การเป็นคนภักดีหมายความเช่นไร?
การเป็นคนภักดีหมายความเช่นไร?
กลุ่มฮาซิดิมชาวยิวในศตวรรษที่ 2 ก่อนสากลศักราชถือว่าตัวเองเป็นคนภักดีอย่างแท้จริง. ชื่อของพวกเขามาจากคำคาซิด ซึ่งเป็นศัพท์พื้นฐานในภาษาฮีบรูที่หมายถึง “ภักดี.” คำนี้มาจากคำนามเคเซด ซึ่งบ่อยครั้งได้รับการแปลว่า “ความรักกรุณา,” “ความรักภักดี,” “ความกรุณา,” “ความดี,” “ความเมตตา.” ตามที่กล่าวในพจนานุกรมเทววิทยาว่าด้วยพันธสัญญาเดิม (ภาษาอังกฤษ) เคเซด “มีพลัง, ชอบสังคม, และทนทาน [และ] แสดงถึงไม่เพียงเจตคติของมนุษย์ แต่หมายถึงการกระทำซึ่งเกิดจากเจตคตินี้ด้วย. เป็นการกระทำที่รักษาหรือส่งเสริมชีวิต. เป็นการแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของคนที่ประสบภัยพิบัติหรือความทุกข์. เป็นการแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพ.”
ปรากฏชัดว่า ในหลายภาษาไม่มีคำคำเดียวที่จะแสดงความหมายครบถ้วนเกี่ยวกับศัพท์ฮีบรูคำนี้ดังที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล. ถึงอย่างไรก็ตาม ความภักดีตามนัยของคัมภีร์ไบเบิลหมายถึงไม่เพียงการยึดมั่นอย่างซื่อสัตย์กับคำมั่นสัญญา แต่หมายรวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับความผูกพันด้วยความรักพร้อมกับลงมือปฏิบัติในเชิงสร้างสรรค์เพื่อทำประโยชน์ให้ผู้อื่น. เพื่อจะเข้าใจว่าความภักดีแท้หมายถึงอะไร ขอพิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงแสดงความภักดีต่ออับราฮาม, โมเซ, ดาวิด, ชาติยิศราเอล, และมนุษยชาติโดยทั่วไป.
พระยะโฮวาทรงแสดงความภักดี
พระยะโฮวาตรัสกับอับราฮาม ผู้เป็นมิตรของพระองค์ว่า “เราเป็นโล่ . . . ของเจ้า.” (เยเนซิศ 15:1; ยะซายา 41:8) นี่มิใช่เป็นแค่คำตรัสเฉย ๆ. พระยะโฮวาทรงปกป้องและช่วยอับราฮามกับครัวเรือนของท่านไว้จากฟาโรห์และอะบีเมเล็ค. พระองค์ได้ทรงช่วยเหลืออับราฮามในการช่วยชีวิตโลตไว้จากกษัตริย์สี่องค์ที่คบคิดกัน. พระยะโฮวาได้ทรงฟื้นความสามารถในการสืบพันธุ์ของอับราฮามวัย 100 ปีกับซาราวัย 90 ปี เพื่อว่าพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญาจะมาทางคนทั้งสอง. พระยะโฮวาทรงติดต่อสื่อสารกับอับราฮามเป็นประจำโดยทางนิมิต, ความฝัน, และผู้ส่งข่าวที่เป็นทูตสวรรค์. ที่จริง พระยะโฮวาได้แสดงความภักดีต่ออับราฮามขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และหลังจากท่านเสียชีวิตไปนานแล้วด้วย. เป็นเวลาหลายร้อยปี พระยะโฮวาทรงรักษาคำสัญญาของพระองค์กับชาติยิศราเอลลูกหลานของอับราฮามทั้ง ๆ ที่พวกเขาดื้อรั้น. สัมพันธภาพของพระยะโฮวากับอับราฮามเป็นการแสดงให้เห็นว่าความภักดีแท้เป็นเช่นไร—ความรักที่เปลี่ยนเป็นการกระทำนั่นเอง.—เยเนซิศบท 12 ถึงบท 25.
