ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงได้มาซึ่งหัวใจที่พระยะโฮวาทรงชอบพระทัย

จงได้มาซึ่งหัวใจที่พระยะโฮวาทรงชอบพระทัย

จง​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชอบ​พระทัย

“ข้า​แต่​พระเจ้า ขอ​ทรง​สร้าง​ใจ​สะอาด​ภาย​ใน​ข้า​พระองค์ และ​ฟื้น​น้ำใจ​ที่​หนักแน่น​ขึ้น​ใหม่​ภาย​ใน​ข้า​พระองค์.”—บทเพลง​สรรเสริญ 51:10, ฉบับ​แปล​ใหม่.

1, 2. เหตุ​ใด​เรา​ควร​สนใจ​หัวใจ​ของ​เรา?

เขา​สูง​สง่า​น่า​ชม. เมื่อ​ได้​เห็น​เขา ผู้​พยากรณ์​ซามูเอล​ประทับใจ​มาก​จน​ถึง​กับ​ลง​ความ​เห็น​ว่า​บุตร​ชาย​หัวปี​ของ​ยิซัย​คน​นี้​แหละ​คือ​ผู้​ที่​พระเจ้า​ทรง​เลือก​ให้​เป็น​กษัตริย์​ต่อ​จาก​ซาอูล. แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประกาศ​ว่า “อย่า​เห็น​แก่​รูป​หรือ​ร่าง​สูง​ของ​เขา​เพราะ​มนุษย์​เคย​แล​ดู​หน้า​ตา​กัน, แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทอด​พระ​เนตร​ดวง​จิตต์.” ปรากฏ​ว่า ผู้​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เลือก​ได้​แก่​ดาวิด บุตร​ชาย​คน​สุด​ท้อง​ของ​ยิซัย—“บุรุษ​ผู้​หนึ่ง​ตาม​ชอบ​พระทัย​ของ​พระองค์.”—1 ซามูเอล 13:14; 16:7.

2 พระเจ้า​ทรง​อ่าน​หัวใจ​มนุษย์​ได้ ดัง​ที่​ใน​เวลา​ต่อ​มา​พระองค์​ทรง​แสดง​เรื่อง​นี้​ไว้​ชัด: “เรา ยะโฮวา ค้น​ดู​หัวใจ ตรวจ​ดู​ไต เพื่อ​จะ​ให้​แต่​ละ​คน​สม​กับ​แนว​ทาง​ของ​เขา สม​กับ​ผล​แห่ง​แนว​ปฏิบัติ​ของ​เขา.” (ยิระมะยา 17:10, ล.ม.) ถูก​แล้ว “พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​ตรวจ​ดู​หัวใจ.” (สุภาษิต 17:3, ล.ม.) อย่าง​ไร​ก็​ตาม หัวใจ​ซึ่ง​อยู่​ใน​มนุษย์​เรา​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตรวจ​ดู​คือ​อะไร? และ​เรา​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​ที่​พระองค์​ทรง​ชอบ​พระทัย?

“บุคคล​ที่​ซ่อน​เร้น​ไว้​แห่ง​หัวใจ”

3, 4. คำ “หัวใจ” ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ส่วน​ใหญ่​ใช้​ใน​ความหมาย​ใด? จง​ยก​ตัว​อย่าง​บาง​ข้อ.

3 คำ​ว่า “หัวใจ” ปรากฏ​ประมาณ​หนึ่ง​พัน​ครั้ง​ใน​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์. ใน​กรณี​ส่วน​ใหญ่ คำ​นี้​ใช้​ใน​ความหมาย​โดย​นัย. ยก​ตัว​อย่าง พระ​ยะโฮวา​ตรัส​แก่​ผู้​พยากรณ์​โมเซ​ว่า “จง​สั่ง​ชน​ชาติ​ยิศราเอล​ให้​นำ​ของ​มา​ถวาย​แก่​เรา. ของ​นั้น​ให้​รับ​มา​จาก​ทุก ๆ คน​ที่​เต็ม​ใจ​ถวาย [“ที่​หัวใจ​กระตุ้น​เขา,” ล.ม.].” และ​คน​ที่​นำ​ของ​มา​ถวาย​ก็​คือ “ทุก​คน​ที่​มี​ใจ​สมัคร [“ที่​หัวใจ​กระตุ้น​เขา,” ล.ม.].” (เอ็กโซโด 25:2; 35:21) เห็น​ได้​ชัด แง่​หนึ่ง​ของ​หัวใจ​โดย​นัย​ก็​คือ​แรง​กระตุ้น—แรง​ที่​อยู่​ภาย​ใน​ซึ่ง​กระตุ้น​เรา​ให้​ลง​มือ​ทำ. หัวใจ​โดย​นัย​ของ​เรา​ยัง​สะท้อน​ถึง​อารมณ์​และ​ความ​รู้สึก ความ​ปรารถนา​และ​ความ​รักใคร่​ของ​เรา. หัวใจ​อาจ​พลุ่ง​พล่าน​ด้วย​ความ​โกรธ​หรือ​เต็ม​ด้วย​ความกลัว เป็น​ทุกข์​โศก​เศร้า​หรือ​ร่าเริง​ยินดี. (บทเพลง​สรรเสริญ 27:3; 39:3; โยฮัน 16:22; โรม 9:2) หัวใจ​อาจ​หยิ่ง​หรือ​ถ่อม รัก​หรือ​เกลียด.—สุภาษิต 16:5; มัดธาย 11:29; 1 เปโตร 1:22.

