ชีวิตที่ประสบความประหลาดใจหลายครั้งในงานรับใช้พระยะโฮวา
เรื่องราวชีวิตจริง
ชีวิตที่ประสบความประหลาดใจหลายครั้งในงานรับใช้พระยะโฮวา
เล่าโดยเอริกและเฮเซล เบฟเวอริดจ์
“ด้วยเหตุนี้ ศาลขอพิพากษาลงโทษจำคุกเธอหกเดือน.” คำตัดสินนั้นยังแว่วอยู่ในหูเมื่อเขานำผมไปที่เรือนจำสเตรนจ์เวส์ ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ. เรื่องนี้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 1950 และผมอายุ 19 ปี. ผมเพิ่งเผชิญการทดสอบครั้งหนึ่งที่หนักมากในชีวิตวัยหนุ่มของผมทั้งนี้เพราะผมปฏิเสธการเข้ารับราชการทหาร.—2 โกรินโธ 10:3-5.
ผมเป็นพยานพระยะโฮวาทำงานรับใช้เต็มเวลาในฐานะไพโอเนียร์ ซึ่งน่าจะได้รับการยกเว้นจากการเป็นทหาร แต่กฎหมายประเทศอังกฤษไม่รับรองสถานภาพของเรา. ดังนั้น ท้ายสุดผมจึงต้องมาอยู่คนเดียวในคุก. และผมคิดถึงพ่อ. โดยอ้อมแล้ว ผมติดคุกเนื่องจากพ่อ.
ขอให้ผมเล่าให้ฟัง พ่อผมเป็นผู้บังคับการเรือนจำ เป็นคนยอร์กเชียร์ที่มีความเชื่อมั่นและมีหลักศีลธรรมสูงส่ง. เนื่องจากท่านผ่านประสบการณ์มามากในการทำงาน ทั้งในหน่วยทหารและในเรือนจำฐานะเป็นผู้บังคับการ ท่านเกลียดศาสนานิกายโรมันคาทอลิกอย่างฝังใจ. ท่านได้พบพยานพระยะโฮวาครั้งแรกเมื่อต้นทศวรรษ 1930 เมื่อท่านไปที่ประตูหมายจะขับพยานฯ ไปให้พ้นบ้าน แต่ท่านกลับได้หนังสือบางเล่มของพวกเขาติดมือเข้ามา! หลังจากนั้น ท่านเป็นสมาชิกบอกรับวารสารคอนโซเลชัน (เวลานี้เรียกว่า ตื่นเถิด! ). แต่ละปีพวกพยานฯ มาเยี่ยมท่านเพื่อกระตุ้นให้ต่ออายุการบอกรับ. ตอนที่ผมอายุประมาณ 15 ปี พยานฯ เคยชวนพ่อให้ถกหาเหตุผลในเรื่องอื่น ๆ ด้วยกัน และผมได้ร่วมวงสนทนาและเข้าข้างพวกพยานฯ. ผมเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในช่วงนี้เอง.
เมื่ออายุ 17 ปี ผมแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาด้วยการรับบัพติสมาในเดือนมีนาคม 1949. ต่อมา ในปีเดียวกัน ผมได้รู้จักจอห์นและไมเคิล ชารุก สองพี่น้องซึ่งเพิ่งจบจากกิเลียด โรงเรียนอบรมมิชชันนารี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปประเทศไนจีเรีย. น้ำใจมิชชันนารี
ของเขาสร้างความประทับใจอย่างลึกซึ้งแก่ผม. ไม่ว่าคนทั้งสองตระหนักในเรื่องนี้หรือไม่ เขาได้เป็นผู้ปลูกฝังน้ำใจมิชชันนารีในหัวใจของผม.ในช่วงที่ผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ผมหมดความสนใจที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย. ผมจากบ้านไปอยู่ลอนดอน ทำงานที่กรมศุลกากร ฝ่ายจัดเก็บภาษี ผมอยู่ได้ไม่ถึงปีก็รู้สึกว่าถ้าผมยังขืนรับราชการอยู่ต่อไป ผมคงไม่สามารถทำให้สำเร็จตามการอุทิศตัวแด่พระเจ้าได้. ตอนที่ผมลาออกจากงาน เพื่อนข้าราชการคนหนึ่งที่ทำงานมานานกล่าวแสดงความยินดีที่ผมได้สลัดทิ้ง “ภารกิจที่ทำลายน้ำใจของคนเรา.”
