‘จงแสวงหาสันติสุขและติดตามสันติสุขนั้น’
‘จงแสวงหาสันติสุขและติดตามสันติสุขนั้น’
“หากเป็นได้ เท่าที่ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลาย จงสร้างสันติกับคนทั้งปวง.”—โรม 12:18, ล.ม.
1, 2. อะไรคือเหตุผลบางประการที่สันติภาพซึ่งมนุษย์ทำให้เกิดขึ้นไม่ยั่งยืน?
ขอให้นึกภาพบ้านหลังหนึ่งที่ฐานรากไม่มั่นคง, คานผุ, และหลังคายุบ. คุณอยากย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนี้ไหม? คงจะไม่. แม้แต่จะทาสีใหม่ก็คงไม่เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่าบ้านหลังนี้โครงสร้างไม่ดี. ไม่ช้าก็เร็ว มันคงจะพังลงมาแน่.
2 สันติภาพใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในโลกนี้เป็นเหมือนกับบ้านหลังดังกล่าว. สันติภาพของโลกถูกสร้างขึ้นบนรากฐานที่ไม่มั่นคง คือบนรากฐานของคำสัญญาและแผนการของมนุษย์ “ที่ช่วยให้รอดไม่ได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 146:3) ประวัติศาสตร์เผยให้เห็นกรณีพิพาทระหว่างชาติ, กลุ่มชาติพันธุ์, และเผ่าชนที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ามากมาย. จริงอยู่ มีช่วงสั้น ๆ บางช่วงที่มีสันติภาพ แต่เป็นสันติภาพแบบไหน? หากชาติสองชาติทำสงครามกันแล้วก็ประกาศสันติภาพ ถ้าไม่ใช่เพราะชาติหนึ่งพ่ายแพ้ก็เพราะทั้งสองชาติมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะสู้รบกันต่อไป สันติภาพที่ประกาศออกมานี้เป็นสันติภาพแบบไหน? ความเกลียดชัง, ความสงสัยแคลงใจ, และความอิจฉาริษยาที่จุดชนวนให้เกิดสงครามก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม. สันติภาพแต่เพียงเปลือกนอก ซึ่งเป็นเหมือนสีที่ทาทับความเป็นปฏิปักษ์เอาไว้ ไม่ใช่สันติภาพถาวร.—ยะเอศเคล 13:10.
3. เหตุใดสันติสุขของไพร่พลพระเจ้าจึงต่างไปจากสันติสุขที่มนุษย์ทำให้เกิดขึ้น?
3 อย่างไรก็ตาม สันติสุขแท้มีอยู่ในโลกนี้ที่คุกรุ่นด้วยภัยสงคราม. มีอยู่ที่ไหน? ในท่ามกลางคริสเตียนแท้ผู้ติดตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเอาใจใส่คำตรัสของพระเยซูและพยายามเลียนแบบแนวทางชีวิตของพระองค์. (1 โกรินโธ 11:1; 1 เปโตร 2:21) สันติสุขที่มีอยู่ท่ามกลางคริสเตียนแท้ต่างเชื้อชาติ, ต่างสัญชาติ, และต่างฐานะทางสังคมเป็นสันติสุขแท้เพราะมีต้นกำเนิดมาจากสัมพันธภาพอันเปี่ยมด้วยสันติสุขซึ่งพวกเขามีกับพระเจ้า—สัมพันธภาพที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อของพวกเขาในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์. สันติสุขของพวกเขาเป็นของประทานจากพระเจ้า ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความพยายามของมนุษย์. (โรม 15:33; เอเฟโซ 6:23, 24) สันติสุขนี้เป็นผลจากการที่พวกเขาอ่อนน้อมอยู่ภายใต้ “องค์สันติราช” คือพระเยซูคริสต์ และนมัสการพระยะโฮวา “พระเจ้าแห่งความรักและสันติสุข.”—ยะซายา 9:6; 2 โกรินโธ 13:11, ฉบับแปลใหม่.
4. คริสเตียน “ติดตาม” สันติสุขโดยวิธีใด?
