ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ออริเกน—คำสอนของเขาส่งผลกระทบคริสตจักรอย่างไร?

ออริเกน—คำสอนของเขาส่งผลกระทบคริสตจักรอย่างไร?

ออริเกน—คำ​สอน​ของ​เขา​ส่ง​ผล​กระทบ​คริสตจักร​อย่าง​ไร?

“ผู้​นำ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​แห่ง​คริสตจักร​หลัง​ยุค​อัครสาวก.” เจโรม ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ลาติน​วัลเกต​ให้​การ​ยกย่อง​นี้​แก่​ออริเกน นัก​ศาสนา​ใน​ศตวรรษ​ที่​สาม. แต่​ใช่​ว่า​ทุก​คน​ยกย่อง​ออริเกน​อย่าง​สูง​เช่น​นั้น. บาง​คน​มอง​ว่า​เขา​เป็น​ราก​แห่ง​ความ​ชั่ว​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​มี​คำ​สอน​นอก​รีต. ด้วย​ถ้อย​คำ​ของ​นัก​เขียน​ใน​ศตวรรษ​ที่ 17 ผู้​ที่​วิพากษ์วิจารณ์​ออริเกน​กล่าว​ว่า “คำ​สอน​ส่วน​ใหญ่​ของ​เขา​ไร้​เหตุ​ผล​และ​เป็น​อันตราย เหมือน​พิษ​งู​ที่​ทำ​ให้​ถึง​ตาย​ซึ่ง​เขา​พ่น​ใส่​โลก.” ที่​จริง หลัง​จาก​เขา​สิ้น​ชีวิต​ไป​แล้ว​กว่า​สี่​ศตวรรษ​จึง​ได้​มี​การ​ประกาศ​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ว่า​ออริเกน​เป็น​คน​นอก​รีต.

เพราะ​เหตุ​ใด​ออริเกน​จึง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​รู้สึก​ทั้ง​ชื่นชม​และ​ชิง​ชัง​เช่น​นั้น? เขา​ก่อ​ผล​กระทบ​เช่น​ไร​ต่อ​พัฒนาการ​ของ​คำ​สอน​แห่ง​คริสตจักร?

ใจ​แรง​กล้า​เพื่อ​คริสตจักร

ออริเกน​ถือ​กำเนิด​ประมาณ ส.ศ. 185 ที่​เมือง​อะเล็กซานเดรีย​ของ​อียิปต์. เขา​ได้​ศึกษา​อย่าง​ถ้วนถี่​ใน​ด้าน​วรรณคดี​กรีก แต่​ลีโอนีดิส​บิดา​ของ​เขา​ผลัก​ดัน​เขา​ให้​ใช้​ความ​พยายาม​เท่า ๆ กัน​ใน​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์. ตอน​ออริเกน​อายุ 17 ปี จักรพรรดิ​โรมัน​ได้​ออก​ราชกฤษฎีกา​ฉบับ​หนึ่ง​ที่​กำหนด​ให้​การ​เปลี่ยน​ศาสนา​เป็น​เรื่อง​ผิด​กฎหมาย. บิดา​ของ​ออริเกน​ถูก​จำ​คุก​เพราะ​เข้า​เป็น​คริสเตียน. ออริเกน​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า​ของ​คน​หนุ่ม​ได้​ตั้งใจ​จะ​ติด​คุก​และ​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ​ร่วม​กับ​บิดา. เมื่อ​เห็น​อย่าง​นั้น มารดา​ของ​ออริเกน​จึง​เอา​เสื้อ​ผ้า​เขา​ซ่อน​ไว้​เพื่อ​กัน​ไม่​ให้​เขา​ออก​จาก​บ้าน. ออริเกน​เขียน​จดหมาย​ขอร้อง​บิดา​ของ​เขา​ว่า “อย่า​เปลี่ยน​ใจ​เพราะ​พวก​เรา​เลย.” ลีโอนีดิส​ยืนหยัด​มั่นคง​และ​ถูก​ประหาร ละ​ครอบครัว​ไว้​ให้​ผจญ​ความ​ยาก​จน. แต่​ออริเกน​ก็​ได้​รับ​การ​ศึกษา​สูง​พอ​จะ​หา​เลี้ยง​มารดา​กับ​น้อง​ชาย​หก​คน​โดย​การ​สอน​วรรณคดี​กรีก.

