สำนักงาน​กลาง​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​บรุกลิน นิวยอร์ก​ได้​มา​เยี่ยม​พวก​เรา. ภาย​หลัง​การ​พิจารณา​ถก​ถาม​อย่าง​เอา​จริง​เอา​จัง​จน​ถึง​รุ่ง​เช้า​ของ​วัน​ใหม่ พ่อ​แม่​ของ​ผม​เกิด​ความ​เชื่อ​มั่น​ว่า​ท่าน​ได้​พบ​ศาสนา​แท้​แล้ว.

พ่อ​กับ​แม่​เริ่ม​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน และ​เต็ม​ใจ​เปิด​บ้าน​ให้​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​เข้า​พัก. ถึง​ผม​ยัง​เด็ก​อยู่ แต่​ผู้​ดู​แล​เหล่า​นี้​ให้​ผม​ไป​กับ​เขา​ใน​งาน​เผยแพร่ และ​นี่​ทำ​ให้​ผม​คิด​ถึง​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​เต็ม​เวลา. หนึ่ง​ใน​จำนวน​แขก​พัก​ที่​บ้าน​ได้​แก่​แครีย์ ดับเบิลยู. บาร์เบอร์ ปัจจุบัน​เป็น​สมาชิกคณะ​กรรมการ​ปกครอง​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา. จาก​นั้น​ไม่​นาน ผม​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​เดือน​กุมภาพันธ์ 1941 ตอน​อายุ 14 ปี และ​ปี 1944 ผม​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์​ใน​เมือง​คลีฟแลนด์. ไมก์​กับ​ลิเดีย​ก็​เข้า​มา​อยู่​ใน​ทาง​แห่ง​ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เช่น​กัน. ไมก์​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​จน​กระทั่ง​สิ้น​ชีวิต ส่วน​ลิเดีย​ได้​เดิน​ทาง​ไป​กับ แฮรัลด์ ไวด์เนอร์ สามี​ของ​เธอ​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​นาน​ถึง 28 ปี. ตอน​นี้​ทั้ง​สอง​ทำ​งาน​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​พิเศษ.

การ​ติด​คุก​ยิ่ง​เสริม​ความ​ตั้งใจ ของ​ผม​ให้​รุด​หน้า​ต่อ​ไป

ตอน​ต้น​ปี 1945 ผม​ถูก​ส่ง​เข้า​ทัณฑสถาน​กลาง​ชิลลิคอที รัฐ​โอไฮโอ เนื่อง​จาก​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​ผม​ที่​ถูก​อบรม​ตาม​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​กระตุ้น​ผม​ให้​ปฏิบัติ​ประสาน​กับ​ถ้อย​คำ​ใน​ยะซายา 2:4 ที่​พูด​ถึง​การ​ตี​ดาบ​เป็น​ผาล​ไถ​นา. มี​อยู่​ครั้ง​หนึ่ง เจ้าหน้าที่​ทัณฑสถาน​แห่ง​นี้​อนุญาต​ให้​นัก​โทษ​พยาน​ฯ มี​หนังสือ​อธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​ใน​จำนวน​จำกัด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพื่อน​พยาน​ฯ จาก​ประชาคม​ใกล้​เคียง​ได้​ช่วยเหลือ​พวก​เรา. บาง​ครั้ง​พวก​เขา​ได้​ทิ้ง​หนังสือ​เพียง​ไม่​กี่​เล่ม​ไว้​ตาม​ทุ่ง​หญ้า​ใกล้ ๆ เรือน​จำ. เช้า​วัน​รุ่ง​ขึ้น ขณะ​ที่​นัก​โทษ​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ทำ​งาน​ใน​พื้น​ที่​ที่​กำหนด​ให้ พวก​เขา​จะ​มอง​หา​หนังสือ​เหล่า​นั้น​แล้ว​หา​วิธี​นำ​หนังสือ​เข้า​ไป​ใน​เรือน​จำ. ตอน​ที่​ผม​ได้​มา​ถึง​เรือน​จำ เรา​ได้​รับ​การ​ยินยอม​ให้​มี​หนังสือ​มาก​กว่า​ที่​แล้ว ๆ มา กระนั้น​ก็​ตาม ผม​ได้​เรียน​รู้​มาก​ยิ่ง​กว่า​ครั้ง​ใด ๆ เกี่ยว​กับ​คุณค่า​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​เตรียม—บทเรียน​ที่​ผม​ยัง​จำ​ได้​ทุก​ครั้ง​เมื่อ​ผม​รับ​วารสาร​หอสังเกตการณ์ หรือ​ตื่นเถิด! ฉบับ​ออก​ใหม่.