4 ด้วย​เหตุ​นั้น “หัวใจ” มัก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​แรง​กระตุ้น​และ​อารมณ์ ใน​ขณะ​ที่ “จิตใจ” เกี่ยว​ข้อง​โดย​เฉพาะ​กับ​เชาวน์​ปัญญา. ควร​เข้าใจ​เช่น​นี้​เมื่อ​สอง​คำ​นี้​ปรากฏ​อยู่​ใน​เนื้อ​ความ​ตอน​เดียว​กัน​ใน​พระ​คัมภีร์. (มัดธาย 22:37; ฟิลิปปอย 4:7) แต่​ก็​ใช่​ว่า​หัวใจ​และ​จิตใจ​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​เกี่ยว​ข้อง​กัน​เลย. ตัว​อย่าง​เช่น โมเซ​กระตุ้น​ชน​ชาติ​อิสราเอล​ว่า “เจ้า​ต้อง​ระลึก​ใน​หัวใจ [หรือ “ต้อง​รำลึก​ใน​จิตใจ,” เชิงอรรถ] ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​เที่ยง​แท้.” (พระ​บัญญัติ 4:39, ล.ม.) พระ​เยซู​ตรัส​กับ​พวก​อาลักษณ์​ที่​วาง​แผน​ร้าย​ต่อ​พระองค์​ว่า “เหตุ​ไฉน​ท่าน​ทั้ง​หลาย​คิด​ความ​ชั่ว​ใน​ใจ [“หัวใจ,” ล.ม.] เล่า?” (มัดธาย 9:4) นอก​จาก​นี้ หัวใจ​ยัง​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ “ความ​เข้าใจ,” “ความ​รู้,” และ “การ​หา​เหตุ​ผล” ได้​ด้วย. (1 กษัตริย์ 3:12; สุภาษิต 15:14; มาระโก 2:6) ด้วย​เหตุ​นั้น หัวใจ​โดย​นัย​ยัง​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย​กับ​เชาวน์​ปัญญา คือ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​คิด​หรือ​ความ​เข้าใจ​ของ​เรา.

5. หัวใจ​โดย​นัย​หมาย​ถึง​อะไร?

5 ตาม​ที่​หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว หัวใจ​โดย​นัย​หมาย​ถึง “ส่วน​สำคัญ​โดย​รวม, ส่วน​ภาย​ใน, และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​หมาย​ถึง​มนุษย์​ภาย​ใน ซึ่ง​สำแดง​ตน​เอง​ออก​มา​ใน​การ​กระทำ​อัน​หลาก​หลาย​ทั้ง​หมด​ของ​เขา, ใน​ความ​ปรารถนา, ความ​รักใคร่, อารมณ์, ความ​ปรารถนา​อัน​แรง​กล้า, เป้าหมาย, ความ​คิด, การ​รับ​รู้, จินตนาการ, สติ​ปัญญา, ความ​รู้, ความ​ชำนาญ, ความ​เชื่อ​และ​การ​หา​เหตุ​ผล, ความ​จำ​และ​ความ​มี​สติ.” หัวใจ​โดย​นัย​หมาย​ถึง​สิ่ง​ที่​เรา​เป็น​จริง ๆ ภาย​ใน “บุคคล​ที่​ซ่อน​เร้น​ไว้​แห่ง​หัวใจ.” (1 เปโตร 3:4, ล.ม.) นั่น​แหละ​คือ​สิ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เห็น​และ​ตรวจ​ดู. ด้วย​เหตุ​นั้น ดาวิด​จึง​อธิษฐาน​ได้​ว่า “ข้า​แต่​พระเจ้า ขอ​ทรง​สร้าง​ใจ [“หัวใจ,” ล.ม.] สะอาด​ภาย​ใน​ข้า​พระองค์ และ​ฟื้น​น้ำใจที่​หนักแน่น​ขึ้น​ใหม่​ภาย​ใน​ข้า​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 51:10, ฉบับ​แปล​ใหม่) เรา​จะ​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​อัน​บริสุทธิ์​สะอาด​โดย​วิธี​ใด?

