ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เงินหรือชีวิต?

เงินหรือชีวิต?

เงิน​หรือ​ชีวิต?

คุณ​อาจ​เคย​ได้​ยิน​เรื่อง​ที่​โจร​เอา​ปืน​จ่อ​ตรง​หน้า​เหยื่อ​แล้ว​สั่ง​ว่า “ส่ง​เงิน​มา ไม่​งั้น​ตาย!” ทุก​วัน​นี้ คำ​สั่ง​อัน​เป็น​ที่​รู้​กัน​ดี​ทำนอง​นี้​ก้อง​อยู่​ใน​สภาพ​กลืน​ไม่​เข้า​คาย​ไม่​ออก​ที่​เรา​ทุก​คน​เผชิญ​อยู่—โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​คน​เหล่า​นั้น​ใน​พวก​เรา​ซึ่ง​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​ประเทศ​ที่​มั่งคั่ง. อย่าง​ไร​ก็​ดี ตอน​นี้​ไม่​มี​โจร​ที่​บุก​จี้​เรา​และ​ออก​คำ​สั่ง​ดัง​กล่าว. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น สังคม​ได้​ให้​ความ​สำคัญ​มาก​ขึ้น​ใน​เรื่อง​เงิน​และ​ความ​สำเร็จ​ทาง​ด้าน​วัตถุ.

การ​ให้​ความ​สำคัญ​ดัง​กล่าว​ได้​ก่อ​ให้​เกิด​ปัญหา​และ​ความ​กังวล​แบบ​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน​เลย. ควร​จะ​แสวง​หา​เงิน​และ​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ​โดย​ยอม​ทุ่มเท​ถึง​ขีด​ไหน? เรา​จะ​อิ่ม​ใจ​กับ​ทรัพย์​สมบัติ​วัตถุ​ที่​น้อย​กว่า​ได้​ไหม? ที่​แท้​แล้ว​ผู้​คน​กำลัง​สละ “ชีวิต​แท้” เพื่อ​แลก​กับ​สิ่ง​ต่าง ๆ ทาง​วัตถุ​ไหม? เงิน​เป็น​ปัจจัย​นำ​ไป​สู่​ชีวิต​ที่​มี​ความ​สุข​ไหม?

การ​บ้า​เงิน

ใน​บรรดา​ความ​ปรารถนา​และ​ความ​คลั่งไคล้​ของ​มนุษย์—ไม่​ว่า​จะ​ใน​แบบ​ที่​ถูก​ต้อง​เหมาะ​สม​หรือ​ไม่​ก็​ตาม—การ​รัก​เงิน​อยู่​แถว​หน้า​เสมอ. ต่าง​จาก​ความ​ปรารถนา​ใน​เรื่อง​เพศ​และ​อาหาร การ​บ้า​เงิน​อาจ​มี​อยู่​เรื่อย ๆ ไม่​รู้​จัก​จบ. การ​อยู่​ใน​วัย​ชรา​ดู​เหมือน​จะ​ไม่​ระงับ​ความ​อยาก​ได้​เงิน. ที่​แท้​แล้ว​ใน​หลาย​กรณี อายุ​ที่​สูง​ขึ้น​อาจ​ทำ​ให้​ความ​สนใจ​หรือ​ความ​กังวล​ของ​คน​เรา​ใน​เรื่อง​เงิน​หรือ​สิ่ง​ที่​เงิน​อาจ​ซื้อ​ได้​นั้น​เพิ่ม​มาก​ขึ้น.

ความ​โลภ​ดู​เหมือน​จะ​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ. ตัว​เด่น​ใน​ภาพยนตร์​ดัง​เรื่อง​หนึ่ง​ได้​กล่าว​ว่า “ความ​โลภ​ทำ​ให้​ประสบ​ผล​สำเร็จ. ความ​โลภ​เป็น​ประโยชน์.” ถึง​แม้​หลาย​คน​กล่าว​ถึง​ทศวรรษ 1980 ว่า​เป็น​ยุค​แห่ง​ความ​โลภ​ก็​ตาม สิ่ง​ที่​ได้​เกิด​ขึ้น​ทั้ง​ก่อน​และ​หลัง​ช่วง​นั้น​เผย​ให้​เห็น​ว่า ท่าที​ของ​มนุษย์​ที่​มี​ต่อ​เงิน​นั้น​ไม่​ได้​เปลี่ยน​แปลง​เท่า​ไร​นัก​ตลอด​เวลา​หลาย​ปี.