4 สันติสุขไม่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ไม่สมบูรณ์โดยอัตโนมัติ. ด้วยเหตุนั้น เปโตรกล่าวว่าคริสเตียนแต่ละคนควร “แสวงหาสันติสุขและติดตามสันติสุขนั้น.” (1 เปโตร 3:11) เราจะทำอย่างนั้นได้โดยวิธีใด? คำพยากรณ์โบราณข้อหนึ่งชี้คำตอบ. พระยะโฮวาตรัสโดยทางยะซายาดังนี้: “บุตรทั้งสิ้นของเจ้าจะเป็นบุคคลที่ได้รับการสั่งสอนจากพระยะโฮวา และสันติสุขแห่งเหล่าบุตรของเจ้าจะมีบริบูรณ์.” (ยะซายา 54:13, ล.ม.; ฟิลิปปอย 4:9) ใช่แล้ว สันติสุขแท้เกิดขึ้นกับผู้ที่เอาใจใส่สิ่งที่พระยะโฮวาทรงสอน. นอกจากนั้น ควบคู่ไปกับ “ความรัก, ความยินดี, . . . ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับ ตน” สันติสุขเป็นผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) สันติสุขไม่อาจเกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีความรัก, ไม่ยินดี, ไม่อดกลั้น, ไม่กรุณา, ชั่วร้าย, ขาดความเชื่อ, ดุร้าย, หรือไม่รู้จักบังคับตน.
“จงสร้างสันติกับคนทั้งปวง”
5, 6. (ก) มีความแตกต่างเช่นไรระหว่างการมีสันติกับการสร้างสันติ? (ข) คริสเตียนพยายามสร้างสันติกับใคร?
5 พจนานุกรมนิยามคำสันติไว้ว่า “ความสงบ.” คำนิยามดังกล่าวครอบคลุมถึงภาวการณ์หลายอย่างเมื่อไม่มีการต่อสู้ชิงดีชิงเด่นกัน. ที่จริง แม้แต่คนตายก็อยู่ในสภาพสงบ! อย่างไรก็ตาม เพื่อจะมีสันติแท้คนเราจำเป็นต้องไม่เพียงแต่รักความสงบ. ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูตรัสว่า “ความสุขมีแก่ผู้สร้างสันติ เพราะเขาจะได้ชื่อว่า ‘บุตรของพระเจ้า.’ ” (มัดธาย 5:9, ล.ม.) พระเยซูตรัสถึงบุคคลซึ่งในภายหลังจะมีโอกาสได้เป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าและรับชีวิตอมตะในสวรรค์. (โยฮัน 1:12; โรม 8:14-17) และในที่สุด มนุษยชาติที่ซื่อสัตย์ทั้งหมดที่ไม่มีความหวังฝ่ายสวรรค์จะได้รับ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.” (โรม 8:21, ล.ม.) เฉพาะคนที่สร้างสันติสามารถมีความหวังเช่นนั้น. บ่อยครั้ง มีข้อแตกต่างระหว่างการมีสันติหรือความสุขสงบกับการสร้างสันติ. การสร้างสันติตามที่ใช้ในพระคัมภีร์มีนัยความหมายบ่งบอกถึงการลงมือทำเพื่อส่งเสริมสันติสุข บางครั้งเป็นการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในที่ซึ่งก่อนหน้านั้นยังขาดอยู่.
6 โดยคำนึงถึงข้อนี้ ขอให้พิจารณาคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่มีไปถึงพี่น้องในกรุงโรมว่า “หากเป็นได้ เท่าที่ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลาย จงสร้างสันติกับคนทั้งปวง.” (โรม 12:18, ล.ม.) เปาโลไม่ได้บอกพวกเขาว่าให้เพียงแต่ทำใจให้สงบ แม้ว่าการทำอย่างนั้นคงจะช่วยได้. ท่านกำลังสนับสนุนพวกเขาให้สร้าง สันติ. กับใคร? กับ “คนทั้งปวง”—สมาชิกครอบครัว, เพื่อนคริสเตียน, และแม้แต่คนที่ไม่มีความเชื่อเหมือนกับพวกเขา. ท่านสนับสนุนพวกเขาให้สร้างสันติกับผู้อื่น ‘เท่าที่ขึ้นอยู่กับพวกเขา.’ เปล่า ท่านไม่ต้องการให้พวกเขาประนีประนอมความเชื่อเพื่อเห็นแก่สันติสุข. แทนที่จะขัดแย้งกับผู้อื่นโดยไม่จำเป็น พวกเขาควรเข้าหาผู้คนด้วยเจตนาอันเปี่ยมด้วยสันติ. คริสเตียนควรทำอย่างนั้นไม่ว่าเขากำลังติดต่ออยู่กับคนที่อยู่ในประชาคมหรือคนภายนอก. (ฆะลาเตีย 6:10) สอดคล้องกับข้อนี้ เปาโลเขียนว่า “จงมุ่งทำสิ่งดีต่อกันและต่อคนอื่นทุกคนเสมอ.”—1 เธซะโลนิเก 5:15, ล.ม.
