ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชื่นชมกับประสบการณ์มากมายอันล้ำค่าของฉัน!

ชื่นชมกับประสบการณ์มากมายอันล้ำค่าของฉัน!

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

ชื่นชม​กับ​ประสบการณ์​มาก​มาย​อัน​ล้ำ​ค่า​ของ​ฉัน!

เล่า​โดย​ดรูซิลลา เคน

ตอน​นั้น​เป็น​ปี 1933 และ​ฉัน​เพิ่ง​แต่งงาน​กับ​ซานัว เคน ซึ่ง​ทำ​งาน​อย่าง​เดียว​กับ​ฉัน​คือ​เป็น​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา. ด้วย​ความ​รู้สึก​ตื่นเต้น​ดีใจ ฉัน​วาง​แผน​จะ​ร่วม​สมทบ​กับ​สามี​ทำ​งาน​ที่​เขา​ได้​รับ​มอบหมาย แต่​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้ ฉัน​ต้อง​มี​จักรยาน ซึ่ง​เป็น​สินค้า​ราคา​แพง​ที่​ฉัน​ไม่​อาจ​ซื้อ​หา​มา​ได้​เนื่อง​จาก​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​ยาก​ลำบาก​ระหว่าง​ภาวะ​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ​ครั้ง​ใหญ่. ฉัน​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ดี?

เมื่อ​น้อง​ชาย​สาม​คน​ของ​สามี​รู้​เรื่อง​ความ​ลำบาก​ของ​ฉัน เขา​จึง​ได้​ช่วย​กัน​ค้น​หา​ชิ้น​ส่วน​จักรยาน​เก่า ๆ จาก​กอง​ขยะ​ใกล้​บ้าน​มา​ประกอบ​เป็น​รถ​จักรยาน​ให้​ฉัน. เขา​ทำ​สำเร็จ​แถม​ใช้​การ​ได้​ดี​เสีย​ด้วย! ฉัน​ไม่​รอ​ช้า เริ่ม​หัด​ขี่​จักรยาน​จน​เป็น แล้ว​ซานัว​กับ​ฉัน​จึง​มุ่ง​หน้า​ไป​ตาม​เส้น​ทาง​ของ​เรา เรา​ขี่​จักรยาน​ด้วย​ความ​เบิกบาน​ใจ​ไป​ทั่ว​มณฑล​วูสเตอร์​และ​เฮอร์เรฟอร์ด​ของ​อังกฤษ ให้​คำ​พยาน​แก่​ทุก​คน​ที่​เรา​พบ.

ฉัน​ไม่​ตระหนัก​เลย​ว่า​การ​แสดง​ความ​เชื่อ​แบบ​ง่าย ๆ อย่าง​นี้​จะ​นำ​ไป​สู่​ชีวิต​ซึ่ง​เปี่ยม​ด้วย​ประสบการณ์​อัน​ล้ำ​ค่า. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พ่อ​แม่​ผู้​เป็น​ที่​รัก​ของ​ฉัน​ต่าง​หาก​ได้​วาง​รากฐาน​ชีวิต​ฝ่าย​วิญญาณ​ไว้​ให้.

หลาย​ปี​ที่​ยาก​ลำบาก​ใน​ช่วง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1

ฉัน​เกิด​เดือน​ธันวาคม​ปี 1909. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน​แม่​ได้​หนังสือ​มา​เล่ม​หนึ่ง​ชื่อ​แผนการ​ของ​พระเจ้า​เกี่ยว​กับ​ยุค​ต่าง ๆ (ภาษา​อังกฤษ) และ​ใน​ปี 1914 พ่อ​กับ​แม่​พา​ฉัน​ไป​ชม “ภาพยนตร์​เรื่อง​การ​ทรง​สร้าง” ที่​เมือง​โอลแดม แลงคาเชียร์. (ทั้ง​หนังสือ​และ​ภาพยนตร์​ผลิต​โดย​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ใน​ปัจจุบัน​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา.) แม้​อยู่​ใน​วัย​เยาว์ แต่​ฉัน​จำ​ได้​ว่า​ระหว่าง​เดิน​กลับ​บ้าน​ฉัน​กระโดด​โลด​เต้น​ด้วย​ความ​ดีใจ​ที่​ได้​ชม​ภาพยนตร์​เรื่อง​นี้! ตอน​นั้น​แฟรงก์ ฮีลีย์​เริ่ม​ตั้ง​กลุ่ม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​เมือง​รอชเดล​ที่​เรา​อยู่. การ​เข้า​ร่วม​กลุ่ม​ศึกษา​เสริม​สร้าง​พวก​เรา​ใน​ฐานะ​ครอบครัว​ให้​มี​ความ​รู้​ความ​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์​มาก​ขึ้น.

ความ​สงบ​สุข​ใน​ชีวิต​ของ​เรา​พลัน​แตก​สลาย​ใน​ปี​เดียว​กัน​เมื่อ​เกิด​สงคราม​ใหญ่—ตอน​นี้​เรา​เรียก​ว่า​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง. พ่อ​ถูก​เกณฑ์​เป็น​ทหาร​แต่​ท่าน​ยึด​จุด​ยืน​แห่ง​ความ​เป็น​กลาง. พ่อ​ได้​รับ​สมญา​ใน​ศาล​ว่า “คน​ดี​มี​คุณธรรม” และ​ตาม​ที่​หนังสือ​พิมพ์​ท้องถิ่น​ได้​รายงาน จดหมาย​หลาย​ฉบับ​ที่​ถูก​นำ​เสนอ​ต่อ​ศาล​มา​จาก “บรรดา​สุภาพ​ชน​ที่​กล่าว​ว่า​พวก​ตน​เชื่อ​ความ​จริง​ใจ​ของ​ตัว​เอง​ด้วย​การ​ไม่​ยอม​จับ​อาวุธ.”