มีการกล่าวว่า “พระยะโฮวาตรัสสนทนากับโมเซ หน้าต่อหน้า, เหมือนมิตรสหายสนทนากัน.” (เอ็กโซโด 33:11) ที่จริง โมเซมีสัมพันธภาพกับพระยะโฮวาที่สนิทสนมยิ่งกว่าสัมพันธภาพของผู้พยากรณ์คนอื่นใดที่อยู่ก่อนพระเยซูคริสต์. พระยะโฮวาทรงแสดงความภักดีต่อโมเซอย่างไร?
ในฐานะบุรุษวัย 40 ปีที่มีอำนาจและความสามารถ โมเซได้ลงมือจัดการโดยพลการที่จะปลดปล่อยเพื่อนร่วมชาติของท่าน. แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะทำเช่นนั้น. ท่านต้องหนีไปเพื่อเอาชีวิตรอด. ท่านได้เลี้ยงแกะในแผ่นดินมิดยานเป็นเวลา 40 ปี. กิจการ 7:23-30) อย่างไรก็ดี พระยะโฮวามิได้ละทิ้งท่าน. เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โมเซถูกนำตัวกลับมาเพื่อนำชาติยิศราเอลออกจากอียิปต์.
(คล้ายกัน พระยะโฮวาได้แสดงความภักดีต่อดาวิด กษัตริย์ผู้มีชื่อเสียงองค์ที่สองของยิศราเอล. ขณะที่ดาวิดเป็นแค่เด็กหนุ่ม พระยะโฮวาทรงสั่งผู้พยากรณ์ซามูเอลว่า “จงลุกขึ้นชโลมเขาเถิด, ด้วยเป็นคนนี้แหละ.” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระยะโฮวาทรงปกป้องและชี้นำดาวิดด้วยความภักดีขณะที่ท่านเติบโตเป็นกษัตริย์ในอนาคตของชาติยิศราเอลทั้งสิ้น. พระยะโฮวาทรงช่วยท่านให้รอด “จากเล็บเท้าสิงโตและจากเล็บหมี” และจากมือของฆาละยัธชายร่างยักษ์ชาวฟะลิศตีม. พระองค์ทรงให้ดาวิดมีชัยชนะเหนือเหล่าศัตรูของยิศราเอลหลายครั้งหลายหน และพระยะโฮวาทรงช่วยดาวิดให้รอดจากคมหอกของซาอูลผู้ริษยาและจงเกลียดจงชัง.—1 ซามูเอล 16:12; 17:37; 18:11; 19:10.
แน่นอน ดาวิดไม่ใช่คนสมบูรณ์. ที่จริง ท่านได้ทำบาปอย่างร้ายแรง. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะละทิ้งท่าน พระยะโฮวาทรงแผ่ความรักภักดีไปถึงดาวิดผู้สำนึกผิดอย่างยิ่ง. ตลอดชีวิตของดาวิด พระยะโฮวาทรงปฏิบัติเพื่อรักษาและส่งเสริมชีวิตท่านครั้งแล้วครั้งเล่า. พระองค์ทรงแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของคนที่ได้รับความทุกข์. นี่เป็นความรักกรุณาจริง ๆ!—2 ซามูเอล 11:1–12:25; 24:1-17.
ชาติยิศราเอล โดยรวมได้เข้าสู่สัมพันธภาพพิเศษที่อุทิศแล้วกับพระยะโฮวาเมื่อพวกเขายอมรับข้อเรียกร้องในสัญญาไมตรีเกี่ยวกับพระบัญญัติของโมเซ ณ ภูเขาซีนาย. (เอ็กโซโด 19:3-8) ฉะนั้น มีการพรรณนาถึงชาติยิศราเอลว่าอยู่ในความสัมพันธ์ทางการสมรสกับพระยะโฮวา. มีคำกล่าวกับชาติยิศราเอลว่า “พระยะโฮวาทรงถือว่าเจ้าเป็นเหมือนดังภรรยา.” และพระยะโฮวาตรัสแก่ชาตินี้ว่า “เราจะมีความสงสารเจ้า, เพราะเรามีความเมตตากรุณาอันไม่รู้สิ้นสุด.” (ยะซายา 54:6, 8) พระยะโฮวาได้แสดงให้เห็นความภักดีในสัมพันธภาพพิเศษนี้อย่างไร?
