จงทำให้ความก้าวหน้าของคุณปรากฏแจ้ง
จงทำให้ความก้าวหน้าของคุณปรากฏแจ้ง
“จงไตร่ตรองสิ่งเหล่านี้ จงฝังตัวในสิ่งเหล่านี้ เพื่อความก้าวหน้าของท่านจะได้ปรากฏแจ้งแก่คนทั้งปวง.”—1 ติโมเธียว 4:15, ล.ม.
1. คุณจะบอกได้อย่างไรว่าผลไม้ชนิดหนึ่งสุกและรับประทานได้แล้วหรือยัง?
ขอให้นึกภาพผลไม้ที่คุณชอบ—มะม่วง, มังคุด, ทุเรียน, หรือผลไม้ชนิดใดก็แล้วแต่. คุณบอกได้ไหมว่าผลไม้นั้นสุกและรับประทานได้แล้วหรือยัง? แน่นอน คุณบอกได้. กลิ่นหอม, สี, และการจับต้องอาจทำให้คุณน้ำลายสอได้เมื่อนึกถึงว่ากำลังจะได้กินผลไม้โปรดนั้น. ทันทีที่ผลไม้นั้นผ่านเข้าไปในปากของคุณ คุณอาจอุทานออกมาด้วยความพอใจ. ฉ่ำจริง ๆ! หวานจัง! ผลไม้นั้นทำให้คุณพอใจยินดีอย่างมาก.
2. ความอาวุโสแสดงออกมาให้เห็นอย่างไร และความอาวุโสมีผลเช่นไรต่อสัมพันธภาพกับคนอื่น?
2 ประสบการณ์ธรรมดาแต่น่ายินดีแบบนี้มีให้ประสบพบเจอในอีกหลาย ๆ แง่ของชีวิต. ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ดังที่เป็นจริงกับผลไม้สุก ความอาวุโสฝ่ายวิญญาณในบุคคลคนหนึ่งก็เห็นได้ชัดด้วยในหลาย ๆ ทาง. เราเห็นความอาวุโสในตัวบุคคลคนหนึ่งเมื่อเราเห็นคนนั้นแสดงความสังเกตเข้าใจ, ความหยั่งเห็นเข้าใจ, สติปัญญา, และคุณลักษณะอื่น ๆ. (โยบ 32:7-9) นับเป็นความยินดีอย่างแน่นอนที่จะคบหาและร่วมงานกับคนที่แสดงคุณลักษณะเช่นนั้นในเจตคติและการกระทำของเขา.—สุภาษิต 13:20.
3. คำพรรณนาของพระเยซูเกี่ยวกับผู้คนในสมัยของพระองค์เผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับความอาวุโส?
3 ในอีกด้านหนึ่ง คนเราอาจเติบโตทางกาย แต่วิธีที่เขาพูดและกระทำอาจเผยให้เห็นว่าเขาไม่อาวุโสทางอารมณ์และฝ่ายวิญญาณ. ยกตัวอย่าง เมื่อตรัสถึงคนชั่วอายุที่ดื้อดึงในสมัยของพระองค์ พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “โยฮันมาก็ไม่ได้กินหรือดื่ม, และเขาว่า, ‘มีผีสิงอยู่.’ ฝ่ายบุตรมนุษย์มาทั้งกินและดื่ม, เขาก็ว่า, ‘นี่เป็นคนกินเติบและดื่มน้ำองุ่นมาก.’ ” แม้ว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่พระเยซูตรัสว่าพวกเขาทำตัวเหมือนกับ “เด็ก” ที่ยังไม่โต. ด้วยเหตุนั้น พระองค์ตรัสอีกว่า “สติปัญญาได้รับการพิสูจน์ว่าชอบธรรม ก็โดยผลแห่งสติปัญญานั้น.”—มัดธาย 11:16-18; 11:19, ล.ม.
4. มีวิธีใดบ้างที่จะทำให้ความก้าวหน้าและความอาวุโสปรากฏแจ้ง?