อย่าง​ไร​ก็​ดี แทน​ที่​พ่อ​จะ​ได้​รับ​การ​ยก​เว้น​ทั้ง​หมด พ่อ​ได้​รับ​หนังสือ​ลง​ทะเบียน​ยก​เว้น “เฉพาะ​ปฏิบัติการ​หน่วย​รบ.” ท่าน​ตก​เป็น​เป้า​การ​เยาะเย้ย​ทันที แม่​กับ​ฉัน​ก็​เป็น​เช่น​เดียว​กัน. ใน​ที่​สุด ประเด็น​การ​จัด​แบ่ง​ประเภท​ประชาชน​ได้​ถูก​นำ​ขึ้น​มา​ทบทวน​ใหม่ และ​พ่อ​ถูก​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​ด้าน​การ​เกษตร แต่​เกษตรกร​บาง​คน​ฉวย​ประโยชน์​ขูดรีด​และ​จ่าย​เงิน​ให้​พ่อ​เพียง​เล็ก​น้อย​หรือ​ไม่​จ่าย​เลย. เพื่อ​ช่วย​จุนเจือ​ครอบครัว แม่​ทำ​งาน​หนัก​ที่​ร้าน​รับ​ซัก​รีด​เพื่อ​แลก​ค่า​จ้าง​นิด ๆ หน่อย ๆ. กระนั้น มา​ตอน​นี้​ฉัน​จึง​เข้าใจ​ว่า​ช่าง​เป็น​การ​เสริม​กำลัง​ฉัน​ให้​เข้มแข็ง​เพียง​ใด​ที่​ได้​ใช้​เวลา​หลาย​ปี​ใน​ช่วง​ที่​กำลัง​เติบโต​รับมือ​กับ​สถานการณ์​อัน​ยาก​ลำบาก​เช่น​นั้น ซึ่ง​ทำ​ให้​ฉัน​หยั่ง​รู้​ค่า​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​สำคัญ​กว่า.

การ​เริ่ม​ต้น​ใน​ขอบ​เขต​ย่อม ๆ

ใน​ไม่​ช้า แดเนียล ฮิวส์ นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​กระตือรือร้น ได้​เข้า​มา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​พวก​เรา. เขา​ทำ​งาน​ใน​เหมือง​ถ่าน​หิน​ที่​หมู่​บ้าน​รัว​บอน ห่าง​จาก​เมือง​ออสเวสทรี​ประมาณ 20 กิโลเมตร​เศษ ๆ ซึ่ง​เป็น​หมู่​บ้าน​ที่​พวก​เรา​ได้​ย้าย​ไป​อยู่. ที่​ฉัน​เรียก​เขา​ว่า​ลุง​แดน​เพราะ​ความ​รัก​นับถือ เขา​รู้​จัก​มัก​คุ้น​กับ​ครอบครัว​ของ​เรา และ​เมื่อ​เขา​มา​เยี่ยม​ก็​มัก​จะ​คุย​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​เสมอ. เขา​ไม่​เคย​พูด​เรื่อง​สัพเพเหระ. กลุ่ม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เริ่ม​มี​ขึ้น​ที่​เมือง​ออสเวสทรี​ใน​ปี 1920 และ​ลุง​แดน​มอบ​หนังสือ​พิณ​ของ​พระเจ้า (ภาษา​อังกฤษ) แก่​ฉัน​ใน​ปี 1921. ฉัน​เก็บ​รักษา​หนังสือ​นี้​ดุจ​สมบัติ​ล้ำ​ค่า​เพราะ​มัน​ช่วย​ฉัน​ให้​เข้าใจ​หลัก​คำ​สอน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​ง่าย​ขึ้น.

นอก​จาก​นั้น​ยัง​มี​ไพรซ์ ฮิวส์ * ต่อ​มา​ได้​เป็น​ผู้​ดู​แล​ผู้​เป็น​ประธาน​สำนักงาน​สาขา​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ลอนดอน. เขา​อยู่​กับ​ครอบครัว​ใกล้​เมือง​บรอนิการ์ท ตรง​ชายแดน​แคว้น​เวลส์ และ​พี่​สาว​ของ​เขา​ชื่อ​ซิสซี ซึ่ง​กลาย​เป็น​เพื่อน​สนิท​กับ​แม่​ของ​ฉัน.

ฉัน​จำ​ได้​ถึง​ความ​รู้สึก​ตื่นเต้น​เมื่อ​มี​การ​ชวน​ให้ ‘โฆษณา​พระ​มหา​กษัตริย์​และ​ราชอาณาจักร​ของ​พระองค์.’ ระหว่าง​หลาย​ปี​หลัง​จาก​นั้น แม้​ฉัน​ยัง​อยู่​ใน​ระหว่าง​เรียน​หนังสือ ฉัน​ร่วม​งาน​แจก​แผ่น​พับ​ฉบับ​พิเศษ​อย่าง​กระตือรือร้น โดย​เฉพาะ​เรื่อง​นัก​เทศน์​นัก​บวช​ถูก​ฟ้องร้อง (ภาษา​อังกฤษ) ใน​ปี 1924. เมื่อ​มอง​ย้อน​หลัง​ไป​ใน​ทศวรรษ​นั้น นับ​ว่า​เป็น​โอกาส​ดี​เสีย​นี่​กระไร​ที่​ได้​ติด​ต่อ​คบหา​กับ​บรรดา​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ผู้​ซื่อ​สัตย์​มาก​มาย​หลาย​คน เป็น​ต้น​ว่า ม็อด คลาร์ก * และ​แมรี แกรนต์ * เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​เธอ, เอดการ์ เคลย์, * โรเบิร์ต แฮดลิงตัน, แคที โรเบิตส์, เอดวิน สกินเนอร์, * พร้อม​ด้วย​เพอร์ซี แชปแมน​และ​แจ็ก นาทาน, * บุคคล​ทั้ง​สอง​ได้​ไป​ถึง​ประเทศ​แคนาดา​เพื่อ​สนับสนุน​การ​งาน​ที่​นั่น.