ก่อนหน้านี้ ผมเผชิญการทดสอบอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ผมจะบอกพ่ออย่างไรว่าผมต้องการลาออกจากงานที่มั่นคงเพื่อจะเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา. เย็นวันหนึ่งในช่วงพักร้อน ขณะอยู่ที่บ้าน ผมบอกข่าวซึ่งคนฟังอาจถึงกับตกตะลึง. ผมรอพ่อจะระเบิดคำพูดออกมาทันควัน. แต่แล้วผมต้องประหลาดใจเมื่อพ่อเพียงแต่พูดว่า “ใครปลูกเรือน คนนั้นก็ต้องอยู่. แต่ถ้าไม่สำเร็จ อย่าวิ่งกลับมาหาพ่อก็แล้วกัน.” ผมจดลงในสมุดบันทึกประจำวันวันที่ 1 มกราคม 1950 ดังนี้: “บอกพ่อแล้วเรื่องงานไพโอเนียร์. ฉันประหลาดใจสุด ๆ เลยที่พ่อไม่ว่าอะไรซึ่งช่วยได้มาก. ความเมตตากรุณาของท่านทำให้ฉันต้องร้องไห้.” ผมลาออกจากราชการแล้วรับเอาหน้าที่มอบหมายเป็นไพโอเนียร์เต็มเวลา.
หน้าที่มอบหมายพร้อมกับ “กระท่อม”
แล้วก็มาถึงการทดสอบครั้งต่อมาในเรื่องความเชื่อมั่นศรัทธาของผมต่อพระเจ้า. ผมได้รับการเสนองานมอบหมายเป็นไพโอเนียร์ ให้ไปอยู่ “กระท่อม” ในเมืองแลงคาเชียร์ร่วมกับลอยด์ กริฟฟิตส์เพื่อนคริสเตียนจากเวลส์. ผมไปถึงเบคัปซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ท้องฟ้าครึ้มและมีฝนชุก ด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยอุดมการณ์และความคิดฝันถึงกระท่อมน้อยหลังนั้น. ในไม่ช้า ผมก็เผชิญความเป็นจริงเมื่อกระท่อมน้อยหลังนั้นก็คือห้องใต้ถุนตึก! ตกกลางคืนเรามีหนูและแมลงสาบเป็นเพื่อน. ผมเกือบเปลี่ยนใจและคิดจะกลับบ้านเสียแล้ว. ทว่า ผมเฝ้าอธิษฐานในใจขอให้ผมเข้มแข็งในการเผชิญการทดสอบครั้งนี้. จิตใจผมสงบลงทันทีทันใด และผมเริ่มมองสภาพการณ์ตามความเป็นจริง. นี่คืองานมอบหมายที่ผมได้รับจากองค์การของพระยะโฮวา. ผมจะไว้วางใจพระยะโฮวาในการช่วยเหลือ. ผมรู้สึกขอบคุณเหลือเกินที่ผมทนสู้สภาพดังกล่าวมาได้ เพราะหากผมเลิกเสียกลางคัน วิถีชีวิตของผมคงเปลี่ยนไปตลอดกาล!—ยะซายา 26:3, 4.
ผมทำงานเผยแพร่ประมาณเก้าเดือนในแถบหุบเขารอสเซนเดล ซึ่งในช่วงนั้นภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ แล้วหลังจากนั้นผมถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเนื่องจากปฏิเสธไม่รับราชการทหาร. ผมถูกจำคุกในเรือนจำสเตรนจ์เวส์สองสัปดาห์ แล้วมีคำสั่งให้ผมย้ายไปอยู่เรือนจำลูเอส บนฝั่งทะเลตอนใต้ของอังกฤษ. ในที่สุด พวกเราพยานฯ ห้าคนได้มาอยู่รวมกันที่เรือนจำแห่งนี้ และพวกเราสามารถจัดการประชุมอนุสรณ์ระลึกการวายพระชนม์ของพระคริสต์ภายในห้องขังนักโทษ.
คุณพ่อได้มาเยี่ยมผมครั้งเดียว. ทั้งนี้คงต้องเป็นการทดสอบความหยิ่งในศักดิ์ศรีของท่าน—ผู้บังคับการเรือนจำที่ใคร ๆ ก็รู้จักได้เดินทางมาเยี่ยมลูกชายที่เป็นนักโทษ! ผมจะระลึกถึงการเยี่ยมครั้งนั้นด้วยความขอบคุณเสมอ. แล้วในที่สุด เดือนเมษายน 1951 ผมก็ได้รับอิสรภาพ.