1 ติโมเธียว 4:15, ล.ม.) ถูกแล้ว ความก้าวหน้าของคริสเตียนสู่ความอาวุโสเป็นเรื่องที่ “ปรากฏแจ้ง” หรือสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน. ความอาวุโสของคริสเตียนเป็นดุจแสงที่ส่องออกไป ไม่ใช่คุณลักษณะที่อยู่ภายในหรือที่ซ่อนอยู่. (มัดธาย 5:14-16) ด้วยเหตุนั้น เราจะพิจารณาวิธีสำคัญสองประการที่อาจทำให้ความก้าวหน้าและความอาวุโสปรากฏแจ้ง: (1) การเติบโตด้านความรู้, ความเข้าใจ, และสติปัญญา; (2) การสำแดงผลแห่งพระวิญญาณ.
4 จากคำตรัสของพระเยซู เราเห็นได้ว่าบุคคลคนหนึ่งมีสติปัญญาแท้หรือไม่—ซึ่งเป็นเครื่องแสดงที่ชัดเจนถึงความอาวุโส—โดยดูได้จากงานที่เขาทำและผลที่เขาก่อให้เกิดขึ้น. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอให้สังเกตคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่มีไปถึงติโมเธียว. หลังจากกล่าวถึงหลายสิ่งที่ติโมเธียวควรมุ่งติดตาม เปาโลกล่าวว่า “จงไตร่ตรองสิ่งเหล่านี้ จงฝังตัวในสิ่งเหล่านี้ เพื่อความก้าวหน้าของท่านจะได้ปรากฏแจ้งแก่คนทั้งปวง.” (ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันใน ความเชื่อและความรู้
5. อาจนิยามคำว่าความอาวุโสอย่างไร?
5 พจนานุกรมส่วนใหญ่พรรณนาความอาวุโสไว้ว่าเป็นสภาพของการพัฒนาเต็มที่, การเติบโตเต็มที่, และการบรรลุถึงสภาวะสุดท้ายหรือมาตรฐานที่พึงปรารถนา. ผลไม้ที่กล่าวถึงในตอนต้นนั้นแก่หรือสุกเมื่อมันเติบโตจนครบวัฏจักรการเติบโตตามธรรมชาติ และรูปลักษณะ, สีสัน, กลิ่น, และรสชาติของมันเปลี่ยนมาถึงขั้นที่ถือว่าเป็นที่พึงปรารถนา. ด้วยเหตุนั้น ความอาวุโสมีความหมายคล้ายคลึงกับความยอดเยี่ยม, ความครบถ้วน, หรือแม้แต่ความสมบูรณ์.—ยะซายา 18:5; มัดธาย 5:45-48; ยาโกโบ 1:4.
6, 7. (ก) อะไรแสดงว่าพระยะโฮวาทรงสนพระทัยอย่างยิ่งในการช่วยผู้นมัสการพระองค์ทุกคนให้ก้าวหน้าสู่ความอาวุโสฝ่ายวิญญาณ? (ข) ความอาวุโสฝ่ายวิญญาณมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอะไร?
6 พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสนพระทัยอย่างยิ่งในการช่วยผู้นมัสการพระองค์ทุกคนให้ก้าวหน้าสู่ความอาวุโสฝ่ายวิญญาณ. เพื่อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว พระองค์โปรดให้มีของประทานอันยอดเยี่ยมภายในประชาคมคริสเตียน. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองเอเฟโซดังนี้: “พระองค์ได้ประทานบางคนให้เป็นอัครสาวก ให้บางคนเป็นผู้พยากรณ์ ให้บางคนเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ ให้บางคนเป็นผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอน โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีกเพื่องานรับใช้ เพื่อการก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์ จนกว่าเราทุกคนบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อและในความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ถึงขนาดซึ่งเป็นของความบริบูรณ์แห่งพระคริสต์; เพื่อเราจะไม่เป็นทารกอีกต่อไป ถูกซัดไปซัดมาเหมือนโดนคลื่นและถูกพาไปทางโน้นบ้างทางนี้บ้างโดยลมแห่งคำสอนทุกอย่างที่อาศัยเล่ห์กลของมนุษย์ โดยใช้ความฉลาดแกมโกงในการคิดหาเรื่องเท็จ.”—เอเฟโซ 4:11-14, ล.ม.
