ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงโสมนัสยินดีกับพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความสุข

จงโสมนัสยินดีกับพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความสุข

จง​โสมนัส​ยินดี​กับ​พระเจ้า​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​สุข

“ใน​ที่​สุด พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย จง​โสมนัส​ยินดี . . . ต่อ ๆ ไป; และ​พระเจ้า​แห่ง​ความ​รัก​และ​สันติ​จะ​สถิต​อยู่​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย.”—2 โกรินโธ 13:11, ล.ม.

1, 2. (ก) เหตุ​ใด​หลาย​คน​จึง​ขาด​ความ​ยินดี​ใน​ชีวิต? (ข) ความ​ยินดี​คือ​อะไร และ​เรา​จะ​ปลูกฝัง​ความ​ยินดี​ได้​อย่าง​ไร?

ใน​สมัย​อัน​มืดมน​นี้ ผู้​คน​เป็น​อัน​มาก​แทบ​จะ​มอง​ไม่​เห็น​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​ชื่นชม​ยินดี. เมื่อ​เกิด​โศกนาฏกรรม​ขึ้น​กับ​ตัว​เขา​หรือ​คน​ที่​เขา​รัก เขา​อาจ​รู้สึก​เหมือน​กับ​โยบ​ผู้​มี​ชีวิต​ใน​โบราณ​กาล ซึ่ง​กล่าว​ไว้​ว่า “อัน​มนุษย์​ซึ่ง​เกิด​จาก​เพศ​หญิง​ย่อม​มี​แต่​วัน​เวลา​น้อย​นัก, และ​ประกอบ​ไป​ด้วย​ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก.” (โยบ 14:1) คริสเตียน​ไม่​อาจ​เลี่ยง​ความ​ตึงเครียด​ที่​มี​อยู่​ใน “วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​ที่​จะ​รับมือ​ได้” และ​ไม่​แปลก​ที่​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระ​ยะโฮวา​รู้สึก​ท้อ​ใจ​ใน​บาง​ครั้ง.—2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.

2 ถึง​กระนั้น คริสเตียน​สามารถ​ยินดี แม้​แต่​เมื่อ​ประสบ​ความ​ลำบาก. (กิจการ 5:40, 41) เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ว่า​เป็น​เช่น​นี้​ได้​อย่าง​ไร ก่อน​อื่น​ขอ​ให้​พิจารณา​ว่า​ความ​ยินดี​คือ​อะไร. มี​ผู้​นิยาม​ความ​ยินดี​ไว้​ว่า​เป็น “อารมณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​จาก​การ​ได้​รับ​หรือ​การ​คาด​หมาย​ว่า​จะ​ได้​รับ​สิ่ง​ดี.” * ด้วย​เหตุ​นั้น หาก​เรา​ใช้​เวลา​พิจารณา​ถึง​พระ​พร​ที่​เรา​ได้​รับ​ใน​ปัจจุบัน และ​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​ใคร่ครวญ​ถึง​ความ​ยินดี​ที่​คอย​ท่า​เรา​อยู่​ใน​โลก​ใหม่​ของ​พระเจ้า เรา​สามารถ​มี​ความ​ยินดี.

3. อาจ​กล่าว​ได้​ใน​แง่​ใด​ว่า​ทุก​คน​มี​เหตุ​ผล​อย่าง​น้อย​บาง​ประการ​ที่​จะ​ยินดี?

3 ทุก​คน​ได้​รับ​พระ​พร​บาง​อย่าง​ที่​จะ​ขอบคุณ​ได้. หัวหน้า​ครอบครัว​คน​หนึ่ง​อาจ​ตก​งาน. เป็น​ธรรมดา เขา​ย่อม​รู้สึก​ห่วง​กังวล. เขา​ปรารถนา​จะ​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​ที่​เขา​รัก. ถึง​กระนั้น หาก​เขา​มี​ร่าง​กาย​ที่​แข็งแรง​และ​มี​สุขภาพ​ดี เขา​สามารถ​ขอบคุณ​สำหรับ​สิ่ง​นี้. หาก​เขา​หา​งาน​ได้ เขา​จะ​ทำ​งาน​หนัก​ได้. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง สตรี​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​อาจ​ล้ม​ป่วย​ด้วย​โรค​ที่​ทำ​ให้​อ่อน​กำลัง. ถึง​กระนั้น เธอ​อาจ​ขอบคุณ​สำหรับ​การ​สนับสนุน​จาก​เพื่อน​และ​สมาชิก​ครอบครัว​ที่​รัก​เธอ​และ​ช่วย​เธอ​ให้​เผชิญ​กับ​ความ​เจ็บ​ป่วย​อย่าง​มี​ศักดิ์ศรี​และ​กล้า​หาญ. และ​คริสเตียน​แท้​ทุก​คน ไม่​ว่า​สภาพการณ์​เป็น​อย่าง​ไร สามารถ​ชื่นชม​ยินดี​ใน​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา “พระเจ้า​ผู้​ประกอบ​ด้วย​ความ​สุข” และ​พระ​เยซู​คริสต์ “ผู้​ทรง​ประกอบ​ด้วย​บรม​สุข​และ​เป็น​มหิศร​พระองค์​เดียว.” (1 ติโมเธียว 1:11; 6:15) ถูก​แล้ว พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​และ​พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​มี​ความ​สุข​อย่าง​ยิ่งยวด. ทั้ง​สอง​พระองค์ทรง​รักษา​ความ​ยินดี​เสมอ​แม้​สภาพ​บน​โลก​นี้​แตกต่าง​อย่าง​มาก​จาก​สภาพ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​ไว้​ตั้ง​แต่​แรก. ตัว​อย่าง​ของ​พระองค์​ทั้ง​สอง​ช่วย​สอน​เรา​ได้​มาก​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​จะ​รักษา​ความ​ยินดี​ของ​เรา.