พระยะโฮวาทรงเป็นฝ่ายริเริ่มในการดูแลความจำเป็นของชนยิศราเอลและเสริมความผูกพันของพวกเขากับพระองค์ให้แน่นแฟ้น. พระองค์ทรงช่วยพวกเขาให้รอดจากอียิปต์ ทรงจัดระเบียบพวกเขาเป็นชาติหนึ่ง แล้วนำพวกเขาเข้าสู่ “แผ่นดินที่ . . . บริบูรณ์ด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง.” (เอ็กโซโด 3:8) พระองค์ทรงจัดเตรียมคำสั่งสอนฝ่ายวิญญาณให้เป็นประจำโดยทางพวกปุโรหิต, พวกเลวี, และโดยทางผู้พยากรณ์กับผู้ส่งข่าวต่าง ๆ ที่สืบต่อกันมาไม่ขาดสาย. (2 โครนิกา 17:7-9; นะเฮมยา 8:7-9; ยิระมะยา 7:25) เมื่อชาตินี้หันไปรับใช้พระอื่น พระยะโฮวาทรงว่ากล่าวแก้ไขพวกเขา. เมื่อพวกเขากลับใจ พระองค์ทรงให้อภัยพวกเขา. เป็นที่ยอมรับว่า ชาติยิศราเอลเป็นภรรยาที่ว่ายาก. กระนั้น พระยะโฮวามิได้ละทิ้งชาตินั้นทันที. เนื่องจากคำสัญญาของพระองค์ที่ให้ไว้กับอับราฮาม พระองค์ทรงยึดมั่นอย่างภักดีกับชนชาติยิศราเอลจนกระทั่งพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับพวกเขานั้นสำเร็จเป็นจริง. (พระบัญญัติ 7:7-9) ช่างเป็นตัวอย่างยอดเยี่ยมเสียจริง ๆ สำหรับคนที่สมรสแล้วในทุกวันนี้!
พระยะโฮวาทรงแสดงความภักดีต่อมนุษยชาติโดยทั่วไป ด้วยโดยที่พระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิตสำหรับมนุษย์ทุกคน ทั้งคนชอบธรรมและคนไม่ชอบธรรม. (มัดธาย 5:45; กิจการ 17:25) ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงประทานพระบุตรของพระองค์เป็นเครื่องบูชาไถ่เพื่อว่ามวลมนุษยชาติจะมีโอกาสได้ รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสของบาปและความตายและเพื่อจะมีความหวังอันรุ่งโรจน์เกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์ที่สมบูรณ์ในอุทยาน. (มัดธาย 20:28; โยฮัน 3:16) การจัดเตรียมค่าไถ่เป็นการกระทำขั้นสุดยอดเพื่อรักษาและส่งเสริมชีวิต. นั่นเป็น “การแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของคนที่ประสบภัยพิบัติหรือความทุกข์” จริง ๆ.
