ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาเมื่อฝึกอบรมบุตร

จงเลียนแบบอย่างพระยะโฮวาเมื่อฝึกอบรมบุตร

จง​เลียน​แบบ​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​เมื่อ​ฝึก​อบรม​บุตร

“บิดา​มารดา​ทั้ง​หลาย​ล้วน​ว่า​กล่าว​แก้ไข​บุตร​มิ​ใช่​หรือ?”—เฮ็บราย 12:7, ฉบับ​แปล​คอนเทมโพรารี อิงลิช.

1, 2. เหตุ​ใด​การ​เลี้ยง​ดู​บุตร​จึง​เป็น​เรื่อง​ที่​สร้าง​ความ​ลำบาก​ใจ​แก่​บิดา​มารดา​ใน​ทุก​วัน​นี้?

จาก​การ​สำรวจ​ที่​ประเทศ​ญี่ปุ่น​เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ ปรากฏ​ว่า​ประมาณ​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ผู้​ใหญ่​ที่​ให้​สัมภาษณ์​รู้สึก​ว่า​มี​การ​สื่อ​ความ​กัน​น้อย​เกิน​ไป​ระหว่าง​บิดา​มารดา​กับ​บุตร และ​บิดา​มารดา​ตาม​ใจ​บุตร​มาก​เกิน​ไป. ใน​การ​สำรวจ​อีก​ราย​หนึ่ง​ใน​ประเทศ​นี้ เกือบ​หนึ่ง​ใน​สี่​ของ​ผู้​ที่​ให้​คำ​ตอบ​ยอม​รับ​พวก​เขา​ไม่​รู้​ว่า​ควร​สื่อ​สัมพันธ์​กัน​อย่าง​ไร​กับ​บุตร. แนว​โน้ม​นี้​ไม่​ได้​มี​เฉพาะ​ใน​หมู่​ชาว​ตะวัน​ออก. หนังสือ​พิมพ์​เดอะ โทรอนโต สตาร์ รายงาน​ว่า “บิดา​มารดา​ชาว​แคนาดา​หลาย​คน​ยอม​รับ​ว่า​พวก​เขา​ไม่​แน่​ใจ​ว่า​ต้อง​ทำ​อย่าง​ไร​จึง​จะ​เป็น​บิดา​มารดา​ที่​ดี.” ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ที่​ไหน​ใน​ปัจจุบัน บิดา​มารดา​พบ​ว่า​การ​เลี้ยง​ดู​บุตร​เป็น​เรื่อง​ยาก.

2 เหตุ​ใด​การ​เลี้ยง​ดู​บุตร​เป็น​เรื่อง​ที่​สร้าง​ความ​ลำบาก​ใจ​แก่​บิดา​มารดา? เหตุ​ผล​สำคัญ​คือ เรา​มี​ชีวิต​อยู่​ใน “สมัย​สุด​ท้าย” และ​บัด​นี้​เป็น​ช่วง “วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​ที่​จะ​รับมือ​ได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) นอก​จาก​นั้น คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​กล่าว​ด้วย​ว่า “ความ​เอนเอียง​แห่ง​หัวใจ​ของ​มนุษย์​นั้น​ชั่ว​ตั้ง​แต่​เด็ก​มา.” (เยเนซิศ 8:21, ล.ม.) และ​เยาวชน​อาจ​ถูก​ซาตาน​โจมตี​ได้​ง่าย​เป็น​พิเศษ เพราะ​มัน​เป็น​เหมือน​กับ “สิงโต​คำราม​แผด​เสียง​ร้อง” เสาะ​หา​ผู้​ขาด​ประสบการณ์​เป็น​เหยื่อ. (1 เปโตร 5:8) อุปสรรค​มี​อยู่​มาก​มาย​แน่นอน​สำหรับ​บิดา​มารดา​คริสเตียน​ที่​ตั้งใจ​มั่น​ว่า​จะ​เลี้ยง​ดู​บุตร “ด้วย​การ​ตี​สอน​และ​การ​ปรับ​ความ​คิด​จิตใจ​ตาม​หลักการ​ของ​พระ​ยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) บิดา​มารดา​จะ​ช่วย​บุตร​ให้​เติบโต​ขึ้น​เป็น​ผู้​นมัสการ​ที่​อาวุโส​ของ​พระ​ยะโฮวา สามารถ​แยกแยะ “ไหน​ดี​ไหน​ชั่ว” โดย​วิธี​ใด?—เฮ็บราย 5:14.

3. เหตุ​ใด​การ​ฝึก​อบรม​และ​การ​ชี้​นำ​จาก​บิดา​มารดา​จึง​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​บุตร​อย่าง​ประสบ​ผล​สำเร็จ?