พวก​เขา​ไม่​เคย​สูญ​เสีย​ความ​ยินดี

4, 5. (ก) พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​เมื่อ​มนุษย์​คู่​แรก​ขืน​อำนาจ? (ข) พระ​ยะโฮวา​ทรง​รักษา​เจตคติ​ที่​ดี​ต่อ​มนุษยชาติ​อย่าง​ไร?

4 ใน​สวน​เอเดน อาดาม​และ​ฮาวา​มี​สุขภาพ​สมบูรณ์​ทั้ง​ร่าง​กาย​และ​จิตใจ. พวก​เขา​มี​งาน​ที่​เกิด​ผล​และ​มี​สภาพ​แวด​ล้อม​ใน​การ​ทำ​งาน​ที่​เยี่ยมยอด. ดี​เยี่ยม​เหนือ​สิ่ง​อื่น​ใด พวก​เขา​มี​สิทธิ​พิเศษ​ใน​การ​สื่อ​ความ​กับ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ประจำ. พระเจ้า​ทรง​มี​พระ​ประสงค์​ให้​พวก​เขา​มี​อนาคต​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​สุข. แต่​บิดา​มารดา​แรก​เดิม​ของ​เรา​ไม่​พึง​พอ​ใจ​ใน​ของ​ประทาน​อัน​ดี​ทุก​อย่าง​นี้; ทั้ง​สอง​ขโมย​ผลไม้​ต้อง​ห้าม​จาก “ต้น​ไม้​ที่​ให้​รู้​ความ​ดี​และ​ชั่ว.” การ​กระทำ​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​นี้​เป็น​พื้น​ฐาน​ของ​ความ​ทุกข์​ทั้ง​สิ้น​ที่​เรา​ซึ่ง​เป็น​ลูก​หลาน​ของ​ทั้ง​สอง​กำลัง​ประสบ​อยู่​ใน​ทุก​วัน​นี้.—เยเนซิศ 2:15-17; 3:6; โรม 5:12.

5 อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​ยะโฮวา​มิ​ได้​ทรง​ปล่อย​ให้​เจตคติ​ขาด​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ของ​อาดาม​และ​ฮาวา​พราก​ความ​ยินดี​ไป​จาก​พระองค์. พระองค์​ทรง​เชื่อ​มั่น​ว่า​อย่าง​น้อย​ที่​สุด​จะ​มี​ลูก​หลาน​บาง​คน​ของ​เขา​ทั้ง​สอง​ถูก​กระตุ้น​ใจ​ให้​รับใช้​พระองค์. ที่​จริง พระองค์​ทรง​เชื่อ​มั่น​มาก​จน​ได้​ประกาศ​พระ​ประสงค์​ใน​การ​ไถ่​ลูก​หลาน​ที่​เชื่อ​ฟัง​ของ​อาดาม​และ​ฮาวา​ก่อน​ที่​ทั้ง​สอง​จะ​มี​บุตร​คน​แรก​ด้วย​ซ้ำ! (เยเนซิศ 1:31; 3:15) ใน​ช่วง​หลาย​ศตวรรษ​ต่อ​มา มนุษยชาติ​ส่วน​ใหญ่​เดิน​ซ้ำ​รอย​อาดาม​และ​ฮาวา แต่​พระ​ยะโฮวา​มิ​ได้​ทรง​ปฏิเสธ​ครอบครัว​มนุษย์​เนื่อง​ด้วย​การ​ไม่​เชื่อ​ฟัง​ซึ่ง​มี​ดาษ​ดื่น. ตรง​กัน​ข้าม พระองค์​ทรง​มุ่ง​ใฝ่​พระทัย​ใน​ผู้​คน​ที่ ‘กระทำ​ให้​พระทัย​ของ​พระองค์​มี​ความ​ยินดี’ คน​เหล่า​นั้น​ที่​พยายาม​อย่าง​แท้​จริง​เพื่อ​ทำ​ให้​พระองค์​ทรง​พอ​พระทัย​เพราะ​พวก​เขา​รัก​พระองค์.—สุภาษิต 27:11; เฮ็บราย 6:10.

6, 7. ปัจจัย​อะไร​ช่วย​พระ​เยซู​ให้​รักษา​ความ​ยินดี​ไว้?