“จง​ใส่​ใจ” ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า

6. โมเซ​กระตุ้น​เตือน​ชน​ชาติ​อิสราเอล​ใน​เรื่อง​ใด​เมื่อ​พวก​เขา​ตั้ง​ค่าย​พัก​บน​ที่​ราบ​โมอาบ?

6 เมื่อ​ตักเตือน​เหล่า​บุตร​ของ​อิสราเอล​ที่​ชุมนุม​กัน ณ ที่​ราบ​โมอาบ​ก่อน​จะ​เข้า​สู่​แผ่นดิน​ที่​พระเจ้า​ทรง​สัญญา โมเซ​กล่าว​ว่า “จง​ใส่​ใจ​ใน​ถ้อย​คำ​ซึ่ง​ข้าพเจ้า​กล่าว​แก่​ท่าน​ใน​วัน​นี้ เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​บัญชา​แก่​ลูก​หลาน​ของ​ท่าน เพื่อ​เขา​จะ​ได้​ระวัง​ที่​จะ​กระทำ​ตาม​ถ้อย​คำ​แห่ง​ธรรม​บัญญัติ​นี้​ทั้ง​สิ้น.” (พระ​บัญญัติ 32:46, ฉบับ​แปล​ใหม่) ชาว​อิสราเอล​ต้อง “เอา​ใจ​ใส่​ให้​ดี.” (ฉบับ​แปล​นอกซ์ ) ต่อ​เมื่อ​คุ้น​เคย​เป็น​อย่าง​ดี​ใน​พระ​บัญชา​ของ​พระเจ้า​แล้ว​เท่า​นั้น พวก​เขา​จึง​จะ​สามารถ​พร่ำ​สอน​พระ​บัญชา​เหล่า​นี้​แก่​บุตร​หลาน.—พระ​บัญญัติ 6:6-8.

7. ‘การ​ใส่​ใจ’ ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร?

7 สิ่ง​สำคัญ​ที่​จำเป็น​ต้อง​มี​เพื่อ​จะ​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​อัน​บริสุทธิ์​สะอาด​คือ​การ​รับ​เอา​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระทัย​ประสงค์​และ​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า. มี​แหล่ง​ที่​มา​ของ​ความ​รู้​นั้น​เพียง​แหล่ง​เดียว คือ​พระ​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ของ​พระเจ้า. (2 ติโมเธียว 3:16, 17) อย่าง​ไร​ก็​ตาม เชาวน์​ปัญญา​เพียง​อย่าง​เดียว​ไม่​ได้​ช่วย​เรา​ให้​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชอบ​พระทัย. เพื่อ​ที่​ความ​รู้​จะ​ส่ง​ผล​ต่อ​บุคคล​ที่​อยู่​ภาย​ใน​จริง ๆ เรา​ต้อง “ใส่​ใจ” ใน​สิ่ง​ที่​เรา​เรียน​รู้. (พระ​บัญญัติ 32:46) จะ​ทำ​อย่าง​นี้​โดย​วิธี​ใด? ดาวิด​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​อธิบาย​ว่า “ข้าพเจ้า​จะ​ระลึก​ถึง​เวลา​ที่​ล่วง​ไป​แล้ว; ข้าพเจ้า​ภาวนา​ถึง​พระ​ราชกิจ​ทั้ง​ปวง​ที่​พระองค์​ทรง​กระทำ​นั้น; ข้าพเจ้า​รำพึง​ถึง​พระ​หัตถกิจ​การ​ต่าง ๆ ของ​พระองค์.”—บทเพลง​สรรเสริญ 143:5.

8. เรา​อาจ​ใคร่ครวญ​คำ​ถาม​อะไร​บ้าง​เมื่อ​เรา​ศึกษา?

8 เรา​ก็​เช่น​กัน ควร​คิด​รำพึง​เกี่ยว​กับ​ราชกิจ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า. เมื่อ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​หรือ​หนังสือ​ซึ่ง​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก เรา​จำเป็น​ต้อง​คิด​ใคร่ครวญ​คำ​ถาม​อย่าง​เช่น: ‘เรื่อง​นี้​สอน​ฉัน​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา? คุณลักษณะ​อะไร​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ฉัน​เห็น​ใน​ที่​นี้? บันทึก​นี้​สอน​ฉัน​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ชอบ​พระทัย​และ​ไม่​ชอบ​พระทัย? ผล​ของ​การ​ปฏิบัติ​ใน​แนว​ทาง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​เป็น​เช่น​ไร​เมื่อ​เทียบ​กับ​การ​ปฏิบัติ​ใน​แนว​ทาง​ที่​พระองค์​ทรง​เกลียด? ข้อมูล​นี้​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร​กับ​สิ่ง​ที่​ฉัน​รู้​อยู่​แล้ว?

9. การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​และ​การ​คิด​รำพึง​มี​คุณค่า​เพียง​ไร?

9 ลิซา * ซึ่ง​อายุ​สาม​สิบ​สอง​ปี อธิบาย​ว่า​เธอ​เริ่ม​หยั่ง​รู้​คุณค่า​ของ​การ​ศึกษา​ที่​มี​เป้าหมาย​และ​การ​คิด​รำพึง​อย่าง​ไร: “หลัง​จาก​ดิฉัน​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1994 ใน​สอง​ปี​แรก​ดิฉัน​กระตือรือร้น​ใน​ทาง​ความ​จริง​มาก​ที​เดียว. ดิฉัน​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​ทุก​รายการ, อุทิศ​เวลา 30 ถึง 40 ชั่วโมง​ใน​งาน​รับใช้​แต่​ละ​เดือน, และ​คบหา​สมาคม​กับ​เพื่อน​คริสเตียน. ต่อ​มา ดิฉัน​เริ่ม​ลอย​ห่าง. ดิฉัน​ตก​ต่ำ​ถึง​ขนาด​ที่​ฝ่าฝืน​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า. แต่​ดิฉัน​ได้​สติ​และ​ตัดสิน​ใจ​จะ​ชำระ​ชีวิต​ตัว​เอง​ให้​สะอาด. ดิฉัน​ดีใจ​จริง ๆ ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยอม​รับ​การ​กลับ​ใจ​ของ​ดิฉัน​และ​รับ​ดิฉัน​กลับ! ดิฉัน​คิด​ใคร่ครวญ​อยู่​บ่อย ๆ ว่า ‘ทำไม​ดิฉัน​จึง​ถอย​ห่าง?’ คำ​ตอบ​ที่​มัก​จะ​คิด​ขึ้น​ได้​ก็​คือ ดิฉัน​ละเลย​การ​ศึกษา​อย่าง​มี​เป้าหมาย​และ​การ​คิด​รำพึง. ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เลย​ไม่​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​ดิฉัน. นับ​จาก​นี้​ไป การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​และ​การ​คิด​รำพึง​จะ​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​ชีวิต​ของ​ดิฉัน​เสมอ.” ขณะ​ที่​เรา​เติบโต​ขึ้น​ใน​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา, พระ​บุตร, และ​พระ​คำ​ของ​พระองค์ นับ​ว่า​สำคัญ​สัก​เพียง​ไร​ที่​เรา​จะ​จัด​เวลา​ไว้​เพื่อ​คิด​รำพึง​อย่าง​มี​ความหมาย!

10. เหตุ​ใด​จึง​เป็น​เรื่อง​เร่ง​ด่วน​ที่​เรา​จะ​จัด​เวลา​ไว้​สำหรับ​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​และ​การ​คิด​รำพึง?

10 ใน​โลก​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ธุระ​ยุ่ง การ​หา​เวลา​ศึกษา​และ​คิด​รำพึง​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​จริง ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คริสเตียน​ใน​ปัจจุบัน​กำลัง​ยืน​อยู่ ณ ธรณี​ประตู​ของ​แผ่นดิน​ที่​ยอด​เยี่ยม​ซึ่ง​พระเจ้า​ทรง​สัญญา​ไว้—โลก​ใหม่​อัน​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า. (2 เปโตร 3:13) เหตุ​การณ์​อัน​น่า​พรั่นพรึง เช่น การ​ทำลาย “บาบูโลน​ใหญ่” และ​การ​โจมตี​ไพร่พล​ของ​พระ​ยะโฮวา​โดย “โกก​แห่ง​แผ่นดิน​มา​โกก” จวน​จะ​ถึง​อยู่​แล้ว. (วิวรณ์ 17:1, 2, 5, 15-17; ยะเอศเคล 38:1-4, 14-16; 39:2, ฉบับ​แปล​ใหม่) สิ่ง​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​ข้าง​หน้า​อาจ​เป็น​การ​ทดสอบ​ความ​รัก​ของ​เรา​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. เป็น​เรื่อง​เร่ง​ด่วน​ที่​เรา​จะ​ใช้​เวลา​ที่​มี​อยู่​ให้​เป็น​ประโยชน์​และ​ใส่​ใจ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เสีย​แต่​บัด​นี้!—เอเฟโซ 5:15, 16.