3 กษัตริย์​ซะโลโม​ผู้​ฉลาด​สุขุม​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ความ​โฉด​เขลา​ผูก​พัน​อยู่​ใน​จิตต์​ใจ​ของ​เด็ก.” (สุภาษิต 13:1; 22:15) เพื่อ​จะ​ขจัด​ความ​เขลา​เช่น​นั้น​จาก​หัวใจ​เด็ก พวก​เขา​ต้อง​ได้​รับ​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​ด้วย​ความ​รัก​จาก​บิดา​มารดา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เยาวชน​ไม่​ยินดี​รับ​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​เช่น​นั้น​เสมอ​ไป. ที่​จริง พวก​เขา​มัก​ขุ่นเคือง​ที่​มี​คน​มา​แนะ​นำ ไม่​ว่า​ใคร​ก็​ตาม​ที่​ให้​คำ​แนะ​นำ​นั้น. ด้วย​เหตุ​นั้น บิดา​มารดา​จึง​ต้อง​เรียน​รู้​ที่​จะ “ฝึก​สอน​เด็ก​ให้​ประพฤติ​ตาม​ทาง​ที่​ควร​จะ​ประพฤติ​นั้น.” (สุภาษิต 22:6) เมื่อ​บุตร​ใส่​ใจ​รับ​ฟัง​การ​ตี​สอน​เช่น​นั้น นั่น​อาจ​หมาย​ถึง​ชีวิต​สำหรับ​เขา. (สุภาษิต 4:13) สำคัญ​สัก​เพียง​ไร​ที่​บิดา​มารดา​จะ​ทราบ​ว่า​การ​ฝึก​อบรม​ผู้​เยาว์​ของ​ตน​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร​บ้าง!

ความหมาย​ของ​การ​ตี​สอน

4. ความหมาย​หลัก​ของ “การ​ตี​สอน” ตาม​ที่​ใช้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​คือ​อะไร?

4 เนื่อง​จาก​กลัว​จะ​ถูก​กล่าวหา​ว่า​ทำ​ร้าย​เด็ก—ทาง​กาย, ทาง​วาจา, หรือ​ทาง​อารมณ์—บิดา​มารดา​บาง​คน​หลีก​เลี่ยง​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​บุตร. เรา​ไม่​จำเป็น​ต้อง​กลัว​อย่าง​นั้น. คำ​ว่า “การ​ตี​สอน” ตาม​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​การ​ทำ​ร้าย​หรือ​ความ​โหด​ร้าย​แต่​อย่าง​ใด. โดย​มาก​แล้ว คำ​ที่​ใช้​ใน​ภาษา​กรีก​สำหรับ “การ​ตี​สอน” เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​สั่ง​สอน, การ​ให้​การ​ศึกษา, การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข, และ​ใน​บาง​ครั้ง การ​ลง​โทษ​ที่​หนักแน่น​แต่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก.

5. เหตุ​ใด​จึง​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​พิจารณา​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ติด​ต่อ​กับ​ไพร่พล​ของ​พระองค์?

5 ใน​การ​ตี​สอน​เช่น​นั้น พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​สมบูรณ์​แบบ​ไว้. โดย​เปรียบ​เทียบ​พระ​ยะโฮวา​กับ​บิดา​ที่​เป็น​มนุษย์ อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ดัง​นี้: “บิดา​ทั้ง​หลาย​ล้วน​ว่า​กล่าว​แก้ไข​บุตร​มิ​ใช่​หรือ? . . . บิดา​ที่​เป็น​มนุษย์​ว่า​กล่าว​แก้ไข​เรา​ชั่ว​เวลา​สั้น ๆ และ​ทำ​อย่าง​ที่​เขา​คิด​ว่า​ดี​ที่​สุด. แต่​พระเจ้า​ทรง​ว่า​กล่าว​แก้ไข​เรา​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​เรา​เอง เพราะ​พระองค์​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​บริสุทธิ์.” (เฮ็บราย 12:7-10, ฉบับ​แปล​คอนเทมโพรารี อิงลิช) ถูก​แล้ว พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตี​สอน​ไพร่พล​ของ​พระองค์​เพื่อ​พวก​เขา​จะ​บริสุทธิ์​หรือ​ไร้​มลทิน. แน่นอน เรา​สามารถ​เรียน​รู้​ได้​มาก​เกี่ยว​กับ​การ​ตี​สอน​บุตร​ด้วย​การ​พิจารณา​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​ฝึก​อบรม​ไพร่พล​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร.—พระ​บัญญัติ 32:4; มัดธาย 7:11; เอเฟโซ 5:1.

ความ​รัก—พลัง​ที่​ให้​แรง​กระตุ้น

6. เหตุ​ใด​จึง​อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​บิดา​มารดา​จะ​เลียน​แบบ​อย่าง​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา?

6 อัครสาวก​โยฮัน​กล่าว​ว่า “พระเจ้า​ทรง​เป็น​ความ​รัก.” ดัง​นั้น การ​ฝึก​อบรม​ที่​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​ให้​จึง​ได้​รับ​แรง​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก​เสมอ. (1 โยฮัน 4:8; สุภาษิต 3:11, 12) นี่​หมายความ​ว่า​บิดา​มารดา​ซึ่ง​มี​ความ​รัก​ตาม​ธรรมชาติ​ต่อ​บุตร​ย่อม​พบ​ว่า​ง่าย​ที่​จะ​เลียน​แบบ​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​ใน​แง่​นี้​อย่าง​นั้น​ไหม? ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​อย่าง​นั้น. ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​เป็น​ความ​รัก​ตาม​หลักการ. และ​ผู้​คง​แก่​เรียน​ด้าน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​คน​หนึ่ง​ชี้​ว่า​ความ​รัก​เช่น​นั้น “ไม่​สอดคล้อง​กับ​ความ​โน้ม​เอียง​ตาม​ธรรมชาติ​เสมอ​ไป.” พระเจ้า​ไม่​ทรง​ถูก​ครอบ​งำ​โดย​ความ​รู้สึก​ที่​เกิน​ควร. พระองค์​ทรง​คำนึง​ถึง​สิ่ง​ที่​ดี​ที่​สุด​สำหรับ​ไพร่พล​ของ​พระองค์​เสมอ.—ยะซายา 30:20; 48:17.