7, 8. คริสเตียนสร้างสันติกับคนที่ไม่มีความเชื่อเหมือนกับเขาโดยวิธีใด และเพราะเหตุใด?
7 เราจะสร้างสันติกับคนที่ไม่มีความเชื่อเหมือนกับเราและแม้แต่คนที่ต่อต้านความเชื่อของเราด้วยซ้ำโดยวิธีใด? วิธีหนึ่งคือ เราหลีกเลี่ยงไม่แสดงท่าทีว่าเหนือกว่า. ยกตัวอย่าง คงไม่เป็นการสร้างสันติที่จะพูดเกี่ยวกับบางคนโดยใช้คำพูดดูถูกดูหมิ่น. พระยะโฮวาได้ทรงเปิดเผยคำพิพากษาต่อองค์การและกลุ่มคนจำพวกต่าง ๆ แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดถึงใครก็ตามเป็นรายบุคคลราวกับว่าเขาถูกตัดสินแล้ว. ที่จริง เราไม่ตัดสินผู้อื่น แม้แต่คนที่ต่อต้านเรา. หลังจากที่บอกติโตให้แนะนำคริสเตียนในเกาะครีต (เกรเต) เกี่ยวกับการติดต่อกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เปาโลกล่าวเตือนใจพวกเขาว่า “ไม่ให้พูดใส่ร้ายคนหนึ่งคนใด, ไม่ให้เป็นคนชอบวิวาท, ให้มีเหตุผล, สำแดงแต่ความอ่อนโยนต่อคนทั้งปวง.”—ติโต 3:1, 2, ล.ม.
8 การสร้างสันติกับคนที่ไม่มีความเชื่อเหมือนกับเรามีส่วนช่วยอย่างมากในการแนะนำความจริงแก่คนเหล่านั้น. แน่นอน เราไม่ปลูกฝังมิตรภาพที่ “ทำให้นิสัยดีเสียไป.” (1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.) ถึงกระนั้น เราสามารถแสดงมารยาทที่ดี และเราควรปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความนับถือและกรุณา. เปโตรเขียนว่า “จงรักษาความประพฤติของท่านให้ดีงามท่ามกลางนานาชาติ เพื่อว่า ในสิ่งที่เขาพูดต่อต้านท่านทั้งหลายว่าเป็นคนทำชั่วนั้น เนื่องด้วยการกระทำที่ดีงามของท่านซึ่งเขาเป็นประจักษ์พยานนั้น เขาอาจสรรเสริญพระเจ้าในวันสำหรับการตรวจตราของพระองค์.”—1 เปโตร 2:12, ล.ม.
จงสร้างสันติในงานรับใช้
9, 10. อัครสาวกเปาโลวางตัวอย่างเช่นไรในการสร้างสันติกับคนที่ไม่มีความเชื่อ?
9 คริสเตียนในศตวรรษแรกเป็นที่รู้จักเพราะความกล้าหาญของพวกเขา. พวกเขาไม่ลดความหนักแน่นของข่าวสาร และเมื่อพบกับการต่อต้าน พวกเขาตั้งใจแน่วแน่จะเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะผู้ปกครองยิ่งกว่ามนุษย์. (กิจการ 4:29; 5:29) อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่สับสนว่าอะไรคือความกล้าอะไรคือความหยาบคาย. ขอให้พิจารณาวิธีที่เปาโลใช้เมื่อท่านแก้ต่างความเชื่อของตนต่อกษัตริย์เฮโรดอะฆะริปาที่สอง. เฮโรดอะฆะริปามีสัมพันธ์สวาทกับเบระนิเก น้องสาว ร่วมอุทรของตน. อย่างไรก็ตาม เปาโลไม่คิดที่จะว่ากล่าวอะฆะริปาในเรื่องศีลธรรม. แทนที่จะทำอย่างนั้น ท่านเน้นในจุดที่เห็นพ้องต้องกัน ยอมรับอะฆะริปาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในธรรมเนียมของชาวยิวและเชื่อถือผู้พยากรณ์.—กิจการ 26:2, 3, 27.