7 ในข้อเหล่านี้ เปาโลอธิบายว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่พระเจ้าโปรดให้มีของประทานฝ่ายวิญญาณอย่างเหลือเฟือในประชาคมนั้นก็เพื่อว่าทุกคนจะ “บรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อและในความรู้ถ่องแท้,” เติบโตเป็น “ผู้ใหญ่เต็มที่,” และมี “ความบริบูรณ์แห่งพระคริสต์.” เมื่อเป็นอย่างนี้เท่านั้นเราจึงจะปลอดภัย ไม่เป็นเหมือนทารกฝ่ายวิญญาณที่ถูกซัดไปซัดมาโดยแนวคิดและคำสอนเท็จ. ด้วยเหตุนั้น เราเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดระหว่างการก้าวหน้าสู่ความอาวุโสฝ่ายคริสเตียนกับการบรรลุ
ถึง “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อและในความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า.” มีหลายจุดในคำแนะนำของเปาโลที่เราควรใส่ใจให้ดี.8. จำเป็นต้องทำเช่นไรจึงจะบรรลุถึง “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ในความเชื่อและความรู้ถ่องแท้?
8 จุดแรก เนื่องจากต้องรักษา “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” คริสเตียนที่อาวุโสต้องมีเอกภาพและความสอดคล้องลงรอยเต็มที่กับเพื่อนร่วมความเชื่อในด้านความเชื่อและความรู้. เขาไม่สนับสนุนหรือยืนกรานในความคิดเห็นส่วนตัวหรือมีแนวคิดเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับความเข้าใจในคัมภีร์ไบเบิล. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขามีความมั่นใจเต็มเปี่ยมในความจริงที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเปิดเผยโดยทางพระบุตร พระเยซูคริสต์ และ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” โดยรับเอาอาหารฝ่ายวิญญาณเป็นประจำซึ่งจัดให้ “ตามเวลาที่สมควร” ไม่ว่าจะเป็นสรรพหนังสือคริสเตียน, การประชุมประชาคม, การประชุมหมวด, การประชุมภาค เราสามารถมั่นใจได้ว่าเราบรรลุถึง “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” กับเพื่อนคริสเตียนในด้านความเชื่อและความรู้.—มัดธาย 24:45, ล.ม.
9. จงอธิบายความหมายของคำว่า “ความเชื่อ” ที่เปาโลใช้ในจดหมายซึ่งท่านเขียนถึงพี่น้องในเมืองเอเฟโซ.
9 จุดที่สอง คำว่า “ความเชื่อ” มิได้หมายถึงความเชื่อมั่นที่คริสเตียนแต่ละคนมี แต่หมายถึงผลรวมทั้งหมดของสิ่งที่เราเชื่อ ‘ความกว้าง, ความยาว, ความสูง, และความลึก’ ของความเชื่อ. (เอเฟโซ 3:18; 4:5; โกโลซาย 1:23; 2:7) อันที่จริง คริสเตียนจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเพื่อนร่วมความเชื่อได้อย่างไรหากเขาเพียงแต่เชื่อหรือยอมรับเฉพาะบางส่วนของ “ความเชื่อ”? ทั้งนี้หมายความว่าเราต้องไม่พอใจเพียงแค่การมีความรู้ในคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิลหรือความรู้เกี่ยวกับความจริงที่ไม่ชัดเจนหรือเพียงบางส่วน. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราควรสนใจในการรับประโยชน์จากการจัดเตรียมทุกอย่างของพระยะโฮวาโดยทางองค์การของพระองค์เพื่อจะขุดลึกลงไปในพระคำของพระองค์. เราต้องพยายามเพื่อจะเข้าใจพระทัยประสงค์และพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างถ่องแท้และอย่างเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้. การทำอย่างนี้หมายรวมถึงการใช้เวลาอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิล, อธิษฐานขอพระเจ้าให้ทรงช่วยเหลือและชี้นำ, เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ, และมีส่วนเต็มที่ในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและช่วยคนให้เป็นสาวก.—สุภาษิต 2:1-5.
