ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณจะรักษาทัศนะที่สมดุลในเรื่องเงินได้อย่างไร?

คุณจะรักษาทัศนะที่สมดุลในเรื่องเงินได้อย่างไร?

คุณ​จะ​รักษา​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ใน​เรื่อง​เงิน​ได้​อย่าง​ไร?

การ​รัก​เงิน​และ​ความ​ปรารถนา​จะ​ได้​ทรัพย์​สมบัติ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหม่ คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​ใช่​ว่า​จะ​ไม่​กล่าว​ถึง​เรื่อง​นี้ ประหนึ่ง​ว่า​เป็น​ปรากฏการณ์​บาง​อย่าง​ที่​เกิด​ขึ้น​ไม่​นาน​มา​นี้. เรื่อง​นี้​มี​มา​นาน​แล้ว. ใน​พระ​บัญญัติ พระเจ้า​ทรง​บัญชา​ชน​ยิศราเอล​ว่า “อย่า​โลภ​เรือน​ของ​เพื่อน​บ้าน . . . หรือ​สิ่ง​ใด ๆ ซึ่ง​เป็น​ของ ๆ เพื่อน​บ้าน.”—เอ็กโซโด 20:17.

การ​รัก​เงิน​และ​ทรัพย์​สมบัติ​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ใน​สมัย​ของ​พระ​เยซู. ขอ​พิจารณา​รายงาน​นี้​เกี่ยว​กับ​การ​สนทนา​ระหว่าง​พระ​เยซู​กับ​ชาย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ซึ่ง “มั่งมี​มาก.” “พระ​เยซู . . . ตรัส​แก่​เขา​ว่า, ‘ท่าน​ยัง​ขาด​สิ่ง​หนึ่ง จง​ไป​ขาย​บรรดา​สิ่ง​ของ​ซึ่ง​ท่าน​มี​อยู่​แจก​จ่าย​ให้​คน​อนาถา. ท่าน​จึง​จะ​มี​ทรัพย์​สมบัติ​ใน​สวรรค์, แล้ว​จง​ตาม​เรา​มา.’ แต่​เมื่อ​เขา​ได้​ยิน​อย่าง​นั้น​ก็​เป็น​ทุกข์​นัก, เพราะ​เขา​เป็น​คน​มั่งมี​มาก.”—ลูกา 18:18-23.

ทัศนะ​ที่​เหมาะ​สม​ใน​เรื่อง​เงิน

อย่าง​ไร​ก็​ดี คง​จะ​ผิด​ที่​ลง​ความ​เห็น​ว่า คัมภีร์​ไบเบิล​ตำหนิ​เงิน​หรือ​การ​ใช้​เงิน​ใน​เรื่อง​สำคัญ​พื้น​ฐาน​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง. คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เงิน​เป็น​เครื่อง​ปก​ป้อง​ที่​ใช้​ได้​จริง​สำหรับ​ป้องกัน​ความ​ยาก​จน​และ​ความ​ลำบาก​ที่​เป็น​ผล​ติด​ตาม​มา​นั้น ทำ​ให้​คน​เรา​สามารถ​จัด​หา​สิ่ง​จำเป็น​ต่าง ๆ ได้. กษัตริย์​ซะโลโม​เขียน​ไว้​ว่า “สติ​ปัญญา​เป็น​เครื่อง​ปก​ป้องกัน​ฉัน​ใด, เงิน​ก็​เป็น​เครื่อง​ปก​ป้องกัน​ฉัน​นั้น.” และ “การ​เลี้ยง​ถูก​จัด​ขึ้น​เพื่อ​ความ​ร่าเริง​บันเทิง​ใจ, และ​เหล้า​องุ่น​ย่อม​ย้อม​ใจ​ให้​ชื่นชม​ยินดี, และ​เงิน​นั้น​รับ​สนอง​ได้​สารพัตร.”—ท่าน​ผู้​ประกาศ 7:12; 10:19.