10 เปาโลแกล้งยกยอคนผู้นี้ซึ่งสามารถสั่งปล่อยท่านให้เป็นอิสระได้อย่างนั้นไหม? ไม่. เปาโลทำตามคำแนะนำของท่านเองและพูดความจริง. ไม่มีสิ่งใดที่ท่านพูดกับเฮโรดอะฆะริปาที่ไม่จริง. (เอเฟโซ 4:15) แต่เปาโลเป็นผู้สร้างสันติและทราบว่าทำอย่างไรท่านจึงจะกลายเป็น “ทุกอย่างกับผู้คนทุกชนิด.” (1 โกรินโธ 9:22, ล.ม.) เป้าหมายของท่านคือเพื่อปกป้องสิทธิ์ของท่านที่จะประกาศเกี่ยวกับพระเยซู. ด้วยความเป็นครูที่ดี ท่านเริ่มโดยกล่าวถึงสิ่งที่ทั้งตัวท่านเองและอะฆะริปาจะเห็นพ้องด้วยได้. โดยวิธีนี้ เปาโลช่วยกษัตริย์ผู้ไร้ศีลธรรมให้มองเห็นศาสนาคริสเตียนในแง่ที่น่าประทับใจกว่าสำหรับเขา.—กิจการ 26:28-31.
11. เราจะเป็นคนที่สร้างสันติในงานรับใช้ของเราได้โดยวิธีใด?
11 เราจะเป็นผู้สร้างสันติในงานรับใช้ของเราได้โดยวิธีใด? เช่นเดียวกับเปาโล เราควรหลีกเลี่ยงการโต้เถียง. จริงอยู่ บางครั้งเราจำเป็นต้อง “กล่าวคำของพระเจ้าโดยปราศจากความกลัว” ปกป้องความเชื่อของเราอย่างกล้าหาญ. (ฟิลิปปอย 1:14) แต่ในกรณีส่วนใหญ่ เป้าหมายหลักของเราคือการประกาศข่าวดี. (มัดธาย 24:14) หากมีใครมองเห็นความจริงเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า เขาก็จะสามารถเริ่มละทิ้งทัศนะทางศาสนาที่ผิด ๆ และชำระตัวเขาให้พ้นมลทินของกิจปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง. ด้วยเหตุนั้น เท่าที่เป็นไปได้ นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะเน้นสิ่งที่จะดึงดูดใจผู้ฟังของเรา โดยเริ่มกับสิ่งซึ่งเราเห็นพ้องกับเขา. คงเป็นการขัดขวางไม่ให้บรรลุเป้าหมายของเราเองหากเราสร้างความเป็นปฏิปักษ์ เพราะหากเราใช้วิธีที่ผ่อนสั้นผ่อนยาว บางคนอาจฟังข่าวสารของเรา.— 2 โกรินโธ 6:3.
ผู้สร้างสันติในครอบครัว
12. เราจะเป็นผู้สร้างสันติในครอบครัวได้โดยวิธีใดบ้าง?
12 เปาโลกล่าวว่าคนที่สมรส “จะมีความลำบากในเนื้อหนังของตน.” (1 โกรินโธ 7:28, ล.ม.) มีความยุ่งยากลำบากหลายอย่างที่จะต้องประสบ. ประการหนึ่งก็คือ บางคู่จะมีความเห็นขัดแย้งกันในบางครั้ง. ควรจัดการข้อขัดแย้งเหล่านี้อย่างไร? ด้วยสันติวิธี. คนที่สร้างสันติจะพยายามระงับความขัดแย้งไม่ให้ลุกลาม. โดยวิธีใด? ก่อนอื่น โดยระวังลิ้น. เมื่อใช้อวัยวะเล็ก ๆ ชิ้นนี้พูดถากถางและดูถูก มันก็อาจเป็น “สิ่งที่บังคับไม่อยู่ ก่อให้เกิดความเสียหาย เต็มไปด้วยพิษที่ทำให้ถึงตาย” ได้อย่างแท้จริง. (ยาโกโบ 3:8, ล.ม.) คนที่สร้างสันติใช้ลิ้นเพื่อเสริมสร้างกันขึ้น ไม่ใช่เพื่อทำลาย.—สุภาษิต 12:18.