สิ่ง​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​ใหม่​ก็​คือ​การ​ที่​ผู้​คน​มาก​มาย​มอง​เห็น​โอกาส​ที่​จะ​สนอง​ความ​ปรารถนา​อย่าง​รวด​เร็ว​ทันใจ​เพื่อ​จะ​มี​สมบัติ​วัตถุ​มาก​ขึ้น. ดู​เหมือน​ว่า​คน​ส่วน​ใหญ่​ใน​โลก​ใช้​เวลา​และ​พลัง​ส่วน​มาก​ของ​เขา​เพื่อ​ผลิต​และ​หา​ทรัพย์​สมบัติ​มาก​ขึ้น​ทุก​ที. คุณ​อาจ​เห็น​ด้วย​ว่า​การ​มี​ทรัพย์​สมบัติ​ฝ่าย​วัตถุ​และ​การ​ใช้​จ่าย​เงิน​ได้​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ผู้​คน​มุ่ง​แสวง​หา​อย่าง​หัว​ปัก​หัว​ปำ​ใน​ชีวิต​สมัย​ใหม่—และ​บ่อย​ครั้ง​คิด​ค้น​กัน​หลาย ๆ รูป​แบบ.

แต่​ผล​ที่​ตาม​มา​ทำ​ให้​ผู้​คน​มี​ความ​สุข​มาก​ขึ้น​ไหม? ใน​การ​ตอบ​คำ​ถาม​นั้น กษัตริย์​ซะโลโม​ผู้​ชาญ​ฉลาด​และ​มั่งคั่ง​ที​เดียว​ได้​เขียน​ไว้​เมื่อ 3,000 ปี​มา​แล้ว​ว่า “คน​รัก​แต่​เงิน​จะ​ไม่​อิ่ม​ใจ​กับ​เงิน และ​คน​รัก​ความ​มั่งคั่ง​จะ​ไม่​อิ่ม​ใจ​กับ​ราย​ได้. นี่​ก็​ไร้​ค่า​เช่น​กัน.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 5:10, ล.ม.) หลัก​สูตร​สังคม​ศึกษา​สมัย​ใหม่​ให้​ข้อ​สรุป​ที่​น่า​สนใจ​คล้าย​กัน.

เงิน​และ​ความ​สุข

ผล​จาก​การ​สำรวจ​ที่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง​เกี่ยว​กับ​พฤติกรรม​ของ​มนุษย์​คือ​ข้อ​ที่ว่าการ​สะสม​เงิน​และ​สิ่ง​ฝ่าย​วัตถุ​ใช่​ว่า​จะ​ทำ​ให้​ความ​พอ​ใจ​และ​ความ​สุข​เพิ่ม​ขึ้น​ตาม​ไป​ด้วย. นัก​วิจัย​หลาย​คน​ได้​มา​ตระหนัก​ว่า เมื่อ​คน​เรา​บรรลุ​ความ​มั่งคั่ง​ใน​ระดับ​หนึ่ง​แล้ว การ​ที่​เขา​รู้สึก​มี​ความ​สุข​นั้น​มิ​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​เขา​มี​สมบัติ​พัสดุ​มาก​เท่า​ไร.