องค์​จักรพรรดิ​มี​เจตนา​จะ​ยับยั้ง​การ​แผ่​ขยาย​ของ​ศาสนา​คริสเตียน. เนื่อง​จาก​ราชกฤษฎีกา​ของ​พระองค์​มุ่ง​จัด​การ​ไม่​เพียง​พวก​นัก​ศึกษา​เท่า​นั้น แต่​พวก​ผู้​สอน​ด้วย ดัง​นั้น เหล่า​คริสเตียน​ผู้​สอน​ศาสนา​จึง​หนี​ไป​อะเล็กซานเดรีย. เมื่อ​มี​คน​ที่​ไม่​ใช่​คริสเตียน​ซึ่ง​แสวง​หา​คำ​สั่ง​สอน​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​มา​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​หนุ่ม​ออริเกน เขา​ยินดี​รับ​เอา​งาน​นี้​โดย​ถือ​ว่า​เป็น​งาน​มอบหมาย​จาก​พระเจ้า. ศิษย์​ของ​เขา​หลาย​คน​ต้อง​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ ซึ่ง​บาง​คน​ยัง​ศึกษา​ไม่​จบ​ด้วย​ซ้ำ. ออริเกน​เอง​ก็​เสี่ยง​มาก​ที่​สนับสนุน​พวก​ศิษย์​ของ​ตน​อย่าง​เปิด​เผย ไม่​ว่า​พวก​เขา​อยู่​ต่อ​หน้า​ศาล, ใน​คุก, หรือ​กำลัง​จะ​ถูก​ประหาร. ยูเซบิอุส นัก​ประวัติศาสตร์​ใน​ศตวรรษ​ที่​สี่​รายงาน​ว่า ใน​ตอน​ที่​พวก​ศิษย์​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ประหาร​นั้น ออริเกน “จูบ​แสดง​การ​ยกย่อง​นับถือ​พวก​เขา​ด้วย​ความ​กล้า​หาญ​อย่าง​ยิ่ง.”

ออริเกน​ทำ​ให้​หลาย​คน​ที่​ไม่​ใช่​คริสเตียน​โกรธ​แค้น พวกนั้น​ถือ​ว่า​เขา​ต้อง​รับผิดชอบ​ที่​เพื่อน ๆ ของ​ตน​เปลี่ยน​ศาสนา​และ​ถูก​ประหาร. บ่อย​ครั้ง​ที่​ออริเกน​หนี​พ้น​อย่าง​หวุดหวิด​จาก​ฝูง​ชน​ที่​บ้า​คลั่ง​และ​จาก​ความ​ตาย​อย่าง​ทารุณ. แม้​ว่า​ต้อง​ย้าย​จาก​ที่​หนึ่ง​ไป​อีก​ที่​หนึ่ง​เพื่อ​หนี​พวก​ที่​ตาม​ล่า ออริเกน​ก็​สอน​ต่อ​ไป​อย่าง​ไม่​ลด​ละ. ความ​กล้า​หาญ​และ​การ​ทุ่มเท​ตัว​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​ดิมิทริอุส บิชอป​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย​ประทับใจ. ฉะนั้น พอ​ออริเกน​อายุ 18 ปี ดิมิทริอุส​จึง​แต่ง​ตั้ง​เขา​เป็น​ครู​ใหญ่​ประจำ​โรง​เรียน​สอน​ศาสนา​ใน​อะเล็กซานเดรีย.

ใน​ที่​สุด ออริเกน​ได้​กลาย​เป็น​ผู้​คง​แก่​เรียน​ที่​มี​ชื่อ​และ​เป็น​นัก​เขียน​ที่​มี​ผล​งาน​มาก​มาย. บาง​คน​บอก​ว่า​เขา​เขียน​หนังสือ​ถึง 6,000 เล่ม แม้​ว่า​จำนวน​นี้​ดู​เหมือน​เกิน​จริง​ไป​หน่อย. เขา​มี​ชื่อเสียง​โด่งดัง​ที่​สุด​ด้วย​เฮกซาพลา พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ฉบับ​ยักษ์​ของ​เขา​ซึ่ง​มี​ถึง 50 เล่ม. ออริเกน​เรียบเรียง​เฮกซาพลา เป็น​หก​คอลัมน์​เรียง​เทียบ​กัน​ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย: (1) ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​และ​อาระเมอิก, (2) คำ​ทับ​ศัพท์​ภาษา​กรีก​ของ​ข้อ​ความ​นั้น, (3) ฉบับ​แปล​ภาษา​กรีก​ของ​อะควิลา, (4) ฉบับ​แปล​ภาษา​กรีก​ของ​ซิมมาคุส, (5) ฉบับ​กรีก​เซปตัวจินต์ ซึ่ง​ออริเกน​ปรับ​ปรุง​ให้​ตรง​กัน​ยิ่ง​ขึ้น​กับ​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู และ (6) ฉบับ​แปล​ภาษา​กรีก​ของ​ทีโอโดเชียน. จอห์น ฮอร์ต ผู้​คง​แก่​เรียน​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​เขียน​ว่า “โดย​ฉบับ​รวม​ข้อ​ความ​ฉบับ​นี้ ออริเกน​หวัง​ว่า​จะ​ให้​ความ​กระจ่าง​ใน​เรื่อง​ความหมาย​ของ​ข้อ​ความ​หลาย​ตอน​ซึ่ง​ผู้​อ่าน​ภาษา​กรีก​คง​รู้สึก​สับสน​หรือ​เข้าใจ​ผิด​ถ้า​เขา​มี​แต่​ฉบับ​เซปตัวจินต์​เท่า​นั้น.”

