ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณเป็นคนที่ยอมทนจริง ๆ ไหม?

คุณเป็นคนที่ยอมทนจริง ๆ ไหม?

คุณ​เป็น​คน​ที่​ยอม​ทน​จริง ๆ ไหม?

คุณ​เคย​รู้สึก​ว่า​ถูก​ยั่ว​ให้​ขุ่นเคือง​เนื่อง​จาก​พฤติกรรม​ที่​ไม่​เหมาะ​สม​ของ​ใคร​สัก​คน​ไหม? คุณ​ลง​มือ​จัด​การ​โดย​เร็ว​ไหม​เมื่อ​อิทธิพล​ที่​เสื่อม​ทราม​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​ร้ายแรง​ต่อ​มิตร​สหาย​ที่​ใกล้​ชิด​ของ​คุณ?

การ​กระทำ​ที่​หนักแน่น​โดย​ฉับพลัน​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​ใน​บาง​ครั้ง​เพื่อ​หยุด​ยั้ง​การ​แพร่​กระจาย​ของ​บาป​ร้ายแรง. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​การ​กระทำ​ผิด​อย่าง​ไร้​ยางอาย​ส่อ​เค้า​ว่า​จะ​ทำ​ให้​ชน​ยิศราเอล​เป็น​มลทิน​ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 ก่อน​สากล​ศักราช ฟีนะฮาศ​หลาน​ของ​อาโรน​ได้​ลง​มือ​จัด​การ​อย่าง​เด็ดขาด​เพื่อ​กำจัด​สิ่ง​ที่​ชั่ว​ร้าย. พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​พอ​พระทัย​ใน​สิ่ง​ที่​เขา​ทำ จึง​ตรัส​ว่า “ฟีนะฮาศ . . . เมื่อ​เขา​มี​ใจ​ร้อน​รน​เพราะ​เรา [“เนื่อง​จาก​เขา​ไม่​ยอม​ให้​มี​การ​แข่งขัน​กับ​เรา​เลย,” ล.ม.] นั้น, ก็​ได้​ทำ​ให้​ความ​พิโรธ​ของ​เรา​หัน​หวน​ไป​จาก​พวก​ยิศราเอล.”—อาฤธโม 25:1-11.

ฟีนะฮาศ​ลง​มือ​จัด​การ​อย่าง​เหมาะ​สม​เพื่อ​หยุด​ยั้ง​การ​แพร่​กระจาย​ของ​ความ​เสื่อม​เสีย. แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​ความ​ขุ่นเคือง​โดย​ไม่​มี​การ​ยับยั้ง​ต่อ​ความ​ผิด​พลาด​ของ​คน​อื่น? หาก​เรา​ลง​มือ​จัด​การ​อย่าง​หุนหันพลันแล่น​หรือ​โดย​ไม่​มี​เหตุ​ผล​อัน​ควร เรา​อาจ​กลาย​เป็น​บุคคล​ที่​ไม่​ยอม​ทน​มาก​กว่า​ที่​จะ​เป็น​ผู้​ต่อ​สู้​เพื่อ​ความ​ชอบธรรม—เป็น​คน​ที่​ไม่​คำนึง​ถึง​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​คน​อื่น. อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​หลีก​เลี่ยง​หลุมพราง​นี้​ได้?

‘พระ​ยะโฮวา​ผู้​ทรง​โปรด ยก​ความ​ผิด​ทั้ง​หมด​ของ​เจ้า’

พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น “พระเจ้า​ผู้​ทรง​หวง​แหน (มี​พระทัย​แรง​กล้า); พระเจ้า​ที่​ไม่​ทรง​ยอม​ให้​กับ​การ​แข่งขัน​ชิง​ดี.” (เอ็กโซโด 20:5, เชิงอรรถ, ล.ม.) เนื่อง​จาก​เป็น​พระ​ผู้​สร้าง พระองค์​ทรง​มี​สิทธิ์​ที่​จะ​เรียก​ร้อง​ความ​เลื่อมใส​โดย​เฉพาะ​จาก​เรา. (วิวรณ์ 4:11) กระนั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยอม​ทน​กับ​ข้อ​บกพร่อง​ของ​มนุษย์. เพราะ​ฉะนั้น ดาวิด​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ได้​ร้อง​เพลง​เกี่ยว​กับ​พระองค์​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​พระ​เมตตา​กรุณา, พระองค์​ทรง​พระ​พิโรธ​ช้า ๆ, และ​ทรง​พระ​เมตตา​บริบูรณ์. พระองค์​จะ​ไม่​ทรง​ติเตียน​เป็น​นิตย์ . . . พระองค์​ไม่​ได้​ทรง​กระทำ​แก่​พวก​ข้าพเจ้า​ตาม​การ​ผิด, และ​มิ​ได้​ทรง​ปรับ​โทษ​ตาม​ความ​อสัตย์​อธรรม​ของ​พวก​ข้าพเจ้า​นั้น.” ถูก​แล้ว หาก​เรา​กลับ​ใจ พระเจ้า ‘ทรง​โปรด​ยก​ความ​ผิด​ทั้ง​หมด​ของ​เรา.’—บทเพลง​สรรเสริญ 103:3, 8-10.

เพราะ​พระองค์​ทรง​เข้าใจ​ลักษณะ​นิสัย​ที่​ผิด​บาป​ของ​มนุษย์ พระ​ยะโฮวา​ไม่ “ทรง​ติเตียน​เป็น​นิตย์” ต่อ​ผู้​ทำ​ผิด​ที่​กลับ​ใจ. (บทเพลง​สรรเสริญ 51:5; โรม 5:12) ที่​จริง พระองค์​มี​พระ​ประสงค์​ที่​จะ​กำจัด​บาป​และ​ความ​ไม่​สมบูรณ์. จน​กว่า​จะ​บรรลุ​สภาพ​ดัง​กล่าว​อย่าง​เต็ม​ที่ พระเจ้า​ทรง​เสนอ​การ​ให้​อภัย​ด้วย​ความ​กรุณา​โดย​อาศัย​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​เยซู​คริสต์ แทน​ที่​จะ​ปรับ​โทษ​เรา ‘ตาม​ความ​อสัตย์​อธรรม​ของ​เรา.’ ไม่​มี​ใคร​สัก​คน​ใน​พวก​เรา​จะ​ได้​รับ​การ​ตัดสิน​ว่า​คู่​ควร​กับ​การ​รอด​ชีวิต​หาก​พระ​ยะโฮวา​มิ​ได้​แสดง​ความ​เมตตา​เมื่อ​เหมาะ​สม. (บทเพลง​สรรเสริญ 130:3) เรา​รู้สึก​ขอบพระคุณ​สัก​เพียง​ไร​ที่​พระ​บิดา​ทาง​ภาค​สวรรค์​ของ​เรา ผู้​มี​สิทธิ์​เรียก​ร้อง​ความ​เลื่อมใส​โดย​เฉพาะ​นั้น เป็น​พระเจ้า​ที่​ทรง​เมตตา!

จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​สมดุล

เนื่อง​จาก​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​องค์​บรม​มหิศร​แห่ง​เอกภพ​ทรง​สำแดง​การ​ยอม​ทน​ใน​การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​มนุษย์​ที่​ไม่​สมบูรณ์ เรา​ก็​ควร​ทำ​เช่น​เดียว​กัน​มิ​ใช่​หรือ? อาจ​ให้​คำ​จำกัดความ​การ​ยอม​ทน​ว่า “เป็น​แนว​โน้ม​ที่​จะ​อด​ทน​กับ​ความ​คิด​เห็น​หรือ​การ​ปฏิบัติ​ของ​คน​อื่น.” โดย​ส่วน​ตัว​แล้ว เรา​มี​แนว​โน้ม​ดัง​กล่าว—แนว​โน้ม​ที่​จะ​แสดง​ความ​อด​ทน​และ​ความ​อด​กลั้น​ไหม​เมื่อ​คน​อื่น​พูด​หรือ​ทำ​สิ่ง​ที่​ไม่​ใช่​ความ​ผิด​ร้ายแรง แต่​อาจ​เป็น​คำ​พูด​หรือ​การ​กระทำ​ที่​ไม่​เหมาะ?