13, 14. เราจะรักษาสันติสุขได้โดยวิธีใดเมื่อเราพูดอะไรที่ผิดพลาด หรือเมื่ออารมณ์คุกรุ่น?
13 เนื่องด้วยความไม่สมบูรณ์ บางครั้งเราทุกคนพูดอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกเสียใจในภายหลัง. เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น จงแก้ไขโดยเร็ว—เพื่อสร้างสันติ. (สุภาษิต 19:11; โกโลซาย 3:13) หลีกเลี่ยงการจมปลักอยู่กับ “การโต้เถียงกันเรื่องถ้อยคำ” และ “การโต้เถียงกันอย่างรุนแรงด้วยเรื่องหยุมหยิม.” (1 ติโมเธียว 6:4, 5, ล.ม.) แทนที่จะทำอย่างนั้น จงมองให้ลึกกว่าผิวนอก และพยายามเข้าใจความรู้สึกของคู่สมรส. หากเขาพูดจารุนแรงกับคุณ อย่าโต้ตอบด้วยคำพูดรุนแรง. พึงจำไว้ว่า “คำตอบอ่อนหวานกระทำให้ความโกรธผ่านพ้นไป.”—สุภาษิต 15:1.
14 บางครั้งบางคราว คุณอาจจำเป็นต้องพิจารณาคำแนะนำในสุภาษิต 17:14 (ล.ม.) ที่ว่า “ก่อนที่จะเกิดการทะเลาะกัน จงหลบไปเสีย.” จงหลบไปก่อนเมื่ออารมณ์กำลังคุกรุ่น. ภายหลัง เมื่ออารมณ์เย็นลงแล้ว คุณอาจสามารถแก้ปัญหาได้อย่างละมุนละม่อม. ในบางกรณี อาจเหมาะที่จะขอคริสเตียนผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้อาวุโสให้ช่วย. คนเหล่านี้ซึ่งมีประสบการณ์และมีความเห็นอกเห็นใจอาจให้ความช่วยเหลือที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นได้เมื่อสันติสุขในชีวิตสมรสถูกคุกคาม.—ยะซายา 32:1, 2.
ผู้สร้างสันติในประชาคม
15. ตามที่ยาโกโบได้กล่าวไว้ น้ำใจที่ไม่ดีเช่นไรซึ่งได้ก่อตัวขึ้นในคริสเตียนบางคน และเหตุใดน้ำใจนี้จึงเป็น “อย่างโลก,” “อย่างเดียรัจฉาน,” และ “อย่างผีปิศาจ”?
15 น่าเศร้า มีหลักฐานว่าคริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกมีน้ำใจริษยาและชอบโต้เถียง ซึ่งตรงข้ามกับสันติสุข. ยาโกโบกล่าวว่า “นี่มิใช่สติปัญญาที่ลงมาจากเบื้องบน แต่เป็นสติปัญญาอย่างโลก, อย่างเดียรัจฉาน, อย่างผีปิศาจ. ยาโกโบ 3:14-16, ล.ม.) บางคนเชื่อว่าคำภาษากรีกซึ่งแปลในที่นี้ว่า “น้ำใจชอบโต้เถียง” เกี่ยวข้องกับความทะเยอทะยานอันเห็นแก่ตัว การใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อจะได้ตำแหน่งบางอย่าง. ยาโกโบจึงมีเหตุผลที่ดีที่เรียกน้ำใจเช่นนั้นว่าเป็น “อย่างโลก, อย่างเดียรัจฉาน, อย่างผีปิศาจ.” ตลอดประวัติศาสตร์ ผู้ปกครองทั้งหลายของโลกได้ปกครองอย่างที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกัน ดุจสัตว์ป่าที่ต่อสู้กัน. น้ำใจชอบโต้เถียงเป็น “อย่างโลก” และ “อย่างเดียรัจฉาน” อย่างแท้จริง. นอกจากนี้ น้ำใจนี้ยังเป็น “อย่างผีปิศาจ” ด้วย. นิสัยอันแฝงเร้นนี้ถูกแสดงออกมาครั้งแรกโดยทูตสวรรค์ที่กระหายอำนาจซึ่งตั้งตัวต่อต้านพระยะโฮวาพระเจ้าและกลายเป็นซาตาน ผู้ปกครองแห่งผีปิศาจ.