‘เลย​ขอบ​เขต​สิ่ง​ที่​เขียน​ไว้’

อย่าง​ไร​ก็​ตาม บรรยากาศ​ที่​สับสน​ทาง​ศาสนา​ใน​ศตวรรษ​ที่​สาม​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​วิธี​การ​ที่​ออริเกน​สอน​พระ​คัมภีร์. ถึง​แม้​คริสต์​ศาสนจักร​เพิ่ง​เกิด​ขึ้น แต่​ก็​เปรอะ​เปื้อน​ไป​แล้ว​ด้วย​หลัก​ข้อ​เชื่อ​ที่​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์ และ​คริสตจักร​ที่​อยู่​กระจัด​กระจาย​ก็​สอน​หลัก​คำ​สอน​ต่าง ๆ กัน.

ออริเกน​ได้​รับ​เอา​หลัก​คำ​สอน​เหล่า​นั้น​บาง​อย่าง​ที่​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​โดย​เรียก​หลัก​คำ​สอน​นั้น​ว่า คำ​สอน​ของ​เหล่า​อัครสาวก. แต่​เขา​ก็​ยินดี​ไตร่ตรอง​ข้อ​ข้อง​ใจ​อื่น ๆ อย่าง​ไม่​มี​ข้อ​จำกัด. เวลา​นั้น​ศิษย์​ของ​เขา​หลาย​คน​กำลัง​ปล้ำ​สู้​กับ​ประเด็น​เกี่ยว​กับ​ปรัชญา​ร่วม​สมัย. ด้วย​ความ​พยายาม​จะ​ช่วย​ศิษย์​เหล่า​นั้น ออริเกน​ได้​ศึกษา​ค้นคว้า​อย่าง​ระมัดระวัง​เกี่ยว​กับ​สำนัก​ปรัชญา​ต่าง ๆ ซึ่ง​กำลัง​นวด​ปั้น​จิตใจ​ศิษย์​วัย​เยาว์​ทั้ง​หลาย​ของ​เขา. เขา​เริ่ม​ให้​คำ​ตอบ​ที่​น่า​พอ​ใจ​สำหรับ​คำ​ถาม​ของ​พวก​ศิษย์​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ปรัชญา.

ด้วย​ความ​พยายาม​จะ​ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​เข้า​กับ​หลัก​ปรัชญา ออริเกน​จึง​พึ่ง​พา​อย่าง​มาก​ใน​วิธี​การ​ตี​ความ​พระ​คัมภีร์​โดย​อาศัย​ความหมาย​แฝง. เขา​สันนิษฐาน​ว่า​พระ​คัมภีร์​มี​ความหมาย​โดย​นัย​เสมอ แต่​ก็​ใช่​ว่า​ต้อง​เป็น​ไป​ตาม​ตัว​อักษร. ดัง​ที่​ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​หนึ่ง​ให้​ข้อ​สังเกต เรื่อง​นี้​เปิด​ช่อง​ให้​ออริเกน “ตี​ความ​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​แนว​คิด​ที่​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ตรง​กับ​หลัก​ศาสนศาสตร์​ของ​เขา​เอง ใน​ขณะ​ที่​ประกาศ​ตัว (และ​ไม่​ต้อง​สงสัย คิด​อย่าง​จริง​ใจ​ว่า​ตัว​เอง) เป็น​ผู้​ตี​ความ​แนว​คิด​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​กระตือรือร้น​เป็น​พิเศษ​และ​ซื่อ​สัตย์.”