การ​ใช้​เงิน​อย่าง​เหมาะ​สม​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระเจ้า. ตัว​อย่าง​เช่น พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​กระทำ​ตัว​ให้​มี​มิตร​สหาย​ด้วย​ทรัพย์​สมบัติ​อธรรม.” (ลูกา 16:9, ฉบับ​แปล​ใหม่) นี่​หมาย​รวม​ถึง​การ​บริจาค​เงิน​เพื่อ​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​แท้​ของ​พระเจ้า เพราะ​เรา​ควร​จะ​ต้องการ​ให้​พระเจ้า​เป็น​มิตร​สหาย​ของ​เรา​อย่าง​แน่นอน. โดย​ปฏิบัติ​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​ดาวิด​ราชบิดา ซะโลโม​เอง​ได้​บริจาค​เงิน​และ​ของ​มี​ค่า​จำนวน​มหาศาล​เพื่อ​สร้าง​พระ​วิหาร​ของ​พระ​ยะโฮวา. คำ​สั่ง​สำหรับ​คริสเตียน​อีก​ข้อ​หนึ่ง​คือ ให้​ความ​ช่วยเหลือ​ทาง​ด้าน​วัตถุ​แก่​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ขัดสน. อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ว่า “จง​เข้า​ส่วน​ช่วย​สิทธชน​ใน​การ​ขัดสน​ของ​เขา.” ท่าน​กล่าว​เสริม​อีก​ว่า “จง​มี​น้ำใจ​รับรอง​แขก.” (โรม 12:13) บ่อย​ครั้ง​เรื่อง​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ใช้​เงิน​บ้าง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​รัก​เงิน เป็น​อย่าง​ไร?

‘ความ​อยาก​ได้​เงิน’

เปาโล​พิจารณา​อย่าง​ละเอียด​เรื่อง “การ​รัก​เงิน”—หรือ​ตาม​ตัว​อักษร​หมาย​ถึง “ความ​อยาก​ได้​เงิน”—เมื่อ​ท่าน​เขียน​ถึง​ติโมเธียว เพื่อน​คริสเตียน​ผู้​อ่อน​วัย​กว่า. จะ​พบ​คำ​ตักเตือน​ของ​เปาโล​ได้​ที่ 1 ติโมเธียว 6:6-19 (ล.ม.). ท่าน​อธิบาย​เรื่อง “การ​รัก​เงิน” อัน​เป็น​ส่วน​ของ​การ​พิจารณา​ที่​กว้างขวาง​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ. เรา​สม​ควร​ศึกษา​คำ​อธิบาย​ของ​เปาโล​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​นั้น​อย่าง​ถี่ถ้วน เมื่อ​คำนึง​ถึง​การ​ที่​สังคม​ใน​ทุก​วัน​นี้​ให้​ความ​สำคัญ​ใน​เรื่อง​เงิน. การ​พิจารณา​ดัง​กล่าว​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​แน่นอน เพราะ​นั่น​เผย​ให้​เห็น​เคล็ดลับ​เกี่ยว​กับ​วิธี “ยึด​เอา​ชีวิต​แท้​ให้​มั่น.”

เปาโล​เตือน​ว่า “การ​รัก​เงิน​เป็น​ราก​แห่ง​สิ่ง​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย​ทุก​ชนิด และ​โดย​การ​มุ่ง​แสวง​หา​ความ​รัก​แบบ​นี้​บาง​คน​ถูก​ชัก​นำ​ให้​หลง​จาก​ความ​เชื่อ​และ​ได้​ทิ่ม​แทง​ตัว​เอง​ทั่ว​ทั้ง​ตัว​ด้วย​ความ​เจ็บ​ปวด​มาก​หลาย.” (1 ติโมเธียว 6:10, ล.ม.) ข้อ​คัมภีร์​นี้​มิ​ได้​กล่าว​ว่า เงิน​เป็น​สิ่ง​ชั่ว​ร้าย—ทั้ง​ไม่​มี​คัมภีร์​ข้อ​อื่น​ใด​กล่าว​เช่น​นั้น. และ​อัครสาวก​ก็​มิ​ได้​กล่าวว่า​เงิน​เป็น​สาเหตุ​พื้น​ฐาน​ของ “สิ่ง​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย” หรือ​บอก​ว่า​เงิน​เป็น​ต้น​เหตุ​หลัก​ของ​ปัญหา​ทุก​อย่าง. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น การ​รัก​เงิน​ต่าง​หาก​ที่​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ได้—ถึง​แม้​ไม่​ใช่​เป็น​เพียง​สาเหตุ​เดียว—ของ “สิ่ง​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย” ทุก​ชนิด​ก็​ตาม.

