เหตุใดจึงเชื่ออย่างที่คุณเชื่อ?
เหตุใดจึงเชื่ออย่างที่คุณเชื่อ?
การเชื่อในอะไรบางอย่างหมายถึงการยอมรับว่าสิ่งนั้นถูกต้อง, แน่นอน, หรือแท้จริง. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติปกป้อง “สิทธิ” ของทุกคนที่จะมี “เสรีภาพในเรื่องความคิด, มโนธรรมและศาสนา.” สิทธินี้ครอบคลุมถึงเสรีภาพ “ที่จะเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ” หากเขาต้องการทำเช่นนั้น.
แต่ทำไมใคร ๆ จะต้องการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อของตนล่ะ? คนทั่วไปมีทัศนะที่ว่า “ฉันมีความเชื่อของฉันอย่างนี้และก็พอใจกับความเชื่อนั้นอยู่แล้ว.” หลายคนรู้สึกว่า แม้แต่ความเชื่อที่ผิด ๆ ก็แทบจะไม่ก่อผลเสียหายกับใคร ๆ เลย. ตัวอย่างเช่น บางคนที่เชื่อว่าโลกแบนคงจะไม่ได้ทำให้ตัวเองหรือใครอื่นเสียหาย. บางคนกล่าวว่า “เราน่าจะยอมรับว่า แต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นต่างกันและไม่ควรจะเถียงกัน.” นั่นเป็นทัศนะที่สุขุมเสมอไปไหม? แพทย์จะเพียงแค่ยอมรับความเห็นที่ต่างออกไปของเพื่อนร่วมงานไหมหากเพื่อนคนนั้นยังไม่เลิกความคิดที่ว่า หลังจากจับต้องศพในห้องดับจิตแล้ว เขาจะตรงไปตรวจคนไข้ในห้องตรวจโรคของโรงพยาบาลได้เลย?
เมื่อมาถึงเรื่องศาสนา ความเชื่อที่ผิดได้ก่อความเสียหายมหันต์ตลอดประวัติศาสตร์. ขอให้คิดถึงความสยดสยองที่เกิดขึ้นเมื่อผู้นำศาสนา “ได้ปลุกเร้าผู้คลั่งศาสนาที่เป็นคริสเตียนให้ใช้ความรุนแรงอย่างไร้ความปรานี” ระหว่างช่วงที่เรียกกันว่าสงครามครูเสดอันศักดิ์สิทธิ์ในยุคกลาง. หรือไม่ก็ให้คิดถึงมือปืน “คริสเตียน” สมัยใหม่ในสงครามกลางเมืองไม่นานมานี้ผู้ซึ่ง “ได้ติดภาพของแม่พระไว้บนด้ามปืนของเขา เหมือนนักรบในยุคกลางที่มีชื่อของนักบุญอยู่บนด้ามดาบของตน.” บรรดาผู้คลั่งศาสนาเหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาถูกต้อง. กระนั้น ก็เห็นได้ชัดว่ามีบางอย่างที่ผิดพลาดไปอย่างยิ่งในการต่อสู้เหล่านี้และการต่อสู้อื่น ๆ ทางศาสนา.
ทำไมจึงมีความวุ่นวายและการต่อสู้กันมากเหลือเกิน? คำตอบจากคัมภีร์ไบเบิลก็คือซาตานพญามาร “ชักนำแผ่นดินโลกทั้งสิ้นที่มีคนอาศัยอยู่ให้หลง.” (วิวรณ์ 12:9, ล.ม.; 2 โกรินโธ 4:4; 11:3) อัครสาวกเปาโลได้เตือนว่า ผู้คนที่เคร่งศาสนาจำนวนมากจะ “ถูกกำหนดให้สูญสิ้นไป” อย่างน่าเศร้า เพราะพวกเขาจะถูกหลอกลวงโดยซาตาน ผู้ซึ่งจะ “ก่อให้เกิดการอัศจรรย์และสิ่งแปลกประหลาดซึ่งมุ่งหมายจะหลอกลวง.” เปาโลกล่าวว่า คนเช่นนั้น “ปิดจิตใจของเขา ไว้จากการรักความจริงซึ่งจะช่วยเขาให้รอดได้” และด้วยเหตุนี้จะ ‘ถูกหลอกให้เชื่อเรื่องโกหก.’ (2 เธซะโลนิเก 2:9-12, พระคริสตธรรมใหม่ [ภาษาอังกฤษ] โดยวิลเลียม บาร์เคลย์) คุณจะทำให้เป็นไปได้น้อยที่สุดที่จะเชื่อเรื่องโกหกได้อย่างไร? ที่จริง ทำไมคุณจึงเชื่ออย่างที่คุณเชื่ออยู่?