‘จง​สำรวม​ตั้งใจ​แสวง​หา​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า’

11. หัวใจ​ของ​เรา​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​ดิน​อย่าง​ไร?

11 หัวใจ​โดย​นัย​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​ดิน​ซึ่ง​จะ​ปลูก​เมล็ด​แห่ง​ความ​จริง​ได้. (มัดธาย 13:18-23) ตาม​ปกติ​ต้อง​มี​การ​เตรียม​ดิน​ก่อน​เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​พืช​ผล​จะ​เติบโต​งอกงาม. คล้าย​กัน ควร​มี​การ​เตรียม​หัวใจ​ให้​พร้อม เพื่อ​หัวใจ​จะ​ตอบรับ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ได้​ดี​ขึ้น. ปุโรหิต​เอษรา “ได้​สำรวม​ตั้งใจ​แสวง​หา​ใน​บท​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​จะ​ได้​ประพฤติ​ตาม.” (เอษรา 7:10) เรา​อาจ​เตรียม​หัวใจ​ของ​เรา​อย่าง​ไร?

12. อะไร​จะ​ช่วย​เตรียม​หัวใจ​ให้​พร้อม​สำหรับ​การ​ศึกษา?

12 วิธี​ที่​ดี​เยี่ยม​ใน​การ​เตรียม​หัวใจ​ไว้​ให้​พร้อม​เมื่อ​จะ​พิจารณา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ได้​แก่​การ​อธิษฐาน​ด้วย​ความ​รู้สึก​จาก​หัวใจ. การ​ประชุม​คริสเตียน​ของ​ผู้​นมัสการ​แท้​เปิด​และ​ปิด​ด้วย​คำ​อธิษฐาน. นับ​ว่า​เหมาะ​สม​ที​เดียว​ที่​เรา​จะ​เริ่ม​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ส่วน​ตัว​ด้วย​คำ​อธิษฐาน​ที่​จริง​ใจ​และ​รักษา​เจตคติ​ที่​จริงจัง​ระหว่าง​การ​ศึกษา!

13. เพื่อ​จะ​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชอบ​พระทัย เรา​ต้อง​ทำ​อะไร?

13 หัวใจ​โดย​นัย​ต้อง​ถูก​เตรียม​ไว้​พร้อม​เพื่อ​จะ​ขจัด​ความ​คิด​เห็น​ที่​มี​อยู่​ก่อน​จะ​ได้​รับ​ความ​รู้​ที่​ถูก​ต้อง. พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ใน​สมัย​ของ​พระ​เยซู​ไม่​ยอม​ทำ​อย่าง​นี้. (มัดธาย 13:15) ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง มาเรีย มารดา​ของ​พระ​เยซู ลง​ความ​เห็น “ใน​ใจ” โดย​อาศัย​ข้อ​เท็จ​จริง​ต่าง ๆ ที่​เธอ​ได้​ยิน. (ลูกา 2:19, 51) เธอ​กลาย​มา​เป็น​สาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระ​เยซู. ลุเดีย​ซึ่ง​อยู่​ที่​เมือง​ธุอาไตระ​ฟัง​เปาโล “และ​พระเจ้า​ได้​ทรง​เปิด​ใจ​ของ​เขา​ให้​สนใจ.” เธอ​กลาย​มา​เป็น​ผู้​เชื่อถือ​ด้วย​เช่น​กัน. (กิจการ 16:14, 15) ขอ​เรา​อย่า​ได้​ยึด​มั่น​ถือ​มั่น​ใน​ความ​เห็น​ส่วน​ตัว​หรือ​ทัศนะ​ด้าน​หลัก​คำ​สอน​ที่​เรา​ถือ​ว่า​มี​ค่า. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ให้​เรา​เต็ม​ใจ “ให้​ปรากฏ​ว่า​พระเจ้า​ทรง​เป็น​องค์​สัตย์​จริง แม้​ปรากฏ​ว่า​ทุก​คน​เป็น​คน​พูด​มุสา.”—โรม 3:4, ล.ม.

14. เรา​อาจ​เตรียม​หัวใจ​ของ​เรา​อย่าง​ไร​ให้​พร้อม​จะ​รับ​ฟัง ณ การ​ประชุม​คริสเตียน?