7, 8. (ก) พระ​ยะโฮวา​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​ความ​รัก​ตาม​หลักการ​ใน​การ​ติด​ต่อ​กับ​ไพร่พล​ของ​พระองค์? (ข) บิดา​มารดา​จะ​เลียน​แบบ​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​ได้​โดย​วิธี​ใด​ใน​การ​ช่วย​บุตร​ให้​พัฒนา​ความ​สามารถ​ที่​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล?

7 ขอ​ให้​พิจารณา​ความ​รัก​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​แสดง​ออก​ใน​การ​ติด​ต่อ​กับ​ชน​ยิศราเอล. โมเซ​ใช้​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​ที่​งดงาม​พรรณนา​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​มี​ต่อ​ชาติ​ยิศราเอล​ซึ่ง​เป็น​ชาติ​ใหม่. เรา​อ่าน​ดัง​นี้: “เหมือน​นก​อินทรี​ที่​กวน​รัง​ของ​มัน กระพือ​ปีก​อยู่​เหนือ​ลูก​โต กาง​ปีก​ออก​รอง​รับ​ลูก​ไว้ ให้​เกาะ​อยู่​บน​ปีก พระเจ้า​องค์​เดียว​ก็​ทรง​นำ [ยาโคบ] มา.” (พระ​บัญญัติ 32:9, 11, 12, ฉบับ​แปล​ใหม่) เพื่อ​สอน​ลูก​น้อย​ให้​บิน แม่​นก​อินทรี “กวน​รัง​ของ​มัน” ด้วย​การ​กระพือ​ปีก​อย่าง​เร็ว​เพื่อ​กระตุ้น​ลูก​ให้​บิน. เมื่อ​ใน​ที่​สุด​ลูก​นก​พุ่ง​ออก​จาก​รัง ซึ่ง​มัก​อยู่​บน​ผา​สูง แม่​นก​ก็​จะ “กระพือ​ปีก​อยู่​เหนือ” ลูก​น้อย. หาก​ดู​เหมือน​ว่า​ลูก​นก​อาจ​หล่น​สู่​พื้น​ดิน แม่​นก​ก็​จะ​โฉบ​ลง​ไป​อยู่​ข้าง​ใต้ แล้ว​พา​ลูก​ไป “ให้​เกาะ​อยู่​บน​ปีก.” ด้วย​ความ​รัก พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดู​แล​ชาติ​ยิศราเอล​ที่​เกิด​ใหม่​ใน​วิธี​ที่​คล้าย​กัน​นี้. พระองค์​ประทาน​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​แก่​ไพร่พล​ของ​พระองค์. (บทเพลง​สรรเสริญ 78:5-7) จาก​นั้น พระเจ้า​ทรง​เฝ้า​ดู​ชาติ​นี้​อย่าง​ใกล้​ชิด และ​ทรง​พร้อม​จะ​เข้า​ช่วยเหลือ​เมื่อ​ไพร่พล​ของ​พระองค์​ประสบ​ความ​ยุ่งยาก​ลำบาก.

8 บิดา​มารดา​คริสเตียน​อาจ​เลียน​แบบ​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ไร? ก่อน​อื่น เขา​ต้อง​สอน​หลักการ​และ​มาตรฐาน​ที่​พบ​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​แก่​บุตร. (พระ​บัญญัติ 6:4-9) เป้าหมาย​คือ​เพื่อ​ช่วย​ผู้​เยาว์​ให้​เรียน​รู้​ที่​จะ​ตัดสิน​ใจ​สอดคล้อง​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ใน​การ​ทำ​อย่าง​นี้ อาจ​กล่าว​โดย​นัย​ได้​ว่า​บิดา​มารดา​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​กระพือ​ปีก​อยู่​เหนือ​บุตร คอย​สังเกต​ว่า​บุตร​ใช้​หลักการ​ที่​ได้​เรียน​รู้​แล้ว​อย่าง​ไร. ขณะ​ที่​บุตร​เติบโต​ขึ้น​และ​ได้​รับ​เสรีภาพ​มาก​ขึ้น​ที​ละ​น้อย บิดา​มารดา​ที่​เอา​ใจ​ใส่​อยู่​พร้อม​ที่​จะ ‘โฉบ​ลง​ไป’ และ ‘พา​ลูก​น้อย​ไป​ให้​เกาะ​บน​ปีก’ เมื่อ​ใด​ก็​ตาม​ที่​มี​อันตราย. อันตราย​แบบ​ใด?

9. บิดา​มารดา​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ต้อง​ตื่น​ตัว​ต่อ​อันตราย​อะไร​โดย​เฉพาะ? จง​ยก​ตัว​อย่าง.