10. วลี “จนกว่าเราทุกคนบรรลุถึง” ที่ใช้ในเอเฟโซ 4:13 มีความหมายเช่นไร?
10 จุดที่สาม ก่อนที่เปาโลจะกล่าวถึงเป้าหมายสามประการดังกล่าว ท่านเริ่มด้วยวลีที่ว่า “จนกว่าเราทุกคนบรรลุถึง.” เกี่ยวกับคำว่า “เราทุกคน” คู่มือคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งให้ความหมายไว้ว่า “ไม่ใช่ทั้งหมดแบบต่างคนต่างทำ แต่หมายถึงทั้งหมดด้วยกัน.” กล่าวอีกอย่างคือ เราแต่ละคนควรพยายามตามที่ควรจะทำในการติดตามเป้าหมายที่จะบรรลุความอาวุโสฝ่ายคริสเตียนด้วยกันกับสังคมพี่น้องทั้งสิ้น. ดิ อินเทอร์พรีตเทอส์ ไบเบิล ให้ความเห็นว่า “ความครบถ้วนแห่งความสำเร็จผลฝ่ายวิญญาณไม่อาจบรรลุโดยที่ต่างคนต่างทำ เช่นเดียวกับที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไม่อาจเติบโตจนเต็มขนาดหากร่างกายทั้งหมดไม่เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เป็นอย่างดี.” เปาโลเตือนคริสเตียนชาวเอเฟโซให้ระลึกว่าพวกเขาควรดำเนิน “พร้อมกับสิทธชนทั้งหมด” ในการพยายามเข้าใจความเชื่ออย่างเต็มที่.—เอเฟโซ 3:18ก.
11. (ก) การทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณมิได้มีความหมายเช่นไร? (ข) เราจำเป็นต้องทำเช่นไรเพื่อจะก้าวหน้า?
11 เห็นได้ชัดจากคำพูดของเปาโลว่าการทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การใส่ความรู้เข้าในจิตใจและการมีความรู้มาก ๆ. คริสเตียนอาวุโสไม่ใช่คนที่ทำให้ผู้อื่นประทับใจในความฉลาดหลักแหลมของตน. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “วิถีของผู้ชอบธรรมนั้นเหมือนดังแสงอรุณ, ซึ่งกล้าขึ้นทุกทีจนถึงเที่ยงวัน.” (สุภาษิต 4:18) ถูกแล้ว “วิถี” ต่างหากที่ “กล้าขึ้นทุกที” ไม่ใช่ตัวบุคคล. หากเราพยายามต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อก้าวให้ทันกับความเข้าใจในพระคำของพระเจ้าที่เจิดจ้าขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพระยะโฮวากำลังประทานแก่ไพร่พลของพระองค์ เราจะก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. ในกรณีนี้ การก้าวให้ทันก็คือการก้าวรุดไป และนั่นคือสิ่งที่เราทุกคนทำได้.—บทเพลงสรรเสริญ 97:11; 119:105.
จงสำแดง “ผลแห่งพระวิญญาณ”
12. เหตุใดจึงสำคัญที่จะสำแดงผลแห่งพระวิญญาณขณะที่เราพยายามก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ?
12 ในขณะที่การบรรลุถึง “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อและความรู้ถ่องแท้” เป็นเรื่องสำคัญ ที่นับว่าสำคัญพอ ๆ กันสำหรับเราคือการสำแดงผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้าในทุกแง่มุมของชีวิตเรา. เพราะเหตุใด? ที่เป็นอย่างนี้เพราะความอาวุโสไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายในหรือสิ่งที่ถูกปิดซ่อนไว้ ทว่าเป็นคุณลักษณะที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนซึ่งสามารถให้ประโยชน์และเสริมสร้างผู้อื่น ดังที่เราได้พิจารณากันไปแล้ว. แน่นอน ความพยายามของเราที่จะก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณไม่ได้เป็นเพียงแต่การพยายามวางท่าว่าเป็นผู้มีการศึกษา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ขณะที่เราเติบโตฝ่ายวิญญาณและติดตามการชี้นำจากพระวิญญาณของพระเจ้า จะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งในเจตคติและการกระทำของเรา. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “จงดำเนินตามพระวิญญาณ และท่านจะไม่ได้ประพฤติตามราคะตัณหาของเนื้อหนัง.”—ฆะลาเตีย 5:16.