เพราะที่ใดมีความริษยาและน้ำใจชอบโต้เถียง ที่นั่นก็มีความยุ่งเหยิงและสิ่งเลวทรามทุกอย่าง.” (16. คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกแสดงน้ำใจแบบเดียวกับซาตานอย่างไร?
16 ยาโกโบกระตุ้นคริสเตียนให้ต้านทานน้ำใจชอบโต้เถียง เพราะน้ำใจแบบนี้ไม่ก่อให้เกิดสันติสุข. ท่านเขียนว่า “สงครามมาจากแหล่งใดและการต่อสู้ท่ามกลางพวกท่านมาจากแหล่งใด? มันมิได้มาจากแหล่งนี้หรือ คือจากความกระหายอยากได้ความเพลิดเพลินทางเนื้อหนังของท่านทั้งหลายซึ่งกำลังสู้รบกันอยู่ในอวัยวะของท่าน?” (ยาโกโบ 4:1, ล.ม.) ในที่นี้ “ความกระหายอยากได้ความเพลิดเพลินทางเนื้อหนัง” อาจหมายถึงความโลภอยากได้สิ่งฝ่ายวัตถุหรือความปรารถนาความเด่นดัง, อำนาจบงการ, หรืออิทธิพล. เช่นเดียวกับซาตาน บางคนในประชาคมดูเหมือนว่าอยากจะเปล่งประกายมากกว่าจะเป็น “ผู้น้อย” ซึ่งพระเยซูตรัสไว้ว่าสาวกแท้ของพระองค์ควรเป็น. (ลูกา 9:48) น้ำใจเช่นนั้นอาจทำลายสันติสุขในประชาคมได้.
17. คริสเตียนในปัจจุบันจะเป็นผู้สร้างสันติในประชาคมได้โดยวิธีใด?
17 ปัจจุบัน เราต้องต้านทานแนวโน้มของการนิยมวัตถุ, ความริษยา, หรือความทะเยอทะยานที่ไร้ประโยชน์เช่นกัน. หากเราเป็นผู้สร้างสันติที่แท้จริง เราจะไม่รู้สึกกังวลใจในบทบาทที่ด้อยกว่าของตนหากบางคนในประชาคมมีความชำนาญกว่าเราในงานบางอย่าง และเราจะไม่ทำให้เขาเสื่อมความน่านับถือในสายตาผู้อื่นด้วยการตั้งข้อสงสัยเจตนาของเขา. หากเรามีความสามารถที่โดดเด่น เราจะไม่ใช้ความสามารถนั้นในการทำให้ตัวเราเองดูดีกว่าผู้อื่น ราวกับจะแสดงเป็นนัย ๆ ว่าประชาคมจะรุ่งเรืองได้ก็เนื่องด้วยความรู้ความสามารถของเราเท่านั้น. น้ำใจเช่นนั้นย่อมก่อให้เกิดความแตกแยก; เป็นน้ำใจที่ไม่ก่อให้เกิดสันติสุข. คนที่สร้างสันติไม่โอ้อวดความสามารถของตน แต่เขาใช้ความสามารถนั้นอย่างเจียมตัวเพื่อรับใช้พี่น้องและถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา. พวกเขาตระหนักว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ระบุตัวคริสเตียนแท้คือความรัก ไม่ใช่ความสามารถ.—โยฮัน 13:35; 1 โกรินโธ 13:1-3.
“สันติสุขเป็นผู้ดูแลเจ้า”
18. ผู้ปกครองส่งเสริมสันติสุขในหมู่พวกเขาเองโดยวิธีใด?