14 การ​เตรียม​หัวใจ​ให้​พร้อม​จะ​รับ​ฟัง ณ การ​ประชุม​คริสเตียน​สำคัญ​เป็น​พิเศษ. สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เขว​อาจ​ดึง​ความ​สนใจ​ของ​เรา​ไป​จาก​สิ่ง​ที่​กำลัง​มี​การ​กล่าว. ถ้อย​คำ​ที่​กล่าว​ออก​มา​อาจ​จะ​แทบ​ไม่​มี​ผล​อะไร​ต่อ​เรา หาก​เรา​ครุ่น​คิด​แต่​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​นั้น​หรือ​เป็น​ห่วง​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​รอ​เรา​อยู่​ใน​วัน​ถัด​ไป. หาก​เรา​ต้องการ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​สิ่ง​ที่​มี​การ​กล่าว เรา​จำเป็น​ต้อง​ตั้งใจ​แน่วแน่​ว่า​จะ​ฟัง​และ​เรียน​รู้. เรา​ได้​รับ​ประโยชน์​มาก​เพียง​ไร​หาก​เรา​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์​ที่​มี​การ​อธิบาย​และ​เข้าใจ​ความหมาย​ที่​ได้​มี​การ​ชี้​แจง!—นะเฮมยา 8:5-8, 12.

15. ความ​ถ่อม​ช่วย​เรา​อย่าง​ไร​ให้​พร้อม​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​รับ​การ​สอน?

15 เช่น​เดียว​กับ​การ​เติม​สิ่ง​ที่​เหมาะ​สม​อาจ​ช่วย​ให้​ดิน​ดี​ขึ้น การ​ที่​เรา​ปลูกฝัง​ความ​ถ่อม, ความ​หิว​กระหาย​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ, ความ​ไว้​วางใจ, ความ​เกรง​กลัว​พระเจ้า, และ​ความ​รัก​พระเจ้า​ก็​อาจ​ช่วย​หัวใจ​โดย​นัย​ให้​อุดม​สมบูรณ์​ขึ้น. ความ​ถ่อม​ทำ​ให้​หัวใจ​อ่อน​ลง ช่วย​เรา​ให้​พร้อม​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​รับ​การ​สอน. พระ​ยะโฮวา​ตรัส​แก่​โยซียา​กษัตริย์​แห่ง​ยูดา​ว่า “เพราะ​เหตุ​ใจ​ของ​ท่าน​อ่อน, และ​ได้​ถ่อม​ตัว​ลง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา, เมื่อ​ท่าน​ได้​ยิน​ถึง​เหตุ​ซึ่ง​เรา​ได้​กล่าว​ไว้ . . . และ​ได้​ร้องไห้​เฉพาะ​เรา; เรา​ได้​ฟัง​ท่าน​ด้วย.” (2 กษัตริย์ 22:19) โยซียา​มี​ใจ​ถ่อม​และ​ตอบรับ. ความ​ถ่อม​ช่วย​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ซึ่ง “เป็น​ผู้​มี​ความ​รู้​น้อย​และ​มิ​ได้​เล่า​เรียน​มาก” ให้​เข้าใจ​และ​ใช้​ความ​จริง​ฝ่าย​วิญญาณ​ซึ่ง “ผู้​มี​ปัญญา​และ​นัก​ปราชญ์” ไม่​เข้าใจ. (กิจการ 4:13; ลูกา 10:21) ขอ​ให้​เรา “ถ่อม​ใจ​ลง​ต่อ​พระ​พักตร์ [พระเจ้า]” ขณะ​ที่​เรา​พยายาม​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชอบ​พระทัย.—เอษรา 8:21.

16. เหตุ​ใด​จึง​ต้อง​พยายาม​เพื่อ​ปลูกฝัง​ความ​หิว​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ?

16 พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ความ​สุข​มี​แก่​ผู้​ที่​รู้​สำนึก​ถึง​ความ​จำเป็น​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ตน.” (มัดธาย 5:3, ล.ม.) แม้​ว่า​เรา​ได้​รับ​ความ​สามารถ​สำหรับ​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ​เป็น​ของ​ประทาน แต่​ความ​กดดัน​จาก​โลก​ชั่ว​นี้​หรือ​นิสัย​บาง​อย่าง เช่น ความ​ขี้​เกียจ อาจ​ทำ​ให้​เรา​ไม่​ค่อย​สำนึก​ถึง​ความ​จำเป็น​ของ​เรา. (มัดธาย 4:4) เรา​ต้อง​พัฒนา​ความ​กระหาย​อยาก​ได้​รับ​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ซึ่ง​เป็น​ความ​กระหาย​ที่​ดี. แม้​ว่า​ใน​ตอน​แรก​เรา​ไม่​รู้สึก​เพลิดเพลิน​ใน​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว แต่​เมื่อ​เรา​เพียร​ทำ​ต่อ ๆ ไป​เรา​จะ​พบ​ว่า​ความ​รู้​จะ “เป็น​ที่​น่า​ชื่น​ใจ​แก่​จิตวิญญาณ​ของ [เรา]” ถึง​ขนาด​ที่เรา​ใจจดใจจ่อ​รอ​คอย​ให้​ถึง​กำหนด​เวลา​ศึกษา.—สุภาษิต 2:10, 11, ล.ม.