ดัง​นั้น การ​แสวง​หา​สมบัติ​พัสดุ​และ​เงิน​อย่าง​เป็น​บ้า​เป็น​หลัง​นั้น​จึง​ได้​ทำ​ให้​หลาย​คน​สงสัย​ว่า ‘ดู​เหมือน​ว่า​เราเพลิดเพลิน​กับ​สิ่ง​ของ​ใหม่ ๆ แต่​ละ​อย่าง​ที่​เรา​ซื้อ​หา​มา แต่​เมื่อ​พิจารณา​ดี ๆ แล้ว​ทำไม​ความ​สนุก​เพลิดเพลิน​เหล่า​นี้​มิ​ได้​ทำ​ให้​มี​ความ​พอ​ใจ​มาก​ขึ้น​แต่​อย่าง​ใด?’

ใน​หนังสือ​ที่​เขา​เขียน​ชื่อ​คน​ที่​มี​ความ​สุข (ภาษา​อังกฤษ) โจนาทาน ฟรีดมัน ผู้​ประพันธ์​ให้​ข้อ​สังเกต​ไว้​ว่า “เมื่อ​ได้​รับ​ราย​ได้​พอ​ที่​จะ​อยู่​ได้​แล้ว เงิน​ที่​คุณ​ได้​มา​นั้น​มี​ความ​สำคัญ​ไม่​มาก​เท่า​ไร​นัก​ใน​การ​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​สุข. เมื่อ​อยู่​เหนือ​ระดับ​ความ​ยาก​จน ราย​ได้​มี​ความ​เกี่ยว​พัน​น้อย​เหลือ​เกิน​กับ​ความ​สุข.” หลาย​คน​ได้​มา​ตระหนัก​ว่า​สิ่ง​ที่​สำคัญ​จริง ๆ ต่อ​ความ​สุข​ของ​แต่​ละ​คน​นั้น​คือ​การ​ที่​เขา​มี​ทรัพย์​ด้าน​จิตใจ, อาชีพ​ที่​มี​ความหมาย​ใน​ชีวิต, และ​ค่า​นิยม​ด้าน​ศีลธรรม. นอก​จาก​นี้ สิ่ง​สำคัญ​คือ​การ​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​คน​อื่น ๆ และ​อิสรภาพ​พ้น​จาก​การ​ต่อ​สู้​หรือ​ข้อ​จำกัด​ที่​อาจ​ขัด​ขวาง​เรา​มิ​ให้​เพลิดเพลิน​กับ​สิ่ง​ที่​เรา​มี​อยู่​นั้น.

หลาย​คน​เห็น​ว่า​มูล​เหตุ​อัน​แท้​จริง​ของ​สภาพ​เลว​ร้าย​ทาง​สังคม​ใน​ปัจจุบัน​ส่วน​ใหญ่​คือ แนว​โน้ม​ที่​จะ​พยายาม​ใช้​ความ​เจริญ​รุ่งเรือง​ทาง​วัตถุ​เพื่อ​แก้ไข​สิ่ง​ซึ่ง​ที่​แท้​เป็น​ความ​ยุ่งยาก​ทาง​จิตใจ. นัก​วิจารณ์​สังคม​บาง​คน​กล่าว​ถึง​บรรยากาศ​ของ​การ​มอง​ใน​แง่​ร้าย​และ​ความ​ไม่​พอ​ใจ​ที่​มี​อย่าง​แพร่​หลาย. พวก​เขา​ยัง​ให้​ข้อ​สังเกต​ด้วย​ว่า​ผู้​คน​ใน​สังคม​ที่​มั่งคั่ง​มี​แนว​โน้ม​เพิ่ม​ขึ้น​ที่​จะ​ไป​ปรึกษา​หารือ​กับ​นัก​บำบัด​หรือ​ไม่​ก็​แสวง​หา​ความหมาย​ของ​ชีวิต​และ​ความ​สงบ​ใจ​จาก​ผู้​ให้​คำ​ปรึกษา​แนะ​นำ, ลัทธิ​ต่าง ๆ, และ​กลุ่ม​ที่​อ้าง​ว่า​ให้​การ​บำบัด​รักษา. เรื่อง​นี้​ยืน​ยัน​ความ​ล้มเหลว​ของ​สมบัติ​วัตถุ​ใน​การ​เพิ่ม​ความหมาย​ที่​แท้​จริง​ให้​กับ​ชีวิต.