6 จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​พระ​เยซู—พระองค์​ทรง​รักษา​ความ​ยินดี​ของ​พระองค์​ไว้​อย่าง​ไร? ใน​ฐานะ​กาย​วิญญาณ​ผู้​มี​ฤทธิ์​ใน​สวรรค์ พระ​เยซู​ทรง​มี​โอกาส​ทุก​เมื่อ​ที่​จะ​สังเกต​กิจกรรม​ของ​มนุษย์​ซึ่ง​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก. ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​พวก​เขา​เห็น​ได้​ชัดเจน ถึง​กระนั้น พระองค์​ทรง​รัก​พวก​เขา. (สุภาษิต 8:31) ต่อ​มา เมื่อ​พระองค์​เสด็จ​มา​ที่​แผ่นดิน​โลก​และ “ทรง​อยู่​ท่ามกลาง” มนุษย์​อย่าง​แท้​จริง ทัศนะ​ของ​พระองค์​ต่อ​มนุษยชาติ​ก็​ไม่​ได้​เปลี่ยน​ไป. (โยฮัน 1:14, ล.ม.) อะไร​ทำ​ให้​พระ​บุตร​ผู้​สมบูรณ์​ของ​พระเจ้า​รักษา​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก​เช่น​นั้น​ต่อ​ครอบครัว​มนุษย์​ที่​ผิด​บาป?

7 ประการ​แรก พระ​เยซู​ทรง​คาด​หมาย​ทั้ง​จาก​พระองค์​เอง​และ​จาก​ผู้​อื่น​อย่าง​มี​เหตุ​ผล. พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​พระองค์​จะ​ไม่​ได้​ทำ​ให้​คน​ทั้ง​โลก​เปลี่ยน​มา​เชื่อ​พระองค์. (มัดธาย 10:32-39) ดัง​นั้น พระองค์​ทรง​ยินดี​เมื่อ​ผู้​มี​น้ำ​ใส​ใจ​จริง​แม้​เพียง​คน​หนึ่ง​ตอบรับ​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร. แม้​ว่า​บาง​ครั้ง​ความ​ประพฤติ​และ​เจตคติ​ของ​เหล่า​สาวก​ไม่​ค่อย​น่า​รัก พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​หัวใจ​ของ​พวก​เขา​ปรารถนา​อย่าง​แท้​จริง​ที่​จะ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า และ​พระองค์​ทรง​รัก​พวก​เขา​ด้วย​เหตุ​นี้. (ลูกา 9:46; 22:24, 28-32, 60-62) น่า​สนใจ ใน​คำ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์ พระ​เยซู​ทรง​สรุป​แนว​ทาง​ที่​ดี​ซึ่ง​เหล่า​สาวก​ได้​ทำ​จน​ถึง​ตอน​นั้น: “เขา​ได้​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​ของ​พระองค์.”—โยฮัน 17:6.

8. จง​บอก​ถึง​บาง​วิธี​ที่​เรา​สามารถ​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​ใน​เรื่อง​การ​รักษา​ความ​ยินดี​ของ​เรา.

8 ไม่​ต้อง​สงสัย เรา​ทุก​คน​จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​คิด​ใคร่ครวญ​เกี่ยว​กับ​ตัว​อย่าง​ที่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์​เยซู​ทรง​วาง​ไว้​ใน​เรื่อง​นี้. เรา​จะ​เลียน​แบบ​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​เต็ม​ที่​ยิ่ง​ขึ้น​ได้​ไหม อาจ​จะ​โดย​ที่​ไม่​กังวล​มาก​เกิน​ไป​เมื่อ​สิ่ง​ต่าง ๆ ไม่​เป็น​อย่าง​ที่​เรา​หวัง​ไว้? เรา​จะ​ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระ​เยซู​อย่าง​ใกล้​ชิด​ยิ่ง​ขึ้น​ได้​ไหม โดย​รักษา​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก​ต่อ​สถานการณ์​ที่​เรา​กำลัง​เผชิญ​อยู่ ตลอด​จน​มี​เหตุ​ผล​ใน​สิ่ง​ที่​เรา​คาด​หมาย​จาก​ตัว​เอง​และ​ผู้​อื่น? ให้​เรา​มา​ดู​วิธี​ที่​จะ​ใช้​หลักการ​บาง​อย่าง​ดัง​ที่​ได้​กล่าว​ไป​ใน​ขอบ​เขต​ที่​คริสเตียน​ผู้​มี​ใจ​แรง​กล้า​ทุก​แห่ง​ถือ​ว่า​มี​ค่า​มาก—งาน​รับใช้​ใน​เขต​ประกาศ.

จง​รักษา​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก​ต่อ​งาน​รับใช้

9. ยิระมะยา​กลับ​มี​ความ​ยินดี​ขึ้น​มา​อีก​ครั้ง​โดย​วิธี​ใด และ​ตัว​อย่าง​ของ​ท่าน​สามารถ​ช่วย​เรา​ได้​อย่าง​ไร?