พอผมออกจากคุกที่เมืองลูเอส ผมจับรถไฟไปเมืองคาร์ดิฟฟ์ รัฐเวลส์ ซึ่งเวลานั้น พ่อผมเป็นผู้บังคับการเรือนจำที่นั่น. ผมเป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้องสี่คน—ชายสาม หญิงหนึ่ง. ผมต้องหางานพิเศษที่ไม่ต้องทำเต็มเวลาเพื่อเลี้ยงตัวเอง และยังคงเป็นไพโอเนียร์ได้ต่อไป. ผมได้งานทำที่ร้านเสื้อผ้า แต่จุดมุ่งหมายหลักในชีวิตของผมคืองานรับใช้ฝ่ายคริสเตียน. แม่ได้ทิ้งพวกเราไปประมาณช่วงเวลานี้. เหตุการณ์นั้นก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพ่อรวมทั้งพวกเราอายุระหว่าง 8 ถึง 19 ปีซึ่งยังอยู่ในวัยเยาว์. น่าเศร้า พ่อแม่ของเราได้หย่าขาดจากกัน.
มีใครพบภรรยาที่ดี . . .
มีไพโอเนียร์หลายคนในประชาคม. หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นซิสเตอร์จากหุบเขารอนด์ดาที่ทำเหมืองถ่านหิน ซึ่งทุกวันเธอลงมาทำงานหารายได้และประกาศเผยแพร่ด้วย. เธอชื่อ เฮเซล กรีน เป็นไพโอเนียร์ที่น่าชมเชยจริง ๆ. เฮเซลรู้ความจริงก่อนผมหลายปี พ่อแม่ของเธอได้เข้าร่วมการประชุมของนักศึกษาพระคัมภีร์ (เวลานี้คือพยานพระยะโฮวา) ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1920. แต่ให้เฮเซลเล่าเรื่องของเธอเอง.
“ดิฉันไม่ค่อยใส่ใจเรื่องคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจัง จนกระทั่งปี 1944 เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มเล็กศาสนาเกี่ยวเก็บ
ลมบ้าหมู (ภาษาอังกฤษ). แม่พยายามโน้มน้าวดิฉันให้ไปร่วมการประชุมหมวดที่คาร์ดิฟฟ์. ทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านคัมภีร์ไบเบิล แต่ดิฉันก็ไปอยู่แถวศูนย์การค้าพร้อมกับมีป้ายกระดาษแข็งคล้องคอโฆษณาการบรรยายสาธารณะ. ดิฉันผ่านประสบการณ์ครั้งนั้นมาได้ ทั้ง ๆ ที่มีการก่อกวนของนักเทศน์นักบวชและคนอื่น ๆ. ดิฉันรับบัพติสมาในปี 1946 และเริ่มงานไพโอเนียร์เดือนธันวาคมปีเดียวกัน. แล้วในปี 1951 ไพโอเนียร์หนุ่มคนหนึ่งเพิ่งพ้นโทษจำคุกได้มาที่เมืองคาร์ดิฟฟ์. เอริกนั่นเอง.“เราออกประกาศด้วยกัน. เราไปกันได้ดี. เราต่างก็ตั้งเป้าหมายในชีวิตเหมือนกัน คือส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. ดังนั้น เราตกลงแต่งงานกันในเดือนธันวาคม 1952. ถึงแม้เราสองคนรับใช้เต็มเวลาฐานะไพโอเนียร์ และมีรายได้ที่ต้องจำกัดจำเขี่ย เราก็ไม่เคยขัดสนสิ่งจำเป็นพื้นฐานใด ๆ เลย. บางครั้งเราได้ของจากเพื่อนพยานฯ ซึ่งเผอิญสั่งซื้อแยมหรือสบู่ไว้มากไปจึงแบ่งปันให้เรา—และเป็นเวลาที่เราต้องการพอดี! เราหยั่งรู้ค่าเป็นอย่างมากสำหรับการแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อเช่นนั้น. แต่เรายังจะประสบสิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจมากกว่านั้นอีกหลายอย่าง.”