18 ผู้ปกครองประชาคมนำหน้าในการเป็นผู้สร้างสันติ. พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับไพร่พลของพระองค์ดังนี้: “เราจะแต่งตั้งสันติสุขเป็นผู้ดูแลเจ้าและแต่งตั้งความชอบธรรมเป็นผู้มอบหมายงานแก่เจ้า.” (ยะซายา 60:17, ล.ม.) สอดคล้องกับคำพยากรณ์ข้อนี้ ผู้ที่รับใช้เป็นคริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงทำงานหนักเพื่อส่งเสริมสันติสุขในหมู่พวกเขาเองและในหมู่ฝูงแกะ. ผู้ปกครองสามารถรักษาสันติสุขในหมู่พวกเขาเองโดยแสดง “สติปัญญาที่มาจากเบื้องบน” ซึ่งก่อให้เกิดสันติสุขและมีเหตุผล. (ยาโกโบ 3:17) โดยที่มีพื้นเพและประสบการณ์ชีวิตต่างกัน บางครั้งผู้ปกครองในประชาคมมีทัศนะแตกต่างกัน. นี่หมายความว่าพวกเขาขาดสันติสุขไหม? ไม่เป็นเช่นนั้น หากมีการจัดการในเรื่องทัศนะที่แตกต่างกันนี้อย่างถูกต้อง. ผู้สร้างสันติแสดงความคิดอย่างอ่อนสุภาพ แล้วก็ฟังผู้อื่นพูดอย่างให้ความนับถือ. แทนที่จะยืนกรานตามวิธีการของตัวเอง ผู้สร้างสันติจะพิจารณา ทัศนะของพี่น้องอย่างจริงจังและจริงใจ. หากไม่ผิดหลักคัมภีร์ไบเบิล ตามปกติแล้วย่อมมีที่ว่างสำหรับทัศนะที่หลากหลาย. เมื่อผู้อื่นไม่เห็นด้วย ผู้สร้างสันติจะยินยอมและสนับสนุนการตัดสินตามเสียงข้างมาก. โดยวิธีนี้ เขาแสดงให้เห็นว่าเขามีเหตุผล. (1 ติโมเธียว 3:2, 3) ผู้ดูแลที่มีประสบการณ์ทราบว่าการรักษาสันติสุขสำคัญกว่าการทำสิ่งต่าง ๆ ตามวิธีของตนเอง.
19. ผู้ปกครองทำอย่างไรในฐานะผู้สร้างสันติในประชาคม?
19 ผู้ปกครองส่งเสริมสันติสุขกับสมาชิกของฝูงแกะโดยช่วยเหลือสนับสนุนพวกเขาและไม่วิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของพวกเขาจนเกินไป. จริงอยู่ บางครั้งบางคนอาจจำเป็นต้องได้รับการปรับให้เข้าที่. (ฆะลาเตีย 6:1) แต่งานของคริสเตียนผู้ดูแลไม่ใช่การตีสอนเป็นส่วนใหญ่. เขาให้คำชมเชยบ่อย ๆ. ผู้ปกครองที่เปี่ยมด้วยความรักพยายามมองหาข้อดีในตัวผู้อื่น. ผู้ดูแลหยั่งรู้ค่างานหนักของเพื่อนคริสเตียน และพวกเขาเชื่อมั่นว่าเพื่อนร่วมความเชื่อกำลังทำดีที่สุดเท่าที่เขาทำได้.— 2 โกรินโธ 2:3, 4.
20. ประชาคมได้รับประโยชน์อย่างไรหากทุกคนเป็นผู้สร้างสันติ?
20 ดังนั้น ไม่ว่าจะในครอบครัว, ในประชาคม, และในการติดต่อกับผู้ที่ไม่มีความเชื่อเหมือนกับเรา เราพยายามสร้างสันติ ทำให้เกิดสันติสุข. หากเราปลูกฝังสันติสุขอย่างพากเพียร เราจะส่งเสริมให้เกิดความสุขในประชาคม. ขณะเดียวกัน เราจะได้รับการปกป้องและเสริมสร้างในหลายทาง ดังที่เราจะเห็นในบทความถัดไป.
คุณจำได้ไหม?
• การสร้างสันติหมายความเช่นไร?
• เราจะสร้างสันติได้โดยวิธีใดเมื่อติดต่อกับผู้ที่ไม่ใช่พยานฯ?
• มีวิธีใดบ้างในการปลูกฝังสันติสุขในครอบครัว?
• ผู้ปกครองจะส่งเสริมสันติสุขในประชาคมได้โดยวิธีใด?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 9]
ผู้สร้างสันติหลีกเลี่ยงการวางท่าว่าเหนือกว่า
[ภาพหน้า 10]
คริสเตียนเป็นผู้สร้างสันติในงานรับใช้, ในบ้าน, และในประชาคม