คำ​บรรยาย​ที่​ยึด​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก​เรื่อง “หลาย​ล้าน​คน​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​เวลา​นี้​จะ​ไม่​ตาย​เลย” ปรากฏ​ว่า​เป็น​การ​ให้​คำ​พยาน​ที่​ทัน​กาล​ใน​เขต​งาน​อัน​กว้าง​ไพศาล​ของ​เรา. วัน​ที่ 14 พฤษภาคม 1922 สแตนลีย์ โรเจอส์ ญาติ​ของ​ไพรซ์ ฮิวส์​มา​จาก​ลิเวอร์พูล และ​บรรยาย​เรื่อง​นี้ ณ หมู่​บ้าน​เชิร์ก ซึ่ง​อยู่​ทาง​ทิศ​เหนือ​ติด​กับ​เมือง​ของ​เรา และ​ต่อ​มา​ใน​เย็น​วัน​นั้น​ได้​มี​การ​บรรยาย​ที่​โรง​ภาพยนตร์​ใน​เมือง​ออสเวสทรี. ฉัน​ยัง​คง​เก็บ​รักษา​ใบ​ปลิว​ไว้​แผ่น​หนึ่ง​ซึ่ง​พิมพ์​ขึ้น​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​การ​บรรยาย​ครั้ง​นั้น. ตลอด​ช่วง​นั้น เรา​ซึ่ง​เป็น​เพียง​กลุ่ม​เล็ก ๆ ได้​รับ​การ​หนุน​กำลัง​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​จาก​การ​เยี่ยม​ของ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​สาม​คน ซึ่ง​เรา​เคย​เรียก​พวก​เขา​ว่า​พิลกริม (ผู้​ท่อง​เที่ยว​ออก​ไป​สั่ง​สอน) ได้​แก่​เฮอร์เบิร์ต ซีเนียร์, อัลเบิร์ต ลอยด์, และ​จอห์น บลานีย์.

ถึง​เวลา​ที่​ต้อง​ตัดสิน​ใจ

ปี 1929 ฉัน​ตัดสิน​ใจ​รับ​บัพติสมา. อายุ​ฉัน 19 ปี​และ​เวลา​เดียว​กัน​นั้น​ฉัน​เผชิญ​การ​ทดลอง​หนัก​หนา​จริง ๆ เป็น​ครั้ง​แรก. ฉัน​ได้​รู้​จัก​ชาย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​บิดา​เป็น​นัก​การ​เมือง. เรา​สอง​คน​รักใคร่​ชอบ​พอ​กัน และ​เขา​ขอ​ฉัน​แต่งงานด้วย. ปี​ก่อน​หน้า​นั้น มี​หนังสือ​ออก​ใหม่​ชื่อ​รัฐบาล (ภาษา​อังกฤษ) และ​ฉัน​ให้​หนังสือ​เล่ม​นี้​แก่​เขา. แต่​จาก​นั้น​ไม่​นาน เขา​ดู​ท่า​ไม่​ค่อย​สนใจ​รัฐบาล​ฝ่าย​สวรรค์​อัน​เป็น​สาระ​สำคัญ​ของ​หนังสือ​นั้น. จาก​การ​ที่​ได้​ศึกษา ฉัน​จึง​รู้​ว่า​พระเจ้า​ทรง​บัญชา​ห้าม​ชน​ชาติ​ยิศราเอล​โบราณ​สมรส​กับ​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ และ​หลัก​ปฏิบัติ​นี้​ก็​นำ​มา​ใช้​กับ​คริสเตียน​เช่น​เดียว​กัน. ด้วย​เหตุ​นี้ แม้​หัก​ใจ​ได้​ยาก แต่​ฉัน​ก็​บอก​ปัด​ข้อ​เสนอ​ของ​เขา​ไป.—พระ​บัญญัติ 7:3; 2 โกรินโธ 6:14, ล.ม.

ฉัน​ได้​พลัง​จาก​ถ้อย​คำ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ที่​ว่า “อย่า​ให้​เรา​เลิก​รา​ใน​การ​ทำ​สิ่ง​ที่​ดี​งาม เพราะ​เรา​จะ​เก็บ​เกี่ยว​ผล​ใน​เวลา​อัน​ควร​ถ้า​เรา​ไม่​เลื่อยล้า.” (ฆะลาเตีย 6:9, ล.ม.) ลุง​แดน​ที่​ฉัน​รัก​ยัง​คอย​ให้​กำลังใจ​ฉัน​อีก​ด้วย เขา​เขียน​ดัง​นี้: “ไม่​ว่า​จะ​มี​ทุกข์​มี​สุข​มาก​น้อย​เพียง​ใด จง​ใช้​หลักการ​ใน​พระ​ธรรม​โรม​บท 8 ข้อ 28 (ล.ม.) ที่​ว่า “บัด​นี้​เรา​ทราบ​ว่า พระเจ้า​ทรง​กระทำ​ให้​การ​งาน​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระองค์​ร่วม​ประสาน​กัน​เพื่อ​เป็น​ผล​ดี​แก่​คน​เหล่า​นั้น​ที่​รัก​พระเจ้า คือ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ถูก​เรียก​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์.” มัน​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย แต่​ฉัน​รู้​ว่า​ฉัน​ตัดสิน​ใจ​ถูก​ต้อง​แล้ว. ปี​นั้น​เอง​ฉัน​สมัคร​เป็น​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา.

เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย

ปี 1931 เรา​ได้​ชื่อ​ใหม่​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา และ​ปี​นั้น​เรา​มุ่ง​รณรงค์​อย่าง​ขันแข็ง​ด้วย​การ​ใช้​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ราชอาณาจักร​เป็น​ความ​หวัง​ของ​โลก. (ภาษา​อังกฤษ) บรรดา​นัก​การ​เมือง, นัก​ศาสนา, และ​นัก​ธุรกิจ​ต่าง​ก็​ได้​รับ​แจก​คน​ละ​เล่ม. เขต​งาน​ของ​ฉัน​กว้าง​ไกล​จาก​เมือง​ออสเวสทรี​จน​ถึง​เมือง​เรกซ์แฮม ห่าง​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​ประมาณ 25 กิโลเมตร. นับ​ว่า​เป็น​ภารกิจ​ที่​ยาก​พอ​สม​ควร​กว่า​จะ​เสร็จ​ทั่ว​ถึง.

ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​เมือง​เบอร์มิงแฮม​ใน​ปี​ถัด​ไป มี​ความ​ต้องการ​อาสา​สมัคร 24 คน. ด้วย​ใจ​แรง​กล้า พวก​เรา 24 คน​ส่ง​ราย​ชื่อ​อาสา​ทำ​งาน​รับใช้​ลักษณะ​ใหม่ ทั้ง​ที่​ไม่​รู้​ว่า​เป็น​งาน​ประเภท​ใด. ลอง​วาด​มโนภาพ​ความ​ประหลาด​ใจ​ของ​เรา​ว่า​มี​มาก​ขนาด​ไหน​เมื่อ​ถูก​มอบหมาย​ให้​ออก​ทำ​งาน​เป็น​คู่ ๆ เสนอ​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​เดียว​กัน​นั้น​ที่​ชื่อ​ว่า​ราชอาณาจักร​เป็น​ความ​หวัง​ของ​โลก ขณะ​เดียว​กัน​ก็​แขวน​แผ่น​ป้าย​หนัก​ประกบ​หน้า​หลัง​โฆษณา​ราชอาณาจักร.

เมื่อ​ทำ​งาน​ใน​ละแวก​ใกล้​มหา​วิหาร ฉัน​รู้สึก​ประหม่า​เนื่อง​จาก​ผู้​คน​เฝ้า​มอง​ฉัน​อยู่ แต่​ก็​คิด​ปลอบ​ใจ​ตัว​เอง​ว่า​ไม่​มี​ใคร​ใน​เมือง​นี้​รู้​จัก​ฉัน. แต่​คน​แรก​ที่​เข้า​มา​ทัก​คือ​เพื่อน​เก่า​สมัย​เป็น​นัก​เรียน เธอ​เอา​แต่​จ้อง​ไม่​วาง​ตา​แถม​พูด​ว่า “อะไร​กัน​นี่ แต่ง​ตัว​แบบ​นี้​ได้​อย่าง​ไร?” ประสบการณ์​ครั้ง​นั้น​ช่วย​ฉัน​เอา​ชนะ​การ​กลัว​มนุษย์​ไม่​ว่า​ใคร​ก็​ตาม​ที่​ฉัน​อาจ​เจอ!

รุด​หน้า​ต่อ​ไป​ใน​ที่​ห่าง​ไกล

ปี 1933 ฉัน​สมรส​กับ​ซานัว พ่อ​ม่าย​อายุ​มาก​กว่า​ฉัน 25 ปี. ภรรยา​คน​แรก​ของ​เขา​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ที่​กระตือรือร้น และ​หลัง​จาก​เธอ​เสีย​ชีวิต ซานัว​ยัง​คง​อยู่​ใน​งาน​มอบหมาย​ของ​เขา​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์​มา​โดย​ตลอด. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น เรา​ย้าย​จาก​อังกฤษ​ไป​เขต​งาน​ใหม่​ของ​เรา​ใน​แคว้น​นอร์ทเวลส์ ไกล​ออก​ไป​ประมาณ 150 กิโลเมตร. เรา​จัด​วาง​หีบ​ห่อ, กระเป๋า​เสื้อ​ผ้า, และ​สัมภาระ​อื่น ๆ ที่​มี​ค่า​ไว้​ที่​คัน​บังคับ​เลี้ยว​ของ​รถ​จักรยาน มัน​ตั้ง​สูง​เสีย​จน​น่า​กลัว​ว่า​จะ​พัง​ลง​มา และ​ที่​แกน​ระหว่าง​อาน​กับ​ล้อ​หน้า​ก็​มี​ของ​อัด​อยู่​เต็ม แถม​ยัด​ของ​ใส่​ลง​ไป​จน​แน่น​กระเป๋า​ที่​พาด​คร่อม​ล้อ​หลัง แต่​เรา​ก็​ไป​ถึง​ปลาย​ทาง​โดย​สวัสดิภาพ! ณ เขต​งาน​มอบหมาย​นั้น จักรยาน​ของ​เรา​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​ซึ่ง​จะ​ขาด​เสีย​ไม่​ได้—เรา​ขี่​รถ​ไป​ทุก​หน​ทุก​แห่ง กระทั่ง​เกือบ​ถึง​ยอด​เขา​คาเดอร์ ไอดริส ใน​แคว้น​เวลส์ ซึ่ง​สูง​ประมาณ 3,000 ฟุต. การ​ได้​พบ​ผู้​คน​ซึ่ง​กระหาย​อยาก​ฟัง “ข่าว​ดี​แห่ง​ราชอาณาจักร​นี้” นับ​เป็น​การ​ตอบ​แทน​ที่​ยัง​ความ​ชื่น​ใจ​อย่าง​แท้​จริง.—มัดธาย 24:14, ล.ม.