13. การเปลี่ยนแปลงเช่นไรซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจนแสดงถึงความก้าวหน้า?
13 เปาโลกล่าวต่อไปโดยระบุ “การของเนื้อหนัง” ซึ่งมีหลายอย่างและ “ปรากฏแล้ว.” ก่อนที่ใครคนหนึ่งจะหยั่งรู้ค่าข้อเรียกร้องของพระเจ้า ชีวิตของเขาดำเนินไปตามวิถีของโลกและอาจข้องเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างที่เปาโลกล่าวถึง: “การผิดประเวณี, การโสโครก, การประพฤติหละหลวม, การไหว้รูปเคารพ, การถือผี, การเป็นศัตรูกัน, การต่อสู้, การริษยา, การบันดาลโทสะ, การทุ่มเถียง, การแตกแยก, นิกาย, การอิจฉา, การเมาเหล้ากัน, การเลี้ยงอึกทึก, และการต่าง ๆ ทำนองนั้น.” (ฆะลาเตีย 5:19-21, ล.ม.) แต่เมื่อคนนั้นก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ เขาค่อย ๆ เอาชนะ “การของเนื้อหนัง” อันไม่พึงปรารถนาเหล่านี้และแสดง “ผลแห่งพระวิญญาณ” แทน. การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ภายนอกนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าคนนั้นกำลังก้าวหน้าไปสู่ความอาวุโสฝ่ายคริสเตียน.—ฆะลาเตีย 5:22, ล.ม.
14. จงอธิบายคำว่า “การของเนื้อหนัง” และ “ผลแห่งพระวิญญาณ.”
14 เราควรสังเกตคำสองคำคือ “การของเนื้อหนัง” และ “ผลแห่งพระวิญญาณ.” “การ” คือผลของสิ่งที่คนเราทำ ผลแห่งการกระทำของคนนั้น. กล่าวอีกอย่างคือ สิ่งต่าง ๆ ที่เปาโลระบุว่าเป็นการของเนื้อหนังนั้นคือผลของสิ่งที่คนเราตั้งใจทำหรือไม่ก็เป็นผลมาจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์เรา. (โรม 1:24, 28; 7:21-25) ในอีกด้านหนึ่ง คำ “ผลแห่งพระวิญญาณ” แสดงนัยว่าคุณลักษณะตามที่ระบุไว้นั้นเป็นผลที่เกิดจากการดำเนินกิจของพระวิญญาณของพระเจ้าในตัวบุคคล ไม่ใช่ผลที่เกิดจากความพยายามในการพัฒนาหรือสร้างเสริมบุคลิกภาพ. เช่นเดียวกับที่ต้นไม้จะออกผลเมื่อได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง คนเราจะสำแดงผลแห่ง พระวิญญาณเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ดำเนินกิจในชีวิตเขาอย่างเต็มที่.—บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3.
15. เหตุใดจึงสำคัญที่จะเอาใจใส่คุณลักษณะต่าง ๆ ในทุกด้านของ “ผลแห่งพระวิญญาณ”?