ถึง​แม้​เรา​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​จัด​การ​ประชุม​ประชาคม​ขึ้น​ใน​เรือน​จำ แต่​ไม่​อนุญาต​คน​ที่​ไม่​ใช่​พยาน​ฯ เข้า​ร่วม. กระนั้น ผู้​คุม​และ​นัก​โทษ​บาง​คน​ได้​แอบ​เข้า​ร่วม​ประชุม​อย่าง​ลับ ๆ และ​บาง​คน​ถึง​กับ​รับรอง​เอา​ความ​จริง​ด้วย​ซ้ำ. (กิจการ 16:30-34) การ​เยี่ยม​ของ​บราเดอร์ เอ. เอช. แมกมิลแลน​เป็น​แหล่ง​ที่​ให้​การ​ปลอบโยน​ที่​โดด​เด่น. ท่าน​รับรอง​กับ​พวก​เรา​เสมอ​ว่า​เวลา​ระหว่าง​ติด​คุก​นั้น​ย่อม​ไม่​เสีย​เปล่า เพราะ​การ​ติด​คุก​ฝึกฝน​เรา​ไว้​สำหรับ​หน้า​ที่​มอบหมาย​ใน​อนาคต. บราเดอร์​สูง​วัย​คน​นี้​ผู้​เป็น​ที่​รัก​ของ​เรา​ได้​ฝาก​ความ​ประทับใจ​แก่​ผม และ​เสริม​ความ​ตั้งใจ​ของ​ผม​ให้​แน่วแน่​ยิ่ง​ขึ้น​ที่​จะ​เดิน​ใน​ทาง​ของ​พระ​ยะโฮวา.

ผม​ได้​เพื่อน​คู่​ใจ

สิ้น​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง ผม​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว​ออก​จาก​คุก​และ​ผม​ก็​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์​อีก งาน​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​นั่น​เอง. แต่​มา​ใน​ปี 1947 พ่อ​ผม​เสีย​ชีวิต. เพื่อ​ช่วยเหลือ​ครอบครัว ผม​จึง​ต้อง​จับ​งาน​อาชีพ และ​นอก​จาก​นั้น ผม​กลาย​เป็น​ผู้​ชำนาญ​การ​นวด​บำบัด​โรค​ด้วย—ทักษะ​ด้าน​นี้​ได้​ช่วย​ผม​ระหว่าง​ที่​ผม​กับ​ภรรยา​เผชิญ​ความ​ลำบาก​ยาก​เข็ญ​ใน​ช่วง​เวลา 30 กว่า​ปี​ต่อ​มา. แต่​ผม​กำลัง​เล่า​เรื่อง​ล้ำ​หน้า​ไป. ก่อน​อื่น ขอ​เล่า​เรื่อง​เกี่ยว​กับ​ภรรยา​ของ​ผม.

บ่าย​วัน​หนึ่ง​ของ​ปี 1949 ตอน​นั้น​ผม​อยู่​ที่​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร เสียง​กริ่ง​โทรศัพท์​ดัง​ขึ้น. ผม​เป็น​คน​รับ​โทรศัพท์​และ​ได้​ยิน​เสียง​หวาน ๆ มา​ตาม​สาย​ว่า “ดิฉัน​คริสติน เกนเชอร์​ค่ะ. ดิฉัน​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา มา​อยู่​ที่​เมือง​คลีฟแลนด์​นี้​เพื่อ​หา​งาน​ทำ และ​ดิฉัน​อยาก​ร่วม​ทำ​กิจกรรม​กับ​ประชาคม​ที่​นี่​ค่ะ.” หอ​ประชุม​ของ​เรา​อยู่​ห่าง​จาก​บริเวณ​ที่​เธอ​อยู่​ตอน​นั้น แต่​ผม​นึก​ชอบ​เสียง​หวาน ๆ ของ​เธอ ผม​จึง​บอก​เส้น​ทาง​ถึง​หอ​ประชุม​ของ​เรา​ให้ และ​สนับสนุน​เธอ​ให้​มา​วัน​อาทิตย์​ที่​จะ​ถึง—วัน​ที่​ผม​เป็น​ผู้​บรรยาย​สาธารณะ. พอ​ถึง​วัน​อาทิตย์ ผม​ไป​ที่​หอ​ประชุม​เป็น​คน​แรก แต่​ซิสเตอร์​หน้า​ใหม่​ไม่​โผล่​มา​เลย. ตลอด​เวลา​ที่​ผม​บรรยาย ผม​เหลือบ​ตา​มอง​ทาง​เข้า​บ่อย ๆ แต่​ไม่​มี​ใคร​เดิน​เข้า​มา. วัน​ถัด​ไป ผม​โทรศัพท์​ไป​หา​เธอ และ​เธอ​บอก​ว่า​เธอ​ยัง​ไม่​รู้​จัก​เส้น​ทาง​เดิน​รถ​โดยสาร. ดัง​นั้น​ผม​อาสา​ไป​พบ​เธอ​เพื่อ​อธิบาย​ให้​เข้าใจ​มาก​ขึ้น.