จง​ระวัง​ความ​โลภ

ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​ใน​พระ​คัมภีร์​มิ​ได้​ตำหนิ​เงิน​ไม่​ควร​ทำ​ให้​คำ​เตือน​ของ​เปาโล​ลด​ความ​สำคัญ​ลง. คริสเตียน​ที่​เริ่ม​รัก​เงิน​เสี่ยง​ต่อ​ปัญหา​ทุก​ชนิด ซึ่ง​ปัญหา​ร้ายแรง​ที่​สุด​คือ​การ​หลง​ไป​จาก​ความ​เชื่อ. ความ​จริง​ข้อ​นี้​ได้​รับ​การ​เสริม​น้ำหนัก​จาก​สิ่ง​ที่​เปาโล​กล่าว​แก่​คริสเตียน​ใน​เมือง​โกโลซาย​ที่​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น​จง​ประหาร​อวัยวะ​ของ​ท่าน​ซึ่ง​อยู่​ฝ่าย​โลก​นี้ คือ . . . ความ​ปรารถนา​การ​ชั่ว, และ​ความ​โลภ​ซึ่ง​เป็น​การ​ไหว้​รูป​เคารพ.” (โกโลซาย 3:5) ความ​ละโมบ, ความ​โลภ, หรือ “การ​รัก​เงิน” อาจ​เท่า​กับ​เป็น​การ​ไหว้​รูป​เคารพ​ได้​อย่าง​ไร? นี่​หมายความ​ไหม​ว่า​เป็น​การ​ผิด​ที่​จะ​ต้องการ​บ้าน​หลัง​ใหญ่​ขึ้น, รถยนต์​ที่​ใหม่​กว่า, หรือ​งาน​ที่​ให้​ผล​กำไร​มาก​ขึ้น? เปล่า​เลย สิ่ง​เหล่า​นี้​ไม่​มี​สัก​อย่าง​เดียว​ที่​ชั่ว​ร้าย​ใน​ตัว​มัน​เอง. ปัญหา​คือ​ว่า อะไร​กระตุ้น​หัวใจ​คน​เรา​ให้​ต้องการ​สิ่ง​เหล่า​นี้​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง และ​สิ่ง​เหล่า​นี้​จำเป็น​จริง ๆ ไหม?

ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​ความ​ปรารถนา​ปกติ​กับ​ความ​โลภ​นั้น​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​กอง​ไฟ​เล็ก ๆ ที่​จุด​ใน​แคมป์​เพื่อ​ทำ​อาหาร​กับ​เปลว​เพลิง​ร้อน​แรง​ที่​เผา​ผลาญ​ป่า​ไม้. ความ​ปรารถนา​ที่​ถูก​ต้อง​และ​เหมาะ​สม​อาจ​เป็น​ประโยชน์. ความ​ปรารถนา​เช่น​นั้น​กระตุ้น​เรา​ให้​ทำ​งาน​และ​บังเกิด​ผล. สุภาษิต 16:26 กล่าว​ว่า “อาการ​อยาก​อาหาร​ของ​คน​งาน​ทำ​การ​รบกวน​เขา; เพราะ​ปาก​ของ​เขา​เร้า​ให้​เขา​ทำ​งาน.” แต่​ความ​โลภ​เป็น​อันตราย​และ​ก่อ​ผล​ใน​ทาง​ทำลาย. ความ​โลภ​เป็น​ความ​ปรารถนา​ที่​ไม่​มี​การ​ควบคุม.