9 พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​ยินดี​ใน​การ​รับใช้​พระองค์. ความ​ยินดี​ของ​เรา​ไม่​ควร​อิง​อยู่​กับ​ผล​ที่​เรา​ได้​รับ. (ลูกา 10:17, 20) ผู้​พยากรณ์​ยิระมะยา​ประกาศ​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ใน​เขต​ที่​ไม่​เกิด​ผล. เมื่อ​ท่าน​ครุ่น​คิด​แต่​เรื่อง​ปฏิกิริยา​เชิง​ลบ​ของ​ผู้​คน ท่าน​สูญ​เสีย​ความ​ยินดี. (ยิระมะยา 20:8) แต่​เมื่อ​ท่าน​คิด​รำพึง​ถึง​ความ​งดงาม​ของ​ตัว​ข่าวสาร​เอง ท่าน​ก็​กลับ​มี​ความ​ยินดี​อีก​ครั้ง. ยิระมะยา​ทูล​พระ​ยะโฮวา​ว่า “คำ​โอวาท​ของ​พระองค์​ข้าพเจ้า​ได้​พบ​แล้ว, แล​ข้าพเจ้า​ได้​กิน​คำ​นั้น, แล​คำ​โอวาท​ของ​พระองค์​เป็น​ที่​ให้​เกิด​ความ​อภิรมย์​ยินดี​ใน​ใจ​ข้าพเจ้า, เพราะ​ข้าพเจ้า​เรียก​ชื่อ​ด้วย​นาม​ของ​พระองค์, โอ้​พระ​ยะโฮวา.” (ยิระมะยา 15:16) ถูก​แล้ว ยิระมะยา​ยินดี​ใน​สิทธิ​พิเศษ​แห่ง​การ​ประกาศ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. เรา​สามารถ​ยินดี​ได้​เช่น​เดียว​กัน.

10. เรา​จะ​รักษา​ความ​ยินดี​ใน​งาน​รับใช้​ได้​โดย​วิธี​ใด​แม้​ว่า​เขต​ประกาศ​ของ​เรา​ใน​ตอน​นี้​อาจ​ไม่​เกิด​ผล?

10 แม้​ว่า​หาก​คน​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ตอบรับ​ข่าว​ดี เรา​ก็​มี​เหตุ​ผล​มาก​มาย​ที่​จะ​ยินดี​เมื่อ​เรา​ร่วม​งาน​รับใช้​ใน​เขต​ประกาศ. พึง​จำ​ไว้​ว่า พระ​ยะโฮวา​ทรง​เชื่อ​มั่น​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​จะ​มี​บาง​คน​ที่​ถูก​กระตุ้น​ให้​รับใช้​พระองค์. เช่น​เดียว​กับ​พระ​ยะโฮวา เรา​ไม่​ควร​เลิก​หวัง​ว่า​คง​จะ​มี​อย่าง​น้อย​บาง​คน​ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​ตระหนัก​ถึง​ประเด็น​เรื่อง​สากล​บรม​เดชานุภาพ​และ​ยอม​รับ​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร. เรา​ต้อง​ไม่​ลืม​ว่า​สภาพการณ์​ของ​ผู้​คน​มัก​เปลี่ยน​ไป. เมื่อ​เผชิญ​กับ​วิกฤตการณ์​หรือ​ความ​สูญ​เสีย​ที่​ไม่​คาด​คิด แม้​แต่​คน​ที่​อิ่ม​ใจ​กับ​ชีวิต​ตัว​เอง​ที่​สุด​ก็​อาจ​เริ่ม​คิด​อย่าง​จริงจัง​เกี่ยว​กับ​ความหมาย​ของ​ชีวิต. คุณ​จะ​อยู่​พร้อม​เพื่อ​ให้​การ​ช่วยเหลือ​ไหม​เมื่อ​คน​เช่น​นั้น​เริ่ม “รู้​สำนึก​ถึง​ความ​จำเป็น​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ตน”? (มัดธาย 5:3, ล.ม.) ใคร​จะ​ทราบ​ได้ บาง​คน​ใน​เขต​ประกาศ​ของ​คุณ​อาจ​พร้อม​จะ​รับ​ฟัง​ข่าว​ดี​เมื่อ​คุณ​ไป​เยี่ยม​ใน​คราว​ถัด​ไป​ก็​เป็น​ได้!

11, 12. เกิด​อะไร​ขึ้น​ใน​เมือง​เล็ก ๆ แห่ง​หนึ่ง และ​เรา​สามารถ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​เรื่อง​นี้?