เรา​อยู่​ที่​นั่น​ได้​ไม่​นาน​เท่า​ไร ผู้​คน​ก็​บอก​เรา​ว่า​มี​ชาย​ผู้​หนึ่ง​ชื่อ​ทอม ไพรซ์​เคย​เผยแพร่​ข่าวสาร​อย่าง​เดียว​กับ​ที่​พวก​เรา​ทำ​อยู่. ใน​ที่​สุด​เรา​ก็​หา​ทอม​พบ เขา​อยู่​ที่​ลองเมาน์เทน ใกล้​เวลช์พูล การ​พบ​กัน​ครั้ง​นี้​ยัง​ความ​ประหลาด​ใจ​แก่​เรา​จริง ๆ! ใน​สมัย​แรก ๆ ที่​ฉัน​ให้​คำ​พยาน ฉัน​มอบ​คู่มือ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ชื่อ​การ​คืน​ดี (ภาษา​อังกฤษ) ไว้​กับ​เขา. เขา​ศึกษา​ค้นคว้า​ด้วย​ตน​เอง เขา​เขียน​จดหมาย​ไป​ที่​ลอนดอน​ขอ​รับ​สรรพหนังสือ​อีก​หลาย​อย่าง และ​ตั้ง​แต่​นั้น​ก็​เข้า​ร่วม​อย่าง​กระตือรือร้น​ใน​งาน​บอก​กล่าว​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ที่​เขา​เพิ่ง​ค้น​พบ. เรา​เพลิดเพลิน​กับ​มิตรภาพ​อัน​น่า​ชื่น​ใจ​นาน​หลาย​ชั่วโมง และ​เรา​สาม​คน​ร่วม​การ​ศึกษา​ด้วย​กัน​บ่อย ๆ เพื่อ​ให้​การ​หนุน​ใจ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน.

ภัย​พิบัติ​นำ​ไป​สู่​พระ​พร

ใน​ปี 1934 ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ทุก​คน​ที่​อยู่​ใกล้​แคว้น​นอร์ทเวลส์​ได้​รับ​เชิญ​ไป​ที่​เมือง​เรกซ์แฮม​ให้​ช่วย​กัน​แจก​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ชื่อ​ผู้​ปกครอง​ที่​ชอบธรรม (ภาษา​อังกฤษ). หนึ่ง​วัน​ก่อน​เรา​เริ่ม​รณรงค์​ครั้ง​พิเศษ​นี้​ได้​เกิด​พิบัติ​ภัย​ร้ายแรง​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ประเทศ. เหมือง​ถ่าน​หิน​เกรสฟอร์ด​ซึ่ง​อยู่​เหนือ​เมือง​เรกซ์แฮม​ขึ้น​ไป​สาม​กิโลเมตร​เกิด​ระเบิด​ขึ้น เป็น​เหตุ​ให้​คน​งาน​เหมือง 266 คน​เสีย​ชีวิต. เด็ก 200 กว่า​คน​กำพร้า​พ่อ และ​ผู้​หญิง 160 คน​กลาย​เป็น​ม่าย.

พวก​เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​จัด​ทำ​ราย​ชื่อ​บุคคล​ที่​เป็น​ทุกข์​โศก​เศร้า, ไป​เยี่ยม​เขา​เป็น​ส่วน​ตัว, และ​แจก​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ให้​เขา. หนึ่ง​ใน​ราย​ชื่อ​เหล่า​นี้​ซึ่ง​ฉัน​ได้​รับ​คือ​นาง​แชดวิก เธอ​สูญ​เสีย​ลูก​ชาย​วัย 19 ปี. ตอน​ที่​ฉัน​แวะ​ไป​เยี่ยม แจ็ก​ลูก​ชาย​คน​โต​ของ​เธอ​มา​เยี่ยม​และ​ปลอบ​ประโลม​เธอ​อยู่​พอ​ดี. ชาย​หนุ่ม​คน​นี้​จำ​ฉัน​ได้ ทว่า​ไม่​ได้​บอก. เขา​อ่าน​หนังสือ​เล่ม​นั้น​ใน​เวลา​ต่อ​มา แล้ว​ค้น​หา​อ่าน​อีก​เล่ม​หนึ่ง​ชื่อ​สงคราม​ขั้น​สุด​ท้าย (ภาษา​อังกฤษ) ซึ่ง​ฉัน​เคย​ให้​เขา​ไว้​เมื่อ​หลาย​ปี​ก่อน.