จงพิสูจน์ความภักดีของคุณด้วยการกระทำในเชิงสร้างสรรค์
เนื่องจากมีความหมายเหมือนกันกับความรักกรุณา ความภักดีจึงมีความหมายที่หนักแน่นเกี่ยวกับการตอบแทนกันและกันด้วย. หากมีการแสดงความรักกรุณาต่อคุณ ก็สามารถคาดหมายได้เลยว่าจะได้รับสิ่งเดียวกันเป็นการตอบแทน. ความภักดีย่อมได้รับการตอบกลับอย่างเดียวกัน. การที่ดาวิดเข้าใจนัยที่เกี่ยวกับเคเซด นั้นปรากฏชัดในคำพูดของท่านที่ว่า “ข้าพเจ้าจะนมัสการตั้งหน้าตรงไปยังพระวิหารอันบริสุทธิ์ของพระองค์, และจะยกยอสรรเสริญพระนามของพระองค์.” เพราะเหตุใด? “เพราะพระกรุณาคุณและความสัตย์ของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 138:2) เนื่องจากเป็นผู้ได้รับพระกรุณาคุณของพระยะโฮวา จึงเห็นได้ชัดว่าดาวิดได้รับการกระตุ้นให้นมัสการและสรรเสริญพระองค์. ฉะนั้น ขณะที่เราไตร่ตรองดูการที่พระยะโฮวาทรงแสดงความรักกรุณาต่อเรา เราได้รับการกระตุ้นให้ตอบสนองไหม? ตัวอย่างเช่น ถ้าพระนามของพระยะโฮวาได้รับการติเตียน ความห่วงใยของคุณต่อชื่อเสียงของพระองค์กระตุ้นคุณให้พูดอย่างเปิดเผยเพื่อปกป้องพระองค์ไหม?
นั่นเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับคริสเตียนที่ค่อนข้างใหม่คนหนึ่งกับภรรยาของเขาเมื่อเข้าร่วมงานศพของญาติคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตในอุบัติเหตุโดยรถจักรยานยนต์. งานนี้ไม่มีพิธีศาสนา และคนเหล่านั้นที่เข้าร่วมได้รับอนุญาตให้พูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับผู้ตาย. ผู้พูดคนหนึ่งเริ่มตำหนิพระเจ้าเนื่องด้วยความตายก่อนวัยอันควรของชายหนุ่มคนนี้โดยกล่าวว่า ‘พระเจ้าทรงประสงค์ให้เขาอยู่ในสวรรค์ ดังนั้น พระองค์ทรงรับเขาไป.’ พี่น้องชายคริสเตียนของเรารู้สึกว่าทนไม่ได้ที่จะเงียบอยู่ต่อไป. เขาก้าวขึ้นไปบนแท่นยืน ถึงแม้เขาไม่มีคัมภีร์ไบเบิลหรือบทบันทึก. เขาถามว่า “คุณคิดว่า พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการซึ่งเปี่ยมด้วยความเมตตาสงสารพอพระทัยกับเหตุการณ์อย่างนี้ไหม?” แล้วเขาก็กล่าวคำบรรยายแบบกลอนสดต่อไปเป็นเวลาสิบนาทีพร้อมด้วยข้ออ้างอิงจากพระคัมภีร์ซึ่งอธิบายสาเหตุที่เราตาย, สิ่งที่พระเจ้าได้กระทำเพื่อช่วยมนุษยชาติให้รอดจากความตาย, และความหวังอันน่าพิศวงเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตนิรันดร์บนโลกที่เป็นอุทยาน. ผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 คนพร้อมใจกันปรบมือให้อย่างยาวนาน. พี่น้องคนนี้ได้เล่าทีหลังว่า “ผมรู้สึกถึงความยินดีอย่างล้ำลึกแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน. ผมขอบพระคุณพระยะโฮวาสำหรับการอบรมสั่งสอนผมในเรื่องสติปัญญาของพระองค์และทรงให้ผมมีโอกาสที่จะปกป้องพระนามบริสุทธิ์ของพระองค์.”
ความภักดีต่อพระยะโฮวาหมายรวมถึงความภักดีต่อคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์. เพราะเหตุใด? เพราะโดยทางบันทึกของคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาทรงสอนเราถึงวิธีดำเนินชีวิต. กฎหมายและหลักการต่าง ๆ ที่บันทึกในพระคัมภีร์เป็นคำสั่งสอนที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง. (ยะซายา 48:17) อย่ายอมให้ความกดดันจากคนอื่นหรือความอ่อนแอของตัวคุณเองเป็นเหตุให้คุณหันเหไปจากการยึดมั่นกับกฎหมายของพระยะโฮวา. จงภักดีต่อพระคำของพระเจ้าอยู่ต่อไป.