9 พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​เตือน​ชน​ยิศราเอล​ถึง​ผล​ของ​การ​คบหา​สมาคม​ที่​ไม่​ดี. (อาฤธโม 25:1-18; เอษรา 10:10-14) การ​คบหา​กับ​คน​ที่​ไม่​ควร​คบ​เป็น​เรื่อง​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ร้ายแรง​ซึ่ง​พบ​เห็น​ได้​ทั่ว​ไป​ด้วย​เช่น​กัน​ใน​สมัย​นี้. (1 โกรินโธ 15:33) บิดา​มารดา​คริสเตียน​ควร​เลียน​แบบ​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​นี้. เด็ก​สาว​อายุ 15 ปี​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ลิซา​เริ่ม​สนใจ​ใน​เด็ก​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ไม่​ได้​มี​ค่า​นิยม​ด้าน​ศีลธรรม​และ​ฝ่าย​วิญญาณ​แบบ​เดียว​กับ​ครอบครัว​ของ​เธอ. ลิซา​เล่า​ว่า “คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ของ​หนู​สังเกต​เห็น​ทันที​ว่า​ทัศนะ​ของ​หนู​เปลี่ยน​ไป และ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ท่าน​เป็น​ห่วง. บาง​ครั้ง ท่าน​ว่า​กล่าว​แก้ไข​หนู และ​บาง​ครั้ง​ท่าน​ให้​กำลังใจ​หนู​อย่าง​นุ่มนวล.” ทั้ง​สอง​นั่ง​ลง​เพื่อ​คุย​กัน​กับ​ลิซา​และ​ฟัง​อย่าง​อด​ทน โดย​วิธี​นั้น​ช่วย​เธอ​ให้​รับมือ​ได้​ใน​เรื่อง​ที่​เขา​สังเกต​ว่า​เป็น​ปัญหา​พื้น​ฐาน คือ​ความ​ปรารถนา​จะ​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​จาก​คน​รุ่น​เดียว​กัน. *

เปิด​กว้าง​ไว้​เสมอ​สำหรับ​การ​สื่อ​ความ

10. พระ​ยะโฮวา​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​อย่าง​ไร​ใน​การ​ติด​ต่อ​กับ​ชน​ชาติ​ยิศราเอล?

10 เพื่อ​จะ​สำเร็จ​ผล​ใน​การ​ฝึก​อบรม​บุตร บิดา​มารดา​ต้อง​พยายาม​เปิด​กว้าง​ไว้​เสมอ​สำหรับ​การ​สื่อ​ความ​กับ​บุตร​ที่​ยัง​เล็ก. แม้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทราบ​ดี​ถึง​สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​หัวใจ​เรา พระองค์​ทรง​สนับสนุน​เรา​ให้​สื่อ​ความ​กับ​พระองค์. (1 โครนิกา 28:9) หลัง​จาก​ประทาน​พระ​บัญญัติ​แก่​ชน​ชาติ​ยิศราเอล พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอบหมาย​ชาว​เลวี​ให้​สอน​พวก​เขา และ​พระองค์​ทรง​ส่ง​ผู้​พยากรณ์​ให้​หา​เหตุ​ผล​กับ​พวก​เขา​และ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​พวก​เขา. นอก​จาก​นั้น พระองค์​ทรง​แสดง​ความ​เต็ม​พระทัย​ที่​จะ​ฟัง​คำ​อธิษฐาน​ของ​พวก​เขา​ด้วย.—2 โครนิกา 17:7-9; บทเพลง​สรรเสริญ 65:2; ยะซายา 1:1-3, 18-20; ยิระมะยา 25:4; ฆะลาเตีย 3:22-24.

11. (ก) บิดา​มารดา​จะ​ส่ง​เสริม​การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี​กับ​บุตร​ได้​อย่าง​ไร? (ข) เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​บิดา​มารดา​จะ​เป็น​ผู้​ฟัง​ที่​ดี​เมื่อ​สื่อ​ความ​กับ​บุตร?

11 บิดา​มารดา​จะ​เลียน​แบบ​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​ได้​อย่าง​ไร​เมื่อ​สื่อ​ความ​กับ​บุตร? ประการ​แรก​สุด​คือ พวก​เขา​ต้อง​ให้​เวลา​แก่​บุตร. นอก​จาก​นั้น บิดา​มารดา​ควร​หลีก​เลี่ยง​การ​แสดง​ความ​เห็น​ที่​ไม่​ยั้ง​คิด​เป็น​เชิง​เย้ย​หยัน อย่าง​เช่น “แค่​นี้​เอง​เหรอ? นึก​ว่า​มี​อะไร​สำคัญ​นัก​หนา”; “เรื่อง​ขี้ปะติ๋ว​แค่​นี้​เอง”; “ลูก​จะ​คาด​หมาย​อะไร​มาก​กว่า​นี้​ล่ะ? ลูก​ยัง​เด็ก​อยู่.” (สุภาษิต 12:18) เพื่อ​จะ​สนับสนุน​บุตร​ให้​เปิด​เผย​ความ​รู้สึก บิดา​มารดา​ที่​ฉลาด​สุขุม​พยายาม​เป็น​ผู้​ฟัง​ที่​ดี. บิดา​มารดา​ที่​ไม่​ใส่​ใจ​บุตร​เมื่อ​ยัง​เล็ก​อาจ​พบ​ว่า​เมื่อ​บุตร​เติบโต​ขึ้น​พวก​เขา​ก็​อาจ​ไม่​ได้​รับ​ความ​สนใจ​จาก​บุตร​ด้วย​เหมือน​กัน. พระ​ยะโฮวา​ทรง​เต็ม​พระทัย​สดับ​ฟัง​ไพร่พล​ของ​พระองค์​เสมอ. พระองค์​ทรง​เปิด​พระ​กรรณ​ไว้​เสมอ​สำหรับ​คน​ที่​ถ่อม​ใจ​ลง​และ​เข้า​เฝ้า​พระองค์​ใน​คำ​อธิษฐาน.—บทเพลง​สรรเสริญ 91:15; ยิระมะยา 29:12; ลูกา 11:9-13.