จดหมาย​ที่​ออริเกน​เขียน​ถึง​ศิษย์​คน​หนึ่ง​ทำ​ให้​เรา​เห็น​ลึก​เข้า​ไป​ใน​ความ​คิด​ของ​เขา. ออริเกน​ชี้​แจง​ว่า​ชาว​อิสราเอล​ใช้​ทองคำ​ของ​ชาว​อียิปต์​สร้าง​ภาชนะ​สำหรับ​พระ​วิหาร​ของ​พระ​ยะโฮวา. ใน​เรื่อง​นี้​เขา​ได้​พบ​ข้อ​สนับสนุน​สำหรับ​การ​ที่​เขา​ใช้​หลัก​ปรัชญา​กรีก​สอน​ศาสนา​คริสเตียน. เขา​เขียน​ว่า “ที่​เป็น​ประโยชน์​จริง​แก่​ชาว​อิสราเอล​คือ​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​นำ​มา​จาก​อียิปต์ ซึ่ง​ชาว​อียิปต์​เอง​ไม่​ได้​เอา​ไป​ใช้​อย่าง​ถูก​ต้อง แต่​เป็น​สิ่ง​ที่​ชาว​ฮีบรู​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​สติ​ปัญญา​ของ​พระเจ้า​ได้​เอา​มา​ใช้​เพื่อ​งาน​รับใช้​พระเจ้า.” ดัง​นั้น ออริเกน​จึง​สนับสนุน​ศิษย์​ของ​เขา​ให้ “เลือก​เอา​อะไร​ก็​ได้​ที่​เป็น​ส่วน​ดี​ของ​หลัก​ปรัชญา​ของ​ชาว​กรีก​ซึ่ง​อาจ​ใช้​เป็น​แนว​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​หรือ​เป็น​ส่วน​ที่​พร้อม​จะ​ใช้​กับ​ศาสนา​คริสเตียน.”

วิธี​การ​ตี​ความ​คัมภีร์​ไบเบิล​แบบ​ไร้​การ​ควบคุม​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ยาก​จะ​แยก​ให้​เห็น​ความ​แตกต่าง​ที่​ชัดเจน​ระหว่าง​หลัก​คำ​สอน​คริสเตียน​กับ​หลัก​ปรัชญา​กรีก. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​หนังสือ​ของ​ออริเกน​ชื่อ​หลัก​เบื้อง​ต้น (ภาษา​ลาติน) เขา​อธิบาย​ว่า​พระ​เยซู​เป็น ‘พระ​บุตร​ผู้​ได้​รับ​กำเนิด​องค์​เดียว​ซึ่ง​ได้​กำเนิด​มา แต่​ไม่​มี​การ​เริ่ม​ต้น.’ และ​เขา​อธิบาย​อีก​ว่า ‘การ​กำเนิด​ของ​พระองค์​เป็น​แบบ​นิรันดร. พระองค์​ถูก​ทำ​ให้​เป็น​พระ​บุตร​ไม่​ใช่​โดย​การ​ได้​รับ​ลม​หายใจ​แห่ง​ชีวิต ไม่​ใช่​โดย​การ​กระทำ​จาก​ภาย​นอก แต่​โดย​ลักษณะ​เฉพาะ​ของ​พระเจ้า​เอง.’

ออริเกน​ไม่​ได้​พบ​แนว​ความ​คิด​แบบ​นี้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล เพราะ​พระ​คัมภีร์​สอน​ว่า พระ​บุตร​ผู้​ได้​รับ​กำเนิด​องค์​เดียวของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น “ผู้​แรก​ที่​บังเกิด​ก่อน​สรรพสิ่ง​ทรง​สร้าง” และ “เป็น​เบื้อง​ต้น​แห่ง​การ​ทรง​สร้าง​โดย​พระเจ้า.” (โกโลซาย 1:15, ล.ม.; วิวรณ์ 3:14, ล.ม.) ตาม​ที่​เอากุสตุส เนอันเดอร์ นัก​ประวัติศาสตร์​ด้าน​ศาสนา​กล่าว ออริเกน​ได้​แนว​ความ​คิด​เรื่อง “การ​กำเนิด​นิรันดร์” มา​โดย “การ​ศึกษา​ปรัชญา​ใน​สำนัก​เพลโต.” ด้วย​เหตุ​นั้น ออริเกน​ละเมิด​หลักการ​สำคัญ​ของ​พระ​คัมภีร์​ข้อ​นี้​คือ “อย่า​เลย​ขอบ​เขต​สิ่ง​ที่​เขียน​ไว้.”— 1 โกรินโธ 4:6, ล.ม.