ผม​ได้​มา​รู้​ว่า​พ่อ​แม่​ของ​เธอ​อพยพ​จาก​ประเทศ​เชโกสโลวะเกีย และ​เริ่ม​ติด​ต่อ​คบหา​กับ​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​หลัง​จาก​ได้​อ่าน​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ชื่อ​คน​ตาย​อยู่​ที่​ไหน? พ่อ​แม่​ของ​เธอ​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1935. ปี 1938 พ่อ​ของ​คริสติน​เป็น​ผู้​รับใช้​หมู่​คณะ (เดี๋ยว​นี้​เรียก​ว่า​ผู้​ดู​แล​ผู้​เป็น​ประธาน) ใน​ประชาคม​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​เมือง​ไคลเมอร์ รัฐ​เพนซิลเวเนีย สหรัฐ​อเมริกา ส่วน​คริสติน​รับ​บัพติสมา​ปี 1947 เมื่อ​อายุ 16 ปี. ไม่​นาน​นัก ผม​ก็​ตก​หลุม​รัก​ซิสเตอร์​คน​นี้​ซึ่ง​ทั้ง​สวย​ทั้ง​ใส่​ใจ​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ. เรา​แต่งงาน​เมื่อ​วัน​ที่ 24 มิถุนายน 1950 และ​ตั้ง​แต่​นั้น​เป็น​ต้น​มา คริสติน​เป็น​คู่​ชีวิต​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​ผม เธอ​เต็ม​ใจ​จัด​ให้​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​มา​เป็น​อันดับ​แรก​เสมอ. ผม​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​ที่​เพื่อน​คู่​ใจ​ผู้​มาก​ด้วย​ความ​สามารถ​คน​นี้​ปลง​ใจ​ร่วม​ชีวิต​กับ​ผม.—สุภาษิต 31:10.

เรื่อง​ที่​น่า​ประหลาด​ใจ​เป็น​อย่าง​ยิ่ง

วัน​ที่ 1 พฤศจิกายน 1951 เรา​ทั้ง​สอง​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์​ด้วย​กัน. สอง​ปี​ต่อ​มา ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​เมือง​โทเลโด รัฐ​โอไฮโอ บราเดอร์​ฮูโก รีเมอร์​และ​บราเดอร์​อัลเบิร์ต ชโรเดอร์​ได้​กล่าว​ปราศรัย​ต่อ​กลุ่ม​ไพโอเนียร์​ที่​สนใจ​งาน​รับใช้​ฐานะ​มิชชันนารี. เรา​อยู่​ใน​กลุ่ม​นั้น​ด้วย​และ​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​ทำ​งาน​ด้าน​ไพโอเนียร์​ต่อ​ไป​ใน​คลีฟแลนด์ แต่​หนึ่ง​เดือน​ต่อ​มา น่า​ประหลาด​ใจ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​เรา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​เข้า​เรียน​เป็น​รุ่น 23 ของ​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด เริ่ม​เดือน​กุมภาพันธ์ 1954!

ขณะ​ที่​เรา​ขับ​รถ​ไป​โรง​เรียน​กิเลียด ซึ่ง​สมัย​นั้น​อยู่​ที่​เซาท์แลนซิง นิวยอร์ก คริสติน​วิตก​กังวล​มาก เธอ​บอก​ผม​ตลอด​ทาง​ให้ “ขับ​ช้า ๆ!” ผม​บอก​ว่า “คริสติน​จ๊ะ ถ้า​เรา​ขับ​ช้า​กว่า​นี้​รถ​เรา​เห็น​ท่า​ต้อง​จอด​เลย​ล่ะ.” แต่​หลัง​จาก​ไป​ถึง​โรง​เรียน​ได้​สัก​พัก เรา​ก็​ค่อย​โล่ง​อก​สบาย​ใจ. บราเดอร์​นาทาน นอรร์​ได้​ต้อนรับ​กลุ่ม​นัก​เรียน​และ​นำ​ชม​รอบ​บริเวณ. นอก​จาก​นั้น ท่าน​อธิบาย​วิธี​ที่​เรา​จะ​ประหยัด​น้ำ​และ​ไฟฟ้า โดย​ย้ำ​เตือน​ว่า​การ​ประหยัด​มัธยัสถ์​เป็น​สิ่ง​ที่​ดี​เมื่อ​ต้อง​ดู​แล​ผล​ประโยชน์​ราชอาณาจักร. คำ​แนะ​นำ​นั้น​ฝัง​แน่น​อยู่​ใน​ใจ​เรา. เรา​ยัง​คง​ใช้​คำ​แนะ​นำ​นั้น​เสมอ​ใน​ชีวิต​ของ​เรา.

บิน​ลง​ใต้​ถึง​นคร​ริว

ใน​ไม่​ช้า​พวก​เรา​ก็​เรียน​จบ​หลัก​สูตร และ​วัน​ที่ 10 ธันวาคม 1954 เรา​ขึ้น​เครื่องบิน​ที่​นคร​นิวยอร์ก​ซึ่ง​อากาศ​หนาว​เย็น​มาก รู้สึก​ตื่นเต้น​กับ​การ​คาด​หวัง​จะ​ได้​บิน​สู่​เขต​งาน​มอบหมาย​ใหม่​ของ​เรา​ที่​มี​แสง​แดด​กล้า​ใน​นคร​ริวเดจาเนโร ประเทศ​บราซิล. ปีเตอร์​กับ​บิลลี คารร์เบลโล คู่​สามี​ภรรยา​เพื่อน​มิชชันนารี​ของ​เรา​ร่วม​เดิน​ทาง​ไป​ด้วย. ช่วง​เวลา​บิน​นาน 24 ชั่วโมง โดย​แวะ​ที่​เปอร์โตริโก, เวเนซุเอลา, และ​เบแลง​ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​บราซิล. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เนื่อง​จาก​เครื่องบิน​ขัดข้อง กว่า​เรา​จะ​มอง​ลง​ไป​เห็น​นคร​ริวเดจาเนโร​เบื้อง​ล่าง​ได้​นั้น เวลา​ก็​ล่วง​ไป 36 ชั่วโมง. แต่​ภาพ​ที่​เห็น​นั้น​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​เสีย​จริง ๆ! ดวง​ไฟ​เปล่ง​แสง​ระยิบระยับ​ทั่ว​นคร คล้าย​เพชร​ส่อง​ประกาย​บน​ผืน​พรม​กำมะหยี่​ดำ และ​ดวง​จันทร์​ทอแสง​สี​เงิน​ยวง​แวว​วับ​บน​ผิว​น้ำ​ทะเล​ใน​อ่าว​กัวนาบารา.