17. (ก) เหตุ​ใด​พระ​ยะโฮวา​ทรง​คู่​ควร​กับ​ความ​ไว้​วางใจ​เต็ม​ที่​จาก​เรา? (ข) เรา​จะ​ปลูกฝัง​ความ​ไว้​วางใจ​ใน​พระเจ้า​ได้​โดย​วิธี​ใด?

17 กษัตริย์​ซะโลโม​เตือน​สติ​ดัง​นี้: “จง​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​เจ้า, อย่า​พึ่ง​ใน​ความ​เข้าใจ​ของ​ตน​เอง.” (สุภาษิต 3:5) หัวใจ​ที่​ไว้​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​ทราบ​ว่า​สิ่ง​ใด​ก็​ตาม​ที่​พระองค์​ทรง​เรียก​ร้อง​หรือ​ชี้​นำ​โดย​ทาง​พระ​คำ​ของ​พระองค์​นั้น​ถูก​ต้อง​เสมอ. (ยะซายา 48:17) พระ​ยะโฮวา​ทรง​คู่​ควร​ที่​เรา​จะ​ไว้​วางใจ​อย่าง​เต็ม​ที่​แน่นอน. พระองค์​ทรง​สามารถ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ให้​สำเร็จ​ตาม​ที่​พระองค์​ทรง​ประสงค์. (ยะซายา 40:26, 29) คิด​ดู​ซิ พระ​นาม​ของ​พระองค์​เอง​มี​ความหมาย​ตาม​ตัว​อักษร​ว่า “พระองค์​ทรง​บันดาล​ให้​เป็น” ซึ่ง​สร้าง​ความ​มั่น​ใจ​ใน​พระ​ปรีชา​สามารถ​ของ​พระองค์​ที่​จะ​ทำ​ให้​สิ่ง​ที่​พระองค์​ได้​สัญญา​ไว้​สำเร็จ​เป็น​จริง! พระองค์​ทรง “ชอบธรรม​ใน​ทาง​ทั้ง​ปวง​ของ​พระองค์ และ​ภักดี​ใน​กิจการ​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 145:17, ล.ม.) แน่นอน เพื่อ​จะ​ปลูกฝัง​ความ​ไว้​วางใจ​ใน​พระองค์ เรา​จำเป็น​ต้อง “ชิม​ดู​จึง​จะ​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ผู้​ประเสริฐ” โดย​ใช้​สิ่ง​ที่​เรา​เรียน​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ชีวิต​เรา​เอง​และ​คิด​ใคร่ครวญ​ถึง​ประโยชน์​ที่​การ​ทำ​เช่น​นี้​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น.—บทเพลง​สรรเสริญ 34:8.

18. ความ​เกรง​กลัว​พระเจ้า​ช่วย​เรา​อย่าง​ไร​ให้​ตอบรับ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระองค์?

18 โดย​ชี้​ไป​ที่​คุณลักษณะ​อีก​ประการ​หนึ่ง​ที่​ช่วย​ให้​หัวใจ​เรา​ตอบรับ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระเจ้า ซะโลโม​กล่าว​ว่า “จง​ยำเกรง​พระ​ยะโฮวา, และ​ละ​จาก​ความ​ชั่ว.” (สุภาษิต 3:7) พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ถึง​ชาติ​อิสราเอล​โบราณ​ว่า “ถ้า​เพียง​แต่​เขา​ทั้ง​หลาย​จะ​พัฒนา​หัวใจ​ของ​เขา​เพื่อ​จะ​เกรง​กลัว​เรา และ​รักษา​ข้อ​บัญญัติ​ทั้ง​สิ้น​ของ​เรา​ไว้​เสมอ เพื่อ​เขา​และ​บุตร​หลาน​ของ​เขา​จะ​จำเริญ​ตลอด​ไป​ไม่​มี​เวลา​กำหนด!” (พระ​บัญญัติ 5:29, ล.ม.) ถูก​แล้ว ผู้​ที่​เกรง​กลัว​พระเจ้า​เชื่อ​ฟัง​พระองค์. พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​ความ​สามารถ​ที่​จะ “สำแดง​ฤทธิ์​ของ​พระองค์​เพื่อ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​มี​หัวใจ​เป็น​หนึ่ง​เดียว​ต่อ​พระองค์” และ​ลง​โทษ​ผู้​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระองค์. (2 โครนิกา 16:9, ล.ม.) ขอ​ให้​ความ​เคารพ​ยำเกรง​และ​ความ​กลัว​ว่า​จะ​ทำ​ให้​พระเจ้า​ไม่​ชอบ​พระทัย​ควบคุม​การ​กระทำ, ความ​คิด, และ​อารมณ์​ของ​เรา​ใน​ทุก​ทาง.