12. คุณลักษณะ​อะไร​ของ​บิดา​มารดา​ที่​อาจ​ทำ​ให้​ง่าย​ขึ้น​ที่​บุตร​จะ​เข้า​หา?

12 ขอ​ให้​พิจารณา​ด้วย​เช่น​กัน​ถึง​วิธี​ที่​แง่​มุม​บาง​ประการ​เกี่ยว​กับ​บุคลิกภาพ​ของ​พระเจ้า​ทำ​ให้​ไพร่พล​ของ​พระองค์​สามารถ​เข้า​เฝ้า​พระองค์​ได้​อย่าง​อิสระ. ยก​ตัว​อย่าง กษัตริย์​ดาวิด​แห่ง​ชาติ​ยิศราเอล​โบราณ​ทำ​ผิด​ร้ายแรง​ด้วย​การ​เป็น​ชู้​กับ​นาง​บัธเซบะ. เนื่อง​จาก​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์ ดาวิด​ทำ​ผิด​ร้ายแรง​อื่น ๆ ใน​ชีวิต​ท่าน. ถึง​กระนั้น ท่าน​ไม่​เคย​ลืม​เข้า​เฝ้า​พระ​ยะโฮวา​และ​ทูล​ขอ​การ​ให้​อภัย​และ​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​จาก​พระองค์. ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า ความ​รัก​กรุณา​และ​ความ​เมตตา​ของ​พระเจ้า​ทำ​ให้​ง่าย​ขึ้น​สำหรับ​ดาวิด​ที่​จะ​หัน​ไป​พึ่ง​พระองค์. (บทเพลง​สรรเสริญ 103:8) โดย​แสดง​คุณลักษณะ​แบบ​พระเจ้า​อย่าง​เช่น​ความ​เมตตา​สงสาร บิดา​มารดา​สามารถ​ช่วย​รักษา​เส้น​ทาง​แห่ง​การ​สื่อ​ความ​ให้​เปิด​กว้าง​เสมอ แม้​แต่​เมื่อ​บุตร​ทำ​ผิด.—บทเพลง​สรรเสริญ 103:13; มาลาคี 3:17.

จง​มี​เหตุ​ผล

13. การ​มี​เหตุ​ผล​หมาย​รวม​ถึง​อะไร?

13 เมื่อ​ฟัง​บุตร​พูด บิดา​มารดา​ต้อง​มี​เหตุ​ผล​และ​แสดง​ออก​ซึ่ง “สติ​ปัญญา​ที่​มา​จาก​เบื้อง​บน.” (ยาโกโบ 3:17) อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ไว้​ว่า “ให้​ความ​มี​เหตุ​ผล​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ปรากฏ​แก่​คน​ทั้ง​ปวง.” (ฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.) การ​มี​เหตุ​ผล​มี​ความหมาย​เช่น​ไร? คำ​นิยาม​หนึ่ง​ของ​คำ​ใน​ภาษา​กรีก​ซึ่ง​แปล​ใน​ที่​นี้​ว่า “มี​เหตุ​ผล” คือ “ไม่​ยืนกราน​ตาม​กฎหมาย​โดย​เคร่งครัด.” ใน​ขณะ​ที่​ยึด​มั่น​และ​เชิดชู​มาตรฐาน​ด้าน​ศีลธรรม​และ​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​หนักแน่น บิดา​มารดา​จะ​แสดง​ความ​มี​เหตุ​ผล​ได้​อย่าง​ไร?

14. พระ​ยะโฮวา​ทรง​แสดง​ความ​มี​เหตุ​ผล​อย่าง​ไร​ใน​การ​ติด​ต่อ​กับ​โลต?