ความประหลาดใจที่ได้เปลี่ยนชีวิตของเรา
เดือนพฤศจิกายน 1954 ผมกับเฮเซลประหลาดใจเนื่องจากไม่เคยคาดคิดมาก่อน นั่นคือ มีแบบฟอร์มจากสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในกรุงลอนดอน มอบหมายผมเป็นผู้ดูแลเดินทางเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ แต่ละสัปดาห์. เรามั่นใจว่าเรื่องนี้เป็นการผิดพลาด ฉะนั้นจึงไม่ได้บอกใคร ๆ ในประชาคม. อย่างไรก็ดี ผมกรอกแบบฟอร์มแล้วส่งกลับ และรอด้วยความกระวนกระวาย. ไม่กี่วันต่อมา เราได้รับคำตอบ: “ไปลอนดอนรับการอบรม”!
ณ สำนักงานที่ลอนดอน ผมไม่อยากเชื่อเลยว่า ตัวเองซึ่งอายุ 23 ปีจะได้อยู่ที่นั่นกับพี่น้องที่โดดเด่นหลายคน ซึ่งสำหรับผมแล้วมองพี่น้องเหล่านี้ล้วนมากด้วยความสามารถฝ่ายวิญญาณ อาทิ บราเดอร์ไพรซ์ ฮิวส์, เอมลีน วีนส์, เออร์นี บีเวอร์, เออร์นี ไกเวอร์, บ๊อบ โก, กลินน์ พารร์, สแตนและมาร์ติน วูดเบิร์นและอีกหลายคน ส่วนใหญ่สิ้นชีวิตแล้ว. คนเหล่านี้ได้วางพื้นฐานอันแน่นหนาในด้านความกระตือรือร้นและความซื่อสัตย์มั่นคงในบริเตนย้อนไปในช่วงทศวรรษ 1940 และ 1950.
การเยี่ยมหมวดในอังกฤษไม่น่าเบื่อเลย
เราเริ่มต้นการเดินทางเยี่ยมหมวดในช่วงฤดูหนาว ปี 1944/1945 ซึ่งหิมะตกหนักมาก. เราถูกมอบหมายให้ไปที่อีสต์แองเกลีย พื้นที่ราบแห่งอังกฤษซึ่งได้รับลมหนาวโดยตรงจากทะเลเหนือ. สมัยนั้นมีพยานฯ ในบริเตนเพียง 31,000 คน. งานเยี่ยมหมวดครั้งแรกเป็นประสบการณ์อันยากยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ และก็ไม่ง่ายสำหรับพวกพี่น้องที่เราเยี่ยม. เนื่องจากผมยังอ่อนประสบการณ์และชาวยอร์กเชียร์เป็นคนเถรตรง บางครั้งผมทำให้พวกพี่น้องขุ่นเคือง. ตลอดเวลาหลายปี ผมจำต้องเรียนรู้ว่าความกรุณาสำคัญยิ่งกว่าประสิทธิภาพ และคนก็สำคัญกว่าวิธีดำเนินการ. ผมยังต้องพยายามปฏิบัติตามแบบอย่างที่พระเยซูวางไว้ คือทำให้ผู้อื่นสดชื่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป.—มัดธาย 11:28-30.
หลังจาก 18 เดือนในอีสต์แองเกลีย เราถูกมอบหมายไปปฏิบัติงานหมวดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ ที่เมืองนิวคาสเซิลบนฝั่งแม่น้ำไทน์และนอร์ททัมเบอร์แลนด์. ผมรักประชาชนผู้มีน้ำใจอารีอารอบที่อาศัยอยู่ตามภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติแถบนั้น. การช่วยเหลืออันใหญ่ยิ่งที่ผมได้รับคือการเยี่ยมของดอน วอร์ดผู้ดูแลภาค ซึ่งมาจากซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา. เขาเรียนจบกิเลียดรุ่น 20. เมื่อผมบรรยาย ผมมักจะพูดเร็วมาก. เขาได้สอนผมให้พูดช้าลง, หยุดเป็นช่วง ๆ, และสั่งสอน.
ความประหลาดใจอีกเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา
ปี 1958 เราได้รับจดหมายซึ่งเปลี่ยนชีวิตของเรา. เราได้รับเชิญเข้าโรงเรียนกิเลียดในเซาท์แลนซิง รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา. เราจัดการขายรถออสตินเซเวนรุ่นปี 1935 คันเล็ก ๆ แล้วซื้อตั๋วโดยสารเรือไปนิวยอร์ก. เราเข้าร่วมการประชุมนานาชาติแห่งพยานพระยะโฮวาในนครนิวยอร์กก่อน. จากนั้นเราไปที่ปีเตอร์โบโร ออนแทรีโอ ทำงานเป็นไพโอเนียร์ที่นั่นหกเดือน ก่อนมุ่งลงใต้ไปยังโรงเรียนกิเลียด.
ผู้สอนในโรงเรียนประกอบด้วยอัลเบิร์ต ชโรเดอร์ ซึ่งตอนนี้เป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครอง, รวมทั้งแมกซ์เวลล์ เฟรนด์, และแจ็ก เรดฟอร์ดซึ่งก็สิ้นชีวิตไปแล้ว. การสมาคมคบหาท่ามกลางนักเรียน 82 คนจาก 14 ประเทศเป็นการเสริมสร้างซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง. เราเริ่มจะเข้าใจบ้างในเรื่องวัฒนธรรมของกันและกัน. การคลุกคลีใกล้ชิดกับนักเรียนต่างชาติซึ่งมุมานะเรียนภาษาอังกฤษช่วยเรารู้ปัญหาต่าง ๆ ที่เราจะเผชิญเมื่อเรียนอีกภาษาหนึ่ง. นักเรียนทั้งชั้นจบการฝึกอบรมในเวลาห้าเดือนและได้รับเขตงานมอบหมายให้ไปยัง 27 ประเทศ. ครั้นวันจบหลักสูตรผ่านไปเพียงไม่กี่วันเราก็มาอยู่ในนครนิวยอร์ก คอยเวลาลงเรือควีนเอลิซาเบท พาเรากลับยุโรป.
การมอบหมายครั้งแรกของเราในต่างประเทศ
เราถูกมอบหมายไปที่ไหน? ประเทศโปรตุเกส! เรามาถึงกรุงลิสบอนในเดือนพฤศจิกายน 1959. ตอนนี้เราถูกทดสอบเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมใหม่. ปี 1959 มีพยานพระยะโฮวา 643 คนทำงานอย่างแข็งขันในโปรตุเกส ซึ่งมีจำนวนประชากรเกือบ 9 ล้านคน. แต่กิจการงานเผยแพร่ของเรายังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย. ถึงแม้เรามีหอประชุมราชอาณาจักร แต่ไม่มีป้ายติดไว้ข้างนอก.
หลังจากเรียนภาษาโปรตุเกสกับมิชชันนารีชื่อเอลซา พิกโกนี ผมกับเฮเซลได้ไปเยี่ยมประชาคมและกลุ่มต่าง ๆ รอบ ๆ กรุงลิสบอน ที่ฟารู, เอโวรา, และเบชาเป็นต้น. พอมาในปี 1961 หลายอย่างเริ่มเปลี่ยน. ผมนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับชายหนุ่มชื่อชาเวา กอนซาวิส มาเตอุส. เขาตัดสินใจยืนหยัดฐานะคริสเตียนที่เป็นกลางในประเด็นการรับราชการทหาร. หลังจากนั้นไม่นาน ผมถูกเรียกตัวไปสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจ. ความประหลาดใจเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง! สองสามวันหลังจากนั้น เราได้รับหนังสือแจ้งให้เดินทางออกจากประเทศภายใน 30 วัน! เพื่อนมิชชันนารี อาทิ เอริกกับคริสตินา บริตเทน และดอมินิกกับเอลซา พิกโกนีก็ประสบเหตุการณ์เช่นนี้เหมือนกัน.
ผมร้องเรียนขอให้มีการพิจารณาเรื่องราวอีกทีหนึ่ง และพวกเราได้รับอนุญาตให้เข้าพบผู้บัญชาการตำรวจลับ. เขาบอกเราด้วยน้ำเสียงชัดเจนและเฉียบขาดถึงสาเหตุที่มีคำสั่งให้เราออกนอกประเทศ แถมเอ่ยชื่อชาเวา กอนซาวิส มาเตอุส นักศึกษาพระคัมภีร์ของผมด้วย! เขาพูดว่าประเทศโปรตุเกสไม่เหมือนบริเตน คือไม่อาจยอมให้กับความสะดวกสบายจากการที่ไม่ต้องเป็นทหาร โดยอ้างว่าขัดกับสติรู้สึกผิดชอบ. ดังนั้น พวกเราจำต้องออกไปจากประเทศโปรตุเกส และผมไม่ได้ติดต่อกับชาเวาอีกเลย. แล้วจากนั้นมาอีก 26 ปี ช่างเป็นความปีติยินดีอย่างเหลือล้นเมื่อได้พบชาเวาพร้อมด้วยภรรยาและลูกสาวสามคนของเขาในคราวการอุทิศสำนักเบเธลใหม่ในโปรตุเกส! งานรับใช้ของเราในโปรตุเกสไม่ไร้ผลเสียทีเดียว!—1 โกรินโธ 3:6-9.