11 องค์​ประกอบ​เขต​ประกาศ​ของ​เรา​อาจ​เปลี่ยน​ไป​ด้วย. ขอ​ให้​พิจารณา​ตัว​อย่าง. ใน​เมือง​เล็ก ๆ แห่ง​หนึ่ง มี​กลุ่ม​คู่​สมรส​อายุ​น้อย​พร้อม​กับ​ลูก ๆ ซึ่ง​ใกล้​ชิด​กลมเกลียว​กัน​ดี​อยู่​กลุ่ม​หนึ่ง. เมื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไป​เยี่ยม พวก​เขา​พบ​กับ​การ​ตอบ​ปฏิเสธ​แบบ​เดียว​กัน​ทุก​บ้าน​ว่า “เรา​ไม่​สนใจ!” หาก​มี​ใคร​คน​หนึ่ง​แสดง​ความ​สนใจ​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร​ขึ้น​มา​จริง ๆ พวก​เพื่อน​บ้าน​ก็​จะ​ไม่​รอ​ช้า​ใน​การ​ทำ​ให้​คน​นั้น​ท้อ​ใจ​จน​ไม่​อยาก​ติด​ต่อ​กับ​พยาน​ฯ อีก​ต่อ​ไป. คง​ไม่​จำเป็น​ต้อง​บอก​ว่า​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​ที่​จะ​ประกาศ​ที่​นั่น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พยาน​ฯ ไม่​ยอม​แพ้; พวก​เขา​ประกาศ​ต่อ​ไป. ผล​เป็น​เช่น​ไร?

12 ต่อ​มา เด็ก​หลาย​คน​ใน​เมือง​นั้น​เติบโต​ขึ้น, สมรส, และ​ลง​หลัก​ปัก​ฐาน​ที่​บ้าน​เกิด​นั้น​เอง. เนื่อง​จาก​ตระหนัก​ว่า​วิถี​ชีวิต​ของ​ตน​ไม่​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​สุข​แท้ คน​เหล่า​นี้​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ใหญ่​เต็ม​ตัว​แล้ว​เริ่ม​สืบ​ค้น​หา​ความ​จริง. พวก​เขา​พบ​ความ​จริง​เมื่อ​ตอบรับ​ข่าว​ดี​ที่​พยาน​ฯ ประกาศ. ดัง​นั้น หลัง​จาก​ที่​ผ่าน​ไป​หลาย​ปี ประชาคม​เล็ก ๆ จึง​ได้​เริ่ม​เติบโต. ขอ​ให้​นึก​ถึง​ความ​ยินดี​ของ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ที่​ไม่​เลิก​รา! ขอ​ให้​ความ​บากบั่น​ใน​การ​แบ่ง​ปัน​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร​อัน​รุ่ง​โรจน์​นำ​ความ​ยินดี​มา​สู่​เรา​เช่น​กัน!

เพื่อน​ผู้​เชื่อถือ​จะ​สนับสนุน​คุณ

13. เรา​จะ​หัน​ไป​หา​ใคร​ได้​เมื่อ​ท้อ​ใจ?

13 เมื่อ​ความ​กดดัน​ทวี​ขึ้น​หรือ​เมื่อ​เกิด​เรื่อง​ร้าย ๆ ขึ้น​ใน​ชีวิต​ของ​คุณ คุณ​หมาย​พึ่ง​การ​ปลอบโยน​ได้​จาก​ที่​ไหน? หลาย​ล้าน​คน​ซึ่ง​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​อุทิศ​ตัว​แล้ว​ของ​พระ​ยะโฮวา​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา​เป็น​อันดับ​แรก​ด้วย​การ​ทูล​อธิษฐาน​ถึงพระองค์ และ​ลำดับ​ต่อ​มา​คือ​พี่​น้อง​คริสเตียน. ขณะ​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก พระ​เยซู​เอง​ทรง​เห็น​ความ​สำคัญ​ของ​การ​สนับสนุน​ที่​พระองค์​ทรง​ได้​รับ​จาก​เหล่า​สาวก. ใน​คืน​ก่อน​พระองค์​จะ​สิ้น​พระ​ชนม์ พระองค์​ตรัส​ถึง​พวก​เขา​ว่า​เป็น “ผู้​ที่​ได้​แนบ​สนิท​อยู่​กับ​เรา​ใน​การ​ทดลอง​ของ​เรา.” (ลูกา 22:28, ล.ม.) แน่​ล่ะ เหล่า​สาวก​ไม่​สมบูรณ์ แต่​ความ​ภักดี​ของ​พวก​เขา​ให้​กำลังใจ​แก่​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า. เรา​ก็​เช่น​กัน​สามารถ​ได้​รับ​กำลัง​จาก​เพื่อน​ผู้​นมัสการ.

14, 15. อะไร​ช่วย​คู่​สมรส​คู่​หนึ่ง​ให้​รับมือ​ได้​กับ​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​บุตร​ชาย และ​คุณ​เรียน​รู้​อะไร​จาก​ประสบการณ์​ของ​เขา?