การ​ควบคุม​เป็น​ปัญหา​สำคัญ. เงิน​ที่​เรา​สะสม​หรือ​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ​ที่​เรา​ต้องการ​จะ​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​เรา​ไหม หรือ​ว่า​ความ​ต้องการ​ของ​เรา​ทำ​ให้​เรา​เป็น​ทาส​ของ​เงิน? เพราะ​เหตุ​นั้น เปาโล​จึง​กล่าว​ว่า​การ​เป็น “คน​มัก​โลภ . . . หมาย​ถึง​การ​เป็น​คน​ไหว้​รูป​เคารพ.” (เอเฟโซ 5:5, ล.ม.) การ​โลภ​อะไร​บาง​อย่าง​นั้น​ตาม​ความ​เป็น​จริง​แล้ว​หมายความ​ว่า​เรา​ยอม​แพ้​ต่อ​สิ่ง​นั้น—ที่​แท้​แล้ว เรา​ทำ​ให้​สิ่ง​นั้น​เป็น​นาย​หรือ​เป็น​พระเจ้า​ของ​เรา, เป็น​สิ่ง​ที่​เรา​รับใช้. ตรง​กัน​ข้าม พระเจ้า​ทรง​เรียก​ร้อง​ว่า “อย่า​ได้​มี​พระเจ้า​อื่น​ต่อ​หน้า​เรา​เลย.”—เอ็กโซโด 20:3.

การ​ที่​เรา​โลภ​ยัง​บ่ง​ชี้​ด้วย​ว่า​เรา​ไม่​ได้​ไว้​วางใจ​ว่า​พระเจ้า​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​สัญญา​ของ​พระองค์​ใน​การ​จัด​เตรียม​สิ่ง​ที่​เรา​จำเป็น​ต้อง​มี. (มัดธาย 6:33) ดัง​นั้น​แล้ว ความ​โลภ​เท่า​กับ​เป็น​การ​หันเห​ไป​จาก​พระเจ้า. ใน​ความหมาย​นี้​เช่น​กัน ความ​โลภ​เป็น “การ​ไหว้​รูป​เคารพ.” ไม่​น่า​แปลก​ที่​เปาโล​เตือน​อย่าง​ชัด​แจ้ง​ที​เดียว​ให้​ระวัง​ความ​โลภ!

พระ​เยซู​ทรง​เตือน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ให้​ระวัง​ความ​โลภ​ด้วย. พระองค์​ทรง​สั่ง​เรา​ให้​ระวัง​การ​อยาก​ได้​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​เรา​ไม่​มี: “จง​ระวัง​และ​เว้น​เสีย​จาก​การ​โลภ​ทั่ว​ไป เพราะ​ว่า​ชีวิต​ของ​บุคคล​ใด ๆ มิ​ได้​อยู่​ใน​ของ​บริบูรณ์​ซึ่ง​เขา​มี​อยู่​นั้น.” (ลูกา 12:15) ตาม​ข้อ​ความ​ตอน​นี้​และ​อุทาหรณ์​ของ​พระ​เยซู​ต่อ​จาก​นั้น ความ​โลภ​อาศัย​ความ​เชื่อ​อย่าง​โง่​เขลา​ที่​ว่า สิ่ง​สำคัญ​ใน​ชีวิต​คือ​การ​ที่​คน​เรา​มี​สิ่ง​ต่าง ๆ มาก ๆ. อาจ​เป็น​การ​มี​เงิน, ฐานะ​ตำแหน่ง, อำนาจ, หรือ​สิ่ง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย. เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​โลภ​สิ่ง​ใด ๆ ที่​อาจ​หา​มา​ได้. เรา​อาจ​คิด​ว่า​การ​มี​สิ่ง​นั้น​จะ​ทำ​ให้​เรา​อิ่ม​ใจ. แต่​ตาม​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ไว้​และ​จาก​ประสบการณ์​ของ​มนุษย์ พระเจ้า​เท่า​นั้น​ทรง​สามารถ—และ​จะ​ทรง—สนอง​ความ​จำเป็น​อัน​แท้​จริง​ของ​เรา ดัง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ให้​เหตุ​ผล​กับ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์.—ลูกา 12:22-31.