แน่นอน เรา​ต้อง​หลีก​เลี่ยง​การ​เป็น​คน​ที่​ยอม​ให้​จน​เกิน​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น เกิด​ผล​เสียหาย​ร้ายแรง​เมื่อ​ผู้​มี​อำนาจ​ทาง​ศาสนา​ยอม​ให้​กับ​พวก​บาทหลวง​ที่​ล่วง​เกิน​ซึ่ง​ทำ​ร้ายทาง​เพศ​ต่อ​เด็ก​ชาย​และ​เด็ก​หญิง​อย่าง​ต่อ​เนื่อง. ผู้​สื่อ​ข่าว​คน​หนึ่ง​ใน​ไอร์แลนด์​ออก​ความ​เห็น​ว่า “โดย​ถือ​ว่า​สิ่ง​ที่​ได้​เกิด​ขึ้น​กับ​เด็ก​นั้น​เป็น​เพียง​การ​ทำ​ผิด​โดย​บังเอิญ ผู้​มี​อำนาจ​ของ​คริสตจักร​เพียง​แค่​ย้าย​บาทหลวง​ที่​ทำ​ผิด​นั้น [ไป​ยัง​อีก​เขต​หนึ่ง].”

แค่​การ​ย้าย​คน​เช่น​นั้น​ไป​เป็น​ตัว​อย่าง​ของ​การ​ยอม​ให้​ที่​ถูก​ต้อง​ไหม? ไม่​เลย! สมมุติ​ว่า​คณะ​แพทย์​อนุญาต​ให้​ศัลยแพทย์​ที่​ไม่​รับผิดชอบ​คน​หนึ่ง​ทำ​การ​ผ่าตัด​ต่อ​ไป ย้าย​เขา​จาก​โรง​พยาบาล​หนึ่ง​ไป​อยู่​อีก​โรง​พยาบาล​หนึ่ง ถึง​แม้​เขา​ได้​ทำ​ให้​คนไข้​เสีย​ชีวิต​หรือ​พิการ​ก็​ตาม. ความ​สำนึก​ที่​ผิด ๆ เกี่ยว​กับ​การ​รักษา​ไว้​ซึ่ง​ความ​ผูก​พัน​ระหว่าง​ผู้​มี​อาชีพ​ทาง​การ​แพทย์​ด้วย​กัน​อาจ​ทำ​ให้​มี “การ​ยอม​ให้” ดัง​กล่าว. แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​กับ​เหยื่อ​ที่​เสีย​ชีวิต​ไป​หรือ​ได้​รับ​ผล​เสียหาย​เนื่อง​จาก​การ​กระทำ​ที่​สะเพร่า​หรือ​กระทั่ง​ผิด​อย่าง​ร้ายแรง​นั้น?

ยัง​มี​อันตราย​ใน​การ​แสดง​การ​ยอม​ทน​น้อย​เกิน​ไป​ด้วย. เมื่อ​พระ​เยซู​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก ชาว​ยิว​บาง​คน​ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ว่า​เป็น​พวก​เซลอต​ได้​หา​ทาง​ใช้​ตัว​อย่าง​ของ​ฟีนะฮาศ​ด้วย​ความ​พยายาม​จะ​พิสูจน์​ว่า​การ​กระทำ​ของ​พวก​เขา​เอง​นั้น​ชอบ​ด้วย​เหตุ​ผล. การ​กระทำ​ที่​รุนแรง​อย่าง​หนึ่ง​ของ​พวก​เซลอต​บาง​คน​คือ “เข้า​ไป​ปะปน​อยู่​กับ​ฝูง​ชน​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม​ระหว่าง​เทศกาล​ต่าง ๆ และ​โอกาส​ที่​คล้าย​กัน​แล้ว​แทง​ศัตรู​ของ​เขา​ด้วย​กริช​โดย​ไม่​ให้​รู้​ตัว.”

ใน​ฐานะ​เป็น​คริสเตียน เรา​จะ​ไม่​ดำเนิน​การ​ถึง​ขั้น​ที่​พวก​เซลอต​ได้​กระทำ​นั้น​โดย​การ​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​ไม่​พอ​ใจ. แต่​การ​ไม่​ยอม​ทน​ใน​ระดับ​หนึ่ง​นำ​เรา​ไป​สู่​การ​ทำ​ร้าย​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เรา​ไม่​พอ​ใจ​ใน​วิธี​อื่น​ไหม—บาง​ที​โดย​การ​พูด​ถึง​เขา​อย่าง​หยาบ​หยาม? หาก​เรา​เป็น​คน​ที่​ยอม​ทน​จริง ๆ แล้ว เรา​จะ​ไม่​หัน​ไป​ใช้​คำ​พูด​ที่​ยัง​ความ​เสียหาย​ดัง​กล่าว.