15 อีกจุดหนึ่งที่ควรพิจารณาคือการที่เปาโลใช้คำ “ผล” เพื่อครอบคลุมคุณลักษณะที่พึงปรารถนาทุกอย่างที่ท่านกล่าวถึง. พระวิญญาณไม่ได้ก่อให้เกิดผลหลาย ๆ อย่างเพื่อให้เราเลือกตามที่เราชอบ. คุณลักษณะทุกอย่างที่เปาโลระบุไว้ คือความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, และการรู้จักบังคับตนมีความสำคัญเท่า ๆ กัน และเมื่อรวมกันเข้าก็จะทำให้เกิดบุคลิกภาพใหม่แบบคริสเตียนขึ้นได้. (เอเฟโซ 4:24; โกโลซาย 3:10) ด้วยเหตุนั้น แม้ว่าเราอาจพบว่าคุณลักษณะเหล่านี้บางอย่างเห็นได้ชัดกว่าในชีวิตเราอันเนื่องมาจากบุคลิกภาพและนิสัยของเราเอง แต่นับว่าสำคัญที่เราจะเอาใจใส่คุณลักษณะต่าง ๆ ในทุกด้านที่เปาโลได้กล่าวถึง. ด้วยการทำอย่างนั้น เราจะสะท้อนบุคลิกภาพเยี่ยงพระคริสต์ได้เต็มที่ยิ่งขึ้นในชีวิตเรา.—1 เปโตร 2:12, 21.
16. จุดมุ่งหมายของเราในการพยายามเพื่อจะมีความอาวุโสฝ่ายคริสเตียนคืออะไร และจะบรรลุได้โดยวิธีใด?
16 บทเรียนสำคัญที่เราเรียนรู้ได้จากการพิจารณาของเปาโลคือ ในการพยายามเพื่อจะมีความอาวุโสฝ่ายคริสเตียน จุดมุ่งหมายของเราไม่ใช่เพื่อจะมีความรู้มาก ๆ และเป็นผู้คงแก่เรียน รวมทั้งไม่ใช่เพื่อปลูกฝังบุคลิกภาพให้ดูเป็นผู้ดี. จุดมุ่งหมายของเราคือเพื่อให้พระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินกิจในชีวิตเราอย่างเต็มที่. ความคิดและการกระทำของเราตอบรับการนำของพระวิญญาณของพระเจ้ามากเท่าใด เราก็จะมีความอาวุโสฝ่ายวิญญาณมากเท่านั้น. เราจะบรรลุจุดมุ่งหมายนี้ได้อย่างไร? เราต้องเปิดหัวใจและจิตใจของเราให้พระวิญญาณของพระเจ้าโน้มนำ. การทำอย่างนี้หมายรวมถึงการเข้าร่วมและมีส่วนร่วมเป็นประจำในการประชุมคริสเตียน. นอกจากนี้ เราควรศึกษาและคิดรำพึงในพระคำของพระเจ้าเป็นประจำ ยอมให้หลักการของคัมภีร์ไบเบิลชี้นำเราในการปฏิบัติต่อผู้อื่นตลอดจนการเลือกและการตัดสินใจ. เมื่อเป็นอย่างนั้น ความก้าวหน้าของเราจะปรากฏชัดแน่นอน.
จงทำความก้าวหน้าเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า
17. การทำความก้าวหน้าเกี่ยวข้องอย่างไรกับการถวายพระเกียรติแด่พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา?
17 ในที่สุดแล้ว การทำให้ความก้าวหน้าของเราปรากฏแจ้งนำพระเกียรติและคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวา พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราผู้ทรงทำให้เราสามารถบรรลุซึ่งความอาวุโสฝ่ายวิญญาณ หาได้เป็นการนำเกียรติมาสู่ตัวเราเองไม่. ในคืนก่อนพระเยซูถูกปลงพระชนม์ พระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกว่า “พระบิดาของเราได้รับเกียรติด้วยสิ่งนี้ คือที่เจ้าทั้งหลายเกิดผลมากอยู่เสมอ และพิสูจน์ตัวว่าเป็นสาวกของเรา.” (โยฮัน 15:8, ล.ม.) ทั้งโดยผลแห่งพระวิญญาณและโดยผลแห่งราชอาณาจักรในงานรับใช้ของพวกเขา เหล่าสาวกนำพระเกียรติมาสู่พระยะโฮวา.—กิจการ 11:4, 18; 13:48.
18. (ก) การเกี่ยวอันน่ายินดีอะไรซึ่งกำลังทำกันอยู่ในทุกวันนี้? (ข) การเกี่ยวนี้ก่อให้เกิดข้อท้าทายอะไร?