ความภักดีต่อพระเจ้ายังหมายรวมถึงความภักดีต่อองค์การของพระองค์ด้วย. เป็นสิ่งจำเป็นที่ตลอดหลายปีได้มีการแก้ไขและการปรับเปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพระคัมภีร์บางข้อ. ความเป็นจริงคือว่า ไม่มีใครได้รับการเลี้ยงดูฝ่ายวิญญาณอย่างดีเหมือนเรา. (มัดธาย 24:45-47) ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า พระยะโฮวาได้ทรงสนับสนุนองค์การของพระองค์สมัยปัจจุบันด้วยความภักดี. เราจะทำอย่างเดียวกันนั้นไม่ได้เชียวหรือ? เอ.เอช. แมกมิลแลนได้ทำเช่นนั้น. ไม่นานก่อนเสียชีวิต ท่านได้กล่าวว่า “ผมได้เห็นองค์การของพระยะโฮวาเติบโตจากการเริ่มต้นเล็ก ๆ ตอนที่ผมอุทิศตัวแด่พระเจ้าเมื่ออายุยี่สิบสามปีในเดือนกันยายน 1900 มาเป็นสังคมทั่วโลกที่ประกอบด้วยชนผู้มีความสุขที่ประกาศความจริงของพระองค์ด้วยใจแรงกล้า. . . . ขณะที่ผมเห็นจุดจบแห่งการรับใช้พระเจ้าของผมบนโลกใกล้เข้ามาแล้ว ผมมั่นใจยิ่งกว่าแต่ก่อนว่าพระยะโฮวาได้ทรงชี้นำไพร่พลของพระองค์และประทานสิ่งที่พวกเขาจำเป็น ต้องมีจริง ๆ และให้ในเวลาอันเหมาะ.” บราเดอร์แมกมิลแลนได้รับใช้อย่างซื่อสัตย์และภักดีเป็นเวลาเกือบ 66 ปี จนกระทั่งท่านเสียชีวิตในวันที่ 26 สิงหาคม 1966. ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความภักดีต่อองค์การที่ประจักษ์แก่ตาของพระเจ้า.
นอกจากภักดีต่อองค์การแล้ว เราจะภักดีต่อกันและกันไหม? เมื่อเผชิญกับการคุกคามของการข่มเหงที่ทารุณ เราจะคงภักดีต่อพี่น้องชายหญิงของเราอยู่ต่อไปไหม? ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พี่น้องของเราในเนเธอร์แลนด์ได้วางตัวอย่างที่ดีในเรื่องความภักดี. คลาส เดอ ฟรีส ผู้ปกครองคนหนึ่งจากประชาคมโกรนิงเกน ถูกสอบสวนอย่างโหดเหี้ยม ไร้ความปรานีจากหน่วยตำรวจเกสตาโปของนาซี ถูกขังเดี่ยวเป็นเวลา 12 วันโดยมีเพียงขนมปังกับน้ำ ครั้นแล้วก็ถูกซักถามอีก. พวกนาซีใช้ปืนจ่อขู่เอาชีวิตเขา ให้เวลาเขาสองนาทีเพื่อเปิดเผยที่อยู่ของพวกพี่น้องที่ได้รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบ อีกทั้งข้อมูลสำคัญอื่น ๆ. สิ่งเดียวที่คลาสพูดคือ “ผมจะไม่บอกอะไรคุณอีก. . . . ผมจะไม่เป็นคนทรยศ.” เขาถูกขู่ด้วยปืนพกถึงสามครั้ง. ในที่สุดพวกเกสตาโปก็เลิกรา และคลาสถูกส่งไปยังคุกอีกแห่งหนึ่ง. เขาไม่ได้ทรยศต่อพวกพี่น้องเลย.