การมอบหมายของเราต่อมาเป็นอะไร? ช่างน่าประหลาดใจ! สเปน ประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง. เดือนกุมภาพันธ์ 1962 เราถึงกับน้ำตาซึมขณะขึ้นรถไฟที่กรุงลิสบอนมุ่งหน้าไปสู่มาดริด.
ปรับตัวให้เข้ากับอีกวัฒนธรรมหนึ่ง
ในสเปนเราต้องทำตัวให้คุ้นกับวิธีการประกาศและการจัดประชุมอย่างลับ ๆ. เมื่อออกไปประกาศ ปกติแล้วเราจะไม่แวะเข้าไปที่บ้านสองหลังติด ๆ กัน. เมื่อได้ให้คำพยานที่บ้านหลังหนึ่งแล้ว เราจะไปบ้านที่อยู่อีกถนนหนึ่ง. การประกาศวิธีนี้ทำให้ตำรวจหรือพวกบาทหลวงติดตามจับเราได้ยาก. อย่าลืมว่าพวกเราอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการคาทอลิกฟาสซิสต์ และงานประกาศของเราถูกห้าม. พวกเราที่เป็นคนต่างด้าวจึงใช้ชื่อภาษาสเปนเพื่อป้องกันมิให้มีการตรวจสอบ. ชื่อผมเปลี่ยนเป็นพับโล และเฮเซลเปลี่ยนเป็นฮวนนา.
หลังจากอยู่ที่กรุงมาดริดเพียงสองสามเดือน เราได้รับมอบหน้าที่ดูแลหมวดในบาร์เซโลนา. เราเยี่ยมหลายประชาคมในเมืองนี้ บ่อยครั้งแต่ละแห่งเราใช้เวลาอยู่กับเขาสองหรือสามสัปดาห์. การอยู่นานหลายวันเช่นนั้นเพราะว่าเราต้องเยี่ยมแต่ละกลุ่มศึกษาหนังสือประจำประชาคมเหมือนเป็นหนึ่งประชาคม และโดยปกติย่อมหมายถึงสองกลุ่มต่อสัปดาห์.
การท้าทายโดยไม่ได้คาดหมาย
ปี 1963 เราได้รับคำเชิญให้เข้าสู่งานดูแลภาคในสเปน. เพื่อจะปฏิบัติงานรับใช้เหล่าพยานฯ ที่ขยันขันแข็งประมาณ 3,000 คน เราจึงต้องดูแลทั่วทั้งประเทศ เยี่ยมหมวดต่าง ๆ ซึ่งเวลานั้นมีอยู่เก้าหมวดด้วยกัน. เราได้จัดการประชุมหมวดอย่างลับ ๆ หลายครั้งซึ่งไม่อาจลืมเลือนเสียได้ คือที่เราจัดในบริเวณป่าไม้ใกล้เมืองเซวิลล์, จัดในฟาร์มใกล้เมืองคีคอน, และริมแม่น้ำใกล้กรุงมาดริด, บาร์เซโลนา, และโลโกรโญ.
เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน เมื่อออกไปประกาศตามบ้านผมมักจะสำรวจแผนผังเส้นทางสัญจรที่อยู่ใกล้ ๆ เผื่อทางหนีทีไล่หากเกิดความจำเป็น. คราวหนึ่งขณะประกาศในกรุงมาดริด ผมกับพยานฯ คนหนึ่งอยู่ชั้นบน ทันใดนั้นเองเราได้ยินเสียงตะโกนลั่นที่ชั้นล่าง. เมื่อเราลงมาถึงชั้นล่างก็เจอเด็กหญิงวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มคาทอลิกที่เรียกว่าลูกหญิงของนางมาเรีย. เด็กกลุ่มนี้กำลังเตือนชาวบ้านเกี่ยวกับพวกเรา. เราไม่สามารถพูดจาหาเหตุผลกับเขา และผมรู้ว่าจะต้องรีบไปทันที มิฉะนั้นตำรวจจะจับเราแน่. ดังนั้น เราหนีโดยไม่ชักช้า!