14 พระ​ยะโฮวา​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​โดด​เด่น​ใน​เรื่อง​ความ​มี​เหตุ​ผล. (บทเพลง​สรรเสริญ 10:17) เมื่อ​พระองค์​ทรง​กระตุ้น​โลต​และ​ครอบครัว​ให้​ออก​จาก​เมือง​ซะโดม​ที่​กำลัง​จะ​พินาศ โลต “ยัง​รีรอ.” ต่อ​มา เมื่อ​ทูตสวรรค์​ของ​พระ​ยะโฮวา​เรียก​ให้​ท่าน​หนี​ไป​ยัง​ภูมิภาค​แถบ​ภูเขา โลต​กล่าว​ว่า “จะ​หนี​ไป​ที่​เนิน​เขา​ไม่​ได้ . . . ดู​ซิ​เมือง​โน้น [โศอาร์] อยู่​ใกล้​พอ​ที่​จะ​หนี​ไป​ถึง​ได้​และ​เป็น​เมือง​เล็ก ขอ​ให้​ข้าพเจ้า​หนี​ไป​ที่​นั่น เมือง​นั้น​เป็น​เมือง​เล็ก ๆ.” พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตอบ​อย่าง​ไร? พระองค์​ตรัส​ว่า “เรา​อนุญาต​เรื่อง​นี้ คือ​เรา​จะ​ไม่​ทำลาย​เมือง​ที่​เจ้า​พูด​ถึง​นั้น​เสีย.” (เยเนซิศ 19:16-21, 30, ฉบับ​แปล​ใหม่) พระ​ยะโฮวา​ทรง​เต็ม​พระทัย​ทำ​ตาม​คำ​ขอ​ของ​โลต. จริง​อยู่ บิดา​มารดา​จำเป็น​ต้อง​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​มาตรฐาน​ที่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​วาง​ไว้​ใน​พระ​คำ​ของ​พระองค์ คือ​คัมภีร์​ไบเบิล. ถึง​กระนั้น ใน​บาง​กรณี​เขา​อาจ​อนุญาต​ให้​ตาม​ความ​ปรารถนา​ของ​บุตร​เมื่อ​ไม่​ขัด​กับ​หลัก​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.

15, 16. บิดา​มารดา​จะ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ที่​พบ​ใน​ยะซายา 28:24, 25?

15 การ​แสดง​ความ​มี​เหตุ​ผล​หมาย​รวม​ถึง​การ​เตรียม​หัวใจ​ของ​เด็ก​ให้​พร้อม​รับ​คำ​แนะ​นำ. โดย​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ ยะซายา​เปรียบ​พระ​ยะโฮวา​กับ​เกษตรกร​ดัง​นี้: “เขา​ผู้​ไถ​นา​เพื่อ​หว่าน​ไถ​อยู่​เสมอ​หรือ เขา​เบิก​ดิน​และ​คราด​อยู่​เป็น​นิตย์​หรือ เมื่อ​เขา​ปราบ​ผิว​ลง​แล้ว​เขา​ไม่​หว่าน​เทียน​แดง​และ​ยี่หร่า เขา​ไม่​ใส่​ข้าว​สาลี​เป็น​แถว​และ​ข้าว​บารลี​ใน​ที่​อัน​เหมาะ​ของ​มัน และ​หว่าน​ข้าว​สแปลต์​ไว้​เป็น​คัน​แดน​หรือ?”—ยะซายา 28:24, 25, ฉบับ​แปล​ใหม่.

16 พระ​ยะโฮวา​ทรง “ไถ​นา​เพื่อ​หว่าน” และ​ทรง “เบิก​ดิน​และ​คราด.” โดย​วิธี​นั้น พระองค์​ทรง​เตรียม​หัวใจ​ไพร่พล​ของ​พระองค์​ก่อน​จะ​ตี​สอน​พวก​เขา. ใน​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​บุตร บิดา​มารดา​จะ “ไถ” หัวใจ​ของ​บุตร​ได้​โดย​วิธี​ใด? บิดา​คน​หนึ่ง​เลียน​แบบ​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​เมื่อ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​บุตร​ชาย​วัย​สี่​ขวบ. เมื่อ​ลูก​ชาย​ไป​ชก​เด็ก​คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใกล้​บ้าน ที​แรก​ผู้​เป็น​พ่อ​ฟัง​ข้อ​แก้​ตัว​ของ​ลูก​ชาย​อย่าง​อด​ทน. จาก​นั้น เพื่อ​จะ “ไถ” หัวใจ​ของ​ลูก​ชาย พ่อ​จึง​เล่า​เรื่อง​ของ​เด็ก​ตัว​เล็ก ๆ คน​หนึ่ง​ซึ่ง​พบ​กับ​ความ​เดือดร้อน​อย่าง​มาก​เพราะ​ถูก​เด็ก​เกเร​คน​หนึ่ง​รังแก. เมื่อ​ได้​ฟัง​เรื่อง​อย่าง​นั้น หนู​น้อย​คน​นี้​ถูก​กระตุ้น​ใจ​จน​ถึง​กับ​พูด​ออก​มา​ว่า​เด็ก​เกเร​คน​นั้น​ต้อง​ถูก​ลง​โทษ. การ “ไถ” เช่น​นั้น​เตรียม​หัวใจ​ของ​เด็ก​คน​นี้​ไว้ และ​ทำ​ให้​ง่าย​ขึ้น​สำหรับ​เขา​ที่​จะ​เห็น​ว่า​การ​ชก​เด็ก​ที่​อยู่​ใกล้​บ้าน​คน​นั้น​เป็น​การ​รังแก​ผู้​อื่น​อย่าง​หนึ่ง​และ​เป็น​เรื่อง​ผิด.—2 ซามูเอล 12:1-14.

17. ยะซายา 28:26-29 ให้​บทเรียน​อะไร​ใน​เรื่อง​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​ของ​บิดา​มารดา?

