ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงรักษาความยินดีของคุณในการรับใช้พระยะโฮวา

จงรักษาความยินดีของคุณในการรับใช้พระยะโฮวา

จง​รักษา​ความ​ยินดี​ของ​คุณ​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา

“จง​โสมนัส​ยินดี​ใน​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ทุก​เวลา ข้าพเจ้า​ขอ​ย้ำ​อีก​ที​ว่า, จง​โสมนัส​ยินดี​เถิด.”—ฟิลิปปอย 4:4.

1, 2. พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​กับ​ครอบครัว​ของ​เขา​รักษา​ความ​ยินดี​ของ​ตน​ไว้​ได้​อย่าง​ไร​แม้​สูญ​เสีย​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​มี?

เจมส์ คริสเตียน​อายุ 70 ปี​ซึ่ง​อยู่​ที่​ประเทศ​เซียร์ราลีโอน​ทำ​งาน​หนัก​มา​ตลอด​ชีวิต. ขอ​ให้​นึก​ถึง​ความ​ยินดี​ของ​เขา​เมื่อ​ใน​ที่​สุด​เขา​เก็บ​เงิน​ไว้​ได้​มาก​พอ​และ​ซื้อ​บ้าน​ที่​เรียบ​ง่าย​ขนาด​สี่​ห้อง​หลัง​หนึ่ง! อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​ที่​เจมส์​กับ​ครอบครัว​ย้าย​เข้า​อยู่​ได้​ชั่ว​ระยะ​หนึ่ง เกิด​สงคราม​กลาง​เมือง​ขึ้น​ใน​ประเทศ​นี้ และ​บ้าน​ของ​เขา​ถูก​เผา​จน​เหลือ​แต่​ซาก. พวก​เขา​สูญ​เสีย​บ้าน แต่​ไม่​สูญ​เสีย​ความ​ยินดี. เพราะ​เหตุ​ใด?

2 เจมส์​กับ​ครอบครัว​รักษา​ความ​คิด​ให้​เพ่งเล็ง​ใน​สิ่ง​ที่​ยัง​คง​อยู่ ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​ได้​สูญ​เสีย​ไป. เจมส์​อธิบาย​ว่า “แม้​ใน​ช่วง​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​หวาด​กลัว เรา​จัด​การ​ประชุม, อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล, อธิษฐาน​ด้วย​กัน, และ​แบ่ง​ปัน​สิ่ง​เล็ก​น้อย​ที่​เรา​มี​แก่​ผู้​อื่น. เรา​สามารถ​รักษา​ความ​ยินดี​เพราะ​เรา​มุ่ง​สนใจ​ใน​สัมพันธภาพ​อัน​เยี่ยมยอด​ที่​เรา​มี​กับ​พระ​ยะโฮวา.” โดย​นึก​ถึง​พระ​พร​ต่าง ๆ ที่​พวก​เขา​ได้​รับ ซึ่ง​พระ​พร​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​คือ​การ​มี​สัมพันธภาพใกล้​ชิด​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​พระ​ยะโฮวา คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​สามารถ “โสมนัส​ยินดี . . . ต่อ ๆ ไป.” (2 โกรินโธ 13:11, ล.ม.) แน่นอน ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​อด​ทน​อยู่​กับ​สถานการณ์​ที่​ทำ​ให้​พวก​เขา​ประสบ​ความ​ทุกข์​เดือดร้อน. แต่​พวก​เขา​ไม่​เลิก​ยินดี​ใน​พระ​ยะโฮวา.

3. คริสเตียน​ใน​ยุค​แรก​รักษา​ความ​ยินดี​โดย​วิธี​ใด?

3 คริสเตียน​ยุค​แรก​ประสบ​การ​ทดลอง​คล้าย​กับ​ที่​เจมส์​และ​ครอบครัว​ประสบ. ถึง​กระนั้น อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​ไป​ถึง​คริสเตียน​ชาว​ฮีบรู: “เมื่อ​เขา​ได้​ปล้น​ชิง​เอา​สิ่ง​ของ​ของ​ท่าน​ไป, ท่าน​ได้​อด​กลั้น​ไว้​ด้วย​ใจ​ยินดี.” ต่อ​จาก​นั้น เปาโล​อธิบาย​ถึง​ที่​มา​แห่ง​ความ​ยินดี​ของ​พวก​เขา​ว่า “โดย​รู้​แล้ว​ว่า​ท่าน​ยัง​มี​ทรัพย์​สมบัติ​อัน​ถาวร​ดี​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก.” (เฮ็บราย 10:34) ใช่​แล้ว คริสเตียน​เหล่า​นี้​ใน​ศตวรรษ​แรก​มี​ความ​หวัง​ที่​ทรง​พลัง. พวก​เขา​คาด​หวัง​อย่าง​มั่น​ใจ​ว่า​จะ​ได้​รับ​สิ่ง​ที่​ไม่​มี​ใคร​อาจ​ปล้น​ชิง​เอา​ไป​ได้—“มงกุฎ​แห่ง​ชีวิต” ที่​ร่วงโรย​ไม่​ได้​ใน​ราชอาณาจักร​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​พระเจ้า. (วิวรณ์ 2:10) ปัจจุบัน ความ​หวัง​ของ​เรา​ใน​ฐานะ​คริสเตียน—ไม่​ว่า​ฝ่าย​สวรรค์​หรือ​แผ่นดิน​โลก—สามารถ​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ความ​ยินดี​แม้​เมื่อ​เรา​เผชิญ​สถานการณ์​ที่​ก่อ​ความ​ทุกข์​ลำบาก.