สมาชิก​หลาย​คน​จาก​ครอบครัว​เบเธล​ได้​มา​รอ​รับ​พวก​เรา​ที่​ท่า​อากาศยาน. หลัง​การ​ต้อนรับ​ทักทาย​กัน​อย่าง​อบอุ่น​แล้ว เขา​ขับ​รถ​พา​เรา​ไป​ยัง​สำนักงาน​สาขา และ​เรา​เข้า​นอน​ประมาณ​ตี​สาม. ไม่​กี่​ชั่วโมง​ต่อ​มา เสียง​กระดิ่ง​ปลุก​ได้​เตือน​ใจ​เรา​ว่า​วัน​แรก​ของ​การ​เป็น​มิชชันนารี​เริ่ม​แล้ว!

บทเรียน​แรก ๆ

ไม่​ช้า​ไม่​นาน​เรา​ได้​เรียน​บทเรียน​สำคัญ. เย็น​วัน​หนึ่ง​เรา​ใช้​เวลา​อยู่​ที่​บ้าน​ครอบครัว​พยาน​ฯ. เมื่อ​เรา​อยาก​เดิน​กลับ​สาขา ชาย​เจ้าของ​บ้าน​พูด​ทัด​ทาน​ว่า “ฝน​ตก​อย่าง​นี้ คุณ​ไป​ไม่​ได้” และ​เขา​พยายาม​ขอร้อง​ให้​เรา​อยู่​ค้าง​คืน​กับ​เขา​ท่า​เดียว. “ที่​ที่​เรา​จาก​มา ฝน​ก็​ตก​เหมือน​กัน” ผม​พูด​ยิ้ม ๆ พร้อม​กับ​ยัก​ไหล่​แสดง​อาการ​ไม่​รู้​ไม่​ชี้. แล้ว​เรา​ก็​ลา​กลับ​โดย​ไม่​ต่อ​ปาก​ต่อ​คำ.

เนื่อง​จาก​นคร​ริว​อยู่​ใน​ทำเล​ที่​มี​ภูเขา​โอบ​ล้อม น้ำ​ฝน​มัก​ไหล​รวม​กัน​เป็น​สาย​น้ำ​และ​ไหล​ทะลัก​ท่วม​เมือง​บ่อย ๆ. ใน​ไม่​ช้า เรา​ท่อง​น้ำ​ที่​ลึก​ถึง​เข่า. ใกล้​สำนักงาน​สาขา ถนน​หลาย​สาย​จม​อยู่​ใต้​น้ำ​อัน​เชี่ยวกราก ระดับ​น้ำ​สูง​ท่วม​ถึง​หน้า​อก. เรา​กลับ​ถึง​เบเธล​ได้​ใน​ที่​สุด แต่​ก็​เปียก​โชก​ทั้ง​ตัว. วัน​รุ่ง​ขึ้น คริสติน​รู้สึก​ไม่​สบาย​และ​ล้ม​ป่วย​ด้วย​โรค​ไข้​รากสาด​น้อย มี​ผล​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​อ่อนแอ​ไม่​มี​แรง​อยู่​นาน​วัน. แน่นอน เรา​ใน​ฐานะ​มิชชันนารี​ที่​เพิ่ง​มา​ใหม่​ก็​ควร​รับ​ฟัง​คำ​เตือน​ของ​พยาน​ฯ ใน​ท้องถิ่น​ผู้​มี​ประสบการณ์.