ช่วงนั้นเป็นเวลาที่น่าตื่นเต้นตลอดหลายปีที่อยู่ในสเปน. เราพยายามให้การหนุนใจพี่น้องชายหญิงที่น่ารักเหล่านั้น รวมถึงผู้เผยแพร่ประเภทไพโอเนียร์พิเศษ. พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกจำคุกและบ่อยครั้งทนสู้ความยากจนข้นแค้นเพื่อที่จะประกาศข่าวดีเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า รวมถึงการก่อตั้งและเสริมสร้างประชาคมต่าง ๆ.
ในระหว่างนั้นเราได้รับข่าวร้ายด้วย. เฮเซลเล่าว่า “ในปี 1964 คุณแม่ซึ่งเป็นพยานฯ ที่ซื่อสัตย์เสียชีวิต. เป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่งที่แม่จากไปโดยไม่ได้ล่ำลากัน. นี่เป็นการเสียสละอย่างหนึ่งสำหรับงานมิชชันนารีซึ่งคนอื่นอีกหลายคนได้ประสบเช่นกัน.”
ในที่สุดก็ได้มาซึ่งเสรีภาพทางศาสนา
ภายหลังการกดขี่นานหลายปี ในที่สุด เดือนกรกฎาคม 1970 รัฐบาลฟรังโกได้รับรองงานของเราอย่างถูกต้องตามกฎหมาย. ผมกับเฮเซลตื่นเต้นดีใจมากเมื่อมีการเปิดหอประชุมราชอาณาจักร แห่งแรกในกรุงมาดริดและแห่งที่สองในเลสเซบส์ บาร์เซโลนา. หอประชุมเหล่านี้ติดป้ายใหญ่และเปิดไฟสว่างอยู่เสมอ. เราต้องการให้ผู้คนรู้ว่าพวกเราพยานพระยะโฮวาเป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายและจะยืนยงตลอดไปในสเปน! จนถึงตอนนั้นในปี 1972 มีพยานพระยะโฮวาเกือบ 17,000 คนในสเปน.
ประมาณเวลานั้น ผมได้ข่าวจากประเทศอังกฤษซึ่งให้การชูกำลังใจผมมากทีเดียว. พ่อมาเยี่ยมเราที่สเปนในปี 1969. ท่านรู้สึกประทับใจวิธีที่พี่น้องพยานฯ ชาวสเปนปฏิบัติต่อท่าน เมื่อกลับไปอังกฤษ ท่านจึงเริ่มศึกษาพระคัมภีร์. ครั้นมาในปี 1971 ผมได้ข่าวพ่อรับบัพติสมา! ช่วงหนึ่งที่ผมรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจเหลือเกิน คือคราวที่เรากลับไปเยี่ยมบ้านและพ่อซึ่งเข้ามาเป็นพี่น้องคริสเตียนได้อธิษฐานขอพร ณ การรับประทานอาหาร. ผมรอคอยมานานถึง 20 ปีกว่าจะได้เห็นวันนั้น. บ๊อบน้องชายผมและไอริสภรรยาเริ่มเข้ามาเป็นพยานฯ ในปี 1958. ฟิลลิปลูกชายของเขา ขณะนี้รับใช้ฐานะผู้ดูแลหมวดในสเปนกับจีนภรรยาของเขา. เราพึงพอใจมากที่เห็นพวกเขาปฏิบัติงานรับใช้ในประเทศนั้นที่น่าอยู่มาก.
ความประหลาดใจอย่างยิ่งของเราเมื่อไม่นานมานี้
เดือนกุมภาพันธ์ปี 1980 สมาชิกท่านหนึ่งแห่งคณะกรรมการปกครองไปเยี่ยมสเปนในฐานะผู้ดูแลโซน. ผมรู้สึกประหลาดใจ เพราะท่านต้องการออกไปในงานประกาศกับผม. ผมไม่รู้แม้แต่น้อยว่าท่านกำลังตรวจสอบผม! หลังจากนั้น ในเดือนกันยายน เราก็ได้รับเชิญให้ย้ายไปอยู่ที่สำนักงานกลางในบรุกลิน นิวยอร์ก! เราตกตะลึง. เราตอบรับคำเชิญ แม้ว่าการละจากพี่น้องชาวสเปนนั้นทำให้หัวใจแทบสลายก็ตาม. ถึงเวลานั้น จำนวนพยานพระยะโฮวาในสเปนมี 48,000 คน!