“จง​ยินดี​ใน​ความ​หวัง”

4, 5. (ก) เหตุ​ใด​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ที่​ให้ “ยินดี​ใน​ความ​หวัง” จึง​เหมาะ​กับ​เวลา​สำหรับ​ผู้​ที่​อยู่​ใน​กรุง​โรม? (ข) อะไร​อาจ​เป็น​เหตุ​ทำ​ให้​คริสเตียน​หลง​ลืม​ความ​หวัง​ของ​ตน?

4 อัครสาวก​เปาโล​สนับสนุน​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​กรุง​โรม​ให้ “ยินดี​ใน​ความ​หวัง” เกี่ยว​กับ​ชีวิต​นิรันดร์. (โรม 12:12) นั่น​เป็น​คำ​แนะ​นำ​ที่​เหมาะ​กับ​เวลา​สำหรับ​ผู้​ที่​อยู่​ใน​กรุง​โรม. เวลา​ผ่าน​ไป​ไม่​ถึง​ทศวรรษ​หลัง​จาก​ที่​เปาโล​เขียน​ถึง​พวก​เขา พวก​เขา​ถูก​กดขี่​อย่าง​รุนแรง และ​บาง​คน​ถูก​ทรมาน​จน​เสีย​ชีวิต​โดย​คำ​บัญชา​ของ​จักรพรรดิ​เนโร. ไม่​ต้อง​สงสัย ความ​เชื่อ​ที่​ว่า​พระเจ้า​จะ​ประทาน​มงกุฎ​แห่ง​ชีวิต​ที่​ทรง​สัญญา​ไว้​ช่วย​ค้ำจุน​พวก​เขา​เมื่อ​ประสบ​ความ​ทุกข์​ยาก. จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้?

5 ใน​ฐานะ​คริสเตียน เรา​ก็​คาด​หมาย​ว่า​จะ​ถูก​กดขี่​ข่มเหง​ด้วย​เช่น​กัน. (2 ติโมเธียว 3:12) นอก​จาก​นั้น เรา​ตระหนัก​ว่า “วาระ​และ​เหตุ​การณ์​ที่​ไม่​ได้​คาด​ล่วง​หน้า” ย่อม​เกิด​ขึ้น​กับ​ทุก​คน. (ท่าน​ผู้​ประกาศ 9:11, ล.ม.) อุบัติเหตุ​อาจ​คร่า​ชีวิต​ผู้​ที่​เรา​รัก. ความ​เจ็บ​ป่วย​ที่​ร้ายแรง​อาจ​ทำ​ให้​บิดา​มารดา​หรือ​เพื่อน​สนิท​เสีย​ชีวิต. หาก​เรา​ไม่​รักษา​ความ​หวัง​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ให้​แจ่ม​ชัด​อยู่​เสมอ เรา​อาจ​ตก​อยู่​ใน​อันตราย​ฝ่าย​วิญญาณ​เมื่อ​มี​การ​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​เช่น​นั้น​เกิด​ขึ้น. ดัง​นั้น เรา​ควร​ถาม​ตัว​เรา​เอง​ว่า ‘ฉัน “ยินดี​ใน​ความ​หวัง” ไหม? ฉัน​คิด​รำพึง​ใน​เรื่อง​ความ​หวัง​บ่อย​เพียง​ไร? อุทยาน​ที่​กำลัง​จะ​มา​ถึง​เป็น​เรื่อง​จริง​สำหรับ​ฉัน​ไหม? ฉัน​นึก​ภาพ​ว่า​ตัว​เอง​อยู่​ที่​นั่น​ไหม? ฉัน​กระตือรือร้น​ที่​จะ​เห็น​อวสาน​ของ​ระบบ​ปัจจุบัน​ที่​กำลัง​จะ​มา​ถึง​เหมือน​เมื่อ​ฉัน​ได้​เรียน​ความ​จริง​เป็น​ครั้ง​แรก​ไหม?’ ควร​พิจารณา​คำ​ถาม​สุด​ท้าย​นี้​อย่าง​จริงจัง. เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​หาก​เรา​มี​สุขภาพ​ดี, มี​ความ​เป็น​อยู่​ที่​ดี, และ​อยู่​ใน​ส่วน​ของ​โลก​ที่​ไม่​ค่อย​ได้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​สงคราม, การ​ขาด​แคลน​อาหาร, หรือ​ภัย​ธรรมชาติ เรา​อาจ​มอง​ไม่​เห็น​ความ​จำเป็น​อัน​เร่ง​ด่วน​ที่​ต้อง​มี​โลก​ใหม่​ของ​พระเจ้า—อย่าง​น้อย​ก็​ใน​เวลา​นี้.

6. (ก) เมื่อ​เปาโล​และ​ซีลา​ประสบ​ความ​ทุกข์​ลำบาก ความ​คิด​ของ​เขา​มุ่ง​ไป​ที่​อะไร? (ข) ตัว​อย่าง​ของ​เปาโล​และ​ซีลา​จะ​สนับสนุน​เรา​ได้​อย่าง​ไร​ใน​ทุก​วัน​นี้?