ช่วง​แรก ๆ ใน​งาน​มิชชันนารี​และ​งาน​เดิน​ทาง​เยี่ยม

หลัง​การ​เริ่ม​ต้น​ซึ่ง​ไม่​สู้​จะ​ราบรื่น​นัก เรา​สอง​คน​ก็​เริ่ม​งาน​รับใช้​ด้วย​การ​เผยแพร่​อย่าง​กระตือรือร้น. เรา​อ่าน​ข้อ​ความ​การ​เสนอ​ข่าว​เป็น​ภาษา​โปรตุเกส​แก่​ทุก​คน​ที่​เรา​พบ และ​ดู​เหมือน​เรา​สอง​คน​พูด​ภาษา​โปรตุเกส​ได้​มาก​พอ ๆ กัน. เจ้าของ​บ้าน​ราย​หนึ่ง​พูด​กับ​คริสติน​ว่า “ผม​เข้าใจ​ที่​คุณ​พูด แต่​ไม่​เข้าใจ​คน​นั้น​พูด” พร้อม​กับ​ชี้​มา​ทาง​ผม. เจ้าของ​บ้าน​อีก​คน​หนึ่ง​บอก​ผม​ว่า “ผม​เข้าใจ​คำ​พูด​ของ​คุณ แต่​ไม่​เข้าใจ​ที่​เธอ​พูด.” ถึง​แม้​เป็น​เช่น​นั้น เรา​ตื่นเต้นเมื่อ​ได้​ราย​บอกรับ​วารสาร​หอสังเกตการณ์ 100 กว่า​ราย​ใน​ช่วง​สอง​สาม​สัปดาห์​แรก. ที่​จริง นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​หลาย​คน​ที่​เรา​นำ​การ​ศึกษา​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​ช่วง​ปี​แรก​ที่​เรา​มา​อยู่​ใน​บราซิล เป็น​ตัว​อย่าง​บ่ง​บอก​ว่า​งาน​มอบหมาย​มิชชันนารี​นี้​จะ​ให้​ผล​มาก​มาย​เพียง​ใด.

ช่วง​กลาง​ทศวรรษ 1950 หลาย​ประชาคม​ใน​บราซิล​ไม่​มี​การ​เยี่ยม​สม่ำเสมอ​จาก​ผู้​ดู​แล​หมวด เนื่อง​จาก​ขาด​แคลน​พี่​น้อง​ชาย​ที่​มี​คุณวุฒิ. ดัง​นั้น ถึง​แม้​ขณะ​ที่​ผม​ยัง​อยู่​ใน​ช่วง​เรียน​ภาษา อีก​ทั้ง​ไม่​เคย​ให้​คำ​บรรยาย​สาธารณะ​เป็น​ภาษา​โปรตุเกส กระนั้น ปี 1956 ผม​ถูก​มอบหมาย​ให้​ทำ​หน้า​ที่​ดู​แล​หมวด​ใน​รัฐ​เซาเปาลู.

เนื่อง​จาก​ประชาคม​แห่ง​แรก​ที่​เรา​เยี่ยม​ไม่​มี​ผู้​ดู​แล​หมวด​เข้า​เยี่ยม​สอง​ปี​แล้ว ทุก​คน​คาด​หวัง​สูง​จะ​ได้​ฟัง​คำ​บรรยาย​สาธารณะ. ผม​เตรียม​คำ​บรรยาย โดย​การ​ตัด​ตอน​เอา​ส่วน​ที่​เป็น​บทความ​จาก​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ภาษา​โปรตุเกส แล้ว​ติด​แปะ​บน​แผ่น​กระดาษ. พอ​ถึง​วัน​อาทิตย์ หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​แน่น​ขนัด. ผู้​คน​ถึง​กับ​ขึ้น​มา​นั่ง​บน​เวที ทุก​คน​ตั้ง​ตา​คอย​เหตุ​การณ์​สำคัญ. การ​บรรยาย​ครั้ง​นั้น​น่า​จะ​ว่า​เป็น​การ​อ่าน​เสีย​มาก​กว่า​ก็​เริ่ม​ขึ้น. ผม​เงย​หน้า​เป็น​ครั้ง​คราว และ​รู้สึก​แปลก​ใจ​ที่​ไม่​เห็น​มี​ใคร​ขยับ​เขยื้อน แม้​แต่​เด็ก​เล็ก ๆ. ทุก​คน​จ้อง​ผม​ไม่​วาง​ตา. ผม​รำพึง​กับ​ตัว​เอง ‘วาเลนติโน นี่​เจ้า​พูด​โปรตุเกส​เก่ง​ขนาด​นี้​เชียว! คน​เหล่า​นี้​นั่ง​ฟัง​กัน​อย่าง​ตั้งใจ.’ หลาย​ปี​ผ่าน​ไป เมื่อ​ผม​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​นั้น​อีก​ครั้ง​หนึ่ง บราเดอร์​ที่​ได้​ฟัง​คำ​บรรยาย​ของ​ผม​ตอน​เยี่ยม​ครั้ง​แรก​พูด​ว่า “คุณ​จำ​การ​บรรยาย​สาธารณะ​ของ​คุณ​ครั้ง​แรก​เมื่อ​คุณ​มา​เยี่ยม​ที่​นี่​ได้​ไหม? พวก​เรา​ฟัง​ไม่​รู้​เรื่อง​เลย.” ผม​ยอม​รับ​ว่า​ผม​เอง​ก็​ไม่​ค่อย​เข้าใจ​เรื่อง​บรรยาย​นั้น​มาก​สัก​เท่า​ไร.