ถูก​กล่าว​โทษ​ว่า​เป็น​คน​นอก​รีต

ใน​ช่วง​แรก​ของ​การ​เป็น​ครู ออริเกน​ถูก​สภา​สงฆ์​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย​ถอด​จาก​ฐานะ​บาทหลวง. เรื่อง​นี้​อาจ​เกิด​ขึ้น​เพราะ​บิชอป​ดิมิทริอุส​ริษยา​ที่​ออริเกน​มี​ชื่อเสียง​มาก​ขึ้น​ทุก​ที. ออริเกน​ย้าย​ไป​ปาเลสไตน์ ที่​ซึ่ง​เขา​ยัง​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​เป็น​ผู้​แก้​ต่าง​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​หลัก​คำ​สอน​คริสเตียน และ​ที่​นั่น​เขา​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​บาทหลวง​ต่อ​ไป. ที่​จริง เมื่อ “การ​ออก​หาก” ปะทุ​ขึ้น​ใน​ทาง​ตะวัน​ออก มี​การ​ขอ​ให้​ออริเกน​ช่วย​หา​ทาง​ทำ​ให้​พวก​บิชอป​ที่​หลง​ผิด​กลับ​มา​สู่​หลัก​คำ​สอน​ดั้งเดิม. หลัง​จาก​ออริเกน​สิ้น​ชีวิต​ใน​ปี ส.ศ. 254 ชื่อเสียง​ของ​เขา​กลับ​เสื่อม​เสีย​อย่าง​ยิ่ง. เพราะ​เหตุ​ใด?

หลัง​จาก​ศาสนา​คริสเตียน​ใน​นาม​กลาย​เป็น​ศาสนา​ที่​เด่น สิ่ง​ที่​คริสตจักร​ยอม​รับ​ว่า​เป็น​คำ​สอน​ดั้งเดิม​ก็​ยิ่ง​มี​การ​กำหนด​อย่าง​พิถีพิถัน​มาก​ขึ้น. ฉะนั้น นัก​ศาสนา​รุ่น​หลัง ๆ จึง​ไม่​ยอม​รับ​การ​คาด​คะเน​หลาย​อย่าง​ของ​ออริเกน​และ​บาง​ครั้ง​ก็​ทัศนะ​ทาง​ปรัชญา​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง​ของ​เขา. ดัง​นั้น คำ​สอน​ของ​เขา​จึง​ทำ​ให้​การ​โต้​แย้ง​อัน​เผ็ด​ร้อน​ปะทุ​ขึ้น​ใน​คริสตจักร. ด้วย​ความ​พยายาม​จะ​จัด​การ​กับ​การ​โต้​เถียง​เหล่า​นั้น​และ​รักษา​เอกภาพ​ของ​คริสตจักร​ไว้ คริสตจักร​จึง​ตัดสิน​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ว่า​ออริเกน​เป็น​คน​นอก​รีต.

ออริเกน​ไม่​ใช่​คน​เดียว​ที่​เข้าใจ​ผิด. ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ล่วง​หน้า​ไว้​แล้ว​ถึง​การ​ออก​ไป​จาก​คำ​สอน​อัน​บริสุทธิ์​ของ​พระ​คริสต์. การ​ออก​หาก​เช่น​นี้​เริ่ม​แพร่​หลาย​เมื่อ​ตอน​ใกล้​สิ้น​ศตวรรษ​แรก คือ​หลัง​จาก​เหล่า​อัครสาวก​ของ​พระ​เยซู​สิ้น​ชีวิต. (2 เธซะโลนิเก 2:6, 7) ใน​ที่​สุด บาง​คน​ที่​อ้าง​ว่า​เป็น​คริสเตียน​จึง​ตั้ง​ตัว​เป็น​คริสเตียน “ดั้งเดิม” และ​ประกาศ​ว่า​พวก​อื่น ๆ ล้วน​เป็น “พวก​นอก​รีต.” แต่​ตาม​จริง​แล้ว คริสต์​ศาสนจักร​หันเห​ออก​จาก​ศาสนา​คริสเตียน​แท้​ไป​มาก​ที​เดียว.