6 เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​แก่​ผู้​ที่​อยู่​ใน​กรุง​โรม​ต่อ​ไป​อีก​ว่า​ให้ “อด​ทน​ใน​การ​ยาก​ลำบาก.” (โรม 12:12) เปาโล​คุ้น​เคย​ดี​กับ​ความ​ทุกข์​ลำบาก. ครั้ง​หนึ่ง ท่าน​เห็น​นิมิต​ที่​มี​ชาย​ผู้​หนึ่ง​เชิญ​ท่าน​ให้ ‘มา​ที่​มากะโดเนีย’ เพื่อ​ช่วย​ผู้​คน​ที่​นั่น​ให้​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา. (กิจการ 16:9) ทันที​ที่​ได้​ฟัง​อย่าง​นั้น เปาโล​พร้อม​กับ​ลูกา, ซีลา, และ​ติโมเธียว​ก็​เดิน​ทาง​ไป​ยุโรป. มี​อะไร​รอ​อยู่​สำหรับ​มิชชันนารี​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า​เหล่า​นี้? ความ​ทุกข์​ลำบาก! หลัง​จาก​ที่​พวก​เขา​ได้​ประกาศ​ที่​เมือง​ฟิลิปปอย​ใน​แคว้น​มากะโดเนีย เปาโล​และ​ซีลา​ถูก​เฆี่ยน​ตี​และ​จำ​คุก. เห็น​ได้​ชัด ชาว​เมือง​ฟิลิปปอย​บาง​คน​ไม่​เพียง​แต่​ไม่​สนใจ​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร—พวก​เขา​ยัง​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง​ด้วย. เหตุ​การณ์​ที่​ผันแปร​เช่น​นี้​ทำ​ให้​มิชชันนารี​ผู้​มี​ใจ​แรง​กล้า​สูญ​เสีย​ความ​ยินดี​ไหม? ไม่. หลัง​จาก​ที่​พวก​เขา​ถูก​เฆี่ยน​ตี​และ​จำ​คุก “ประมาณ​เที่ยง​คืน​เปาโล​กับ​ซีลา​ก็​อธิษฐาน​และ​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ​พระเจ้า.” (กิจการ 16:25, 26) แน่​ล่ะ ความ​เจ็บ​ปวด​จาก​การ​ถูก​เฆี่ยน​ตี​ไม่​ได้​ทำ​ให้​เปาโล​และ​ซีลา​ยินดี แต่​นั่น​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​มิชชันนารี​ทั้ง​สอง​เพ่งเล็ง​ความ​สนใจ. ความ​คิด​ของ​ทั้ง​สอง​มุ่ง​ไป​ที่​พระ​ยะโฮวา​และ​วิธี​ที่​พระองค์​กำลัง​อวย​พร​เขา. โดย​ยอม “อด​ทน​ใน​การ​ยาก​ลำบาก” ด้วย​ความ​ยินดี เปาโล​และ​ซีลา​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​สำหรับ​พี่​น้อง​ใน​เมือง​ฟิลิปปอย​และ​ที่​อื่น.

7. เหตุ​ใด​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา​ควร​มี​คำ​ขอบคุณ​รวม​อยู่​ด้วย?

7 เปาโล​เขียน​ว่า “จง​หมั่น​อธิษฐาน​อยู่​เสมอ.” (โรม 12:12) คุณ​อธิษฐาน​เมื่อ​คุณ​กระวนกระวาย​ใจ​ไหม? คุณ​อธิษฐาน​เกี่ยว​กับ​อะไร? อาจ​เป็น​ได้​ที่​คุณ​กล่าว​ถึง​ปัญหา​บาง​อย่าง​โดย​เฉพาะ​และ​ทูล​ขอ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย. แต่​คุณ​สามารถ​กล่าว​ขอบคุณ​สำหรับ​พระ​พร​ที่​คุณ​ได้​รับ​ด้วย. เมื่อ​เกิด​ปัญหา​ขึ้น​มา การ​คิด​ใคร่ครวญ​ถึง​ความ​ดี​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​พระองค์​ทรง​ทำ​เพื่อ​เรา​จะ​ช่วย​เรา​ให้ “ยินดี​ใน​ความ​หวัง.” ดาวิด ซึ่ง​ใน​ชีวิต​ของ​ท่าน​เต็ม​ไป​ด้วย​เรื่อง​ยุ่งยาก เขียน​ดัง​นี้: “ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​ข้าพเจ้า, พระองค์​ทรง​กระทำ​การ​อัศจรรย์​มาก, พระ​ดำริ​ของ​พระองค์​มี​ต่อ​พวก​ข้าพเจ้า​มาก​มาย: จะ​หา​ผู้​ใด​เทียม​พระองค์​บ่​มิ​ได้; ถ้า​ข้าพเจ้า​จะ​สำแดง​หรือ​พูด​ถึง​การ​เหล่า​นั้น​ก็​เหลือ​ที่​จะ​นับ​ได้.” (บทเพลง​สรรเสริญ 40:5) เช่น​เดียว​กับ​ดาวิด หาก​เรา​คิด​รำพึง​เป็น​ประจำ​เกี่ยว​กับ​พระ​พร​ที่​เรา​ได้​รับ​จาก​พระ​ยะโฮวา เรา​จะ​พบ​ว่า​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​ไม่​ยินดี.

จง​รักษา​น้ำใจ​ใน​แง่​บวก

8. อะไร​ช่วย​ให้​คริสเตียน​ยัง​คง​มี​ความ​สุข​เมื่อ​ถูก​กดขี่​ข่มเหง?