เมื่อเราลาจากพวกเขา บราเดอร์คนหนึ่งได้มอบนาฬิกาพกเป็นของขวัญ. เขาสลักข้อคัมภีร์สองข้อบนนาฬิกาเรือนนั้น—“ลูกา 16:10; ลูกา 17:10.” เขาบอกว่านั่นเป็นข้อคัมภีร์หลักของผม. ลูกา 16:10 เน้นให้เราเป็นคนซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย; และลูกา 17:10 บอกว่าเราเป็น “บ่าวที่ไม่มีบุญคุณต่อนาย” ฉะนั้น จึงไม่มีสาเหตุจะโอ้อวด. ผมตระหนักเสมอว่าไม่ว่าเรามีหน้าที่ใดก็ตามในงานรับใช้พระยะโฮวา เราก็เพียงแต่ได้ทำหน้าที่ในฐานะคริสเตียนซึ่งอุทิศตัวแล้ว.
ความประหลาดใจในด้านสุขภาพ
ปี 1990 ผมเริ่มมีอาการของโรคหัวใจ. ในที่สุด ผมจำต้องมีท่อสอดเข้าไปในเส้นเลือดเพื่อกันหลอดเลือดแดงตีบตัน. ในช่วงที่ประสบปัญหายุ่งยากเนื่องจากร่างกายอ่อนแอ เฮเซลช่วยเหลือผมได้มากมายหลายทาง บ่อยครั้งช่วยหิ้วถุงหรือกระเป๋าซึ่งผมยกเองไม่ไหว. หลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคมปี 2000 ผมได้รับการฝังเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ. ช่างเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบจริง ๆ!
ในช่วงห้าสิบกว่าปีมานี้ เฮเซลกับผมได้ประจักษ์แล้วว่าพระหัตถ์พระยะโฮวาไม่สั้นเกินไป อีกทั้งพระประสงค์ของพระองค์ก็ได้สำเร็จเป็นจริงภายในเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ไม่ใช่เรากำหนดเอาเอง. (ยะซายา 59:1; ฮะบาฆูค 2:3) เราประสบความประหลาดใจที่น่าชื่นชมหลายครั้งในชีวิตของเรา และก็ประสบความประหลาดใจที่น่าเศร้าบ้างเหมือนกัน แต่พระยะโฮวาทรงค้ำจุนเกื้อหนุนพวกเราให้ผ่านพ้นมาได้. ณ สำนักงานกลางแห่งไพร่พลของพระยะโฮวาที่นี่ เราได้รับพระพรทุก ๆ วันด้วยการติดต่อสัมพันธ์กับสมาชิกคณะกรรมการปกครอง. บางครั้งผมก็ถามตัวเอง ‘เรามาอยู่ที่นี่จริง ๆ หรือ?’ ที่เราอยู่ที่นี่เนื่องด้วยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับ. (2 โกรินโธ 12:9, ล.ม.) เราหวังว่าพระยะโฮวาจะคุ้มครองเราต่อ ๆ ไปในการต่อต้านยุทธอุบายของซาตาน และทรงอภิบาลรักษาเราเพื่อเราจะได้ชื่นชมยินดีในสมัยเมื่อการปกครองอันชอบธรรมของพระองค์แผ่ไปทั่วแผ่นดินโลก.—เอเฟโซ 6:11-18; วิวรณ์ 21:1-4.
[ภาพหน้า 26]
เรือนจำสเตรนจ์เวส์ เมืองแมนเชสเตอร์ ที่ผมต้องโทษติดคุกที่นั่น
[ภาพหน้า 27]
กับรถออสตินเซเวน คราวเดินทางเยี่ยมหมวดในประเทศอังกฤษ
[ภาพหน้า 28]
การประชุมหมวดที่จัดขึ้นอย่างลับ ๆ ในปี 1962 ที่เมืองเทอร์เซดิลยา กรุงมาดริด สเปน
[ภาพหน้า 29]
ที่โต๊ะจัดแสดงสรรพหนังสือให้คำพยานในบรุกลิน