ความภักดีของเราจะแผ่ไปถึงญาติใกล้ชิดที่สุดของเราซึ่งก็คือคู่สมรสของเราไหม? ดังที่พระยะโฮวาทรงนับถือความสัมพันธ์ทางสัญญาไมตรีของพระองค์กับชาติยิศราเอล เราภักดีต่อคำปฏิญาณในการสมรสของเราไหม? ไม่เพียงยืนหยัดด้วยความภักดีเท่านั้น ควรตื่นตัวแสวงหาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคู่สมรสของคุณด้วย. จงเป็นฝ่ายริเริ่มทำให้สายสมรสของคุณแน่นแฟ้น. จงใช้เวลาด้วยกัน, สื่อความกันอย่างไม่อั้นและอย่างตรงไปตรงมา, สนับสนุนและให้กำลังใจกัน, รับฟังกันและกัน, หัวเราะด้วยกัน, ร้องไห้ด้วยกัน, เล่นด้วยกัน, ทำงานด้วยกันเพื่อบรรลุเป้าของทั้งสองฝ่าย, ทำให้กันและกันพอใจ, เป็นมิตร. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จงระมัดระวังที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกเสน่หาต่อคนอื่น. ถึงแม้เป็นการถูกต้องและเหมาะที่จะพัฒนาการรู้จักคุ้นเคยและกระทั่งมิตรภาพที่ใกล้ชิดกับคนอื่นนอกสายสมรสของคุณก็ตาม ควรจำกัดความรู้สึกเสน่หาไว้เฉพาะกับคู่ของคุณ. อย่ายอมให้ใครอื่นมาอยู่ระหว่างคุณกับคู่ชีวิตของคุณ.—สุภาษิต 5:15-20.
จงรักษาความภักดีต่อเพื่อนร่วมความเชื่อและครอบครัว. ขณะที่หลายปีผ่านไป อย่าลืมพวกเขา. จงติดต่อกับพวกเขาเสมอ, เขียนจดหมายถึงเขา, โทรศัพท์คุยกัน, ไปเยี่ยมเขา. ไม่ว่าสภาพการณ์ในชีวิตคุณเป็นเช่นไรก็ตาม พยายามที่จะไม่ทำให้เขาผิดหวัง. ทำให้เขารู้สึกยินดีที่จะพูดว่าเขารู้จักคุณหรือมีความสัมพันธ์กับคุณ. ความภักดีต่อพวกเขาจะทำให้คุณตั้งใจแน่วแน่เสมอที่จะทำสิ่งถูกต้องและจะเป็นแหล่งแห่งกำลังใจสำหรับคุณ.—เอศเธระ 4:6-16.
ถูกแล้ว ความภักดีแท้เกี่ยวข้องกับการกระทำในเชิงสร้างสรรค์เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ล้ำค่า. จงทำสิ่งที่คุณทำได้เพื่อสนองตอบความรักกรุณาของพระยะโฮวา. จงเลียนแบบความภักดีของพระยะโฮวาในการปฏิบัติกับประชาคมคริสเตียน, คู่สมรส, ครอบครัว, และมิตรสหายของคุณ. จงประกาศคุณความดีของพระยะโฮวาแก่เพื่อนบ้านของคุณด้วยความภักดี. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “ข้าพเจ้าจะร้องเพลงสรรเสริญพระกรุณาคุณของพระยะโฮวาเป็นนิตย์: ปากของข้าพเจ้าจะกล่าวความสัตย์ซื่อของพระองค์แก่ชนทุก ๆ ชั่วอายุ.” (บทเพลงสรรเสริญ 89:1) เราได้รับการชักนำมาหาพระเจ้าแบบนี้มิใช่หรือ? “พระกรุณาคุณของพระองค์ยั่งยืนถาวรเป็นนิตย์” จริง ๆ.—บทเพลงสรรเสริญ 100:5.
[ภาพหน้า 23]
เอ. เอช. แมกมิลแลน