8 พระ​เยซู​ทรง​สนับสนุน​เหล่า​สาวก​ให้​รักษา​น้ำใจ​ใน​แง่​บวก​เมื่อ​พวก​เขา​พบ​กับ​การ​ทดลอง​หลาย​อย่าง. พระองค์​ตรัส​ว่า “เมื่อ​เขา​จะ​ติเตียน​ข่มเหง​และ​นินทา​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ต่าง ๆ เป็น​ความ​เท็จ​เพราะ​เรา, ท่าน​ก็​เป็น​สุข.” (มัดธาย 5:11) เรา​มี​เหตุ​ผล​อะไร​ที่​ทำ​ให้​มี​ความ​สุข​แม้​ใน​สถานการณ์​เช่น​นั้น? การ​ที่​เรา​สามารถ​ยืนหยัด​อด​ทน​การ​ต่อ​ต้าน​ได้​เป็น​ข้อ​พิสูจน์​ว่า​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​สถิต​อยู่​กับ​เรา. อัครสาวก​เปโตร​บอก​เพื่อน​คริสเตียน​ใน​สมัย​ของ​ท่าน​ว่า “ถ้า​ท่าน​ถูก​ประมาท​หมิ่น​เพราะ​พระ​นาม​ของ​พระ​คริสต์, ท่าน​ทั้ง​หลาย​ก็​เป็น​สุข ด้วย​ว่า​พระ​วิญญาณ​แห่ง​สง่า​ราศี​และ​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า​สถิต​อยู่​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” (1 เปโตร 4:13, 14) โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ​ของ​พระองค์ พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​ช่วย​เรา​ด้วย​เช่น​กัน​ให้​อด​ทน ซึ่ง​ก็​จะ​ยัง​ผล​ให้​เรา​รักษา​ความ​ยินดี​เอา​ไว้.

9. อะไร​ช่วย​พี่​น้อง​บาง​คน​ให้​มอง​เห็น​เหตุ​ผล​ที่​จะ​ยินดี​เมื่อ​ถูก​คุม​ขัง​เพราะ​ความ​เชื่อ​ของ​ตน?

9 แม้​แต่​เมื่อ​เรา​ตก​อยู่​ใน​สถานการณ์​ที่​เลว​ร้าย​ที่​สุด เรา​สามารถ​มอง​เห็น​เหตุ​ผล​ที่​จะ​ยินดี. คริสเตียน​คน​หนึ่ง​ที่ชื่อ อะดอล์ฟ ประสบ​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​เป็น​อย่าง​นั้น. เขา​อยู่​ใน​ประเทศ​ที่​งาน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เคย​ถูก​สั่ง​ห้าม​เป็น​เวลา​หลาย​ปี. อะดอล์ฟ​กับ​เพื่อน​อีก​หลาย​คน​ถูก​จับ​และ​ตัดสิน​จำ​คุก​ระยะ​ยาว​เนื่อง​จาก​ไม่​ยอม​ปฏิเสธ​ความ​เชื่อ​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก. ชีวิต​ใน​คุก​ลำบาก แต่​เช่น​เดียว​กับ​เปาโล​และ​ซีลา อะดอล์ฟ​และ​เพื่อน ๆ มอง​เห็น​เหตุ​ผล​ที่​จะ​ขอบพระคุณ​พระเจ้า. พวก​เขา​กล่าว​ว่า​ประสบการณ์​ใน​คุก​ช่วย​ให้​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา​เข้มแข็ง​ยิ่ง​ขึ้น และ​พัฒนา​คุณลักษณะ​แบบ​คริสเตียน​ที่​มี​ค่า เช่น ความ​เอื้อ​อารี, ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ผู้​อื่น, และ​ความ​รักใคร่​ฉัน​พี่​น้อง. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​คน​หนึ่ง​ได้​รับ​ห่อ​ของ​จาก​ทาง​บ้าน เขา​แบ่ง​ของ​นั้น​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ ซึ่ง​ต่าง​ก็​ถือ​ว่า​ของ​ที่​ได้​รับ​เป็น​พิเศษ​เหล่า​นี้​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา พระ​ผู้​สูง​สุด​ที่​ประทาน “ของ​ประทาน​อัน​ดี​ทุก​อย่าง และ​ของ​ประทาน​อัน​เลิศ​ทุก​อย่าง.” การ​แสดง​ความ​กรุณา​เช่น​นั้น​นำ​ความ​ยินดี​มา​สู่​ทั้ง​ผู้​ให้​และ​ผู้​รับ. ดัง​นั้น การ​กดขี่​ที่​มุ่ง​หมาย​จะ​ทำลาย​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา​กลับ​ทำ​ให้​พวก​เขา​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ​ยิ่ง​ขึ้น!—ยาโกโบ 1:17; กิจการ 20:35.

10, 11. พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​รับมือ​อย่าง​ไร​กับ​การ​ถูก​สอบสวน​อย่าง​ไร้​ความ​ปรานี​แล้ว​ก็​ถูก​ขัง​คุก​ระยะ​ยาว?

10 เอลลา ซึ่ง​อยู่​ใน​ประเทศ​ที่​งาน​ราชอาณาจักร​เคย​ถูก​สั่ง​ห้าม​มา​เป็น​เวลา​นาน​เช่น​เดียว​กัน ถูก​จับ​กุม​เพราะ​แบ่ง​ปัน​ความ​หวัง​คริสเตียน​แก่​ผู้​อื่น. เธอ​ถูก​สอบสวน​อย่าง​ไร้​ความ​ปรานี​นาน​ถึง​แปด​เดือน. เมื่อ​ใน​ที่​สุด​มี​การ​พิจารณา​คดี​ใน​ศาล เธอ​ถูก​ตัดสิน​ให้​จำ​คุก​สิบ​ปี​ใน​ที่​ที่​ไม่​มี​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​คน​อื่น​เลย. เวลา​นั้น เอลลา​อายุ​เพียง 24 ปี.