14 คู่​สมรส​คริสเตียน​คู่​หนึ่ง มิเชล​กับ​ไดแอน ได้​เรียน​รู้​ว่า​การ​สนับสนุน​ที่​ได้​รับ​จาก​พี่​น้อง​นั้น​มี​ค่า​มาก​เพียง​ไร. แพทย์​ตรวจ​พบ​ก้อน​เนื้อ​งอก​ใน​สมอง​ของ​โจนาทาน บุตร​ชาย​วัย 20 ปี ซึ่ง​เป็น​คริสเตียน​ที่​สดใส​และ​มี​ชีวิต​ชีวา. แพทย์​ได้​พยายาม​อย่าง​สุด​ความ​สามารถ​เพื่อ​ช่วย​เขา แต่​สภาพ​ร่าง​กาย​ของ​โจนาทาน​เสื่อม​ทรุด​ลง​เรื่อย ๆ จน​ใน​ที่​สุด​เมื่อ​จวน​ค่ำ​วัน​หนึ่ง เขา​ก็​เสีย​ชีวิต. มิเชล​และ​ไดแอน​ตะลึงงัน​และ​เสีย​ขวัญ. ทั้ง​สอง​ทราบ​ว่า​การ​ประชุม​วิธี​ปฏิบัติ​งาน​ใน​เย็น​วัน​นั้น​กำลัง​จะ​จบ​อยู่​แล้ว. ถึง​กระนั้น ด้วย​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​ปลอบโยน​อย่าง​มาก ทั้ง​สอง​ขอ​ผู้​ปกครอง​ที่​อยู่​ด้วย​กับ​เขา​ให้​ไป​ด้วย​กัน​ที่​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร. พวก​เขา​ไป​ถึง​ขณะ​ที่​กำลัง​มี​การ​แจ้ง​ข่าว​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​โจนาทาน​ต่อ​ประชาคม. หลัง​การ​ประชุม พี่​น้อง​เข้า​มา​ห้อม​ล้อม​บิดา​มารดา​ที่​น้ำตา​นอง​หน้า กอด​เขา​ไว้​และ​พูด​ปลอบโยน. ไดแอน​เล่า​ถึง​ตอน​นั้น​ว่า “เรา​รู้สึก​โหวง​เหวง​ไป​หมด​ตอน​ที่​ถึง​หอ​ประชุม แต่​เรา​ได้​รับ​การ​ปลอบโยน​มาก​จริง ๆ จาก​พี่​น้อง—พวก​เขา​หนุน​กำลังใจ​เรา​มาก​จริง ๆ! แม้​ว่า​พวก​เขา​ไม่​สามารถ​ทำ​ให้​เรา​หาย​เจ็บ​ปวด แต่​พวก​เขา​ช่วย​เรา​ให้​รับมือ​ความ​บีบคั้น​ทาง​อารมณ์​ได้!”—โรม 1:11, 12; 1 โกรินโธ 12:21-26.

15 ประสบการณ์​อัน​เลว​ร้าย​ทำ​ให้​มิเชล​กับ​ไดแอน​ใกล้​ชิด​ยิ่ง​ขึ้น​กับ​พี่​น้อง. ประสบการณ์​นี้​ยัง​ทำ​ให้​ทั้ง​สอง​ใกล้​ชิด​กัน​ยิ่ง​ขึ้น​ด้วย. มิเชล​กล่าว​ว่า “ผม​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​ทะนุถนอม​ภรรยา​ผู้​เป็น​ที่​รัก​ของ​ผม​ยิ่ง​กว่า​เดิม. ใน​ช่วง​เวลา​ที่​ท้อ​แท้​ห่อเหี่ยว เรา​สนทนา​กัน​ถึง​เรื่อง​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ค้ำจุน​เรา.” ไดแอน​กล่าว​เสริม​ว่า “ตอน​นี้ ความ​หวัง​เรื่อง​ราชอาณาจักร​มี​ความหมาย​สำหรับ​เรา​มาก​ยิ่ง​ขึ้น​ไป​อีก.”

16. เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​เป็น​ฝ่าย​ริเริ่ม​บอก​พี่​น้อง​ให้​ทราบ​ความ​ต้องการ​ของ​เรา?

16 ถูก​แล้ว พี่​น้อง​คริสเตียน​ของ​เรา​สามารถ​เป็น “ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง” เรา​ใน​ช่วง​เวลา​ที่​เกิด​ความ​ยุ่งยาก​ลำบาก​ใน​ชีวิต และ​โดย​วิธี​นั้น​จึง​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ไว้​ซึ่ง​ความ​ยินดี. (โกโลซาย 4:11, ล.ม.) แน่นอน พวก​เขา​อ่าน​ใจ​เรา​ไม่​ได้. ดัง​นั้น เมื่อ​เรา​ปรารถนา​จะ​ได้​รับ​การ​สนับสนุน จึง​นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​บอก​ให้​พวก​เขา​ทราบ. เมื่อ​ทำ​อย่าง​นี้​แล้ว เรา​สามารถ​แสดง​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ได้​อย่าง​แท้​จริง​ต่อ​การ​ปลอบโยน​ใด ๆ ที่​พี่​น้อง​ของ​เรา​สามารถ​ให้​ได้ โดย​ถือ​ว่า​นั่น​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา.—สุภาษิต 12:25; 17:17.

จง​พิจารณา​ประชาคม​ของ​คุณ

17. มารดา​ไร้​คู่​คน​หนึ่ง​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​อะไร​บ้าง และ​เรา​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​ต่อ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เป็น​อย่าง​เธอ?