18 ในทุกวันนี้ พระพรของพระยะโฮวามีเหนือไพร่พลของพระองค์ขณะที่พวกเขาเข้าร่วมในการเกี่ยวฝ่ายวิญญาณทั่วโลก. ปัจจุบัน เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ในทุก ๆ ปีมีคนใหม่ประมาณ 300,000 คนอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและแสดงเครื่องหมายการอุทิศตัวด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ. เรื่องนี้ทำให้เรามีความสุขและไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี. (สุภาษิต 27:11) อย่างไรก็ตาม เพื่อที่เรื่องนี้จะเป็นแหล่งแห่งความยินดีและคำสรรเสริญ แด่พระยะโฮวาต่อ ๆ ไป คนใหม่เหล่านั้นทั้งหมดจำเป็นต้อง “ดำเนินร่วมสามัคคีกับ [พระคริสต์] ต่อ ๆ ไป หยั่งรากและถูกก่อขึ้นในพระองค์ และตั้งมั่นคงในความเชื่อ.” (โกโลซาย 2:6, 7, ล.ม.) การทำอย่างนี้ทำให้เกิดข้อท้าทายสองด้านสำหรับไพร่พลของพระเจ้า. ในด้านหนึ่งนั้น หากคุณเพิ่งรับบัพติสมา คุณจะรับเอาข้อท้าทายที่ให้ทุ่มเทตัวเองเพื่อ ‘ความก้าวหน้าของคุณจะได้ปรากฏแจ้งแก่คนทั้งปวง’ ไหม? ในอีกด้านหนึ่ง หากคุณอยู่ในความจริงมาสักระยะหนึ่งแล้ว คุณจะรับเอาข้อท้าทายเพื่อรับหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของคนใหม่ ๆ ไหม? ไม่ว่าจะกรณีใด เห็นได้ชัดว่ามีความจำเป็นต้องรุดหน้าต่อไปสู่ความอาวุโส.—ฟิลิปปอย 3:16; เฮ็บราย 6:1.
19. สิทธิพิเศษและพระพรอะไรที่คุณจะได้รับหากคุณทำให้ความก้าวหน้าของคุณปรากฏแจ้ง?
19 พระพรอันยอดเยี่ยมรอท่าทุกคนที่พยายามอย่างหนักเพื่อทำให้ความก้าวหน้าของตนปรากฏชัด. ขอให้ระลึกถึงคำกล่าวที่ให้กำลังใจของเปาโลหลังจากที่ท่านกระตุ้นติโมเธียวให้ทำความก้าวหน้าที่ว่า “จงระวังตัวและคำสอนของท่านให้ดี. จงเอาใจจดจ่ออยู่กับการเหล่านี้ เพราะว่าเมื่อกระทำอย่างนี้, ท่านจะช่วยทั้งตัวของท่านและคนทั้งปวงที่ฟังท่านให้รอดได้.” (1 ติโมเธียว 4:16) ด้วยการทำให้ความก้าวหน้าของคุณปรากฏแจ้งอย่างขยันขันแข็ง คุณก็เช่นกันสามารถมีส่วนในสิทธิพิเศษแห่งการถวายพระเกียรติแด่พระนามของพระเจ้าและได้รับพระพรจากพระองค์.
คุณจำได้ไหม?
• เราจะทำให้ความอาวุโสฝ่ายวิญญาณปรากฏชัดได้โดยวิธีใดบ้าง?
• ความรู้และความเข้าใจชนิดใดที่สะท้อนให้เห็นความอาวุโส?
• การแสดง “ผลแห่งพระวิญญาณ” บ่งชี้ถึงความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
• เราควรรับเอาข้อท้าทายอะไรขณะที่เรารุดหน้าต่อไปสู่ความอาวุโส?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 13]
เช่นเดียวกับผลไม้สุก ความอาวุโสเป็นสิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน
[ภาพหน้า 15]
เราทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณโดยก้าวให้ทันกับความจริงที่ได้รับการเปิดเผย
[ภาพหน้า 17]
การอธิษฐานช่วยเราให้แสดง “ผลแห่งพระวิญญาณ”