11 แน่นอน เอลลา​ไม่​คาด​หวัง​ที่​จะ​ใช้​เวลา​ส่วน​ใหญ่​ใน​วัย​เริ่ม​เป็น​ผู้​ใหญ่​ใน​ห้อง​ขัง. แต่​เนื่อง​จาก​เธอ​ไม่​สามารถ​เปลี่ยน​สภาพการณ์ เธอ​จึง​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​เปลี่ยน​มุม​มอง​ของ​ตน. ดัง​นั้น เธอ​เริ่ม​มอง​คุก​ว่า​เป็น​เขต​ประกาศ​ส่วน​ตัว. เธอ​กล่าว​ว่า “มี​งาน​ประกาศ​ให้​ทำ​มาก​มาย​จน​ทำ​ให้​เวลา​หลาย​ปี​ผ่าน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว.” หลัง​จาก​ผ่าน​ไป​ห้า​ปี​กว่า เอลลา​ถูก​สอบสวน​อีก​ครั้ง. โดย​ตระหนัก​ว่า​ลูก​กรง​ของ​คุก​ไม่​ได้​ทำ​ให้​เธอ​สูญ​เสีย​ความ​เชื่อ ผู้​สอบสวน​บอก​เธอ​ว่า “เรา​ปล่อย​คุณ​ไป​ไม่​ได้; คุณ​ไม่​ได้​เปลี่ยน​เลย.” เอลลา​ตอบ​อย่าง​หนักแน่น​ว่า “แต่​ดิฉัน​ได้​เปลี่ยน​ไป​แล้ว! ตอน​นี้​ดิฉัน​มี​ทัศนคติ​ที่​ดี​กว่า ตอน​เข้า​คุก​ใหม่ ๆ และ​ความ​เชื่อ​ของ​ดิฉัน​เข้มแข็ง​กว่า​เดิม​มาก!” เธอ​ยัง​กล่าว​อีก​ด้วย​ว่า “หาก​คุณ​ไม่​ต้องการ​ปล่อย​ดิฉัน ดิฉัน​ก็​จะ​อยู่​คอย​จน​กว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เห็น​ว่า​เหมาะ​จะ​ช่วย​ดิฉัน​ออก​ไป.” เวลา​ห้า​ปี​ครึ่ง​ที่​ถูก​กัก​ขัง​ไม่​ได้​พราก​เอา​ความ​ยินดี​ไป​จาก​เอลลา! เธอ​เรียน​รู้​ที่​จะ​อิ่ม​ใจ​ใน​สภาพการณ์​เช่น​ไร​ก็​ตาม​ที่​เธอ​เผชิญ. คุณ​สามารถ​เรียน​รู้​อะไร​บาง​อย่าง​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​เธอ​ไหม?—เฮ็บราย 13:5.

12. อะไร​สามารถ​นำ​สันติ​สุข​แห่ง​จิตใจ​มา​สู่​คริสเตียน​ที่​ตก​อยู่​ใน​สภาพ​ลำบาก?

12 อย่า​ได้​ลง​ความ​เห็น​ว่า​เอลลา​มี​ความ​สามารถ​เป็น​พิเศษ​ที่​ทำ​ให้​เธอ​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​เช่น​นั้น​ได้. เมื่อ​กล่าว​ถึง​ช่วง​ที่​ถูก​สอบสวน​หลาย​เดือน​ก่อน​ถูก​ตัดสิน เอลลา​ยอม​รับ​ว่า “ดิฉัน​จำ​ได้​ว่า​ดิฉัน​สั่น​จน​ฟัน​กระทบ​กัน และ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​เหมือน​นก​ตัว​เล็ก ๆ ที่​ตื่น​กลัว.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม เอลลา​มี​ความ​เชื่อ​เข้มแข็ง​ใน​พระ​ยะโฮวา. เธอ​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​ไว้​วางใจ​พระองค์. (สุภาษิต 3:5-7) ผล​คือ พระเจ้า​ทรง​เป็น​จริง​สำหรับ​เธอ​ยิ่ง​กว่า​แต่​ก่อน. เธอ​อธิบาย​ว่า “ทุก​ครั้ง​ที่​ดิฉัน​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​สอบสวน ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​มี​สันติ​สุข​ใน​ใจ. . . . ยิ่ง​สถานการณ์​น่า​กลัว​มาก​เท่า​ไร สันติ​สุข​ก็​ยิ่ง​ลึก​ล้ำ.” พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​แหล่ง​แห่ง​สันติ​สุข​ดัง​กล่าว. อัครสาวก​เปาโล​อธิบาย​ว่า “อย่า​กระวนกระวาย​ด้วย​สิ่ง​ใด​เลย, แต่​จง​เสนอ​ความ​ปรารถนา​ของ​ท่าน​ทุก​อย่าง​ต่อ​พระเจ้า​โดย​การ​อธิษฐาน​กับ​การ​ขอบพระคุณ. และ​สันติ​สุข​แห่ง​พระเจ้า, ซึ่ง​เหลือ​ที่​จะ​เข้าใจ​ได้, จะ​คุ้มครอง​ใจ​และ​ความ​คิด​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ไว้​ใน​พระ​เยซู​คริสต์.”—ฟิลิปปอย 4:6, 7.

13. อะไร​ทำ​ให้​เรา​เชื่อ​มั่น​ว่า​หาก​เกิด​ความ​ทุกข์​ลำบาก​กับ​เรา เรา​จะ​มี​กำลัง​อด​ทน​ได้?