17 ยิ่ง​คุณ​พิจารณา​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​มาก​เท่า​ใด คุณ​ก็​จะ​ยิ่ง​เรียน​รู้​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​หยั่ง​รู้​ค่า​พวก​เขา​และ​พบ​ความ​ยินดี​ใน​การ​คบหา​สมาคม​กับ​พวก​เขา. ขอ​ให้​พิจารณา​ประชาคม​ของ​คุณ. คุณ​เห็น​อะไร? มี​มารดา​ไร้​คู่​ใน​ประชาคม​ซึ่ง​กำลัง​บากบั่น​พยายาม​เลี้ยง​ดู​บุตร​ใน​ทาง​ของ​ความ​จริง​ไหม? คุณ​ได้​คิด​ใคร่ครวญ​เกี่ยว​กับ​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ของ​เธอ​ไหม? ลอง​นึก​ถึง​ปัญหา​บาง​อย่าง​ที่​เธอ​เผชิญ. มารดา​ไร้​คู่​คน​หนึ่ง​ชื่อ เจนีน กล่าว​ถึง​ปัญหา​บาง​อย่าง: ความ​เหงา, การ​ถูก​รุก​เร้า​ที่​ไม่​พึง​ประสงค์​จาก​พวก​ผู้​ชาย​ใน​ที่​ทำ​งาน, งบ​ค่า​ใช้​จ่าย​ที่​จำกัด​และ​ต้อง​กระเหม็ดกระแหม่​อย่าง​มาก. แต่​เธอ​กล่าว​ว่า อุปสรรค​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​คือ​การ​ดู​แล​ความ​ต้องการ​ของ​บุตร​ด้าน​อารมณ์ เนื่อง​จาก​เด็ก​แต่​ละ​คน​มี​ลักษณะ​เฉพาะ​ตัว. เจนีน​กล่าว​ถึง​ปัญหา​อีก​อย่าง​หนึ่ง: “อาจ​ถือ​ได้​ว่า​เป็น​ข้อ​ท้าทาย​จริง ๆ ที่​จะ​หลีก​เลี่ยง​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ยก​ให้​ลูก​ชาย​เป็น​หัวหน้า​ครอบครัว​เพื่อ​ชดเชย​การ​ขาด​สามี. ดิฉัน​มี​ลูก​สาว​คน​หนึ่ง และ​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​จำ​เอา​ไว้​เสมอ​ว่า​ต้อง​ไม่​เพิ่ม​ภาระ​แก่​ลูก​สาว​โดย​ระบาย​ความ​หนักอก​หนัก​ใจ​กับ​เขา.” เช่น​เดียว​กับ​บิดา​หรือ​มารดา​ไร้​คู่​ที่​เกรง​กลัว​พระเจ้า​หลาย​พัน​คน เจนีน​ทำ​งาน​เต็ม​เวลา​และ​ดู​แล​ครอบครัว. นอก​จาก​นี้ เธอ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​บุตร, สอน​พวก​เขา​ใน​เรื่อง​งาน​รับใช้, และ​พา​พวก​เขา​มา​ยัง​การ​ประชุม​ประชาคม. (เอเฟโซ 6:4) พระ​ยะโฮวา​คง​ต้อง​มี​ความ​สุข​สัก​เพียง​ไร​เมื่อ​แต่​ละ​วัน​พระองค์​ทรง​สังเกต​เห็น​ความ​พยายาม​ใน​การ​รักษา​ความซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ของ​ครอบครัว​นี้! การ​มี​คน​แบบ​นี้​ใน​ท่ามกลาง​พวก​เรา​นำ​ความ​ยินดี​มา​สู่​หัวใจ​เรา​มิ​ใช่​หรือ? ใช่​แล้ว เป็น​อย่าง​นั้น​จริง ๆ.

18, 19. จง​ยก​ตัว​อย่าง​วิธี​ที่​เรา​จะ​มี​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ที่​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น​ต่อ​สมาชิก​ใน​ประชาคม.

18 ขอ​ให้​พิจารณา​ประชาคม​ของ​คุณ​อีก​ครั้ง. คุณ​อาจ​เห็น​แม่​ม่าย​หรือ​พ่อ​ม่าย​ที่​ซื่อ​สัตย์​ผู้ “ไม่​เคย​หาย​หน้า” ไป​จาก​การ​ประชุม. (ลูกา 2:37, ล.ม.) พวก​เขา​รู้สึก​เหงา​ใน​บาง​ครั้ง​ไหม? แน่นอน. พวก​เขา​คิด​ถึง​คู่​สมรส​ของ​ตน​อย่าง​ยิ่ง! แต่​พวก​เขา​ง่วน​อยู่​กับ​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​และ​สนใจ​ผู้​อื่น​เป็น​ส่วน​ตัว. เจตคติ​ของ​พวก​เขา​ที่​มั่นคง​และ​เป็น​ใน​แง่​บวก​เพิ่ม​ความ​ยินดี​แก่​ประชาคม! คริสเตียน​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ได้​รับใช้​เต็ม​เวลา​มา​นาน​กว่า 30 ปี​กล่าว​ดัง​นี้: “ความ​ยินดี​เหลือ​ล้น​อย่าง​หนึ่ง​คือ​การ​ได้​เห็น​พี่​น้อง​สูง​อายุ​ที่​ได้​ผ่าน​การ​ทดลอง​มา​มาก​มาย​ซึ่ง​ยัง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ซื่อ​สัตย์!” ใช่​แล้ว คริสเตียน​ผู้​สูง​อายุ​ที่​อยู่​ใน​หมู่​พวก​เรา​เป็น​กำลังใจ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​สำหรับ​คน​ที่​อายุ​น้อย​กว่า.