17 ยะซายา​เปรียบ​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​ของ​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​ไป​กับ​ขั้น​ตอน​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​ทำ​นา—การ​นวด. ชาว​นา​ใช้​เครื่อง​มือ​นวด​หลาย ๆ อย่าง ขึ้น​อยู่​กับ​ความ​เหนียว​ของ​เปลือก​เมล็ด. ไม้​แท่ง​ใช้​นวด​เมล็ด​ต้น​เทียน​และ​ไม้​ตะบอง​ใช้​นวด​เมล็ด​ยี่หร่า แต่​จะ​ใช้​เลื่อน​หรือ​ล้อ​เกวียน​เพื่อ​นวดเปลือก​เมล็ด​ที่​เหนียว​กว่า. แต่​เขา​จะ​ไม่​นวด​เมล็ด​ที่​นวด​ยาก​ถึง​ขนาด​ที่​ทำ​ให้​มัน​แหลก​ไป. เช่น​เดียว​กัน เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​จะ​ขจัด​สิ่ง​ใด ๆ ที่​ไม่​พึง​ปรารถนา​ใน​ตัว​ไพร่พล​ของ​พระองค์ พระองค์​ทรง​ใช้​วิธี​การ​ต่าง ๆ กัน ขึ้น​อยู่​กับ​ความ​จำเป็น และ​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​เป็น​อยู่. พระองค์​ไม่​เคย​ใช้​อำนาจ​ข่มเหง​หรือ​รุนแรง. (ยะซายา 28:26-29) เด็ก​บาง​คน เพียง​แค่​บิดา​มารดา​ปราย​ตา​มอง​ก็​รู้​ตัว​แล้ว ไม่​จำเป็น​ต้อง​ทำ​อะไร​อีก. แต่​เด็ก​บาง​คน​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​ย้ำ​เตือน​บ่อย ๆ และ​บาง​คน​อาจ​ต้อง​ใช้​วิธี​ชักจูง​ที่​แรง​กว่า​นั้น. บิดา​มารดา​ที่​มี​เหตุ​ผล​จะ​ใช้​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​ตาม​ความ​จำเป็น​ของ​เด็ก​แต่​ละ​คน.

จง​ทำ​ให้​การ​พิจารณา​กับ​ครอบครัว​น่า​เพลิดเพลิน

18. บิดา​มารดา​อาจ​จัด​เวลา​สำหรับ​การ​ศึกษา​กับ​ครอบครัว​เป็น​ประจำ​ได้​อย่าง​ไร?

18 หนึ่ง​ใน​บรรดา​วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​สั่ง​สอน​บุตร​คือ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​ครอบครัว​เป็น​ประจำ และ​การ​พิจารณา​ข้อ​พระ​คัมภีร์​ประจำ​วัน. การ​ศึกษา​กับ​ครอบครัว​บังเกิด​ผล​มาก​ที่​สุด​เมื่อ​ทำ​อย่าง​สม่ำเสมอ. หาก​ทำ​กัน​สุด​แล้ว​แต่​โอกาส​หรือ​ไม่​มี​การ​วาง​แผน อย่าง​ดี​ที่​สุด​ก็​คง​นาน ๆ จะ​ได้​ศึกษา​กัน​สัก​ครั้ง. ดัง​นั้น บิดา​มารดา​ต้อง “ซื้อ​โอกาส​มา​ใช้” สำหรับ​การ​ศึกษา. (เอเฟโซ 5:15-17) การ​เลือก​เวลา​ที่​แน่นอน​และ​สะดวก​สำหรับ​ทุก​คน​อาจ​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย. หัวหน้า​ครอบครัว​คน​หนึ่ง​พบ​ว่า​ขณะ​ที่​ลูก​โต​ขึ้น​เรื่อย ๆ ตาราง​เวลา​ที่​แตกต่าง​กัน​ของ​ลูก​ทำ​ให้​เป็น​เรื่อง​ยาก​ยิ่ง​ขึ้น​ที่​ครอบครัว​จะ​อยู่​พร้อม​หน้า​กัน. กระนั้น ครอบครัว​ของ​เขา​จะ​อยู่​ด้วย​กัน​เสมอ​ใน​คืน​ที่​มี​การ​ประชุม​ประชาคม. ด้วย​เหตุ​นั้น ผู้​เป็น​พ่อ​จึง​จัด​ให้​มี​การ​ศึกษา​กับ​ครอบครัว​ใน​คืน​หนึ่ง​ของ​วัน​ที่​มี​การ​ประชุม. การ​จัด​อย่าง​นี้​ได้​ผล​ดี. ใน​ตอน​นี้ ลูก​ทั้ง​สาม​คน​ของ​เขา​เป็น​ผู้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​รับ​บัพติสมา​แล้ว.

19. บิดา​มารดา​จะ​เลียน​แบบ​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​ได้​อย่าง​ไร​เมื่อ​นำ​การ​ศึกษา​กับ​ครอบครัว?