พวก​ฟาริซาย​ใน​ศตวรรษ​แรก​เป็น​คน​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​ที่​ไม่​ยอม​ทน. พวก​เขา​ตำหนิ​คน​อื่น​เสมอ​และ​ไม่​คำนึง​ถึง​สภาพ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​มนุษย์. พวก​ฟาริซาย​ที่​หยิ่ง​ยโส​ดูถูก​สามัญ​ชน เหยียด​หยาม​พวก​เขา​ว่า​เป็น ‘คน​ถูก​แช่ง​สาป.’ (โยฮัน 7:49, ล.ม.) ด้วย​เหตุ​ผล​ที่​ดี พระ​เยซู​ทรง​ติเตียน​คน​ที่​ถือ​ว่า​ตัว​เอง​ชอบธรรม​เช่น​นั้น​โดย​ตรัส​ว่า “วิบัติ​แก่​เจ้า​พวก​อาลักษณ์​และ​พวก​ฟาริซาย, คน​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด ด้วย​พวก​เจ้า​ถวาย​สะระแหน่​ยี่หร่า​และ​ขมิ้น​สิบ​ลด​หนึ่ง ส่วน​ข้อ​สำคัญ​แห่ง​พระ​บัญญัติ​คือ​ความ​ชอบธรรม​ความ​เมตตา​ความ​เชื่อ​นั้น​ได้​ละ​เว้น​เสีย การ​ถวาย​สิบ​ลด​พวก​เจ้า​ควร​ได้​กระทำ​อยู่​แล้ว, แต่​ข้อ​อื่น ๆ นั้น​ก็​ไม่​ควร​ละ​เว้น​ด้วย.”—มัดธาย 23:23.

ใน​การ​ตรัส​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้ พระ​เยซู​มิ​ได้​ลด​ความ​สำคัญ​ของ​การ​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ. พระองค์​เพียง​แต่​แสดง​ว่า “ข้อ​สำคัญ” หรือ​แง่​มุม​ที่​สำคัญ​กว่า​ของ​พระ​บัญญัติ​เรียก​ร้อง​ให้​ใช้​พระ​บัญญัติ​ด้วย​ความ​มี​เหตุ​ผล​และ​ความ​เมตตา. พระ​เยซู​และ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ช่าง​ต่าง​กัน​สัก​เพียง​ไร​จาก​พวก​ฟาริซาย​และ​พวก​เซลอต​ที่​ไม่​ยอม​ทน!

ทั้ง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​และ​พระ​เยซู​คริสต์​ต่าง​ก็​ไม่​ทรง​มอง​ข้าม​ความ​ชั่ว​ร้าย. ใน​ไม่​ช้า พระองค์ ‘จะ​ทรง​แก้แค้น​คน​ที่​ไม่​รู้​จัก​พระเจ้า​และ​คน​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​ข่าว​ดี.’ (2 เธซะโลนิเก 1:6-10, ล.ม.) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​การ​มี​พระทัย​แรง​กล้า​เพื่อ​ความ​ชอบธรรม พระ​เยซู​ไม่​เคย​พลาด​ที่​จะ​สะท้อน​ความ​ห่วงใย​อย่าง​อด​กลั้น, มี​เมตตา, และ​ด้วย​ความ​รัก​ของ​พระ​บิดา​ที่​มี​ต่อ​ทุก​คน​ซึ่ง​ต้องการ​จะ​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง. (ยะซายา 42:1-3; มัดธาย 11:28-30; 12:18-21) พระ​เยซู​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​อะไร​เช่น​นี้​สำหรับ​พวก​เรา!