เมื่อ​แจ็ก​พร้อม​กับ​เมย์​ภรรยา​ของ​เขา​รู้​ว่า​ฉัน​พัก​อยู่​ที่​ไหน จึง​มา​ขอ​รับ​หนังสือ​ไป​อ่าน​อีก​หลาย​เล่ม. ปี 1936 คน​ทั้ง​สอง​ตก​ลง​ใจ​จัด​การ​ประชุม​ขึ้น​ภาย​ใน​บ้าน​ของ​เขา​ที่​เรกซ์แฮม. หก​เดือน​ต่อ​มา อัลเบิร์ต ลอยด์​มา​เยี่ยม ต่อ​จาก​นั้น​จึง​ได้​มี​การ​จัด​ตั้ง​ประชาคม โดย​มี​แจ็ก แชดวิก​เป็น​ผู้​ดู​แล​ผู้​เป็น​ประธาน. เวลา​นี้​มี​สาม​ประชาคม​ใน​เรกซ์แฮม.

ชีวิต​ใน​รถ​พ่วง​แบบ​ยิปซี

จวบ​จน​ถึง​เวลา​นั้น ขณะ​ที่​เรา​ย้าย​ไป​ยัง​ที่​ต่าง ๆ พัก​อาศัย​ตาม​ที่​ซึ่ง​เรา​พอ​จะ​หา​ได้ แต่​ซานัว​ตัดสิน​ใจ​ว่า​ถึง​เวลา​ที่​เรา​ควร​มี​บ้าน​เป็น​ของ​ตัว​เอง บ้าน​ที่​เรา​สามารถ​พ่วง​และ​ลาก​จูง​จาก​ที่​หนึ่ง​ไป​อีก​ที่​หนึ่ง​ได้. สามี​ฉัน​เป็น​ช่าง​ไม้​ฝีมือ​ดี​สืบ​ทอด​จาก​บรรพบุรุษ​ชาว​ยิปซี และ​เขา​ได้​สร้าง​บ้าน​รถ​พ่วง​แบบ​ยิปซี​พอ​ที่​เรา​จะ​อยู่​ได้. เรา​ตั้ง​ชื่อ​พาหนะ​ของ​เรา​ว่า​เอลิซาเบท ชื่อ​นี้​ได้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​หมาย​ถึง “พระเจ้า​แห่ง​ความ​อุดม​สมบูรณ์.”

ฉัน​จำ​ที่​ซึ่ง​เรา​เคย​พัก​แห่ง​หนึ่ง​ได้​ดี​เป็น​พิเศษ ที่​นั่น​เป็น​สวน​ผลไม้​อยู่​ติด​ลำธาร. สำหรับ​ฉัน​แล้ว มัน​คือ​สภาพ​อุทยาน​ดี ๆ นี่​เอง! ไม่​มี​สิ่ง​ใด​ขัด​ขวาง​ความ​สุข​ของ​เรา​ตลอด​หลาย​ปี​ที่​อยู่​ด้วย​กัน​ใน​รถ​พ่วง​คัน​นี้ แม้​คับแคบ​และ​มี​เครื่อง​เรือน​เพียง​ไม่​กี่​ชิ้น. ยาม​สภาพ​อากาศ​หนาว​เย็น​มาก ๆ จน​ผ้า​ห่ม​มัก​จะ​เย็น​จน​แข็ง​ติด​ผนัง​ข้าง​รถ​ที​เดียว และ​น้ำ​ที่​หยด​ลง​มา​แข็งตัว​บน​พื้น​ก็​เป็น​ปัญหา​อยู่​เนือง ๆ. ยิ่ง​กว่า​นั้น เรา​ต้อง​ออก​ไป​หิ้ว​น้ำ​มา​ใช้ บาง​ครั้ง​เป็น​ระยะ​ทาง​ไกล แต่​เรา​ก็​เอา​ชนะ​ความ​ยาก​ลำบาก​เหล่า​นี้​ด้วย​กัน.

ช่วง​ฤดู​หนาว​ปี​หนึ่ง​ฉัน​ล้ม​ป่วย​และ​เรา​มี​อาหาร​นิด​หน่อย​และ​ไม่​มี​เงิน. ซานัว​นั่ง​ลง​ที่​เตียง กุม​มือ​ฉัน​ไว้​และ​อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 37:25 ให้​ฉัน​ฟัง​ว่า “ตั้ง​แต่​ข้าพเจ้า​เป็น​คน​หนุ่ม, จน​บัด​นี้​เป็น​คน​ชรา​แล้ว; ข้าพเจ้า​ก็​ยัง​ไม่​เคย​เห็น​คน​สัตย์​ธรรม​ต้อง​ถูก​ละ​ทิ้ง​เสีย, ไม่​เคย​เห็น​พงศ์พันธุ์​ของ​เขา​ขอ​ทาน.” เขา​จ้อง​หน้า​ฉัน​พลาง​พูด​ว่า “ถ้า​เร็ว ๆ นี้​ไม่​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น เรา​คง​ต้อง​ขอ​ทาน​กระมัง แต่​ผม​ไม่​เห็น​ว่า​พระเจ้า​จะ​ทรง​ยอม​ให้​สิ่ง​นี้​เกิด​ขึ้น!” ครั้น​แล้ว​เขา​ก็​ออก​ไป​ประกาศ​ให้​คำ​พยาน​แก่​เพื่อน​บ้าน​ของ​เรา.