19 อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพียง​แค่​พิจารณา​เนื้อหา​ใน​พระ​คัมภีร์​ระหว่าง​ที่​ศึกษา​ด้วย​กัน​ยัง​ไม่​เพียง​พอ. พระ​ยะโฮวา​ทรง​สอน​ชน​ชาติ​ยิศราเอล​ที่​กลับ​สู่​มาตุภูมิ​โดย​ทาง​เหล่า​ปุโรหิต ซึ่ง “อธิบาย​ให้​คน​ทั้ง​ปวง​รู้​เนื้อ​ความ​ที่​อ่าน​นั้น.” (นะเฮมยา 8:8) บิดา​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใน​การ​ช่วย​บุตร​ทั้ง​เจ็ด​คน​ให้​รัก​พระ​ยะโฮวา​จะ​ปลีก​ตัว​เข้า​ห้อง​ของ​เขา​ก่อน​การ​ศึกษา​กับ​ครอบครัว​เสมอ​เพื่อ​เตรียม​ส่วน ปรับ​เนื้อหา​ให้​เหมาะ​กับ​ความ​จำเป็น​ของ​บุตร​แต่​ละ​คน. เขา​ทำ​ให้​การ​ศึกษา​เป็น​เรื่อง​น่า​เพลิดเพลิน​สำหรับ​บุตร. บุตร​ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ตอน​นี้​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว​เล่า​ว่า “การ​ศึกษา​เป็น​เรื่อง​น่า​เพลิดเพลิน​เสมอ. หาก​เรา​กำลัง​เล่น​บอล​กัน​อยู่​ที่​สนาม​หลังบ้าน พอ​ถูก​เรียก​ให้​ไป​ศึกษา​กับ​ครอบครัว​เรา​จะ​เก็บ​บอล​ทันที​และ​วิ่ง​เข้า​บ้าน พร้อม​จะ​ศึกษา. เย็น​วัน​ที่​มี​การ​ศึกษา​กับ​ครอบครัว​เป็น​วัน​หนึ่ง​ที่​น่า​เพลิดเพลิน​ที่​สุด​ใน​สัปดาห์.”

20. อาจ​เกิด​ปัญหา​อะไร​ขึ้น​ได้​ใน​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​บุตร​ซึ่ง​ยัง​จะ​ต้อง​พิจารณา​กัน​ต่อ​ไป?

20 ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ประกาศ​ดัง​นี้: “จง​ดู​เถิด, การ​มี​บุตร​ชาย​หญิง​ย่อม​เป็น​ของ​ประทาน​มา​แต่​พระ​ยะโฮวา; และ​การ​ตั้ง​ครรภ์​นั้น​คือ​รางวัล​ของ​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 127:3) การ​ฝึก​อบรม​บุตร​ต้อง​ใช้​เวลา​และ​ความ​พยายาม แต่​การ​ทำ​เช่น​นั้น​อย่าง​เหมาะ​สม​อาจ​หมาย​ถึง​ชีวิต​นิรันดร์​สำหรับ​บุตร​วัย​เยาว์​ของ​เรา. นั่น​คง​จะ​เป็น​บำเหน็จ​ที่​ดี​เยี่ยม​สัก​เพียง​ไร! ดัง​นั้น ขอ​ให้​เรา​ตั้งใจ​เลียน​แบบ​อย่าง​พระ​ยะโฮวา​เมื่อ​ฝึก​อบรม​บุตร. อย่าง​ไร​ก็​ตาม แม้​ว่า​บิดา​มารดา​ได้​รับ​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ใน​การ “อบรม​เลี้ยง​ดู [บุตร] . . . ด้วย​การ​ตี​สอน​และ​การ​ปรับ​ความ​คิด​จิตใจ​ตาม​หลักการ​ของ​พระ​ยะโฮวา” แต่​ก็​ไม่​มี​อะไร​รับประกัน​ว่า​จะ​ประสบ​ผล​สำเร็จ. (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) แม้​แต่​เมื่อ​ดู​แล​อย่าง​ดี​ที่​สุด​แล้ว บุตร​ก็​อาจ​กลาย​เป็น​คน​ขืน​อำนาจ​และ​เลิก​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ได้. หาก​เป็น​อย่าง​นั้น​จะ​ทำ​อย่าง​ไร? นั่น​คือ​เรื่อง​ที่​จะ​พิจารณา​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 ประสบการณ์​ที่​ลง​ใน​บทความ​นี้​และ​บทความ​ถัด​ไป​อาจ​มา​จาก​ดินแดน​ที่​มี​วัฒนธรรม​ต่าง​ไป​จาก​วัฒนธรรม​ของ​คุณ. โปรด​สังเกต​หลักการ​ที่​เกี่ยว​ข้อง และ​ใช้​หลักการ​นั้น​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ทาง​วัฒนธรรม​ของ​คุณ.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• บิดา​มารดา​จะ​เลียน​แบบ​อย่าง​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา​ดัง​พรรณนา​ไว้​ที่​พระ​บัญญัติ 32:11, 12 ได้​โดย​วิธี​ใด?

• คุณ​ได้​เรียน​รู้​อะไร​จาก​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​สื่อ​ความ​กับ​ชน​ชาติ​ยิศราเอล?

• การ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ฟัง​คำ​ขอ​ของ​โลต​สอน​เรา​ใน​เรื่อง​ใด?

• คุณ​ได้​บทเรียน​อะไร​ใน​เรื่อง​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​บุตร​จาก​ยะซายา 28:24-29?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 8, 9]

โมเซ​เปรียบ​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ฝึก​อบรม​ไพร่พล​ของ​พระองค์​กับ​วิธี​ที่​นก​อินทรี​ฝึก​ลูก​น้อย​ของ​มัน

[ภาพ​หน้า 10]

บิดา​มารดา​จำเป็น​ต้อง​ให้​เวลา​แก่​บุตร

[ภาพ​หน้า 12]

“เย็น​วัน​ที่​มี​การ​ศึกษา​กับ​ครอบครัว​เป็น​วัน​หนึ่ง​ที่​น่า​เพลิดเพลิน​ที่​สุด​ใน​สัปดาห์”