จง​ทน​ต่อ​กัน​และ​กัน​ด้วย​ความ​อด​กลั้น

แม้​เรา​อาจ​มี​ใจ​แรง​กล้า​อย่าง​ยิ่ง​เพื่อ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง ขอ​ให้​เรา​เอา​คำ​แนะ​นำ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​มา​ใช้​ที่​ว่า “จง​ทน​ต่อ​กัน​และ​กัน​อยู่​เรื่อย​ไป​และ​จง​อภัย​ให้​กัน​และ​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง​ถ้า​แม้น​ผู้​ใด​มี​สาเหตุ​จะ​บ่น​ว่า​คน​อื่น. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​อภัย​ท่าน​อย่าง​ใจ​กว้าง​ฉัน​ใด ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​กระทำ​ฉัน​นั้น.” (โกโลซาย 3:13, ล.ม.; มัดธาย 6:14, 15) การ​ยอม​ทน​เรียก​ร้อง​ให้​ทน​กับ​ข้อ​บกพร่อง​และ​ความ​ผิด​พลาด​ของ​กัน​และ​กัน​ใน​โลก​ที่​ไม่​สมบูรณ์​นี้. เรา​จำเป็น​ต้อง​มี​เหตุ​ผล​ใน​สิ่ง​ที่​เรา​คาด​หมาย​จาก​คน​อื่น.—ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.

การ​เป็น​คน​ยอม​ทน​มิ​ได้​หมาย​ถึง​การ​เห็น​ชอบ​กับ​การ​กระทำ​ผิด​หรือ​การ​ปิด​หู​ปิด​ตา​ต่อ​ความ​ผิด​แต่​อย่าง​ใด. ความ​คิด​หรือ​ความ​ประพฤติ​บาง​แง่​มุม​ของ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​อาจ​ค่อนข้าง​จะ​ไม่​ลง​รอย​กับ​มาตรฐาน​ของ​พระ​ยะโฮวา. ถึง​แม้​การ​เบี่ยง​เบน​ไป​นั้น​อาจ​จะ​ยัง​ไม่​ร้ายแรง​ถึง​ขั้น​นำ​ไป​สู่​การ​ปฏิเสธ​จาก​พระเจ้า​ก็​ตาม นั่น​อาจ​ให้​สัญญาณ​เตือน​ที่​บ่ง​ชี้​ว่า​ต้อง​มี​การ​ปรับ​ปรุง​บาง​อย่าง. (เยเนซิศ 4:6, 7) ช่างเป็น​การ​แสดง​ความ​รัก​สัก​เพียง​ไร​เมื่อ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​มี​คุณวุฒิ​ฝ่าย​วิญญาณ​พยายาม​จะ​ปรับ​คน​ที่​ผิด​นั้น​ให้​เข้า​ที่​ด้วย​น้ำใจ​อ่อนโยน! (ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.) แต่​เพื่อ​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​ใน​ความ​พยายาม​เช่น​นี้ จำเป็น​ต้อง​ลง​มือ​ปฏิบัติ​ด้วย​ความ​ห่วงใย​แทน​ที่​จะ​มี​น้ำใจ​ชอบ​จับ​ผิด.

“ด้วย​อารมณ์​อ่อนโยน​และ​ความ​นับถือ​สุด​ซึ้ง”

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​การ​แสดง​ความ​อด​ทน​ต่อ​คน​ที่​มี​ทัศนะ​ทาง​ศาสนา​ต่าง​จาก​เรา? “บทเรียน​โดย​ทั่ว​ไป” อย่าง​หนึ่ง​ที่​มี​การ​ปิด​ประกาศ​ไว้​ใน​ทุก​โรง​เรียน​ของ​รัฐ​ที่​ตั้ง​ขึ้น​ใน​ไอร์แลนด์​เมื่อ​ปี 1831 นั้น มี​ข้อ​ความ​ว่า “พระ​เยซู​คริสต์​มิ​ได้​ทรง​มุ่ง​หมาย​ให้​มี​การ​บีบ​บังคับ​คน​อื่น​ถือ​ศาสนา​ของ​พระองค์​โดย​วิธี​การ​ที่​รุนแรง. . . . การ​ทะเลาะ​กับ​เพื่อน​บ้าน​ของ​เรา​และ​การ​พูด​ดูถูก​เขา​ไม่​ใช่​วิธี​ที่​จะ​ทำ​ให้​เขา​มั่น​ใจ​ว่า​เรา​เป็น​ฝ่าย​ถูก​และ​เขา​เป็น​ฝ่าย​ผิด. นั่น​ดู​เหมือน​จะ​แสดง​ให้​เขา​เห็น​ว่า​เรา​ไม่​มี​น้ำใจ​แบบ​คริสเตียน​เสีย​มาก​กว่า.”