เมื่อ​ซานัว​กลับ​มา​ตอน​เที่ยง​วัน​เพื่อ​จัด​เครื่อง​ดื่ม​ให้​ฉัน ก็​มี​ซอง​จดหมาย​รอ​อยู่​แล้ว. นั่น​คือ​จดหมาย​จาก​พ่อ​ของ​เขา​พร้อม​กับ​เงิน 50 ปอนด์​แนบ​มา​ด้วย. หลาย​ปี​ก่อน​หน้า​นี้​ซานัว​ถูก​ฟ้อง​ด้วย​ข้อ​หา​ยักยอก​ทรัพย์ แต่​เขา​เพิ่ง​ได้​รับ​การ​พิสูจน์​ว่า​ไม่​มี​ความ​ผิด. รางวัล​ก้อน​นี้​จึง​เป็น​การ​ชด​ใช้​ให้. ช่าง​เหมาะ​กับ​สถานการณ์​เสีย​จริง ๆ!

บทเรียน​ที่​เอื้อ​ประโยชน์

บาง​ครั้ง​เรา​ได้​เรียน​บทเรียน​หลัง​จาก​เวลา​ล่วง​ผ่าน​ไป​หลาย​ปี. ยก​ตัว​อย่าง ก่อน​ออก​โรง​เรียน​ปี 1927 ฉัน​เคย​ให้​คำ​พยาน​แก่​เพื่อน​นัก​เรียน​ทุก​คน​ใน​ชั้น​รวม​ทั้ง​บรรดา​ครู​ทั้ง​หลาย ยก​เว้น​ครู​ลาวีเนีย แฟร์คลอ. เนื่อง​จาก​ไม่​มี​ใคร​สนใจ​แผนการ​ที่​ฉัน​จะ​ทำ​ใน​ชีวิต อีก​อย่าง​หนึ่ง​ฉัน​กับ​ครู​แฟร์คลอ​ก็​ไม่​ค่อย​กิน​เส้น​กัน ฉัน​จึง​ตัดสิน​ใจ​ไม่​บอก​เธอ. ลอง​นึก​ภาพ​ความ​ประหลาด​ใจ​ระคน​ความ​ดีใจ​ของ​ฉัน​ซิ ประมาณ 20 ปี​ต่อ​มา เมื่อ​แม่​บอก​ฉัน​ว่า​ครู​คน​นี้​กลับ​มา​แวะ​เยี่ยม​เพื่อน​และ​ศิษย์​เก่า​เพื่อ​ประกาศ​ตัว​ว่า​เวลา​นี้​เธอ​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​แล้ว!

เมื่อ​พบ​ครู ฉัน​จึง​ได้​ชี้​แจง​เหตุ​ผล​ที่​ตอน​นั้น​ไม่​ได้​บอก​ครู​เกี่ยว​ด้วย​ความ​เชื่อ​ของ​ฉัน​รวม​ไป​ถึง​อาชีพ​การ​งาน​ตาม​แผนการ​ที่​วาง​ไว้. ครู​ฟัง​อย่าง​สงบ​แล้ว​พูด​ว่า “ครู​เอง​ได้​แสวง​หา​ความ​จริง​อยู่​เสมอ. ครู​สืบ​เสาะ​หา​สิ่ง​นี้​มา​ตลอด​ชีวิต​ที​เดียว!” ประสบการณ์​นี้​ให้​บทเรียน​ที่​เป็น​ประโยชน์​แก่​ฉัน​คือ อย่า​ได้​ยับยั้ง​การ​ให้​คำ​พยาน​แก่​ทุก ๆ คน​ที่​ฉัน​เจอะ​เจอ และ​อย่า​ตัดสิน​คน​หนึ่ง​คน​ใด​ล่วง​หน้า.

สงคราม​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​และ​ชีวิต​ของ​ฉัน​ต่อ​จาก​นั้น

เมฆ​หมอก​แห่ง​สงคราม​เริ่ม​ก่อ​ตัว​ขึ้น​อีก​ครั้ง​ใน​ช่วง​ใกล้​สิ้น​ทศวรรษ 1930. เดนนิส​น้อง​ชาย​อายุ​น้อย​กว่า​ฉัน​สิบ​ปี​ได้​รับ​การ​ยก​เว้น​เข้า​รับ​ราชการ​ทหาร​ด้วย​เงื่อนไข​ที่​ว่า​เขา​ยัง​จะ​ทำ​งาน​อาชีพ​ของ​เขา​ต่อ​ไป. เขา​ไม่​เคย​แสดง​ความ​สนใจ​ความ​จริง​มาก​เท่า​ใด ดัง​นั้น ฉัน​กับ​สามี​จึง​ขอ​ให้​ไพโอเนียร์​ใน​ท้องถิ่น​คือ​รูเพิร์ต แบรดเบอรีย์​พร้อม​กับ​เดวิด​น้อง​ชาย​ไป​แวะ​เยี่ยม​เดนนิส. คน​ทั้ง​สอง​ได้​ไป​และ​นำ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​เขา. เดนนิส​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1942 หลัง​จาก​นั้น​ได้​รับใช้​ใน​ฐานะ​ไพโอเนียร์ และ​ถูก​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​ใน​ปี 1957.

เอลิซาเบท ลูก​สาว​ของ​เรา​เกิด​ปี 1938 และ​เพื่อ​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​ครอบครัว ซานัว​จึง​ขยาย​รถ​พ่วง​ของ​เรา​ให้​ใหญ่​กว่า​เดิม. เมื่อ​ยูนีซ​ลูก​สาว​คน​ที่​สอง​ของ​เรา​เกิด​ใน​ปี 1942 เรา​เห็น​สม​ควร​ว่า​น่า​จะ​มี​บ้าน​เป็น​ที่​เป็น​ทาง​สัก​หลัง. ด้วย​เหตุ​ผล​นี้​เอง ซานัว​จึง​พัก​งาน​ไพโอเนียร์​สอง​สาม​ปี และ​เรา​ย้าย​เข้า​ไป​อยู่​ใน​บ้าน​ขนาด​ย่อม​ใกล้​เมือง​เรกซ์แฮม. ต่อ​มา​ได้​ปัก​หลัก​อยู่​ใน​มิดลิจ เมือง​เล็ก ๆ ติด​กับ​เขต​เชสเชียร์. สามี​ที่​รัก​ของ​ฉัน​เสีย​ชีวิต​ที่​เมือง​นี้​ใน​ปี 1956.