สังคม​ใน​ทุก​วัน​นี้​ที่​เน้น​หนัก​ใน​ทาง​ความ​ต้องการ​ของ​ผู้​บริโภค​กำลัง​กระตุ้น​ความ​รู้สึก​โลภ. เนื่อง​ด้วย​แรง​ชักจูง​ต่าง ๆ ที่​แฝง​เร้น​แต่​มี​พลัง ผู้​คน​มาก​มาย​จึง​เชื่อ​ว่า​อะไร​ก็​ตาม​ที่​เขา​มี​อยู่​นั้น​ยัง​ไม่​พอ. เขา​ต้องการ​สิ่ง​ต่าง ๆ มาก​ขึ้น, ใหญ่​ขึ้น, และ​ดี​ขึ้น. ขณะ​ที่​เรา​ไม่​อาจ​หวัง​ว่า​จะ​เปลี่ยน​โลก​รอบ​ตัว​เรา​ได้ ตัว​เรา​เอง​จะ​ต้านทาน​แนว​โน้ม​นี้​ได้​อย่าง​ไร?

อิ่ม​ใจ​แทน​ที่​จะ​โลภ

เปาโล​เสนอ​ทาง​เลือก​อื่น​แทน​ความ​โลภ ซึ่ง​ได้​แก่​ความ​อิ่ม​ใจ. ท่าน​กล่าว​ว่า “แต่​ว่า​ถ้า​เรา​มี​เครื่อง​อุปโภค​บริโภค, ก็​ให้​เรา​อิ่ม​ใจ​ด้วย​ของ​เหล่า​นั้น​เถิด.” (1 ติโมเธียว 6:8) คำ​พรรณนา​นี้​เกี่ยว​กับ​ทั้ง​หมด​ที่​เรา​จำเป็น​ต้อง​มี​อย่าง​แท้​จริง—มี “เครื่อง​อุปโภค​บริโภค”—อาจ​ฟัง​ดู​เหมือน​ค่อนข้าง​จะ​ง่าย​เกิน​ไป. หลาย​คน​ได้​รับ​ความ​บันเทิง​จาก​รายการ​โทรทัศน์​ที่​พา​ผู้​ชม​ไป​เยี่ยม​บุคคล​ที่​มี​ชื่อเสียง​โด่งดัง​ซึ่ง​ใช้​ชีวิต​อยู่​ใน​บ้าน​ที่​หรูหรา. นั่น​ไม่​ใช่​วิธี​บรรลุ​ความ​อิ่ม​ใจ.

แน่นอน ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ไม่​จำเป็น​ต้อง​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​สภาพ​ยาก​จน​ที่​ก่อ​ขึ้น​เอง. (สุภาษิต 30:8, 9) อย่าง​ไร​ก็​ตาม เปาโล​เตือน​ให้​เรา​ระลึก​ว่า​ความ​ยาก​จน​เป็น​อย่าง​ไร​จริง ๆ นั่น​คือ การ​ไม่​มี​อาหาร, เครื่อง​นุ่ง​ห่ม, และ​ที่​อยู่​อาศัย​เพียง​พอ​เพื่อ​ความ​อยู่​รอด​ใน​ที่​ที่​คน​เรา​อยู่​นั้น. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ถ้า​เรา​มี​สิ่ง​เหล่า​นั้น เรา​ก็​มี​พื้น​ฐาน​สำหรับ​ความ​อิ่ม​ใจ.

เปาโล​หมายความ​อย่าง​นั้น​จริง ๆ ไหม​ที่​ได้​พรรณนา​เรื่อง​ความ​อิ่ม​ใจ​ดัง​กล่าว? เป็น​ไป​ได้​จริง ๆ หรือ​ที่​จะ​อิ่ม​ใจ​เพียง​แค่​สิ่ง​พื้น​ฐาน เช่น อาหาร, เครื่อง​นุ่ง​ห่ม, และ​ที่​อยู่​อาศัย? เปาโล​น่า​จะ​ทราบ. ท่าน​ได้​ประสบ​ด้วย​ตัว​เอง​ใน​เรื่อง​ความ​มั่งคั่ง​และ​สิทธิ​พิเศษ​ต่าง ๆ จาก​ตำแหน่ง​สูง​ใน​ชุมชน​ของ​พวก​ยิว​และ​จาก​การ​เป็น​พลเมือง​ชาติ​โรมัน. (กิจการ 22:28; 23:6; ฟิลิปปอย 3:5) เปาโล​ยัง​ได้​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก​ต่าง ๆ อย่าง​รุนแรง​ใน​กิจการ​งาน​มิชชันนารี​ของ​ท่าน. (2 โกรินโธ 11:23-28) จาก​ประสบการณ์​ทั้ง​หมด​นี้ ท่าน​ได้​เรียน​รู้​เคล็ดลับ​ที่​ช่วย​ท่าน​ให้​รักษา​ไว้​ซึ่ง​ความ​อิ่ม​ใจ. เคล็ดลับ​นั้น​คือ​อะไร?