“เรียก​ผิด ๆ ว่า ‘ความ​รู้’ ”

ทั้ง ๆ ที่​ออริเกน​มี​ข้อ​คาด​คะเน​มาก​มาย แต่​ผล​งาน​ของ​เขา​ก็​มี​ส่วน​ที่​เป็น​ประโยชน์. ตัว​อย่าง​เช่น เฮกซาพลา คง​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ไว้​ใน​รูป​อักขระ​ฮีบรู​สี่​ตัว​แบบ​เดิม​ที่​เรียก​ว่า เททรากรัมมาทอน. ทั้ง​นี้​จึง​ให้​หลักฐาน​สำคัญ​ว่า​คริสเตียน​รุ่น​แรก​รู้​จัก​และ​ใช้​พระ​นาม​เฉพาะ​ของ​พระเจ้า คือ​ยะโฮวา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม สังฆราช​แห่ง​คริสตจักร​ใน​ศตวรรษ​ที่​ห้า​ชื่อ​เทโอฟีลุส​เคย​เตือน​ไว้​ว่า “ผล​งาน​ของ​ออริเกน​เป็น​เหมือน​ทุ่ง​หญ้า​ที่​มี​ดอกไม้​นานา​ชนิด. ถ้า​ข้าพเจ้า​พบ​ดอกไม้​สวย​สัก​ดอก​ที่​นั่น ข้าพเจ้า​จะ​ถอน​มัน; แต่​ถ้า​มี​สิ่ง​ใด​ที่​ดู​เต็ม​ไป​ด้วย​หนาม​ข้าพเจ้า​ก็​เลี่ยง​ไป​เสีย​ประหนึ่ง​จะ​ถูก​หนาม​ตำ​เอา.”

โดย​เอา​คำ​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ผสมผเส​กับ​ปรัชญา​กรีก ศาสนศาสตร์​ของ​ออริเกน​จึง​เต็ม​ไป​ด้วย​ข้อ​ผิด​พลาด และ​ผล​ของ​การ​ทำ​เช่น​นั้น​เป็น​ภัย​พิบัติ​แก่​คริสต์​ศาสนจักร. ยก​ตัว​อย่าง แม้​ว่า​ส่วน​ใหญ่​ของ​ข้อ​คาด​คะเน​ตาม​อำเภอใจ​ของ​ออริเกน​ถูก​ปฏิเสธ​ใน​เวลา​ต่อ​มา แต่​ทัศนะ​ของ​เขา​เกี่ยว​กับ “การ​กำเนิด​นิรันดร์” ของ​พระ​คริสต์​ก็​ได้​วาง​พื้น​ฐาน​ไว้​แล้ว​สำหรับ​คำ​สอน​เรื่อง​ตรีเอกานุภาพ​ซึ่ง​ไม่​เป็น​ตาม​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล. หนังสือ​คริสตจักร​ใน​สาม​ศตวรรษ​แรก (ภาษา​อังกฤษ) ให้​ข้อ​สังเกต​ดัง​นี้: “แนว​โน้ม​ใน​ทาง​หลัก​ปรัชญา [ที่​ออริเกน​นำ​เข้า​มา] คง​ไม่​จาง​หาย​ไป​ง่าย ๆ.” ผล​เป็น​เช่น​ไร? “ความ​เรียบ​ง่าย​ของ​ความ​เชื่อ​แบบ​คริสเตียน​ถูก​ทำ​ให้​เสื่อม​ทราม และ​ความ​ผิด​พลาด​มาก​มาย​นับ​ไม่​ถ้วน​หลั่งไหล​เข้า​มา​ใน​คริสตจักร.”

สำหรับ​ออริเกน เขา​น่า​จะ​เอา​ใจ​ใส่​คำ​เตือน​สติ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​และ​หลีก​เลี่ยง​การ​ส่ง​เสริม​การ​ออก​หาก​นี้​โดย “หัน​หนี​เสีย​จาก​การ​พูด​ที่​ไร้​สาระ​ซึ่ง​ละเมิด​สิ่ง​บริสุทธิ์​และ​จาก​ข้อ​ขัด​แย้ง​ของ​สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ผิด ๆ ว่า ‘ความ​รู้.’ ” แต่​เนื่อง​จาก​คำ​สอน​ของ​เขา​อาศัย “ความ​รู้” เช่น​นั้น​มาก​เกิน​ไป ออริเกน​จึง “หลง​ไป​จาก​ความ​เชื่อ​นั้น.”—1 ติโมเธียว 6:20, 21, ล.ม.; โกโลซาย 2:8.

[ภาพ​หน้า 31]

‘เฮกซาพลา’ ของ​ออริเกน แสดง​ว่า​มี​การ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Published by permission of the Syndics of Cambridge University Library, T-S 12.182

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 29]

Culver Pictures