ลูก​สาว​สอง​คน​ของ​เรา​เป็น​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา และ​ทั้ง​คู่​แต่งงาน​มี​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​สุข. ยูนีซ​กับ​สามี​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ปกครอง​ยัง​คง​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​พิเศษ​ใน​กรุง​ลอนดอน. สามี​ของ​เอลิซาเบท​ก็​เช่น​กัน​ได้​รับใช้​ฐานะ​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม และ​เป็น​ที่​น่า​ยินดี​ที่​ฉัน​มี​โอกาส​อยู่​ใกล้​ลูก​รวม​ทั้ง​หลาน ๆ และ​เหลน​สี่​คน​ใน​เมือง​เพรสตัน มณฑล​แลงคาเชียร์.

ฉัน​ดีใจ​ที่​ฉัน​สามารถ​เดิน​จาก​ประตู​ด้าน​หน้า​อพาร์ตเมนต์​ข้าม​ถนน​ไป​ยัง​หอ​ประชุม​ที่​อยู่​อีก​ฟาก​ถนน​ได้. ปี​หลัง ๆ นี้​ฉัน​เข้า​ร่วม​กลุ่ม​ที่​พูด​ภาษา​กูจาราตี​ซึ่ง​ร่วม​ประชุม​ที่​นั่น​ด้วย. การ​เรียน​ภาษา​ไม่​สู้​จะ​ง่าย​นัก เพราะ​ตอน​นี้​หู​ฉัน​ตึง​ไป​บ้าง. บาง​ครั้ง​ก็​ยาก​ที่​จะ​จับ​สรรพสำเนียง​แผ่ว​เบา​ได้​ดี​เท่า​หนุ่ม ๆ สาว ๆ. แต่​ก็​เป็น​ข้อ​ท้าทาย​ที่​น่า​สนใจ.

ฉัน​ยัง​สามารถ​ออก​ไป​ทำ​งาน​เผยแพร่​ตาม​บ้าน​เรือน​ได้​และ​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ที่​บ้าน​ของ​ฉัน. เมื่อ​เพื่อน ๆ แวะ​มา​เยี่ยม มัก​จะ​เป็น​เวลา​อัน​น่า​ปีติ​ยินดี​สำหรับ​ฉัน​เสมอ​ที่​จะ​เล่า​ประสบการณ์​ต่าง ๆ ที่​ผ่าน​มา​ใน​อดีต. ฉัน​ชื่นชม​เหลือ​เกิน​ที่​มี​ประสบการณ์​อัน​ล้ำ​ค่า​ใน​อดีต​เกี่ยว​กับ​พระ​พร​นานา​ประการ​ที่​ฉัน​ได้​รับ​ตลอด​มา​เกือบ 90 ปี​ที่​ติด​ต่อ​คบหา​กับ​ไพร่พล​ของ​พระ​ยะโฮวา.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 “ก้าว​ไป​กับ​องค์การ​ที่​ซื่อ​สัตย์” เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง​ของ​ไพรซ์ ฮิวส์ ลง​ใน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ​วัน​ที่ 1 เมษายน 1963.

^ วรรค 14 เรื่อง​ราว​ใน​ชีวิต​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​ของ​พระ​ยะโฮวา​เคย​ลง​ใน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ฉบับ​ต่าง ๆ เมื่อ​หลาย​ปี​มา​แล้ว.

^ วรรค 14 เรื่อง​ราว​ใน​ชีวิต​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​ของ​พระ​ยะโฮวา​เคย​ลง​ใน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ฉบับ​ต่าง ๆ เมื่อ​หลาย​ปี​มา​แล้ว.

^ วรรค 14 เรื่อง​ราว​ใน​ชีวิต​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​ของ​พระ​ยะโฮวา​เคย​ลง​ใน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ฉบับ​ต่าง ๆ เมื่อ​หลาย​ปี​มา​แล้ว.

^ วรรค 14 เรื่อง​ราว​ใน​ชีวิต​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​ของ​พระ​ยะโฮวา​เคย​ลง​ใน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ฉบับ​ต่าง ๆ เมื่อ​หลาย​ปี​มา​แล้ว.

^ วรรค 14 เรื่อง​ราว​ใน​ชีวิต​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​ของ​พระ​ยะโฮวา​เคย​ลง​ใน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ฉบับ​ต่าง ๆ เมื่อ​หลาย​ปี​มา​แล้ว.

[ภาพ​หน้า 25]

ใบ​ปลิว​โฆษณา​ปาฐกถา​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​เรื่อง “หลาย​ล้าน​คน​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​เวลา​นี้​จะ​ไม่​ตาย​เลย” ซึ่ง​ฉัน​ได้​ฟัง​เมื่อ​วัน​ที่ 14 พฤษภาคม 1922

[ภาพ​หน้า 26]

กับ​ซานัว​ไม่​นาน​หลัง​การ​สมรส​ของ​เรา​ใน​ปี 1933

[ภาพ​หน้า 26]

ยืน​อยู่​ข้าง “เอลิซาเบท” รถ​พ่วง​ที่​สามี​ของ​ฉัน​สร้าง​ขึ้น​เอง