พระ​เยซู​ทรง​สอน​และ​ปฏิบัติ​ใน​วิธี​ที่​ชัก​นำ​ผู้​คน​มา​สู่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า และ​เรา​ก็​ควร​ทำ​เช่น​นั้น. (มาระโก 6:34; ลูกา 4:22, 32; 1 เปโตร 2:21) ใน​ฐานะ​มนุษย์​สมบูรณ์​ที่​มี​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​เป็น​พิเศษ​ซึ่ง​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​ให้ พระองค์​ทรง​อ่าน​หัวใจ​คน​ได้. เพราะ​ฉะนั้น เมื่อ​จำเป็น พระ​เยซู​สามารถ​ประกาศ​คำ​ติเตียน​ที่​เจ็บ​แสบ​ต่อ​เหล่า​ศัตรู​ของ​พระ​ยะโฮวา. (มัดธาย 23:13-33) การ​ทำ​เช่น​นี้​ใช่​ว่า​พระองค์​เป็น​คน​ไม่​ยอม​ทน.

ต่าง​จาก​พระ​เยซู เรา​ไม่​มี​ความ​สามารถ​อ่าน​หัวใจ​คน​ได้. ฉะนั้น เรา​ควร​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​อัครสาวก​เปโตร​ที่​ว่า “จง​จัด​ให้​พระ​คริสต์​เป็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ผู้​บริสุทธิ์​ใน​หัวใจ​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย เตรียม​พร้อม​เสมอ​ที่​จะ​โต้​ตอบ​ต่อ​หน้า​ทุก​คน​ซึ่ง​เรียก​เหตุ​ผล​จาก​ท่าน​สำหรับ​ความ​หวัง​ของ​ท่าน แต่​จง​ทำ​เช่น​นี้​พร้อม​ด้วย​อารมณ์​อ่อนโยน​และ​ความ​นับถือ​สุด​ซึ้ง.” (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) ใน​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา เรา​ควร​กล่าว​ปก​ป้อง​สิ่ง​ที่​เรา​เชื่อ​เพราะ​นั่น​อาศัย​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​หลัก​อย่าง​แท้​จริง. แต่​เรา​ต้อง​ทำ​เช่น​นี้​ใน​วิธี​ที่​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​คน​อื่น​และ​ต่อ​ความ​เชื่อ​ที่​เขา​ยึด​ถือ​อยู่​อย่าง​จริง​ใจ. เปาโล​เขียน​ว่า “ให้​วาจา​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ประกอบ​ด้วย​ความ​สุภาพ​อ่อนโยน​เสมอ ปรุง​รส​ด้วย​เกลือ เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​ท่าน​ควร​ให้​คำ​ตอบ​แต่​ละ​คน​อย่าง​ไร.”—โกโลซาย 4:6, ล.ม.

ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​อัน​มี​ชื่อเสียง พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “สิ่ง​สารพัตร​ซึ่ง​ท่าน​ปรารถนา​ให้​มนุษย์​ทำ​แก่​ท่าน, จง​กระทำ​อย่าง​นั้น​แก่​เขา​เหมือน​กัน.” (มัดธาย 7:12) ดัง​นั้น​แล้ว ขอ​ให้​เรา​ทน​ต่อ​กัน​และ​กัน​ด้วย​ความ​อด​กลั้น และ​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​เรา​ประกาศ​ข่าว​ดี​ให้​เขา​ฟัง. โดย​การ​ทำ​ให้​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ของ​เรา​เพื่อ​ความ​ชอบธรรม​สมดุล​กับ​การ​ยอม​ทน​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก เรา​จะ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พอ​พระทัย​และ​จะ​เป็น​คน​ที่​ยอม​ทน​อย่าง​แท้​จริง.

[ภาพ​หน้า 23]

จง​หลีก​เลี่ยง​เจตคติ​ที่​ไม่​ยอม​ทน​ของ​พวก​ฟาริซาย

[ภาพ​หน้า 23]

พระ​เยซู​ทรง​สะท้อน​น้ำใจ​ที่​ยอม​ทน​ของ​พระ​บิดา. คุณ​ล่ะ​เป็น​อย่าง​ไร?