งาน​เยี่ยม​หมวด​ใน​ช่วง​ปี​แรก​นั้น ผม​มัก​อ่าน​ซะคาระยา 4:6 บ่อย ๆ. ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “ไม่​ใช่​ด้วย​กำลัง​แล​ฤทธิ์ แต่​โดย​พระ​วิญญาณ​ของ​เรา” เตือน​ใจ​ผม​ว่า​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​มูล​เหตุ​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​ทำ​ให้​งาน​ราชอาณาจักร​เจริญ​ก้าว​หน้า. และ​งาน​ราชอาณาจักร​ก็​ก้าว​หน้า​จริง​ทั้ง ๆ ที่​ข้อ​จำกัด​ของ​เรา​ปรากฏ​ชัด.

ประสบ​ทั้ง​ปัญหา​และ​พระ​พร​นานา​ประการ

งาน​เยี่ยม​หมวด​หมาย​ถึง​การ​โยกย้าย​ไป​ทั่ว​ประเทศ​พร้อม​กับ​นำ​เอา​พิมพ์ดีด, กล่อง​บรรจุ​สรรพหนังสือ, กระเป๋า​เสื้อ​ผ้า, กระเป๋า​หนังสือ​ขนาด​ย่อม​ติด​ตัว​ไป​ด้วย. เพื่อ​จะ​ไม่​ลืม​ของ​แม้​แต่​ชิ้น​เดียว​ตอน​รีบ​เร่ง​เปลี่ยน​รถ​โดยสาร​ประจำ​ทาง ด้วย​ความ​รอบคอบ คริสติน​จะ​ติด​เลข​สัมภาระ​ทุก​ชิ้น​ของ​เรา. ไม่​ใช่​เรื่อง​ผิด​ปกติ​ที่​จะ​โดยสาร​รถ​ประจำ​ทาง​บน​ถนน​ที่​เป็น​ฝุ่น​นาน​ถึง 15 ชั่วโมง​กว่า​เรา​จะ​ไป​ถึง​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง. บาง​ครั้ง​มี​เหตุ​การณ์​น่า​หวาด​เสียว โดย​เฉพาะ​เมื่อ​รถ​โดยสาร​สอง​คัน​วิ่ง​มา​ถึง​กลาง​สะพาน​ที่​ไม่​แน่น​หนา​ใน​เวลา​เดียว​กัน และ​เบียด​ชิด​กัน​จน​แทบ​ไม่​มี​ช่อง​ว่าง​จะ​สอด​กระดาษ​แผ่น​บาง ๆ เข้า​ไป​ได้. นอก​จาก​นั้น เรา​ยัง​ได้​เดิน​ทาง​โดย​รถไฟ, เรือ, และ​ขี่​ม้า.

ปี 1961 เรา​เริ่ม​งาน​รับใช้​ดู​แล​ภาค หมาย​ถึง​การ​เดิน​ทาง​เยี่ยม​หมวด​ต่าง ๆ แทน​ที่​จะ​เยี่ยม​ประชาคม​หนึ่ง​แล้ว​ต่อ​ไป​อีก​ประชาคม​หนึ่ง. หลาย​คืน​ใน​รอบ​สัปดาห์ เรา​จัด​ฉาย​ภาพยนตร์​ซึ่ง​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​สร้าง​ขึ้น—แต่​ละ​ครั้ง​ต่าง​ที่​กัน. บ่อย​ครั้ง​เรา​ต้อง​ดำเนิน​การ​อย่าง​รวด​เร็ว เพราะ​ไม่​ต้องการ​ให้​ผู้​นำ​ศาสนา​ใน​ท้องถิ่น​ขัด​ขวาง​การ​ฉาย​ภาพยนตร์​ของ​เรา. ที่​เมือง​หนึ่ง บาทหลวง​พยายาม​เจรจา​เชิง​ขู่​บังคับ​เจ้าของ​สถาน​ที่​ให้​บอก​เลิก​สัญญา​ที่​ทำ​ไว้​กับ​พวก​เรา. หลัง​จาก​เสาะ​หา​ที่​เหมาะ ๆ อยู่​หลาย​วัน เรา​ได้​ที่​แห่ง​ใหม่ แต่​ไม่​บอก​ใคร​และ​ยัง​คง​เชิญ​ชวน​ทุก​คน​ไป​ที่​เดิม. ก่อน​เริ่ม​ฉาย​ภาพยนตร์ คริสติน​ได้​ไป​ยัง​สถาน​ที่​แห่ง​นั้น​และ​พูด​ด้วย​เสียง​เบา ๆ ชี้​แนะ​ให้​คน​ที่​ต้องการ​ชม​ภาพยนตร์​ไป​ที่​ใหม่. ค่ำ​วัน​นั้น​มี 150 คน​ได้​ชม​ภาพยนตร์​ซึ่ง​มี​ชื่อ​เรื่อง​ที่​เหมาะ​สม​จริง ๆ คือ​สมาคม​โลก​ใหม่​ใน​ภาค​ปฏิบัติ.