19 จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​คน​ที่​เพิ่ง​เริ่ม​สมทบ​กับ​ประชาคม​เมื่อ​ไม่​นาน​นี้​เอง? เรา​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​ใจ​มิ​ใช่​หรือ​เมื่อ​เห็น​พวก​เขา​แสดง​ความ​เชื่อ​ของ​ตน ณ การ​ประชุม? ขอ​ให้​คิด​ถึง​ความ​ก้าว​หน้า​ของ​พวก​เขา​นับ​ตั้ง​แต่​ที่​เริ่ม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล. พระ​ยะโฮวา​คง​ต้อง​พอ​พระทัย​ใน​พวก​เขา​อย่าง​มาก. เรา​รู้สึก​ยินดี​ไหม? เรา​แสดง​ความ​เห็น​ชอบ​โดย​ชมเชย​ความ​พยายาม​ของ​พวก​เขา​ไหม?

20. เหตุ​ใด​จึง​กล่าว​ได้​ว่า​สมาชิก​แต่​ละ​คน​ใน​ประชาคม​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​ประชาคม?

20 คุณ​สมรส​แล้ว, เป็น​โสด, หรือ​ว่า​เป็น​บิดา​หรือ​มารดา​ไร้​คู่? คุณ​เป็น​เด็ก​กำพร้า​พ่อ (หรือ​กำพร้า​แม่), เป็น​แม่​ม่าย​หรือ​พ่อ​ม่าย​ไหม? คุณ​เป็น​ผู้​ที่​สมทบ​กับ​ประชาคม​มา​หลาย​ปี​หรือ​ว่า​เพิ่ง​เริ่ม​สมทบ​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้? ขอ​ให้​มั่น​ใจ​ว่า​ตัว​อย่าง​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​คุณ​ให้​กำลังใจ​แก่​เรา​ทุก​คน. และ​เมื่อ​คุณ​ร่วม​ใน​การ​ร้อง​เพลง​ราชอาณาจักร เมื่อ​คุณ​ให้​คำ​ตอบ​หรือ​ทำ​ส่วน​มอบหมาย​ใน​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า ส่วน​ของ​คุณ​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​ยินดี​เพิ่ม​ขึ้น. ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น ส่วน​ที่​คุณ​ทำ​นำ​ความ​ยินดี​มา​สู่​พระทัย​ของ​พระ​ยะโฮวา.

21. เรา​มี​เหตุ​ผล​มาก​มาย​ที่​จะ​ทำ​อะไร แต่​เกิด​มี​คำ​ถาม​อะไร?

21 ถูก​แล้ว แม้​แต่​ใน​สมัย​ที่​ยุ่งยาก​ลำบาก​นี้ เรา​สามารถ​ยินดี​ใน​การ​นมัสการ​พระเจ้า​ของ​เรา​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​สุข. เรา​มี​เหตุ​ผล​มาก​มาย​ที่​จะ​ตอบรับ​การ​หนุน​กำลังใจ​จาก​เปาโล ที่​ว่า “จง​โสมนัส​ยินดี . . . ต่อ ๆ ไป; และ​พระเจ้า​แห่ง​ความ​รัก​และ​สันติ​จะ​สถิต​อยู่​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” (2 โกรินโธ 13:11, ล.ม.) แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​หาก​เรา​ประสบ​ภัย​ธรรมชาติ, การ​กดขี่, หรือ​ปัญหา​ด้าน​เศรษฐกิจ​ที่​รุนแรง? เป็น​ไป​ได้​ไหม​ที่​จะ​รักษา​ความ​ยินดี​ของ​เรา​แม้​ใน​สถานการณ์​เช่น​นั้น? ขอ​ให้​ลง​ความ​เห็น​ด้วย​ตัว​คุณ​เอง​เมื่อ​คุณ​พิจารณา​บทความ​ถัด​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 โปรด​ดู​การ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์ (ภาษา​อังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 119 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

คุณ​ตอบ​ได้​ไหม?

• มี​การ​พรรณนา​ถึง​ความ​ยินดี​ไว้​อย่าง​ไร?

• การ​รักษา​เจตคติ​ใน​แง่​บวก​สามารถ​ช่วย​เรา​ให้​คง​ไว้​ซึ่ง​ความ​ยินดี​ได้​อย่าง​ไร?

• อะไร​สามารถ​ช่วย​เรา​ให้​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก​ต่อ​เขต​ประกาศ​ของ​ประชาคม?

• คุณ​เห็น​คุณค่า​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ของ​คุณ​ใน​แง่​ใด​บ้าง?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 10]

อาจ​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​เกิด​ขึ้น​กับ​ผู้​คน​ใน​เขต​ประกาศ​ของ​เรา

[ภาพ​หน้า 12]

พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ของ​คุณ​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​อะไร​บ้าง?