13 เอลลา ซึ่ง​ใน​เวลา​นี้​ถูก​ปล่อย​ตัว​แล้ว ได้​รักษา​ความ​ยินดี​ไว้​เสมอ​แม้​ว่า​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก. เธอ​ทำ​เช่น​นี้​ด้วย​กำลัง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​แก่​เธอ ไม่​ใช่​ด้วย​กำลัง​ของ​เธอ​เอง. เป็น​จริง​เช่น​นั้น​ด้วย​กับ​อัครสาวก​เปาโล ซึ่ง​ได้​เขียน​ไว้​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น ข้าพเจ้า​จึง​ภูมิ​ใจ​ใน​ความ​อ่อนแอ​ของ​ข้าพเจ้า, เพื่อ​ฤทธิ์​เดช​ของ​พระ​คริสต์​จะ​ได้​สถิต​อยู่​ในข้าพเจ้า. . . . ด้วย​ว่า​ข้าพเจ้า​อ่อนแอ​เมื่อ​ใด, ข้าพเจ้า​จึง​แข็งแรง​มาก​เมื่อ​นั้น.”—2 โกรินโธ 12:9, 10.

14. จง​ยก​ตัว​อย่าง​วิธี​ที่​คริสเตียน​สามารถ​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก​ต่อ​สถานการณ์​ที่​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​และ​ผล​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น.

14 ความ​กดดัน​ที่​คุณ​เอง​ประสบ​ใน​ทุก​วัน​นี้​อาจ​ค่อนข้าง​ต่าง​ไป​จาก​ที่​เรา​ได้​พิจารณา​กัน​ใน​ที่​นี้. ถึง​กระนั้น ไม่​ว่า​จะ​เป็น​แบบ​ไหน​ก็​นับ​ว่า​ยาก​ที่​จะ​รับมือ​ความ​กดดัน. ตัว​อย่าง​เช่น นาย​จ้าง​ของ​คุณ​อาจ​วิพากษ์วิจารณ์​งาน​ของ​คุณ​อย่าง​มาก—มาก​ยิ่ง​กว่า​ลูกจ้าง​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​อื่น ๆ. คุณ​อาจ​หา​งาน​อื่น​ทำ​ไม่​ได้. คุณ​จะ​รักษา​ความ​ยินดี​ไว้​โดย​วิธี​ใด? ขอ​ให้​นึก​ถึง​อะดอล์ฟ​กับ​เพื่อน ๆ ซึ่ง​ประสบการณ์​ใน​คุก​สอน​พวก​เขา​ให้​พัฒนา​คุณลักษณะ​ที่​สำคัญ. หาก​คุณ​พยายาม​อย่าง​จริง​ใจ​ที่​จะ​ทำ​ให้​นาย​จ้าง​พอ​ใจ—แม้​แต่​นาย​จ้าง​ที่ “เอา​ใจ​ยาก”—คุณ​ก็​จะ​พัฒนา​คุณลักษณะ​แบบ​คริสเตียน​อย่าง​เช่น​ความ​อด​ทน​และ​ความ​อด​กลั้น​ทน​นาน. (1 เปโตร 2:18, ล.ม.) นอก​จาก​นั้น คุณ​อาจ​เป็น​ลูกจ้าง​ที่​มี​ค่า​มาก​ขึ้น ซึ่ง​อาจ​เพิ่ม​โอกาส​ที่​คุณ​จะ​ได้​รับ​การ​ว่า​จ้าง​ที่​น่า​พอ​ใจ​กว่า​ใน​ภาย​หลัง. ตอน​นี้ ขอ​ให้​เรา​มา​พิจารณา​วิธี​อื่น ๆ บาง​อย่าง​ที่​เรา​จะ​สามารถ​รักษา​ความ​ยินดี​ของ​เรา​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา.

การ​ทำ​ชีวิต​ให้​เรียบ​ง่าย​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​ยินดี

15-17. คู่​สมรส​คู่​หนึ่ง​เรียน​รู้​ว่า​อะไร​ที่​ช่วย​ผ่อน​คลาย​ความ​ตึงเครียด​ได้ แม้​ว่า​ไม่​อาจ​ขจัด​ต้น​เหตุ​ได้​อย่าง​สิ้นเชิง?

15 คุณ​อาจ​มี​ทาง​เลือก​ไม่​มาก​ใน​เรื่อง​ประเภท​ของ​งาน​ฝ่าย​โลก​ที่​คุณ​ทำ​หรือ​สถาน​ที่​ซึ่ง​คุณ​ทำ​งาน แต่​อาจ​มี​แง่​อื่น ๆ ใน​ชีวิต​ซึ่ง​คุณ​ควบคุม​ได้. ขอ​ให้​พิจารณา​ประสบการณ์​ต่อ​ไป​นี้.

16 คู่​สมรส​คริสเตียน​คู่​หนึ่ง​เชิญ​ผู้​ปกครอง​มา​รับประทาน​อาหาร​ที่​บ้าน. ใน​เย็น​วัน​นั้น สามี​ภรรยา​คู่​นี้​ปรับ​ทุกข์​กับ​ผู้​ปกครอง​ว่า​ช่วง​หลัง​มา​นี้​เขา​รู้สึก​หนัก​อึ้ง​ด้วย​แรง​กดดัน​ในชีวิต. แม้​ว่า​งาน​เต็ม​เวลา​ที่​ทั้ง​สอง​ทำ​เรียก​ร้อง​เวลา​และ​ความ​พยายาม​มาก แต่​ทั้ง​คู่​ก็​ไม่​สามารถ​หา​งาน​ที่​ดี​กว่า​ได้. เขา​สงสัย​ว่า​จะ​สามารถ​รับมือ​สภาพ​เช่น​นี้​ได้​อีก​นาน​เท่า​ไร.