“ข้าพเจ้า​ได้​เรียน​รู้​เคล็ดลับ”

เปาโล​ได้​อธิบาย​ไว้​ใน​จดหมาย​ฉบับ​หนึ่ง​ของ​ท่าน​ว่า “แท้​จริง​ข้าพเจ้า​รู้​จัก​ที่​จะ​อยู่​อย่าง​อัตคัด แท้​จริง​ข้าพเจ้า​รู้​จัก​ที่​จะ​มี​อย่าง​บริบูรณ์. ใน​ทุก​สิ่ง​และ​ใน​ทุก​สภาพการณ์​ข้าพเจ้า​ได้​เรียน​รู้​เคล็ดลับ​ทั้ง​ที่​จะ​อิ่ม​และ​ที่​จะ​อด ทั้ง​ที่​จะ​มี​บริบูรณ์​และ​ที่​จะ​ขาด​แคลน.” (ฟิลิปปอย 4:12, ล.ม.) ฟัง​ดู​แล้ว​เปาโล​มี​ความ​มั่น​ใจ​ที​เดียว, มอง​ใน​แง่​ดี​จริง ๆ! คง​ง่าย​ที่​จะ​สันนิษฐาน​ว่า​ชีวิต​ของ​ท่าน​สดใส​ราบรื่น​ตอน​ที่​ท่าน​เขียน​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้ ทว่า​มิ​ได้​เป็น​เช่น​นั้น. ท่าน​อยู่​ใน​คุก​ที่​กรุง​โรม!—ฟิลิปปอย 1:12-14.

หาก​คำนึง​ถึง​ความ​เป็น​จริง​ที่​น่า​คิด​นี้ ข้อ​ความ​นี้​จึง​ยืน​ยัน​อย่าง​หนักแน่น​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​ความ​อิ่ม​ใจ​นั้น​ไม่​ได้​มา​จาก​ทรัพย์​สมบัติ​ฝ่าย​วัตถุ​เท่า​นั้น แต่​จาก​สภาพ​แวด​ล้อม​อีก​ด้วย. ความ​มั่งคั่ง​หรือ​ความ​ยาก​ลำบาก​สุด​ขีด​อาจ​ทดสอบ​การ​ที่​เรา​จัด​ลำดับ​ความ​สำคัญ. เปาโล​กล่าว​ถึง​ทรัพยากร​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ทำ​ให้​ท่าน​สามารถ​อิ่ม​ใจ​ไม่​ว่า​ฐานะ​ทาง​ด้าน​วัตถุ​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ก็​ตาม: “ข้าพเจ้า​มี​กำลัง​สำหรับ​ทุก​สิ่ง​โดย [พระเจ้า] ผู้​ทรง​ประทาน​พลัง​ให้​ข้าพเจ้า.” (ฟิลิปปอย 4:13, ล.ม.) แทน​ที่​จะ​พึ่ง​อาศัย​สิ่ง​ของ​ที่​ท่าน​มี ไม่​ว่า​จะ​มาก​หรือ​น้อย หรือ​พึ่ง​อาศัย​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ดี​หรือ​ไม่​ดี​ก็​ตาม เปาโล​หมาย​พึ่ง​พระเจ้า​ให้​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​ท่าน. ผล​ก็​คือ​ความ​อิ่ม​ใจ.