ได้รับการอบรมสั่งสอนให้เชื่อหรือ?
บางทีคุณได้รับการอบรมสั่งสอนตามความเชื่อของครอบครัวคุณ. นั่นอาจเป็นเรื่องดีทีเดียว. พระเจ้าทรงประสงค์ให้บิดามารดาสอนบุตรของตน. (พระบัญญัติ 6:4-9; 11:18-21) ตัวอย่างเช่น ชายหนุ่มติโมเธียวได้รับประโยชน์อย่างมากมายจากการฟังมารดาและยายของเขา. (2 ติโมเธียว 1:5; 3:14, 15) พระคัมภีร์สนับสนุนให้แสดงความนับถือต่อสิ่งที่บิดามารดาเชื่อ. (สุภาษิต 1:8; เอเฟโซ 6:1) แต่พระผู้สร้างทรงมุ่งหมายให้คุณเชื่อสิ่งต่าง ๆ เพียงเพราะบิดามารดาของคุณเชื่อสิ่งเหล่านั้นไหม? ที่จริง การยึดมั่นกับสิ่งที่คนรุ่นก่อน ๆ เชื่อและทำ โดยไม่ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนนั้นอาจเป็นอันตรายได้.—บทเพลงสรรเสริญ 78:8; อาโมศ 2:4.
หญิงชาวซะมาเรียซึ่งพบพระเยซูคริสต์ได้รับการอบรมสั่งสอนให้เชื่อในศาสนาซะมาเรียของเธอ. (โยฮัน 4:20) พระเยซูทรงนับถือเสรีภาพของเธอที่จะเลือกสิ่งที่เธอต้องการเชื่อ แต่พระองค์ทรงชี้แจงแก่เธอด้วยว่า “ซึ่งพวกเจ้านมัสการนั้นเจ้าไม่รู้จัก.” ที่จริง ความเชื่อทางศาสนาของเธอหลายอย่างเป็นความเข้าใจผิด และพระองค์ทรงแจ้งว่า เธอจะต้องเปลี่ยนแปลงความเชื่อของเธอเพื่อจะนมัสการพระเจ้าอย่างเป็นที่ยอมรับได้คือ “ด้วยวิญญาณและความจริง.” แทนที่จะยึดติดกับสิ่งที่เป็นความเชื่อซึ่งถือว่ามีค่าอย่างไม่ต้องสงสัย ในที่สุดเธอและคนอื่นที่เป็นเหมือนเธอจะต้อง “เชื่อฟังความเชื่อ” ซึ่งมีการเปิดเผยโดยทางพระเยซูคริสต์.—โยฮัน 4:21-24, 39-41, ล.ม.; กิจการ 6:7, ล.ม.
ถูกสอนให้เชื่อเรื่องนั้นหรือ?