17 เมื่อ​ขอ​คำ​แนะ​นำ ผู้​ปกครอง​ตอบ​ว่า “ทำ​ชีวิต​ให้​เรียบ​ง่าย​สิ.” โดย​วิธี​ใด? สามี​และ​ภรรยา​คู่​นี้​ใช้​เวลา​สาม​ชั่วโมง​เพื่อ​ไป​และ​กลับ​จาก​ที่​ทำ​งาน. ผู้​ปกครอง​ซึ่ง​รู้​จัก​คู่​สมรส​คู่​นี้​ดี​แนะ​ให้​ทั้ง​สอง​คิด​ถึง​การ​ย้าย​ไป​อยู่​ใกล้ ๆ ที่​ทำ​งาน จะ​ได้​ลด​เวลา​ที่​ใช้​ใน​การ​เดิน​ทาง​ไป​กลับ​ที่​ทำ​งาน​ใน​แต่​ละ​วัน. เวลา​ที่​ประหยัด​มา​ได้​สามารถ​ใช้​ใน​การ​ดู​แล​เรื่อง​อื่น ๆ ที่​สำคัญ—หรือ​เพื่อ​จะ​ได้​พักผ่อน​บ้าง. หาก​ความ​กดดัน​ใน​ชีวิต​กำลัง​พราก​ความ​ยินดี​บาง​ส่วน​ไป​จาก​คุณ ทำไม​ไม่​ตรวจ​สอบ​ดู​ว่า​คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​จะ​ผ่อน​คลาย​โดย​ปรับ​เปลี่ยน​บาง​สิ่ง​บาง​อย่าง?

18. เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​คิด​อย่าง​รอบคอบ​ก่อน​ตัดสิน​ใจ?

18 อีก​วิธี​หนึ่ง​ใน​การ​ลด​ความ​กดดัน​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​คือ คิด​ให้​รอบคอบ​ก่อน​ตัดสิน​ใจ. ยก​ตัว​อย่าง คริสเตียน​คน​หนึ่ง​ตัดสิน​ใจ​จะ​สร้าง​บ้าน. เขา​เลือก​แบบ​บ้าน​ที่​ซับซ้อน​มาก แม้​ว่า​เขา​ไม่​เคย​สร้าง​บ้าน​มา​ก่อน. ถึง​ตอน​นี้ เขา​จึง​ได้​ตระหนัก​ว่า​เขา​สามารถ​เลี่ยง​ปัญหา​หลาย​อย่าง​ที่​ไม่​จำเป็น​หาก​เขา​ได้ “พิจารณา​ก้าว​เท้า​ของ​ตน” ก่อน​เลือก​แบบ​บ้าน. (สุภาษิต 14:15, ล.ม.) คริสเตียน​อีก​คน​หนึ่ง​ตก​ลง​จะ​ค้ำ​ประกัน​เงิน​กู้​ให้​เพื่อน​ผู้​เชื่อถือ​คน​หนึ่ง. ตาม​สัญญา หาก​ผู้​ยืม​ไม่​สามารถ​จ่าย​คืน​เงิน​กู้ ผู้​ค้ำ​ประกัน​จะ​ต้อง​จ่าย​แทน. ที​แรก ทุก​อย่าง​ดำเนิน​ไป​ด้วย​ดี แต่​ต่อ​มา​ผู้​ขอ​กู้​เริ่ม​ไม่​รักษา​สัญญา. ผู้​ให้​ยืม​กลัว​ว่า​หนี้​จะ​สูญ​และ​เรียก​ร้อง​ให้​ผู้​ค้ำ​ประกัน​จ่าย​คืน​เงิน​กู้​ทั้ง​ก้อน. เรื่อง​นี้​สร้าง​ความ​กดดัน​อย่าง​มาก​แก่​ผู้​ค้ำ​ประกัน. เหตุ​การณ์​แบบ​นี้​อาจ​เลี่ยง​ได้​ไหม​หาก​เขา​ได้​พิจารณา​ปัจจัย​ทุก​อย่าง​ให้​รอบคอบ​กว่า​นั้น​ก่อน​จะ​ตก​ลง​ค้ำ​ประกัน​การ​กู้​ยืม​นั้น?—สุภาษิต 17:18.

19. มี​วิธี​ใด​บ้าง​ที่​เรา​สามารถ​ลด​ความ​ตึงเครียด​ใน​ชีวิต​ของ​เรา?