ตัว​อย่าง​ของ​เปาโล​สำคัญ​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​ติโมเธียว. ท่าน​อัครสาวก​กระตุ้น​ชาย​หนุ่ม​คน​นี้​ให้​ติด​ตาม​รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​จัด​เอา​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า​และ​สัมพันธภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระองค์​มา​ก่อน​ความ​มั่งคั่ง. เปาโล​กล่าว​ว่า “อย่าง​ไร​ก็​ดี ท่าน​ที่​เป็น​คน​ของ​พระเจ้า จง​หนี​จาก​สิ่ง​เหล่า​นี้. แต่​จง​ติด​ตาม​ความ​ชอบธรรม, ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า, ความ​เชื่อ, ความ​รัก, ความ​อด​ทน, มี​ใจ​อ่อนโยน.” (1 ติโมเธียว 6:11, ล.ม.) ได้​มี​การ​กล่าว​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​กับ​ติโมเธียว แต่​ก็​นำ​มา​ใช้​ได้​กับ​ใคร​ก็​ตาม​ที่​ต้องการ​ถวาย​เกียรติ​พระเจ้า​และ​ปรารถนา​ชีวิต​ที่​มี​ความ​สุข​อย่าง​แท้​จริง.

ติโมเธียว​จำเป็น​ต้อง​ระวัง​ความ​โลภ​เช่น​เดียว​กับ​คริสเตียน​คน​อื่น ๆ. ดู​เหมือน​ว่า​มี​ผู้​เชื่อถือ​ที่​ร่ำรวย​ใน​ประชาคม​เอเฟโซ​ที่​เขา​อยู่​เมื่อ​เปาโล​เขียน​จดหมาย​ถึง​เขา. (1 ติโมเธียว 1:3) เปาโล​ได้​นำ​ข่าว​ดี​เกี่ยว​กับ​พระ​คริสต์​มา​ยัง​ศูนย์การ​ค้า​ที่​เจริญ​รุ่งเรือง​นี้ ทำ​ให้​หลาย​คน​เปลี่ยน​ศาสนา. ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า คน​เหล่า​นี้​บาง​คน​เป็น​ผู้​ที่​ร่ำรวย ดัง​ที่​เป็น​จริง​กับ​บาง​คน​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​ทุก​วัน​นี้.

ดัง​นั้น จึง​เกิด​มี​คำ​ถาม​ขึ้น​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​คำนึง​ถึง​คำ​สั่ง​สอน​ที่ 1 ติโมเธียว 6:6-10. คำ​ถาม​นั้น​ก็​คือ คน​ที่​มี​อัน​จะ​กิน​ควร​ทำ​ประการ​ใด​หาก​เขา​ต้องการ​ถวาย​เกียรติ​พระเจ้า? เปาโล​กล่าว​ว่า​เขา​น่า​จะ​เริ่ม​ต้น​โดย​ตรวจ​สอบ​เจตคติ​ของ​เขา. เงิน​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​รู้สึก​พอ​ใจ​กับ​ตัว​เอง. เปาโล​กล่าว​ว่า “จง​กำชับ​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​มั่งมี​ใน​ระบบ​ปัจจุบัน อย่า​เป็น​คน​หัวสูง และ​ฝาก​ความ​หวัง​ของ​ตน ไม่​ใช่​กับ​ทรัพย์​ที่​ไม่​แน่นอน แต่​กับ​พระเจ้า ผู้​ทรง​จัด​สิ่ง​สารพัด​ให้​เรา​อย่าง​บริบูรณ์​เพื่อ​ความ​ชื่นชม​ยินดี​ของ​เรา.” (1 ติโมเธียว 6:17, ล.ม.) คน​ที่​ร่ำรวย​ต้อง​เรียน​ที่​จะ​มอง​เลย​เงิน​ของ​เขา​ไป; เขา​ต้อง​มอง​ไป​ยัง​พระเจ้า แหล่ง​ที่​มา​ดั้งเดิม​ของ​ทรัพย์​สมบัติ​ใด ๆ.

แต่​เจตคติ​เป็น​เพียง​วิธี​แก้​บาง​ส่วน​เท่า​นั้น. ใน​ที่​สุด คริสเตียน​ที่​ร่ำรวย​ต้อง​เรียน​ที่​จะ​ใช้​ทรัพย์

สมบัติ​ของ​ตน​อย่าง​ฉลาด​สุขุม. เปาโล​ตักเตือน​ว่า “ให้​กระทำ​การ​ดี, ให้​ร่ำรวย​ใน​การ​ดี​นั้น, ให้​มี​ใจ​พร้อม​ที่​จะ​ให้​ทาน, ให้​มี​ใจ​กว้างขวาง.”—1 ติโมเธียว 6:18.