ถึง​แม้​บาง​ครั้ง​งาน​เดิน​ทาง​ไป​เขต​โดด​เดี่ยว​ทำ​ให้​เรา​เหน็ด​เหนื่อย​เมื่อย​ล้า แต่​บรรดา​พี่​น้อง​ใจ​ถ่อม​ใน​ท้องถิ่น​หยั่ง​รู้​ค่า​การ​เยี่ยม​ของ​เรา​มาก​จริง ๆ และ​เขา​แสดง​น้ำใจ​เอื้อเฟื้อ​ให้​เรา​เข้า​พัก​ใน​บ้าน​ซึ่ง​พวก​เขา​อยู่​กัน​อย่าง​เรียบ​ง่าย เรา​รู้สึก​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​เสมอ​ที่​เรา​มี​โอกาส​อยู่​กับ​เขา. การ​ได้​เป็น​เพื่อน​กับ​เขา​เป็น​พระ​พร​ที่​ทำ​ให้​เรา​อบอุ่น​ใจ. (สุภาษิต 19:17; ฮาฆี 2:7) ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​เป็น​เรื่อง​น่า​เศร้า​เพียง​ใด​เมื่อ​เรา​จำ​ต้อง​ลา​จาก​งาน​มิชชันนารี​ใน​บราซิล​หลัง​จาก​เรา​ทำ​งาน​ที่​นั่น​มา​นาน​กว่า 21 ปี!

ใน​ระหว่าง​ช่วง​วิกฤติ พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชี้​ทาง​ให้​เรา

ใน​ปี 1975 คริสติน​ต้อง​เข้า​รับ​การ​ผ่าตัด. ต่อ​จาก​นั้น เรา​เดิน​ทาง​เยี่ยม​ภาค​เหมือน​เดิม แต่​สุขภาพ​ของ​คริสติน​กลับทรุด​หนัก. ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​การ​ดี​ที่​สุด​สำหรับ​คริสติน​จะ​กลับ​สหรัฐ​เพื่อ​รับ​การ​เยียว​ยา. ดัง​นั้น เดือน​เมษายน 1976 เรา​เดิน​ทาง​มา​ถึง​ลองบีช รัฐ​แคลิฟอร์เนีย​และ​พัก​อยู่​ที่​บ้าน​แม่​ของ​ผม. หลัง​จาก​การ​ดำเนิน​ชีวิต​ใน​ต่าง​ประเทศ​ร่วม​ยี่​สิบ​ปี เรา​งุนงง​นึก​ไม่​ออก​ว่า​จะ​จัด​การ​อย่าง​ไร​กับ​สภาพการณ์​ใน​ช่วง​นั้น. ผม​เริ่ม​ให้​บริการ​นวด และ​ราย​ได้​จาก​การ​นวด​ก็​พอ​จุนเจือ​ให้​เรา​อยู่​รอด. รัฐ​แคลิฟอร์เนีย​เปิด​ช่อง​ให้​คริสติน​เข้า​รับ​การ​รักษา​ใน​โรง​พยาบาล แต่​เธอ​อ่อนแอ​ลง​ทุก​วัน​เนื่อง​จาก​แพทย์​ไม่​ยอม​รักษา​ถ้า​ไม่​ได้​เติม​เลือด​ให้​เธอ. ด้วย​ความ​สิ้น​หวัง เรา​ทูล​วิงวอน​ขอ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​ยะโฮวา.

บ่าย​วัน​หนึ่ง​ขณะ​ที่​ผม​ออก​ไป​ใน​งาน​รับใช้ ผม​มอง​เห็น​สำนักงาน​แพทย์​แห่ง​หนึ่ง และ​ผม​ตัดสิน​ใจ​เดิน​เข้า​ไป​ทันที. แม้​ว่า​หมอ​จวน​จะ​กลับ​อยู่​แล้ว แต่​เขา​อนุญาต​ให้​ผม​เข้า​ไป และ​เรา​ได้​พูด​คุย​นาน​ถึง​สอง​ชั่วโมง. แล้ว​หมอ​ก็​พูด​ว่า “ผม​เห็น​คุณค่า​การ​งาน​ของ​คุณ​ฐานะ​เป็น​มิชชันนารี ผม​จะ​รักษา​ภรรยา​ของ​คุณ​โดย​ไม่​คิด​ค่า​ป่วยการ​ใด ๆ ทั้ง​สิ้น ทั้ง​จะ​ไม่​ใช้​วิธี​การ​ถ่าย​เลือด.” ผม​แทบ​ไม่​เชื่อ​หู​ตัว​เอง.

คุณ​หมอ​ใจ​ดี​คน​นี้ ซึ่ง​ปรากฏ​ว่า​เป็น​แพทย์​ผู้​เชี่ยวชาญ ได้​จัด​การ​ย้าย​คริสติน​เข้า​โรง​พยาบาล​ที่​เขา​ประจำ​อยู่ และ​โดย​การ​ดู​แล​อย่าง​เชี่ยวชาญ​ของ​เขา อาการ​ป่วย​ของ​เธอ​บรรเทา​ลง​อย่าง​รวด​เร็ว. เรา​รู้สึก​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​มาก​เพียง​ไร​ที่​พระองค์​ทรง​โปรด​ชี้​ทาง​แก่​เรา​ใน​ช่วง​เวลา​อัน​ยาก​ลำบาก​เช่น​นั้น!