‘จง​รัก​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​เจ้า’

19. ความ​รัก​มี​บทบาท​เช่น​ไร​ใน​การ​ทำ​ให้​หัวใจ​ของ​เรา​ตอบรับ​การ​ชี้​นำ​ของ​พระ​ยะโฮวา?

19 เหนือ​กว่า​คุณลักษณะ​อื่น​ใด ความ​รัก​ช่วย​หัวใจ​ของ​เรา​อย่าง​แท้​จริง​ให้​ตอบรับ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​ยะโฮวา. หัวใจ​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​ทำ​ให้​คน​เรา​กระตือรือร้น​ที่​จะ​เรียน​รู้​ว่า​พระเจ้า​ชอบ​พระทัย​อะไร​และ​ไม่​ชอบ​พระทัย​อะไร. (1 โยฮัน 5:3) พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​รัก​พระองค์​ผู้​เป็น​พระเจ้า​ด้วย​สุด​ใจ​สุด​จิตต์​ของ​เจ้า, และ​ด้วย​สิ้น​สุด​ความ​คิด​ของ​เจ้า.” (มัดธาย 22:37) ขอ​ให้​เรา​พัฒนา​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​ให้​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น​โดย​ทำ​ให้​เป็น​นิสัย​ที่​จะ​คิด​รำพึง​คุณ​ความ​ดี​ของ​พระองค์, โดย​สนทนา​กับ​พระองค์​เป็น​ประจำ​เหมือน​กับ​ที่​เรา​พูด​คุย​กับ​เพื่อน​สนิท, และ​โดย​พูด​คุย​เกี่ยว​กับ​พระองค์​กับ​ผู้​อื่น​อย่าง​กระตือรือร้น.

20. เรา​อาจ​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชอบ​พระทัย​โดย​วิธี​ใด?

20 ขอ​ให้​เรา​มา​ทบทวน​กัน: การ​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชอบ​พระทัย​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ให้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ก่อ​ผล​ต่อ​สิ่ง​ที่​เรา​เป็น​อยู่​ภาย​ใน บุคคล​ที่​ซ่อน​เร้น​แห่ง​หัวใจ. การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​เป็น​ส่วน​ตัว​อย่าง​ที่​มี​ความหมาย​และ​การ​คิด​รำพึง​ด้วย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​เป็น​สิ่ง​ที่​จำเป็น​ต้อง​ทำ. วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​คือ​โดย​มี​หัวใจ​ที่​เตรียม​พร้อม—หัวใจ​ที่​ปราศจาก​อคติ​เนื่อง​ด้วย​ความ​คิด​เห็น​ที่​มี​อยู่​ก่อน​แล้ว หัวใจ​ที่​เปี่ยม​ด้วย​คุณลักษณะ​ที่​ช่วย​ให้​เรา​พร้อม​จะ​รับ​การ​สอน! ถูก​แล้ว ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา เรา​สามารถ​ได้​มา​ซึ่ง​หัวใจ​ที่​ดี. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​มาตรการ​อะไร​บ้าง​ที่​เรา​จะ​ใช้​ได้​เพื่อ​ป้องกัน​รักษา​หัวใจ​ของ​เรา?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 ชื่อ​สมมุติ.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• หัวใจ​โดย​นัย​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตรวจ​ดู​คือ​อะไร?

• เรา​อาจ “ใส่​ใจ” พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​โดย​วิธี​ใด?

• เรา​ควร​เตรียม​หัวใจ​ของ​เรา​อย่าง​ไร​ให้​พร้อม​สำหรับ​การ​พิจารณา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า?

• หลัง​จาก​ที่​ได้​พิจารณา​บทความ​นี้​แล้ว คุณ​รู้สึก​ถูก​กระตุ้น​ให้​ทำ​อะไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 17]

ดาวิด​คิด​รำพึง​ด้วย​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ใน​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ. คุณ​ทำ​อย่าง​นั้น​ไหม?

[ภาพ​หน้า 18]

จง​เตรียม​หัวใจ​คุณ​ให้​พร้อม​ก่อน​จะ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า