“ชีวิต​แท้”

จุด​สำคัญ​ของ​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​คือ​ข้อ​ที่​ว่า เรา​ต้อง​เตือน​ตัว​เอง​ให้​ระลึก​ถึง​คุณค่า​อัน​จำกัด​ของ​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ. พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​กล่าว​ว่า “ทรัพย์​ศฤงคาร​ของ​เศรษฐี​เป็น​เมือง​เข้มแข็ง​ของ​เขา​และ​เป็น​เหมือน​กำแพง​สูง​ตาม​ความ​คิด​เห็น​ของ​เขา.” (สุภาษิต 18:11, ฉบับ​แปล​ใหม่) ถูก​แล้ว ความ​มั่นคง​ปลอด​ภัย​ที่​ทรัพย์​สมบัติ​เสนอ​ให้​นั้น​ใน​ที่​สุด​ก็​เป็น​เพียง​จินตนาการ​และ​เป็น​สิ่ง​หลอก​ลวง​อย่าง​แท้​จริง. นับ​ว่า​ผิด​ที่​จะ​ให้​ชีวิต​ของ​เรา​มุ่ง​อยู่​ที่​ทรัพย์​สมบัติ​แทน​ที่​จะ​มุ่ง​อยู่​ที่​การ​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระเจ้า.

ความ​ไม่​แน่นอน​ของ​ทรัพย์​สมบัติ​ฝ่าย​วัตถุ​ทำ​ให้​มัน​เป็น​สิ่ง​เปราะ​บาง​เกิน​กว่า​ที่​เรา​จะ​ให้​ความ​หวัง​ยึด​ติด​กับ​ทรัพย์​นั้น. ความ​หวัง​แท้​ต้อง​ยึด​อยู่​กับ​สิ่ง​ที่​มั่นคง, มี​ความหมาย, และ​ยั่งยืน. ความ​หวัง​ของ​คริสเตียน​ยึด​ติด​กับ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา และ​คำ​สัญญา​ของ​พระองค์​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​นิรันดร์. ขณะ​ที่​เป็น​ความ​จริง​ว่า​เงิน​ไม่​สามารถ​ซื้อ​ความ​สุข​ได้ ก็​เป็น​จริง​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก​ที่​ว่า​เงิน​ไม่​สามารถ​ซื้อ​ความ​รอด​ได้. เฉพาะ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​ใน​พระเจ้า​เท่า​นั้น​สามารถ​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​หวัง​ดัง​กล่าว.

ดัง​นั้น ไม่​ว่า​เรา​ร่ำรวย​หรือ​ยาก​จน ขอ​ให้​เรา​ติด​ตาม​แนว​ทาง​ใน​ชีวิต​ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​เรา “มั่งมี​จำเพาะ​พระเจ้า.” (ลูกา 12:21) ไม่​มี​อะไร​ที่​มี​คุณค่า​ยิ่ง​ไป​กว่า​ฐานะ​อัน​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​กับ​พระ​ผู้​สร้าง. ความ​พยายาม​ด้วย​ประการ​ทั้ง​ปวง​ที่​จะ​รักษา​ไว้​ซึ่ง​ฐานะ​เช่น​นั้น​มี​ส่วน​ส่ง​เสริม​ให้​เรา ‘สะสม​ทรัพย์​ประเสริฐ . . . ไว้​สำหรับ​ตัว​เรา​ให้​เป็น​รากฐาน​อัน​ดี​สำหรับ​อนาคต เพื่อ​เรา​จะ​ยึด​เอา​ชีวิต​แท้​ให้​มั่น.’—1 ติโมเธียว 6:19, ล.ม.

[ภาพ​หน้า 7]

เปาโล​ได้​เรียน​รู้​เคล็ดลับ​ของ​ความ​อิ่ม​ใจ

[ภาพ​หน้า 8]

เรา​สามารถ​มี​ความ​สุข​และ​ความ​อิ่ม​ใจ​กับ​สิ่ง​ที่​เรา​มี​อยู่