งาน​มอบหมาย​ใหม่

เมื่อ​คริสติน​แข็งแรง​เป็น​ปกติ เรา​จึง​กลับ​มา​ทำ​งาน​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​และ​รู้สึก​ชื่นชม​ยินดี​เมื่อ​เรา​ช่วย​หลาย​คน​ใน​เมือง​ลองบีช​เข้า​มา​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. ปี 1982 เรา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ทำ​หน้า​ที่​ดู​แล​หมวด​ใน​สหรัฐ. เรา​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​ทุก​วัน​เพราะ​พระองค์​ทรง​ใช้​เรา​ใน​งาน​เดิน​ทาง​อีก​ครั้ง​หนึ่ง—งาน​รับใช้​ที่​เรา​ชอบ​มาก. เรา​รับใช้​ใน​รัฐ​แคลิฟอร์เนีย และ​จาก​นั้น​ใน​ภูมิภาค​นิว​อิงแลนด์ ซึ่ง​ใน​หมวด​มี​บาง​ประชาคม​ที่​ใช้​ภาษา​โปรตุเกส​รวม​อยู่​ด้วย. ใน​เวลา​ต่อ​มา เกาะ​เบอร์มิวดา​ถูก​นับ​รวม​เข้า​ไว้​ด้วย.

หลัง​จาก​สี่​ปี​ที่​เรา​มี​ความ​สดชื่น​กระปรี้กระเปร่า เรา​ถูก​มอบหมาย​ให้​ทำ​หน้า​ที่​ใหม่​อีก. เรา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​พิเศษ​ที่​ไหน​ก็​ได้​ตาม​ที่​เรา​ประสงค์. แม้​รู้สึก​เสียดาย​ที่​ต้อง​ละ​งาน​เดิน​ทาง กระนั้น​เรา​ยัง​คง​มุ่ง​มั่น​จะ​ก้าว​ต่อ​ไป​ใน​หน้า​ที่​ใหม่​ที่​มอบหมาย​ให้​เรา​ทำ. แต่​ที่​ไหน​ล่ะ? ระหว่าง​ที่​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง ผม​ได้​สังเกต​ว่า​ประชาคม​ที่​ใช้​ภาษา​โปรตุเกส​ใน​เมือง​นิว​เบดฟอร์ด รัฐ​แมสซาชูเซตส์​ต้องการ​ความ​ช่วยเหลือ—ดัง​นั้น​เรา​จึง​มุ่ง​หน้า​ไป​เมือง​นิว​เบดฟอร์ด.

เมื่อ​ไป​ถึง​ที่​นั่น ประชาคม​จัด​งาน​ต้อนรับ​เรา​เป็น​การ​ใหญ่. งาน​ต้อนรับ​นั้น​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​ว่า​เรา​มี​ค่า​เพียง​ไร​สำหรับ​พวก​เขา! เรา​กลั้น​น้ำตา​ไว้​ไม่​ได้. คู่​สามี​ภรรยา​หนุ่ม​สาว​ซึ่ง​มี​ลูก​สาว​ตัว​เล็ก ๆ สอง​คน​ได้​กรุณา​ให้​เรา​อาศัย​อยู่​ที่​บ้าน​ของ​เขา​จน​กว่า​หา​บ้าน​เช่า​ได้. พระ​ยะโฮวา​ทรง​อวย​พร​งาน​ไพโอเนียร์​พิเศษ​นี้​อย่าง​แท้​จริง​เกิน​ความ​คาด​หมาย​ของ​เรา. นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1986 เรา​ได้​ช่วย​ประมาณ 40 คน​ใน​เมือง​นี้​เข้า​มา​เป็น​พยาน​ฯ. คน​เหล่า​นี้​เป็น​ครอบครัว​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา. นอก​จาก​นั้น ผม​ยัง​ได้​ประสบ​ความ​ยินดี​เมื่อ​เห็น​พี่​น้อง​ชาย​ห้า​คน​ใน​ท้องถิ่น​นี้​พัฒนา​ก้าว​หน้า​กระทั่ง​ได้​เป็น​ผู้​บำรุง​เลี้ยง​ฝูง​แกะ. นี่​ก็​เป็น​เช่น​เดียว​กับ​การ​รับใช้​ใน​เขต​มอบหมาย​ของ​มิชชันนารี​ซึ่ง​เกิด​ผล​อุดม.

เมื่อ​เรา​มอง​ย้อน​หลัง เรา​ชื่นชม​ที่​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ตั้ง​แต่​อยู่​ใน​วัย​หนุ่ม​สาว​เรื่อย​มา และ​ได้​ทำ​ให้​ความ​จริง​เป็น​วิถี​ชีวิต​ของ​เรา. เป็น​ที่​ยอม​รับ​ว่า​เวลา​นี้​อายุ​และ​สภาพ​ร่าง​กาย​ที่​อ่อนแอ​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา แต่​การ​รุด​หน้า​ไป​ใน​ทาง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​คง​เป็น​กำลัง​และ​ความ​ยินดี​ของ​เรา.

[ภาพ​หน้า 26]

เมื่อ​แรก​มา​ถึง​นคร​ริวเดจาเนโร

[ภาพ​หน้า 28]

ครอบครัว​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา​ใน​เมือง​นิว​เบดฟอร์ด รัฐ​แมสซาชูเซตส์