19 เมื่อ​เรา​รู้สึก​เหนื่อย​ล้า ขอ​อย่า​ได้​ลง​ความ​เห็น​ว่า​เรา​สามารถ​ลด​ความ​กดดัน​และ​ได้​ความ​ยินดี​กลับ​คืน​มา​ด้วย​การ​ลด​เวลา​ที่​ใช้​ใน​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​เป็น​ส่วน​ตัว, การ​รับใช้​ใน​เขต​ประกาศ, และ​การ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม. ทั้ง​นี้​เพราะ​สิ่ง​เหล่า​นี้​คือ​แนว​ทาง​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​ได้​รับ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​จาก​พระ​ยะโฮวา ซึ่ง​ผล​พระ​วิญญาณ​ประการ​หนึ่ง​คือ​ความ​ยินดี. (ฆะลาเตีย 5:22) กิจกรรม​ของ​คริสเตียน​ทำ​ให้​สดชื่น​เสมอ​และ​ตาม​ปกติ​แล้ว​ไม่​ทำ​ให้​เหนื่อย​ล้า​เกิน​ไป. (มัดธาย 11:28-30) มี​โอกาส​มาก​กว่า​ที่​กิจกรรม​ฝ่าย​โลก​หรือ​นันทนาการ​ทำ​ให้​เรา​อ่อน​เพลีย ไม่​ใช่​กิจกรรม​ฝ่าย​วิญญาณ. การ​พยายาม​เข้า​นอน​ไม่​ดึก​มาก​อาจ​ช่วย​ฟื้น​พลัง​ขึ้น​มา​อีก​ครั้ง. การ​พักผ่อน​เพิ่ม​เป็น​พิเศษ​อีก​เล็ก​น้อย​อาจ​ให้​ประโยชน์​ได้​มาก. เอ็น. เอช. นอรร์ ซึ่ง​เป็น​สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​จน​กระทั่ง​วาระ​สุด​ท้าย​ของ​ชีวิต เคย​บอก​กับ​มิชชันนารี​บาง​คน​ว่า “เมื่อ​คุณ​รู้สึก​ท้อ​แท้ สิ่ง​แรก​ที่​ควร​ทำ​คือ​พักผ่อน. คุณ​จะ​แปลก​ใจ​ที่​เห็น​ว่า​ปัญหา​ใด​ก็​แล้ว​แต่​ดู​เหมือน​ว่า​ดี​ขึ้น​มาก​จริง ๆ หลัง​จาก​ที่​คุณ​ได้​นอน​เต็ม​อิ่ม​สัก​คืน​หนึ่ง!”

20. (ก) จง​สรุป​ถึง​บาง​วิธี​ที่​อาจ​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ความ​ยินดี. (ข) คุณ​คิด​ถึง​เหตุ​ผล​อะไร​บ้าง​ที่​ทำ​ให้​คุณ​ยินดี? (โปรด​ดู​ใน​กรอบ​หน้า 17.)

20 คริสเตียน​มี​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​รับใช้ “พระเจ้า​ผู้​ประกอบ​ด้วย​ความ​สุข.” (1 ติโมเธียว 1:11) ดัง​ที่​เรา​ได้​เห็น​แล้ว เรา​สามารถ​รักษา​ความ​ยินดี​ไว้​แม้​แต่​เมื่อ​เรา​ถูก​รุม​เร้า​ด้วย​ปัญหา​หนัก​มาก​มาย. ขอ​ให้​เรา​รักษา​ความ​หวัง​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ให้​ชัดเจน​เสมอ, ปรับ​ทัศนะ​ของ​เรา​เมื่อ​จำเป็น, และ​ทำ​ชีวิต​ให้​เรียบ​ง่าย. ดัง​นั้น ไม่​ว่า​เรา​ตก​อยู่​ใน​สถานการณ์​เช่น​ไร​ก็​ตาม เรา​จะ​ตอบรับ​คำ​กล่าว​ของ​อัครสาวก​เปาโล ที่​ว่า “จง​โสมนัส​ยินดี​ใน​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ทุก​เวลา ข้าพเจ้า​ขอ​ย้ำ​อีก​ที​ว่า, จง​โสมนัส​ยินดี​เถิด.”—ฟิลิปปอย 4:4.

จง​ใคร่ครวญ​คำ​ถาม​ต่อ​ไป​นี้:

• เหตุ​ใด​คริสเตียน​ควร​รักษา​ภาพ​ความ​หวัง​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ไว้​ให้​สดใส?

• อะไร​อาจ​ช่วย​เรา​ได้​ให้​รักษา​ความ​ยินดี​เมื่อ​ตก​อยู่​ใน​สถานการณ์​ลำบาก?

• เหตุ​ใด​เรา​ควร​พยายาม​ทำ​ชีวิต​ให้​เรียบ​ง่าย?

• บาง​คน​ได้​ทำ​ชีวิต​ให้​เรียบ​ง่าย​โดย​วิธี​ใด​บ้าง?

[คำ​ถาม]

[กรอบ​หน้า 17]

เหตุ​ผล​เพิ่ม​เติม​ที่​จะ​ยินดี

ใน​ฐานะ​คริสเตียน เรา​มี​เหตุ​ผล​หลาย​ประการ​ที่​จะ​ยินดี. ขอ​ให้​พิจารณา​จุด​ต่าง ๆ ดัง​ต่อ​ไป​นี้:

1. เรา​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา.

2. เรา​ได้​เรียน​รู้​ความ​จริง​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า.

3. เรา​สามารถ​ได้​รับ​การ​อภัย​บาป​โดย​อาศัย​ความ​เชื่อ​ที่​เรา​มี​ใน​เครื่อง​บูชา​ของ​พระ​เยซู.

4. ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​กำลัง​ปกครอง​อยู่—ใน​ไม่​ช้า​ก็​จะ​มี​โลก​ใหม่!

5. พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​นำ​เรา​เข้า​สู่​อุทยาน​ฝ่าย​วิญญาณ.

6. เรา​มี​การ​คบหา​สมาคม​แบบ​คริสเตียน​ที่​ดี​งาม.

7. เรา​มี​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ.

8. เรา​มี​ชีวิต​อยู่ และ​มี​สุขภาพ​แข็งแรง​ใน​ระดับ​หนึ่ง.

มี​เหตุ​ผล​อะไร​อีก​สำหรับ​ความ​ยินดี​ซึ่ง​คุณ​สามารถ​กล่าว​ถึง​ได้?

[ภาพ​หน้า 13]

เปาโล​และ​ซีลา​ยินดี​แม้​เมื่อ​ถูก​คุม​ขัง

[ภาพ​หน้า 15]

คุณ​เพ่ง​มอง​ด้วย​ความ​คาด​หมาย​อัน​น่า​ยินดี​ที่​โลก​ใหม่​ของ​พระเจ้า​ไหม?