ชัยชนะที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ
ชัยชนะที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ
พยานพระยะโฮวาในเยอรมนีได้รับชัยชนะครั้งสำคัญ ณ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐในเมืองคาร์ลซรูเฮ. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาได้ดำเนินการขั้นสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำให้พวกเขาเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย.
พยานพระยะโฮวาได้ดำเนินงานเผยแพร่ในเยอรมนีมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว. พวกเขาได้รอดพ้นจากการข่มเหงที่รุนแรงโดยการปกครองแบบเผด็จการสองระบอบในศตวรรษที่ 20—การปกครองระบอบสังคมนิยมแห่งชาติและระบอบคอมมิวนิสต์. ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา พวกพยานฯ ได้พยายามหาทางจะได้การรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายในฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน. หลังจากได้ชัยชนะจากสองศาลและการกลับคำพิพากษาจากศาลหนึ่งแล้ว พยานฯ ได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ ซึ่งได้ประกาศคำตัดสินเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2000.
คำตัดสินเป็นเอกฉันท์สำหรับพยานพระยะโฮวา
ผู้พิพากษาทั้งเจ็ดคนของศาลนี้ได้ตัดสินชี้ขาดให้พวกพยานฯ เป็นฝ่ายชนะ. ผู้พิพากษาได้พลิกคำตัดสินปี 1997 โดยศาลฝ่ายปกครองแห่งสหพันธรัฐและสั่งให้ศาลนั้นพิจารณาคำร้องโดยพยานฯ ใหม่อีกครั้ง.
ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐได้ใช้โอกาสนั้นแสดงความคิดเห็นในเรื่องความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างรัฐกับกลุ่มศาสนา. จริง ๆ แล้ว สถานภาพของศาสนา “ได้รับการกำหนด ไม่ใช่โดยหลักข้อเชื่อ แต่โดยพฤติกรรมของศาสนานั้น ๆ.”
ศาลยังให้ข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อพวกพยานฯ รักษา “ความเป็นกลางแบบคริสเตียน” นั้น พวกเขา “ไม่ได้โจมตีหลักประชาธิปไตย” และ “ไม่ประสงค์จะเอาการปกครองรูปแบบอื่นมาแทนที่ระบอบประชาธิปไตย.” ฉะนั้น ไม่ควรถือเอาการไม่เข้าร่วมในการเลือกตั้งทางการเมืองมาเป็นเหตุที่จะยับยั้งพวกพยานฯ เมื่อพวกเขาร้องขอเพื่อได้รับการรับรองว่าถูกต้องตามกฎหมาย.—โยฮัน 18:36; โรม 13:1.
ศาลได้ให้อรรถาธิบายต่อไปว่า—ไม่ว่าพยานฯ หรือคนในศาสนาอื่น—บางครั้งอาจพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่คำสั่งของรัฐขัดกับข้อเรียกร้องในศาสนาของตน. หากคนเราปฏิบัติตามสติรู้สึกผิดชอบของตนโดย “เชื่อฟังหลักศาสนายิ่งกว่ากฎหมาย” รัฐก็อาจถือว่าการกระทำดังกล่าวชอบด้วยเหตุผลและอยู่ภายในขอบเขตแห่งเสรีภาพทางศาสนา.—กิจการ 5:29.
คำตัดสินชี้ขาดของศาลกลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่. หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในเยอรมนีมีรายงานข่าวเรื่องนี้. สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุใหญ่ ๆ ทั้งหมดออกอากาศรายงานหรือไม่ก็การสัมภาษณ์เรื่องนี้. ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยที่พระนามยะโฮวาได้รับการโฆษณาอย่างกว้างขวางเช่นนี้ในเยอรมนี.
[ที่มาของภาพหน้า 8]
AP Photo/Daniel Maurer