ผู้สอนและผู้เชี่ยวชาญหลายคนในแวดวงความรู้ด้านต่าง ๆ สมควรได้รับความนับถืออย่างยิ่ง. กระนั้น ประวัติศาสตร์ก็เต็มไปด้วยตัวอย่างของผู้สอนที่มีชื่อเสียงโด่งดังซึ่งสอนผิดอย่างสิ้นเชิง. ตัวอย่างเช่น เกี่ยวกับหนังสือทางวิทยาศาสตร์สองเล่มที่เขียนโดยอาริสโตเติล นักปรัชญากรีกนั้น นักประวัติศาสตร์เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์กล่าวว่า “แทบจะไม่มีสักประโยคเดียวในหนังสือแต่ละเล่มจะเป็นที่ยอมรับได้ในมุมมองของวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบัน.” แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญสมัยใหม่บ่อยครั้งก็ยังลงความเห็นที่ผิดถนัด. “เครื่องบินหนักกว่าอากาศ บินไม่ได้หรอก” เป็นคำยืนยันด้วยความมั่นใจของลอร์ดเคลวิน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษในปี 1895. เพราะฉะนั้น บุคคลที่ฉลาดย่อมไม่หลับหูหลับตาเชื่อว่าอะไรบางอย่างเป็นความจริงเพียงเพราะผู้สอนที่เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าเป็นเช่นนั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 146:3.
จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเดียวกันเมื่อมาถึงเรื่องการศึกษาในด้านศาสนา. อัครสาวกเปาโลได้รับการศึกษาอย่างดีจากครูสอนศาสนาของท่านและ “มีใจร้อนรน . . . มากในเรื่องราวของบรรพบุรุษ [ของท่าน]” อย่างยิ่ง. อย่างไรก็ตาม ความร้อนรนของท่านที่มีต่อความเชื่อตามประเพณีของบรรพบุรุษนั้นก่อปัญหาให้ท่านอย่างแท้จริง. ความร้อนรนนั้นชักนำท่านให้ “ข่มเหงคริสตจักรของพระเจ้ามากเหลือเกิน, และได้ทำร้ายพวกนั้น.” (ฆะลาเตีย 1:13, 14; โยฮัน 16:2, 3) ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น เปาโลได้ “ถีบประตัก” อยู่เป็นเวลานาน โดยต่อต้านอิทธิพลที่น่าจะชักนำท่านให้เชื่อในพระเยซูคริสต์. พระเยซูเองต้องแทรกแซงครั้งใหญ่เพื่อกระตุ้นเปาโลให้ปรับเปลี่ยนความเชื่อของตน.—กิจการ 9:1-6; 26:14.
ได้รับอิทธิพลจากสื่อมวลชน
บางทีสื่อมวลชนได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อของคุณ. ผู้คนส่วนใหญ่ยินดีที่มีเสรีภาพในการพูดในวงการสื่อมวลชน ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่อาจเป็นประโยชน์ได้. อย่างไรก็ตาม มีอิทธิพลต่าง ๆ อันมีพลังซึ่งอาจควบคุมสื่อมวลชนและก็เป็นเช่นนั้นอยู่บ่อย ๆ. เรื่องที่มีการเสนอบ่อยครั้งเป็นข้อมูลที่ลำเอียงซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความคิดคุณโดยไม่ทันรู้ตัว.
นอกจากนี้ เพื่อจะดึงดูดชวนใจผู้อ่านหรือผู้ชมจำนวนมากขึ้น สื่อมวลชนมักจะโฆษณาเผยแพร่สิ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจยะซายา 5:20; 1 โกรินโธ 6:9, 10.