อำนาจ​ที่​เงิน​มี​และ​ไม่​มี

จริง​อยู่ เงิน​มี​อำนาจ. เงิน​สามารถ​ซื้อ​บ้าน​สวย ๆ, เสื้อ​ผ้า​อาภรณ์​ที่​งดงาม, และ​อุปกรณ์​เครื่อง​เรือน​ที่​หรูหรา. เงิน​ยัง​อาจ​ซื้อ​การ​ประจบ​ประแจง, การ​ยอม​ตาม​คำ​ขอ, หรือ​การ​ยกยอปอปั้น, ถึง​กับ​ทำ​ให้​มี​เพื่อน​ชั่ว​คราว​ที่​ยินดี​ช่วยเหลือ​ด้วย​ซ้ำ. แต่​อำนาจ​ของ​เงิน​ก็​มี​แค่​นั้น. สิ่ง​ที่​เรา​ต้องการ​มาก​ที่​สุด เงิน​ไม่​สามารถ​ซื้อ​ได้ นั่น​คือ​ความ​รัก​จาก​คน​ที่​เป็น​เพื่อน​แท้, ความ​สงบ​ใจ, การ​ปลอบโยน​เล็ก​น้อย​ด้วย​น้ำ​ใส​ใจ​จริง​ขณะ​ที่​จวน​จะ​ตาย. และ​สำหรับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ทะนุถนอม​สัมพันธภาพ​ของ​เขา​กับ​พระ​ผู้​สร้าง​แล้ว เงิน​ไม่​สามารถ​ซื้อ​ความ​พอ​พระทัย​ของ​พระเจ้า​ได้.

กษัตริย์​ซะโลโม​ผู้​ทรง​มี​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เพลิดเพลิน​ทุก​อย่าง​ซึ่ง​เงิน​ซื้อ​ได้​ใน​สมัย​ของ​ท่าน ได้​ยอม​รับ​ว่า​การ​ไว้​วางใจ​ใน​สมบัติ​พัสดุ​มิ​ได้​นำ​ไป​สู่​ความ​สุข​ถาวร. (ท่าน​ผู้​ประกาศ 5:12-15) เงิน​อาจ​สูญ​ไป​เนื่อง​จาก​ธนาคาร​ล้ม​ละลาย​หรือ​ภาวะ​เงิน​เฟ้อ. อสังหาริมทรัพย์​อาจ​ถูก​พายุ​รุนแรง​ทำลาย. กรมธรรม์​ประกันภัย แม้​จะ​ทดแทน​ความ​สูญ​เสีย​ทาง​ด้าน​วัตถุ​ได้​บาง​ส่วน ก็​ไม่​สามารถ​ชดเชย​ความ​สูญ​เสีย​ด้าน​อารมณ์. หุ้น​และ​พันธบัตร​อาจ​กลาย​เป็น​สิ่ง​ไร้​ค่า​ใน​ชั่ว​ข้าม​คืน​เนื่อง​จาก​การ​พัง​ทลาย​ทาง​เศรษฐกิจ​แบบ​ฉับพลัน. แม้​แต่​งาน​ที่​ให้​เงิน​เดือน​สูง​ก็​ไม่​จิรัง​ยั่งยืน.

ถ้า​เช่น​นั้น เรา​จะ​มี​ทัศนะ​ที่​สมดุล​ใน​เรื่อง​เงิน​ได้​อย่าง​ไร? เงิน​หรือ​ทรัพย์​สมบัติ​ควร​มี​บทบาท​อะไร​ใน​ชีวิต​ของ​เรา? โปรด​พิจารณา​เรื่อง​ต่อ​ไป​เพื่อ​จะ​เห็น​วิธี​ที่​คุณ​สามารถ​เป็น​เจ้าของ​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​อย่าง​แท้​จริง นั่น​คือ “ชีวิต​แท้.”

[ภาพ​หน้า 4]

สมบัติ​พัสดุ​ไม่​ได้​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​สุข​ถาวร