และเป็นเรื่องผิดปกติ. เรื่องที่แทบจะไม่อนุญาตให้สาธารณชนฟังหรืออ่านเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในทุกวันนี้. มาตรฐานความประพฤติอันเป็นที่ยอมรับถูกโจมตีและถูกเซาะกร่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป. ความคิดของผู้คนค่อย ๆ ถูกทำให้ผิดเพี้ยนไป. พวกเขาเริ่มคิดว่า ‘ชั่วเป็นดี, และดีเป็นชั่ว.’—การพบพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับความเชื่อ
การสร้างความเชื่อขึ้นบนแนวคิดและปรัชญาต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นเหมือนการสร้างเรือนไว้บนทราย. (มัดธาย 7:26; 1 โกรินโธ 1:19, 20) ถ้าเช่นนั้น คุณจะให้ความเชื่อของคุณตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไรที่จะมั่นใจได้? เนื่องจากพระเจ้าได้ทรงประทานความสามารถทางปัญญาให้คุณที่จะตรวจสอบดูโลกรอบ ๆ ตัวและถามคำถามต่าง ๆ ในเรื่องความเชื่อทางศาสนา จึงเป็นที่เข้าใจได้มิใช่หรือว่า พระองค์จะทรงจัดเตรียมวิธีได้รับคำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามของคุณด้วย? (1 โยฮัน 5:20) ใช่ พระองค์จะทรงจัดเตรียมให้แน่นอน! แต่คุณจะพิสูจน์ว่าอะไรถูกต้อง, แน่นอน, หรือแท้จริงในเรื่องการนมัสการได้อย่างไร? เราไม่ลังเลที่จะกล่าวว่าคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าจัดเตรียมพื้นฐานอย่างเดียวเท่านั้นสำหรับการทำเช่นนี้.—โยฮัน 17:17; 2 ติโมเธียว 3:16, 17.
บางคนจะกล่าวว่า “แต่เดี๋ยวก่อน กลุ่มคนที่มีคัมภีร์ไบเบิลนั่นแหละที่เป็นเหตุให้มีการต่อสู้และความวุ่นวายส่วนใหญ่ในเหตุการณ์ของโลกมิใช่หรือ?” เป็นความจริงที่ผู้นำศาสนาซึ่งอ้างว่าปฏิบัติตามคัมภีร์ไบเบิลได้ก่อให้เกิดแนวคิดที่สับสนและขัดแย้งกันมากมาย. ที่จริง นี่เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้ให้ความเชื่อของตนอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. อัครสาวกเปโตรพรรณนาถึงพวกเขาว่าเป็น “ผู้พยากรณ์เท็จ” และ “ผู้สอนเท็จ” ซึ่งจะทำให้เกิด “นิกายที่ก่อความพินาศ.” เปโตรกล่าวว่า ผลจากการกระทำของพวกเขา “ทางแห่งความจริงจะถูกกล่าวร้าย.” (2 เปโตร 2:1, 2, ล.ม.) ถึงกระนั้น เปโตรเขียนว่า “เรามีคำกล่าวเชิงพยากรณ์ที่แน่นอนยิ่งขึ้น; และท่านทั้งหลายกำลังทำดีในการเอาใจใส่คำกล่าวนั้นเสมือนตะเกียงส่องสว่างในที่มืด.”—2 เปโตร 1:19, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 119:105.
คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้ตรวจสอบความเชื่อของเราโดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน. (1 โยฮัน 4:1) ผู้อ่านวารสารนี้หลายล้านคนสามารถพิสูจน์ว่าการทำเช่นนั้นได้เพิ่มจุดมุ่งหมายและความมั่นคงให้กับชีวิตของพวกเขา. ดังนั้น ขอให้เป็นเหมือนชาวเบรอยะที่มีจิตใจสูง. จง “ตรวจค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบทุก ๆ วัน” ก่อนคุณตัดสินใจว่าจะเชื่ออะไร. (กิจการ 17:11, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาจะยินดีช่วยคุณในการตรวจสอบ. แน่นอน คุณต้องการเชื่ออะไรนั้นเป็นการตัดสินใจของคุณเอง. อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นแนวทางแห่งสติปัญญาที่จะทำให้แน่ชัดว่าความเชื่อของคุณถูกก่อขึ้น ไม่ใช่โดยปัญญาและความปรารถนาของมนุษย์ แต่โดยพระคำแห่งความจริงของพระเจ้าที่ได้รับการเปิดเผย.—1 เธซะโลนิเก 2:13; 5:21.
[ภาพหน้า 6]
คุณจะมั่นใจได้โดยให้ความเชื่อของคุณอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก